เคล็ดลับเลือกซื้อ “กองทุนรวม” เจาะลึกทุกเรื่อง เผยทุกความจริง!!

เมื่อเราคิดถึงการลงทุน สิ่งแรกๆ ที่เราจะนึกถึงก็คือซื้อ “กองทุน” ซึ่งเปรียบเสมือน “ม้า” ที่จะพาคุณไปถึงเส้นชัยหรือเป้าหมายที่ต้องการ

ถ้าคุณขี่ม้าแข็งแรงพันธุ์ดี คุณก็เดินทางได้ไกล ไปถึงจุดมุ่งหมายได้ไกลตามที่ใฝ่ฝัน แต่ถ้าม้าของคุณเจ็บป่วยเชื่องช้า มันอาจหมดแรงตั้งแต่อยู่หน้าปากซอย

วันนี้เราจะมาเจาะลึกวิธีเลือกซื้อกองทุนอย่างละเอียด เพื่อให้เงินที่คุณหามาอย่างยากลำบากไปอยู่ในที่ที่จะสร้างโอกาสให้คุณมากที่สุด

มาดูวิธีเลือกกองทุนกันดีกว่าครับ

 

1. กองทุนมีหลายชนิด คุณควรแบ่งเงินลงทุนให้เหมาะกับต้วเอง

ซื้อ "กองทุนรวม" 1

ไม่มีกองทุนไหนที่เหมาะกับทุกคน ก่อนจะซื้อกองทุนคุณจึงต้องสำรวจตัวเองก่อนว่าเราเหมาะกับกองทุนแบบไหน

ชนิดของกองทุน จะขึ้นอยู่กับสิ่งที่เขานำเงินไปลงทุนครับ

  • กองทุนหุ้นไทย นำเงินไปซื้อหุ้นไทย
  • กองทุนหุ้นต่างประเทศ นำเงินไปซื้อหุ้นต่างประเทศ
  • กองทุนตราสารหนี้ นำเงินไปซื้อตราสารหนี้
  • กองทุนทองคำ นำเงินไปซื้อทองคำ
  • กองทุนผสม นำเงินไปซื้อหลายอย่างผสมกัน

เนื่องจากกองทุนแต่ละชนิดลงทุนต่างกัน มันจึงมีผลตอบแทนและความผันผวนต่างกันด้วย ดังนี้ครับ

ซื้อ "กองทุนรวม" 2

พอเห็นแบบนี้ คุณจะพบว่ามันมีกองทุนหลากหลายชนิด ดูแล้วตาลายพอสมควร แล้วเราจะเลือกยังไงดีล่ะ? โดยทั่วไปมี 3 เรื่องที่คุณต้องดูครับ

  1. ผลตอบแทน กองทุนที่ให้ผลตอบแทนสูงมักลงทุนใน หุ้น และยิ่งเขาเน้นหุ้นที่มีการเติบโต มีนวัตกรรม ก็ยิ่งให้ผลตอบแทนได้สูง แต่ในทางกลับกัน กองทุนที่ให้ผลตอบแทนต่ำจะลงทุนใน ตราสารหนี้ ซึ่งไม่มีนวัตกรรม ไม่มีการเติบโต เน้นลงทุนไปเรื่อยๆ เพื่อกินดอกเบี้ยทีละนิดๆ
  2. ความผันผวน ข้อนี้คือการที่มูลค่ากองทุนที่เราซื้อไป มีขึ้นมีลงอย่างรุนแรงแค่ไหนก่อนจะโตไปถึงผลตอบแทนสุดท้าย เช่น กองทุนหุ้นมักมีความผันผวนสูง สมมุติถ้าคุณซื้อกองทุนหุ้นด้วยเงิน 100 พอเวลาผ่านไป 30 ปีมันจะขึ้นมาเป็น 1500 แต่ระหว่างทางมันจะไม่ได้ขึ้นสวยๆ มันจะมีซิกแซก ขึ้นบ้างลงบ้าง เช่น 100 → 60 → 110 → 60 → 100 → 80 → 160 → 110 → 140 → … → 1500 
    • สังเกตว่าสุดท้ายกองทุนหุ้นของคุณมันเปลี่ยนจาก 100 ไป 1500 แต่ระหว่างทางมันขรุขระและชวนหวาดเสียว ดังนั้น ถ้าคุณซื้อกองทุนหุ้น ก็จะมีบางครั้งที่คุณเห็นมันราคาลง และบางครั้งก็ราคาขึ้นกลับมา เป็นการเดินทางที่ชวนตื่นเต้นต่างจากกองทุนตราสารหนี้ ซึ่งส่วนใหญ่จะขึ้นไปเรื่อยๆ แต่สุดท้ายราคาจะขึ้นไม่สูงเท่าหุ้น
    • ความผันผวนสำคัญอย่างไร? ตรงนี้ต้องบอกว่า “แล้วแต่คน” ว่าคุณสนใจแค่เป้าหมายสุดท้ายหรือสนใจระหว่างทาง ถ้าคุณสนใจแค่ผลลัพธ์สุดท้าย (อีก 30 ปีไปถึง 1500) คุณก็ไม่ต้องแแคร์ความผันผวนเลย แต่ถ้าคุณสนใจระหว่างทาง (แวะไป 60 หรือ 80 ก่อนจะขึ้นไป 1500) คุณอาจสนใจความผันผวน และไม่นำเงินทั้งหมดไปลงทุนในสิ่งที่ผันผวนสูง
    • ข้อเสีย 1 ของความผันผวน ทำให้เราใช้เงินไม่ได้เวลาหุ้นลง: ถ้าคุณซื้อกองทุนหุ้นมา 100 แล้วมันลงมาเหลือ 60 คุณไม่ควรรีบขาย เพราะมันจะทำให้คุณขายในจังหวะไม่ดี รออีกหน่อยราคาก็จะฟื้นกลับมาได้ แต่นั่นหมายความว่าระหว่างนั้นคุณจะขายกองทุนไม่ได้เลย จะเอาเงินออกมาใช้ก็ไม่ได้ คุณอยากเอาเงินไปลงทุนอย่างอื่นก็ทำไม่ได้ นี่คือข้อเสียของความผันผวน คุณจะ “ติด” ในช่วงที่หุ้นลง
    • ข้อเสีย 2 ของความผันผวน ปวดใจ: ข้อนี้บางคนอาจคิดว่าเป็นเรื่องเล็ก แต่ผมอยากใส่ไว้สักหน่อย เพราะถ้าคุณซื้อกองทุนที่ผันผวนมากๆ บางทีคุณไปดูอีกทีอาจขาดทุนไป 30% ก็ได้ ถึงแม้มันจะสามารถฟื้นกลับมาได้ภายหลัง แต่ในตอนที่คุณไปดู ก็จะวิตกกังวลอย่างยิ่ง
  3. การกระจายความเสี่ยง เราควรกระจายซื้อกองทุนหลายชนิด ไม่นำเงินทั้งหมดมาซื้อกองทุนชนิดเดียวกัน ดังนั้น เราก็ควรซื้อกองทุนที่หลากหลาย อันนี้แล้วแต่คุณครับว่าอยากซื้ออะไรบ้าง หัวข้อนี้ไม่มีคำตอบที่ถูกหรือผิด ใครอยากลงทุนอะไรปนกันแบบไหนก็ได้เลย
    • หุ้นไทย ตราบที่คุณอาศัยอยู่ในไทย การมีหุ้นไทยไว้สักหน่อยก็เป็นหลักประกันในชีวิตที่ดีครับ
    • หุ้นต่างประเทศ ทุกวันนี้โลกเชื่อมถึงกัน และโอกาสดีๆ ก็อยู่ในต่างประเทศมากกว่าไทย คุณจึงอาจแบ่งการลงทุนไปต่างประเทศบ้าง ลองอ่านวิธีซื้อกองทุนต่างประเทศ ให้กำไรมากขึ้น 100% ดูครับ (คุณจะได้รับหุ้นฟรีมูลค่าสูงสุด $1000 ด้วย)
    • หุ้นเทคโนโลยี ให้ผลตอบแทนสูงที่สุด แต่ความผันผวนสูงมาก ดังนั้นเราอาจแบ่งเงินไปซื้อหุ้นเทคโนโลยีบ้าง แต่ไม่ควรมากไป
    • ตราสารหนี้ ผลตอบแทนน้อย ผันผวนน้อย มีไว้บ้างกรณีที่เราไม่อยากให้ภาพรวมของเราผันผวนมากไป
    • ทองคำ ผลตอบแทนปานกลาง ผันผวนปานกลาง มีข้อดีคือเวลาหุ้นลงมันจะไม่ลง (หรือขึ้นสวน) จึงอาจมีไว้ป้องกันเวลาที่ตลาดหุ้นตกหนัก

