สรุปหนังสือ A Whole New Mind ทักษะด้านไหน “ชนะ” ในโลกอนาคต

สรุปหนังสือ A Whole New Mind ทักษะด้านไหน “ชนะ” ในโลกอนาคต

ในโลกสมัยใหม่ที่หุ่นยนต์เข้ามาทำงานแทนคนได้แทบทุกด้าน คุณจะแน่ใจได้ยังไงว่าตัวเองจะไม่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง? ทักษะของคุณกำลังล้าสมัยหรือไม่? ทักษะอะไรจะเป็นที่ต้องการในอนาคต? บริษัทสมัยใหม่อย่าง Google และ Facebook อยากจ้างคนแบบไหน? ในโลกที่มีวิธีทำงานแบบใหม่ (Deep Work) คุณจะปรับตัวเข้ากับมันอย่างไร?

หนังสือ A Whole New Mind เล่มนี้มีคำตอบครับ

หนังสือเล่มนี้เขียนโดยคุณแดเนียล พิ้งค์ จะมาเล่าให้คุณรู้ว่าควรฝึกฝนทักษะอะไร เรียนคณะไหน และต้องปรับตัวอย่างไร ทักษะที่สำคัญในอนาคตกำลังจะเปลี่ยนไป … หลักคิด “ไม่เป็นหมอก็วิศวะ” จะยังใช้ได้จริงในอนาคตข้างหน้าอยู่หรือเปล่า?

เรามาดูกันครับ

 

เมื่อโลกเปลี่ยนข้าง กลายมาอยู่ในมือคนสมองซีกขวา

หนังสือ A Whole New Mind สมองซีกซ้าย สมองซีกขวา
สมองซีกซ้ายถนัดตัวเลข สมองซีกขวาถนัดศิลปะ

คุณคงเคยได้ยินมาบ้างแหละครับ สมองคนเราแบ่งการทำงานเป็นสองส่วน: ซีกซ้ายกับซีกขวา

สมองซีกซ้ายถนัดตัวเลข ตรรกะ การวิเคราะห์ต่างๆ ส่วนสมองซีกขวาถนัดความคิดสร้างสรรค์ ศิลปะ การตีความ การเข้าใจผู้คน และการสื่อสาร

ถ้าเราได้ยินคำพูดสักประโยค สมองซีกซ้ายจะเป็นตัวเรียบเรียงคำ และเข้าใจคำพูดตามตัวอักษร (ควายคือสัตว์ชนิดหนึ่ง) ส่วนสมองซีกขวาจะ “ตีความ” คำพูดนั้นเป็นความหมายที่แอบแฝงอยู่ (ควายอาจหมายถึงคนก็ได้)

ถ้ามีคนจี้ปืนใส่หัวคุณ สมองซีกซ้ายจะเตือน “อันตราย!” เพราะสมองซีกซ้ายใช้เหตุผลจากที่คุณเคยรู้มาว่า “ปืนนี่มันอันตรายนะ ยิงเข้าหัวแล้วสมองกระจุยได้” ส่วนสมองซีกขวาจะเตือน “อันตราย!” เหมือนกัน แต่สมองซีกขวาไม่รู้หรอกครับว่าปืนมันอันตรายยังไง สมองซีกขวารู้แค่ว่า “โจรคนนี้หน้าตามันโหดเหี้ยมจริงๆ แถมยังทำหน้าบึ้งตึง คงต้องเป็นคนเลวแน่”

ย้อนกลับไปแค่ 20-30 ปีก่อน โลกของเราถูกกำหนดโดยคนที่ถนัดใช้สมองซีกซ้ายมาตลอด เราจะยกย่องคนที่มีทักษะ “คิด วิเคราะห์ แยกแยะ” เพราะคนแบบนี้คิดเลขเก่ง ตัดสินใจได้เหมือนเครื่องจักร พวกเขาสามารถมานั่งปรับตัวเลขต่างๆ ในการออกแบบสินค้า ผลิต หรือจัดจำหน่าย ให้ “เหมาะสม” และมีประสิทธิภาพที่สุด

A Whole New Mind อยากเป็นหมอ
หมอเป็นอาชีพสมองซีกซ้ายที่นิยม

โรงเรียนก็วัดค่านักเรียนจากความสามารถด้านเหตุผลและตัวเลข เช่น การแก้โจทย์ที่ “ถูกต้อง” ได้ในเวลาที่กำหนด เราถูกปลูกฝังกันว่าคนเก่งต้องเรียนสายวิทย์ การเงิน แพทย์ นักวิทยาศาสตร์ หรือวิศวะ ถ้าใครไปเรียนวิชาสายศิลป์อย่างนิเทศน์ ศิลปะ ภาษา ดนตรี จะถูกมองว่าเป็นเด็กอ่อน หัวไม่ดี

แต่อีกไม่ถึง 10 ปี ทักษะสมองข้างซ้ายจะเป็นที่ต้องการน้อยลงเรื่อยๆ โลกสมัยใหม่จะต้องการทักษะสมองข้างขวาที่สามารถ “มองเห็นภาพรวม” มากขึ้น คนที่มีความคิดสร้างสรรค์และสื่อสารได้เก่งกาจจะก้าวขึ้นมาเป็นผู้กำหนดทิศทางของโลกแทน

 

โลกสมัยใหม่ไม่ต้องรู้เยอะ แต่ต้องคิดเป็น

นึกภาพสัก 20 ปีก่อนสิครับ

สิ่งที่โลกสมัยก่อนขาดแคลนคือ “ความรู้” ถ้าคุณจะประสบความสำเร็จในโลกยุคเก่า คุณต้องเรียนจบสูงๆ มหาวิทยาลัยดังๆ เพื่อที่คุณจะได้รู้วิธีผลิตสิ่งของที่ดีที่สุด วิธีวิเคราะห์หุ้นที่ดีที่สุด หรือกระทั่งวิธีบริหารธุรกิจที่ “ดีที่สุด” ดังคำพูดที่ว่า “ผมรู้ ผมเรียนมา”

แต่สมัยนี้? อยากรู้อะไรก็มีในกูเกิล มันกลายเป็นว่า “ไม่ต้องเรียนมาก็รู้ได้”

จากเดิมที่คนเรียนหนังสือน้อย กลายเป็นว่าคนจบมหาวิทยาลัยเกลื่อนตลาด (ยินดีต้อนรับสู่โลกยุคใหม่ที่คนจบปริญญาโทตกงาน The End of Jobs) หลายคนยังเชื่ออยู่ว่า “ในเมื่อปริญญาตรีเกลื่อน เราก็ต้องจบปริญญาโท” หรือไม่ก็ “ในเมื่อปริญญาโทเกลื่อน เราก็ต้องจบปริญญาเอก” หรือไม่ก็ “ในเมื่อปริญญาเอกเกลื่อน เราก็ต้องมีปริญญาเอกเผื่อไว้สัก 3 ใบ”

หนังสือ A Whole New Mind ความรู้มีค่าน้อยลงเรื่อยๆ
ความรู้มีค่าน้อยลงเรื่อยๆ

หารู้ไม่ว่าจะปริญญาเอกสัก 10 ใบก็ไม่ได้ช่วยอะไรคุณนัก เพราะปัญหาไม่ใช่คุณรู้น้อยไป … แต่ความรู้มันมีค่าน้อยลงเรื่อยๆ ต่างหาก ด้วยเหตุผล 3 ข้อดังนี้

  1. ผลิตจนล้น โลกเราได้ผลิตข้อมูลข่าวสาร สินค้า และทุกสิ่งอย่างจนมากเกินจะบริโภคหมดแล้ว ผู้บริโภคไม่ได้ต้องการ “ของถูกและเยอะ” อีกต่อไป สินค้าและบริการใหม่ๆ จำเป็นต้อง “สร้างจุดขาย” เพื่อดึงดูดผู้บริโภค ซึ่งเป็นทักษะการทำงานของสมองซีกขวา (สรุปหนังสือ The Tipping Point มีวิธีสร้างจุดขายให้สินค้าของคุณดังเป็นกระแส)
  2. โลกเชื่อมถึงกัน อินเทอร์เน็ตทำให้คนเราทำงานข้ามโลกได้ง่าย ทักษะที่สอนกันง่ายๆ อย่าง “ความรู้ในห้องเรียน” จึงย้ายไปประเทศที่ค่าแรงถูกอย่างจีนและอินเดีย
  3. หุ่นยนต์ทำงานแทนคน หุ่นยนต์สามารถคิดเลข คำนวณสูตรต่างๆ ทำบัญชี ทำการตลาด วางแผนการเงินเบื้องต้น ผลิตสิ่งของในโรงงาน จัดระเบียบโกดัง ส่งสินค้า และควบคุมงานทุกระดับที่มี “สูตรในการทำงาน” สิ่งเหล่านี้เป็นงานของสมองซีกซ้าย ซึ่งกำลังจะหายไปเพราะคุณไม่มีทางทำงานพวกนี้ได้เหนือเครื่องจักร “ในยุคที่เครื่องจักรทำงานแทนคน คนที่คิดเหมือนเครื่องจักรจะอดตาย”

โลกของเรากำลังเปลี่ยนจาก “ยุคที่คนมีความรู้ได้เปรียบ” มาเป็น “ยุคที่คนประยุกต์ใช้ความรู้ได้เปรียบ” มันคือความสามารถในการนำไอเดียต่างๆ ที่ดูไม่เห็นจะเกี่ยวกัน มาผสานให้เกิดนวัตกรรม และการเข้าใจว่าผู้อื่นคิดหรือรู้สึกอย่างไร

พูดง่ายๆ ก็คือ 2 คำ “ความคิดสร้างสรรค์” (Originals) กับ “การเข้าใจผู้อื่น” (How to Win Friends and Influence People) นั่นเอง

ทักษะที่จะมีคุณค่าในอนาคตคือทักษะในงานที่ “ไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว” ซึ่งเป็นของสมองซีกขวา โลกกำลังหมุนเข้าสู่ยุคของคนที่เคยถูกมองว่าเป็นเด็กเรียนอ่อนเมื่อ 20 ปีก่อน และถึงเวลาที่คนสมองซีกซ้ายจะหันมาพัฒนาทักษะอีกด้านที่ตัวเองขาดไป ซึ่งหนังสือได้แบ่งทักษะเหล่านี้เป็น 6 ด้าน คือ

  1. การออกแบบ (Design)
  2. การเล่าเรื่อง (Story)
  3. การผสมผสานสิ่งที่ไม่น่าจะเกี่ยวกัน (Symphony)
  4. การเข้าใจคนอื่น (Empathy)
  5. การเล่นสนุก (Play)
  6. ความหมายในชีวิต (Meaning)

 

การออกแบบ (Design): พื้นฐานสำคัญในธุรกิจสมัยใหม่

หนังสือ A Whole New Mind
ดีไซน์ที่ดีทำให้คนยอมจ่ายเงินแพง

ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์มือถือ แอพ รถยนต์ ของเล่น เสื้อผ้า ชุดชั้นใน หนังสือ ช้อนส้อม หรือกระทั่งเค้กกล้วยหอม สิ่งรอบตัวเราล้วนถูกดีไซน์มาอย่างตั้งใจ

ในเมื่อสินค้าต่างๆ ถูกผลิตออกมาล้นโลกไปหมด ดีไซน์จึงเป็นสิ่งสำคัญที่สร้างความแตกต่างให้สินค้า/บริการ นี่เป็นเหตุผลที่ทุกคนโหยหางานดีไซน์เจ๋งๆ และดีไซเนอร์เก่งๆ เป็นที่ต้องการของธุรกิจต่างๆ

แล้ว “ดีไซน์ที่ดี” เกิดจากอะไร? ดีไซน์ที่ดีต้องมีทั้ง “การใช้งาน” และ “อารมณ์แฝง” ครับ

  • การใช้งาน คือการที่สิ่งนั้นทำหน้าที่ของมันได้ดี เก้าอี้ก็ต้องนั่งสบาย ร่มก็ต้องกันฝนได้ เป็นต้น
  • อารมณ์แฝง คือความรู้สึกดีๆ ที่แฝงมาอย่างแยบยล เก้าอี้อาจมองแล้วรู้สึกถึงสไตล์วินเทจ ร่มอาจมีลายน่ารักๆ ที่ชวนยิ้ม สิ่งเหล่านี้คืออารมณ์ความรู้สึกที่เสริมขึ้นมาจากการใช้งาน

บริษัทที่ใหญ่ที่สุดในโลกอย่าง Apple ของสตีฟ จอบส์ ประสบความสำเร็จขึ้นมาได้แทบจะเพราะดีไซน์ที่ดีล้วนๆ ลองนึกถึงไอโฟนก็ได้ครับ ถ้าวัดกันที่สเป็กเครื่อง ไอโฟนแทบไม่ได้ดีไปกว่าสมาร์ทโฟนยี่ห้ออื่น แต่ด้วยดีไซน์ที่ดีกว่า (ทั้งตัวเครื่องและโปรแกรมข้างใน) คนจึงยอมจ่ายแพง

เทรนด์นี้แสดงว่าดีไซน์ได้กลายเป็นส่วนสำคัญของทุกธุรกิจ แค่ “ของดีและถูก” นั้นไม่เพียงพออีกแล้วที่จะดึงดูดลูกค้า ผู้คนต้องการดีไซน์ที่ดีด้วย

ในอนาคต นักออกแบบเก่งๆ จะได้เงินเดือนสูงมาก และเจ้าของธุรกิจที่เข้าใจเรื่องการออกแบบจะประสบความสำเร็จยิ่งกว่าใคร

 

