เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของคุณให้สูงขึ้น เพียงใช้แนวคิดจากหนังสือ Deep Work
คาล นิวพอร์ท คือชายหนุ่มที่ประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็ว นับตั้งแต่เรียนจบเขาสามารถเขียนหนังสือได้ถึง 4 เล่ม เรียนต่อจนจบปริญญาเอก เขียนบทความวิชาการจนได้รับการยอมรับ และได้เป็นอาจารย์ประจำที่มหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ ทุกวันนี้เขาใช้เวลาทำงานเพียงวันละ 4-5 ชั่วโมงและมีครอบครัวอันแสนอบอุ่นซึ่งเขามีเวลาให้อยู่เสมอ เขาทำเรื่องทั้งหมดนี้ในระยะเวลาอันสั้นได้อย่างไร?
นิวพอร์ทได้บอกถึงเคล็ดลับการทำงานของเขาผ่านตัวอักษรในหนังสือชื่อ Deep Work ซึ่งเขายังเสริมอีกว่า วิธีการทำงานแบบ Deep Work จะช่วยให้เศรษฐกิจของโลกเติบโตได้มากขึ้นด้วย
เรามาดูกันดีกว่าว่า ทำไมนิวพอร์ทถึงคิดว่าวิธีทำงานของเขาจะช่วยเศรษฐกิจของโลกได้
ก้าวเข้าสู่ยุคแห่ง AI
โลกของเราขยับเข้าใกล้ยุคของหุ่นยนต์ AI มากขึ้นทุกที ซึ่งมันจะเข้ามาเปลี่ยนแปลงโลกของการทำงานไปอย่างสิ้นเชิง เราจะพบเห็นคนตกงานมากขึ้นเนื่องจากโดนแทนที่ด้วยหุ่นยนต์หรือเทคโนโลยี แต่นิวพอร์ทบอกว่ายังมีอีกคนอยู่ 3 ประเภทที่จะโดดเด่นขึ้นมาได้ในสภาพเช่นนี้
- คนทักษะสูงที่มีความคิดสร้างสรรค์และสามารถทำงานกับหุ่นยนต์ได้
- ผู้เชี่ยวชาญระดับต้นๆ ในสายงานของตัวเอง เช่น สายงานอาหาร เชฟมือฉมังจะยังโดดเด่นได้ แม้หุ่นยนต์จะทำอาหารได้ แต่เชฟจะกลายเป็นคนคิดเมนูใหม่ๆ และสอนหุ่นยนต์ให้ทำเมกนูของพวกเขา
- คนที่นำเงินไปลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ถูกคิดค้นขึ้น
วิธีทำงานแบบ Deep Work คืออะไร?
นิวพอร์ทบอกว่า เขาสามารถทำทุกเรื่องได้สำเร็จทั้งหมด เพราะเขาใช้วิธีทำงานแบบ Deep Work ซึ่งหมายถึง การทำงานในภาวะที่มีสมาธิสูงและไร้สิ่งรบกวน ทำให้ทุกคนสามารถใช้ความคิดได้อย่างเต็มที่เพื่อทำงานชิ้นสำคัญให้เสร็จโดยไม่วอกแวกไปไหน
วิธีการทำงานแบบนี้จึงเป็นสิ่งตรงกันข้ามกับการทำงานแบบ Shallow Work โดยสิ้นเชิง เพราะ Shallow Work คือการทำงานที่ไม่ต้องใช้ความคิด ใช้การคำนวณอย่างเดียว และสามารถทำได้แม้มีสิ่งรบกวน
หลายคนอาจคิดไปว่า “แล้วฉันจะใช้วิธีทำงานแบบนี้ได้เหรอ” ผมขอบอกเลยว่า ได้แน่นอนครับ เพราะนิวพอร์ทได้สรุปวิธีทำงานออกมาเป็นกฎ 4 ข้อง่ายๆ ดังนี้
กฎข้อที่ 1 จัดแวดล้อมการทำงานที่ดี
กุญแจสำคัญของกฎข้อนี้คือ คุณต้องสร้างกิจวัตรการทำงานที่ทำให้คุณมีสมาธิและไม่วอกแวกขึ้นมา ซึ่งคุณสามารถใช้ 4 วิธีดังต่อไปนี้
- กำจัดสิ่งรบกวนให้เหลือน้อยที่สุด
งานวิจัยของบริษัทให้คำปรึกษาแห่งหนึ่งบอกว่า โดยเฉลี่ยแล้วคนทำงานใช้เวลา 60% ของเวลาทำงานแต่ละสัปดาห์ไปกับโซเชียลมีเดียและการเล่นอินเทอร์เน็ต เวลา 30% ในนี้ใช้ไปกับการอ่านและตอบอีเมล
นั่นหมายความว่า คุณหมดเวลาไปมากกับการทำงานเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้ แถมคุณยังไม่สามารถมีสมาธิกับการทำงานอย่างจริงจังได้อีกด้วย
- แบ่งเวลาให้เป็น
คุณต้องกำหนดเวลาให้ชัดเจนว่าคุณจะทำงานอะไรและใช้เวลาเท่าไหร่ แล้วคุณค่อยใช้เวลาว่างที่เหลือไปทำอย่างอื่น
- ล็อกเวลาเอาไว้
คุณต้องกำหนดเวลาทำงานแบบมีสมาธิจดจ่อแต่ละครั้งไว้ 90 นาทีในตารางการทำงานของคุณ
- ใช้เวลาว่างมาทำงานแบบมีสมาธิจดจ่อ
ถ้าคุณยังทำไม่ได้ นิวพอร์ทแนะนำให้คุณฝึกนิสัยนี้ขึ้นมาด้วยวิธีต่อไปนี้
- แขวนป้าย “กรุณาอย่ารบกวน” ไว้ที่ประตูออฟฟิศ หรือถ้าคุณทำงานในออฟฟิศที่ไม่มีห้องกั้น ให้คุณลองย้ายเอางานไปทำที่ร้านกาแฟหรือห้องสมุด
- ไม่เปิดอินเทอร์เน็ตและปิดโทรศัพท์
- ถ้าคุณต้องการมีสมาธิ ให้ทำตามความต้องการของร่างกาย เช่น ออกกำลังกายเบาๆ กินอาหาร หรือดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน ถ้าคุณไม่ทำตามที่ร่างกายต้องการ จิตใจของคุณก็จะไม่มีพลังงานมากพอที่จะมีสมาธิจดจ่อกับการทำงานได้
กฎข้อที่ 2 เอาชนะสิ่งรบกวนต่างๆ
วิธีการทำงานแบบ Deep Work จะให้ผลลัพธ์ 2 ด้านด้วยกัน หนึ่งคือคุณจะทำงานเสร็จทันตามกำหนด สองคือคุณจะเอาชนะสิ่งรบกวนที่ทำให้จิตใจวอกแวกได้
โซเชียลมีเดียเป็นสิ่งรบกวนสมาธิของคุณ ถ้าคุณต้องทำงานไปด้วยเล่นโซเชียลมีเดียไปด้วย คุณจะวอกแวกและทำงานได้ไม่เต็มที่ วิธีการแก้ไขคือ คุณควรกำหนดว่าจะใช้อินเทอร์เน็ตเวลาไหน (หรือจะไปทำสิ่งอื่นก็ได้)
สุดท้ายนี้นิวพอร์ทยังมีอีก 3 เรื่องที่อยากแนะนำกับคุณในการใช้กฎข้อนี้
- คุณสามารถใช้กฎนี้ได้ถึงแม้งานของคุณจะเป็นงานที่ต้องใช้อินเทอร์เน็ตและคอยตอบอีเมล คุณแค่ต้องบล็อกสิ่งที่ทำให้เสียสมาธิเรื่องอื่นแทน
- เมื่อคุณกำหนดเวลาการใช้อินเทอร์เน็ตแล้ว คุณห้ามใช้อินเทอร์เน็ตในเวลาอื่นนอกเหนือจากเวลาที่กำหนดไว้
- การกำหนดเวลาใช้อินเทอร์เน็ตทั้งที่บ้านและที่ทำงานและช่วยให้คุณมีสมาธิมากขึ้น
กฎข้อที่ 3 ลด ละ เลิกการใช้โซเชียลมีเดีย
ตอนนี้คุณรู้แล้วว่า โซเชียลมีเดียเป็นสิ่งรบกวนสมาธิในการทำงานของคุณ ดังนั้นนิวพอร์ทจึงแนะนำให้คุณจัดการกับมันเสีย เช่น ถ้าคุณใช้เฟซบุ๊กเพื่อพูดคุยติดต่อกับเพื่อน ให้คุณลองเปลี่ยนเป็นการนัดเจอกับเพื่อนตัวต่อตัวไปเลย แต่ถ้าคุณไม่สามารถหาวิธีลดการใช้โซเชียลมีเดียได้ ให้คุณลองเลิกใช้โซเชียลมีเดียเป็นเวลา 30 วัน จากนั้นคุณลองถามตัวเองด้วยคำถาม 2 ข้อนี้
- 30 วันที่ผ่านมาจะดีกว่านี้มั้ยถ้าฉันได้ใช้โซเชียลมีเดีย?
- คนอื่นสนใจหรือเปล่าว่าฉันไม่ได้ใช้โซเชียลมีเดีย?
ถ้าคำตอบของทั้งสองคำถามของคุณคือ “ไม่” แสดงว่าคุณสามารถเลิกใช้โซเชียลมีเดียได้ แต่ถ้าคุณตอบว่า “ใช่” คุณก็สามารถกลับไปใช้โซเชียลมีเดียได้เช่นกัน เพียงแต่การกลับไปใช้ครั้งนี้คุณได้รู้วิธีการลด ละ เลิกเรียบร้อยแล้ว
กฎข้อที่ 4 กำจัดการทำงานแบบ Shallow Work
กฎข้อสุดท้ายคือ คุณต้องลดการทำงานแบบ Shallow Work ให้เหลือน้อยที่สุดในชีวิตประจำวันของคุณ
ปัญหาของการทำงานแบบ Shallow Work คือ คุณอาจจะใช้เวลากับมันไปมากกว่าที่คุณคิด ดังนั้นเพื่อป้องกันการทำงานแบบ Shallow Work ให้คุณกำหนดเวลาทุกนาทีในการทำงานเลยว่าคุณจะทำอะไรบ้าง ปัญหาที่คุณจะเจอเมื่อเริ่มทำเช่นนี้คือ
- ตารางเวลาของคุณจะรวน เพราะคุณใช้เวลาทำแต่ละอย่างนานกว่าที่คุณคิด
- ตารางเวลาของคุณจะถูกงานใหม่ที่ไม่คาดคิดแทรกเข้ามา
วิธีการแก้ไขคือ คุณสามารถเปลี่ยนลำดับกำหนดการใหม่ได้ เพราะเป้าหมายของเราไม่ใช่การทำตามตารางงานอย่างเคร่งครัด แต่เป็นการทำให้คุณรู้ตัวว่าคุณใช้เวลาไปกับอะไรบ้าง
เรากำลังอยู่ในยุคสมัยที่คนเราต้องอะไรหลายอย่างพร้อมกันจนส่งผลต่อประสิทธิภาพของการทำงาน แต่คุณสามารถแก้ไขปัญหานี้ได้ด้วยการกำจัดสิ่งรบกวนที่ทำให้เสียสมาธิ แล้วมุ่งสมาธิไปที่งานที่สำคัญที่สุดเพียงชิ้นเดียวก็พอ
เพียงเท่านี้คุณก็จะทำงานให้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นคนที่อยู่รอดในโลกแห่งการทำงานในยุคสมัยของหุ่นยนต์นี้อย่างแน่นอน
บทความน่าสนใจที่เกี่ยวข้อง
- ถ้าคุณอยากอ่านบทความเกี่ยวกับการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานเพิ่มเติม ทางบิงโกได้สรุปหนังสือที่จะช่วยให้คุณมีความคิดสร้างสรรค์ได้ทุกวันของการทำงาน ในบทความชื่อ สรุปหนังสือ Manage Your Day-To-Day วิธีเพิ่มไอเดียสุดเจ๋ง ในทุกวันของชีวิต ให้คุณคลิกไปอ่านกันได้เลย
- การทำงานแบบ deep work อาจช่วยให้คุณจดจ่อกับงานตรงหน้าได้ก็จริง แต่นั่นเพียงพอแล้วหรือเปล่าที่จะทำให้คุณเอาตัวรอดในยุคสมัยใหม่? หนังสือ A Whole New Mind จะพาคุณไปพบกับเคล็ดลับการใช้ “สมองซีกขวา” ให้เกิดประโยชน์ เพราะคนทีทำงานงกๆ โดยไม่คิดสนใจสิ่งใหม่คือคนที่กำลังถูกโลกทิ้งไว้ข้างหลัง
แหล่งอ้างอิง
Pingback: สรุปหนังสือ Everything Store: Amazon ร้านขายของออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก
Pingback: สรุปหนังสือ A Whole New Mind: ทักษะด้านไหน "ชนะ" ในโลกอนาคต
Pingback: สรุปหนังสือ The Checklist Manifesto บอกลาคำว่า “พลาด” แค่ใช้เช็คลิสต์
Pingback: สรุปหนังสือ Digital Minimalism ใช้ชีวิตแบบมินิมอลบนโลกดิจิตอล