 

2. จัดพอร์ตกองทุนยังไง ฉบับ “ยาวไปไม่อ่าน”

หลักการเลือกกองทุนผมได้สรุปให้หมดแล้วในข้างบนนะครับ แต่เพื่อให้ง่ายสำหรับคุณ ผมมีตัวอย่างมาให้คุณทำตามง่ายๆ ได้เลย

ตัวอย่างข้างล่างไม่ใช่วิธีลงทุนที่ดีที่สุด เพราะวิธีที่ดีที่สุดนั้นขึ้นกับเป้าหมายของคุณ แต่ผมทำเอาไว้เป็นตัวอย่างให้ปรับใช้กันครับ

ซื้อ "กองทุนรวม" 3

1. คนอายุ 25 ปี เพิ่งเริ่มทำงาน อยากสร้างความมั่งคั่ง กล้าเสี่ยง

  • ซื้อกองทุนหุ้นไทย 50% กองทุนหุ้นต่างประเทศ 50% 
  • ทำไม? หุ้นเป็นการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนดีที่สุด คุณควรเน้นลงทุนหุ้น ต่างประเทศมีโอกาสดีๆ มากกว่าไทย หุ้นต่างประเทศจึงเป็นการลงทุนที่ดีมาก แต่เพื่อลดความเสี่ยงจึงแบ่งลงทุน ไทย 50% ต่างประเทศ 50%

2. คนอายุ 25 ปี เพิ่งเริ่มทำงาน ไม่อยากเสี่ยง

  • ซื้อกองหุ้นไทย 100%
  • ทำไม? หุ้นเป็นการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนที่ดีที่สุด ดังนั้นคุณก็แค่ซื้อกองทุนหุ้นแล้วถือไปยาวๆ เลย แต่เนื่องจากคุณไม่อยากเสี่ยงมาก คุณจึงลงทุนแค่หุ้นไทย ไม่ไปถึงต่างประเทศ

3. อายุน้อย กำลังสร้างตัว อยากเลือกหุ้นด้วยตัวเอง และแบ่งส่วนหนึ่งไปซื้อกองทุน 

  • ซื้อหุ้นไทยรายตัว 50% กองทุนหุ้นต่างประเทศ 50%
  • ทำไม? คุณอาจลงทุนหุ้นเองในตลาดหุ้นไทยก่อน เพราะเป็นตลาดที่คุณคุ้นเคย หาข้อมูลง่าย ส่วนเงินที่คุณแบ่งมาซื้อกองทุน ควรไปซื้อหุ้นต่างประเทศ เพราะมีโอกาสมากกว่า ให้ผลตอบแทนสูงกว่า และยังเป็นการกระจายความเสี่ยงจากที่คุณลงทุนหุ้นไทยอยู่แล้ว

4. มีเงินก้อนใหญ่จากมรดก อยากลงทุนให้เงินงอกเงย แต่กลัวความเสี่ยง

  • ซื้อกองทุนหุ้น 50% ทองคำ 25% ตราสารหนี้ 25%
  • ทำไม? คุณควรมีหุ้นบ้างเพราะหุ้นให้ผลตอบแทนดีที่สุด เงินของคุณจะได้งอกเงย ส่วนทองคำและพันธบัตรมีไว้ลดความผันผวน

5. คนอายุ 60 ปี มีเงินเกษียณก้อนหนึ่ง อยากรักษาเงินต้นไว้ และมีรายได้จากการลงทุนที่สม่ำเสมอ

  • ซื้อตราสารหนี้ 80% หุ้นไทย 20%
  • ทำไม? ตราสารหนี้เป็นหลักประกันว่าเงินของคุณจะไม่หายไปไหน ส่วนหุ้น 20% เป็นการลงทุนให้เงินงอกเงย

 

3. ซื้อกองทุนผสมกับหุ้น เพื่อสร้างผลตอบแทนที่สูงขึ้น

ซื้อ "กองทุนรวม" 3-2
แบ่งเงินส่วนหนึ่งจากกองทุนไปซื้อหุ้นเอง

กองทุนเป็นการลงทุนที่ปลอดภัย เพราะเขาจะลงทุนกระจายหลายอย่างให้คุณ

  • กองทุนหุ้นมักลงทุนหุ้นกระจายหลายสิบหรือหลายร้อยตัว
  • กองทุนตราสารหนี้มักลงทุนตราสารหนี้หลายสิบหรือหลายร้อยตัว

ดังนั้น ภายในกองทุนเองก็มีการกระจายความเสี่ยงอยู่แล้ว นั่นทำให้คุณมั่นใจได้ระดับหนึ่งว่าจะกำไรในระยะยาว

แต่ข้อเสียของการกระจายความเสี่ยงก็คือ มันทำให้กองทุนถูกถ่วงด้วยหุ้นหลายสิบตัว บางตัวก็ดีบางตัวก็ไม่ดี จึงทำให้ผลตอบแทนของกองทุนมักออกมา “กลางๆ” ไม่สูงและไม่ต่ำ

คนที่อยากได้ผลตอบแทนที่สูงขึ้น อาจแบ่งเงินบางส่วนมาเลือกซื้อหุ้นเอง (ซื้อหุ้นบ้าง กองทุนบ้าง) และถ้าเราเลือกหุ้นได้ดี ก็จะทำให้เรามีผลตอบแทนสูงขึ้น ช่วงแรกๆ เราไม่จำเป็นต้องแบ่งเงินมาเยอะครับ อาจแบ่งเป็นก้อนเล็กๆ มาลองดูก่อน จากนั้นถ้าเราเลือกหุ้นเองได้ดี เราค่อยเพิ่มเงินก็ได้

แต่การลงทุนด้วยตัวเองนั้นต้องมีความรู้ที่เพียงพอด้วยนะครับ ถ้าเราลงทุนโดยขาดความรู้ เราอาจขาดทุนแทนที่จะทำกำไรได้ตามที่หวังไว้

คุณสามารถศึกษาเรื่องการลงทุนด้วยตัวเองได้ แต่ด้วยเนื้อหาที่เยอะและหลากหลาย การเรียนทุกอย่างเองอาจต้องใช้เวลาหลายปี บิงโกมีคอร์สดีๆ ที่จะสอนทุกอย่างที่คุณต้องรู้ในเวลาอันสั้น ตั้งแต่วิธีบริหารเงิน ออมเงิน วางแผนการเงิน พร้อมสอนวิธีนำเงินไปลงทุนให้งอกเงยด้วยเทคนิคของมหาเศรษฐีและนักลงทุนชั้นนำ

ดูรายละเอียด

 

4. ดูผลตอบแทนย้อนหลังของกองทุนหลายปี

ซื้อ "กองทุนรวม" 5

ก่อนอื่น คุณต้องเข้าใจว่ากองทุนที่ทำผลตอบแทนได้ปีนี้ ปีหน้าอาจไม่ดีก็ได้

บางครั้งปีนี้เขาทำผลตอบแทนได้สูง เพราะปัจจัยทางเศรษฐกิจเอื้ออำนวย หรือเพราะโชคดี แต่เมื่อลงทุนไปหลายปีเข้า ก็จะกลับสู่สภาพปกติ ผลตอบแทนอาจกลายเป็นธรรมดาก็ได้

ถ้าคุณอยากมองหากองทุนที่ทำผลตอบแทนได้ดี คุณก็ต้องดูย้อนหลังสัก 3-5 ปี เพื่อให้มั่นใจว่าเขาลงทุนได้ดีอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่ดีเฉพาะปีนี้ปีเดียวเท่านั้น

บางกองทุนบริหารแบบ “Passive” นั่นคือเขาซื้อหุ้นตามดัชนีหุ้นแล้วปล่อยไว้เฉยๆ ทำให้ผลตอบแทนเป็นไปตามค่าเฉลี่ยตลาดหุ้น แต่เนื่องจากเขาไม่ได้ดูแลมาก ค่าธรรมเนียมก็จะต่ำ

หลายกองทุนเก็บค่าธรรมเนียมแพง เพราะเขาบริหารแบบ “Active” โดยจ้าง “คนเก่ง” มาลงทุน แต่สุดท้ายผลตอบแทนก็ธรรมดา ไม่ได้ดีกว่าค่าเฉลี่ยตลาดหุ้น ดังนั้นคุณก็ต้องรับค่าธรรมเนียมที่แสนแพง แต่ได้ผลตอบแทนธรรมดา แบบนี้ก็ไม่คุ้ม

เวลาเลือกกองทุน คุณก็คงอยากซื้อกองที่ค่าใช้จ่ายต่ำและผลตอบแทนสูง คุณมี 2 ทางเลือก

  1. ซื้อกองทุนที่ Passive (หรือเรียกว่ากองทุนดัชนี Index Fund) เน้นค่าใช้จ่ายต่ำที่สุด และยอมรับผลตอบแทนตามค่าเฉลี่ยตลาดหุ้น
  2. ซื้อกองทุนที่ Active ยอมจ่ายค่าธรรมเนียมสูง เพื่อคาดหวังผลตอบแทนสูงๆ อันนี้ก็เรียกว่าตาดีได้ ตาร้ายเสียครับ เพราะถ้าเขาเก็บค่าธรรมเนียมไปแล้วได้ผลตอบแทนธรรมดา พอหักค่าใช้จ่ายเสร็จคุณอาจพบว่าไปซื้อกองทุน Passive ดีกว่า

 

5. หลีกเลี่ยงกองทุนที่คิดค่าธรรมเนียมแพง

ซื้อ "กองทุนรวม" 6

กองทุนทุกตัวจะเก็บค่าธรรมเนียมจากคุณด้วย ซึ่งแบ่งเป็นค่าธรรมเนียมหลายชนิดจนคุณงงได้

จุดสำคัญคือ คุณต้องมองให้ออกว่า เขาคิดต่อปีเท่าไร ซึ่งถ้าค่าธรรมเนียมต่อปีสูง มันจะกินเงินคุณได้เยอะมากในระยะยาว

ขอเปรียบเทียบดังนี้นะครับ สมมุติคุณมีเงิน 100 ไปซื้อกองทุนที่เก็บเงินเราปีละ 2% ส่วนเพื่อนมี 100 ไปลงทุนเองโดยไม่ซื้อกองทุน พวกคุณทั้ง 2 คนลงทุนไปยาวๆ เลยตั้งแต่อายุ 20 ปีถึง 60 ปี

สมมุติว่ากองทุนของคุณลงทุนได้ผลตอบแทน 10 เท่า และเพื่อนของคุณก็ลงทุนได้ผลตอบแทน 10 เท่าเช่นกัน สิ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือ…

  • เพื่อนจะมีเงิน 10 x 100 = 1000 บาท
  • กองทุนของคุณได้ผลตอบแทนเท่ากัน ก่อนหักค่าใช้จ่ายก็จะเป็น 1000 แต่คุณเสียค่าธรรมเนียมปีละ 2% ต่อเนื่องมา 40 ปี ดังนั้นเงินของคุณจะเหลือ 1000 x (98%)^40 = 445 บาท

ผลตอบแทนเท่ากัน แต่ค่าธรรมเนียม 2% จะกินเงินของคุณจนเหลือไม่ถึงครึ่งของที่ควรจะมี

ดังนั้นเวลาลงทุน คุณควรเลือกซื้อกองทุนที่เก็บค่าธรรมเนียมรายปีต่ำ ซึ่งที่จริงกองทุนไทยขึ้นชื่ออยู่แล้วว่าเก็บค่าธรรมเนียมแพง (ปีละ 1-2%) ต่างจากในอเมริกา (ต่ำสุดปีละ 0.03%) ถ้าคุณไม่ติดปัญหาเรื่องภาษาจริงๆ ผมแนะนำให้ลองศึกษากองทุนในต่างประเทศดูครับ

 

มาดูกันว่าจะคิดค่าธรรมเนียมกองทุนอย่างไร

ซื้อ "กองทุนรวม" 7

ค่าธรรมเนียมกองทุนจะแตกย่อยจนสับสนมาก (เหมือนตั้งใจให้เรางงเลย) ผมจึงสรุปให้คุณเข้าใจง่ายๆ ดังนี้ครับ

  1. จ่ายครั้งเดียวจบ มักจะเก็บตอนซื้อหรือขายกองทุน ค่านี้ไม่สำคัญมาก เพราะจ่ายครั้งเดียว ยิ่งเราลงทุนนานค่านี้ก็ยิ่งสำคัญน้อยลง
    • ค่าธรรมเนียมเมื่อซื้อหน่วยลงทุน (Front-end Fee) เก็บตอนซื้อ เช่น เราซื้อกองทุน 100,000 บาท เขาเก็บ 2% เราก็ต้องจ่าย 2,000 บาท เงินในกองทุนของเราจะมี 98,000 บาท
    • ค่าธรรมเนียมการรับซื้อคืนหน่วยลงทุน (Back-end Fee) เก็บตอนขาย เช่น เราขายกองทุนที่เพิ่งซื้อไป 98,000 บาท เขาเก็บ 2% เราก็ต้องจ่าย 1,960 บาท เราจะได้เงินสดออกมา 96,040 บาท
    • ค่าใช้จ่ายในการซื้อขายหลักทรัพย์ (Transaction Fees) เก็บเพิ่มอีกตอนซื้อขาย แต่เพิ่มเป็นอีกชื่อ ที่จริงมีเหตุผลว่าทำไมเขาเพิ่มเป็นอีกชื่อ แต่เหตุผลนั้นไม่สำคัญ สุดท้ายก็เก็บเงินเราอยู่ดีครับ
    • วิธีคำนวณ ต้องเอาตอนซื้อและขายมาบวกกันให้หมด ห้ามคิดแค่ตอนซื้อ เพราะถ้าเราจะเอาเงินออกมาใช้ ก็ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมขาออกในที่สุด ไม่อย่างนั้นเงินในกองทุนก็เป็นแค่ตัวเลขที่ไม่ใช่ของเราจริงๆ หลายกองทุนใช้วิธี “ซื้อฟรี แล้วไปเก็บเงินตอนขาย” เพราะเขารู้ว่าบางคนจะดูแค่ตอนซื้อ จึงหลอกเราด้วยวิธีนี้
  2. จ่ายทุกปี นี่คือจุดที่คุณจะต้องสนใจที่สุด เพราะเรามักซื้อกองทุนแล้วลงทุนยาวๆ ทำให้ค่าธรรมเนียมที่จ่ายทุกปีกัดกินคุณไปเรื่อยๆ ค่านี้ยิ่งน้อยยิ่งดี
    • ค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายรวมทั้งหมด (Total Expense) คือตัวสำคัญที่สุด นี่เป็นค่าที่เขาจะเก็บจากคุณทุกปี และยิ่งต่ำยิ่งดีครับ ค่านี้จะแบ่งย่อยได้อีก แต่ไม่ต้องไปสนใจ เราดูตัวเลขรวมก็พอ ตัวย่อยเช่น…
      • ค่าบริหารจัดการ
      • ค่าผู้ดูแลผลประโยชน์
      • ค่านายทะเบียน
      • ค่าใช้จ่ายอื่น
    • ค่าใช้จ่ายจากการซื้อขายหลักทรัพย์ของกองทุน (Turnover Rate Expense) ค่านี้เป็นค่าที่คนส่วนใหญ่ไม่รู้จัก เพราะมันแยกออกมา และถูกซ่อนเอาไว้ ค่านี้เกิดจากกองทุนซื้อขายหุ้นแล้วจ่ายค่านายหน้าให้โบรกเกอร์ เขาจึงมาเก็บกับคุณอีกต่อ ยิ่งกองทุนไหนซื้อขายหุ้นบ่อยค่านี้ก็จะทะยานเลยครับ
    • วิธีคำนวณ ให้เอาสองค่าบนมาบวกกัน (Total Expense บวกกับ Turnover Rate Expense) ก็จะเป็นค่าใช้จ่ายรายปีที่คุณจ่ายจริง

 

6. ซื้อกองทุนต่างประเทศ เพื่อโอกาสที่ดีกว่า

ซื้อ "กองทุนรวม" 8

ท้ายที่สุด กองทุนก็วัดกันแค่ 2 อย่างเท่านั้นครับ คือค่าธรรมเนียมและผลตอบแทน

ในฐานะที่ผมลงทุนในอเมริกามานาน ผมพบว่ากองทุนไทยยังมีข้อด้อยทั้งสองด้านนี้อยู่มากเทียบกับอเมริกา

กองทุนไทยมีค่าธรรมเนียมสูงมาก ซึ่งผมก็ไม่แน่ใจจริงๆ ว่ามันเกิดจากอะไร แต่ถ้าให้เดาก็คือ ธุรกิจกองทุนไทยผูกขาดโดยธนาคารไม่กี่ราย เขาจึงเก็บค่าธรรมเนียมแพงได้ เพราะคิดว่าถึงยังไงคุณก็ไม่มีทางเลือก กองทุนไทยเก็บ 1-2% ต่อปีนี่ถือเป็นเรื่องปกติ แต่ในอเมริกา บางกองทุนเก็บ 0.03% ต่อปี น้อยกว่า 60 เท่า กระทั่งกองทุน ARKK ที่ลงทุนในธุรกิจแห่งอนาคตและสร้างผลตอบแทนปีล่าสุดได้ 90% ก็คิดค่าธรรมเนียมแค่ 0.75% ต่อปี เทียบกับกองทุนไทยที่คิดเงินคุณ 1.5% เพื่อไปซื้อหุ้นโรงไฟฟ้า…

พอกองทุนไทยเก็บค่าธรรมเนียมแพง ก็ทำให้ผู้จัดการกองทุนเขารายได้ดี งานสบาย เป็นงานที่คนรุ่นใหม่อยากทำ ก็เพราะเขาเก็บค่าธรรมเนียมยิบย่อยเยอะมากจากคุณนั่นเอง

ด้านผลตอบแทน ผมคิดว่าประเทศไทยก็ยังเติบโตได้ครับ แต่โอกาสดีๆ หลายอย่างนั้นอยู่ในประเทศที่มีนวัตกรรมอย่างอเมริกาและจีน ถ้าคุณลงทุนในประเทศพวกนี้ การลงทุนของคุณก็น่าจะได้ผลตอบแทนที่งดงาม

ถ้าคุณอยากหาโอกาสที่ดีที่สุดให้ตัวเอง ผมแนะนำให้ซื้อกองทุนในต่างประเทศเก็บไว้บ้างครับ ทั้งผลตอบแทนก็สูงกว่า และค่าใช้จ่ายก็ต่ำกว่า ที่จริงขั้นตอนไม่ได้ยากเลย ลองอ่านวิธีซื้อกองทุนต่างประเทศ ให้กำไรมากขึ้น 100% ดูครับ (คุณจะได้รับหุ้นฟรีมูลค่าสูงสุด $1000 ด้วย)

หรือถ้าสนใจลงทุนหุ้นต่างประเทศโดยตรง ลองดูวิธีลงทุนหุ้นต่างประเทศ หุ้นอเมริกาได้เลย

 

มือใหม่เริ่มต้นลงทุนด้วยตัวเองได้ง่ายๆ

คอร์สลงทุน บิงโก

อยากศึกษาเรื่องการลงทุนแต่เริ่มไม่ถูก?

บิงโกมีคอร์สสอนลงทุนที่จะคุณอาจสนใจ คอร์สนี้จะสอนคุณตั้งแต่พื้นฐานจนถึงระดับสูง มือใหม่เรียนจบก็พร้อมลงทุนจริงได้เลย

คอร์สนี้ถูกออกแบบให้พิเศษกว่าคอร์สลงทุนทั่วไป เพราะมาจากหนังสือลงทุนของเซียนหุ้นระดับโลก ทั้งวอร์เรน บัฟเฟตต์, ปีเตอร์ ลินช์, เบนจามิน เกรแฮม, ดร.นิเวศน์ และอื่นๆ จนเหมือน “นักลงทุนระดับโลกมาสอนคุณเอง” ทุกเล่มที่เราคัดมาคือหนังสือลงทุนที่ดีที่สุด ซึ่งได้รับการยอมรับจากทั่วโลกว่าเป็น “ของจริง” และจะร่นเวลาให้คุณลงทุนได้เก่งกาจอย่างรวดเร็ว

ดูรายละเอียด

 

 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราะห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก