คุณอาจเคยได้ยินว่าคนรุ่นใหม่ต้องลงทุน การลงทุนเป็นหนทางสู่อิสรภาพทางการเงิน การลงทุนหุ้นจำเป็นมากในสมัยนี้ ฯลฯ แต่พอจะลงมือลงทุนจริง คุณอาจสงสัยว่ามือใหม่ควรเริ่มต้นยังไง นอกจากลงทุนหุ้นแล้วมีอย่างอื่นไหม?
วันนี้บิงโกเลยสรุปแนวทางการเริ่มต้นลงทุนสำหรับมือใหม่ ให้คุณได้ทำตามง่ายๆ ตั้งแต่จัดพอร์ตจนถึงเลือกหุ้น ดังนี้เลยครับ
- กำหนดเป้าหมายชีวิต → เป้าหมายการลงทุน
- หาความรู้ เลือกว่าจะลงทุนอะไร สัดส่วนไหน
- เลือกกลยุทธ์การลงทุนที่เหมาะกับตัวเอง
- เริ่มต้นลงทุนจริง
มาเริ่มลงรายละเอียดกันเลยดีกว่าครับ
1. กำหนดเป้าหมายชีวิต → เป้าหมายการลงทุน
ก่อนลงทุน คุณต้องรู้ก่อนว่าลงทุนไปทำไม เพื่อที่จะกำหนดแนวทางการลงทุนได้ถูกต้อง (จะได้รู้ว่าลงทุนหุ้นแค่ไหน อย่างอื่นแค่ไหน)
เป้าหมายการลงทุนของคุณ มักจะขึ้นอยู่กับเป้าหมายชีวิตด้วย บางคนอยากได้ passive income หรือมีอิสรภาพทางการเงิน บางคนอยากออมเงินไว้ให้พอหลังเกษียณ ให้คุณตั้งเป้าหมายยิ่งละเอียดยิ่งดี คุณควรกำหนดตัวเลขให้ชัดเจน ว่าอยากมีเงินเท่าไร ตอนไหน เช่น
- คุณอายุ 25 ปี มีเงินเดือน 25,000 บาท ออมเงินเดือนละ 5,000 บาทแล้วอยากลงทุนเผื่อวันเกษียณในอีก 30 ปีข้างหน้า → ลงทุนในหุ้นหรือซื้อกองทุนให้มืออาชีพบริหารเงินให้
- คุณมีเงินทุนอยู่ 100,000 บาท อยากรวย
- → ยังไม่ชัดเจน เราต้องกำหนดก่อนว่า “รวย” คือมีกี่บาท
- → สมมุติอยากมี 30 ล้านบาท
- → ต้องการลงทุนเงิน 100,000 บาท ให้เป็น 30 ล้านภายใน 10 ปี
- → คุณต้องการผลตอบแทน 300 เท่าใน 10 ปี หรือคิดเป็นปีละ 300^(1/10) นั่นคือได้ปีละ 77%
- → ค่อนข้างยาก มีน้อยคนจะทำได้ (ปกติปีละ 20% ก็เยอะแล้ว)
- → ต้องลงทุนแบบเสี่ยงกล้าได้กล้าเสีย ซึ่งก็อาจหมดตัว หรือไม่ก็ต้องปรับความคาดหวังลง อาจจะมองว่าใช้เวลา 30 ปีแทนที่จะเป็น 10 ปี ซึ่งจะทำได้ง่ายขึ้นและเสี่ยงน้อยลง
- คุณเพิ่งเกษียณ มีเงินอยู่ 10 ล้านบาท อยากลงทุนให้ได้เงินมาเป็นค่าใช้จ่ายประจำวัน → ลงทุนด้วยวิธีที่มั่นคงขึ้น เช่น ซื้อตราสารหนี้ หรือซื้อหุ้นปันผล เป็นต้น
2. หาความรู้ เลือกว่าจะลงทุนอะไร สัดส่วนไหน
เราต้องหาความรู้ก่อน ไม่อย่างนั้นเราจะลงทุนให้ดีไม่ได้
ความรู้ที่ครอบคลุมที่สุดในการลงทุนมักอยู่ในหนังสือ เพราะหนังสือเป็นช่องทางที่เราจะเข้าถึงแนวคิดในการลงทุนของนักลงทุนชั้นนำของโลกได้ง่ายที่สุด ไม่มีนักลงทุนระดับโลกคนไหนจะมาอธิบายเทคนิคของตัวเองอย่างละเอียดในยูทูป แต่ถ้าเขาอยากถ่ายทอดจริงๆ เขามักเขียนเป็นหนังสือไปเลย
ที่จริงนักลงทุนไทยเก่งๆ ก็เรียนรู้แนวคิดของนักลงทุนชั้นนำในโลกจากหนังสือนี่แหละครับ ผมกล้าบอกเลยว่านักลงทุนไทยทุกคนที่ประสบความสำเร็จ ล้วนอ่านหนังสือมาเยอะมาก
คนที่ไม่รู้จะเริ่มอ่านจากไหน ผมได้สรุปหนังสือลงทุนดีๆ ที่ควรอ่าน ให้คุณแล้วครับ
แต่ปัญหาของหลายๆ คนคือ หนังสือแต่ละเล่มนั้นใช้เวลาอ่านเยอะ แถมทำความเข้าใจยาก อ่านรู้เรื่องบ้างไม่รู้เรื่องบ้าง กว่าจะอ่านครบแล้วเชื่อมโยงแต่ละเล่มเข้าด้วยกันก็กินเวลานาน (เล่มนึงบางทีอ่านเป็นสัปดาห์ เล่มหนาๆ ก็เป็นเดือน)
แนวคิดบางอย่างก็อยู่ในบริบทของต่างประเทศและเกิดขึ้นมาเมื่อหลายสิบปีก่อน จึงยากที่จะทำความเข้าใจ บิงโกจึงมีคอร์สลงทุนที่ช่วยเรียบเรียงลำดับความคิดเรื่องการลงทุนทั้งหมดให้คุณ ดูรายละเอียดคอร์สด้านล่างได้เลยครับ
เมื่อเรามีความรู้เพียงพอ เราก็ต้องเลือกต่อนะครับว่าจะลงทุนอะไรในสัดส่วนเท่าไร
เวลากำหนดการลงทุนและสัดส่วนต่างๆ มี 3 เรื่องที่คุณต้องดู
- ผลตอบแทน
- ความเสี่ยง
- ความถนัด
เราทุกคนต่างมีเป้าหมายต่างกัน รับความเสี่ยงได้ไม่เท่ากัน ดังนั้นจะไม่มีการลงทุนไหนเหมาะกับทุกคน
คุณจึงควรแบ่งสัดส่วนการลงทุนตามเป้าหมายทางการเงินของคุณครับ
- หุ้น = ความเสี่ยงสูง ผลตอบแทนสูง
- อสังหาริมทรัพย์ = ความเสี่ยงปานกลาง ผลตอบแทนปานกลาง
- ทองคำ = ความเสี่ยงปานกลาง ผลตอบแทนปานกลาง
- ตราสารหนี้ = ความเสี่ยงต่ำ ผลตอบแทนต่ำ
- เงินฝากธนาคาร = ความเสี่ยงต่ำ ผลตอบแทนแทบไม่มี
***เวลาเราซื้อ เราอาจซื้อเองหรือซื้อกองทุนก็ได้ เช่น ถ้าเราซื้อหุ้น เราอาจซื้อหุ้นเองเป็นตัวๆ หรือซื้อ “กองทุนหุ้น” ที่มีผู้จัดการกองทุนมาลงทุนเลือกซื้อหุ้นแทนเรา
ผมได้แบ่งสัดส่วนการลงทุนคร่าวๆ ให้คุณลองใช้เป็นตัวอย่างนะครับ คุณสามารถเอาไปปรับใช้ให้เหมาะกับตัวเองได้เลย
1. คนอายุ 25 ปี เพิ่งเริ่มทำงาน อยากรวย กล้าเสี่ยง มุ่งมั่นอยากศึกษา → ลงทุนหุ้น 100% หรือไม่ก็อสังหาริมทรัพย์ 100% ขึ้นกับความถนัด
ทำไม? หุ้นเป็นการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนดีที่สุด เป็นหนทางรวยเร็วที่สุดในการลงทุน แต่ถ้าคุณถนัดอสังหามากกว่า คุณอาจลงทุนแล้วกำไรจากอสังหามากกว่าก็ได้ ให้เลือกที่ถนัด คุณไม่ควรลงทุนอย่างอื่นเลยเพราะมันจะเป็นตัวถ่วงเปล่าๆ
2. คนอายุ 25 ปี เพิ่งเริ่มทำงาน ชอบความมั่นคง ไม่อยากเสี่ยง ไม่อยากศึกษา → ซื้อกองทุนหุ้น 100%
ทำไม? หุ้นเป็นการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนที่ดีที่สุด แต่คุณไม่อยากเสี่ยงและไม่อยากศึกษา ดังนั้นคุณก็แค่ซื้อกองทุน ก็จะมีมืออาชีพมาบริหารเงินแทนคุณ และเนื่องจากคุณอายุน้อย คุณสามารถทนความผันผวนของตลาดหุ้นได้ ในระยะยาวคุณก็จะกำไรก้อนโตโดยให้คนอื่นบริหารเงินแทนได้ง่ายๆ
3. คนอายุ 30 ปี ได้มรดกก้อนใหญ่ อยากลงทุนให้เงินงอกเงย แต่กลัวความเสี่ยง → ซื้อกองทุนหุ้น 50% ทองคำ 25% ตราสารหนี้ 25%
ทำไม? คุณควรมีหุ้นบ้างเพราะหุ้นให้ผลตอบแทนดีที่สุด เงินของคุณจะได้งอกเงย คุณซื้อเป็นกองทุนจะได้มีมืออาชีพบริหารให้ ส่วนทองคำและตราสารหนี้มีไว้ลดความเสี่ยง
4. คนอายุ 60 ปี มีเงินเกษียณก้อนหนึ่ง อยากรักษาเงินต้นไว้ ไม่อยากศึกษาการลงทุน → ซื้อตราสารหนี้ 80% กองทุนหุ้น 20%
ทำไม? ตราสารหนี้เป็นหลักประกันว่าเงินของคุณจะไม่หายไปไหน ส่วนหุ้น 20% เป็นการลงทุนให้เงินงอกเงยโดยเสี่ยงน้อยเพราะเราลงเงินสัดส่วนน้อย
5. คนอายุ 60 ปี มีเงินเกษียณก้อนหนึ่ง มีเวลาว่างศึกษาการลงทุน → แบ่งเงินสักก้อนไปซื้อตราสารหนี้ ส่วนที่เหลือลงทุนหุ้นและอสังหาเก็บค่าเช่า
ทำไม? ตราสารหนี้มีไว้เป็นหลักประกันว่าคุณจะมีกินมีใช้ เงินก้อนนี้ควรพอใช้อย่างน้อย 15 ปี จะมากหรือน้อยขึ้นกับค่าใช้จ่ายของคุณ ส่วนที่เหลือให้คุณเอาไปลงทุนให้งอกเงย การลงทุนให้งอกเงยทำได้โดยลงทุนหุ้นและอสังหาริมทรัพย์
ห้ามซื้อหุ้นด้วยเงินทั้งหมดรวดเดียว จะเสี่ยงเกินไป ช่วงแรกให้ซื้อกองทุนเพื่อให้มืออาชีพบริหาร พอเราศึกษาจนมั่นใจค่อยแบ่งเงินก้อนเล็กๆ มาซื้อหุ้นเอง พอเชี่ยวชาญค่อยย้ายเงินมาซื้อหุ้นเองให้มากขึ้น
3. เลือกกลยุทธ์การลงทุนที่เหมาะกับตัวเอง
กลยุทธ์การลงทุนของคุณควรเป็นไปตามเป้าหมายของคุณครับ โดยผมขอสรุปง่ายๆ ดังนี้นะครับ
1. กลยุทธ์แรก ลงทุนแบบเสี่ยงน้อย: ถือระยะยาว
การลงทุนแบบเสี่ยงน้อย จะมาพร้อมผลตอบแทนที่ลดลงด้วย (มีได้ก็ต้องมีเสียครับ)
การลงทุนชนิดนี้จึงประกอบด้วย 2 ปัจจัยครับ (ต้องทำทั้งคู่นะครับ เพื่อลดความเสี่ยงให้น้อยที่สุด)
- ลงทุนระยะยาว โดยไม่ขายง่ายๆ
- ลงทุนในสิ่งที่เสี่ยงน้อย ราคาขึ้นไปเรื่อยๆ ในระยะยาว
ก่อนอื่น การลงทุนแบบถือยาว เป็นวิธีที่เหมาะกับคนส่วนใหญ่ เพราะความเสี่ยงต่ำที่สุด คุณไม่จำเป็นต้องอ่านตลาดหุ้นออกทุกจังหวะ ไม่ต้องปวดหัวกับการติดตามข่าวรายวัน และคุณไม่ต้องเป็นเซียนหุ้นก็ใช้กลยุทธ์นี้จนกำไรได้งดงาม
สิ่งที่คุณต้องทำก็คือ เลือกลงทุนในสิ่งที่จะราคาขึ้นในระยะยาว ซึ่งในระยะสั้นมันอาจผันผวน แต่ในเมื่อคุณถือยาวโดยไม่ขาย ต่อให้ราคาลงชั่วคราว ถึงอย่างไรราคามันก็ต้องขึ้นกลับมาสูงกว่าเดิม
แต่การลงทุนระยะยาวนั้น คุณต้องเลือกสิ่งที่จะลงทุนให้ดีนะครับ ต้องมีเหตุผลเบื้องหลังที่หนักแน่นว่าสิ่งนั้น “มั่นคงมากๆ” เช่น
- กองทุนหุ้นที่ลงทุนกระจายหุ้นทุกตัวในไทย (หรือที่เรียกว่ากองทุนดัชนี) ลองคิดดูว่าถ้าหุ้นไทยร่วงกระจายติดต่อกัน 10 ปี มันคงเป็นเรื่องใหญ่กว่า “หุ้นราคาลง” มันจะต้องเกิดเรื่องใหญ่ขนาดที่ประเทศไทยอาจล่มสลายไปเลย ราคาหุ้นถึงจะลงถาวรได้ขนาดนั้น เพราะฉะนั้นถ้าไทยยังเจริญต่อไป ราคาหุ้นก็จะขึ้นไปเรื่อยๆ (อ่านเคล็ดลับเลือกกองทุนแบบเจาะลึกได้เลยครับ)
- หุ้นบริษัทใหญ่มั่นคงที่ทำธุรกิจผูกขาด ถือกระจาย 10 ตัว ธุรกิจผูกขาดมีแนวโน้มกำไรไปเรื่อยๆ และคุณก็ถือหลายตัวเพื่อลดความเสี่ยงอยู่แล้ว
- ทองคำ สิ่งนี้เป็นของมีค่ามานานหลายพันปี คงไม่เสื่อมค่าไปใน 10 ปีข้างหน้า
- ตราสารหนี้ เพราะเป็นสิ่งที่ความเสี่ยงต่ำด้วยตัวเองอยู่แล้ว
เวลาคุณลงทุนแบบถือยาว ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นคุณก็ไม่ต้องเครียด ต่อให้ตลาดหุ้นเป็นขาลงชั่วคราว ให้ถือยาวต่อไป เดี๋ยวมันก็ขึ้นกลับมา
เพราะคุณรู้ว่าสุดท้ายราคามันจะสูงกลับขึ้นมา และสูงกว่าเดิม ถ้าหุ้นราคาลง คุณก็ควรซื้อเพิ่มด้วยซ้ำ เพราะซื้อได้ในราคาถูก พอราคาขึ้นกลับมาก็ยิ่งกำไร
แต่คุณไม่สามารถใช้กลยุทธ์นี้ได้กับการลงทุนทุกชนิด กลยุทธ์นี้จะใช้ได้กับสิ่งที่มั่นคงมากๆ เท่านั้น ถ้าคุณเลือกซื้อหุ้นรายตัวที่ธุรกิจเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา คุณก็ต้องคอยติดตามสถานการณ์ธุรกิจ และขายหุ้นนั้นเมื่อธุรกิจเสื่อมลง
คนที่อยากรู้วิธี “ลงทุนหุ้น” หรือเล่นหุ้นโดยเฉพาะ ลองเข้าไปอ่านวิธีเล่นหุ้นสำหรับมือใหม่ได้เลย
2. กลยุทธ์สอง ลงทุนแบบเสี่ยงปานกลาง: ปรับตัวทุก 3-6 เดือน
การลงทุนที่เสี่ยงปานกลาง จะลงน้ำหนักกับสิ่งที่เสี่ยงมากขึ้น เช่น หุ้นและอสังหาริมทรัพย์ นอกจากนี้ เนื่องจากคุณเริ่มเสี่ยงมากขึ้น จะต้องใช้เวลามาตรวจสอบการลงทุนอย่างสม่ำเสมอนะครับ
แนวนี้เหมาะกับคนที่รับความเสี่ยงได้ปานกลาง ไม่อยากเอาเงินทั้งหมดไปซื้อหุ้น แต่ก็ไม่อยากฝากธนาคารกินดอกเบี้ยอย่างเดียว อยากให้เงินงอกเงยด้วย สรุปดังนี้ครับ
- แทนที่จะซื้อกองทุนหุ้น เริ่มหันมาซื้อหุ้นรายตัวหรือลงทุนอสังหาริมทรัพย์แทน
- ยังไม่เทน้ำหนักให้หุ้นหรืออสังหาริมทรัพย์หมด มีตราสารหนี้ ทองคำ หรือเงินฝากธนาคารเพื่อลดความเสี่ยง
- เช่น ถือหุ้น 50% ตราสารหนี้ 50% เป็นต้น
- ซื้อหุ้นกระจายหลายตัวเพื่อลดความเสี่ยง (3-10 ตัวกำลังดีครับ)
- หมั่นตรวจสอบการลงทุนของเราทุก 3-6 เดือน
ก่อนอื่นเลย คุณจะเริ่มสังเกตว่าสิ่งที่คุณลงทุนจะต่างจากกลยุทธ์แรกนะครับ ถึงแม้จะเป็น “หุ้น” เหมือนกัน ข้อแรกจะเป็นการซื้อหุ้นผ่านกองทุนหุ้น เราจึงมีผู้จัดการกองทุนช่วยดูแลการลงทุนให้ เราก็เลยสบายไปเปลาะหนึ่ง หรือไม่อย่างนั้นก็จะเป็น “หุ้นที่ทำธุรกิจผูกขาด” ซึ่งมั่นใจได้ว่ามันจะเจริญต่อไปในระยะยาว
แต่ในกรณีข้อสองนี้ เราจะเริ่มมาลงทุนหุ้นรายตัวมากขึ้น ซึ่งจะเริ่มต้องมีการวิเคราะห์หุ้นอย่างสม่ำเสมอ เพราะหุ้นแต่ละตัวจะมีข่าวต่างๆ เข้ามาตลอด เราก็ต้องติดตามว่าถ้าเกิดเรื่องอะไรขึ้น จะปรับตัวอย่างไร
นอกจากนี้ เนื่องจากเราเสี่ยงปานกลาง คุณจึงไม่ควรลงทุนหุ้นทั้งหมด ต้องแบ่งเงินเก็บไว้ในสิ่งที่เสี่ยงน้อยบ้าง เช่น ซื้อตราสารหนี้ หรือเก็บเป็นเงินฝากธนาคารเอาไว้บ้าง
คุณไม่จำเป็นต้องติดตามข่าวสารหุ้นรายวัน แต่อย่างน้อยควรตรวจสอบการลงทุนทุก 3-6 เดือน เพื่อเช็คดูว่าหุ้นของเราเป็นอย่างไร ยังดีอยู่หรือไม่ จากนั้นคุณก็ต้องปรับตัว โดยผมขอแบ่งการปรับตัวเป็น 2 ระดับนะครับ
- เปลี่ยนหุ้นที่ถือ เช่น เมื่อคุณพบว่าหุ้นที่ถืออยู่มีพื้นฐานธุรกิจเปลี่ยนไป คุณก็ต้องตัดสินใจว่าควรถือหุ้นต่อ ควรขาย หรือควรซื้อเพิ่ม
- เปลี่ยนสัดส่วนการลงทุน ยังจำได้ไหมครับว่าเราไม่ได้ถือหุ้นหมด? สมมุติว่าถือหุ้นสัก 50% กับตราสารหนี้ 50% ละกัน เมื่อเวลาผ่านไปถ้าหุ้นของคุณราคาสูงขึ้น สัดส่วนอาจจะเปลี่ยนเป็น หุ้น 60% ตราสารหนี้ 40% (เมื่อราคาหุ้นขึ้น สัดส่วนก็จะสูงเองโดยอัตโนมัติ) เมื่อเป็นแบบนี้คุณอาจขายหุ้นบางส่วนเพื่อทำกำไร เอากำไรมาเก็บไว้ก่อนไว้ซื้อหุ้นเวลามันลง จนสัดส่วนหุ้นเหลือ 50% เท่าเดิม
ขออธิบายเพิ่มนิดนึงนะครับ เรื่องการเปลี่ยนสัดส่วนการลงทุน
กลยุทธ์นี้เกิดจากข้อเท็จจริงที่ว่า ราคาหุ้นมักจะขึ้นลงแรง แต่ตราสารหนี้ราคาจะนิ่ง ขึ้นลงน้อย ดังนั้นจะมีบางช่วงที่หุ้นขึ้น ตราสารหนี้ราคานิ่งๆ และมีบางช่วงที่หุ้นลง ส่วนตราสารหนี้ก็ยังนิ่งเหมือนเดิม
เวลาหุ้นลง คุณก็สลับขายตราสารหนี้ไปซื้อหุ้น คุณจะได้ซื้อหุ้นในราคาถูก จากนั้นพอหุ้นขึ้น คุณก็ขายหุ้นแล้วโยกเงินกลับมาเป็นตราสารหนี้ แล้วก็รอให้หุ้นลงอีก จากนั้นก็ทำซ้ำเพื่อเก็บกำไรวนไป
และถ้าใครชอบทองคำ คุณอาจปรับใช้ทองคำแทนตราสารหนี้ก็ได้ครับ
3. กลยุทธ์สาม เสี่ยงสูง: เงินทั้งหมดซื้อหุ้น และปรับตัวตามสถานการณ์
กลยุทธ์นี้เหมาะกับคนที่ลงทุนกล้าได้กล้าเสีย อยากรวยและกล้าเสี่ยง เงินทั้งหมดของคุณอยู่ในหุ้น ชีวิตของคุณอยู่ตรงนี้
ถ้าเงินส่วนใหญ่หรือทั้งหมดของคุณอยู่ในหุ้น แล้วคุณเลือกซื้อหุ้นรายตัวโดยไม่ได้ซื้อกองทุน คุณจะต้องติดตามสถานการณ์ของหุ้นแต่ละตัวอย่างใกล้ชิด และซื้อขายตามแผนการหรือกลยุทธ์ที่คุณวางไว้ตั้งแต่แรก
ถ้าคุณพลาด คุณจะเสียหายหนัก แต่ถ้าคุณลงทุนได้ประสบความสำเร็จ คุณจะเปลี่ยนชีวิตได้อย่างเหลือเชื่อ
วิธีลงทุนในหุ้นรายตัวนั้นมีอยู่หลากหลายเกินจะสรุปในบทความนี้บทความเดียวได้ คุณสามารถดูเพิ่มเติมได้จากบทความอื่นๆ ของบิงโกเลยครับ
4. เริ่มต้นลงทุนจริง
เมื่อคุณรู้เป้าหมายและกลยุทธ์ของตัวเอง ก็ถึงเวลาลงทุนจริงครับ
ในการลงทุน เราสามารถซื้อหุ้นรายตัวเองได้เลย หรือไม่ก็ซื้อกองทุน แล้วให้กองทุนเอาเงินไปลงทุนแทนเรา
แต่ไม่ว่าคุณจะเลือกทางไหน ผมอยากเน้นย้ำความสำคัญของการหาความรู้ก่อนลงทุน ไม่ว่าคุณจะลงทุนแนวไหน เน้นซื้ออะไร คุณก็ต้องมีความรู้ที่เพียงพอก่อน ไม่เช่นนั้นการลงทุนนั้นอาจเสียหายไปได้
ถ้าคุณรักจะซื้อหุ้นรายตัวด้วยตัวเอง ลองเข้าอ่านวิธีเล่นหุ้นสำหรับมือใหม่เพิ่มเติม นอกจากนี้ คุณยังสามารถเข้าไปดูคอร์สลงทุนดีๆ ของบิงโก ซึ่งรวบรวมวิธีลงทุนของ “นักลงทุนระดับโลก” มาให้คุณทั้งหมดโดยสมบูรณ์ (สอนตั้งแต่พื้นฐานจนลงทุนเก่ง)
ส่วนคนที่อยากซื้อกองทุน ผมอธิบายไว้อย่างละเอียดแล้วว่าจะเลือกซื้อกองทุนยังไงครับ
เรียนคอร์สลงทุน “นักลงทุนมือหนึ่งของโลก”
อยากศึกษาเรื่องการลงทุนแต่เริ่มไม่ถูก?
บิงโกมีคอร์สสอนลงทุนที่จะคุณอาจสนใจ คอร์สนี้จะสอนคุณตั้งแต่พื้นฐานจนถึงระดับสูง เรียนจบพร้อมลงทุนจริงได้เลย เหมือน “นักลงทุนระดับโลกมาสอนคุณเอง” โดยใช้วิธีของนักลงทุนชั้นนำทั่วโลกมาสอนคุณ ทั้งวอร์เรน บัฟเฟตต์, ปีเตอร์ ลินช์, เบนจามิน เกรแฮม และอื่นๆ ซึ่งจะร่นเวลาให้คุณลงทุนได้เก่งกาจอย่างรวดเร็ว
เป็นบทความที่อ่านเข้าใจง่าย สรุปได้ดี ชัดเจนมากค่ะ และที่สำคัญคนเขียนน่ารักมากกก จะคอยติดตามและเป็นกำลังใจให้นะคะ ><
เขียนสรุปได้ดี ชัดเจนเข้าใจง่ายมากค่ะ ที่สำคัญคนเขียนน่ารักมากก จะคอยติดตามและเป็นกำลังใจนะคะ ><