ใครกำลังสนใจหรืออยากลองสร้างธุรกิจ SME สตาร์ทอัพฟังทางนี้ค่ะ
ในยุคที่ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด จะให้อยู่ติดตลาดได้นานๆ ก็เห็นจะเป็นไปได้ยาก ยิ่งให้กำไรเป็นกอบเป็นกำยิ่งยากเข้าไปอีก ดูได้จากร้านรวง ทั้งออนไลน์และออฟไลน์ ที่วายกันเป็นแถบๆ สาเหตุก็แตกต่างกันไป สำหรับบางแห่งอาจจะเพราะปัญหาเงินทุน หรือบางแห่งอาจจะมีปัญหาเรื่องไอเดียก็เป็นไปได้อีกเช่นกัน
แต่ในขณะเดียวกันธุรกิจที่สำเร็จและไปได้สวยก็มีให้เห็นไม่น้อย ดูอย่าง เจน รูบิโอ และ สเตฟานี โครีย์ เจ้าของธุรกิจกระเป๋าเดินทาง Away Luggage ที่มีมูลค่าประเมินถึง 1 พัน 4 ร้อยล้านดอลลาร์ และวันนี้พวกเธอจะมาบอกให้คุณผู้อ่านของบิงโกได้รู้ว่า
- การทำธุรกิจให้รุ่งนั้นไม่ใช่เรื่องเกินเอื้อม
- “กฎเหล็ก 3 ข้อ” ที่พวกเธอใช้จนประสบความสำเร็จมาแล้ว จะช่วยให้คุณสร้างสินค้าที่เอาชนะใจลูกค้าได้อย่างแท้จริง
- เงินทุนเป็นเรื่องรอง
แต่ก่อนจะเข้าประเด็นหลัก เราไปเรียกน้ำย่อยด้วยการทำความรู้จักกับ Away กันเล็กน้อยก่อนดีกว่าค่ะ
Away ถูกก่อตั้งขึ้นมาในปี 2015 โดยเจน รูบิโอ และสเตฟานี โครีย์ ทั้งคู่เป็นเพื่อนร่วมงานและรู้จักกันที่บริษัทขายแว่น Warby Parker ซึ่งบริษัทแห่งนี้นี่เองที่เป็นแรงบันดาลใจให้ Away ออกแบบวิธีการขายที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่เรียกว่า direct-to-consumer หรือก็คือการขายแบบส่งตรงถึงมือลูกค้า ไม่ผ่านคนกลาง
แม้ตอนนี้ Warby Parker และ Away จะไม่ได้ขายของแค่บนเว็บไซต์แล้ว และมีร้านสาขาเป็นของตัวเองไปทั่วโลก แต่ทั้งสองบริษัทก็ยังปฏิเสธการขายผ่านตัวแทนอย่างอะเมซอน (amazon.com ร้านค้าปลีกออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ตามไปอ่านเกี่ยวกับชายผู้อยู่เบื้องหลังเว็บไซต์แห่งนี้กันได้ที่ The Everything Store) โดยเฉพาะ Away ที่อะเมซอนตื๊อติดต่อไปหาหลายครั้งหลายครา บอกว่าลูกค้าค้นหากระเป๋าของ Away บ่อยเหลือเกิน มาร่วมงานกับเราเถอะ แต่พวกเธอก็ตอบกลับไปแบบสวยๆ ว่า
คุณรู้ไหมล่ะว่าลูกค้าจะทำไงต่อถ้าพวกเขาหากระเป๋าของเราบนอะเมซอนไม่เจอ? พวกเขาก็จะมาที่เว็บไซต์เราไง
แน่นอนว่าเมื่อค้นหาแล้วไม่เจอ อะเมซอนก็จะแนะนำให้คนไปซื้อกระเป๋าเดินทางแบรนด์ของอะเมซอนแทน แต่เจนก็ยังเชิดใส่ได้อีก
บางคนเขาก็ซื้อนะคะ แต่ถ้าเขาซื้อของพวกนั้น พวกเขาก็ไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายของเราตั้งแต่แรกแล้วล่ะค่ะ
เจนและสเตฟเชื่อว่าความสัมพันธ์กับลูกค้านั้นเป็นสิ่งสำคัญมาก และความเชื่อนี้เองที่ส่งให้แบรนด์ Away โด่งดังบนโซเชียลสุดฮิตอย่างอินสตาแกรม เราจะได้อ่านกันต่อไปว่าพวกเธอสร้างแบรนด์ด้วยอินสตาแกรมได้ยังไง
ผู้ก่อตั้ง
Stephanie Korey
สเตฟานี โครีย์ เกิดและโตที่อเมริกา รัฐโอไฮโอ โดยเธอได้เดินทางไปหาคุณพ่อในแถบยุโรปและตะวันออกกลางอยู่บ่อยครั้ง เธอจบปริญญาตรีที่มหา’ลัยบราวน์ สาขาการระหว่างประเทศ และได้ MBA จากมหา’ลัยโคลัมเบีย เธอได้ทำงานอีก 2-3 แห่งก่อนจะได้มาลงเอยที่ Warby Parker ในตำแหน่งหัวหน้าด้านซัพพลายเชน (supply chain หรือ ห่วงโซ่อุปทาน แปลอีกทีว่าเป็นกระบวนการต่างๆ ในการทำให้เกิดสินค้าขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นการจัดซื้อ จัดเก็บ ผลิต เป็นต้น …ห่วงโซ่อุปทานไม่ใช่ห่วงโซ่อาหารนะคะคุณผู้อ่าน) และได้พบกับเจน รูบิโอ
Jen Rubio
เจน รูบิโอ เกิดที่ฟิลิปปินส์ แต่มาโตที่นิวเจอร์ซีย์ เธอได้เข้าเรียนที่มหา’ลัยเพนสเตท แต่ลาออกก่อนจบเพื่อมาตามหาความฝันในการเป็นนักธุรกิจของตัวเอง เธอเคยทำงานที่ Warby Parker ตำแหน่งของเธอคือ หัวหน้าทีมโซเชียลมีเดีย ซึ่งประสบการณ์ด้านนี้ของเจนจะมีบทบาทอย่างมากในการสร้างบริษัท Away
รู้จัก Away และผู้ก่อตั้งสาวสวยทั้งสองกันไปคร่าวๆ แล้ว เราไปดูกันต่อเลยดีกว่าค่ะว่าพวกเธอหาแรงบันดาลใจและไอเดียมาจากไหนในการทำกระเป๋าเดินทาง ทำไมถึงเป็นกระเป๋าเดินทาง? และพวกเธอใช้ “กฎเหล็ก 3 ข้อ” แบบไหนในการทำธุรกิจจนประสบความสำเร็จแถมยั่งยืนมาจนถึงทุกวันนี้ได้? ว่าแล้วก็ไปเริ่มกันที่…
กฎข้อที่ 1 สร้างฐานแฟนคลับ
ในปี 2015 กระเป๋าเดินทางของเจนเกิดมาชำรุดที่กลางสนามบินซูริค และเธอก็หาเปลี่ยนกระเป๋าเดินทางใบโปรดของเธอไม่ได้ เจนและเพื่อนรักของเธอ สเตฟานี (ชื่อเล่นว่า สเตฟ) เลยตัดสินใจสร้างบริษัทผลิตกระเป๋าเดินทางเองซะเลย ซึ่งต่อมาบริษัทแห่งนี้จะเป็นบริษัทที่นักท่องเที่ยวและนักผจญภัยทั่วโลกต่างก็หลงรัก
แต่ปัญหามันอยู่ที่ทั้งสองคนไม่มีประสบการณ์ด้านการผลิตกระเป๋าเดินทางเลย สเตฟจำได้ว่าตอนนั้นเธอกับเจนบินไปจีนเพื่อไปหาโรงงานทำกระเป๋า “ชั้นเลิกเรียนแล้วก็ไปสนามบินเจเอฟเค แล้วก็เลยไปเอเชียเลยค่ะ” สเตฟทำข้อสอบเทคโฮมเสร็จในห้องนอนของโรงแรมระหว่างการไปหาโรงงานครั้งนั้น
พวกเธอเจอโรงงานที่อยากร่วมงานด้วยในที่สุด แต่ปัญญาต่อไปก็คือ ไม่มีเงินทุน จะให้ขายกระเป๋าก่อนจะมีกระเป๋าก็ไม่ได้
แทนที่จะขายกระเป๋าที่พวกเธอยังไม่มี พวกเธอเลือกที่จะทำหนังสือท่องเที่ยวออกมาขาย และให้กระเป๋าเป็นของแถมในทุกการสั่งซื้อ
สเตฟบอกว่า ตอนนั้นพวกเธอถามตัวเองว่า “เราจะใส่เรื่องราวลงไปยังไงให้ผู้คนรู้สึกอยากทำตามดีนะ? เจนเลยคิดไอเดียเรื่องหนังสือท่องเที่ยวนี่ขึ้นมาได้ จากนั้นเราก็พากันไปสัมภาษณ์บุคคลที่น่าสนใจในแวดวงครีเอทีฟ 40 คน อย่างนักเขียน ศิลปิน แล้วก็ช่างภาพค่ะ”
คนที่พวกเธอสัมภาษณ์ล้วนมีผู้ติดตามบน Instagram จำนวนไม่น้อย ทันทีที่พวกเขาช่วยกันบอกต่อเรื่องราวเกี่ยวกับหนังสือ Places We Return To (ที่ที่เราไปเยือน) บนอินสตาแกรมของตัวเอง ก็เกิดเป็นกระแสไวรัลขึ้นจนยอดขายหนังสือทะลุ 1,200 เล่มในเวลาอันรวดเร็ว (เท่ากับขายกระเป๋าได้ 1,200 ใบ)
สเตฟยังบอกอีกว่า “มันเป็นหนังสือปกแข็งที่สวยมากๆ เลยล่ะค่ะ เราเรียกมันว่า ‘ที่ที่เรากลับไปเยือน’ เราไม่ได้จ้างคนที่เราสัมภาษณ์ แต่เราให้เป็นกิฟต์การ์ดสำหรับกระเป๋าเดินทาง 1 ใบแทน ในเดือนพฤศจิกายนปี 2015 เราขายหนังสือพร้อมกิฟต์การ์ดที่เอามาแลกกระเป๋าเดินทางในเดือนกุมภาพันธ์ได้ ว่าง่ายๆ ก็พรีออเดอร์กระเป๋าที่แถมหนังสือนั่นเองล่ะค่ะ”
ผลลัพธ์ที่ตามมาน่ะเหรอ?
เจนและสเตฟทำยอดขายได้ 12 ล้านดอลลาร์ภายในปีแรก ด้วยการสร้างฐานแฟนคลับก่อน แล้วค่อยโปรโมตผลิตภัณฑ์ตามมา
กฎข้อที่ 2 เรื่องราวสำคัญกว่าตัวสินค้า
เจนและสเตฟยังคงให้ความสำคัญกับแฟนคลับนักท่องเที่ยวของพวกเธออยู่ตลอด หลักฐานคือการปล่อยนิตยสารการท่องเที่ยวของตัวเองออกมา ในชื่อว่า “Here” และพอดแคสต์ “Airplane Mode” ที่พูดคุยเกี่ยวกับการ “ค้นหาเหตุผลที่เราออกเดินทางและสถานที่ที่เราจะได้เรียนรู้ตัวเอง”
เจนรู้ทันทีว่ามันได้ผล เพราะมีสายโทรเข้ามาอย่างต่อเนื่อง “เราสร้างแบรนด์ที่ลูกค้าไม่ได้แค่โทรมาถามเกี่ยวกับเรื่องตัวสินค้าเท่านั้น พวกเขาโทรมาที่แผนกให้บริการลูกค้าของเราเพราะอยากได้คำแนะนำดีๆ ก่อนออกเดินทางครั้งต่อไปค่ะ!”
“เมื่อไหร่ก็ตามที่เราพูดถึงอุตสาหกรรมกระเป๋าเดินทาง เราก็จะเห็นว่ามีแต่เรื่องคุณสมบัติการใช้งานของกระเป๋า ไม่มีเจ้าไหนพูดถึงการเดินทางจริงๆ เลย”
เราบอกเล่าเรื่องราวที่ไม่เคยปรากฏที่ไหนมาก่อน และทำให้เหมือนว่าคุณได้ฟังเรื่องราวจากปากของเพื่อนสนิท ชั้นว่านี่แหละคือจุดที่ทำให้เราพิเศษกว่าเจ้าอื่นๆ
กฎข้อที่ 3 คุณภาพก่อนปริมาณ
ในช่วงที่ Away เติบโตเรื่อยๆ เจนและสเตฟก็ยังไม่เพิกเฉยกับเรื่องเล็กๆ น้อยๆ อย่างการแชร์ภาพการเดินทางของลูกค้าของพวกเธอ “แม้แต่ตอนที่เรามีคนติดตามแค่ 500 ถึง 1,000 คน เราก็ยังแชร์ภาพของพวกเขา เราส่งเสริมนิสัยการแชร์ในวงของเรา”
เจนและสเตฟยังมีกิจกรรมต่างๆ อย่างการแจกของแถมและจัดการแข่งขันบนโซเชียลมีเดียของ Away ทำให้เกิดการโปรโมตแบบปากต่อปาก
ส่วนในเรื่องตัวกระเป๋าเดินทางของ Away เอง เจนและสเตฟไม่ขอแข่งกับผู้ผลิตรายใหญ่ พวกเธอปล่อยให้ลูกค้าตกแต่งกระเป๋าเดินทางของตัวเองได้ สเตฟบอกว่า “มันไม่ใช่การให้ทำอักษรย่อชื่อตัวเองแบบทั่วๆ ไป เพราะเจนคิดไอเดียเจ๋งๆ เรื่องการจับมือร่วมกับนักเขียนลายมือขึ้นมาได้ค่ะ”
“ศิลปินแต่ละคนจะคิดฟอนต์เพื่อ Away ขึ้นมาโดยเฉพาะ แล้วเราก็จะเอาแต่ละดีไซน์มาอัพโหลดขึ้นเว็บไซต์ของ Away ให้ลูกค้าได้เลือกตามใจชอบ เขาเลือกอันไหน เราก็จะให้ศิลปินเจ้าของผลงานเขียนให้แบบแฮนเมดบนกระเป๋าเลย”
และด้วยการทำการตลาดที่ใส่ใจลูกค้าก่อน และให้ความสำคัญกับฐานแฟนคลับมากกว่า Away จึงขายดีเป็นเทน้ำเทท่ามากกว่า 1 ล้านใบภายใน 4 ปี และส่งให้บริษัทมีมูลค่าประเมินกว่า 1 พัน 4 ร้อยล้านดอลลาร์
เจนและสเตฟใช้เครื่องมือเทคโนโลยีและโซเชียลมีเดียให้เป็นประโยชน์ จนสามารถสร้างธุรกิจที่เติบโตอย่างก้าวกระโดดขึ้นมาได้
แล้วเราก็จะได้เห็นเหล่าผู้ประกอบการนำ “กฎ 3 ข้อในการทำธุรกิจ” มาใช้ในการเปลี่ยนผลิตภัณฑ์ธรรมดาๆ ให้ออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ที่เราทุกคนเชื่อมถึงกันได้ มากขึ้นและบ่อยขึ้นเรื่อยๆ
อย่างที่สเตฟเคยพูดไว้ว่า
อย่าไปเข็นตัวสินค้ามาก แต่คุณต้องสร้างสิ่งสนุกๆ ที่คนอยากบอกต่อ เขียนต่อ และแชร์ต่อๆ กันไปขึ้นมา
สรุปกันหน่อยหลังรู้จักกับ Away กันไปแล้ว
เจนและสเตฟใช้ “กฎเหล็ก 3 ข้อในการทำธุรกิจ” ซึ่งทั้งหมดนั้นบอกให้เราได้รู้ว่า
- ถ้ามีแฟนคลับ อะไรก็ง่ายไปหมด Away มีคนติดตามผลงานจากหนังสือ “ที่ที่เรากลับไปเยือน” ก่อนจะทำสินค้าที่พวกเธอจะขายจริงๆ หรือก็คือกระเป๋าเดินทางขึ้นมาเสียอีก และเมื่อปล่อยสินค้าออกมาแล้ว แฟนๆ ก็จะช่วยคุณกดไลค์กดแชร์ ถือเป็นการช่วยโปรโมตไปในตัว หรือแม้แต่ซื้อสินค้าของคุณด้วย อย่าลืมใช้เทคโนโลยีให้เป็นประโยชน์นะคะ
- ใส่เรื่องราวให้สินค้ามีความน่าสนใจ ดีกว่าการขายของแบบทื่อๆ เจนและสเตฟอาจจะข้ามไปอีกขั้นด้วยการทำนิตยสารและพอดแคสต์ สำหรับคุณผู้อ่านก็อาจจะลองมองหาทางเลือกอื่นๆ ที่ไม่ใช่แค่การแปะป้ายราคาเพียงอย่างเดียว เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า และคอนเนคต์กับลูกค้าไปด้วยในตัว
- เน้นคุณภาพ ไม่เน้นปริมาณ เพราะปริมาณหมายถึงคุณภาพที่ด้อยลง หรือต้นทุนที่สูงกว่าหากคุณอยากรักษาคุณภาพไว้ Away เลือกศิลปินมาสร้างงานแฮนด์เมดให้กับพวกเธอเพื่อสร้างความเป็นเอกลักษณ์ แม้จะใช้เวลา แต่เมื่อแลกกับความพึงพอใจของลูกค้าก็ถือว่าคุ้มค่า
นอกจากนี้แล้ว ยังมีสิ่งสำคัญอีกอย่างที่คุณผู้อ่านบางคนอาจมองข้ามไป ตรงประเด็นที่ว่าการทำธุรกิจไม่จำเป็นต้องเป็นการค้าขายแบบเถรตรง หรือซื้อมาขายไปเสมอไป เมื่อเจนและสเตฟไม่มีเงินทุนผลิตกระเป๋า เจนก็คิดไอเดียพรีออเดอร์สินค้าโดยการทำหนังสือขึ้นมาขายก่อน และให้กิฟต์การ์ดเป็นของกำนัลมาแลกกระเป๋า แม้ไอเดียนี้อาจจะใช้ไม่ได้กับทุกสถานการณ์ของทุกคน แต่อย่างน้อยมันก็ทำให้เราตระหนักอยู่เสมอว่าเงินทุนไม่ใช่ข้อจำกัดในการทำธุรกิจ คุณจะหาทางออกอื่นๆ ได้เสมอ
แล้วคุณล่ะคะ กำลังใช้กฎเหล่านี้ในการทำธุรกิจอยู่หรือเปล่า?
บทความเกี่ยวข้องที่น่าสนใจ
แน่นอนว่าเจนและสเตฟานีไม่ใช่เจ้าแรกที่ประสบความสำเร็จอย่างล้นหลามในการสร้างสตาร์ทอัพจากเกือบ 0 ยังมีแบรนด์ดังๆ อีกมากมายที่เรารู้จักกันเป็นอย่างดี แต่ไม่เคยได้รู้จุดเริ่มต้นที่ก็ทุลักทุเลไม่แพ้ Away ไม่ว่าจะเป็น
- McDonald’s เกิดขึ้นจากชายที่ชื่อ เรย์ คร็อก ที่ล้มลุกคลุกคลานมากว่า 30 ปี และ McDonald’s ก็เป็นรูปเป็นร่างได้ก็เมื่อตอนเขาอายุ 52 ปีเข้าไปแล้ว เขาใช้ชีวิตแบบไหนมาถึงไม่รู้จักคำว่ายอมแพ้? และเขามีเคล็ดลับอะไรในการสร้าง 1 ในฟาสต์ฟู้ดเชนที่อยู่มาอย่างยาวนานจนถึงปัจจุบันได้แม้จะอายุอานามมากมายขนาดนั้น? ทั้งหมดอยู่ในหนังสือ Grinding It Out
- Nike แบรนด์กีฬาที่ใครๆ ได้ยินก็ต้องร้องอ๋อถูกสร้างขึ้นมาโดย ฟิล ไนท์ บัณฑิตจากสแตนฟอร์ดในวัยเพียง 24 ปี แต่การศึกษาก็ยังไม่อาจการันตีความสำเร็จ ฟิลยังต้องลองผิดลองถูกแทบนับครั้งไม่ถ้วนเมื่อเขาต้องออกเดินทางนานเกือบครึ่งปีเพื่อตามหาความฝันในการตีตลาดรองเท้าอเมริกา และไทม์ไลน์ในทุกย่างก้าวระหว่างช่วงชีวิตนั้น จนถึงวันที่ Nike มาอยู่ในมือของพวกเราก็ถูกแพ็คจนแน่นเอี๊ยดแล้วในหนังสือ Shoe Dog
- Walmart มีคุณพ่อผู้ให้กำเนิดคือแซม วอลตัน ที่เกิดมาในครอบครัวยากจน และในยุคที่เศรษฐกิจฝืดเคืองถึงที่สุด แต่งานเด็กส่งหนังสือพิมพ์ก็ทำให้เขาเรียนจบมหา’ลัยจนเปิดร้านค้าที่เป็นต้นแบบของวอลมาร์ทขึ้นมาจนได้ และกลยุทธ์ที่เขาใช้ก็ธรรมดาจนน่าเหลือเชื่อ แล้วอะไรที่ทำให้วอลมาร์ทประสบความสำเร็จมากกว่าร้านค้าปลีกอื่นๆ? ตามไปอ่านกันต่อได้ที่หนังสือ Sam Walton: Made in America
- Amazon สำหรับเจฟ เบซอส ผู้ชายที่รวยที่สุดในโลก เขาอาจจะไม่ได้ลำบากเท่าคนอื่นๆ ในลิสต์นี้ ด้วยเงินลงทุนกว่าแสนดอลลาร์ที่ได้มาจากพ่อ แต่ความเสี่ยงระหว่างความสำเร็จและล้มเหลวนั้นก็สูงท่วมหัวไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน ทว่า ท้ายที่สุดเว็บไซต์ Amazon ร้านค้าปลีกออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกก็ถือกำเนิดขึ้น เรื่องราวเป็นยังไงไปติดตามรายละเอียดกันต่อที่หนังสือ The Everything Store
หนังสือแนะนำเพิ่มเติมจากสำนักพิมพ์บิงโก
- Away เป็นบริษัทผลิตกระเป๋าเดินทางสำหรับนักเดินทางโดยเฉพาะ และการเดินทางก็มีหลายรูปแบบด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นเพื่อหน้าที่การงานหรือเพื่อการพักผ่อน แต่สำหรับคนที่อยากควบทั้งสองอย่าง หนังสือ คนเก่งพักเป็น จะบอกคุณว่าการพักผ่อนแบบไหนที่ทำให้คุณกลายเป็นคนเก่งได้ด้วย
- “กฎเหล็ก 3 ข้อ” ในการทำธุรกิจในบทความนี้เป็นหนทางหนึ่งสู่ความสำเร็จเท่านั้น เราจึงอยากขอนำเสนอหนังสือ เปลี่ยนคนธรรมดาให้มีหัวธุรกิจใน 3 ชั่วโมง จากประเทศญี่ปุ่น เพื่อเป็นอีกทางเลือกหนึ่งให้กับคุณผู้อ่านที่สนใจหรืออยากทำธุรกิจโดยเฉพาะ
- เจนและสเตฟไม่ได้สร้างธุรกิจของตัวเองขึ้นมาในชั่วข้ามคืน แต่สูตรลัดในการทำสตาร์ทอัพก็มีอยู่จริง ขึ้นอยู่กับว่าคุณกล้าลงมือไหม ในหนังสือ สตาร์ทอัพ สร้างได้ใน 7 วัน
แหล่งศึกษาเพิ่มเติม
- ขอบคุณบทความดีๆ จากคุณ Roger Hamilton ผู้ก่อตั้ง Entrepreneurs Institute
- สาเหตุที่แท้จริงที่ Away จะยังไม่ขายสินค้าของตัวเองบนเว็บอะเมซอนภายในอนาคตอันใกล้ บนเว็บไซต์ vox recode
- เจนและสเตฟเล่าเรื่องราวก่อนจะมาเป็น Away ที่นักเดินทางต่างคลั่งไคล้ ในนิตยสาร inc
- ทำไมเจนถึงเลือกคว้าอาชีพมากกว่าเรียนให้จบ? หาคำตอบในนิตยสาร inc
- ผู้ก่อตั้งของ Away ทั้งสองคนติดอันดับ Self-Made Women List จาก Forbes
- ถาม-ตอบกับ 1 ในผู้ก่อตั้ง Away เจน รูบิโอ บนเว็บไซต์ bondstreet
- ทำความรู้จักกับ Supply Chain เพิ่มเติมบน เว็บไซต์ brandbuffet
Pingback: Luckin Coffee ร้านกาแฟอายุ 2 ขวบของจีน ที่เตรียมล้มบัลลังก์ Starbucks - สำนักพิมพ์บิงโก