การเล่าเรื่อง (Story): พูดยังไงให้คนสนใจและทำตามคุณ

Related image
คนที่เล่าเรื่องเก่งจะได้รับการยอมรับ

หลายคนเรียนจบมาสูง เวลาพูดกับใครจึงพยายามแสดงความรู้ให้มากที่สุด วิธีพูดแบบนี้เป็นที่นิยมในสมัยก่อน เพราะคนสมัยก่อนขาดแคลนความรู้ ยิ่งคุณมีความรู้คนก็ยิ่งนับถือ เราจะเห็นได้ว่าคนอายุมากมักให้ความสำคัญกับการเรียนจบ “ด็อกเตอร์” และยิ่งพูดไม่รู้เรื่องก็ยิ่งดี

แต่ในสมัยนี้ ความรู้ที่คุณร่ำเรียนมานั้นมีอยู่ทั่วไปในอินเทอร์เน็ต ทักษะสำคัญจึงไม่ได้อยู่ที่การรู้มากอีกต่อไป มันอยู่ที่การนำความรู้มาโยงเป็น “เรื่องเล่า” ที่ดึงดูดความสนใจของผู้คน (คุณก็สามารถดึงดูดคนด้วย Influence)

คนเราวิวัฒนาการมาให้เข้าใจสิ่งต่างๆ เป็นเรื่องเล่า เรามองชีวิตตัวเองเป็นเรื่องราว (เริ่มที่จุดจุดหนึ่ง แล้วเดินทางไปสู่จุดหมายสักแห่ง) เราจดจำข้อเท็จจริงโดดๆ ไม่ได้ แต่จำได้ถ้ามันเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องเล่า (หนึ่งในเทคนิคของ Made to Stick) คุณจะเป็นที่รักของผู้อื่นเมื่อคุณเล่าเรื่องเก่ง (เป็นที่รักของผู้อื่นใน How to Win Friends and Influence People)

ในประเทศอเมริกา โรงเรียนแพทย์ดังๆ ได้เริ่มใส่คอร์สสายสังคมเข้าไปในหลักสูตรแล้ว เพราะหมอที่จะรักษาได้ดีก็ต้องเล่าเรื่องได้ ทั้งการเล่าเรื่องให้คนไข้เข้าใจอาการป่วย และการเข้าใจเรื่องที่คนไข้เล่าเพื่อวินิจฉัยได้ถูกต้อง

ในบางธุรกิจอย่างการโฆษณาหรือการให้คำปรึกษา การเล่าเรื่องสามารถตัดสินได้เลยว่าบริษัทนั้นจะประสบความสำเร็จหรือหายนะ นอกจากนี้ ต่อให้คุณเป็นคนธรรมดาที่อยากขายสินค้าหรือบริการ “เรื่องเล่า” หรือ Story ที่ดีจะช่วยให้คุณโดดเด่นจากคนอื่นในตลาดที่ดูเหมือนๆ กันไปหมดได้

องค์กรใหญ่ๆ สมัยใหม่เองก็เริ่มเล่า “เรื่องราวขององค์กร” ที่ไม่ใช่ประวัติอันน่าเบื่อ (ก่อตั้งปี 19xx มีวิสัยทัศน์ xxx มีภารกิจ xxx และมุ่งมั่นจะทำ xxx ให้ดีที่สุด) บริษัทเหล่านี้รวบรวมเรื่องราวของพนักงานแต่ละคนมานำเสนอให้ลูกค้าได้รับรู้ ซึ่งทำให้ลูกค้ามองบริษัทเป็น “มนุษย์ร่วมโลก” ที่มีทั้งหัวเราะและร้องไห้ และมีอารมณ์ร่วมกับลูกค้า

การเล่าเรื่องจึงเป็นทักษะที่สำคัญมากในโลกยุคอีก 10 ปีข้างหน้า แค่บอก “ข้อเท็จจริง” เหมือนครูสอนหนังสือนั้นไม่พออีกต่อไปแล้ว คุณต้องเล่าเรื่องเป็นด้วย

 

การเชื่อมโยง (Symphony): ผสมผสานสิ่งที่ไม่น่าจะเกี่ยวกัน

Related image

สมัยก่อนโลกเปลี่ยนช้า คุณแค่จดจำวิธีงานแล้วแค่ทำตามก็พอ เหมือนที่มหาวิทยาลัยจับเรามานั่งเรียน 4 ปีแล้วก็เอาความรู้นั้นแหละใช้ไปได้เลย 40 ปีจนเกษียณ

แต่ทุกวันนี้ไม่ใช่แบบนั้นแล้ว เทคโนโลยีเปลี่ยนไปเร็วมากจนคนอายุ 20 บางคนยังสงสัยเลยว่าตัวเองตกยุคไปแล้วหรือยัง ในขณะที่ความรู้แทบทุกสาขามีอยู่ในโลกออนไลน์เต็มไปหมด เราจึงไม่จำเป็นต้องมานั่งจำสิ่งต่างๆ อีกต่อไปแล้ว อยากรู้ค่อยกูเกิลเอาก็ได้

ทักษะที่สำคัญทุกวันนี้ไม่ใช่การท่องจำข้อมูลอีกต่อไป แต่เป็นการเชื่อมโยงข้อมูลต่างๆ แล้วนำสิ่งเหล่านี้มาสร้างเป็นไอเดียใหม่ที่ดีกว่าเดิม สตาร์บัคส์เองก็เป็นร้านกาแฟที่เกิดจากคนอเมริกันไปเที่ยวอิตาลี แล้วได้แรงบันดาลใจจากกาแฟอิตาลี เขาจึงหยิบไอเดียมาเปิดร้านกาแฟที่อเมริกา แต่ก็ไม่ได้ก๊อปปี้ 100% โดยเขาปรับให้เข้ากับคนอเมริกัน จนประสบความสำเร็จเป็นบริษัทมูลค่า 3 ล้านล้านบาทในปัจจุบัน

สินค้าในปัจจุบันกลายเป็นของ “เก่า” ได้อย่างรวดเร็ว นวัตกรรมเมื่อวานก็คือของล้าสมัยในวันพรุ่งนี้ ทุกบริษัทจึงต้องคิดไอเดียใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา และคนที่เชื่อมโยงสิ่งต่างๆ มาสร้างไอเดียใหม่ได้คือคนที่จะเป็นที่ต้องการ

งานวิจัยพบว่าเศรษฐีที่สร้างตัวขึ้นมาเองมีแนวโน้มจะมองเห็นภาพกว้างได้ดีกว่าคนอื่น มันคือการมองเห็นความสัมพันธ์และเชื่อมโยงจุดต่างๆ เข้าด้วยกัน แทนที่จะเห็นแค่รายละเอียดยิบย่อยแยกกัน

การเข้าใจคนอื่น (Empathy): ทักษะสำคัญที่หุ่นยนต์ทำแทนไม่ได้

Image result for japanese robot female cute

งานโรงงานกับงานวิเคราะห์ข้อมูลสามารถใช้หุ่นยนต์ทำแทนได้หมด

แล้วงานอะไรที่หุ่นยนต์ไม่มีทางทำแทนได้? มันคืองานที่ไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว คนเราต้องเข้าใจหลักคิดก่อนแล้วดัดแปลงตามสถานการณ์ งานพวกนี้มักเกี่ยวกับคนและการอ่านใจคนอื่น

ทนายอาจให้คอมพิวเตอร์ช่วยหาข้อมูลหรือร่างหนังสือสัญญาได้ แต่งานสำคัญอย่างการทำความเข้าใจลูกค้านั้นก็ยังต้องให้ทนายที่เป็นคนจริงๆ ทำ

หมออาจให้คอมพิวเตอร์ช่วยตรวจโรคได้ (ในปัจจุบันคอมพิวเตอร์ตรวจโรคบางโรคได้แม่นยำกว่าหมอมือหนึ่งเสียอีก) แต่ท้ายที่สุดคนไข้ก็ยังอยากได้คนเป็นๆ มาคุยด้วย หมอที่เข้าใจความรู้สึกของคนไข้จะเป็นที่ต้องการกว่าหมอที่แค่ตรวจและสั่งยาไม่ต่างจากเครื่องจักร (หรือเครื่องจักรอาจทำได้ดีกว่าก็ได้)

ข้อดีคือ ทักษะการอ่านใจและเข้าใจคนอื่นนั้นสอนกันได้ หน่วยงาน FBI และ CIA ของอเมริกาจะสอนเจ้าหน้าที่ทุกคนให้อ่านสีหน้าและอ่านใจคนอื่น มหาวิทยาลัยบางแห่งอย่างสแตนฟอร์ดก็มีคลาสสอนเช่นกัน

การเข้าใจคนอ่านยังช่วยสนับสนุนทักษะอื่นๆ ทั้ง Design (การออกแบบ) และ Story (การเล่าเรื่อง) เพราะคุณจะมองโลกจากมุมมองคนอื่นและทำให้คนอื่นชื่นชอบได้ง่ายขึ้น

 

การเล่นสนุก (Play): อย่าจริงจังเกินไป

คุณอ่านไม่ผิดหรอกครับ การใช้เวลาเที่ยวเล่นไร้สาระบ้างจะช่วยให้คุณประสบความสำเร็จมากขึ้น!

ทำไม? เพราะการเล่นจะเปิดมุมมองใหม่ๆ ให้คุณคิดนอกกรอบได้ (และทำให้มีความสุขด้วย) คนที่เอาจริงเอาจังตลอดเวลาจะติดอยู่ในกรอบแคบๆ ไม่พบเจอสิ่งใหม่ กลายเป็นว่าคิดไอเดียได้น้อยกว่าคนที่แบ่งเวลามาผ่อนคลายบ้าง

การเล่นจะช่วยพัฒนาตัวคุณในด้านต่างๆ

งานวิจัยชี้ว่าเกม RPG (เกมที่เราควบคุมตัวละครออกผจญภัยในโลกเสมือน) ช่วยฝึกให้เราเข้าใจคนอื่นมากขึ้น กลายเป็นคนมีอารมณ์ขัน รู้จักตบมุก หงุดหงิดน้อยลง และสื่อสารกับคนอื่นได้ดีขึ้น นอกจากนี้ บางครั้งการได้เล่นเกมระหว่างทำงานยังช่วยให้งานดีขึ้นอย่างน่าทึ่ง

 

ความหมายในชีวิต (Meaning): คุณมีชีวิตไปทำไม

Image result for นพดล ศิริ
โทนี่ รอบบินส์ ไลฟ์โค้ชชื่อดังในอเมริกา

คนเราเกิดมามีสัญชาตญาณเอาตัวรอด ก่อนอื่นท้องต้องอิ่ม มีที่ซุกหัวนอน มีสุขภาพแข็งแรง และมีครอบครัวที่อบอุ่น แต่เมื่อคนเรามีทุกสิ่งแล้ว เราจะแสวงหา “ความหมายในชีวิต”

นั่นเป็นเหตุผลที่…

  • เศรษฐีระดับโลกหลายคนหันมาบริจาคเงิน เพราะพวกเขาไม่รู้จะรวยมากขึ้นอีกทำไม
  • คนที่มีกินมีใช้และไม่มีเป้าหมายในชีวิต มักสนใจสังคม ปัญหายากจน สิ่งแวดล้อมมากขึ้น
  • หลายคนหลังเกษียณแล้วหันไปเข้าวัดฟังธรรมทั้งที่เมื่อก่อนไม่สนใจ

ในยุคปัจจุบัน คนเรามีสิ่งที่จำเป็นต่อการอยู่รอดมากขึ้นเรื่อยๆ แต่คนรุ่นใหม่ที่มีพร้อมทุกอย่างกลับไม่มีความสุข หลายคนมาทำงานให้เสร็จๆ แล้วก็กลับบ้าน ใช้ชีวิตให้ผ่านๆ ไป นั่นเพราะพวกเขาขาด “ความหมายในชีวิต”

คนที่มีความหมายในชีวิตจะมีความสุขมากกว่าและอายุยืนยาวกว่า ดังนั้นไม่ว่าคุณจะเป็นใครหรือทำงานอะไร คุณควรหาความหมายของชีวิตให้เจอ 

ในทางกลับกัน ถ้าคุณมอบความหมายในชีวิตให้ผู้อื่นได้ คุณก็จะกลายเป็นคนสำคัญที่คนอื่นให้การยอมรับนับถือ

 

สรุปส่งท้ายก่อนวางหนังสือ A Whole New Mind

เมื่อ 20 ปีก่อน คนที่ถนัดสมองข้างซ้ายคือผู้ได้เปรียบ แต่อีกไม่นานทักษะที่ใช้สมองข้างขวาจะสำคัญมากยิ่งขึ้น คุณจำเป็นต้องมีความคิดสร้างสรรค์และเข้าใจผู้อื่นเพื่อที่จะประสบความสำเร็จ ที่จริงสมองข้างขวาก็ยังสำคัญอยู่ แต่มันไม่เพียงพออีกต่อไป

ทักษะที่สำคัญในอนาคตอีก 10 ปีข้างหน้าได้แก่

  • การออกแบบ (Design): เมื่อสินค้าทุกยี่ห้อทำได้ดีเหมือนกัน ดีไซน์คือจุดแตกต่าง
  • การเล่าเรื่อง (Story): แค่บอกข้อเท็จจริงไม่พออีกต่อไป ต้องเล่าเรื่องเพื่อดึงดูดคน
  • การผสมผสานสิ่งที่ไม่น่าจะเกี่ยวกัน (Symphony): การวิเคราะห์จะลดความสำคัญลง แล้วถูกแทนที่ด้วยการเชื่อมโยงสิ่งต่างๆ แทน
  • การเข้าใจคนอื่น (Empathy): ทักษะที่เกี่ยวกับผู้คนย่อมไม่ถูกเครื่องจักรแทนที่
  • การเล่นสนุก (Play): อารมณ์ขันจะช่วยคุณทั้งในชีวิตและการทำงาน
  • ความหมายในชีวิต (Meaning): เมื่อเรามีทุกอย่างพร้อม เราจะแสวงหาความหมายในชีวิต

หนังสือดีๆ ที่คุณอาจสนใจ

อย่าถูกหลอกด้วยหน้าปกสุดแสนน่ารัก หนังสือ 5 ทักษะการคิดฉบับญี่ปุ่นเต็มไปด้วยเนื้อหาอันเข้มข้น ซึ่งเขียนโดยโปรแกรมเมอร์ญี่ปุ่นชั้นเซียน

หนังสือเล่มนี้จะเปลี่ยน “ความคิด” ของคุณให้พัฒนาไปอีกขั้น คุณจะทำงานได้ดี มีวิธีคิดที่เป็นเหตุเป็นผล คิดนอกกรอบ และพัฒนาตัวเองได้เร็ว จนคนรอบข้างประหลาดใจ

เราหลายคนถูกสอนมาให้ “เก่งทางเดียว” แล้วเก่งด้านนั้นให้สุดทางไปเลย

วิธีคิดแบบนี้ใช้ได้ผลในสมัยก่อนที่คนเก่งมีน้อย แต่โลกเรากำลังเปลี่ยนไป สมัยนี้คนเก่งเกลื่อนจนแทบจะเดินชนกัน ต่อให้คุณทำอะไรได้ ก็จะมีอีกเป็นหมื่นคนและ AI ที่ทำได้เหมือนคุณ

หนังสือวิถีผู้ชนะฉบับคนเก่งแบบเป็ด จะสอนให้คุณเป็น “ซูเปอร์เป็ด” ที่เก่งรอบด้าน และสามารถนำทักษะที่หลากหลายมาใช้ ให้ก้าวหน้าในงาน ชีวิต และธุรกิจ

ซากุราดะ จุน นักออกแบบ InfoGraphic มือหนึ่งของญี่ปุ่นจะมาสอนคุณมองสิ่งต่างๆ ด้วยแผนภาพ ซึ่งจะช่วยให้คุณเข้าใจเรื่องยากๆ ได้ใน 1 นาที พบกับหนังสือ คิดเป็นภาพ ที่เจาะลึกเทคนิคคิดเป็นภาพของเขาอย่างละเอียด พร้อมแบบฝึกหัดที่สอดแทรกเรื่องราวสนุกๆ และบทเรียนธุรกิจจากบริษัทชั้นนำ เพื่อขัดเกลาความคิดของคุณให้เฉียบคม

บทความที่คุณอาจชอบยิ่งกว่า A Whole New Mind

บิงโกมีบทความดีๆ อีกมากที่คุณอาจสนใจ ดังนี้

  • สิ่งสำคัญจริงๆ ที่จะทำให้คุณประสบความสำเร็จและมีความสุข คือทักษะด้านอารมณ์ หรือ “EQ” … ไม่ใช่ความฉลาดที่วัดได้จากการทำข้อสอบ IQ โดยหนังสือ Emotional Intelligence จะช่วยให้คุณรู้จัก EQ ของตัวเองและประสบความสำเร็จได้เหนือกว่าคน IQ 180 เสียอีก
  • ความสำเร็จของคุณขึ้นอยู่กับ “นิสัยเล็กๆ” ที่เปลี่ยนแค่ 1% ชีวิตจะดีขึ้นถึง 99% หนังสือสุดคลาสสิค The 7 Habits of Highly Effective People จะบอกนิสัยสำคัญทั้ง 7 ที่คนประสบความสำเร็จทุกคนมี
  • กระทั่งบริษัทระดับโลกอย่างกูเกิลเอง ก็บริหารโดยให้ความสำคัญกับคนเป็นหลัก How Google Works เป็นวิธีทำธุรกิจที่อดีต CEO ของกูเกิล เอริค ชมิตต์ เขียนด้วยตัวเอง เพื่อสอนการทำธุรกิจที่เน้นคนเก่งเป็นหลัก
  • ทำไมคุณเก่งแล้วแต่ไม่ก้าวหน้าเสียที? คุณอาจกำลังทำผิดพลาดแบบในหนังสือ What Got You Here Won’t Get You There ที่คนเก่งจำนวนมากติดกับดับจนรุ่นน้องแซงหน้าไปหมด … แค่คุณปรับนิสัยเพียงนิดเดียวก็จะประสบความสำเร็จกว่าเดิม 10 เท่า

 

22 thoughts on “สรุปหนังสือ A Whole New Mind ทักษะด้านไหน “ชนะ” ในโลกอนาคต

  1. Pingback: สรุปหนังสือ Emotional Intelligence: รู้แค่นี้ก็ประสบความสำเร็จกว่าคน IQ 180

  2. Prayuth Chatsakda says:

    เป็นการสรุปที่ดีมาก
    ชอบที่มี ลิ้งค์ เชื่อมโยงไป บทสรุปอื่นๆ
    ให้คนที่อยากรู้เพิ่มเติมไปตามอ่านได้
    .
    มาจาก ที่พี่บอย วิสูตร แชร์
    ว่า เป็น web สรุปหนังสือที่ดีที่สุด
    เห็นด้วยอย่างไม่มีข้อสงสัยใดๆ
    .
    ขอบคุณมากๆ ที่ช่วยสรุป
    และแบ่งปันครับ 🙂
    .
    โค้ชตุ้มสรุปให้

  3. Topkup says:

    สาระดีมากครับบ บทความนี้ รู้เเล้วฝึกฝนตัวเองตั้งเเต่วันนี้ อีก 10 ปีก็ไม่ตกงาน

  4. ปาณนิภา วืชญเนตินัย says:

    หนังสือ A Whole New Mind ได้อ่านครั้งแรกเมื่อปี 2007 ชอบมากนะ มันเปลี่ยน mind set เราโดยมีเหตุผลที่มาที่ไป ทัศนคติ และมุมมองใหม่ ช่วยให้เราพัฒนาตนเองให้สอดคล้องกับแนวทางของโลกยุคปัจจุบันและอนาคตที่จะมาถึง จาก 2007 ถึง 2019 เราได้เห็น trend ที่เปลี่ยนไปและสอดคล้องกับที่ Daniel Pink ได้เขียนไว้ในหนังสือเล่มนี้

  5. เธียรขวัญ says:

    ขอบคุณนะคะ มีคุณค่ามากทำให้มองทางของตัวเองเห็นชัดขึ้นค่ะ

  6. ปาณนิภา วิชญเนตินัย says:

    หนังสือ A Whole New Mind เป็นหนังสือที่ได้อ่านมานานแล้วค่ะชอบมาก แต่ทราบว่ามีแปลเป็นภาษาไทย แต่หาซื้อไม่ได้เลย
    หนังสือเล่มนี้ช่วยให้เราเข้าใจว่าโลกอนาคตนั้นเค้าให้ความสำคัญกับทักษะอะไร และเมื่อกลับมามองตัวเองว่าเรามีทักษะ ที่จำเป็นสำหรับอนาคตมากน้อยแค่ไหน และควรจะโฟกัส ทักษะอะไรที่ต้องพัฒนา
    เป็นหนังสือที่ช่วยให้เราค่อยเปลี่ยน ความคิด (mind set) และ tune into new mind
    มีใครจะช่วยให้ข้อมูลได้ไหมคะ ว่าฉบับภาษาไทยนั้น จะหาได้แค่ไหน เพราะอยากจะได้เอาไว้ให้ผู้ที่สนใจที่อาจจะไม่ถนัดภาษาอังกฤษค่ะ
    ดีมากกกกค่ะ

  7. Pingback: สรุปหนังสือ To Sell is Human เมื่อทุกอาชีพกลายเป็น "เซลส์ขาย" - สำนักพิมพ์บิงโก

  8. Pingback: สรุปหนังสือ Made to Stick 6 เคล็ดลับการสื่อสารให้หนุบหนับ จับใจคนฟัง

  9. Pingback: สรุปหนังสือ Influence: The Psychology of Persuasion - สำนักพิมพ์บิงโก

  10. Pingback: สรุปหนังสือ Steve Jobs บทเรียนชีวิตและธุรกิจ จากชายผู้เปลี่ยนโลก

  11. Pingback: สรุปหนังสือ How to Win Friends & Influence People วิธีชนะมิตรและจูงใจคน

  12. Pingback: สรุปหนังสือ Originals เผยเคล็ดลับวิธีสร้างงานให้โลกจำ

  13. Pingback: สรุปหนังสือ Deep Work วิธีทำงานแนวใหม่ ในยุคแห่งเทคโนโลยี

  14. Pingback: สรุปหนังสือ The End of Jobs อนาคตงานแห่งศตวรรษที่ 21 เมื่อใบปริญญาไม่เพียงพออีกต่อไป - สำนักพิมพ์บิงโ

  15. Pingback: สรุปหนังสือ The Tipping Point เปลี่ยนสินค้าให้เป็นไวรัส จุดกระแสให้ดังไปทั่วโลก

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราะห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก