มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก ผู้ก่อตั้งและซีอีโอของเฟซบุ๊ก ถูกเชิญให้ไปกล่าวสุนทรพจน์ในช่วงบ่ายของงานรับปริญญาครั้งที่ 366 ณ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด หลังจากที่มาร์คดรอปเรียนตอนอยู่ปี 2 เพื่อตั้งหน้าพัฒนาเฟซบุ๊ก เขาก็ได้กลับมาที่มหาวิทยาลัยแห่งนี้ เพื่อรับปริญญากิตติมศักดิ์ (มอบให้กับผู้ที่มากล่าวสุนทรพจน์ในวันสำเร็จการศึกษา ซึ่งบุคคลผู้นั้นอาจจะเป็นนักศึกษาจากที่นั่นหรือไม่ก็ได้)
มาร์คบอกผู้ฟังเกี่ยวกับสิ่งที่เขาได้เรียนรู้ ทั้งเรื่องผู้คนในยุคปัจจุบัน และโลกที่เราทุกคนกำลังร่วมกันสร้างขึ้น ต่อไปนี้คือข้อความสำคัญจากสุนทรพจน์ของเขา
แต่ก่อนเริ่ม มาร์คพูดติดตลกกับบัณฑิตปี 2017 ไว้ว่า
ผมรู้สึกเป็นเกียรติที่ได้มาพูดคุยกับพวกคุณทุกคนในวันนี้ เพราะพวกคุณประสบความสำเร็จในเรื่องที่ผมไม่เคยทำได้ ถ้าผมกล่าวสุนทรพจน์จบ นี่จะเป็นครั้งแรกที่ผมทำอะไรบางอย่างในฮาร์วาร์ดสำเร็จ
มาร์คไม่คิดว่าตัวเองสมควรได้กล่าวสุนทรพจน์ และไม่ใช่เพราะเขาลาออกระหว่างเรียน แต่เขารู้สึกเหมือนกับเหล่าบัณฑิตที่จบในปี 2017 นั่นแหละ
เราเดินทางสายนี้มาด้วยกัน ห่างกันไม่ถึง 10 ปี เราได้เข้าห้องเรียนเดียวกัน แล้วก็หลับในคลาสเดียวกัน
ย้อนรอยความทรงจำ
มาร์คหวนนึกถึงความทรงจำดีๆ เขาถามบัณฑิตในห้อง “มีใครจำได้ว่าตัวเองอยู่ที่ไหนหรือทำอะไรตอนที่ตัวเองได้รับจดหมายตอบรับจากฮาร์วาร์ดบ้าง?”
สำหรับเขา เขาจำได้ว่าตอนนั้นตัวเองกำลังเล่นเกม Civilization อยู่ แล้วรีบวิ่งลงบันไดไปหาพ่อ ที่ต่อมาถือกล้องวิดีโอบันทึกภาพมาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก ในวัยเยาว์กำลังอ่านจดหมายตอบรับ
ต่อมาเรื่องคลาสเรียนแรกเมื่อเขาเข้าฮาร์วาร์ดมาแล้ว มาร์คบอกว่า เขาเดินเข้าคลาสไปทั้งที่ใส่เสื้อยืดกลับด้าน แล้วเขาก็งงว่าทำไมไม่มีใครคุยกับเขาเลย นอกจากคนที่ชื่อ จินคังซิน มาร์คเล่นมุขต่อว่า
ตอนนี้จินคือกำลังสำคัญที่ช่วยพัฒนาเฟซบุ๊ก ฉะนั้นพวกคุณ เหล่าบัณฑิตปี 2017 จำไว้เลยว่า พยายามใจดีกับผู้อื่นเข้าไว้นะ
แต่ความทรงจำที่เขาหวงแหนที่สุดคือตอนที่เจอภรรยาของเขา พริสซิลลา ที่งานเลี้ยง เพื่อนๆ จัดงานนี้ให้ตอนที่เขาจะโดนไล่ออกจากฮาร์วาร์ดอยู่รอมร่อ ข้อหาสร้าง Facemash (เว็บไซต์เปรียบเทียบความสวยของนักศึกษาสาว ที่ดึงภาพมาจากฐานข้อมูลฮาร์วาร์ดโดยพลการ) มาร์คบอกว่า
เราได้เพื่อนที่จะร่วมหัวจมท้ายด้วยกันไปตลอดชีวิตจากที่แห่งนี้ บางคนได้ครอบครัวใหม่ด้วยซ้ำ ผมรักที่นี่มาก
ค้นหาเป้าหมาย
มาร์คเกริ่น
วันนี้ ผมอยากจะมาพูดเรื่องเป้าหมาย แต่ผมจะไม่บอกให้คุณออกไปค้นหาเป้าหมายตามคำกล่าวสุนทรพจน์ทั่วไปหรอก เราเป็นคนเจนวาย เราทำเรื่องพรรค์นั้นจนเคยชินอยู่แล้ว แต่ผมจะบอกว่า แค่ค้นหาเป้าหมายอย่างเดียวมันไม่พอ
ความท้าทายอย่างหนึ่งที่คนรุ่นนี้เผชิญคือ การสร้างโลกที่ทุกคนตระหนักถึงเป้าหมายของตัวเอง มาร์คเล่าเหตุการณ์ในอดีตที่ประธานาธิบดีจอห์น เอฟ. เคเนดี้ ไปเยือนนาซ่า แล้วถามภารโรงที่นั่นว่าทำอะไรอยู่ ภารโรงที่ถือไม้ถูพื้นอยู่ในมือตอบว่า “ผมกำลังช่วยส่งคนไปดวงจันทร์อยู่ครับ ท่านประธานาธิบดี”
ความรู้สึกในการเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าตัวเอง เมื่อคุณรู้สึกว่าเป็นที่ต้องการและคิดว่ามีเรื่องท้าทายรอให้พิชิตอยู่ข้างหน้า คุณจะพบเป้าหมายของตัวเอง มาร์คสรุปข้อคิดเรื่องนี้ว่า
ต่อมา มาร์คเปลี่ยนไปพูดเรื่องความแตกต่างระหว่างหว่างคนรุ่นพ่อแม่กับคนรุ่นนี้ เป้าหมายของคนรุ่นพ่อแม่คืออาชีพการงาน โบสถ์ และชุมชน แต่ตอนนี้เทคโนโลยีและเครื่องจักรกลกำลังมาแทนที่หลายอาชีพ สมาชิกชุมชนเริ่มลดลง หลายคนรู้สึกว่าตัวเองขาดการมีส่วนร่วม แล้วก็เครียดไปตามๆ กัน
สังคมจะเดินหน้าต่อไปได้ ทุกคนต้องตอบรับความท้าทายของยุคสมัย ซึ่งไม่ใช่แค่การสร้างอาชีพใหม่ๆ แต่ต้องฟื้นฟูการตระหนักถึงเป้าหมายของผู้คนด้วย
มาร์คเล่าถึงช่วงที่เฟซบุ๊กเพิ่งเริ่มตั้งไข่ว่า เขาแค่อยากให้ชุมชนฮาร์วาร์ดเชื่อมถึงกัน ส่วนเรื่องเชื่อมคนทั้งโลกเข้าด้วยกันเป็นเรื่องของคนอื่น เพราะมาร์คคิดว่า “มีบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่มากมายที่มีทรัพยากรพร้อมสรรพ ผมเลยคิดไปเองว่า บริษัทเหล่านี้จะก้าวเข้ามาเชื่อมคนทั้งโลก”
มาร์ครู้ดีว่า ความผิดพลาดแบบที่เขาก่อในอดีตนั้นเกิดขึ้นได้ง่ายมาก “แค่ตระหนักถึงเป้าหมายของตัวเองนั้นไม่เพียงพออีกต่อไป คุณต้องสร้างสรรค์เป้าหมายเพื่อผู้อื่นด้วย ผมเจอเรื่องนี้กับตัวเองมาแล้ว ผมไม่ได้แค่อยากก่อตั้งบริษัท แต่อยากจะสร้างแรงผลักให้กับโลกใบนี้”
พอรับทีมงานเข้ามาทำงานกับเฟซบุ๊กมากขึ้น มาร์คก็หลงคิดไปเองว่า คนพวกนั้นจะมีวิสัยทัศน์แบบเดียวกับเขา ตอนนั้นตัวมาร์คเองก็ถ่ายทอดเป้าหมายบริษัทไม่ค่อยชัดเจนเท่าไหร่ 2-3 ปีผ่านไป มีบริษัทใหญ่บริษัทหนึ่งยื่นข้อเสนอซื้อกิจการของเฟซบุ๊ก (บริษัทยาฮู) ตัวมาร์คเองอยากเชื่อมผู้คนเข้าหากันมากขึ้น และพัฒนาฟีเจอร์ต่างๆ ต่อไป แต่คนรอบตัวกลับอยากให้มาร์คขายกิจการ
การขายสตาร์ทอัพในราคาพันล้าน เป็นเหมือนฝันที่เป็นจริง แต่มันจะทำให้เป้าหมายของบริษัทพังทลายลง ที่ปรึกษาบางคนยังบอกมาร์คว่า ถ้าไม่ตอบรับข้อเสนอซื้อตอนนี้ คุณจะต้องเสียใจไปตลอดชีวิตแน่ๆ
นี่เป็นช่วงที่ยากลำบากที่สุดนับตั้งแต่มาร์คสร้างเฟซบุ๊กขึ้นมา พอมองย้อนกลับไป มาร์คก็ตระหนักได้ว่า ที่ทุกอย่างมันออกมาเป็นอย่างนี้เพราะทีมงานขาดการตระหนักในเป้าหมาย
ดังนั้น มาร์คจึงอยากแบ่งปันวิธีสร้างโลกที่อุดมไปด้วยผู้คนที่มีเป้าหมายของตัวเอง 3 ข้อ ได้แก่
1. กล้าทำเรื่องใหญ่ๆ
มาร์คบอกว่า คนทุกรุ่นมีโปรเจคท์ใหญ่ที่จะบอกได้ว่า “คุณใช้ชีวิตอยู่ในยุคไหน” เช่น ตอนที่คนมากกว่า 3 ล้านคนอยู่เบื้องหลังการไปเหยียบดวงจันทร์ครั้งแรกของมนุษยชาติ หรือตอนที่อาสาสมัครหลายล้านคนออกไปต่อสู้กับโรคโปลิโอทั่วโลก เขายังกล่าวอีกว่า โปรเจคท์พวกนี้ไม่ใช่แค่ให้เป้าหมายกับคนที่ทำมัน แต่มันยังให้ความรู้สึกภาคภูมิใจด้วยการทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่ด้วย
ไม่มีใครถูกตั้งแต่แรกหรอก ไอเดียไม่ได้เห็นกันเป็นตัวแต่แรก มันจะเป็นรูปเป็นร่างได้ก็ต่อเมื่อคุณเริ่มลงมือทำมัน ถ้าผมต้องเข้าใจทุกอย่างว่าจะเชื่อมผู้คนถึงกันได้ยังไงก่อน เฟซบุ๊กก็คงไม่เกิด
สังคมในปัจจุบันกลับไม่ยอมเปิดพื้นที่ให้ทำสิ่งใหญ่ๆ เพราะกลัวล้มเหลว แต่ความจริงแล้ว ไม่ว่าจะทำอะไรก็ตาม ย่อมเจอข้อผิดพลาดด้วยกันทั้งนั้น แต่เรื่องแค่นั้นหยุดเราไม่ได้หรอก
ถึงเวลาแล้วที่คนยุคปัจจุบันจะสร้างโปรเจคท์ที่บ่งบอกยุคสมัยของตัวเองบ้าง เช่น การหยุดภาวะโลกร้อน และการระดมคนหลายล้านมาช่วยกันผลิตและติดตั้งแผงโซล่าร์เซล หรืออาจจะเป็นการสร้างยารักษาโรคทุกชนิด
มาร์คคำนึงถึง “ประชาธิปไตยสมัยใหม่” ที่ให้ทุกคนเลือกตั้งผ่านทางออนไลน์ได้ ทุกคนสร้างตารางเรียนเองได้ มาร์คเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่เป็นไปได้
2. ส่งเสริมความเสมอภาค
มาร์คกล่าวไว้ว่า ในขณะที่คนรุ่นพ่อแม่มีงานที่มั่นคงทำ แต่คนรุ่นเรามีแนวโน้มที่จะสร้างธุรกิจเองและทดลองไอเดียใหม่ๆ ได้ง่ายกว่า เช่น ในกรณีของเจ. เค. โรว์ลิ่ง, บียอนเซ่ และตัวเขาเองก็ด้วย
ทุกวันนี้ โลกเต็มไปด้วยความไม่เสมอภาค เมื่อผู้คนขาดอิสระในการสานต่อไอเดียของตัวเอง ก็จะกลายเป็นผู้แพ้ สังคมของเราตอนนี้ให้ความสำคัญกับความสำเร็จมากไป
ยอมรับเถอะครับว่ามันมีอะไรบางอย่างไม่ถูกต้องในระบบของเรา ผมทำเงินได้เป็นพันๆ ล้านภายใน 10 ปี แต่นักเรียนหลายล้านคนกลับไม่มีเงินจ่ายค่าเล่าเรียนตัวเอง ไม่ต้องพูดถึงเริ่มต้นธุรกิจเลย
มาร์คบอกว่า “ผมรู้จักเจ้าของธุรกิจหลายคน แต่ยังไม่เคยเจอคนไหนยอมรามือเพราะบัญชีบริษัทติดตัวแดงเลย และผมก็รู้จักอีกหลายคนที่ไม่ได้ทำตามความฝันของตัวเอง เพราะฐานะทางการเงินไม่เอื้ออำนวย”
คนทุกยุคทุกสมัยพยายามประกาศนิยามของคำว่า “เสมอภาค” ให้กระจายไปกว้างขึ้น คนรุ่นก่อนต่อสู้เพื่อการเลือกตั้งและสิทธิพลเมือง ตอนนี้ถึงเวลาของพวกเราแล้ว
พวกเราควรจะคิดถึงไอเดียเกี่ยวกับการรับประกันรายได้ขั้นต่ำสากล ทุกคนจะได้กล้าลองทำตามความฝัน ถ้าเรื่องนี้เกิดขึ้นจริง เราคงเห็นคนทำงานที่ตัวเองรัก โลกนี้จะกลายเป็นสถานที่ที่น่าอยู่ขึ้นแน่นอน
การสร้างโอกาสให้ทุกคนได้ไล่ตามความฝันตัวเองไม่ฟรีแน่ๆ คนอย่างพวกผมต้องจ่าย พวกคุณควรได้รับโอกาส และพวกคุณก็ต้องรู้จัก ‘ให้’ ด้วยเหมือนกัน นี่คือเหตุผลที่ผมกับพริสซิลลาก่อตั้งบริษัท Chan Zuckerberg Initiative และตั้งใจเอาเงินที่หามาได้ ไปสนับสนุนเรื่องความเสมอภาคและเท่าเทียม ผมว่านี่คือสิ่งที่กำหนดคุณค่าของยุคสมัยเรา
3. สร้างชุมชน
พวกเรามีโอกาสพูดได้เต็มปากว่า เราเป็นคนในยุคที่กำจัดความยากจนและโรคร้ายได้สำเร็จ แต่ยังมีอีกหลากหลายความท้าทายที่ต้องการการตอบรับอยู่ ในอนาคตต้องไม่มีประเทศใดในโลกที่ต่อสู้กับโลกร้อนหรือโรคระบาดเพียงลำพัง ความท้าทายเหล่านี้ต้องอาศัยความร่วมมือจากทั้งโลก ไม่ใช่แค่เมืองหรือประเทศ
แต่เราอยู่ในช่วงเวลาที่ไม่มีอะไรแน่นอน หลายคนถูกกระแสโลกาภิวัฒน์ทิ้งไว้ข้างหลัง ถ้าตัวเราเองยังไม่พอใจกับชีวิตตัวเอง จะให้ไปสนใจคนอื่นก็คงยาก
เราจะค้นพบเป้าหมายของตัวเองจากการเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน ไม่ว่าชุมชนของเราคือบ้าน ทีมกีฬา โบสถ์ หรือวงดนตรี ความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของบางสิ่งที่ยิ่งใหญ่ ทำให้เรารู้สึกว่าเราไม่โดดเดี่ยว
ตัวเลขจำนวนสมาชิกในแต่ละชุมชนที่ลดลงเกือบ 1 ใน 4 ตลอด 10 ปีที่ผ่านมานั้นเป็นเรื่องน่าตกใจอย่างมาก คนที่ไม่มีชุมชนต้องหาเป้าหมายจากที่อื่นแทน แต่มาร์คเชื่อว่า ทุกคนสามารถร่วมมือกันฟื้นฟูชุมชนขึ้นมาได้อีกครั้ง หรือสร้างขึ้นมาใหม่ก็ได้ เพราะมีคนหลายกลุ่มเคยทำสำเร็จมาแล้ว
การเปลี่ยนแปลงเริ่มต้นจากตัวเรา จากคนรอบตัวเรา จากชุมชนของเรา การเปลี่ยนแปลงระดับโลกล้วนเริ่มจากจุดเล็กๆ ในยุคสมัยของเรา การเชื่อมต่อผู้คนถึงกันและการทำให้เป้าหมายที่ยิ่งใหญ่สำเร็จได้นั้น ขึ้นอยู่กับว่าคุณได้สร้างชุมชนและโลกที่เต็มไปด้วยผู้คนที่ตระหนักถึงเป้าหมายด้วยตัวเองได้แค่ไหน
แหล่งศึกษาเพิ่มเติม
- ถ้าอยากเข้าใจวิธีคิดของ มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก ลึกกว่านี้ แนะนำหนังสือ Think Like Zuck ซึ่งสนพ.บิงโกสรุปไว้ให้แล้ว ตามไปอ่านได้👉สรุปหนังสือ Think Like Zuck
- ถ้าอยากทราบภารกิจของบริษัท Chan Zuckerberg Initiative ตามไปอ่านที่👉บทความ Chan Zuckerberg Initiative
- ถ้าอยากฟังคลิปกล่าวสุนทรพจน์เต็มๆ ของมาร์ค ไปต่อใน 👉Youtube
Pingback: สรุปหนังสือ Becoming Facebook 10 บทเรียนน่ารู้ จากทีมงานเฟซบุ๊ก - สำนักพิมพ์บิงโก
Pingback: เมื่อจินตนาการสำคัญมากกว่าการแต่งนิยาย คำกล่าวสุนทรพจน์ของเจ. เค. โรว์ลิ่ง - สำนักพิมพ์บิง
Pingback: สรุปหนังสือ Emotional Intelligence: รู้แค่นี้ก็ประสบความสำเร็จกว่าคน IQ 180
Pingback: สรุปหนังสือ Everything Store: Amazon ร้านขายของออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก