สรุปหนังสือ Think Like Zuck อัจฉริยะยุคใหม่ เขาคิดอะไรกัน?

สมัยนี้ใครๆ ก็อยากเป็นผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จเหมือนมาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก หรือเจฟฟ์ เบซอส (เจ้าของเว็บไซต์ amazon.com) แน่นอนค่ะว่าต้องมีอยู่บ้างที่ทำได้ แต่ส่วนใหญ่กลับคว้าตำแหน่งเศรษฐีเงินล้านที่ใฝ่ฝันไม่ถึง

ทำไมบางธุรกิจถึงประสบความสำเร็จ แต่บางธุรกิจกลับเหลวไม่เป็นท่ากันล่ะคะ? หนังสือ Think Like Zuck จะพาคุณไปไขข้อข้องใจนี้ รวมถึงเผยเคล็ดลับการทำธุรกิจแบบเจ๋งๆ ของเหล่าซีอีโอตัวพ่อ ซึ่งจะช่วยให้คุณแซงหน้าคนอื่นๆ ไม่ว่าจะใครหน้าไหน และคุณอาจได้กลายเป็นมาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก คนต่อไป

เชิญพบกับเคล็ดลับที่จะทำให้คุณกลายเป็นเจ้าของธุรกิจที่ประสบความสำเร็จได้ จนใครๆ ก็ต้องพากันอิจฉา!

think like zuck ekaterina walter jeff bezos amazon
Jeff Bezos เป็นผู้ก่อตั้งและซีอีโอแห่ง amazon.com เขาเป็นมหาเศรษฐีอันดับ 1 ของโลกแซงหน้าบิล เกตส์ ไปแล้ว

เจ้าของธุรกิจที่ประสบความสำเร็จมักมีสิ่งที่หลงใหลคอยเป็นแรงผลัก

สมมติว่าคุณผู้อ่านอยากทำสตาร์ทอัพ คุณผู้อ่านจะเลือกกระโจนเข้าไปในตลาดที่เพิ่งเกิดใหม่ หรือจะเข้าไปแข่งขันในตลาดใหญ่ที่มีคู่แข่งชุกชุมอยู่แล้ว?

คำตอบคือ ไม่ใช่ทั้งสองอย่าง เราควรปล่อยให้ความหลงใหลคอยนำทางตัวเองต่างหาก และนั่นคือหลักการที่มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก ยึดถือจนสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้กับโลกใบนี้!

มีเพียงไม่กี่คนที่รู้ว่า ภายในตัวของมาร์คเต็มไปด้วยความหลงใหลที่อยากให้ผู้คนเชื่อมต่อถึงกันตั้งแต่ก่อนเฟซบุ๊กจะถือกำเนิดเสียอีก ตอนมาร์คอายุ 10-12 ขวบ เขาเคยสร้างแอพพลิเคชั่นสำหรับส่งข้อความที่ชื่อ  “Zucknet” เพื่อเชื่อมต่อคอมพิวเตอร์หลายเครื่องที่บ้านเข้าด้วยกัน

นอกจากความหลงใหลจะผลักดันให้มาร์คทำสิ่งที่ชอบแล้ว มันยังทำให้เขาขี้ตื้อ อดทน และไม่ยอมแพ้ แม้เผชิญกับช่วงเวลายากลำบาก

ก่อนที่มาร์คจะก่อตั้งเฟซบุ๊ก เขาได้สร้างโซเชียลมีเดียตัวหนึ่งที่ชื่อ “Facemash” ซึ่งให้นักศึกษาในฮาร์วาร์ดเปรียบเทียบรูปนักศึกษาสาวๆ แต่ละคนว่าใครฮอตกว่ากัน ด้วยการละเมิกสิทธิส่วนบุคคลนี้ และ Facemash ยังดึงรูปนักศึกษาเหล่านั้นมาใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต ทำให้บอร์ดบริหารของฮาร์วาร์ดต้องยื่นมือเข้ามาสั่งปิดมันลง

 

facemash
ตัวอย่างของ Facemash มาร์คโดนนักศึกษาสาวประณามว่าเอารูปของพวกเธอมาเล่นตลก

ตอนที่เฟซบุ๊กเพิ่งเปิดตัวใหม่ๆ แม้หน้าตาของมันดูเหมือนเลียนแบบมาจากโซเชียลมีเดียตัวอื่นอย่าง MySpace และ Friendster แต่มาร์คได้สอดแทรกฟีเจอร์บางอย่างที่ดึงดูดผู้ใช้ให้ติดงอมแงมลงไปด้วย มาร์คจะไม่มีทางคิดฟีเจอร์เหล่านี้ออกหากเขาไม่มีความหลงใหล สุดท้ายเฟซบุ๊กก็ล้มคู่แข่งทุกรายจนราบเป็นหน้ากลอง

 

เราจะหาความหลงใหลจากคู่แข่งบ้างก็ไม่ผิด เพราะในที่สุดแล้ว ความหลงใหลจะทำให้สิ่งที่เราทำโดดเด่นออกมาจากคู่แข่งได้เอง

 

แม้เรามีความหลงใหลกับสิ่งที่ทำมากแค่ไหน ก็ไร้ประโยชน์หากปราศจากการกระทำ มาร์คไม่ได้แค่บอกว่าอยากทำนู่นนี่นั่นแล้วนั่งเฉยๆ เขาลงมือทำแบบจริงจัง เพราะการไม่ทำอะไรคงไม่ส่งให้มาร์คมายืนอยู่ตรงที่ที่เขาอยู่ทุกวันนี้ได้

ถ้าใครขี้เกียจ แอดมีโปสเตอร์ที่ติดไว้ในสำนักงานใหญ่ของเฟซบุ๊กใบหนึ่ง ที่น่าจะเป็นแรงผลักให้หลายๆ คนลงมือทำได้ ดังนี้

ลงมือดีกว่ารอให้ทุกอย่างพร้อม (Done is better than perfect.)

บริษัทที่ประสบความสำเร็จถูกสร้างขึ้นมาด้วยวิสัยทัศน์ที่ก่อให้เกิดแรงบันดาลใจ

นอกจากความหลงใหลแล้ว เจ้าของธุรกิจที่ประสบความสำเร็จก็ยังมีเป้าหมายส่วนตัวรวมอยู่อีกด้วย พวกเขาจะไม่ยอมรามือจนกว่าจะบรรลุเป้าหมายนั้น

เป้าหมายส่วนตัวของผู้ก่อตั้งจะเป็นตัวกำหนดเป้าหมายของทั้งบริษัท และเป้าหมายบริษัทที่ยอดเยี่ยมคือสิ่งที่ดึงดูดลูกค้าให้ซื่อสัตย์กับผลิตภัณฑ์ที่ออกมา บริษัทที่เป็นผู้นำตลาดในปัจจุบันล้วนกุมความได้เปรียบนี้ ลองดูบริษัทคอมพิวเตอร์อันดับหนึ่งเป็นตัวอย่างก็ได้ค่ะ

แอปเปิลตั้งราคาผลิตภัณฑ์ของตัวเองไว้สูงลิบ แถมมีส่วนแบ่งตลาดน้อยกว่าคู่แข่งรายอื่น แต่พวกเขาก็ยังประสบความสำเร็จอย่างมหาศาล ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเป้าหมายที่พวกเขาประกาศออกไปนั้นปลุกแรงบันดาลใจและกระตุ้นให้ผู้คน ”คิดต่าง” ข้อความนี้จับใจลูกค้าอย่างยิ่งจนเกิดสาวกแอปเปิลทุกมุมของโลก

เป้าหมายหรือภารกิจนอกจากจะช่วยให้บริษัทดูโดดเด่นขึ้นมาแล้ว ก็ยังช่วยให้ธุรกิจเติบโตแบบยั่งยืนด้วย

มาร์คที่มีเป้าหมายจะสร้างเฟซบุ๊กให้เป็นสถานที่ที่ “ทำให้โลกเปิดกว้างและผู้คนเชื่อมโยงถึงกันมากขึ้น” มาร์ครู้สึกว่าตัวเองยังทำเป้าหมายไม่สำเร็จ เขาจึงไม่ยอมขายบริษัท แม้จะมีนักลงทุนเสนอราคามากมายมหาศาลเพียงไรก็ตาม เฟซบุ๊กเลยอยู่มาได้นานถึงเพียงนี้

เราจะเห็นความคิดแบบนี้แฝงอยู่ในโปสเตอร์ของเฟซบุ๊กอีกใบที่ว่า

การเดินทางนั้นสิ้นสุดไปเพียง 1% (The journey is only one percent finished.)

 

เป้าหมายจะช่วยนำทางให้ทั้งผู้ก่อตั้งและผู้บริโภค แล้วก็ยังจะเป็นแรงกระตุ้นเหล่าพนักงานด้วย เพราะที่สุดแล้ว พนักงานมากฝีมือที่ไม่สนใจเป้าหมายเลย ก็คงทำงานได้ไม่ดีเท่าพนักงานมือใหม่ที่มุ่งมั่นทำเพื่อเป้าหมายของบริษัท

หลักการนี้เห็นได้ชัดในบริษัท Threadless ซึ่งประสบความสำเร็จในการพิมพ์เสื้อลายศิลปะสวยงาม ซีอีโอของบริษัทนี้จะจ้างพนักงานที่มีวิสัยทัศน์ชัดเจน และปฏิเสธคนที่เชี่ยวชาญแต่ขาดความกระตือรือร้น

think like zuck ekaterina walter
threadless.com เป็นชุมชนออนไลน์สำหรับศิลปินที่อยากออกแบบลวดลายต่างๆ ทุกคนสามารถส่งผลงานเข้าประกวด ผลงานของใครถูกโหวตจากคนในเว็บมาก จะได้รับการพิมพ์ลงบนผลิตภัณฑ์ต่างๆ และได้รับค่าตอบแทนในรูปแบบต่างๆ

 

จ้างคนที่กระตือรือร้นและมีความเชื่อแบบเดียวกับตัวเอง

อย่างที่แอดได้กล่าวไปในหัวข้อที่แล้ว คนที่หลงใหลในงานที่ตัวเองทำย่อมสร้างผลงานได้ดีกว่า ผู้ประกอบการต้องจำกฎข้อนี้ไว้ให้แม่นเพื่อจะได้คนที่เหมาะสมเข้ามาทำงาน

หากคุณผู้อ่านอยากได้คนที่มีความเชื่อแบบเดียวกับตัวเอง คุณผู้อ่านก็ต้องทำความเข้าใจก่อนว่าความเชื่อที่ว่าคืออะไร จากนั้นค่อยปลูกฝังผ่านการสร้างวัฒนธรรมองค์กร นั่นคือสิ่งที่ซีอีโอของร้านขายรองเท้าออนไลน์ Zappos ใช้และประสบความสำเร็จมาแล้ว

think like zuck zappos ekaterina walter
Zappos.com เป็นเว็บไซต์ขายรองเท้าออนไลน์ มีสำนักงานใหญ่อยู่ในรัฐเนวาดา และถูก Amazon ซื้อไปในมูลค่า 1.2 พันล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐเมื่อปี 2009

 

โทนี่ เช (Tony Hseish) ตั้งสโลแกนพิลึกกึกกือเพื่อสะท้อนถึงความเชื่อของบริษัท เช่น “ทำให้เขาว้าว! ด้วยบริการที่ยอดเยี่ยมของเรา!” หรือ “สร้างความสนุก แล้วอย่าลืมใส่ความพิลึกไปด้วยอีกหน่อย”

และเพื่อให้แน่ใจว่าพนักงานใหม่เชื่อแบบเดียวกับสโลแกนที่ว่า Zappos ก็ได้ทดสอบผู้เข้าสมัครด้วยการถามว่า “คุณรู้สึกมีโชคมากแค่ไหน ให้คะแนนจาก 1-10 ดูนะ” คำถามนี้ช่วยให้ Zappos สามารถดีดคนที่คิดลบ (คนที่ตอบว่าน้อยกว่า 7) ออกได้โดยอัตโนมัติ

หากคุณผู้อ่านคิดว่าวิธีการลักษณะนี้ดูซับซ้อนเกินงาม ก็อย่าลืมว่า การจ้างงานเป็นเหมือนการกลัดกระดุมเม็ดแรก ถ้าพลาด บริษัทก็จะไม่เดินหน้าไปไหน Zappos เคยประสบปัญหานี้เหมือนกันและได้คำนวณล่วงหน้าไว้ให้เราแล้วว่า 100 ล้านดอลลาร์เป็นจำนวนเงินที่อาจต้องเสียไปเมื่อพลาด

 

ลงทุนก่อนเซ็นสัญญาจ้างซะหน่อย ดีกว่าต้องมาขาดทุนทีหลัง

 

แม้เราจะจ้างคนที่ใช่ได้แล้ว แต่ก็ยังมีอีกวิธีที่ทำให้พวกเขารักงานที่ตัวเองทำและสร้างผลงานให้ออกมาดี นั่นคือ เราต้องคอยใส่ใจพวกเขา และหากเหล่าพนักงานรู้สึกว่าได้รับความใส่ใจ พวกเขาก็จะใส่ใจลูกค้าอย่างที่เราใส่ใจพวกเขา ไม่ต่างกันเลยค่ะ

บริษัทจึงต้องสร้างสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยความไว้เนื้อเชื่อใจ และทำให้พนักงานสนุกกับงานที่ได้ทำ เฟซบุ๊กเองก็มีเครื่องดนตรีและเครื่องเล่นเกมอยู่เต็มสำนักงานเลยล่ะค่ะ พนักงานจึงรู้สึกผ่อนคลายเมื่อได้พัก

 

อย่าปล่อยให้คุณภาพของผลิตภัณฑ์ตกต่ำ

เฟซบุ๊กเกิดจากเด็กมหาลัยอายุ 19 ขีดเขียนโปรแกรมเล่นๆ แต่สุดท้ายก็ออกมาเป็นโซเชียลเน็ตเวิร์กที่หลายร้อยล้านคนทั่วโลกขาดไม่ได้แล้วในเวลานี้

มันเกิดขึ้นได้ยังไงกัน?

คำตอบคือ ผลิตภัณฑ์คุณภาพไงล่ะคะ!

ตอนที่เฟซบุ๊กกำลังโตใหม่ๆ มาร์คได้ตัดสินใจว่าจะให้มันโตช้าๆ อย่างค่อยเป็นค่อยไป บริษัทจะได้ตอบสนองความต้องการลูกค้าที่ขยายขึ้นได้ทันการ

ตอนที่เฟซบุ๊กเปิดให้ใช้บริการแค่ในมหาวิยาลัยฮาร์วาร์ด มาร์คจะเปิดนักเรียนจากมหาลัยอื่นเข้าร่วมก็ต่อเมื่อมีเซิฟเวอร์เพียงพอเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเราจะยังต้องรักษาคุณภาพผลิตภัณฑ์ไว้ แต่เราก็ต้องรู้จักมองหาสิ่งใหม่ๆ ด้วย
แล้วสิ่งใหม่ๆ ที่ว่าก็ยังต้องมีคุณภาพที่ดีด้วยอีกเช่นกัน

เฟซบุ๊กสะท้อนความคิดนี้ผ่านโปสเตอร์ที่ว่า

ขยับให้ไว ก่อเรื่องให้วุ่น (Move Fast, break things.)

 

นอกจากนี้ เฟซบุ๊กยังเคยจัดงานแฮกกาธอนให้นักพัฒนาซอฟต์แวร์มารวมตัวกันคิดค้นไอเดียใหม่ๆ ซึ่งมันก็ช่วยได้จริงๆ เฟซบุ๊กได้ฟีเจอร์ใหม่ๆ เจ๋งๆ มาประดับเว็บไซต์ของตัวเองมากมาย เช่น ไทม์ไลน์ แชท และแม้แต่ปุ่มไลค์ก็มาจากการนำเสนอของเหล่านักพัฒนาด้วยเหมือนกัน!

ไม่เพียงเท่านั้น งานแฮกกาธอนไม่ได้แค่เพียงสร้างสิ่งใหม่ๆ มันยังช่วยให้พนักงานได้เรียนรู้ว่าไม่ใช่ทุกอย่างที่จะได้ผลลัพธ์ดีๆ ตั้งแต่ครั้งแรกที่ลอง ความล้มเหลวไม่ใช่เรื่องเสียหาย

 

เพราะบางคราคุณก็ต้องล้มบ้าง เพื่อจะได้รู้วิธีลุกกลับขึ้นมายืนอีกครั้ง ความสำเร็จจึงจะบังเกิด

 

เจมส์ ไดสัน (James Dyson) สร้างผลิตภัณฑ์ต้นแบบถึง 5,127 ตัว ก่อนจะได้เครื่องดูดฝุ่นไดสันที่ไม่ต้องใช้ถุงเก็บฝุ่นที่สมบูรณ์แบบ เครื่องดูดฝุ่นตัวนั้นกลายมาเป็นผลิตภัณฑ์ขายดีอันดับ 1 ในสหราชอาณาจักร และเป็นผู้นำในด้านการทำความสะอาดในสหรัฐอเมริกาอีกด้วย

 

ทีมที่ดีต้องประกอบไปด้วยผู้คนที่เก่งและมีประสบการณ์โชกโชน

ทีมที่ดีต้องประกอบไปด้วยคนที่มีทักษะและความสามารถที่แตกต่างกันออกไป

ทีมฟุตบอลก็ต้องมีกองหน้า กองกลาง กองหลัง ผู้รักษาประตู ตัวสำรอง และโค้ช ทุกคนต่างต้องทำหน้าที่ตามตำแหน่งของตนอย่างเต็มที่จึงสามารถคว้าถ้วยรางวัลมาได้

ทีมที่ดีไม่เพียงแค่มีสมาชิกที่มีความสามารถแตกต่างกันไปเท่านั้น แต่ต้องเก่งกาจและมีประสบการณ์ในการทำงานมาแล้วด้วย

ธุรกิจก็เช่นกัน สมาชิกในทีมต้องประกอบด้วยนักคิด (คนที่มีไอเดียสร้างสรรค์) และนักสร้าง (คนที่บริหารเป็น) สมดุลนี้จะทำให้คุณแน่ใจได้ว่าภารกิจของคุณไม่ถูกละทิ้งไปไหน ในขณะที่ธุรกิจก็พัฒนาต่อไปได้ด้วย

เชอริล แซนด์เบิร์ก COO (Cheif Operating Officer) ของ Facebook

 

ตั้งแต่นักสร้างมากประสบการณ์อย่างเชอริล แซนด์เบิร์ก กลายมาเป็นซีโอโอของเฟซบุ๊ก นักคิดอย่างมาร์คก็สามารถทำสิ่งที่เขาถนัดที่สุด ซึ่งก็คือการสร้างผลิตภัณฑ์และกำหนดวิสัยทัศน์ของบริษัทได้อย่างเต็มที่

ในขณะเดียวกัน ประสบการณ์ด้านการพัฒนาธุรกิจอย่างโชกโชนของเชอริล (สิ่งที่มาร์คไม่มี) ก็สามารถสร้างและขับเคลื่อนทุกฟันเฟืองของเฟซบุ๊กให้หมุนต่อไปได้อย่างราบรื่น

เรื่องผู้ก่อตั้งแอปเปิลก็คล้ายๆ กัน เมื่อสตีฟ วอซเนียก โชว์คอมพิวเตอร์เครื่องแรกของเขาให้เพื่อนดู (คุณผู้อ่านน่าจะเดาถูกว่าเพื่อนคนนั้นคือใคร) วอซเนียกภูมิใจกับผลงานของตัวเองมากจนอยากให้คอมพิวเตอร์เครื่องนั้นกับสตีฟ จอบส์ แบบฟรีๆ แต่จอบส์ซึ่งมีหัวธุรกิจกลับเห็นคอมพิวเตอร์นั้นเป็นโอกาสในการสร้างธุรกิจ และไอเดียนั้นก็ได้กลายเป็นบริษัทแอปเปิ้ลที่เรารู้จักกันจนถึงทุกวันนี้

วอซเนียกสร้างสรรค์ และจอบส์นำมันไปต่อยอดเป็นธุรกิจ

บริษัทที่สามารถรักษาสมดุลนี้ต่อไป จะเติบโตได้อีกสองเท่าตัว เพราะหากทีมของเราเต็มไปด้วยคนที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะทางอย่างเดียว ไม่ช้าบริษัทก็จะเจอปัญหา

 

Steve Wozniak
Steve Wozniak เป็นผู้ร่วมก่อตั้งแอปเปิ้ล วิศวกร โปรแกรมเมอร์ และยังเป็นผู้พัฒนาคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะที่เรียกได้ว่าเป็นประวัติการณ์ ซึ่งก็คือ Apple I และ Apple II

 

สรุปหลังอ่านหนังสือ Think Like Zuck จบ

ธุรกิจที่จะประสบความสำเร็จได้ ต้องมีผู้นำที่มีความหลงใหลในงานที่ทำ รู้จักหา Partner ทางธุรกิจ และค้นหาสิ่งใหม่ๆ ที่มีคุณภาพด้วยอยู่เสมอ!

 

 

ข้อแนะนำไปปฏิบัติ

อย่ายอมทำสิ่งที่ตัวเองไม่ได้หลงรัก

หลายคนอาจจะคิดว่าตัวเองต้องทำในสิ่งที่ไม่ได้รัก เพราะ “ควรทำ” แต่อย่าทิ้งสิ่งที่หลงใหลมาตลอดเลยค่ะ

จงมองหาโอกาสอย่างไม่ลดละ ค้นความหลงใหลให้เจอ แล้วคุณจะรู้ได้เองเมื่อเจอมัน!

 

หนังสือ Think Like Zuck ได้ถูกนำไปแปลเป็นภาษาไทยแล้วในชื่อ คิดแบบอัจฉริยะ มาร์ก ซักเกอร์เบิร์ก: Think Like Zuck สามารถตามไปซื้อหากันได้เลยค่ะ

หนังสือแนะนำเพิ่มเติม

ยังมีนักสร้างสตาร์ทอัพมือฉมังและผู้ประกอบการเก่งๆ อีกหลายคนที่มีความคิดและวิธีการทำงานแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับว่าใครถนัดแบบไหน คุณเองก็อาจจะยังไม่เจอแบบที่ใช่ แต่ ทำถูกครั้งเดียว อนาคตเปลี่ยนตลอดชีวิต ช่วยคุณได้ หนังสือเล่มนี้อัดแน่นไปด้วยเรื่องเล่าของนักธุรกิจรุ่นใหม่ไฟแรงแห่งศตวรรษที่ 21 ทั้งสิบหกคนที่ประสบความสำเร็จไม่แพ้มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก และพวกเขาจะมาช่วยคุณกรุยทางไปสู่อนาคตที่จะเปลี่ยนชีวิตคุณไปตลอดกาล

you only have to be right once

สำนักพิมพ์บิงโกภูมิใจนำเสนอค่ะ!

8 thoughts on “สรุปหนังสือ Think Like Zuck อัจฉริยะยุคใหม่ เขาคิดอะไรกัน?

  1. Pingback: 3 สิ่งที่ มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก อยากบอกกับคนเจน Z ในวันรับปริญญา

  2. Pingback: สรุป The Intelligent Investor: หนังสือลงทุนที่ดีที่สุดในโลก (นักลงทุนต้องอ่าน)

  3. Pingback: สรุปหนังสือ Principles บทเรียนชีวิตของเจ้าพ่อเฮดจ์ฟันด์

  4. Pingback: สรุปหนังสือ Toyota Kata "วิถีโตโยต้า": หลักคิดการทำธุรกิจที่ไม่มีวันแพ้

  5. Pingback: สรุปหนังสือ A Whole New Mind: ทักษะด้านไหน "ชนะ" ในโลกอนาคต

  6. Pingback: สรุปหนังสือ Grinding It Out: ความลับของอาณาจักรแมคโดนัลด์ จากปากผู้ก่อตั้ง

  7. Pingback: สรุปหนังสือ Sam Walton: กำเนิด Walmart เครือซูเปอร์มาร์เก็ตที่ใหญ่ที่สุดในโลก

  8. Pingback: 9 โมเดลธุรกิจที่มาแรงที่สุดในโลกสมัยใหม่ - สำนักพิมพ์บิงโก

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราะห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก