ปีเตอร์ ลินช์ อดีตผู้จัดการกองทุนมือหนึ่งของโลก ได้แบ่งชนิดหุ้นไว้ในหนังสือ One Up On Wall Street อยู่ 6 ชนิด
ผู้เขียนปีเตอร์ ลินช์ เป็นผู้จัดการกองทุนที่เก่งที่สุดคนหนึ่งของโลก ในเวลา 13 ปีที่เขาบริหารกองทุน Fidelity Magellan เขาทำผลตอบแทนได้ 27 เท่า หรือ 2700% แต่พอคุณได้อ่านหนังสือเล่มนี้ คุณจะพบว่าเขาก็เป็นคนธรรมดาคนหนึ่ง (เหมือนคุณกับผม) ที่ไม่ได้รู้ไปหมดทุกเรื่อง หมั่นหาข้อมูลอยู่เสมอ ชอบคิดวิเคราะห์ และบางครั้งก็ลงทุนผิดพลาดเหมือนกับคนอื่นๆ
ปีเตอร์ ลินช์ มีสไตล์การลงทุนที่ยืดหยุ่น ดูเผินๆ คุณจะคิดว่าเขาคือนักลงทุน VI หรือนักลงทุนแนวเน้นคุณค่า แต่บางครั้งเขาก็ลงทุนโดยใช้ Story และความผันผวนของตลาดให้เป็นประโยชน์เช่นกัน
หุ้นไม่ได้มีลักษณะเหมือนกันทุกตัวครับ บางตัวก็ขึ้นช้า บางตัวขึ้นเร็ว บางตัวแกว่งไปแกว่งมา ดังนั้นก่อนลงทุน เราควรเข้าใจหุ้นที่เราสนใจด้วย สิ่งเหล่านี้จะขึ้นอยู่กับตัวธุรกิจเบื้องหลังของมัน โดยหุ้นจะแบ่งได้ 6 ชนิดตามปีเตอร์ ลินช์
- หุ้นโตเร็ว
- หุ้นโตช้า
- หุ้นใหญ่มั่นคง
- หุ้นฟื้นตัว หรือหุ้นเทิร์นอะราวน์
- หุ้นวัฏจักร
- หุ้นทรัพย์สินมาก
ก่อนที่เราจะไปดูรายละเอียดหุ้นของปีเตอร์ ลินช์ ผมจะช่วยคุณแบ่งก่อนอีกรอบนึง เป็นหุ้นที่ทำให้คุณรวยเร็ว กับหุ้นที่ทำให้คุณรวยช้า
หุ้นที่ทำให้คุณรวยเร็วได้ จะมาพร้อมความเสี่ยงที่สูงกว่า ได้แก่
- หุ้นโตเร็ว
- หุ้นฟื้นตัว หรือหุ้นเทิร์นอะราวน์
- หุ้นวัฏจักร
หุ้นที่ทำให้คุณรวยช้า จะเสถียรกว่า ความเสี่ยงน้อยกว่า แต่ผลตอบแทนก็จะน้อยกว่าด้วยครับ
- หุ้นโตช้า
- หุ้นใหญ่มั่นคง
นอกจากนี้ ยังมีอีกประเภทได้แก่ “หุ้นทรัพย์สินมาก” ซึ่งอาจทำให้คุณรวยเร็วหรือช้าก็ได้ ขึ้นกับปัจจัยต่างๆ ซึ่งเดี๋ยวเราจะไปดูกัน
หุ้นโตเร็ว
หุ้นโตเร็ว (Fast Grower) มีลักษณะตามชื่อครับ ก็คือบริษัท “โตเร็ว” โดยการที่บริษัทโตเร็ว เราอาจดูว่า “ยอดขายโต” หรือ “กำไรโต” หรือ “ทั้งสองอย่างโต”
- ยอดขาย (Revenue) คือเงินทั้งหมดที่บริษัทหาได้ ขายอะไรได้ก็เอามาบวกกันให้หมด
- กำไร (Profit) คิดจากยอดขายลบต้นทุน ถ้าต้นทุนสูงก็ขาดทุนแม้จะมียอดขายดี
พอธุรกิจมันโตเร็ว ราคาหุ้นก็พุ่งแรงด้วย เข้าใจง่ายมากครับ
แต่ปัญหาคือ หุ้นโตเร็วมักมีราคาแพง แล้วพอซื้อมา คุณก็ไม่รู้จริงว่ามันจะโตเร็วเหมือนที่คุยไว้หรือเปล่า
ถ้าคุณซื้อหุ้นมาในราคาแพง โดยคิดว่าธุรกิจมันจะเติบโต เพราะปีที่แล้วก็เห็นมันโต ปีนี้ก็น่าจะโตต่อ…
…แล้วจู่ๆ มันก็หยุดโต แบบนี้คุณจะพังยับ
หุ้นที่หยุดโตจะมีราคาซื้อขายในตลาดต่ำกว่าหุ้นที่โตเร็ว ทันทีที่ตลาดมองว่าหุ้นตัวไหนหยุดโต ตลาดก็จะทุบราคาหุ้นตัวนั้นลงมา ดังนั้นนอกจากคุณจะซื้อหุ้นที่หยุดโตมาในราคาแพง คุณจะขาดทุนจากการที่ตลาดให้ค่าหุ้นของคุณต่ำลงอีกด้วย
ในทางกลับกัน ถ้าคุณซื้อหุ้นโตเร็วมาเสร็จแล้วโตจริง คุณก็จะกำไรงดงามครับ
ในช่วงที่เศรษฐกิจดี หุ้นโตเร็วจะราคาพุ่งติดจรวด เพราะธุรกิจขยายได้เร็วไม่มีติดขัด
ปัญหาจะเกิดเมื่อเศรษฐกิจฝืดเคือง หรือตัวธุรกิจมีปัญหา ขยายได้ไม่ตรงเป้า ราคาหุ้นก็จะดิ่งเหวตาม
…
บริษัทโตเร็วไม่จำเป็นต้องอยู่ในอุตสาหกรรมที่โตเร็วในขณะนั้น คนมักมองข้ามบริษัทที่โตเร็วในอุตสาหกรรมที่โตช้า คุณจึงมีโอกาสซื้อหุ้นเหล่านี้ได้ในราคาถูก
เวลาคุณจะลงทุนหุ้นโตเร็ว คุณต้องตอบคำถาม 2 ข้อให้ได้
- มันจะโตเร็วเหมือนที่คุยไว้หรือไม่
- ราคาแพงเกินไปหรือเปล่า
เรื่องจะโตเร็วจริงไหม ต้องดูที่ตัวธุรกิจ ซึ่งก็แตกต่างกันตามบริษัท
เรื่องความถูก-แพงของราคาหุ้น ปีเตอร์ ลินช์ แนะนำว่าค่า P/E (Price/Earning) ของหุ้นไม่ควรเกินอัตราการเติบโตของบริษัท
- ค่า P/E คือสัดส่วนราคาหุ้น หารด้วยกำไรต่อหุ้น เช่น ถ้าหุ้นราคา 100 บาท กำไรต่อหุ้น 2 บาทต่อปี หุ้นตัวนี้ก็จะมี P/E 50
- ถ้าหุ้นมี P/E 50 แล้วเติบโตปีละ 30% เราก็อาจจะถือว่าราคาแพงไป ควรมองหาหุ้นตัวอื่นแทน
- แต่ถ้าหุ้นมี P/E 50 แล้วโตปีละ 50% ก็ถือว่าสมน้ำสมเนื้อ ราคาเหมาะสม แต่ต้องระวังบริษัทหยุดโตด้วย
บางบริษัทเติบโตแต่ขาดทุน
บริษัทสมัยใหม่จำนวนมาก อยากเติบโตให้เร็วที่สุด ดังนั้นพอมีเงินเหลือ เขาก็จะเอาไปลงทุนเพิ่ม ซื้อโฆษณา หรือจ้างทีมขาย เพื่อเพิ่มยอดขายให้เร็วที่สุด บริษัทพวกนี้ก็เลยมียอดขายเติบโต แต่แทบไม่มีกำไร ส่วนใหญ่ขาดทุนด้วยซ้ำ
ที่จริงบริษัทพวกนี้ก็เป็น “หุ้นโตเร็ว” เช่นกันครับ เพราะตัวธุรกิจจริงมันโต แค่เขาเอาเงินไปซื้อโฆษณาหนักหรือลงทุนไปหน่อย เราเลยยังไม่เห็นกำไรตอนนี้ แต่พอเขาหยุดใช้จ่ายเงินเพื่อเร่งโต กำไรนั้นก็จะแสดงออกมา
ปัญหาหลักจะอยู่ที่ว่า “หุ้นนี้แพงเกินไปหรือเปล่า” เพราะพอบริษัทไม่มีกำไร เราก็คิดค่า P/E ไม่ได้
วิธีแก้เกมก็ให้ดูค่า P/S (Price/Sales) แทน โดยคำนวณจาก “ราคาหุ้น” (Price) หารด้วย “ยอดขายต่อหุ้น” (Sales) นั่นคือดูยอดขายแทนกำไรนี่เอง
วิธีใช้ P/S เราจะต้องเดาก่อนสักนิดว่าถ้าบริษัท “โตไปถึงจุดหนึ่งในอนาคต แล้วหยุดผลาญเงิน เขาจะมีกำไรเท่าไร” เช่น เราอาจมองว่าธุรกิจของบริษัทนี้ ในที่สุดยอดขาย 100 จะกลายเป็นกำไรได้ 20 ดังนั้นตอนนี้บริษัทขาดทุนก็จริง แต่เราจะสมมุติว่าบริษัทมีกำไรเป็น 20% ของยอดขาย
- ถ้าบริษัทเติบโตปีละ 40% ค่า P/E ไม่ควรเกิน 40
- กำไรเป็น 20% ของยอดขาย ดังนั้นค่า P/S จะต้องเป็น 20% ของ P/E
- นั่นก็คือ P/S ไม่เกิน 20% ของ 40 หรือไม่เกิน 8 เท่า
บริษัทโตเร็วที่มีกำไรจะมีค่า P/E ค้ำคออยู่ ราคาจึงเว่อร์มากไม่ได้ เช่น ยอดขาย 100 กำไร 40 ราคาหุ้น 1000 ก็จะมีค่า P/E เป็น 25 (โดย P/E คิดจากราคาหุ้นส่วนด้วยกำไร)
แต่บริษัทโตเร็วที่ขาดทุนจะไม่มี P/E ให้ดู ราคาจึงพุ่งไปดาวพฤหัส ทะลุไปดาวพลูโตได้ง่าย เช่น ยอดขาย 100 กำไร -300 ราคาหุ้น 4000 เป็นต้น
สังเกตว่าโดยสามัญสำนึกแล้ว ถ้าโตเร็วเท่ากัน บริษัทแรกจะน่าซื้อกว่า เพราะบริษัทมียอดขายเท่ากันแต่มีกำไรแล้ว แต่ราคาหุ้นของบริษัทหลังจะเว่อร์ได้มากกว่า เพราะไม่มี P/E มาค้ำคอ
ทาลิปสติกให้หมู บริษัทโตเร็วของเก๊
ถ้าผมซื้อสินค้ามา 100 บาท แล้วเอาไปขายให้ลูกค้าในราคา 50 บาท ผมจะขาดทุน 50 บาท โดยชาติหน้าก็ไม่มีกำไร ได้แต่ขาดทุนไปเรื่อยๆ
คุณภาพรายได้ของผมจึงไม่ได้มาจาก “ความดีงามของธุรกิจ” แต่มาจากการอัดโปรโมชั่นลดแลกแจกแถม ให้ลูกค้ามาซื้อสินค้าจากผมในราคาที่ไม่มีวันทำกำไรได้
บริษัทอย่างนี้จะมี “ยอดขายโต กำไรติดลบ” แต่กำไรติดลบด้วยเหตุผลที่ต่างจากบริษัทที่ตัวธุรกิจดีจริง
บริษัทโตเร็วที่ธุรกิจดีจริง จะขาดทุนเพื่อสร้างธุรกิจ แต่สุดท้ายจะทำกำไรได้มหาศาล
บริษัทโตเร็วของเก๊ จะขาดทุนไปตลอดกาล โดยไม่มีแผนจะมีกำไรไปถึงชาติหน้า เขาแค่อยากได้ตัวเลข “ยอดขายโต” มาปั่นราคาหุ้นให้สูงเพื่อขายหุ้นให้นักลงทุนที่ไปหลงเชื่อลมปากผู้บริหาร ต้องระวังหุ้นแบบนี้ครับ
อยากลงทุนเก่ง มองหุ้นขาดเหมือนปีเตอร์ ลินช์ ?
การลงทุนที่แท้จริงต้องใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์ บิงโกมีคอร์สสอนลงทุนที่จะคุณอาจสนใจ คอร์สนี้จะสอนคุณตั้งแต่พื้นฐานจนถึงระดับสูง เรียนจบพร้อมลงทุนจริงได้เลย โดยใช้วิธีของนักลงทุนชั้นนำทั่วโลกมาสอนคุณ ทั้งวอร์เรน บัฟเฟตต์, ปีเตอร์ ลินช์, เบนจามิน เกรแฮม และอื่นๆ ซึ่งจะร่นเวลาให้คุณลงทุนได้เก่งกาจอย่างรวดเร็ว
หุ้นฟื้นตัวหรือหุ้นเทิร์นอะราวน์
หุ้นฟื้นตัว (Turnaround) คือบริษัทที่ใกล้ล้มละลาย แต่ดันรอด ราคาหุ้นก็เลยเพิ่มจากเฉียด 0 เป็นราคาปกติ
- สมมุติปกติบริษัทราคาหุ้น 100 แล้วมีข่าวว่าบริษัทใกล้เจ๊ง ราคาเลยเหลือ 0.1 คุณก็ไปซื้อหุ้นในราคา 0.1
- ต่อมาสรุปว่าบริษัทรอด ไม่ได้เจ๊ง ราคาก็เลยฟื้นเป็น 100 เหมือนเดิม
- เท่ากับว่าคุณซื้อหุ้นมา 0.1 แล้วขายได้ 100
- ก็คือกำไร 1000 เท่า หรือ +100000%
ดังนั้นหุ้นฟื้นตัว ก็คือการซื้อหุ้นบริษัทใกล้เจ๊งในราคาถูกมาก เพื่อไปขายในราคาปกติในวันที่มันฟื้นกลับมา คุณจะทำกำไรได้มหาศาล
ข้อควรระวังคือ
ส่วนใหญ่บริษัทที่ใกล้เจ๊ง มันมักจะเจ๊งจริง เพราะงั้นคุณจะไม่เห็นกำไร 1000 เท่าหรอกครับ คุณจะขาดทุนเงินที่ลงไปแล้วจนหมดมากกว่า
ก่อนลงทุนหุ้นฟื้นตัว (Turnaround) คุณจึงต้องมั่นใจพอสมควรว่าบริษัทจะรอด ไม่ใช่ซื้อหุ้นเพราะราคาถูก แล้วหวังว่ามันจะรอดด้วยปาฏิหาริย์ของพระเจ้าครับ
ส่วนใหญ่บริษัทที่ใกล้ล้มแต่รอด จะต้องมีหนี้สินไม่สูงเกินไป และมีเหตุผลให้ลูกค้ากลับมาซื้อสินค้าในจำนวนมากพอ
หุ้นวัฏจักร
บริษัทบางอย่างจะขายสินค้าโภคภัณฑ์ (commodity) ซึ่งมีราคาแกว่งตามราคาสินค้าในตลาดโลก
สินค้า commodity เป็นสินค้าที่ไม่มีแบรนด์ ใครผลิตก็ใช้แทนกันได้ เช่น ข้าว น้ำมัน เหล็ก น้ำตาล และบริการขนส่งทางเรือ เรามักไม่สนใจว่า “น้ำมันปั๊มนี้ดีกว่าอีกปั๊ม เพราะกลิ่นหอมกว่า” แต่เราเติมน้ำมันได้ทุกปั๊มเหมือนกัน เราเลือกจากราคาและโปรโมชั่นเท่านั้น
นั่นทำให้ผู้ผลิตสินค้า commodity ต้องเฉือนราคาแข่งกันจนเหี้ยนเตียน ยิ่งเวลาสินค้าล้นตลาด ผู้ผลิตก็จะยอมขายขาดทุนเพื่อเอาทุนคืนแม้สักนิดก็ยังดี แต่ช่วงไหนสินค้าขาดแคลน ราคาก็จะแพง ผู้ผลิตก็รวยกันไปเลย
บริษัทที่ผลิตสินค้า commodity จึงมีกำไรขึ้นลงแรง ตามความขาดแคลนของสินค้าที่เขาขาย ช่วงไหนคนซื้อเยอะแต่ของขาดตลาด ราคาก็จะสูง กำไรก็สูง แต่ช่วงไหนคนซื้อน้อยแต่ของล้น ราคาก็ตกต่ำ กำไรตกต่ำ
…
หุ้นวัฏจักร (Cyclical) ก็คือหุ้นที่ทำธุรกิจพวกนี้แหละครับ ช่วงไหนสินค้าราคาดี บริษัทก็กำไรดี ราคาหุ้นก็สูง แต่ช่วงไหนสินค้าราคาตกต่ำ บริษัทจะขาดทุนหนัก ราคาหุ้นก็ตกต่ำ
ถ้าเราจะเล่นหุ้นวัฏจักร ต้องกะจังหวะซื้อตอนที่สินค้าล้นตลาดราคาตกต่ำ แล้วไปขายหุ้นช่วงที่สินค้าขาดแคลนราคาสูง
ถ้าคุณได้กำไรจากหุ้นวัฏจักร ต้องรีบขาย ถือยาวไม่ได้ เพราะราคามีโอกาสลงมาแรงมาก
ยกตัวอย่างเช่น บริษัทผลิตถุงมือยาง ปกติกำไรก็งั้นๆ ธุรกิจก็น่าเบื่อ แต่อยู่มาวันหนึ่งเกิดไวรัสระบาด ถุงมือยางจึงกลายเป็นสินค้าขาดแคลน บริษัทก็ขายถุงมือได้แพง กำไรพุ่งสูง ราคาหุ้นพุ่งสูง
แต่เมื่อสักวันไวรัสหายไป ถุงมือไม่ขาดแคลนอีกต่อไป บริษัทก็จะมีกำไรลดลง ราคาหุ้นก็ต่ำลง
หุ้นโตช้า
หุ้นโตช้า (Slow Grower) คือบริษัทที่ธุรกิจหยุดโต แต่ยังประคองต่อไปได้
ราคาหุ้นจะไม่ค่อยขึ้น ถ้าจะซื้อต้องเลือกหุ้นที่ธุรกิจมั่นคง จ่ายเงินปันผลสูง (ใครสนใจ มาดูวิธีลงทุนหุ้นปันผลได้เลย)
หุ้นใหญ่มั่นคง
หุ้นใหญ่มั่นคง (Stalwart) หรือ Blue Chip คือบริษัทที่ไม่ได้โตเร็ว แต่ก็ไม่ถึงกับโตช้า ธุรกิจเสถียรและมั่นคง อยู่ไปเรื่อยๆ โตบ้างนิดหน่อย หุ้นแบบนี้ให้ดู P/E เป็นหลักครับ ช่วงไหน P/E ต่ำก็ซื้อเก็บ ช่วงไหน P/E สูงก็ขายออก
นอกจากนี้ หุ้นกลุ่มนี้เป็นหุ้นที่การวิเคราะห์งบการเงินจะมีประโยชน์ที่สุด นี่จึงเป็นหุ้นที่นักลงทุนส่วนใหญ่ชอบ เพราะความเสี่ยงไม่สูง วิเคราะห์ธุรกิจได้ง่าย และผลตอบแทนก็พอใช้ได้
ในยามที่เศรษฐกิจยากลำบาก หุ้นพวกนี้จะไม่ล้มละลายง่ายๆ เพราะธุรกิจเสถียรแล้ว และคนก็ยังต้องใช้สินค้าและบริการบริษัทพวกนี้อยู่ตลอด
หุ้นใหญ่มั่นคง เช่น
- เซเว่นอีเลเว่น
- การท่าอากาศยานไทย
- เครือโรงพยาบาลกรุงเทพ
นอกจาก P/E แล้ว บางคนจะดูค่า ROE (Return on Equity) ด้วย
ค่า ROE เป็นตัวบอกความเยี่ยมยอดของธุรกิจ หลักการก็ง่ายๆ บริษัทที่ดีต้องลงทุนน้อยแต่กำไรมาก ส่วนบริษัทที่ไม่ดีจะลงทุนมากกำไรน้อย
คุณอยากซื้อบริษัทที่ดี ซึ่งลงทุนน้อยกำไรมาก โดยเราวัดได้จากการเอา “กำไร” (Profit หรือ Return) มาหารด้วย “เงินทุน” (Equity) ก็จะได้สัดส่วน ROE
ROE เกิน 20 ถือว่าสูง บริษัทที่สูงเกิน 30 จะถือว่าเป็นบริษัทที่ธุรกิจยอดเยี่ยมมาก
อย่าสับสน ROE กับการเติบโต
ROE คือบริษัทลงทุนน้อยกำไรมาก ไม่ได้บอกถึงการเติบโต
บางบริษัทมี ROE สูง ธุรกิจดีก็จริง แต่หยุดโตไปแล้ว บริษัทพวกนี้ก็จะทำธุรกิจต่อไปได้สบาย แต่กำไรจะเพิ่มขึ้นไม่มาก เพราะเขาไม่มีช่องทางขยายธุรกิจ กำไรที่ได้มาก็เอามากองไว้ หรือจ่ายเป็นเงินปันผลให้ผู้ถือหุ้น
บางบริษัท ROE ต่ำ แต่เติบโตเร็ว แสดงว่าตัวธุรกิจไม่ได้ดีมาก ต้องลงทุนเยอะถึงจะมีกำไร แต่ยังมีโอกาสให้ลงทุนขยายได้เยอะ บริษัทพวกนี้จะยังโตได้ แต่จะใช้เงินเยอะในการขยายธุรกิจ ข้อเสียตรงนี้ก็จะสะท้อนออกมาว่า บริษัทต้องกู้เงินเยอะในการขยายธุรกิจ หรือต้องออกหุ้นเพิ่มทุนเพื่อหาเงินไปขยายธุรกิจ
หุ้นทรัพย์สินมาก
หุ้นทรัพย์สินมาก (Asset Play) คือหุ้นที่มีทรัพย์สินบางอย่างอยู่ แต่ด้วยเหตุผลบางประการ ราคาหุ้นจึงต่ำกว่ามูลค่าทรัพย์สินของบริษัท เช่น
- บริษัทแม่ถือหุ้นบริษัทลูก บริษัทลูกทำธุรกิจรุ่งเรืองงดงาม ราคาหุ้นวิ่งไปไกลแล้ว แต่นักลงทุนลืมไปดูบริษัทแม่ หุ้นบริษัทแม่จึงราคาต่ำอยู่
- บริษัทมีแอพที่คนใช้เยอะมาก แต่ยังไม่ได้หารายได้จากแอพเท่าไร ปัจจุบันแอพนี้จึงยังไม่มีรายได้ ราคาหุ้นก็เลยยังไม่สะท้อนศักยภาพแอพ แต่ในอนาคตบริษัทจะทำกำไรมหาศาลจากแอพแน่นอน
- บริษัทมีที่ดินอยู่ แต่ลงบัญชีเป็นราคาที่ซื้อไว้เมื่อ 100 ปีก่อน ในบัญชีเลยเป็นที่ดินราคาถูก ราคาหุ้นก็ถูก ทั้งที่ในความเป็นจริงที่ดินแปลงนี้ราคาขึ้นมาสูงมากแล้ว
- บริษัทมีเงินสดกองไว้ในธนาคารเยอะ แค่เงินสดที่กองไว้ก็เยอะกว่าราคาหุ้นเสียอีก
หุ้นทรัพย์สินมากจะทำกำไรให้คุณแค่ไหน ขึ้นกับปัจจัย 2 ข้อครับ
- ข้อแรก ยิ่งบริษัทมีทรัพย์สินที่ซ่อนไว้แค่ไหน หุ้นก็ยิ่งมีโอกาสราคาสูงขึ้นมาก
- ข้อสอง บริษัทต้องมีแผนจะเอาทรัพย์สินนั้นมาใช้ประโยชน์ ถ้าบริษัทเก็บที่ดินไว้เฉยๆ ผู้บริหารนอนเกาสะดือไม่คิดจะเอาไปใช้ประโยชน์ ราคาหุ้นก็มีสิทธิ์ค้างอยู่ตรงนั้น ไม่ขยับไปไหนเป็นปีๆ
สรุป
ปีเตอร์ ลินช์ แบ่งหุ้นเป็น 6 ชนิดได้แก่ หุ้นโตเร็ว หุ้นโตช้า หุ้นใหญ่มั่นคง หุ้นฟื้นตัว หุ้นวัฏจักร และหุ้นทรัพย์สินมาก
หุ้นแต่ละชนิดมีลักษณะต่างกัน ก่อนลงทุน คุณควรเข้าใจให้ดีว่าหุ้นของคุณเป็นประเภทไหน
ถ้าคุณเพิ่งหัดเริ่มต้นลงทุน ลองอ่านวิธีลงทุน 4 สไตล์ในโลกเพื่อหาแนวทางที่เหมาะกับตัวเอง โดยวิธีที่ผมแนะนำคือการลงทุนแนวเน้นคุณค่าหรือ VI ซึ่งเป็นสไตล์ที่นิยมที่สุด
นอกจากนี้ อันที่จริงเรื่องหุ้น 6 ชนิดนี้ผมอธิบายไว้อย่างละเอียดในคอร์สแล้ว คนที่อยากเรียนวิธีลงทุนของ “นักลงทุนระดับโลก” ทั้งวอร์เรน บัฟเฟตต์, ปีเตอร์ ลินช์, เบนจามิน เกรแฮม, ดร.นิเวศน์ และอื่นๆ สามารถเข้าไปดูคอร์สลงทุนดีๆ ของบิงโกได้เลย (สอนตั้งแต่พื้นฐานจนลงทุนเก่ง)
ตามรอยปีเตอร์ ลินช์ ด้วยการเริ่มต้นลงทุนหุ้นต่างประเทศ
คนส่วนใหญ่มองวอร์เรน บัฟเฟตต์ หรือปีเตอร์ ลินช์ เป็นต้นแบบ และศึกษาแนวทางของสองคนนี้อย่างละเอียด เพื่อหวังว่าสักวันจะลงทุนได้เหมือนเขาบ้าง
แต่เรื่องจริงที่ไม่ค่อยมีใครพูดคือ ตั้งแต่ปีเตอร์ ลินช์ เริ่มต้นลงทุน เขาก็ได้เปรียบคุณไปแล้ว เพราะเขาลงทุนในตลาดหุ้นอเมริกา ซึ่งเป็นประเทศที่มีนวัตกรรมเป็นอันดับต้นของโลก
การลงทุนหุ้นคือการซื้อธุรกิจที่ยอดเยี่ยม ดังนั้นคุณจะเจอหุ้นที่ดีในเศรษฐกิจที่มีเจริญเติบโต มีนวัตกรรม และมี dynamics สูง แต่ปัจจุบันเศรษฐกิจไทยเติบโตช้าลง คนไทยเกิดน้อยลง สังคมกำลังจะกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุ ใครที่มีความรู้เรื่องเศรษฐกิจจะพอรู้ว่า “มืดมน” นักลงทุนไทยจำนวนมาก โดยเฉพาะเซียนหุ้นที่เข้าใจเรื่องนี้ จึงเริ่มเลี่ยงไปลงทุนต่างประเทศกันมากขึ้น
ถ้าคุณอยากหาโอกาสที่ดีที่สุดให้ตัวเอง คุณเองก็อาจศึกษาการลงทุนต่างประเทศเพิ่ม แล้วคุณจะพบว่าโอกาสดีๆ มีอยู่มากจริงๆ ผมมีบทความสอนวิธีลงทุนหุ้นอเมริกา หุ้นต่างประเทศให้คุณแล้ว (คุณจะได้หุ้นฟรีมูลค่ามากสุด $1000 ด้วย)
สำหรับคนที่คิดว่าการลงทุนหุ้นต่างประเทศไกลตัวเกินไป อยากซื้อกองทุนให้เขาไปลงทุนหุ้นต่างประเทศแทนเรา ผมแนะนำให้อ่าน ซื้อกองทุนต่างประเทศยังไง ให้กำไรมากขึ้น 100% ซึ่งผมเขียนไว้ให้คุณโดยเฉพาะเลยครับ
เรียนคอร์สลงทุน “นักลงทุนมือหนึ่งของโลก”
อยากศึกษาเรื่องการลงทุนแต่เริ่มไม่ถูก?
บิงโกมีคอร์สสอนลงทุนที่จะคุณอาจสนใจ คอร์สนี้จะสอนคุณตั้งแต่พื้นฐานจนถึงระดับสูง เรียนจบพร้อมลงทุนจริงได้เลย เหมือน “นักลงทุนระดับโลกมาสอนคุณเอง” โดยใช้วิธีของนักลงทุนชั้นนำทั่วโลกมาสอนคุณ ทั้งวอร์เรน บัฟเฟตต์, ปีเตอร์ ลินช์, เบนจามิน เกรแฮม และอื่นๆ ซึ่งจะร่นเวลาให้คุณลงทุนได้เก่งกาจอย่างรวดเร็ว