ชีวิตดีสร้างไม่ยาก แค่เริ่มจากวิชาการเงิน 101
มีพี่น้อง เพื่อน และคนรู้จักหลายคนมากเลยที่เคยถามผมว่า “เริ่มต้นลงทุนอะไรดี?”
พอได้คุยกันเยอะขึ้น ผมก็เข้าใจมากขึ้นทันทีว่า “ทุกคนฝันอยากมีชีวิตที่ดีครับ” เราไม่อยากลำบากตอนแก่ มีกินมีใช้ไปเรื่อยๆ ได้ทำอะไรตามฝัน และถ้ายิ่งมีเงินเหลือมากกว่านั้นได้ ก็ยิ่งดี
แต่การจะตอบว่า “เริ่มต้นลงทุนอะไรดี?” ให้ทุกคนนั้น คงไม่เหมาะนัก เพราะโลกแห่งการลงทุนมีตัวเลือกเยอะมากครับ ซึ่งผมเชื่อว่าทุกคนควรค้นหาให้เจอว่าตัวเองเหมาะสมกับอะไรมากที่สุด จะดีกว่า
ดังนั้นผมขอเริ่มจากเรื่องพื้นฐานที่สุดก่อน นั่นคือ เราต้องรู้จัก “เงิน” ให้มากขึ้น มาไล่ลำดับไปพร้อมกันดีกว่าว่า บทเรียนแรกของวิชาการเงิน 101 เริ่มต้นจากอะไร?
———————————————————————————
สรุปย่อเลือกอ่านตามใจ
- ทำไมต้องรู้จักเรื่อง “เงิน”
- สร้างอิสรภาพทางการเงิน
- คาถาการเงินสร้างชีวิตที่ดี
- บริหารหนี้สิน
- เริ่มต้นลงทุน
- ตัวเลือกการลงทุน
- วิธีลงทุนในหุ้น
———————————————————————————
ทำไมต้องรู้จักเรื่องเงิน
เงินนั้นมหัศจรรย์กว่าที่คิด เงินสามารถบันดาลสุขให้เราได้ ถ้าเราร่ายคาถาที่ถูกต้อง แล้วเงินก็ลงโทษเราได้ แค่เราท่องคาถาพลาดแค่นิดเดียว
ไม่นานมานี้ ผลสำรวจเรื่องการออมของคนไทยระบุว่า คนไทย 80% มีเงินในบัญชีไม่ถึง 50,000 บาท น่าตกใจมากครับ แต่ก็ต้องกัดฟันยอมรับว่านี่คือความจริงที่โคตรเจ็บปวดเลย
ทั้งที่ตอนนี้เราเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุกันแล้ว คนไทยส่วนใหญ่กลับไม่พร้อมเกษียณ ยังต้องทำงานหาเงิน ยังต้องพึ่งพาลูกหลานอยู่เลย อย่างผมเองก็มีเพื่อนหลายคนที่เป็น “เดอะ แบก” คอยหาเงินมาดูแลทุกคนในครอบครัว
ผลสำรวจนี้ยังแปลได้ว่ากลุ่มคนทำงานเองก็ย่ำแย่ ไม่มีเงินเก็บ ไม่มีเงินสำรองยามฉุกเฉิน เงินเดือนเข้าปุ๊บจ่ายหนี้ก็แทบเกลี้ยง ใช้ชนเดือนไปเรื่อยๆ เราจึงได้อ่านมุกตลกร้ายเรื่องเงินเดือนว่อนไปทั่วโซเชียลมีเดียจนชินตา
ดังนั้นถ้าเราอยากขยับฐานะการเงินให้ดีขึ้น “ก็ฉันอยากรวยกว่านี้อะ” เราต้องเสริมความรู้พื้นฐานเรื่องการเงินให้แน่นขึ้น เจอรูรั่ว เราจะได้อุดเป็น เจอโอกาส เราจะได้คว้าหมับติดมือ หรือเจอวิกฤต เราจะได้เตรียมตัวไม่ให้เสียหายมากไปกว่านี้นั่นเอง
มุ่งสู่ความฝันอิสรภาพทางการเงิน
คุณอยากมีเงิน 30,000 บาทใช้ไปเรื่อยๆ ทุกเดือนโดยไม่ต้องทำงานไหมครับ?
ผมเชื่อว่านี่คือชีวิตในฝันเชียวล่ะ จะดีแค่ไหนกันนะถ้าเราไม่ต้องเหนื่อยและเครียดกับการทำงาน แล้วยังมีเงินใช้สบายๆ
เรื่องนี้ไม่ใช่ความฝันหรอกครับ ทุกคนสามารถสร้างอิสรภาพทางการเงินได้จริงๆ เพียงแต่มันต้องการความรู้ด้านการเงินหลายอย่างมาประกอบเข้าด้วยกัน
เริ่มจากคุณต้องรู้จักหาเงิน จัดสรรปันส่วนเงินเดือน เก็บออม บริหารภาษี คำนวณเปอร์เซ็นต์ ลงทุน ฯลฯ ซึ่งถ้าจะให้ผมสรุปทุกอย่างให้เข้าใจง่ายที่สุด ผมขอเรียกมันว่า “คาถาการเงิน”
ร่ายคาถาการเงิน
จงท่องคาถานี้ให้ขึ้นใจว่า “บริหารรายรับ ปรับลดรายจ่าย กระจายลงทุน”
จำง่ายๆ แค่ 3 อย่างพอ ให้นึกภาพตัวเองกำลังยกไม้กายสิทธิ์ขึ้นมาหมุนเป็นวงกลมจากจุดแรก “บริหารรายรับ” ไปจุดที่สอง “ปรับลดรายจ่าย” ไปจุดที่สาม “กระจายลงทุน” แล้วทำซ้ำๆ แบบนี้ไปเรื่อยๆ
นี่คือคาถาการเงินที่จะบันดาลชีวิตที่ดีให้กับคุณ
เจาะลึกคาถาการเงิน
ถึงเวลาเจาะลึกกันแล้วว่าแต่ละท่อนของคาถานี้ เราต้องทำอย่างไรกันบ้าง?
บริหารรายรับ
เมื่อทำงานได้เงิน สิ่งแรกที่ควรทำคือ จัดสรรปันส่วนรายรับเพื่อใช้จ่ายตามความต้องการในชีวิต
ผมจะแบ่งรายจ่ายทั้งหมดออกเป็น 3 ส่วนด้วยกันคือ
- ค่าใช้จ่ายจำเป็น
- ค่าใช้จ่ายตามต้องการ
- ค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุน
ค่าใช้จ่ายจำเป็น คือ ข้าวของที่ถ้าไม่จ่าย ตายแน่ๆ เช่น อาหาร น้ำ ไฟ ค่าเช่าบ้าน ฯลฯ
จำง่ายๆ ว่า จ่ายเพื่อมีชีวิต (เราต้องรอด!)
ค่าใช้จ่ายตามต้องการ คือ ข้าวของที่จ่ายเพื่อใช้ชีวิตในแบบของเรา เช่น หนังสือ ภาพยนตร์ มื้อพิเศษ โทรศัพท์รุ่นใหม่ รถยนต์ ฯลฯ
จำง่ายๆ ว่า จ่ายเพื่อสร้างความสุข
อย่าลืมว่า ถ้าสร้างความสุขเยอะไป นั่นแปลว่าเกินตัวและคุณอาจอยู่ไม่รอด!!
ค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุน คือ สิ่งที่เราจ่ายเพื่อต่อยอดให้ตัวเองมีอนาคตที่ดี เช่น คอร์สอบรม ทองคำ กองทุน หุ้น คริปโต ฯลฯ
จำง่ายๆ ว่า จ่ายเพื่อสร้างอนาคต
ปรับลดรายจ่าย
แบ่งเงินเสร็จแล้ว ถ้าคุณรู้สึกได้ทันทีว่า “จ่ายเงินส่วนนี้แพงจัง ทำไงดี” คุณเก่งมากครับ คุณเรียนรู้คาถาการเงินได้ไวมากทีเดียว
เมื่อได้นั่งทบทวนว่า ที่จ่ายไปมีตรงไหนลดได้บ้างไหม? แล้วเราทำสำเร็จ เราจะเหลือเงินเพิ่มขึ้นทันที โดยไม่ต้องทำอะไรเลย เมื่อเงินเหลือ คุณจะเอาไปซื้อความสุขหรือลงทุนเพิ่มก็ทำได้ตามใจ
วิธีปรับลดรายจ่ายมีหลายวิธีมากครับ เริ่มตั้งแต่วิธีง่ายๆ เช่น ต่อรองโปรโมชั่นค่ายมือถือ จะยอมจ่ายแพงทำไมจริงไหมครับ? หาวิธีประหยัดค่ากาแฟ เลือกเมล็ดที่ชอบไม่ต้องง้อร้านดัง ไปจนถึงวิธีที่มีรายละเอียดมากขึ้น เช่น การเลือกซื้อประกันสุขภาพ เผื่อไว้ยามเจ็บป่วย จะได้ไม่เสียเงินก้อน หรือวางแผนภาษี เพื่อลดภาษีที่ต้องจ่ายในแต่ละปี
กระจายลงทุน
คาถาท่อนสุดท้ายนี้มี 2 คำประกอบกัน นั่นคือ กระจาย+ลงทุน
ลงทุนอย่างเดียวไม่ได้เหรอ? ทำไมต้องกระจายด้วย ฟังดูเยอะ แค่หาวิธีต่อยอดเงินให้เพิ่มขึ้นก็ยากแล้ว
คำตอบคือ ไม่ได้ครับ เพราะการกระจายจะช่วยให้คุณ “เสี่ยง” น้อยลง
สมมุติว่าคุณไปซื้อผลไม้ที่ตลาด คุณเฟ้นหาร้านที่ดีที่สุดและราคาดีที่สุดเจอ คุณเลยใช้เงิน 100 บาทที่มีทั้งหมด ซื้อมะม่วงมากิน
พอถึงบ้าน คุณกลับพบว่ามะม่วงที่ได้มา มันเสียไปเกินครึ่ง กินไม่ได้เลย แถมลูกที่กินได้ยังโคตรเปรี้ยวอีก นี่คือสิ่งเลวร้ายที่สุดที่คุณอาจได้เจอในโลกแห่งการลงทุนถ้าคุณไม่รู้จักกระจายความเสี่ยงครับ
เราแบ่งเงินมาลงทุนเพื่อสร้างอนาคตที่ดี แต่ถ้าเราไม่รู้จัก “กระจาย” ความเสี่ยง เงินลงทุนที่เก็บไว้ก็อาจร่อยหรอมากกว่าจะได้เพิ่ม
แต่ถ้าคุณกระจายซื้อทั้งหุ้น ทองคำ คริปโต ถึงวันหนึ่งตลาดคริปโตจะแตกกระจาย คุณก็ยังมีหุ้นกับทองคำไว้ ใช่ไหมครับ?
ท่องคาถาต้องมีเป้าหมาย
ลืมคาถาการเงินหรือยังครับ?
ทวนกันอีกรอบ ยกไม้กายสิทธิ์ขึ้นมาหมุนเป็นวงกลมจากจุดแรก “บริหารรายรับ” ไปจุดที่สอง “ปรับลดรายจ่าย” ไปจุดที่สาม “กระจายลงทุน”
แต่ถึงคุณจะจำคาถาได้ขึ้นใจ แต่ถ้าท่องมั่วๆ ไร้จุดหมาย คาถาวิเศษนั้นก็คงด้อยประสิทธิภาพลงไปถนัดตา
ลองนึกภาพคุณกำลังขับรถ แต่ไม่รู้จะไปที่ไหน นั่นแปลว่าคุณจะเลี้ยวซ้ายขวามั่วไปหมด จบวันจะไปโผล่ที่ไหนก็ไม่รู้
แต่ถ้าคุณมี “เป้าหมาย” เช่น ขับรถไปดูทะเลที่บางแสน คุณจะวางแผนการเดินทางได้หลากหลายมาก เช่น จะทำเวลาให้เร็วที่สุด ไม่แวะที่ไหนเลย ก็ซิ่งขึ้นทางด่วนยาวไป หรืออยากแวะชมวิวก่อน ไม่รีบ คุณก็จะปักหมุดสถานที่ท่องเที่ยวข้างทางไว้เพิ่มเติม
เมื่อมีเป้าหมาย วิธีไปสู่เป้าหมายนั้นจะค่อยๆ ปรากฏขึ้นมา
เมื่อมีเป้าหมายทางการเงิน คุณจะรู้ว่าควรหาเงินเท่าไหร่ เก็บแบบไหน และจะไปลงทุนกับอะไรดี เพื่อสร้างชีวิตที่ดีในแบบที่คุณต้องการ
บริหารหนี้สิน
ผมเข้าใจดีว่าทุกคนมีความจำเป็นและความรับผิดชอบแตกต่างกัน เราเลยมีหนี้สินมากน้อยไม่เท่ากันเป็นธรรมดา
ผมมีเพื่อนคนหนึ่งซึ่งที่บ้านมีฐานะกลางๆ ค่อนไปทางดีและดูมั่นคง แต่พอเสียคุณพ่อที่เป็นเสาหลักไป ทุกอย่างก็ไม่เหมือนเดิม เพราะทั้งบ้านมีคุณพ่อทำงานหาเงินอยู่คนเดียว จากนั้นทุกคนก็ต้องพยายามหนักมาก หนี้สินรายเดือนที่เคยจ่ายตรงเสมอด้วยเงินเดือนของคุณพ่อ ก็เริ่มจ่ายไม่ตรงอีกต่อไป
หนี้สินจึงเป็นอีกหนึ่งปัญหาใหญ่และสำคัญด้านการเงินของคนอีกมากมาย ถ้าไม่รู้วิธีแก้หรือเผลอปล่อยปะละเลย คุณจะต้องอยู่ในวังวนหนี้สินไปอีกแสนนาน
หนี้สินหลักๆ ของคนส่วนใหญ่มักหนีไม่พ้นบ้าน รถ การศึกษา และบัตรเครดิต ซึ่งหนี้แต่ละชนิดต่างก็มีรายละเอียดและทางลัดในการจัดการแตกต่างกันไปด้วย
- หนี้บ้านเป็นดอกเบี้ยแบบลดต้นลดดอก ยิ่งโป๊ะ ยิ่งจบเร็ว เสียดอกน้อย หนี้บ้านมักเป็นหนี้ระยะยาวเป็นสิบปี เราจึงต้องมีเทคนิคร่นเวลาผ่อนให้ตัวเองปลดหนี้ก้อนนี้ให้ไวกว่าเดิม
- หนี้รถเป็นดอกเบี้ยแบบคงที่ โป๊ะไปก็ไม่ช่วยอะไร ยกเว้นปิดยอดเร็ว คุณอาจได้ดอกเบี้ยบางส่วนเป็นเงินสดกลับคืนมา
- หนี้การศึกษาถือเป็นหนี้ดี เพราะดอกเบี้ยต่ำมากและยังช่วยให้เรามีโอกาสในชีวิตที่ดีขึ้นในอนาคต ใช่ครับ หนี้มีทั้งแบบดีและเลว ซึ่งคนส่วนใหญ่มักโดนหนี้เลวกดทับจนแทบกระดิกตัวไม่ได้เลย
- หนี้บัตรเครดิตเป็นหนี้ที่อันตรายที่สุด เพราะดอกเบี้ยวิ่งไวราวกับจรวด แต่ถ้าเรารู้จักบริหารเงินให้เป็น เราจะรีดประโยชน์จากบัตรเครดิตออกมาได้เยอะมากและยังช่วยให้เงินสดในมือเรามีสภาพคล่องที่ดีด้วย
เริ่มต้นลงทุน
ขอต้อนรับสู่โลกแห่งการลงทุนครับ!
อ่านมาถึงตอนนี้ หลายคนคงเริ่มอยากมองหาช่องทางเริ่มต้นลงทุนเพื่อลับฝีมือกันแล้ว แต่ก่อนอื่นเรามาตอบคำถามสุดคลาสสิกที่ว่า “ต้องมีเงินเท่าไหร่ถึงลงทุนได้?”
เริ่มต้นลงทุนด้วยเงิน 1,000 บาท
ทุกวันนี้เราลงทุนได้ง่ายขึ้นมากและแทบไม่จำกัดกันด้วยว่าจะต้องเริ่มด้วยเงินก้อนใหญ่เป็นหมื่นเป็นแสนอีกต่อไป
แค่มี 1,000 บาท คุณก็เริ่มลงทุนได้ทันที อย่าด้อยค่าพลังของความสม่ำเสมอนะครับ ถ้าวินัยคุณดี ลงทุนทุกเดือนต่อเนื่องไปเรื่อยๆ ผลลัพธ์ที่ได้ในอีก 5 ปี 10 ปี ย่อมคุ้มค่ากับความพยายามนี้แน่นอน
แบ่งพอร์ทการลงทุน
คาถาการเงินท่อนสุดท้าย “กระจายลงทุน” ได้อธิบายไว้ชัดเจนแล้วว่า การกระจายลงทุนจะรับมือกับความเสี่ยงได้ดี
พอร์ทการลงทุนของเราก็เช่นกัน เราไม่ควรเทหมดหน้าตักไปกับหุ้น A หรือทองคำ เพราะถ้าเกิดปัญหาอะไรขึ้นมา นั่นแปลว่าเราแทบไม่มีทางหนีทีไล่ให้ตัวเองเลย การเทหมดหน้าตักเพื่อหวังกำไรก้อนใหญ่จึงน่าจะเป็นวิถีของ “นักพนัน” มากกว่า “นักลงทุน”
วิธีแบ่งพอร์ทที่เหมาะสมจึงขึ้นอยู่กับ “เป้าหมายทางการเงิน” และ “ความเสี่ยง” ซึ่งแต่ละคนก็มีแตกต่างกันไป
ตัวอย่างเช่น นายเศรษฐีจัดพอร์ทส่วนตัวคือ 50% เป็นหุ้น 20% เป็นกองทุนรวม 15% เป็นทองคำ 10% เป็นสลากออมสิน 5% เป็นคริปโต
นายเศรษฐีมีพอร์ทเป็นหุ้นถึง 70% ถึงแม้ในนั้นจะเป็นกองทุนรวมก็ตาม แล้วเขาก็กระจายไปที่สินทรัพย์ความเสี่ยงต่ำอย่างทองคำและสลากออมสินรวม 25% เขาซื้อสลากออมสินไว้เพราะอย่างน้อยขอลุ้นโชคให้ถูกรางวัลใหญ่บ้างก็ตื่นเต้นดี สุดท้ายก็ยังแบ่งพอร์ทส่วนน้อยไว้ 5% เพื่อซื้อคริปโต ซึ่งเขาอยากเว้นพื้นที่ให้ตัวเองได้ศึกษาสินทรัพย์ประเภทนี้บ้าง ถึงจะผันผวนสูงก็ยังไม่กระทบกับพอร์ทเขามากนักนั่นเอง
หาพาร์ทเนอร์คู่ใจ เปิดพอร์ทหุ้น
ก่อนคุณจะซื้อขายหุ้นได้ คุณต้องมีพาร์ทเนอร์คู่ใจคอยทำหน้าที่นี้แทน นั่นคือ “โบรกเกอร์” เสียก่อน
โบรกเกอร์มีให้เลือกมากมายหลายเจ้า คุณสามารถเลือกได้จากในเว็บไซต์ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ได้เลย วิธีเริ่มง่ายๆ ก็แค่ลองเลือกจากเจ้าที่ไม่คิดค่าธรรมเนียมขั้นต่ำก็ได้ครับ ลองเข้าไปดูโบรกเกอร์เจ้าต่างๆ ได้ที่นี่เลยครับ
เมื่อเปิดบัญชีซื้อขายหุ้นแล้ว ก็เลือกซื้อได้หลายช่องทางไม่ว่าจะเป็น
- ผ่านแอปพลิเคชันมือถือ เช่น ผมเองใช้ Streaming ครับ โหลดลงเครื่องแล้วเริ่มซื้อหุ้นกันได้เลย ใครใช้ไอโฟนโหลดที่นี่ ส่วนใครใช้แอนดรอยด์โหลดที่นี่ครับ
- ผ่านคอมพิวเตอร์ เจ้าแอป Streaming ก็มีเวอร์ชันคอมพิวเตอร์ด้วย โหลดที่นี่ครับ
- ผ่านเว็บไซต์ของโบรกเกอร์โดยตรง ใครเลือกเจ้าไหนก็เข้าของเจ้านั้นได้เลย
ตัวเลือกการลงทุน
เราเตรียมเงินลงทุน มีพาร์ทเนอร์ และแบ่งพอร์ทตามปัจจัยที่มีไว้เรียบร้อย อันดับถัดไปคือ การเลือกสินทรัพย์ต่างๆ นั่นเอง
สถานการณ์ตอนนี้ผมเปรียบเทียบง่ายๆ ก็เหมือนกับคุณมีเงิน 1,000 บาทไปเดินตลาด เพื่อเตรียมทำมื้อเย็นแสนอร่อยให้ครอบครัว คุณต้องเลือกซื้อข้าวของต่างๆ ให้ครบ เนื้อสัตว์จะเลือกเจ้าไหนดีนะ? แล้วผักล่ะ? เครื่องปรุงอีก?
ถ้าเปรียบหุ้นเป็นเนื้อสัตว์ คุณจะพบว่าในตลาดมีเนื้อสัตว์ให้เลือกเยอะมาก หมู ไก่ กุ้ง ปลา หรือวัวเต็มไปหมด ต่อให้คุณเลือกได้แล้วว่าจะซื้อหมู ก็ยังมีหมูหลายส่วนให้เลือกแถมยังมีหลายเจ้าที่ขายด้วย ไม่ต่างอะไรกับตอนที่คุณเลือกซื้อหุ้นในกลุ่มอุตสาหกรรมหนึ่ง เช่น ก่อสร้าง เพราะในกลุ่มนี้ก็ยังมีหุ้นบริษัทต่างๆ ให้คุณได้เลือกอีกตั้งมากมาย
ดังนั้นคุณจะเลือกตัดสินใจซื้อได้ก็ต่อเมื่อคุณรู้ว่าข้าวของแต่ละอย่างมีดีมีเสียแตกต่างกันอย่างไร? จากนี้ไปคือ ลิสต์รายการสินทรัพย์ประเภทต่างๆ ในโลกแห่งการลงทุน พร้อมกับสรุปข้อดีและเสียแบบรวบรัดที่สุดให้คุณเข้าใจง่ายในเวลาเพียงไม่กี่นาที
บัญชีเงินฝากและสลากออมสิน
สินทรัพย์แรกอันเป็นพื้นฐานที่สุดที่หลายคนรู้จักกันมาตั้งแต่เด็กก็คือ เปิดบัญชีกับธนาคารแล้วก็เอาเงินไปฝากไว้ สมัยผมยังเป็นเด็ก เคยมีเจ้าหน้าที่ธนาคารออมสินมาหาที่โรงเรียนแล้วชวนให้เด็กๆ นำเงินไปฝากกันด้วย
สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ธนาคารจะรับดูแลเงินของเราให้ แล้วเราก็จะได้ดอกเบี้ยเป็นข้อแลกเปลี่ยนกลับมา เพียงแต่สมัยนี้ดอกเบี้ยที่จะได้รับนั้นต่ำมากๆ 1% ยังแทบไม่ถึงเลย
สรุปง่ายๆ ว่า สินทรัพย์ประเภทแรกนี้เหมาะสำหรับพักเงินแค่ชั่วคราว รอเวลาให้เราเอาไปใช้ต่อนั่นเอง
ส่วนสลากออมสินนั้นก็ไม่ต่างกันนัก เราเอาเงินให้ธนาคารเหมือนเดิม ได้ดอกเบี้ยน้อยลงกว่าบัญชีเงินฝากสักนิดหน่อย แต่ที่เพิ่มเติมคือ คุณจะได้ลุ้นรางวัลใหญ่ทุกเดือนคล้ายๆ กับการซื้อหวย ถ้าใครดวงการเงินแรง นั่นแปลว่าคุณมีโอกาสถูกรางวัลใหญ่ได้ทุกเดือน สายมูต้องชอบสิ่งนี้แน่นอน
แต่ข้อเสียของสลากออมสินคือ ถ้าคุณอยากการันตีการถูกรางวัลเล็กในทุกงวด คุณต้องซื้อเยอะมากเป็นหลัก 500,000 บาท แล้วถ้าคุณถือครองมันไว้ไม่ครบกำหนดอายุ เช่น 3 ปี คุณจะถอนเงินกลับคืนมาได้ไม่เต็มจำนวนที่ซื้อไป
สรุปง่ายๆ ว่าสภาพคล่องไม่ดีเอาเสียเลยและยังพึ่งพาดวงมากจนเกินไป แต่สำหรับคนที่ไม่พร้อมรับความเสี่ยงใดๆ เลยแม้แต่นิดเดียว สินทรัพย์ประเภทแรกนี้มีความเสี่ยงต่ำมากที่สุดแล้ว ความเสี่ยงเดียวที่จะเจอคือ ธนาคารที่คุณวางใจนั้นเจ๊งนั่นเอง
ตราสารหนี้ พันธบัตร หุ้นกู้
ต่อไปคือสินทรัพย์ที่คุณจะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นมาอีกนิด แต่ก็ยังไม่มากจนน่ากังวล อธิบายง่ายที่สุดคือ คุณกำลังจะเปลี่ยนตัวเองให้เป็น “เจ้าหนี้” โดยให้ “รัฐบาลหรือเอกชน” กู้เงินของคุณไป แล้วตอบแทนเป็นเงินพร้อมกับดอกเบี้ยกลับมา
ถ้าคุณมีเงินเหลือเฟือ แล้วให้เพื่อนหรือคนรู้จักยืมพร้อมคิดดอกเบี้ย นี่คือวิธีเพิ่มเงินที่คุณมีให้งอกเงยอย่างง่ายดายที่สุด สมมุติว่าคุณให้เพื่อนยืม 100,000 บาท คิดดอกเบี้ย 3% นั่นแปลว่าตอนที่เพื่อนคืนเงินตามสัญญา คุณจะมีเงินเพิ่มทันที 3,000 บาทโดยไม่ต้องยุ่งยากอะไรเลย
แต่ปัญหาคือคุณจะไว้ใจได้เหรอว่าเขาจะคืนเงินคุณ จะดีกว่าไหมถ้าเปลี่ยนเป็นให้รัฐบาลหรือบริษัทดังๆ ยืมแทน น่าเชื่อถือกว่าเป็นกอง
นี่คือสินทรัพย์ที่เรียกว่า “ตราสารหนี้” อ้าว…แล้วเจ้าหุ้นกู้หรือพันธบัตรเกี่ยวอะไรด้วย? มันก็เป็นชื่อเรียกให้เข้าใจง่ายๆ ว่าใครเป็นหนี้เราครับ
- ถ้าลูกหนี้ของเราเป็นรัฐบาล เราเรียกมันว่า “พันธบัตร”
- ถ้าลูกหนี้ของเราเป็นบริษัทเอกชน เราเรียกมันว่า “หุ้นกู้”
สรุปง่ายๆ ว่าสินทรัพย์ตัวนี้มีความเสี่ยงต่ำ ได้ผลตอบแทนประมาณหนึ่ง ถ้าเป็นพันธบัตรจะได้ดอกเบี้ยต่ำกว่าหุ้นกู้ เพราะบริษัทเอกชนมีความเสี่ยงกว่ารัฐ ก็ต้องให้ดอกเบี้ยดีกว่าเพื่อจูงใจแทน ข้อดีอย่างเรื่องคือ เรารู้ผลตอบแทนของตราสารหนี้ตั้งแต่ก่อนซื้อได้เป๊ะมาก เพราะมีอัตราดอกเบี้ยและระยะเวลาชัดเจน เช่น หุ้นกู้บริษัท A อายุ 3 ปี ดอกเบี้ย 5% เป็นต้น
ทองคำ
สินทรัพย์ประเภทนี้มีอีกชื่อเรียกเก๋ๆ ว่า Safe Haven หรือแหล่งพักเงินอันปลอดภัย ทองคำสามารถแลกเปลี่ยนเป็นสกุลเงินไหนก็ได้ในโลก และเมื่อใดก็ตามที่โลกเกิดปัญหา เช่น วิกฤตการเงิน สงครามการค้า หรือสงครามระหว่างประเทศ ผู้คนก็จะหันมาสนใจทองคำมากขึ้นเสมอ
ยุคนี้เราลงทุนในทองคำได้ง่ายกว่าเดิมมาก สมัยก่อนเราอาจต้องเก็บเงินให้พอซื้อทองสักสลึงหรือบาทในครั้งเดียว แต่ตอนนี้เราสามารถทยอยซื้อผ่านช่องทางต่างๆ ได้ด้วย เช่น ลงทุนซื้อทองเดือนละ 1,000 บาท เมื่อเก็บได้มากพอสำหรับแลกทองคำแท่งตามราคา ณ ตอนนั้น เราก็สามารถไปรับทองคำจากที่ร้านกลับบ้านได้ด้วย
สรุปง่ายๆ ว่าทองคำเป็นสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องสูงมาก ซื้อขายแลกเปลี่ยนได้ในทันที และเป็นที่ต้องการเสมอในยามมีวิกฤต ทองคำจึงเป็นอีกสินทรัพย์หนึ่งที่หลายคนเลือกมีไว้ในพอร์ทเพื่อประกันความเสี่ยงจากการลงทุนนั่นเอง
อสังหาริมทรัพย์
สินทรัพย์ประเภทนี้มีจุดเด่นหนึ่งคือ มันสู้เงินเฟ้อได้ ราคาไม่ค่อยลง ยกเว้นในตอนเกิดวิกฤตจริงๆ ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะที่ดินนั้นมีจำนวนจำกัด งอกใหม่ขึ้นมาไม่ได้ ยกเว้นกรณีคอนโดไว้แล้วกันครับ
ข้อดีอีกอย่างคือ บ้านที่อยู่อาศัยถือเป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ของมนุษย์ มันจึงเป็นสินทรัพย์ที่ผู้คนมองหาอยู่ตลอดเวลา และยังถือเป็นหนึ่งในความฝันของใครอีกหลายคนด้วย
การลงทุนในอสังหาริมทรัพย์นั้นมีวิธีมุ่งหาเงินหลักอยู่ 2 ทางคือ
- กินส่วนต่างราคา ซื้อมา 100 ขาย 120
- ซื้อปล่อยเช่า รับค่าเช่นเป็นรายเดือนหรือปีตามแต่ตกลง
สรุปง่ายๆ ว่าอสังหาริมทรัพย์เป็นหนึ่งในการลงทุนที่มีความเสี่ยงค่อนข้างสูง แต่ก็ได้ผลตอบแทนที่ดี คนที่อยากลงทุนอสังหาจะต้องใช้ทั้งเวลา เงิน และแรงกายด้วย เราต้องเข้าไปดูแลอสังหาของตัวเองอยู่เสมอต่างจากสินทรัพย์แบบอื่น และสุดท้ายอสังหานั้นเป็นสินทรัพย์ที่มีความคล่องต่ำ เรามีคอนโดราคา 1 ล้านบาทในมือก็จริง แต่เวลาอยากขาย เราอาจต้องรอเป็นเดือนเป็นปี ซึ่งจุดนี้แตกต่างจากสินทรัพย์อื่นอย่างสิ้นเชิง
หุ้น
หุ้นคือสินทรัพย์ที่มีเสน่ห์และดึงดูดผู้คนได้มากที่สุด ถ้าต้องคิดว่าจะลงทุนอะไรดี คนส่วนใหญ่ก็มักคิดถึง “หุ้น” ก่อนเป็นอันดับแรกๆ เสมอ เพราะในระยะยาวแล้ว หุ้นเป็นสินทรัพย์ที่มีโอกาสสร้างกำไรได้สูงมากๆ
การซื้อหุ้นนั้นเปรียบเหมือนคุณกำลังแชร์ความเป็นเจ้าของธุรกิจนั้นร่วมกัน ยิ่งมีหุ้นมาก ก็แปลว่ามีความเป็นเจ้าของมาก พอเป็นเจ้าของ คุณก็ต้องร่วมหัวจมท้ายไปกับบริษัทด้วย
ถ้าคุณเลือกลงทุนในหุ้นของบริษัทที่ยังไม่โด่งดังและประสบความสำเร็จมากนัก คุณก็ต้องยอมเสี่ยงไปกับเขา รอดูวันที่บริษัทก้าวไปข้างหน้า แล้วถ้าคุณคิดถูก คุณก็จะได้รับกำไรมากขึ้นยามที่หุ้นตัวนั้นเติบโต ยามมีกำไรก็เป็นสุข ยามขาดทุนก็ต้องยอมกัดฟันเจ็บไปด้วยกัน ยกเว้นแต่วันใดที่คุณมองว่าไปต่อกันไม่ได้แล้ว คุณขายหุ้นทิ้ง นั่นคือจุดจบความสัมพันธ์ที่คุณกับบริษัทมีต่อกัน
กำไรจากหุ้นมาได้ 2 เส้นทางด้วยกันคือ
- ส่วนต่างราคาหุ้น เช่น ซื้อหุ้นมา 10 บาท ถือไว้ 5 ปี ขายได้ 50 บาท
- จ่ายเงินปันผล เช่น ซื้อหุ้นมา 10 บาท หุ้นนั้นนำกำไรมาจ่ายปันผลให้คุณปีละ 0.5 บาท
ในตลาดหุ้นนั้น มีหุ้นให้คุณเลือกเยอะมาก เอาแค่ตลาดหุ้นไทยก็ประมาณ 700 ตัว มีธุรกิจหลากหลายเต็มไปหมด แล้วเมื่อมองออกไปยังตลาดต่างประเทศ นั่นแปลว่าคุณมีหุ้นให้เลือกเป็นหมื่นตัว คุณจึงต้องใช้เวลาค่อยๆ ศึกษาไปเรื่อยๆ ว่าอยากลงทุนกับตลาดหุ้นของประเทศไหน? แล้วจะเลือกซื้อหุ้นกลุ่มไหน? หุ้นของบริษัทอะไร? ถ้าเป็นตลาดหุ้นไทยก็ใกล้ตัว ติดตามข่าวสารง่าย แต่ตลาดหุ้นไทยก็ให้ผลตอบแทนได้ไม่เท่าตลาดหุ้นของประเทศที่เจริญและมีนวัตกรรมใหม่ๆ อย่างจีนหรืออเมริกา
สรุปง่ายๆ ว่าหุ้นเป็นสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูง แต่ก็มอบผลตอบแทนสูงมากตามไปด้วย เราจึงต้องใช้เวลาศึกษาค่อนข้างเยอะ เพราะตัวเลือกหุ้นนั้นมีมากและเส้นทางไปสู่ความสำเร็จก็ไม่ได้ตายตัว โอกาสยังคงเปิดกว้างอยู่เสมอครับ
กองทุนรวม
ถ้าคุณเป็นอีกคนที่ไม่ค่อยมีเวลามากนัก อยากซื้อหุ้นแต่ก็คิดว่ามันวุ่นวาย เลือกไม่ถูก ไม่มั่นใจเลย สินทรัพย์สุดท้ายนี้เหมาะมากครับ เพราะคุณสามารถลงทุนหุ้นได้โดยไม่ต้องซื้อเองเลย
เปรียบเทียบง่ายๆ คือ คุณให้เงินเพื่อนไปลงทุนหุ้นให้แทน โดยเสียค่าจ้างให้เพื่อนไป ถ้าจ้างเพื่อนที่ลงทุนเก่งๆ ทำกำไรได้เยอะ ก็จ่ายค่าตัวแพงหน่อยเท่านั้นเอง แต่คุณต้องยอมรับให้ได้ว่าไม่ว่าจะได้กำไรหรือขาดทุน คุณก็ต้องเสียค่าจ้างอยู่ดี ไม่มีข้อแม้
แต่คุณก็ปิดความเสี่ยงได้ด้วยการเลือกบางอย่างด้วยตัวเอง เช่น เลือกกองทุนที่มีผลงานดีๆ ไว้ก่อน เลือกกองทุนที่ไปลงทุนในหุ้นกลุ่มที่มีอนาคตเติบโตไว เป็นต้น
สรุปง่ายๆ ว่ากองทุนรวมเป็นการลงทุนในหุ้นโดยที่คุณไม่ต้องเลือกเองทั้งหมด คุณไม่ต้องมีเงินเยอะก็สามารถซื้อกองทุนรวมได้ มีโอกาสเข้าถึงหุ้นในกลุ่มต่างๆ ที่ถ้าทำด้วยตัวเองทั้งหมดอาจเสียเวลาศึกษานานมาก เช่น ซื้อกองทุนรวมที่ไปลงทุนหุ้นอเมริกา
ใครอยากรู้เรื่อง “เคล็ดลับเลือกซื้อกองทุน” อ่านเพิ่มเติมได้เลยครับ
ลงทุนต่างประเทศ
ถ้าตัวเลือกการลงทุนด้านบนทั้งหมดยังไม่ตอบโจทย์เลย บางทีคุณอาจต้องลองมองหาโอกาสใหม่ๆ ในต่างประเทศที่ตลาดหุ้นนั้นมีผลตอบแทนที่มากกว่าไทย
ไม่กี่ปีมานี้ เราคุยกันถึงการลงทุนในหุ้นอเมริกา จีน และเวียดนาม เศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้กำลังเติบโต อย่างหุ้นอเมริกานั้นเต็มไปด้วยหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีที่เป็นกลุ่มที่เติบโตได้เร็วมากในรอบหลายปีมานี้ คุณลองนึกถึงแบรนด์ Apple Tesla Microsoft Netflix Amazon ดูสิครับ คนนิยมไปทั่วโลก สินค้าก็ขายดี แล้วหุ้นของบริษัทเหล่านี้จะราคาพุ่งแค่ไหนกัน?
ยุคนี้เราสามารถลงทุนต่างประเทศได้ง่ายขึ้นมาก ใช้แอปซื้อผ่านมือถือได้เลย ผมเองยังเข้าไปกดซื้อหุ้นอเมริกาผ่านแอป Dime ของธนาคารเกียรตินาคินอยู่บ่อยๆ เช่นกัน
ผมบอกไปแล้วว่าหุ้นไทยมีราว 700 ตัว แล้วยิ่งเป็นหุ้นต่างประเทศ ยิ่งมีให้คุณเลือกกว่าหมื่นตัว ไม่แน่ว่าถ้าคุณค่อยๆ เฟ้นหาดีๆ คุณอาจเจอหุ้นเด้งเป็น 10 เท่าจากต่างประเทศเข้าสักวัน
วิธีลงทุนในหุ้น
ในเมื่อหุ้นเป็นสินทรัพย์ทรงเสน่ห์และดึงดูดใจคนได้มากที่สุด ผมจึงขอเจาะลึกวิธีลงทุนหุ้นให้คุณมองเห็นเส้นทางสู่ความสำเร็จทางการเงินให้มากขึ้นปิดท้ายบทเรียนแรกของวิชาการเงิน 101 ของวันนี้
หุ้น 6 ชนิดของปีเตอร์ ลินช์
นักลงทุนระดับตำนานอย่างปีเตอร์ ลินช์ คือผู้จัดการกองทุนที่เก่งที่สุดคนหนึ่งของโลกตลอดระยะเวลา 13 ปีที่เขาดูแลกองทุน ลินช์ทำกำไรได้มากถึง 2700%
ลินช์เขียนหนังสือดีๆ ด้านการลงทุนเอาไว้มากมาย หนึ่งในนั้นคือหนังสือ One Up On Wall Street ซึ่งเขาได้แบ่งประเภทของหุ้นเอาไว้ 6 ชนิดเพื่อให้เรารู้จักจุดเด่น เบื้องหลัง และความแตกต่าง ก่อนจะตัดสินใจซื้อ
หุ้นทั้ง 6 ชนิดที่ปีเตอร์ ลินช์ แบ่งไว้ก็คือ
- หุ้นโตเร็ว – ตรงตามชื่อเลยคือเติบโตไวมาก ซึ่งก็แลกมาด้วยราคาหุ้นที่จะแพงมากและมีความผันผวนสูงด้วย
- หุ้นโตช้า – เคยเป็นกลุ่มธุรกิจที่โตไวมาก่อน แต่ตอนนี้เริ่มไม่โตต่อเท่าไหร่แล้ว มักจ่ายเงินปันผลให้ค่อนข้างมาก
- หุ้นใหญ่มั่นคง – เติบโตไม่เร็ว ค่อยเป็นค่อยไป เป็นกลุ่มธุรกิจที่แข็งแกร่ง
- หุ้นฟื้นตัว – นี่คือกลุ่มรอวันล้ม ยังไม่ตายสนิท แต่อย่าประมาทไป เพราะธุรกิจสามารถฟื้นคืนชีพได้เสมอ
- หุ้นวัฏจักร – มีกำไรขึ้นลงตามกลไลดีมานด์กับซัปพลาย ช่วงไหนของขาด ก็ทำกำไรได้มาก
- หุ้นทรัพย์สินมาก -มีทรัพย์สินบางอย่างซ่อนอยู่ เช่น ที่ดิน เงินสด แต่ราคาหุ้นยังไม่สะท้อนทรัพย์สินนั้น
อ่านบทความฉบับเต็มเรื่องหุ้น 6 ชนิดของปีเตอร์ ลินช์
เลือกสไตล์การลงทุน
เมื่อรู้จักหุ้นต่างๆ มากขึ้นแล้ว ก่อนจะเริ่มซื้อจริง คุณควรมีกลยุทธ์ส่วนตัวเสียก่อน คิดง่ายๆ ว่าถ้าคุณเลือกลงทุนโดยไม่มีกลยุทธ์ ไม่มีหลักคิด มันก็จะเหมือนคุณเดินเข้าตลาดโดยไม่รู้ว่าจะซื้อวัตถุดิบอะไรมาทำอาหารดี อาหารไทย ฝรั่ง ญี่ปุ่น หรือจีน ล้วนมีพื้นฐานวิธีคิดแตกต่างกันไป ถูกไหมครับ
ผมมี 4 สไตล์การลงทุนมาแนะนำ ไม่มีสูตรตายตัวว่าสไตล์ไหนดีกว่ากัน เพราะทุกคนล้วนมีนิสัย ความชอบ และการรับมือกับความเสี่ยงที่แตกต่างกัน แค่เลือกสไตล์ที่คิดว่าเหมาะกับตัวเองที่สุดไว้ก็พอครับ
- ลงทุนด้วยปัจจัยพื้นฐาน (Value Investing: VI) เน้นคิดและวิเคราะห์เพื่อหาซื้อหุ้นที่มีราคาต่ำกว่ามูลค่า เช่น คุณศึกษาหุ้นตัวนี้ปรุโปร่งแล้วพบว่ามันมีมูลค่า 100 บาท แต่ตอนนี้ซื้อขายกันเพียง 50 บาท นั่นแปลว่านี่คือหุ้นที่คุณตามหาครับ
- ลงทุนแนวเทคนิค (Technical) เน้นจับรูปแบบบางอย่างของหุ้น เช่น ถ้ากราฟมารูปทรงแบบนี้ นั่นแปลว่ามันกำลังเตรียมตัวขึ้น ต้องรีบซื้อ
- ลงทุนตาม Story เน้นติดตามข่าวสาร เช่น คุณรู้ข่าวมาว่าบริษัท A กำลังเตรียมแถลงข่าวไปเปิดตัวขายสินค้าที่ต่างประเทศได้สำเร็จ คุณอาจเลือกซื้อหุ้น A ทันทีก่อนที่ข่าวจะดังจนคนหันมาสนใจกันมากขึ้น เพราะเมื่อถึงตอนนั้น ราคาหุ้นก็จะขึ้นไปมากแล้ว
- ลงทุนสไตล์คนขี้เกียจ (Passive Investing) เน้นเลือกซื้อหุ้นที่มีอนาคตที่ดีเป็นอันจบ เช่น ตอนนี้เทรนด์รถยนต์ไฟฟ้า EV กำลังมาแรง คุณเลยเลือกซื้อหุ้นในกลุ่มอุตสาหกรรมนี้ เช่น Tesla หรือบริษัทที่ทำแบตเตอรี หรือเลือกซื้อกองทุนที่ลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมนี้ เป็นต้น
อ่านบทความฉบับเต็มเรื่อง 4 สไตล์การลงทุน
DCA
นี่คือหนึ่งในกลยุทธ์ลงทุนที่คนนิยมทำตามมากที่สุด
DCA ย่อมาจาก Dollar Cost Average มันคือการลงทุนในสินทรัพย์หนึ่งอย่างสม่ำเสมอเท่ากันทุกงวด โดยยังไม่ต้องไปสนใจราคา ณ ตอนนั้น
ตัวอย่าง DCA ที่เห็นภาพตามได้ง่ายที่สุดคือ ทุกวันที่ 2 ของทุกเดือน หลังเงินเดือนออก เคลียร์หนี้สิน และแบ่งค่าใช้จ่ายต่างๆ เรียบร้อย คุณซื้อกองทุนรวมทองคำด้วยเงิน 1,000 บาท แล้วคุณก็ทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ 5 ปี 10 ปี 20 ปี ระหว่างทางถ้าเงินเดือนขึ้น คุณจะเพิ่มเงินลงทุนก็ได้ เดิมเคยซื้อ 1,000 บาทก็เพิ่มเป็น 2,000 บาท
กุญแจสำคัญของ DCA อยู่ที่ความสม่ำเสมอนั่นเอง แล้วเมื่อเวลาผ่านไป คุณจะพบกับพลังมหัศจรรย์ของดอกเบี้ยทบต้นที่เข้ามาเพิ่มเงินในกระเป๋าที่คุณเพียรลงทุนอย่างอดทนนี้เอง
อ่านบทความฉบับเต็มเรื่อง DCA
รวมหนังสือหุ้นดีๆ ที่ควรอ่าน
ว่ากันว่าถ้ามีพื้นฐานที่ดีก่อนจะเริ่มต้นลงทุน เราต้องศึกษาให้มาก แล้วส่วนใหญ่คนเก่งๆ หรือคนที่ประสบความสำเร็จก็มักจะเขียนเล่าเรื่องราวต่างๆ ไว้ในหนังสือ วันนี้ผมมีลิสต์ลายชื่อหนังสือหุ้นดีๆ ให้คุณลองอ่านเพิ่มเติม คัดสรรมาแล้วทั้งไทยเทศ เพื่อให้คุณได้มุมมองครบถ้วนที่สุดไว้ที่นี่ครับ
รวมเว็บไซต์ใช้งานง่ายสำหรับมือใหม่เริ่มต้นลงทุน
ท้ายสุดในโพสต์นี้ ผมได้รวบรวมเว็บไซต์ต่างๆ ไว้เป็นเครื่องมือช่วยเราลงทุน ทั้งอ่านเสริมเติมความรู้ ดูราคาแบบอัปเดทเรียลไทม์ เปรียบเทียบหุ้น หรือค้นหาหุ้นดีๆ จากต่างประเทศ ก็ทำได้หมดเลย
- เริ่มจาก SET แหล่งรวมทุกอย่างเกี่ยวกับตลาดหุ้นไทย
- ถัดมาใครอยากลองท่องไปยังต่างประเทศ Tradingview มีครบหมด จะทองคำ หุ้นอเมริกา บิตคอยน์
- ใครที่อยากศึกษาเรื่องการลงทุนเพิ่มเติม ผมชอบอ่านจาก 2 เจ้านี้ นั่นคือ Finnomena กับ Money Buffalo ครับ