“งบการเงิน” คือ รายงานทางการเงินในแต่ละงวดบัญชี นักลงทุนทุกคนควรอ่านงบการเงินเป็น เพราะมันจะช่วยคุณวิเคราะห์ว่าบริษัทที่คุณลงทุนนั้นดีหรือแย่แค่ไหน คุ้มค่ากับราคาที่ซื้อไปหรือไม่
วันนี้เราจะมาเจาะลึกงบการเงินอย่างละเอียด ว่างบการเงินทั้ง 3 ชนิดมีอะไรบ้าง เราจะอ่านงบการเงินยังไง และวิเคราะห์อย่างไร
สรุป “งบการเงิน” สำหรับคนที่ยาวไปไม่อ่าน
งบการเงินมี 3 ชนิด
- งบกำไรขาดทุน บอกกำไรขาดทุนของบริษัทในปีนั้น
- งบดุล บอกสินทรัพย์และหนี้สินของบริษัทในวันที่ปิดงบ
- งบกระแสเงินสด บอกว่าบริษัทหาเงินสดได้เท่าไร และใช้เงินสดไปกับอะไรบ้าง
งบการเงินไม่ได้บอกทุกอย่างเกี่ยวกับบริษัท บางบริษัทงบออกมาดี แต่อนาคตไม่สดใส อาจเป็นการลงทุนที่ไม่ดี หุ้นลง
บางบริษัทงบออกมาห่วย แต่อนาคตดี จึงอาจเป็นการลงทุนที่ดีก็ได้
สุดท้าย งบการเงินสามารถบิดเบือนได้ บางทีก็บิดเบือนตามมาตรฐานทางบัญชี ไม่ผิดกฎหมาย ดังนั้นเราควรระมัดระวังเวลาวิเคราะห์งบด้วย
งบกำไรขาดทุน [งบการเงินชนิดที่ 1]
งบกำไรขาดทุน จะบอกเราว่าปีนี้บริษัทมีกำไรเท่าไร
ถ้าคุณไปเปิดงบกำไรขาดทุนดู คุณจะเจอตัวเลขที่ละเอียดหลายบรรทัด แต่ที่จริงทุกตัวจะเป็นหนึ่งใน 3 ข้อด้านล่างเสมอ…
- รายได้ = เงินที่บริษัทหาได้ โดนยังไม่คิดรายจ่าย
- รายจ่าย = ค่าใช้จ่ายที่บริษัทจ่ายไป
- กำไร = รายได้ – รายจ่าย
รายได้
รายได้จะอยู่ที่บรรทัดบนสุดของงบ บางบริษัทจะแบ่งย่อยให้เราเป็นรายได้หลายชนิด ซึ่งบ่งบอกว่าบริษัทหาเงินได้เท่าไรก่อนจะหักค่าใช้จ่าย
รายจ่าย
รายจ่ายจะแบ่งย่อยหลายบรรทัดในงบกำไรขาดทุน แต่ละบรรทัดล้วนสำคัญ เพราะมันจะบอกว่าบริษัทมีรายจ่ายหนักไปทางด้านไหน โครงสร้างกำไรเป็นยังไง
กำไร
กำไรเองก็จะมีหลายตัว แต่ทุกตัวจะเกิดจากรายได้ที่อยู่บรรทัดบนสุดมาลบด้วยรายจ่ายชนิดต่างๆ เช่น
- กำไรขั้นต้น = รายได้ – ต้นทุนขาย
- กำไรก่อนหักภาษี = รายได้ – รายจ่ายทุกตัวยกเว้นภาษี
- กำไรสุทธิ = รายได้ – รายจ่ายทุกตัว → นี่คือกำไรตัวสำคัญที่สุดที่ทุกคนพูดถึงกัน ถ้าเราบอกว่า “บริษัทนี้มีกำไร xxx” เราจะหมายถึง “กำไรสุทธิ” นี่แหละครับ
ดูตัวอย่างกันดีกว่า อันนี้เป็นงบกำไรขาดทุนของบรัษัทไทยออยล์ (TOP) ในปี 2017-2020 จากเว็บไซต์ investing.com นะครับ
เวลาเราอ่านงบกำไรขาดทุน ให้เราอ่านจากบนลงล่าง
ข้างบนสุดจะเริ่มจากรายได้รวมเสมอ ซึ่งในที่นี้เขาแบ่งย่อยให้เรา แต่ไม่ต้องสนใจตัวย่อย สนใจแค่รายได้รวมก็พอ ผมเขียนไว้เป็นตัว A สีฟ้า
- พอคุณเลื่อนลงมาข้างล่าง ก็จะเจอ “รายจ่าย” ชนิดต่างๆ ซึ่งผมเขียนไว้เป็นสีแดง
- นอกจากนี้ ระหว่างทางก็จะมี “รายได้เสริม” ซึ่งไม่ใช่รายได้หลักจากธุรกิจ ซึ่งผมเขียนด้วยสีฟ้า
- คุณจะเจอรายจ่ายสีแดงกับรายได้สีฟ้าปะปนกันไปเรื่อยๆ แล้วพอคุณเอารายได้มาบวกกัน หักด้วยรายจ่าย ก็จะเป็นกำไรชนิดต่างๆ ซึ่งผมวงกลมไว้เป็นสีเขียว
- กำไรจะมีอยู่หลายชนิด ขึ้นอยู่กับว่าคุณเลื่อนลงมาเยอะแค่ไหน จนในที่สุดคุณจะเจอ “กำไรสุทธิ” ซึ่งเป็นกำไรที่สำคัญสุด ตัวนี้เองจะเป็นกำไรของบริษัทที่เราพูดถึงกัน
ถ้าคุณเอา “กำไรสุทธิ” มาหารด้วย “จำนวนหุ้น” ก็จะเป็น “กำไรต่อหุ้น” เหมือนที่ผมวงกลมไว้เป็นสีเขียวล่างสุด
ไอ้สีส้มที่ผมวงเอาไว้ ก็คือค่าใช้จ่ายทั้งหมดในการดำเนินงาน (ค่าใช้จ่ายทั้งหมด ยกเว้นดอกเบี้ยกับภาษี) ซึ่งก็คือ B+C นั่นเอง เขาเอามาคำนวณให้เราดูง่ายๆ แต่ในที่นี้เราดู B กับ C อยู่แล้ว จึงไม่ต้องสนใจค่ารวม
คุณจะเห็นว่า “งบกำไรขาดทุน” มันก็แค่เอา “รายได้” กับ “รายจ่าย” มาเรียงต่อกันจากบนลงล่าง แล้วว่างๆ ก็คิดหากำไรขั้นต่างๆ ให้เรา ขอแค่คุณเข้าใจตรงนี้ ก็จะเข้าใจงบกำไรขาดทุนครับ
ส่วนการวิเคราะห์ที่ลึกซึ้งขึ้น สามารถอ่านต่อใน วิธีอ่านงบกำไรขาดทุนง่ายๆ สำหรับมือใหม่ ได้เลย
ระวัง!…งบการเงินไม่ใช่ทั้งหมดในการวิเคราะห์ธุรกิจ
หลายคนที่สนใจเรียนรู้เรื่องงบการเงิน อาจตั้งใจไว้ว่าพออ่านงบการเงินเป็น ก็จะสามารถมองธุรกิจได้เฉียบขาด วิเคราะห์หุ้นได้เก่ง และจะลงทุนได้อย่างประสบความสำเร็จ
นี่เป็นความเข้าใจผิดที่อันตรายมากครับ เพราะแท้ที่จริงแล้วงบการเงินเป็นแค่จุดเริ่มต้นเท่านั้น หุ้นบางตัวงบออกมาดี แต่ราคาลงไปเรื่อยๆ นั่นเพราะการลงทุนต้องมีมากกว่าแค่ดูงบการเงิน คุณจะต้องเข้าใจลักษณะของตัวธุรกิจงทุนจริง เข้าใจตลาดหุ้น มีวิธีบริหารความเสี่ยง และมีกลยุทธ์การลงทุนที่ถูกต้องด้วย
คุณสามารถศึกษาสิ่งเหล่านี้เพิ่มเองได้จากหนังสือ โดยความรู้ที่ดีที่สุดในการลงทุนมักอยู่ในหนังสือ เพราะหนังสือเป็นช่องทางที่เราจะเข้าถึงแนวคิดในการลงทุนของนักลงทุนชั้นนำของโลกได้ง่ายที่สุด ไม่มีนักลงทุนระดับโลกคนไหนจะมาอธิบายเทคนิคของตัวเองอย่างละเอียดในยูทูป แต่ถ้าเขาอยากถ่ายทอดจริงๆ เขามักเขียนเป็นหนังสือไปเลย
ที่จริงนักลงทุนไทยเก่งๆ ก็เรียนรู้แนวคิดของนักลงทุนชั้นนำในโลกจากหนังสือนี่แหละครับ ผมกล้าบอกเลยว่านักลงทุนไทยทุกคนที่ประสบความสำเร็จ ล้วนอ่านหนังสือมาเยอะมาก
ผมได้สรุปหนังสือลงทุนดีๆ ที่ควรอ่าน ให้คุณแล้วครับ
แต่ปัญหาของหลายๆ คนคือ หนังสือแต่ละเล่มนั้นใช้เวลาอ่านเยอะ แถมทำความเข้าใจยาก อ่านรู้เรื่องบ้างไม่รู้เรื่องบ้าง กว่าจะอ่านครบแล้วเชื่อมโยงแต่ละเล่มเข้าด้วยกันก็กินเวลานาน (เล่มนึงบางทีอ่านเป็นสัปดาห์ เล่มหนาๆ ก็เป็นเดือน)
แนวคิดบางอย่างก็อยู่ในบริบทของต่างประเทศและเกิดขึ้นเมื่อหลายสิบปีก่อน จึงยากที่จะทำความเข้าใจ บิงโกจึงมีคอร์สลงทุนที่ช่วยเรียบเรียงลำดับความคิดเรื่องการลงทุนทั้งหมดให้คุณ คอร์สนี้จะสอนคุณทุกเรื่องที่ต้องรู้ในการลงทุน ทั้งงบการเงิน การวิเคราะห์ธุรกิจ กลยุทธ์การลงทุน และวิธีมองภาพเศรษฐกิจ โดยเรียบจบลงทุนจริงได้เลย ดูรายละเอียดคอร์สด้านล่างได้เลยครับ
งบดุล [งบการเงินชนิดที่ 2]
งบดุลจะบ่งบอกถึง 3 สิ่ง
- สินทรัพย์/ทรัพย์สิน (Assets) คือสิ่งที่บริษัทมี เช่น เงินสด ที่ดิน โต๊ะ เก้าอี้
- หนี้สิน (Liabilities) คือสิ่งที่บริษัทติดค้างคนอื่นไว้ เช่น หนี้สินระยะสั้น หนี้สินระยะยาว
- ส่วนของผู้ถือหุ้น (Equity) คือตัวเลขสมมุติว่าถ้าบริษัทเอาสินทรัพย์ไปจ่ายหนี้จนหมด บริษัทจะเหลือแค่ไหน ค่านี้บางทีก็จะเรียกว่า “ทุน” หรือ “ส่วนทุน” หรือ “ส่วนของเจ้าของ”
กฎที่คุณต้องจำคือ สินทรัพย์ = หนี้สิน + ส่วนของผู้ถือหุ้น
เวลาอ่านงบดุล ให้มองว่าบริษัทเป็นเหมือนคนครับ คนเราจะมีสินทรัพย์กับหนี้สิน และถ้าเอามาลบกัน ก็จะเหลือเป็นสิ่งที่คนคนนั้นมีอยู่จริงๆ มันคือ “ส่วนของผู้ถือหุ้น” ที่จะเหลือหลังจากเอา “สินทรัพย์มา” หักลบ “ส่วนของเจ้าหนี้” ไปหมดแล้ว
เช่น ถ้าเรามีบ้านมูลค่า 5 ล้านบาท และเงินฝากธนาคาร 2 ล้านบาท โดยมีหนี้สิน 6 ล้านบาท
- ทรัพย์สินจะเป็น 5+2 = 7 ล้านบาท
- หนี้สินคือ 6 ล้านบาท
- ส่วนของผู้ถือหุ้น 7 – 6 = 1 ล้านบาท นี่คือเงินจริงๆ ที่เรามี หลังหักหนี้สินแล้ว
สินทรัพย์ แบ่งง่ายๆ เป็นระยะสั้นกับระยะยาว
- สินทรัพย์ระยะสั้น คือสิ่งที่เปลี่ยนเป็นเงินได้ง่าย มีอีกชื่อว่า “สินทรัพย์หมุนเวียน” เช่น เงินสด สินค้าคงคลัง ลูกหนี้การค้า หุ้นที่บริษัทซื้อไว้ (บริษัทก็เล่นหุ้นได้เหมือนคนนะเออ)
- สินทรัพย์ระยะยาว คือสิ่งที่ต้องใช้เวลาเกิน 1 ปีในการเปลี่ยนเป็นเงินสด เช่น ที่ดิน โรงงาน รถยนต์ อาคาร เครื่องจักร เป็นต้น
หนี้สิน แบ่งเป็นระยะสั้นกับระยะยาว เช่นกัน
- หนี้สินระยะสั้น คือหนี้ที่ต้องจ่ายภายใน 1 ปี มีอีกชื่อว่า “หนี้สินหมุนเวียน” เช่น เจ้าหนี้การค้า เงินกู้ระยะสั้น
- หนี้สินระยะยาว คือหนี้ที่ต้องจ่ายในเวลาเกิน 1 ปี เช่น เงินกู้ระยะยาว
หนี้สินจะบอกเราสองอย่างเกี่ยวกับบริษัท อย่างแรกคือประสิทธิภาพ บริษัทที่กู้เงินมาทำธุรกิจเยอะแสดงว่าไม่มีประสิทธิภาพ อย่างที่สองคือความเสี่ยง ถ้าบริษัทมีหนี้สินเยอะ หากเกิดวิกฤติเศรษฐกิจขึ้นมา บริษัทขายของไม่ได้ ก็อาจไม่มีเงินมาจ่ายหนี้ได้
สำหรับ ส่วนของผู้ถือหุ้น ในการวิเคราะห์เบื้องต้นจริงค่านี้จะไม่สำคัญมากครับ เพราะค่านี้เป็นการบอก “อดีต” ว่าในอดีตบริษัทเคยลงทุนไปเท่าไร (เงินลงทุนจะเท่ากับสินทรัพย์ – หนี้สิน ซึ่งแสดงออกมาเป็นส่วนของผู้ถือหุ้น) แต่เงินลงทุนในอดีตนั้นไม่สำคัญ เราควรมองไปที่อนาคตมากกว่า ซึ่งส่วนของผู้ถือหุ้นบอกอะไรไม่ได้มาก
- บางกรณีที่บริษัทใกล้เจ๊ง นักลงทุนบางคนจะดูส่วนของผู้ถือหุ้น เพื่อดูว่าถ้าบริษัทต้องเลิกกิจการแล้วจะมีเงินเหลือมาคืนผู้ถือหุ้นเท่าไร
ดูตัวอย่างกันดีกว่า อันนี้เป็นงบดุลของบรัษัทไทยออยล์ (TOP) ในปี 2017-2020 จากเว็บไซต์ investing.com นะครับ
เวลาดูงบดุล ให้ดูแยก 3 ตัวเลยนะครับ (สินทรัพย์ หนี้สิน ส่วนของผู้ถือหุ้น) โดยผมคั่นด้วยหยึกหยักสีแดงให้แล้ว
เวลาคุณอ่านตาราง สังเกตนะครับว่าบางบรรทัดมันจะเว้นเข้าไปจากบรรทัดก่อนหน้า บรรทัดที่เว้นเข้าไปนั่นหมายถึง “เป็นส่วนหนึ่ง” ของบรรทัดบน เช่น ถ้าคุณไปดูตรง “หนี้สิน” เขาจะมีหนี้สินระยะยาวรวม แล้วอีก 2 บรรทัดถัดมาจะย่นเข้าไป แสดงว่าอีก 2 บรรทัดถัดมานั้นเป็นส่วนหนึ่งของ “หนี้สินระยะยาวรวม”
สินทรัพย์จะแยกเป็นสินทรัพย์ระยะสั้นกับระยะยาว ซึ่งพอเอามาบวกกันจะได้สินทรัพย์รวม
- สินทรัพย์ระยะสั้น เขาใช้อีกชื่อว่า “สินทรัพย์สภาพคล่อง” ซึ่งเหมือนกัน
- บรรทัด “สินทรัพย์สภาพคล่องรวม” จะอยู่บนสุด แล้วเขาค่อยแยกย่อยอีกที
- เขาไม่มีการรวม “สินทรัพย์ระยะยาว” ให้เรา แต่กระจายหลายบรรทัดออกมาเลย
- พอเอา “สินทรัพย์สภาพคล่องรวม” รวมกับสินทรัพย์ย่อยอื่นๆ ก็จะได้สินทรัพย์รวม
หนี้สินก็จะแยกเป็นระยะสั้นกับระยะยาว พอเอามาบวกกันจะได้หนี้สินรวม
- หนี้สินระยะสั้น เขาใช้อีกชื่อว่า “หนี้สินหมุนเวียน” ซึ่งเหมือนกัน
- บรรทัด “หนี้สินหมุนเวียนรวม” จะอยู่บนสุด แล้วเขาค่อยแยกย่อยอีกที
- เขาไม่มีการรวม “หนี้สินระยะยาว” ให้เรา แต่กระจายหลายบรรทัดออกมาเลย
- พอเอา “หนี้สินหมุนเวียนรวม” รวมกับหนี้สินย่อยอื่นๆ ก็จะได้หนี้สินรวม
ส่วนของผู้ถือหุ้น ไม่ค่อยต้องดูมาก สังเกตว่าเท่ากับสินทรัพย์ – หนี้สิน ตามกฎ สินทรัพย์ = หนี้สิน + ส่วนของผู้ถือหุ้น ที่เราพูดถึงด้านบน
ทั้งหมดนี้คือวิธีอ่านงบดุลคร่าวๆ ครับ ส่วนการวิเคราะห์ที่ลึกซึ้งขึ้น สามารถอ่านต่อใน วิธีอ่านงบดุลง่ายๆ สำหรับมือใหม่ ได้เลย
แต่…ไม่ใช่แค่ดูงบการเงินแล้ววิเคราะห์หุ้นได้
อยากเลือกหุ้นถูกตัว วิเคราะห์ธุรกิจได้เฉียบขาด?
งบการเงินเป็นแค่จุดเริ่มต้นของการวิเคราะห์ธุรกิจ หุ้นบางตัวงบออกมาดี แต่ราคาลงไปเรื่อยๆ นั่นเพราะการลงทุนต้องมีมากกว่าดูงบการเงินเป็น บิงโกมีคอร์สสอนลงทุนที่จะคุณอาจสนใจ คอร์สนี้จะสอนคุณทุกเรื่องที่ต้องรู้ในการลงทุน ทั้งงบการเงิน การวิเคราะห์ธุรกิจ กลยุทธ์การลงทุน และวิธีมองภาพเศรษฐกิจ โดยเรียบจบลงทุนจริงได้เลย และจะร่นเวลาให้คุณลงทุนได้เก่งกาจอย่างรวดเร็ว
งบกระแสเงินสด [งบการเงินชนิดที่ 3]
งบกระแสเงินสด ช่วยบอกว่าบริษัทหาเงินได้แค่ไหน และเอาเงินไปใช้ทำอะไรบ้าง โดยแบ่งดังนี้
- กระแสเงินสดจากการดำเนินงาน เป็นการบอกว่าบริษัททำธุรกิจแล้วได้เงินมาแค่ไหน
- ทำธุรกิจได้เงิน = เป็นบวก
- ทำธุรกิจเสียเงิน = เป็นลบ
- กระแสเงินสดจากกิจกรรมลงทุน บริษัทเอาเงินไปลงทุนทำอะไร หรือขายสินทรัพย์ไปหรือไม่
- เอาเงินไปลงทุน = เป็นลบ
- ขายสินทรัพย์ได้เงิน = เป็นบวก
- กระแสเงินสดจากการจัดหาเงิน บริษัทกู้เงินหรือเอาเงินไปคืนเจ้าหนี้แค่ไหน
- กู้เงิน = เป็นบวก
- เอาเงินไปคืนเจ้าหนี้ = เป็นลบ
ระวังเครื่องหมายดีๆ นะครับ เวลาดูให้มองเงินสดเป็นหลัก ถ้าเงินเข้ากระเป๋าเรา จะเป็นบวก เช่น เอาโรงงานไปขาย เอาที่ดินไปขาย หรือกู้เงิน จะเป็นบวก
แต่ถ้าเงินออกจากกระเป๋าเรา เช่น เอาเงินไปลงทุน เอาเงินไปใช้หนี้ จะเป็นบวก
“กระแสเงินสดจากการดำเนินงาน” คล้ายกับ “กำไร” แต่ต่างกันนิดนึง
ตรงนี้เป็นจุดที่มือใหม่หลายคนสับสน ผมจึงขอเน้นนิดนึงนะครับ
การทำธุรกิจเป็นช่องทางหาเงินทางหนึ่ง แต่ไม่ใช่ทางเดียว ถ้าคุณไปดูงบกระแสเงินสด จะเห็นได้ว่า มีวิธีหาเงินถึง 3 ทาง
- ทำธุรกิจ เป็นวิธีหาเงินที่สำคัญที่สุด แต่ไม่ใช่วิธีเดียว
- ขายสินทรัพย์ บริษัทที่ร้อนเงินจริงๆ อาจจะเอาโต๊ะเก้าอี้ไปขาย เอาที่ดินไปขาย เอาเครื่องจักรไปขาย เขาก็จะได้เงินมาใช้แก้ขัด
- กู้เงิน ตราบใดที่เจ้าหนี้ให้กู้ เราก็กู้เงินมาใช้ได้เรื่อยๆ และจะนับว่า “กระแสเงินสดเป็นบวก” นะครับ เพราะมีเงินเข้าบริษัท (ถึงแม้จะมีหนี้สินที่ต้องจ่ายในอนาคต)
ทีนี้ คุณอาจสงสัยต่อว่า แล้ว กระแสเงินสดจากการดำเนินงาน ต่างจากกำไรไหม? เพราะมันมาจากการทำธุรกิจทั้งคู่
คำตอบคือ “ต่าง แต่เกี่ยวข้องกัน”
เวลาบริษัททำธุรกิจ บางครั้งบริษัทจะ “ลงบัญชีว่ามีกำไร” ถึงแม้ว่า “ยังไม่ได้เงิน” เช่น บริษัทขายสินค้า แล้วลูกค้าตกลงว่าจะทยอยจ่ายเงินในอีก 3 ปีข้างหน้า
- พอเป็นแบบนี้ บริษัทจะลงบัญชีไว้ก่อนแล้วว่ามีกำไร ซึ่งตัวเลขกำไรนี้จะไปอยู่ในงบกำไรขาดทุน ในขณะที่เงินสดไม่เข้า ตัวเลขนี้ก็จะไม่ปรากฏในงบกระแสเงินสด
ในทางกลับกัน บางทีบริษัทไม่ได้บันทึกกำไร แต่อยู่ดีๆ ก็มีเงินไหลเข้า เช่น บริษัททรู ให้บริการ True Money Wallet เปิดให้เราโอนเงินเข้าวอลเล็ต แล้วเราเอาไปซื้อของในอินเทอร์เน็ตได้ (เหมือนแอพเป๋าตัง)
- เนื่องจากบริษัททรูยังไม่ได้ขายของอะไรเลย กำไรจึงเท่าเดิม ไม่มีการบันทึกในงบกำไรขาดทุน แต่ทุกครั้งที่ลูกค้าโอนเงินเข้าวอลเล็ต ก็จะมีเงินมาฝากไว้ในบัญชีธนาคารของทรู ทำให้เขาเอาเงินนี้ไปใช้ประโยชน์ได้ ตัวเลขนี้จะโผล่มาในงบกระแสเงินสด
ในกรณีค้าขายปกติ เช่น บริษัทซื้อไก่ 100 มาขาย 120 พอขายเสร็จก็ได้เงินเลย
- แบบนี้ก็จะบันทีกกำไร 20 บาทลงงบกำไรขาดทุน พร้อมบันทึกเงินสดไหลเข้า 20 บาทลงงบกระแสเงินสด
คุณจะสังเกตว่าโดยทั่วไป กำไรมักเกิดขึ้นพร้อมกับกระแสเงินสดจากการดำเนินงาน แต่บางครั้งก็ไม่ใช่ ตัวเลขสองตัวนี้จึงเพิ่มขึ้นและลดลงไปด้วยกัน แต่จะไม่เท่ากันเป๊ะครับ
ดูตัวอย่างกันดีกว่า อันนี้เป็นงบกระแสเงินสดของบรัษัทไทยออยล์ (TOP) ในปี 2017-2020 จากเว็บไซต์ investing.com นะครับ
เวลาดูกระแสเงินสด ให้ดูแยก 3 ตัวเลยนะครับ (เงินสดจากการดำเนินงาน จากการลงทุน จากการหาเงิน) โดยผมคั่นด้วยหยึกหยักสีแดงให้แล้ว
เงินสดจากการดำเนินงาน ผมเคยบอกใช่ไหมครับว่าเงินสดจากการดำเนินงานนั้น คล้ายกำไร แต่ไม่เหมือนกันเป๊ะ เพราะมันมาจากการทำธุรกิจเหมือนกัน ดังนั้นเราสามารถคำนวณย้อนกลับได้ โดย…
- เริ่มจากกำไรสุทธิ (ในตารางเขียนเป็นรายได้สุทธิ แต่เหมือนกัน)
- เอามาบวกลบกับค่าต่างๆ เพื่อ “ปรับ” ให้กำไรสุทธิกลายมาเป็นเงินสดจากการดำเนินงาน
ในที่นี้ เขาเริ่มที่กำไรสุทธิในบรรทัดบนสุด แล้วเอามาบวกกับไอ้ค่าต่างๆ ด้านล่าง จนกลายมาเป็น “เงินสดจากการดำเนินงาน” แต่ที่จริงเขายังมีการบวกอย่างอื่นอีก ซึ่งเขาละเอาไว้ ไม่ได้แสดงในที่นี้ คนที่สนใจรายละเอียดในการคำนวณ ไปดูต่อในวิธีอ่านงบกระแสเงินสดง่ายๆ สำหรับมือใหม่ ได้เลย
เงินสดจากการลงทุน ก็ไม่มีอะไรมาก ติดลบแสดงว่าเขาเอาเงินไปลงทุนเพิ่ม
เงินสดจากการจัดหาเงิน (ในตารางเขียนว่าไฟแนนซ์ แต่เหมือนกัน) เป็นบวก แสดงว่าบริษัทกู้เงินเพิ่ม ซึ่งก็สอดคล้องกับที่เขาเอาเงินไปลงทุน แสดงว่าบริษัทกู้เงินมาลงทุนเพิ่ม สังเกตว่าการกู้เงินจะทำให้เงินสดจากการจัดหาเงินเป็นบวก
ถ้าเราเอาทั้ง 3 ตัวมาบวกกัน ก็จะได้ “เงินสดเปลี่ยนแปลงสุทธิ” นะครับ ผมวงกลมเอาไว้เป็นสีน้ำเงิน
- เงินสดปี 2019 + เงินสดเปลี่ยนแปลงสุทธิ = เงินสดปี 2020
- เงินสดปี 2018 + เงินสดเปลี่ยนแปลงสุทธิ = เงินสดปี 2019
- เงินสดปี 2017 + เงินสดเปลี่ยนแปลงสุทธิ = เงินสดปี 2018
- ฯลฯ
ทั้งหมดนี้คือวิธีอ่านงบกระแสเงินสดคร่าวๆ ครับ ส่วนการวิเคราะห์ที่ลึกซึ้งขึ้น สามารถอ่านต่อใน วิธีอ่านงบกระแสเงินสดง่ายๆ สำหรับมือใหม่ ได้เลย
อย่าโดนงบการเงินหลอก รู้จักกลโกงที่ใช้บ่อยในงบการเงิน
คุณจะสังเกตได้ว่างบการเงินนั้น ท้ายที่สุดมันก็เป็นแค่รายงานที่จัดทำขึ้นตามมาตรฐานทางบัญชี
เวลาเราจะลงบัญชีนั้น นักบัญชีเองก็สามารถ “ใช้วิจารณญาณ” ได้ในระดับหนึ่ง นั่นแสดงว่าถึงจะทำธุรกิจเดียวกัน แต่นักบัญชีสองคนก็อาจลงบัญชีต่างกัน เพื่อเป้าหมายบางประการ
เราจะมาดูเทคนิคบิดเบือนงบการเงินคร่าวๆ เพื่อให้คุณรู้ทันกลวิธีของพวกเขากัน
1. ปลอมรายได้ เพื่อให้บริษัทโตกระจาย
วิธีหนึ่งก็คือ เวลาลูกค้าจ่ายเงินล่วงหน้า เขาสามารถเอาเงินทั้งก้อนบันทึกเป็น “รายได้” ทันที ถึงแม้ว่าบริษัทจะต้องส่งสินค้าหรือให้บริการในอนาคตอีกหลายปี
ตัวอย่างเช่น บริษัทอาจจะได้รับเงินล่วงหน้าสำหรับสัญญาให้บริการ 5 ปี แต่บริษัทลงบัญชีว่าเงินทั้งหมดเป็นรายได้ปีนี้ ทำให้รายได้สูงเกินจริง ทั้งที่จริงๆ ควรทยอยบันทึกรายได้ในช่วงเวลา 5 ปี
อีกวิธี บริษัทอาจจะส่งสินค้าให้ร้านค้าปลีก แล้ว “รับคืนสินค้าที่ขายไม่ได้” ซึ่งถ้าสัญญาเป็นแบบนี้ บริษัทก็ไม่ควรรีบบันทึกสินค้าทั้งหมดเป็นรายได้ เพราะจริงๆ บริษัทจะมีรายได้จากที่ขายได้เท่านั้น สินค้าที่เหลือจะถูกส่งคืนอยู่ดี แต่บริษัทที่อยากโชว์กำไรเร็วๆ จะบันทึกว่า “ขายสินค้าได้หมดทุกชิ้น” แล้วพอสินค้าถูกส่งคืน ค่อยมาหักเป็นรายจ่ายทีหลัง
- ถ้าเขาทำแบบนี้ ให้ดูพิรุธที่ “เงินสด” ว่าน้อยเกินควร เช่น บริษัทลงบัญชีว่ากำไรสูง แต่ “กระแสเงินสดจากการดำเนินงาน” น้อย เพราะยังไม่ได้เงินจากร้านค้าปลีก
2. ลดรายจ่าย ไปลงบัญชีว่าเป็นการลงทุน
ในการลงบัญชี คุณจะสังเกตว่ามันไม่ค่อยชัดเจนว่าบริษัทจ่ายเงินออกไป แล้วเงินนั้นเป็น “รายจ่าย” หรือเป็น “การลงทุน”
บางบริษัทต้องจ่ายค่าใช้จ่ายก้อนใหญ่ แต่เขาจะไม่ลงว่าเงินนั้นเป็นค่าใช้จ่าย เพราะมันจะทำให้งบการเงินปีนั้นขาดทุนหนัก
บริษัทจึงใช้วิธีลงค่าใช้จ่ายนั้นเป็น “การลงทุน” หรือ “ค่าใช้จ่ายล่วงหน้า” ที่อยู่ในรูป “สินทรัพย์” แทน
- วิธีจับพิรุธคือ บริษัทจะไม่บันทึกรายจ่ายก็จริง แต่เงินสดจะหายไปเยอะ แล้วในงบดุลจะมีสินทรัพย์แปลกๆ บางตัวที่บวมขึ้นมาแทน
3. ซุกสิ่งสกปรกไว้ในบริษัทลูก หลาน เหลน โหลน
บริษัสามารถซ่อนหนี้สินหรือรายจ่ายไว้ในบริษัทลูก บริษัทหลานได้ วิธีนี้จะจับพิรุธได้ยาก เพราะเขาสามารถซ่อนทุกอย่างไว้ได้หมด และถ้าซ่อนดีๆ จะ “เนียน” มาก เช่น
- บริษัท A ขาดทุนหนัก ต้องการเงินมาใช้ด่วน ประธานบริษัทจึงเปิดบริษัท B ในชื่อคนสวน โดย B ไปกู้เงินมาให้ A ใช้ และให้ A ค้ำประกันเงินกู้
- สรุปว่า A ได้เงินมาใช้ และหนี้สินอยู่กับ B
- A จะยังต้องใช้หนี้อยู่ดี เพราะเป็นคนค้ำประกันเงินกู้ไว้
- แต่งบการเงินของ A จะไม่แสดงหนี้สินก้อนนี้ เพราะเป็นหนี้สินของ B ซึ่งไม่ใช่บริษัทลูกของ A โดยตรง (เป็นของคนสวน)
- บริษัท A มีบริษัทลูก B ซึ่งไปลงทุนในบริษัทหลาน C
- ต่อมาบริษัทหลาน C ขาดทุนหนัก แต่ B ไม่จำเป็นต้องลงบัญชีเพื่อรับรู้การขาดทุนนี้
- เนื่องจาก B ไม่รับรู้การขาดทุน A ก็เลยไม่รับรู้การขาดทุนเช่นกัน
ในปัจจุบัน มีการปรับปรุงมาตรฐานบัญชีให้งบการเงินต้องรายงานข้อมูลจากบริษัทลูกด้วย แต่ก็ปิดช่องโหว่ไม่ได้หมด เพราะบริษัทลูกที่จะถูกรวมต้องถูกถือหุ้นเกิน 50%
และต่อให้บริษัทลูกถูกรวม ก็ยังมีบริษัทหลาน เหลน โหลด ได้อีกต่อไปไม่รู้จบ
งบดีทำไมหุ้นลง
ท้ายที่สุด คุณดูงบการเงินไปก็เพื่อเลือกซื้อหุ้นใช่ไหมครับ?
หลายคนวิเคราะห์หุ้นไว้อย่างดิบดี คิดไว้ว่างบการเงินจะต้องออกมาสวยงาม จากนั้นพอถึงวันประกาศผลประกอบการ งบการเงินก็ออกมาดีจริงๆ แต่ทำไมหุ้นกลับลง?
ทำไม ทำไม ทำไม
- Sell on Fact หรือที่เมืองนอกเรียกว่า “Buy the rumor, sell the news.” บางครั้งการที่งบออกมาดี เป็นสิ่งที่สะท้อนอยู่ในราคาหุ้นอยู่แล้ว (priced in) พูดอีกแง่คือ นักลงทุนส่วนใหญ่คาดไว้อยู่แล้วว่าผลประกอบการจะออกมาดี งบจะออกมาสวย ทำให้ความคาดหวังสูง นักลงทุนหลายคนก็เลยซื้อหุ้นไปเรื่อยๆ จนราคาหุ้นขึ้นสูง จากนั้นพองบการเงินออกมาดีจริงๆ จึงมีการขายทำกำไรกัน ราคาหุ้นก็เลยลง
- ถ้าธุรกิจของบริษัทยังดีขึ้นต่อเนื่อง ปกติการ sell on fact จะเกิดขึ้นชั่วคราว จากนั้นหุ้นก็จะขึ้นต่อ
- ตลาดหุ้นมองไปในอนาคต ไม่ใช่อดีต งบการเงินเป็นการบอกถึงอดีต ว่าผลประกอบการในปีที่ผ่านมา (หรือ 3 เดือนที่ผ่านมา) เป็นยังไง แต่ราคาหุ้นจะสะท้อนอนาคต ดังนั้นต่อให้งบการเงินออกมาดี แต่ถ้านักลงทุนมองว่าอนาคตบริษัทจะแย่ลง ราคาหุ้นก็ยังลงได้อยู่ดี
- Panic sell นักลงทุนบางคนเห็นงบออกมาดีแต่หุ้นลง จึงกังวลแล้วขายตาม จากนั้นพอเขาพบว่าไม่มีอะไร จึงค่อยกลับมาซื้อใหม่
อย่าลืมว่างบการเงินเป็นแค่ส่วนหนึ่งของการวิเคราะห์หุ้น งบการเงินบอกสิ่งที่ผ่านมาแล้ว แต่ตลาดหุ้นมองไปในอนาคต ไม่ใช่อดีต ดังนั้นการลงทุนให้ประสบความสำเร็จ จำเป็นต้องมีความรู้มากกว่าการดูงบการเงินง่ายๆ ไม่กี่บรรทัด
บิงโกมีคอร์สสอนลงทุนที่จะคุณอาจสนใจ คอร์สนี้จะสอนคุณทุกเรื่องที่ต้องรู้ในการลงทุน โดยออกแบบให้เหมือน “นักลงทุนระดับโลกมาสอนคุณเอง” เรียบจบลงทุนจริงได้เลย และจะร่นเวลาให้คุณลงทุนได้เก่งกาจอย่างรวดเร็ว
จะไปหางบการเงินจากที่ไหน
คุณสามารถหางบการเงินของหุ้นไทยได้ทางนี้เลยครับ
- set.or.th เป็นเว็บทางการของตลาดหุ้นไทย เขาจะรวบรวมงบการเงินทุกบริษัทในตลาดหุ้นไว้ แต่โดยส่วนตัวผมคิดว่าใช้งานยาก
- th.investing.com เป็นเว็บไซต์สำหรับนักลงทุนทั่วโลก นอกจากหุ้นไทยแล้วคุณยังดูงบการเงินหุ้นต่างประเทศ ราคาน้ำมัน และการลงทุนอื่นๆ ได้แทบทุกชนิด (คนที่สนใจลงทุนหุ้นต่างประเทศ ศึกษาได้ทางนี้ครับ)
คนที่กำลังเรียนรู้เรื่องการลงทุน ลองอ่านวิธีลงทุน 4 สไตล์ในโลกเพื่อหาแนวทางที่เหมาะกับตัวเอง
นอกจากนี้ คุณยังสามารถเข้าไปดูคอร์สลงทุนดีๆ ของบิงโก ซึ่งรวบรวมวิธีลงทุนของ “นักลงทุนระดับโลก” มาให้คุณทั้งหมดโดยสมบูรณ์ (สอนตัั้งแต่พื้นฐานจนลงทุนเก่ง)
เริ่มต้นลงทุนหุ้นต่างประเทศเพื่อโอกาสที่ดีกว่า
การลงทุนหุ้นคือการซื้อธุรกิจที่ยอดเยี่ยม ดังนั้นหุ้นที่ดีจะอยู่ในเศรษฐกิจที่มีการเจริญเติบโต มีนวัตกรรม และมี dynamics สูง
แต่ปัจจุบันเศรษฐกิจไทยเติบโตช้าลงมาก คนไทยเกิดน้อยลง สังคมกำลังจะกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุ ใครที่มีความรู้เรื่องเศรษฐกิจจะพอรู้ว่า “มืดมน” นักลงทุนไทยจำนวนมาก โดยเฉพาะเซียนหุ้นที่เข้าใจเรื่องนี้ จึงเริ่มเลี่ยงไปลงทุนต่างประเทศกันมากขึ้น
ถ้าคุณอยากหาโอกาสที่ดีที่สุดให้ตัวเอง คุณเองก็อาจศึกษาการลงทุนต่างประเทศมากขึ้น แล้วคุณจะพบว่าโอกาสดีๆ มีอยู่มากจริงๆ ผมมีบทความสอนวิธีลงทุนหุ้นอเมริกา หุ้นต่างประเทศให้คุณแล้ว (คุณจะได้หุ้นฟรีมูลค่าสูงสุด $1000 ด้วย)
ไม่ใช่แค่ดูงบการเงินแล้ววิเคราะห์หุ้นได้
อยากเลือกหุ้นถูกตัว วิเคราะห์ธุรกิจได้เฉียบขาด?
ท้ายที่สุด งบการเงินก็เป็นแค่ส่วนหนึ่งของการวิเคราะห์หุ้น การลงทุนให้ประสบความสำเร็จ จำเป็นต้องมีความรู้มากกว่าการดูงบการเงินง่ายๆ ไม่กี่บรรทัด
บิงโกมีคอร์สสอนลงทุนที่คุณอาจจะสนใจ คอร์สนี้จะสอนคุณทุกเรื่องที่ต้องรู้ในการลงทุน ทั้งงบการเงิน การวิเคราะห์ธุรกิจ กลยุทธ์การลงทุน และวิธีมองภาพเศรษฐกิจ โดยออกแบบให้เหมือน “นักลงทุนระดับโลกมาสอนคุณเอง” เรียบจบลงทุนจริงได้เลย และจะร่นเวลาให้คุณลงทุนได้เก่งกาจอย่างรวดเร็ว
เขียนได้ดีมาก งบการเงินเป็นพื้นฐานของธุรกิจทุกชนิด ^^