สรุปหนังสือ Only the Paranoid Survive ถ้าอยากรอด จงระแวงเข้าไว้

only the paranoid survive open

ในปี 2016 ที่ผ่านมา แวดวงธุรกิจต้องพบกับข่าวเศร้าเมื่อแอนดี โกรฟ อดีต CEO ระดับตำนานของบริษัท Intel ได้จากโลกนี้ไปอย่างสงบ แต่เขาก็ทิ้งเรื่องราวที่น่าสนใจเอาไว้ให้นักธุรกิจรุ่นหลังได้ศึกษามากมาย ซึ่งหนึ่งในนั้นถูกรวมเอาไว้ในหนังสือขายดีของเขาที่ชื่อว่า Only the Paranoid Survive

หนังสือ Only the Paranoid Survive มีเนื้อหาเกี่ยวกับการเอาตัวรอดในโลกธุรกิจที่มีความเปลี่ยนแปลงถาโถมเข้ามานับไม่ถ้วน ซึ่งวิธีรอดในแบบฉบับของแอนดี โกรฟก็คือ “จงระแวงเข้าไว้”

ทำไม CEO ระดับตำนานคนนี้ถึงอยากให้ธุรกิจต่างๆ ระแวง? แล้วต้องระแวงกับอะไร? เรามาเรียนรู้แนวคิดการบริหารธุรกิจตามแบบฉบับของแอนดี โกรฟไปพร้อมกันเลยครับ

 

รวมข้อคิดดีๆ จากหนังสือ Only the Paranoid Survive

  • ความสำเร็จทำให้เราหลงระเริง ความหลงระเริงทำให้เราล้มเหลว มีแต่คนที่ระแวงอยู่ตลอดเท่านั้นถึงจะรอด
  • อ่านเกมให้ขาดและเตรียมพร้อมรับมือเมื่อถึงจุดเปลี่ยนทางธุรกิจ
  • เปิดรับข่าวสารจากทุกฝ่ายและเปิดใจยอมรับคำวิจารณ์จากผู้อื่น

 

only the paranoid survive 02
ในวงการธุรกิจมีคนที่รอดและร่วง แต่ถ้าคุณอยากรอด แอนดี โกรฟแนะนำให้คุณ “จงระแวงเข้าไว้”

ถ้าอยากรอด จงระแวงเข้าไว้

แอนดีเคยถูกยกย่องจากนิตยสาร Time ให้เป็น Men of the Year ในปี 1997 เขาคือคนที่มีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนโฉมหน้าของบริษัท Intel ไปตลอดกาล

แนวคิดการบริหารของแอนดีก็คือ “จงระแวงเข้าไว้” เขาเชื่อว่าความสำเร็จทำให้เราหลงระเริง ความหลงระเริงทำให้เราล้มเหลว มีแต่คนที่ระแวงอยู่ตลอดเท่านั้นถึงจะรอด

เราอยากให้คุณนึกถึงธุรกิจหนังสือพิมพ์ดู ในยุคเฟื่องฟูของหนังสือพิมพ์ ทุกคนเสพข่าวสารบ้านเมืองต่างๆ ผ่านช่องทางนี้ ครอบครัวไหนจะเลือกอ่านหัวอะไรก็จะมีเด็กส่งหนังสือพิมพ์มาส่งถึงบ้านทุกเช้าเลยด้วยซ้ำ แต่อินเทอร์เน็ตได้เข้ามาเปลี่ยนวงจรเหล่านี้โดยสิ้นเชิง ทุกคนสามารถอ่านข่าวในเว็บไซต์หรือโซเชียลมีเดียผ่านสมาร์ทโฟนได้อย่างง่ายดายและรวดเร็วทันใจโดยไม่จำเป็นต้องเสียเงินซื้อหนังสือพิมพ์ที่จะออกวางแผงทุกเช้าอีกต่อไป ดังนั้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาเราจึงเห็นข่าวการปิดตัวลงของหนังสือพิมพ์เป็นจำนวนมาก

ถ้าคุณใช้แนวคิดของแอนดีเป็นหลัก คุณจะระแวงตั้งแต่หนังสือพิมพ์ยังขายดิบขายดี คุณจะระแวงว่า “อนาคตจะยังขายดีแบบนี้อีกหรือไม่?” พออินเทอร์เน็ตเริ่มมีบทบาทมากขึ้นทีละนิด คุณจะระแวงว่า “อินเทอร์เน็ตจะส่งผลอะไรกับธุรกิจหนังสือพิมพ์หรือไม่?”

ด้วยแนวคิดเช่นนี้ คุณจะทำธุรกิจด้วยความระมัดระวัง ไม่หลงระเริงไปกับความสำเร็จ และเตรียมพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่จะเกิดขึ้น คุณจะกลายเป็นคนที่ “รอด” เหมือนอย่างที่แอนดีเคยทำมาแล้วกับ Intel

 

only the paranoid survive
กราฟแสดงแนวคิดเรื่อง Strategic inflection points (SIP) หรือจุดเปลี่ยนทางธุรกิจของแอนดี โกรฟ

 

มองหาจุดเปลี่ยนทางธุรกิจให้เจอ

ด้วยนิสัย “จงระแวงเข้าไว้” ของแอนดี ทำให้เขามองหาจุดเปลี่ยนทางธุรกิจเจอ จุดนี้คือช่วงคาบเกี่ยวระหว่างเส้นทางสู่ความล้มเหลวกับเส้นทางสู่ความสำเร็จ ถ้าผู้นำอ่านเกมขาดตั้งแต่ต้นและเตรียมพร้อมรับมือกับมันได้ ผู้นำคนนั้นก็จะนำธุรกิจของเขาก้าวไปสู่ความสำเร็จ แอนดีเรียกจุดเปลี่ยนทางธุรกิจนี้ว่า Strategic inflection points (SIP)

ย้อนกลับไปหลายสิบปีก่อน บริษัท Intel ต้องเผชิญหน้ากับความท้าทายครั้งสำคัญ เมื่อบริษัทจากประเทศญี่ปุ่นสามารถพัฒนาเทคโนโลยีชิปหน่วยความจำได้อย่างน่าทึ่ง ชิปจากญี่ปุ่นทั้งดีกว่าและขายในราคาที่ถูกมากจนบริษัท Intel ไม่สามารถสู้ได้เลย

แอนดีรับรู้สถานการณ์ร้ายนี้อยู่ก่อนแล้วและเขาจำเป็นต้องหาวิธีรับมือกับจุดเปลี่ยนทางธุรกิจนี้ให้ได้ บุคลากรบางส่วนของ Intel ยังยึดติดอยู่กับความสำเร็จของตัวเองในฐานะผู้ผลิตชิปหน่วยความจำยักษ์ใหญ่ พวกเขาจึงอยากให้บริษัททุ่มทรัพยากรไปกับการพัฒนาชิปหน่วยความจำเพื่อต่อสู้ในสมรภูมินี้

แต่แอนดีกลับไม่คิดเช่นนั้น เขาเลือกวางเดิมพันอนาคตของ Intel ไว้กับ “ไมโครโพรเซสเซอร์” ซึ่งเขาตัดสินใจถูก เพราะนวัตกรรมชิ้นนี้ได้สร้างผลกำไรมหาศาลให้กับบริษัท จนทำให้ Intel กลายเป็นบริษัทที่มีมูลค่าสูงที่สุดในโลกในสมัยนั้น

ถ้าแอนดีตัดสินใจพลาดในการรับมือกับจุดเปลี่ยนทางธุรกิจนี้ Intel อาจจะเป็นอีกหนึ่งกรณีศึกษาสำหรับธุรกิจที่ปรับตัวไม่รอดร่วมกับอดีตยักษ์ใหญ่แห่งวงการฟิล์มถ่ายรูปอย่าง Kodak หรืออดีตยักษ์ใหญ่ในวงการโทรศัพท์มือถืออย่าง Nokia ก็เป็นได้

 

สื่อสารตัวตนออกไปให้ชัดเจน

แอนดีไม่ได้แค่ตัดสินใจถูกด้วยการเลือกโฟกัสไปที่ไมโครโพรเซสเซอร์แทนที่ชิปหน่วยความจำ แต่เขายังมีกลยุทธ์ที่ไปไกลกว่านั้น นั่นก็คือ “การสร้างแบรนด์”

สมัยก่อน เวลาลูกค้าสักคนจะเลือกซื้อคอมพิวเตอร์ เขาจะตัดสินใจเลือกที่โปรแกรมหรือไม่ก็จากคำแนะนำที่บอกต่อกันมา ไม่มีใครมานั่งสนใจหรอกว่าในคอมพิวเตอร์เครื่องนั้นมีไมโครโพรเซสเซอร์เป็นขุมพลังที่ซ่อนอยู่ภายใน ดังนั้นสิ่งที่ Intel พยายามทำก็คือสื่อสารออกไปให้ลูกค้ารู้ว่า “คอมพิวเตอร์เครื่องนี้มีชิ้นส่วนเจ๋งๆ จาก Intel อยู่ด้วย”

Intel ที่พยายามสร้างอนาคตใหม่ของตัวเองด้วยการวางเดิมพันไว้กับไมโครโพรเซสเซอร์จึงเริ่มทำโฆษณาทางโทรทัศน์ออกมา และร่วมมือกับซัพพลายเออร์ต่างๆ เพื่อขอติดโลโก้ของ Intel บนคอมพิวเตอร์ด้วย กลยุทธ์การสื่อสารตัวตนใหม่ทั้งหมดนี้ประสบความสำเร็จอย่างงดงามพร้อมกับความนิยมใช้คอมพิวเตอร์ที่มากขึ้นตามยุคสมัย

และนี่คือที่มาของสโลแกน “Intel Inside” ซึ่งเหล่าผู้ใช้คอมพิวเตอร์ทั่วโลกคุ้นหน้าคุ้นตาเป็นอย่างดี

 

 

ไม่ใช่แค่สื่อสารกับภายนอก แต่คุณต้องสื่อสารกันเองภายในด้วย

ทุกครั้งที่บริษัทตัดสินใจเปลี่ยนกลยุทธ์ครั้งใหญ่ มันจะสร้างความสับสนให้กับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเสมอ ดังนั้นนอกจากบริษัทจะต้องสื่อสารกับบุคคลภายนอกให้ชัดเจนแล้วยังต้องสื่อสารกันเองภายในให้ดีด้วย

การสื่อสารภายในที่ดีจะช่วยให้พนักงานพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลง ซึ่งบางครั้งมันอาจส่งผลกระทบกับพวกเขาถึงขั้นต้องตกงานก็ได้ ตัวอย่างเช่น เมื่อเครื่องจักรทันสมัยขึ้น โรงงานก็ไม่จำเป็นต้องจ้างพนักงานมากนัก ถ้าบริษัทสื่อสารกลยุทธ์ใหม่ออกไป พนักงานก็จะมีโอกาสได้เลือกว่าจะพัฒนาฝีมือตัวเองหรือย้ายงานใหม่นั่นเอง

ย้อนไปช่วงที่ Intel ต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองจากผู้ผลิตชิปหน่วยความจำเป็น “ผู้ผลิตไมโครโพรเซสเซอร์” แอนดีเองก็เคยรับมือกับการต่อต้านจากพนักงานเช่นกัน แต่ท้ายที่สุดแล้วทุกคนก็หันกลับมาชื่นชมสิ่งที่แอนดีได้ตัดสินใจลงไปและร่วมมือกันทำงานเพื่อความสำเร็จของบริษัทต่อไป

 

เปิดใจเพื่อรับข่าวสารและคำวิจารณ์

บ่อยครั้งที่เรามักมองไม่เห็นข้อผิดพลาดของตัวเอง แถมเรายังเชื่อว่าทุกอย่างมันดีอยู่แล้ว แต่พอเราเอางานสักชิ้นให้คนอื่นวิจารณ์ พวกเขามักจะเจอข้อผิดพลาดอะไรสักอย่างที่เรามองข้ามไปเสมอ

แอนดีแนะนำว่าผู้นำที่ดีควรเปิดใจเพื่อรับฟังข่าวสารจากภายนอกให้มาก แม้กระทั่งจากพนักงานของตัวเอง ครั้งหนึ่งแอนดีเคยได้รับอีเมลฉบับหนึ่งจากผู้จัดการฝ่ายขายที่ประจำอยู่ในทวีปเอเชีย ผู้จัดการคนนั้นพูดถึงคู่แข่งรายใหม่ซึ่งกำลังมาแรง พอแอนดีเห็นอีเมลฉบับนี้เขาจึงตัดสินใจให้ศึกษาคู่แข่งรายนี้ทันที ถ้าเขาเพิกเฉยต่ออีเมลฉบับนี้ เขาอาจเผลอไม่ทันระวังตัวต่อการเติบโตของคู่แข่งรายใหม่นี้ก็เป็นได้

นอกจากนี้แอนดียังแนะนำให้พูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญและนักข่าวในวงการต่างๆ ด้วย เขาเชื่อว่าคนเหล่านี้มีประสบการณ์และคลุกคลีอยู่กับเรื่องนั้นๆ มานาน พวกเขาจึงมีมุมมองที่น่าสนใจอยู่เสมอ

 

only the paranoid survive 03
“ถ้าอยากรู้ว่าเป้าหมายของบริษัทสำเร็จหรือไม่ เป้าหมายนั้นต้องชัดเจนและสามารถวัดผลได้”

บิดาแห่ง OKR

นอกจากแนวคิดการบริหารแบบ “จงระแวงเข้าไว้” ของแอนดี จะนำบริษัท Intel ก้าวไปสู่ความสำเร็จแล้ว อีกหนึ่งวิธีบริหารสำคัญของเขาก็คือ “ถ้าอยากรู้ว่าเป้าหมายของบริษัทสำเร็จหรือไม่ เป้าหมายนั้นต้องชัดเจนและสามารถวัดผลได้” ซึ่งแนวคิดนี้เองได้กลายมาเป็นรากฐานของแนวคิดการบริหารยุคใหม่ที่เรียกว่า “OKR”

ในสมัยก่อนหลายบริษัทจะใช้วิธีบริหารแบบ MBO (Management by Objectives) หรือการบริหารงานตามวัตถุประสงค์ ต่อมาหลายบริษัทต่างพัฒนาแนวคิดนี้ให้ดีขึ้น อันที่มีชื่อเสียงที่สุดมาจากบริษัท Intel ของแอนดี โกรฟซึ่งเรารู้จักกันในชื่อ OKR นั่นเอง

จอห์น ดอร์ นักลงทุนชื่อดังและนักเขียนเจ้าของหนังสือขายดีเรื่อง Measure What Matters เคยเป็นอดีตผู้บริหารของ Intel ครั้งหนึ่งเขาเคยเข้าร่วมอบรมหลักสูตรภายในของบริษัทที่แอนดีสอน ซึ่งจอห์นบอกว่ามุมมองของแอนดีนั้นเรียบง่ายแต่มีประสิทธิภาพมาก เขาจึงยกย่องให้แอนดีคือบิดาแห่ง OKR

ถ้าคุณสนใจแนวคิดบริหารยุคใหม่อย่าง OKR เราอยากแนะนำให้คุณอ่านหนังสือเรื่อง “อยากสำเร็จต้องโฟกัส ด้วยแนวคิด OKR” ฝีมือการเขียนโดย Christina Wodtke ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดและที่ปรึกษาเรื่อง OKR ในหลายบริษัทด้วยกัน

 

สรุปสุดท้ายก่อนวางหนังสือ Only the Paranoid Survive

ทุกบริษัทต้องเตรียมตัวสำหรับจุดเปลี่ยนทางธุรกิจที่ต้องมาถึงเข้าสักวัน ซึ่งอีกหนึ่งแนวคิดที่จะรับมือกับสถานการณ์นี้ได้อย่างยอดเยี่ยมก็คือ “จงระแวงเข้าไว้” เมื่อคุณระแวง คุณจะไม่เผลอ เมื่อคุณระแวง คุณจะเปิดใจรับฟังข่าวสาร และเมื่อคุณระแวง คุณจะมีโอกาสคิดวิธีแก้ปัญหาใหญ่ที่กำลังจะมาถึงล่วงหน้าคนอื่นๆ

แม้หนังสือ Only the Paranoid Survive จะเป็นหนังสือที่เก่ามากเล่มหนึ่ง แต่ถ้าคุณอยากจะศึกษาแนวคิดการบริหารดีๆ จาก CEO ซึ่งประสบความสำเร็จมากที่สุดคนหนึ่งของโลก คุณต้องไม่พลาดหนังสือดีๆ จากแอนดี โกรฟเล่มนี้นะครับ

แล้วถ้าคุณยังพอมีเวลาเหลือ นอกจากจะศึกษาเรื่องราวจาก CEO รุ่นเก๋าอย่างแอนดี โกรฟแล้ว เรายังมีบทความสรุปแนวคิดการบริหารจากอดีตสุดยอด CEO ของ Google อย่าง เอริค ชมิตด์ ให้คุณได้อ่านกันด้วยครับ

หนังสืออื่นที่น่าสนใจไม่แพ้ Only the Paranoid Survive

เจาะลึกบทเรียนล้ำค่าที่ถูกเก็บเป็นความลับเฉพาะในหมู่นักธุรกิจและนักลงทุน ส่งตรงจากศูนย์กลางสตาร์ทอัพอันดับ 1 ของโลก

  • Airbnb บริษัทที่เคยขายอาหารเช้า แต่พลิกวิกฤติเป็นโอกาสจนปฏิวัติวงการโรงแรมได้
  • Dropbox บริการฝากไฟล์ออนไลน์ที่ล้มผลิตภัณฑ์ของสตีฟ จอบส์ มาแล้ว
  • Twitch แพลทฟอร์มสตรีมเกมที่เริ่มจากไอเดียเล็กๆ แต่ทะยานสู่อันดับ 1 ภายใน 2 ปี

บริษัทเหล่านี้เปลี่ยนจากธุรกิจเล็กๆ เป็นยักษ์ใหญ่สะเทือนวงการได้ในเวลาอันสั้น แต่น้อยคนนักที่จะรู้ว่า พวกเขาเป็นศิษย์ที่ร่ำเรียนมาจากสำนักเดียวกัน และคุณก็เรียนรู้วิธีคิดของพวกเขาได้ในหนังสือขโมยวิธีคิดสุดเจ๋ง จากสุดยอดโรงเรียนสอนสตาร์ทอัพ

พบกับหนังสือแปลจากญี่ปุ่น “เปลี่ยนคนธรรมดาให้มีหัวธุรกิจใน 3 ชั่วโมง” ซึ่งรวม “ทุกวิธีคิด” ในโลกธุรกิจไว้ครบในที่เดียว ตั้งแต่พื้นฐานไปจนถึงแนวคิดที่ทันสมัยที่สุด  แค่ใช้เวลาอ่านไม่นาน คุณจะพัฒนาจากคนที่เริ่มต้นเรียนรู้ เป็นคนที่เข้าใจธุรกิจได้ลึกซึ้ง พร้อมเข้าใจการเงิน กลยุทธ์ และการตลาดของบริษัทต่างๆ ได้สบาย เหมาะกับทั้งคนที่เริ่มสนใจธุรกิจ และคนที่อยากเติมความรู้เก่าให้ครบถ้วน

แนวคิดการบริหารของแอนดี โกรฟถูกยกย่องให้เป็นรากฐานสำคัญของแนวคิดบริหารสมัยใหม่อย่าง OKR ซึ่งบริษัทชั้นนำทั้ง Google Facebook และ Intel ต่างก็ใช้กัน ถ้าคุณอยากหาความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับแนวคิด OKR อย่าพลาดอ่านหนังสือเรื่อง “อยากสำเร็จต้องโฟกัสด้วยแนวคิด OKR” ฝีมือการแปลของ ศ.ดร.นพดล ร่มโพธิ์ กูรูด้าน OKR ของประเทศไทย

3 thoughts on “สรุปหนังสือ Only the Paranoid Survive ถ้าอยากรอด จงระแวงเข้าไว้

  1. Pingback: สรุปหนังสือ Purple Cow อยากสำเร็จต้องเป็นวัวสีม่วง - สำนักพิมพ์บิงโก

  2. Pingback: สรุปหนังสือ Who moved my cheese บทเรียนจากหนังสือเก่าที่ไม่เก่า

  3. Pingback: โลกหลัง Covid ที่ไม่มีอเมริกา... แล้วไทยอยู่ไหน - สำนักพิมพ์บิงโก

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราะห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก