“ทุกวันนี้เราทำงานเพื่ออะไร?”
ผมเชื่อว่าหนึ่งในคำตอบยอดฮิตที่เรามักได้ยินมากที่สุดก็คือ “ชื่อเสียงและเงินทอง” ถ้าจะมีสักอย่างที่คอยสร้างแรงจูงใจให้เราทำงานในทุกวันก็คงเป็นสิ่งนี้แหละไม่ผิดแน่ แต่แดเนียล พิงค์กลับมีมุมมองที่กว้างออกไป เพราะนักเขียนระดับ Best Seller คนนี้บอกว่ายังมีสิ่งอื่นที่สร้างแรงจูงใจให้มนุษย์เราได้มากกว่านั้น ในบทความนี้ผมจึงขอชวนคุณมาหาคำตอบนั้นจากหนังสือขายดีของเขาที่ชื่อ Drive
หนังสือ Drive ถูกตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 2009 โดยนักคิดนักเขียนชื่อดังอย่างแดเนียล พิงค์ ในหนังสือเล่มนี้เขารวบรวมงานวิจัยด้านจิตวิทยาเกี่ยวกับแรงจูงใจเอาไว้มากมาย พร้อมกับตั้งคำถามง่ายๆ ว่า “แนวคิดเกี่ยวกับแรงจูงใจเดิมๆ ที่เราใช้อยู่นั้น มันยังได้ผลอยู่จริงหรือไม่”
ทำไมแดเนียลถึงคิดแบบนั้น? เขามีแนวคิดอะไรใหม่ๆ เกี่ยวกับแรงจูงใจมาเล่าให้เราฟังบ้าง? ผมได้สรุปเนื้อหาดีๆ จากหนังสือ Drive มาไว้ให้คุณแล้ว
รวมข้อคิดดีๆ จากหนังสือ Drive
- มนุษย์เรามีแรงจูงใจทั้งจากภายในและภายนอก ซึ่งแรงจูงใจจากภายในนั้นจะทรงพลังกว่าภายนอก
- แต่อย่าประมาทพลังของแรงจูงใจจากภายนอกอย่าง “รางวัล” และ “บทลงโทษ” เพราะในระยะเวลาสั้นๆ มันมักจะใช้ได้ผลเสมอ
- หัวหน้าควรรู้จักเลือกใช้สิ่งที่จะช่วยสร้างแรงจูงใจให้เหมาะสมกับทีมงานของตัวเอง
แนวคิดแครอทกับไม้เรียว
ก่อนจะไปหาคำตอบว่า “อะไรคือแรงจูงใจที่ทรงพลังยิ่งกว่าชื่อเสียงและเงินทอง” แดเนียลได้เขียนถึงแนวคิดเกี่ยวกับแรงจูงใจที่ใช้กันมาแต่ดั้งเดิมอย่าง “แนวคิดแครอทกับไม้เรียว”
“แนวคิดแครอทกับไม้เรียว” มีที่มาจากสำนวน “carrot and strick” ซึ่งแครอทนั้นเปรียบเหมือน “รางวัล” และ ไม้เรียวเปรียบเหมือน “บทลงโทษ” แนวคิดนี้ถูกนำมาใช้เพื่อจูงใจพนักงาน โดยหัวหน้าจะเลือกใช้ “แครอท” หรือ “ไม้เรียว” ไว้คอยจูงใจอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์
ตัวอย่างเช่น ถ้าผมอยากให้เซลล์ทำยอดขายหนังสือให้ได้มากขึ้น ผมอาจเลือกให้ “แครอท” กับเขา โดยสัญญากับเขาว่า “ถ้าหนังสือเล่มใหม่ที่วางขายขายดีกว่าเล่มก่อน 20% ผมจะเพิ่มค่าคอมมิชชั่นให้คุณอีก 3%” พอเซลล์รู้ว่าเขาจะได้ค่าคอมฯ มากขึ้น เขาก็จะตั้งใจหาวิธีขายหนังสือเล่มใหม่ให้ได้มากกว่าเดิม
ในทางกลับกันถ้าผมอยากให้พนักงานทุกคนมาทำงานตรงเวลาไม่มีการสาย ผมอาจเลือกใช้ “ไม้เรียว” โดยตั้งกฎกับทุกคนว่า “ถ้าใครมาสายจะตัดเงินวันละ 50 บาท” พนักงานที่กลัวบทลงโทษอันนี้ก็จะไม่กล้ามาสาย
สรุปแล้วแนวคิดแครอทกับไม้เรียวก็คือการจูงใจคนโดยใช้ “รางวัล” ซึ่งเป็นสิ่งที่คนทั่วไปคาดหวังเพื่อจูงใจให้เขาทำมากขึ้น และใช้ “บทลงโทษ” เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดพฤติกรรมบางอย่างนั่นเอง
คุณอาจรู้สึกว่าแนวคิดแครอทกับไม้เรียวนี้เป็นแนวคิดที่ใครๆ ก็ใช้กัน ใครๆ ก็เคยเจอเรื่องแบบนี้ แต่แดเนียลบอกว่า “แนวคิดนี้ไม่ได้ผลเสมอไป” ซึ่งแดเนียลยก “การเติบโตของ Wikipedia” มาอธิบายให้เราฟัง
ไม่ต้องมีค่าตอบแทนก็พร้อมเขียนลง Wikipedia
Wikipedia คือสารานุกรมออนไลน์ที่รวบรวมบทความต่างๆ เอาไว้ให้ผู้คนเข้ามาศึกษากันฟรีๆ ถึงขนาดอ่านติดต่อกัน 3 วันก็ยังไม่จบ แต่คุณรู้หรือไม่ว่านักเขียนที่คอยหาข้อมูลและเขียนบทความลงที่นี่นั้น พวกเขาไม่เคยได้รับค่าตอบแทนใดๆ เลย!
Wikipedia เลือกเปิดให้บุคคลทั่วไปที่มีความรู้ในสาขานั้นเข้ามาเขียนบทความ พวกเขาเหล่านั้นต่างเข้ามาเขียนเรื่องราวต่างๆ ที่ตัวเองถนัดกันโดยสมัครใจ แม้จะเป็นวิธีที่เสี่ยง เพราะการเติบโตของ Wikipedia ต้องผูกเข้ากับความสมัครใจของคน แต่โครงการนี้ก็ประสบความสำเร็จอย่างงดงาม ซึ่งสวนทางกับโครงการสารานุกรมออนไลน์ที่ชื่อว่า Microsoft Encarta อย่างสิ้นเชิง
Microsoft Encarta คือสารานุกรมออนไลน์จากบริษัท Microsoft ซึ่งมีทีมงานระดับหัวกะทิทั้งนักเขียนและบรรณาธิการมืออาชีพและที่สำคัญที่สุดคือ “มีค่าตอบแทน” ในช่วงแรกสารานุกรมนี้ได้รับความนิยมมาก แต่พอนานวันเข้าโครงการนี้กลับต้องล้มเลิกไป เพราะการเติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดดของ Wikipedia นั่นเอง
ในเมื่อไม่มีทั้ง “รางวัล” หรือ “บทลงโทษ” คอยสร้างแรงจูงใจ แล้วทำไม Wikipedia ถึงเติบโตขึ้นเรื่อยๆ?
แดเนียลตอบว่า “เพราะแรงจูงใจจากภายในอย่างความสมัครใจนั้นเหนือกว่าแรงจูงใจจากภายนอกอย่างรางวัลและบทลงโทษ”
ทำไมแรงจูงใจจากภายนอกถึงใช้ไม่ได้ผล?
ปัจจุบัน การทำงานของเราเปลี่ยนจากการใช้แรงงานเป็นงานที่อาศัยความรู้มากขึ้น ดังนั้นแนวคิดแครอทกับไม้เรียวที่เป็นการสร้างแรงจูงใจจากภายนอกจึงมีข้อจำกัดมากขึ้นเรื่อยๆ จนบางครั้งมันถึงกับย้อนกลับมาทำร้ายบริษัทเสียด้วยซ้ำ
ผมไม่ได้พูดเว่อร์เกินไปหรอกครับ เพราะขนาดผมเองยังเคยเจอเหตุการณ์ทำนองนี้มาหลายครั้งแล้ว
ผมเคยใช้ “แครอท” เพื่อจูงใจทีมงานเช่นกัน ผมบอกกับนักเขียนว่าถ้าพวกเขาเขียนงานได้มากขึ้น เดือนนี้พวกเขาจะได้รับค่าต้นฉบับที่มากขึ้น วิธีนี้ได้ผลตั้งแต่เดือนแรกครับ นักเขียนดีใจกันใหญ่เมื่อรู้ว่าจะได้เงินเพิ่ม ซึ่งผมก็ได้รับต้นฉบับเพิ่มขึ้นอย่างที่ตั้งใจไว้จริงๆ
แต่พอเข้าเดือนถัดๆ มา มันกลับไม่ได้ผลอีกต่อไป เพราะเมื่อนักเขียนบางคนรู้ว่าตัวเองจะได้เงินมากขึ้น ถ้าเขียนได้เยอะ สิ่งที่บางคนเลือกทำก็คือ “เผางานส่งซะเลย” ทีนี้แทนที่ผมจะได้จำนวนต้นฉบับเยอะๆ แถมยังมีคุณภาพ ผมกลับต้องปวดหัวกับต้นฉบับที่ถูกเผาจนเกรียมชนิดที่ว่าเอาไปใช้ต่อไม่ได้เลย
ถ้าเรื่องเช่นนี้เกิดกับอู่ซ่อมรถบ้างอะไรจะเกิดขึ้น? ช่างซ่อมที่ต้องทำยอดอาจแนะนำให้ลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการต้องซ่อมแซมรถเกินความจำเป็น นานวันเข้าลูกค้าอาจจะรู้สึกว่าพวกเขาเสียเงินมากเกินไปโดยเปล่าประโยชน์ หงุดหงิด และรำคาญจนอาจไม่เข้ามาใช้บริการที่อู่อีกต่อไป
ในอีกแง่มุมหนึ่งแนวคิดแครอทกับไม้เรียวก็ยังเหมาะกับงานที่ไม่ต้องใช้ความรู้อะไรมากนัก เช่น พับกล่องบรรจุภัณฑ์ หรืองานที่ต้องทำซ้ำๆ เป็นชิ้นๆ แต่วิธีนี้อาจไม่ยั่งยืนนัก เพราะเมื่อแรงจูงใจหมด บริษัทก็ต้องเพิ่มแครอทให้มากขึ้นแทน ส่วนงานที่ต้องอาศัยความคิดสร้างสรรค์หรือความรู้เยอะๆ วิธีนี้คงไม่เหมาะอีกต่อไป
เปลี่ยนมาจูงใจคนด้วยการสร้างแรงจูงใจจากภายใน
แดเนียลเสนอแนวคิดว่า เราควรจูงใจคนโดยการสร้างแรงจูงใจจากภายใน เพราะนี่คือแรงจูงใจที่ทรงพลังแถมยั่งยืนกว่าชื่อเสียงและเงินทอง ซึ่งการสร้างแรงจูงใจจากภายในมี 3 ขั้นตอนด้วยกันคือ
1.มอบอิสระ
มนุษย์ต้องการอิสระ ทุกคนต้องการอิสระในการคิดและอิสระในการทำงานด้วย ยิ่งมนุษย์รู้สึกมีอิสระมากเท่าไหร่ พวกเขาก็จะรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่ามากขึ้นเท่านั้น
ดังนั้นแทนที่คุณจะเลือกควบคุมการทำงานของทีมอย่างเข้มงวดทุกขั้นตอน คุณอาจเปลี่ยนเป็นผ่อนปรนบางอย่างเพื่อมอบอิสระในการคิดและการทำงานให้กับพวกเขา ทุกวันนี้หลายบริษัทเริ่มทดลองให้พนักงานสามารถทำงานจากที่บ้านได้โดยไม่จำเป็นต้องเข้าออฟฟิศ ผลก็คือพนักงานมีความสุขมากขึ้นแถมยังทำงานได้ดีขึ้นด้วย
2.สนุกกับงานจนลืมเวลา
คุณลองจินตนาการถึงช่วงที่คุณสนุกไปกับงานจนมารู้สึกตัวอีกทีเวลาก็ผ่านไปอย่างรวดเร็วโดยไม่ทันรู้ตัว ในช่วงเวลาแบบนี้คุณจะได้บ่มเพาะความเชี่ยวชาญไปเรื่อยๆ จนแทบลืมวันลืมคืน
นักฟุตบอลที่อยากเก่งขึ้น ช่างภาพที่อยากถ่ายภาพได้หลากหลายขึ้น หรือนักแปลที่อยากแปลงานได้ดีขึ้น คนเหล่านี้คือคนที่พร้อมทุ่มเทสมาธิและเวลาทั้งหมด เพื่อพัฒนาตัวเองให้เก่งขึ้น ซึ่งผมเชื่อว่าพวกเขาต้องทำผลงานได้ดีกว่าคนที่ขาด “ความสนุก” นี้แน่นอน
3.มีเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่
บางคนอาจทำงานโดยมีเป้าหมายว่า “ฉันอยากร่ำรวย” หรือ “ฉันอยากมีชื่อเสียง” แต่แดเนียลบอกว่าคนเราต้องมีเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่กว่าตัวเอง แล้วสิ่งนี้จะสร้างแรงจูงใจที่ทรงพลังขึ้นมาได้
คนที่เคยมีเป้าหมายว่า “ฉันอยากร่ำรวย” เมื่อถึงเวลาที่เขาทำเป้าหมายนี้สำเร็จ เขาก็อาจจะหมดแรงจูงใจในการทำงาน แต่คนที่มีเป้าหมายที่ใหญ่กว่านั้นเช่น “ฉันอยากช่วยเหลือสังคม” กลับมีพลังแฝงให้พวกเขามุ่งมั่นทำต่อไปเรื่อยๆ แถมทุกอย่างที่พวกเขาทำก็ย้อนกลับมาเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับตัวเองด้วย
สรุปสุดท้ายก่อนวางหนังสือ Drive
แม้แนวคิดแครอทกับไม้เรียวอาจจะไม่เหมาะนักในการจูงใจคนในระยะยาว แต่แนวคิดนี้ก็เหมาะในระยะสั้น เพราะต่อให้หัวหน้าคนไหนสร้างแรงจูงใจจากภายในให้ทีมงานได้ แต่กลับละเลยที่จะสร้างความมั่นคงพื้นฐานในชีวิตด้วยเงินเดือน สวัสดิการ หรือโบนัสที่เหมาะสมอย่าง “แครอท” ทีมงานคนนั้นก็คงไม่อยากทำงานกับหัวหน้าแบบนี้อยู่ดี
ถ้าคุณอยากได้แนวคิดดีๆ เพื่อสร้างแรงจูงใจที่ทรงพลังยิ่งกว่า “ชื่อเสียงและเงินทอง” หนังสือ Drive จะมีคำตอบให้คุณ เมื่อคุณสามารถจูงใจทีมงานให้เต็มที่ไปกับงานสำเร็จ งานของคุณก็จะยิ่งเจริญก้าวหน้าตามไปด้วยอย่างแน่นอน
ถ้าคุณมีเวลาว่าง ผมแนะนำให้ลองเข้าไปฟังแดเนียล พิงค์พูดในหัวข้อ The puzzle of motivation จากเวที Ted Talk ดูนะครับ เขายังมีเรื่องน่าสนใจรอให้คุณฟังอีกเพียบเลย
หนังสืออื่นที่น่าสนใจไม่แพ้ Drive
- แรงจูงใจจากภายในสร้างได้ด้วยเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ในชีวิต ซึ่งถ้าให้พูดถึงหนังสือสักเล่มที่เขียนถึงเรื่อง “การให้” ได้ดีที่สุดเล่มหนึ่ง สำนักพิมพ์บิงโกขอแนะนำให้คุณลองอ่านสรุปหนังสือเรื่อง Give and Take ผลงานระดับ Best Seller จากฝีมือของอดัม แกรนท์ กันดูนะครับ
- นอกจากจะต้องรู้จักวิธีจูงใจทีมงานให้ได้ผลแล้ว ยังมีอีกหลายเรื่องที่หัวหน้าที่ดีต้องรู้จัก ซึ่งคุณสามารถหาคำตอบนี้ได้ในหนังสือแปลจากญี่ปุ่นเรื่อง เปลี่ยนคนธรรมดาให้มีหัวผู้นำใน 3 ชั่วโมง
- อีกหนึ่งหนังสือเกี่ยวกับผู้นำที่น่าสนใจก็คือ Leader Eat Last จากฝีมือของซิมอน ซิเนค ซึ่งสำนักพิมพ์บิงโกได้ทำสรุปข้อคิดดีๆ จากเล่มนี้เอาไว้ให้คุณแล้ว
- บุคลิกและการแสดงออกก็เป็นอีกเรื่องสำคัญที่คอยสร้างความประทับใจให้กับผู้อื่นได้ สำนักพิมพ์บิงโกขอแนะนำหนังสือ ทำอะไรใครก็ Like ด้วยเทคนิคมัดใจใน 90 วินาที ของนิโคลัส บูธแมน นักจิตวิทยาคนเก่งจากเกาะอังกฤษที่จะมาเผยเคล็ดลับมัดใจคนได้ภายในเวลาเพียง 90 วินาที!
Pingback: สรุปหนังสือ To Sell is Human เมื่อทุกอาชีพกลายเป็น "เซลส์ขาย" - สำนักพิมพ์บิงโก
Pingback: สรุปหนังสือ Tribes เป็นหัวหน้าเผ่าในโลกสมัยใหม่ - สำนักพิมพ์บิงโก