สรุปหนังสือ Blink มองให้ทะลุ ภายใน 2 วินาที

คุณใช้สัญชาติญาณของตัวเองในการตัดสินใจหรือเปล่า? หรือคุณชอบที่จะใคร่ครวญให้ถี่ถ้วนมากกว่า? เหมือนที่เราๆ ท่านๆ ถูกสอนกันมาตลอดว่าต้อง “คิดให้รอบคอบ” ก่อนจะพูดหรือทำอะไร ซึ่งนั่นก็ไม่ใช่เรื่องที่ผิด แต่วันนี้ หนังสือที่แอดหยิบยกขึ้นมาถกกันจะขอคิดต่างสักหน่อย ด้วยชื่อเล่มภาษาไทยว่า “คิดให้น้อยลง แล้วจะเห็นได้ลึกกว่า” หรือ Blink ที่ถูกเขียนขึ้นโดย มัลคอล์ม แกลดเวล นักเขียนที่มีผลงานขึ้นหิ้งมาหลายชิ้นแล้ว รวมทั้ง Outliers, David and Goliath และ The Tipping Point ที่บิงโกเองก็เคยได้สรุปไว้แล้วด้วย

มาเล่มนี้คุณแกลดเวลบอกว่า สมองคนเรานั้นมีกระบวนการทำงานอัตโนมัติอยู่เบื้องหลัง หรือที่เรียกว่า จิตไร้สำนึก (the unconscious) ทำให้เราคัดกรองคลังข้อมูลขนาดใหญ่ในสมอง ผสมผสานข้อมูล แยกรายละเอียด และส่งออกมาเป็นข้อสรุปอย่างรวดเร็ว เร็วถึงขนาดที่ว่า 2 วินาทีแรกก็เพียงพอแล้วสำหรับกระบวนการทั้งหมดนั้น

“Blink เป็นหนังสือที่พูดถึง 2 วินาทีที่ว่า”  ในบทความนี้ คุณผู้อ่านจะได้พบกับประเด็นน่าสนใจใหม่ๆ ดังต่อไปนี้

  1. ผลลัพธ์จากจิตไร้สำนึกให้ผลแม่นยำกว่าตอนที่เรารู้สึกตัว
  2. เราใช้จิตไร้สำนึกบ่อยกว่าที่คิด
  3. แยกข้อมูลที่สำคัญกับไม่สำคัญออกจากกันได้ภายในเสี้ยววินาที
  4. การวิเคราะห์ทางการตลาดไม่ได้ถูกต้องเสมอไป
  5. เพิ่มความแม่นยำใน 2 วินาทีแรกด้วยการออกไปเจอสิ่งใหม่ๆ
malcolm gladwell blink
Malcolm Gladwell (1963-ปัจจุบัน) เป็นนักเขียนชาวแคนาดา (ขอบคุณภาพจาก UCSC News)

ผลลัพธ์จากจิตไร้สำนึกให้ผลแม่นยำกว่าตอนที่เรารู้สึกตัว

คนเรามีกระบวนการตัดสินใจ 2 แบบด้วยกัน คือ แบบรู้สึกตัว และ แบบไม่รู้สึกตัว

  1. แบบรู้สึกตัว

เราจะบันทึกและประมวลผลข้อมูล ชั่งน้ำหนักระหว่างข้อดีกับข้อเสีย แล้วค่อยสรุปออกมาเป็นข้อเท็จจริง วิธีนี้จะค่อนข้างใช้เวลา และในบางสถานการณ์ก็ไม่เหมาะที่จะนำมาใช้เพราะเวลาไม่พอ

  1. แบบไม่รู้สึกตัว (จิตไร้สำนึก)

มนุษย์เราตัดสินใจแบบนี้มาแต่ไหนแต่ไร กระบวนการทั้งหมดเร็วปานสายฟ้าแลบ ด้วยการที่สมองของเราปล่อยให้กระบวนการคิดที่ซับซ้อนตกอยู่กับจิตไร้สำนึก และเลือกหนทางที่ดีที่สุดให้กับเราภายในชั่วพริบตา

 

หลายคนยังคงชอบตัดสินใจแบบรู้สึกตัวมากกว่า และรู้สึกไม่สบายใจเมื่อเผลอใช้จิตไร้สำนึกของตัวเองตัดสินใจอะไรก็ตาม แต่จริงๆ แล้วจิตไร้สำนึกของเรานั้นให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่าตอนที่เรารู้สึกตัวเป็นไหนๆ บอกไปหลายคนอาจจะยังไม่เชื่อ คุณแกลดเวลจึงยกตัวอย่างที่เกิดขึ้นจริงมาให้เราได้ฟังกัน

เหตุเกิดเมื่อรูปปั้นประติมากรรมกรีกโบราณเข้ามาในตลาดขายงานศิลปะ มันเป็นชิ้นงานที่ถูกเก็บรักษาอย่างดี สูง 2 เมตรกว่า ราคาก็ไม่มากไม่น้อย ประมาณ 10 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ พิพิธภัณฑ์ Getty Museum ในรัฐแคลิฟอร์เนียก็ให้ความสนใจเป็นอย่างมาก และต้องการจะซื้อประติมากรรมชิ้นนี้ จึงให้ทีมงานตรวจสอบอย่างละเอียด

หนึ่งในทีมงานที่เป็นนักธรณีวิทยามั่นใจว่า หินที่ถูกใช้นั้นเป็นหินจากสมัยโบราณแน่นอน เพราะพื้นผิวภายนอกของรูปปั้นถูกเคลือบด้วยชั้นบางๆ ของแร่แคลไซต์ที่เกิดขึ้นมาจากการสะสมเป็นร้อยๆ พันๆ ปีบนรูปปั้น การตรวจสอบค้นคว้านั้นยังคงดำเนินต่อไปจนกระทั่ง 14 เดือนให้หลัง ทีมงานของพิพิธภัณฑ์ Getty ก็ได้ข้อสรุปว่าเป็นรูปปั้นกรีกนั้นของแท้แน่นอน และการซื้อขายก็เป็นอันสิ้นสุด

แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปะ Federico Zeri ที่ถูกเชิญให้มาดูรูปปั้น กลับบอกว่ามันเป็นของปลอมในแวบแรกที่ตาเห็น ซึ่งก็เป็นคำตอบที่คล้ายกับของผู้เชี่ยวชาญอีกคนที่บอกว่า รูปปั้นนี่ดูเหมือนเป็นของในสมัยเก่าก็จริง แต่มันขาดเรื่องของจิตวิญญาณ ส่วนนักประวัติศาสตร์ด้านศิลปะคนที่ 3 ก็บอกว่าเขารู้สึกได้ว่า “มันไม่ใช่” ตั้งแต่วินาทีแรก

เมื่อผู้เชี่ยวชาญ 3 คนพูดเป็นเสียงเดียวกัน การตรวจสอบรอบสองจึงเกิดขึ้น แล้วก็จริงอย่างว่า รูปปั้นนั้นเป็นของปลอมที่นักต้มตุ๋นทำขึ้นมาเองในช่วงทศวรรษที่ 1980

ผลงานของทีมงานนักวิเคราะห์ที่ช่วยกันงมมาตลอด 14 เดือนล้มเหลวไม่เป็นท่า ในขณะที่นักประวัติศาสตร์ใช้สัญชาติญาณและลางสังหรณ์เพียงชั่ววินาทีกลับให้คำตอบที่แม่นยำกว่า

the getty blink
ภายในพิพิธภัณฑ์ Getty (ขอบคุณภาพจาก SPFA)

เราใช้จิตไร้สำนึกบ่อยกว่าที่คิด

เราใช้สัญชาติญาณหรือจิตไร้สำนึกอยู่เป็นประจำอยู่แล้ว อย่างเช่น ตอนที่เรารู้สึกชอบใครสักคนทันทีที่เจอ หรือตอนที่นักบอลกองหน้าใช้สัญชาติญาณวิ่งไปตำแหน่งที่สามารถทำประตูได้ แม้แต่นักลงทุนบางคนก็ขายหุ้นเพราะรู้สึกไม่ดีจากอาการปวดหลังก็มี

เหตุการณ์ทั้งหมดที่กล่าวมา เกิดขึ้นจากการทำงานของจิตไร้สำนึก

แต่ถึงอย่างนั้น ผู้คนส่วนใหญ่ก็ยังคงเชื่อข้อเท็จจริงและตัวเลขสถิติมากกว่าความรู้สึกและลางสังหรณ์อยู่ดี คนที่ใช้จิตไร้สำนึกในการตัดสินใจจึงหาเหตุผลมาอธิบายภายหลัง เช่น หลังจบการแข่งขันฟุตบอล ผู้รักษาประตูเซฟไปได้หลายลูกบอกว่าเขา “อยู่ถูกที่ถูกเวลา” มันดูเหมือนเป็นคำอธิบายที่ค่อยเข้าท่าเท่าไหร่ เพราะจริงๆ แล้วเขาทำตามจิตไร้สำนึกของตัวเอง

อีกเรื่องที่คล้ายกันคือ เราทุกคนมีสเปคคนที่ชอบอยู่ในใจ เราจะไปเม้ากับใครก็ได้ว่าคนที่เราจะชอบต้องมีคุณสมบัติอะไรบ้าง แต่เราไม่รู้หรอกว่าจริงๆ แล้วคนที่เราชอบจะตรงสเปคที่ร่ายมาเสียยาวเหยียดจริงๆ ไหม เราแค่รู้ว่าเราชอบเขาเท่านั้นเอง

 

แยกข้อมูลที่สำคัญกับไม่สำคัญออกจากกันได้ภายในเสี้ยววินาที

แม้ว่าความรอบคอบจะส่งผลดีกับเรา แต่บ่อยครั้ง การตัดสินใจก็ไม่ควรขึ้นอยู่กับข้อมูลที่มีในมือทุกชิ้น สู้ใช้ข้อมูลสำคัญๆ จริงๆ ไม่กี่ชิ้นยังจะดีเสียกว่า

สมมติคุณกำลังเฝ้าดูคู่รักคู่หนึ่ง แล้วคุณอยากลองทายว่าคู่รักคู่นี้จะอยู่กันไปตลอดรอดฝั่งไหม คุณจะใช้อะไรตัดสิน? คุณแกลดเวลบอกไม่ต้องคิดมาก ใช้แค่สัญญาณบางอย่างที่คู่รักส่งออกมาก็บอกได้แล้ว อย่างสีหน้าเบื่อหน่ายที่คุณเห็นตอนพวกเขาโต้ตอบกันนั่นก็เป็นสัญญาณอย่างหนึ่งที่บอกว่า น่าจะไม่รอด

แต่ในทางตรงข้าม ถ้าคุณมัวแต่สังเกตสังกา วิเคราะห์ละเอียดยิบในทุกองศา คุณก็จะรู้สึกว่าทายยากขึ้นไปอีก เพราะข้อมูลไม่จำเป็นหลายอย่างบดบังข้อมูลสำคัญ เช่น ตอนที่คุณสังเกตการแต่งกาย รูปร่าง ท่านั่งของพวกเขา คุณก็จะไม่ทันมองว่าพวกเขามีท่าทางเบื่อหน่ายเต็มทน

จะเห็นได้ว่าจิตไร้สำนึกของเราคัดกรองข้อมูลสำคัญเพื่อนำมาใช้ในการตัดสินใจให้เราได้ และคัดได้ดีด้วย เหมือนที่นักวิจัยด้านความสัมพันธ์ของผู้คนรู้ว่าสัญญาณแบบไหน (เช่น สีหน้าเบื่อหน่าย) ที่พวกเขาต้องตั้งใจสังเกตให้ดีในระหว่างที่คู่รักโต้ตอบกัน การตัดสินใจที่ฉับพลันของเรามาจากข้อมูลที่ถูกกลั่นกรองแล้วด้วยจิตไร้สำนึกนี่เอง

contempt blink
สีหน้า สายตา ท่าทาง เป็นสัญญาณที่บอกได้หมดว่าคู่รักจะอยู่กันยืดไหม แต่ก็ขึ้นอยู่กับว่าคุณจะหาสัญญาณพวกนั้นเจอหรือเปล่า (ขอบคุณภาพจาก bladowski)

การวิเคราะห์ทางการตลาดไม่ได้ถูกต้องเสมอไป

ประเด็นของหัวข้อนี้ก็คล้ายๆ ตัวอย่างด้านบนที่บอกว่าการค้นคว้าเนิ่นนานไม่ได้การันตีผลลัพธ์ในแง่บวกให้กับเราเสมอไป หรือในกรณีนี้คือ การวิเคราะห์ทางการตลาดไม่ใช่ตัวบ่งชี้พฤติกรรมผู้บริโภคที่ถูกต้องเสมอไป

ย้อนไปเมื่อทศวรรษที่ 1980 ตอนที่บริษัทโคคาโคล่าทดสอบรสชาติน้ำอัดลมของตัวเองโดยให้ผู้บริโภคลองดื่มน้ำอัดลม 2 แก้ว แล้วให้บอกว่าชอบแก้วไหนมากกว่า โดยผู้ทำการทดลองไม่ได้บอกว่าแก้วไหนคือ Coke แก้วไหนคือ Pepsi

ปรากฏว่าคู่แข่งอย่างเป๊ปซี่ได้คะแนนสูงกว่า (รสชาติดีกว่า) บริษัทโคคาโคล่าจึงหาวิธีแก้ไขด้วยการคิดสูตรน้ำอัดลมขึ้นมาใหม่ ออกมาเป็น New Coke (ชื่ออย่างไม่เป็นทางการ) ที่เกณฑ์ทุกอย่างบ่งบอกว่ายังไงก็จะฮิตติดตลาดแน่นอน

แต่ผลปรากฏออกมาว่า New Coke เป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์ของโค้กที่ห่วยแตกที่สุด

ทำไมการทดสอบรสชาติถึงได้ห่างจากความเป็นจริงมากขนาดนั้น?

คำตอบคือ โค้กลืมว่าลูกค้าของพวกเขาส่วนใหญ่นั่งชิลดูซีรี่ส์และกระดกโค้กไปด้วย ในขณะที่ในการทดสอบนั้น พวกเขาให้ผู้เข้าร่วมนั่งแข็งทื่อ พร้อมกับให้ลิ้มรสด้วยการจิบเพียงอึกเดียว ซึ่งมันผิดไปจากสิ่งแวดล้อมในชีวิตจริง ไม่แน่การทดสอบรสชาติอาจจะให้ผลที่แม่นยำกว่านี้ ถ้าพวกเขาให้ผู้เข้าร่วมได้นั่งชิลบนโซฟาที่บ้านก็เป็นได้

blink new coke
หน้าตาของ New Coke ที่ออกวางขายเมื่อวันที่ 23 เมษายน ปี 1985 ที่จริงโค้กกลับมาผลิต New Coke อีกครั้งเมื่อปี 2019 ในการจับมือกับซีรี่ส์ดัง The Stranger Things (ขอบคุณภาพจาก CBS News)

เพิ่มความแม่นยำใน 2 วินาทีแรก ด้วยการออกไปเจอสิ่งใหม่ๆ

บอกถึงข้อดีของจิตไร้สำนึกกันมาเยอะ แต่หลายคนก็อาจจะยังมีข้อกังขา และคุณแกลดเวลเองก็ยอมรับว่า “จิตไร้สำนึก” นี้ไม่ได้เพอร์เฟคท์เสมอไป แล้วเราจะขัดเกลาจิตไร้สำนึกของเราให้แหลมคมขึ้นได้ยังไง

คุณคิดว่าคนสมัยนี้ยังเหยียดเชื้อชาติกันอยู่ไหม?

นักจิตวิทยาบอกว่าอคติด้านเชื้อชาติเป็นสิ่งที่ฝังอยู่ในจิตใจของมนุษย์ เช่น คนอเมริกันมักจะเชื่อมโยงคำว่า “ขาว” ไปในทางบวกมากกว่าคำว่า “ดำ” และความคิดนี้ก็ไม่ได้เกิดเฉพาะในหมู่คนขาวด้วย แต่คนดำบางคนก็คิดเหมือนกัน

ผู้เชี่ยวชาญบอกว่าปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นมาจากการที่จิตไร้สำนึกเรียนรู้มาจากการสังเกต เช่น ชนชั้นปกครองในอเมริกาล้วนประกอบไปด้วยคนขาว ชาวอเมริกันจึงคิดว่า คนขาว = อำนาจ ไปโดยไม่รู้ตัว

และที่น่าหนักใจที่สุดคือ อคติมันส่งกับพฤติกรรมของเราจริงๆ สีผิว เพศ ส่วนสูง พวกนี้ทำให้ผู้คนตัดสินคนคนหนึ่งได้ง่ายๆ ยกตัวอย่างง่ายๆ ก็ในการรับสมัครงาน

ถ้าคุณไม่อยากตกเป็นเหยื่อของอคติ คุณต้องเปลี่ยนความคิด และวิธีเดียวที่จะช่วยคุณได้คือ คุณต้องออกไปเจอคนใหม่ๆ ไปค้นหาประสบการณ์ชีวิตในรูปแบบใหม่ เช่น ในการทดสอบทางจิตวิทยาครั้งหนึ่ง มีเด็กนักเรียนคนหนึ่งเอาชนะอคติของตัวเองที่มีต่อคนผิวสีได้ชั่วครู่ ด้วยการดูรายการวิ่งแข่งที่ทั้งทีมมีแต่นักกีฬาผิวสีเป็นตัวแทนประเทศอเมริกา ประสบการณ์ที่เขาได้แหกปากร้องเชียร์ให้กับทีมประเทศตัวเอง ส่งผลให้อคติที่เขามีต่อนักกีฬาผิวสีอ่อนด้อยลงไป

 

บทสรุปของหนังสือ Blink

สมองคนเราสามารถตัดสินใจได้ภายในระยะเวลาเพียงเสี้ยววินาที และส่วนใหญ่การตัดสินใจอย่างเฉียบพลันพวกนี้จะให้ผลลัพธ์ที่แม่นยำกว่าตอนที่คุณมัวแต่ห่วงหน้าพะวงหลังกับข้อมูลที่ล้นมือ แต่ในขณะเดียวกันมันก็ทำให้คุณพลาดได้ ถ้าคุณไม่รู้จักเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ อยู่ตลอด เพื่อที่คุณจะได้ก้าวข้ามอคติที่ตัวเองมีอยู่จากการหล่อหลอมของสังคมรอบตัว

 

บทความน่าสนใจที่เกี่ยวข้อง

นอกจากหนังสือ Blink แล้ว Malcolm Gladwell ยังมีผลงานหนังสือเล่มอื่นๆ เช่น Outliers, David and Goliath และ The Tipping Point ซึ่งบิงโกได้สรุปไว้หมดแล้ว ตามลิงก์ด้านล่าง

 

หนังสืออื่นที่คุณอาจสนใจยิ่งกว่าหนังสือ Blink

เราหลายคนถูกสอนมาให้ “เก่งทางเดียว” แล้วเก่งด้านนั้นให้สุดทางไปเลย

วิธีคิดแบบนี้ใช้ได้ผลในสมัยก่อนที่คนเก่งมีน้อย แต่โลกเรากำลังเปลี่ยนไป สมัยนี้คนเก่งเกลื่อนจนแทบจะเดินชนกัน ต่อให้คุณทำอะไรได้ ก็จะมีอีกเป็นหมื่นคนและ AI ที่ทำได้เหมือนคุณ

หนังสือวิถีผู้ชนะฉบับคนเก่งแบบเป็ด จะสอนให้คุณเป็น “เป็ด” ที่เก่งรอบด้าน และสามารถนำทักษะที่หลากหลายมาใช้ ให้ก้าวหน้าในงาน ชีวิต และธุรกิจ

ถ้าคุณคิดว่าเรียนจบปริญญาตรีอายุ 22 แล้วคุณไม่ต้องเรียนรู้อะไรอีก คุณอาจไม่เหมาะกับหนังสือเล่มนี้

แต่ถ้าคุณคิดว่าคนเราต้องเรียนรู้ตลอดชีวิต หนังสือ เรียนอะไรก็รู้เรื่อง แค่สรุปได้ใน 20 คำ จะสอนให้คุณเรียนรู้ได้เร็วขึ้น 10 เท่า และจำสิ่งที่อ่านหรือฟังได้อย่างแม่นยำ คุณจะได้เทคนิคดีๆ ในการสรุปทุกสิ่งที่คุณเรียนรู้ อ่าน หรือฟังใน 20 คำ เทคนิคนี้เริ่มต้นใช้กันในโตโยต้า และคนเขียนนำมาพัฒนาต่อจนโด่งดังในญี่ปุ่น

คนส่วนใหญ่ชอบศึกษาหาข้อมูล วางแผนให้ดีก่อนลงมือทำ …แต่นั่นทำให้พวกเขาไม่พร้อมสักที จนไม่ได้ทำอะไรเลย!

ในหนังสือคนชนะทำแล้วแก้ คนแพ้มัวแต่คิดไม่ได้ทำ เขาจะสอนเทคนิค “ทำไปก่อนเดี๋ยวดีเอง” ให้คุณสร้างผลงานที่ยอดเยี่ยมขึ้น จำนวนมากขึ้น ในเวลาที่สั้นลง

ทั้งเรียนหนังสือ ทำงาน บริหารเงิน สร้างคอนเน็คชั่น และนำเสนอตัวเอง 

คุณสามารถนำแนวทางนี้มาใช้พัฒนาชีวิตในทุกแง่มุม

 

2 thoughts on “สรุปหนังสือ Blink มองให้ทะลุ ภายใน 2 วินาที

  1. Pingback: สรุปหนังสือ The Tipping Point เปลี่ยนสินค้าให้เป็นไวรัส จุดกระแสให้ดังไปทั่วโลก

  2. Pingback: สรุปหนังสือ David and Goliath กลยุทธ์ไก่รองบ่อน เหนือกว่าอย่างแยบยล - สำนักพิมพ์บิงโก

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราะห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก