คำว่า Shoe Dog มีความหมายว่า “ผู้ที่หลงใหลในรองเท้าสุดหัวใจ” และหนังสือเล่มนี้ก็คือเรื่องราวจากปากฟิล ไนท์ ผู้ที่ทำธุรกิจรองเท้าที่ตัวเองรัก และสร้างแบรนด์รองเท้า Nike จากทุน 15,000 บาทจนกลายเป็นบริษัทมูลค่า 3 ล้านล้านบาทในปัจจุบัน
รองเท้าไนกี้เริ่มขึ้นเมื่อ 50 กว่าปีก่อนเมื่อฟิลอายุ 24 ปี เขาไม่รู้ว่าจะทำอะไรดี แต่เขาชอบรองเท้า เขาจึงลองนำเข้ารองเท้าวิ่งจากญี่ปุ่นมาขาย และนั่นคือจุดเริ่มต้นของการเดินทางฝ่าอุปสรรคต่างๆ นานา จนไนกี้กลายเป็นหนึ่งในธุรกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลก
ถ้าคุณเคยอ่านหนังสือพ่อรวยสอนลูก เขาจะสอนให้รู้จัก “ให้เงินทำงาน” เพื่อที่คุณจะได้มั่งคั่งขึ้นเรื่อยๆ (ถ้าคุณอยากหัดลงทุนความเสี่ยงต่ำ บิงโกมีสรุปหนังสือ I Will Teach You To Be Rich ส่วนใครใจร้อนอยากรวยเร็ว ดูวิธีสร้างธุรกิจ 100 ล้านโดยใช้เวลา 4 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ได้ใน The 4-Hour Workweek)
แต่เมื่อคุณเห็นเส้นทางของไนกี้แล้ว คุณจะพบว่าทั้งการลงทุนและการทำธุรกิจนั้นมีความเสี่ยง มีปัญหาที่ต้องแก้ไขเสมอ (พบวิธีเปลี่ยนปัญหาเป็นความสำเร็จได้ใน Obstacle Is the Way) แต่ฟิลเลือกทำสิ่งที่เขารัก เขาจึงทำมันจนสำเร็จได้ (เปลี่ยนสิ่งที่รักเป็นเงินยังไง? อ่านต่อได้ในบทความ สรุปหนังสือ Crush It!)
ข้อคิด
- ไนกี้เกิดมาจากการทำสิ่งที่ตนรัก เพราะคุณจะเข้าใจว่าลูกค้าต้องการอะไร ฟิลเคยเป็นนักวิ่งมาก่อน เขาจึงรู้ว่านักวิ่งต้องการอะไร คิดยังไง และอยากซื้ออะไร
- ฟิลเดิมพันชีวิตกับความเชื่อนี้ สมัยที่เขาสร้างธุรกิจใหม่ๆ เขาแทบไม่มีเงินมาทำ เขาใช้เงินเดือนชนเดือนและหลายครั้งก็ไม่มีเงินมาจ่ายเจ้าหนี้ ชีวิตเขาอยู่บนความเสี่ยงอยู่หลายปี แต่เขาเชื่อว่าสินค้าของเขามีคนต้องการจริง เขาจึงไม่ยอมแพ้ (ใครที่อยากทำธุรกิจหรือกำลังสร้างธุรกิจ อย่าไปเสี่ยงแบบนั้นเลยนะครับ ลองอ่าน สรุปหนังสือ E-Myth Revisted ดูก่อน)
- พลิกวิกฤติให้เป็นโอกาส ฟิลเริ่มธุรกิจโดยการนำเข้ารองเท้าโอนิสึกะจากญี่ปุน ไม่ได้ผลิตเอง แต่เขามีปัญหากับโอนิสึกะ เขาจึงถูกบังคับให้มาทำแบรนด์ไนกี้เอง ถ้าเขาไม่เจอวิกฤติในครั้งนั้น ฟิลอาจทำงานกับโอนิสึกะไปเรื่อยๆ แล้วไม่มีไนกี้ในวันนี้ก็ได้
- รายล้อมตัวคุณด้วยคนเก่งที่คุณเชื่อใจ ทีมงานของไนกี้มีแต่คนที่ไม่น่าจะเป็นไปได้ ทั้งนักบัญชีอ้วนฉุ และอดีตแชมป์นักวิ่งที่พิการจากอุบัติเหตุ แต่พวกเขาทำงานได้ดีเยี่ยม (บริษัทเทคโนโลยีชั้นยอดอย่าง Google เองก็มีวิธีทำธุรกิจคล้ายกัน ดูรายละเอียดได้ใน สรุปหนังสือ How Google Works)
- ให้เครดิตคนอื่นที่ทำงานได้ดี อย่างเช่นชื่อ “Nike” ฟิลก็ไม่ได้คิดเอง (ตอนแรกเขาคิดว่าจะใช้ชื่อ “Dimension Six” หรือ “มิติที่ 6”) หรือสโลแกน Just Do It ก็มีคนอื่นตั้งให้
- ยอมรับข้อบกพร่องของตัวเอง ไนกี้รู้ว่าธุรกิจผิดพลาดได้เสมอ ถึงวันนี้จะประสบความสำเร็จ ก็ยังต้องตัดสินใจอย่างระมัดระวัง
อย่าหวังจะรวยในชั่วข้ามคืน ธุรกิจ 3 ล้านล้านของไนกี้เริ่มด้วยยอดขายวันละ 600 บาทเท่านั้น ขอแค่ไม่ยอมแพ้และก้าวไปเรื่อยๆ คุณจะสำเร็จในที่สุด - สร้างชื่อเสียงให้แบรนด์ของคุณด้วยสินค้าที่ยอดเยี่ยม (รองเท้าสวย ใส่สบาย ใช้งานดี) และยอมจ่ายค่าการตลาดให้คนดังช่วยโฆษณา
- ไม่มีความสำเร็จใดไม่มีปัญหา ไนกี้ประสบปัญหาตลอดเวลาที่ธุรกิจเติบโต ทั้งการฟ้องร้องจากบริษัทรองเท้าโอนิสึกะ ปัญหากับโรงงานผลิตรองเท้า ขาดเงินทุน รองเท้ารุ่นใหม่ขายไม่ออก ค่าปรับจากศุลกากร แต่เนื่องจากทีมงานของไนกี้ไม่ยอมแพ้ บริษัทจึงก้าวข้ามอุปสรรคได้ในที่สุด
คำพูดเด็ดสำหรับแรงบันดาลใจ
- “อย่าสั่งคนอื่นว่าให้ทำงานยังไง กำหนดเป้าหมายแล้วปล่อยให้พวกเขาทำให้คุณตะลึง”
- “ไม่ว่าจะเป็นกีฬา ธุรกิจ หรือการทำอะไร ความมุ่งมั่นจะเอาชนะใจผู้คนในที่สุด”
- “จะมีสักกี่บริษัทที่คุณแค่บอกว่า ‘เห้ยไอ้หน้าตูด’ แล้วทีมผู้บริหารทั้งทีมหันหน้ามาเพราะนึกว่าหมายถึงตัวเอง?”
- “มันไม่น่าถูกเรียกว่า ‘ธุรกิจ’ ทั้งวันเวลาที่ยากลำบาก ค่ำคืนที่อดหลับอดนอน ความสำเร็จอันงดงาม และความสิ้นหวังนับไม่ถ้วน สิ่งเหล่านี้ไม่น่าถูกเรียกด้วยคำน่าเบื่ออย่าง ‘ธุรกิจ’ เมื่อคุณกำลังสร้างสิ่งใหม่ๆ ให้คนแปลกหน้ามีความสุข คุณกำลังเป็นส่วนหนึ่งของบทละครชีวิต คุณกำลังมีชีวิต คุณกำลังช่วยให้ผู้อื่นดื่มด่ำไปกับชีวิต”
- “คนบางคนอาจชนะผมได้ แต่เขาต้องเจ็บสาหัสก่อน” – สตีฟ พรีโฟเทน นักวิ่ง
- “การเอาชนะคู่แข่งนั้นไม่ยาก แต่การเอาชนะตัวเองคือการทุ่มเทโดยไม่สิ้นสุด”
- “ถ้าคุณใช้ชีวิตตามความฝัน ความเหน็ดเหนื่อยจะหายไป ความผิดหวังจะกลายเป็นพลัง และจุดสูงสุดจะเป็นความรู้สึกที่คุณไม่เคยสัมผัสมาก่อน”
1962 (อายุ 24) เริ่มออกเดินทาง
กว่าไนกี้จะกลายเป็นธุรกิจยักษ์ใหญ่ระดับโลก ย่อมเริ่มจากจุดเล็กๆ (อ่านวิธีสร้างธุรกิจที่ยิ่งใหญ่ในสรุปหนังสือ Zero to One และ Good to Great)
…และต่อไปนี้คือจุดเริ่มต้นนั้น
- ฟิล ไนท์ เรียนจบปริญญาโทบริหารธุรกิจจากมหาวิทยาลัย Stanford ด้วยอายุ 24 ปี เขาเป็นนักวิ่งสมัยเรียนมหาวิทยาลัย เขาจึงเกิด “Crazy Idea” ว่าจะนำเข้ารองเท้าวิ่งจากญี่ปุ่นมาขาย เขาเชื่อว่ารองเท้าญี่ปุ่นจะเข้ามาตีตลาดอเมริกาเหมือนกับที่กล้องญี่ปุ่นทำสำเร็จมาแล้ว (แค่คิดใหญ่ คุณก็ประสบความสำเร็จไปแล้ว 50% อ่านต่อได้ใน Magic of Thinking Big)
- ฟิลวางแผนไว้ชัดเจน เขาแค่ต้องบินไปญี่ปุ่น หาบริษัทรองเท้าสักเจ้า และเซ็นสัญญานำเข้ารองเท้ามาขาย เขาเชื่อว่าเขาจะ “เปลี่ยนโลก” โดยเดินทางรอบโลก (เพื่อเปิดมุมมอง) พร้อมกับไปซื้อรองเท้าจากญี่ปุ่น
- มีปัญหาอยู่ข้อ เขาไม่มีเงิน และทางเดียวก็คือขอเงินพ่อ ซึ่งเป็นคนหัวโบราณและชอบอาชีพที่มีเกียรติ ฟิลคิดว่าพ่อคงไม่อยากให้เขาเดินทางรอบโลกหรือเป็นพ่อค้าขายรองเท้าแน่ แต่ผิดคาด พ่อให้เงินเขา และฟิลก็เริ่มจากเดินทางไปฮาวาย แล้วก็ค่อยไปโตเกียว
- ฟิลชื่นชอบรองเท้า Tiger ของบริษัทโอนิสึกะ (Onitsuka) เขาจึงขอเข้าพบผู้บริหาร พอถูกถามว่ามาจากบริษัทไหน เขาก็บอกว่าบริษัท “Blue Ribbon” (เชือกสีฟ้าที่เขาติดไว้บนผนังห้องนอนสมัยเด็ก) ฟิลเริ่มพรีเซ็นต์แผนเจาะตลาดอเมริกาและวาดภาพที่จะชนะ Adidas ที่ครองตลาดอยู่ในตอนนั้น ทีมผู้บริหารตื่นเต้นมาก พวกเขาอยากเปิดตลาดที่อเมริกามานานแล้ว
- ก่อนกลับอเมริกา ฟิลเดินทางรอบโลกต่ออีก 4 เดือน เขาไปฮ่องกง ฟิลิปปินส์ กรุงเทพฯ เวียดนาม อินเดีย อียิปต์ อิสราเอล อิตาลี ปารีส เยอรมนี ออสเตรีย และอังกฤษ แรงบันดาลใจสำคัญที่สุดมาจากวิหาร Temple of Athena ในกรีซ โดยเทพี Athena เป็นเทพเจ้าที่นำพา Nike ซึ่งแปลว่า “ชัยชนะ”
1963 (อายุ 25) เกือบเลิก
- ฟิลกลับมาอเมริกาและพบว่ารองเท้าจากโอนิสึกะยังส่งมาไม่ถึง เขาส่งจดหมายไปทวงแต่ก็ได้แค่รอแม้เวลาจะผ่านไปหลายเดือน
- ระหว่างรอรองเท้า ฟิลก็ไปสอบใบอนุญาต CPA (สำหรับนักบัญชี) และทำงานเป็นนักบัญชี เขาทำงานหนัก ได้เงินเดือนดี แต่ขณะเดียวกันไฟแห่งความทะเยอทะยานของเขาก็เริ่มมอดดับลง (บิงโกมีบทความ สรุปหนังสือ The Dip หนังสือชิ้นเอกของ Seth Godin ที่บอกคุณว่าควรยอมแพ้เมื่อไร และไม่ควรยอมแพ้เมื่อไร)
1964 (อายุ 26) รองเท้ามาถึง
- ในที่สุด รองเท้า Tiger จากโอนิสึกะก็มาถึง (ใช้เวลาปีกว่าๆ) ฟิลชอบรองเท้ามาก
- ฟิลส่งรองเท้าไปให้บิล โบเวอร์แมน อดีตโค้ชวิ่งของเขาที่ชอบสร้างรองเท้าวิ่งเองจากหนังจิงโจ้และปลาค้อด แล้วจับฟิลเป็นหนูทดลองรองเท้าวิ่งเสมอ
- บิลขอเป็นหุ้นส่วนทันทีที่เห็นรองเท้าโอนิสึกะคู่นั้น ทั้งคู่แบ่งหุ้น 51-49 โดยฟิลได้ 51% หลังจากนั้นพวกเขาก็ลงทุนคนละ 500 ดอลลาร์หรือ 15,000 บาทเพื่อซื้อรองเท้า 300 คู่มาขาย (ฟิลยืมเงินพ่ออีกรอบ ซึ่งก็ไม่ค่อยเต็มใจให้ลูกลาออกจากงานนักบัญชีที่มีเกียรติ มาเร่ขายรองเท้า)
- ช่วงแรกพวกเขาขายรองเท้าผ่านร้านค้า ซึ่งขายไม่ดี แต่พอฟิลเอารองเท้าไปขายตรงให้นักกีฬาวิ่งและโค้ช ทุกคนต่างก็ชื่นชอบ “รองเท้าญี่ปุ่นคุณภาพดีราคาถูก” และบอกปากต่อปาก บางคนถึงกับมาขอซื้อรองเท้าโอนิสึกะถึงบ้าน เพียง 3 เดือนรองเท้าทั้ง 300 คู่ก็ขายหมดเกลี้ยง
- ฟิลกู้เงินจากธนาคารมาเตรียมซื้อรองเท้าล็อตถัดไปอีก 900 คู่ แต่จู่ๆ เขาก็ได้รับจดหมายจากโค้ชมวยปล้ำแปลกหน้าที่อ้างว่าตัวเองมีสิทธิ์จำหน่ายรองเท้าโอนิสึกะเพียงผู้เดียวในอเมริกา และฟิลต้องหยุดขายรองเท้าทันที ฟิลพยายามติดต่อโอนิสึกะ… แต่เรื่องเงียบกริบ
- หลังจากรอเป็นเดือนๆ โดยที่ไม่มีรองเท้าขาย ฟิลตัดสินใจเดินทางไปพบผู้บริหารโอนิสึกะที่ญี่ปุ่น นี่คือจุดชี้ชะตาของเขา ถ้าเขาโน้มน้าวโอนิสึกะไม่ได้ อนาคตของไนกี้ก็จบที่นี่
- ปรากฏว่าเจ้าของบริษัทโอนิสึกะถูกใจฟิลมาก เพราะไฟแรงเหมือนตัวเองสมัยยังหนุ่ม ฟิลได้สิทธิขายรองเท้าวิ่งในอเมริกาฝั่งตะวันตก 13 รัฐแต่เพียงผู้เดียวเป็นเวลาทดลอง 1 ปี พร้อมสิทธิซื้อรองเท้าอีก 3,000 คู่
- ก่อนกลับอเมริกา ฟิลไปปีนภูเขาไฟฟูจิเพื่อฉลองที่เจรจาได้สำเร็จ เขาพบสาวอังกฤษชื่อซาร่า ลูกสาวเจ้าของบริษัทช็อคโกแลตยักษ์ใหญ่ ทั้งคู่สานความสัมพันธ์อยู่เกือบปี แต่สุดท้ายก็เลิกราเพราะพ่อแม่เธอไม่ชอบเขา
- เมื่อรองเท้าล็อตใหม่มาถึง ฟิลยังไม่มีกะจิตกะใจทำอะไร เขาอกหักจากซาร่าอยู่หลายสัปดาห์ก่อนตั้งตัวกลับมาใหม่ โดยมีน้องสาวคอยให้กำลังใจ
1965 (อายุ 27) อุปสรรคขวากหนาม
- ตอนนี้ฟิลมีรองเท้าโอนิสึกะล็อตใหญ่พร้อมขายแล้ว แต่การทำธุรกิจขายรองเท้าวิ่งในยุคนั้นไม่ง่ายเหมือนสมัยนี้
- ข้อแรก สมัยนั้นไม่มีใครวิ่งออกกำลังกายกัน (การแพทย์ในปีพ.ศ. 2508 ยังล้าหลังมาก คนแทบไม่รู้จักโรคหัวใจด้วยซ้ำ) ฟิลจึงขายรองเท้าวิ่งให้นักกีฬาได้เท่านั้น ซึ่งเป็นคนกลุ่มเล็กมาก
- ข้อที่สอง ธนาคารกลัวว่าธุรกิจโตเร็วเกินไป ทุกครั้งที่ฟิลนำเข้ารองเท้าและขายได้หมด เขาจะสั่งสินค้าล็อตใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ และถ้ายอดขายไม่เป็นไปตามแผนเมื่อไหร่ บริษัทจะมีปัญหาทันที ธนาคารจึงระวังเรื่องการปล่อยกู้อย่างมาก นอกจากนี้ บริษัทโอนิสึกะที่ญี่ปุ่นยังส่งรองเท้าช้า ซึ่งก็มากินเวลาขายรองเท้า ซึ่งก็ทำให้หาเงินมาจ่ายหนี้ยากขึ้นอีก
- ฟิลเองก็กลัวธุรกิจเจ๊งเหมือนกัน เขากลับไปทำงานประจำเป็นนักบัญชีที่ Price Waterhouse เพื่อปิดความเสี่ยง งานนี้ยังช่วยให้เขาสัมผัสธุรกิจหลากหลายประเภทด้วย
- กิจการขายรองเท้าเริ่มขยายตัว ฟิลจึงจ้างเจฟ จอห์นสัน เพื่อนสมัยเรียนที่มหาวิทยาลัย Stanford มาเป็นพนักงานขายคนแรกในเมืองลอสแอนเจลิส
- อีกด้าน บิล โบเวอร์แมน ก็เริ่มโด่งดังเมื่อลูกศิษย์นักวิ่ง 2 คนได้เหรียญโอลิมปิกกลับมา บิลยังชอบออกแบบรองเท้า เขาพบว่าคนญี่ปุ่นกับอเมริกันมีลักษณะเท้าต่างกัน รองเท้าโอนิสึกะต้องปรับเปลี่ยนดีไซน์จึงจะขายในอเมริกาได้มากกว่านี้
- บิลเขียนดีไซน์รองเท้าส่งไปให้โอนิสึกะจำนวนมาก แต่ไม่มีใครสนใจ บิลจึงลองทำรองเท้าเองที่บ้านเสียเลย ซึ่งออกมาดีกว่าของโอนิสึกะมาก… ตรงนี้เองคุณคงเริ่มเห็นภาพจุดกำเนิดไนกี้แล้วครับ
1966 (อายุ 28) สร้างรากฐาน
- พนักงานคนแรกของ Blue Ribbon เจฟ จอห์นสัน เป็นคนบ้าที่ไฟแรง เขาส่งจดหมายกองเป็นภูเขาถึงฟิล เพื่อรายงานการขายและข้อมูลลูกค้าทุกวัน (สมัยนั้นไม่มีอีเมล เขาจึงส่งจดหมายทุกวัน) เขาเสนอไอเดียการตลาด (ฟิลไม่เชื่อในการตลาด) ดีไซน์รองเท้า (แค่บิลคนเดียวก็คิดดีไซน์ใหม่มากพอแล้ว) และยืนยันจะเปิดร้านค้าให้ได้ เจฟไฟแรงขนาดที่แม้ถูกรถชนจนกระโหลกร้าว เขาก็ยังขายรองเท้าต่อ
- ฟิลเหนื่อยใจกับเจฟ แต่ก็ปล่อยให้เขาทำไป ฟิลมีวิธีทำธุรกิจแบบ “อย่าสั่งคนอื่นว่าให้ทำงานยังไง กำหนดเป้าหมายแล้วปล่อยให้พวกเขาทำให้คุณตะลึง” (บริษัทชั้นยอดอย่าง Google เองก็มีวิธีทำธุรกิจคล้ายกัน ดูรายละเอียดได้ใน How Google Works) และเจฟก็ทำให้ตะลึงได้จริงๆ เจฟสร้างฐานลูกค้านักวิ่งขนาดใหญ่ที่คอยมาขอคำปรึกษาเรื่องการวิ่งอย่างสม่ำเสมอ เมื่อฟิลท้าให้เขาขายรองเท้า ล็อตใหญ่ 3,250 คู่ในเวลาไม่กี่เดือน เจฟก็ขายได้ ฟิลจึงเปิดร้านรองเท้าให้เจฟในลอสแอนเจลิส ซึ่งเจฟได้สร้างร้านนี้ให้กลายเป็นจุดนัดพบขึ้นชื่อของผู้ที่ชื่นชอบการวิ่ง
- เจฟเป็นคนได้ข่าวจากลูกค้าว่าอดีตคู่แข่งรองเท้า Tiger ได้กลับมาขายรองเท้าอีกครั้ง และเริ่มมีการขายในพื้นที่ของ Blue Ribbon ทำให้ฟิลตัดสินใจบินไปญี่ปุ่นเพื่อคุยกับผู้บริหารโอนิสึกะให้รู้เรื่อง (ฟิลไม่มีเงิน จึงต้องรูดบัตรเครดิตเป็นค่าเครื่องบิน)
- ทางญี่ปุ่นไม่เชื่อว่า Blue Ribbon จะจัดจำหน่ายรองเท้า Tiger คนเดียวทั่วทั้งอเมริกาไหว พวกเขาอยากได้ผู้จัดจำหน่ายที่ใหญ่กว่านี้ ฟิลจึงคุยว่าเขาทำยอดขายสูงขึ้น 2 เท่าทุกปี เพิ่งเปิดร้านใหม่ที่ลอสแอนเจลิส และมีออฟฟิศทั้งฝั่งตะวันตกและตะวันออกของอเมริกา (เขาโกหก ที่จริงเขาไม่มีออฟฟิศฝั่งตะวันออก)
- สุดท้ายโอนิสึกะเห็นดีเห็นงาม ให้สิทธิ์จำหน่ายรองเท้า Tiger ในอเมริกาแต่เพียงผู้เดียว โดยโอนิสึกะจะส่งรองเท้าล็อตใหญ่ 5,000 คู่ไปออฟฟิศฝั่งตะวันออกที่ไม่มีอยู่จริง
- ฟิลจึงต้องเร่งเปิดออฟฟิศใหม่ที่ฝั่งตะวันออกก่อนรองเท้าจะมาถึง
1967 (อายุ 29) สาขาที่สอง
- คนเดียวที่จะบริหารออฟฟิศใหม่ได้สำเร็จคือเจฟ จอห์นสัน พนักงานคนแรกที่ไฟแรงที่สุด พ่อของเจฟเรียกร้องขอหุ้นในบริษัท Blue Ribbon พร้อมขึ้นเงินเดือนจาก $400 เป็น $600 และส่วนแบ่งกำไรหนึ่งในสามของกำไรทั้งหมด ฟิลจึงบินไปหาพ่อเจฟเพื่อเจรจา สรุปว่าขึ้นเงินเดือนเป็น $450 เท่านั้น อย่างอื่นไม่ให้ (ไม่อยากขายหุ้น และตอนนั้นบริษัทก็มีแต่หนี้ไม่มีกำไรให้แบ่ง)
- ในที่สุดบริษัท Blue Ribbon ก็ย้ายออฟฟิศจากบ้านของฟิลไปอยู่ออฟฟิศจริงเสียที ออฟฟิศใหม่ยังโทรมอยู่บ้าง ถึงแม้กำแพงชำรุดและกระจกหน้าต่างก็แตก แต่ออฟฟิศนี้เต็มไปด้วยความทะเยอทะยานของไนกี้อยู่เต็มเปี่ยม
- ฟิลเริ่มจ้างคนเพิ่มอย่างรวดเร็ว บ็อบบี้ วู้ดเดล เป็นอดีตนักวิ่งที่พิการจากอุบัติเหตุ ซึ่งมาประจำอยู่ที่ร้านสาขาที่สองในเมืองยูจีน รัฐโอเรกอน
- ด้านบิล โบเวอร์แมน (หุ้นส่วนของฟิลที่ถือหุ้น 49%) ก็ได้ออกแบบรองเท้ารุ่นใหม่ให้โอนิสึกะ ซึ่งตอนแรกตั้งว่า Aztec แต่โดน Adidas ฟ้องร้องว่าซ้ำกับชื่อรองเท้ารุ่นหนึ่งของ Adidas จึงเปลี่ยนชื่อเป็น Cortez (แม่ทัพสเปนที่พิชิตอาณาจักร Aztec ของอินเดียนแดงได้) การออกแบบรองเท้ารุ่นนี้เองที่ต่อมาจะเป็นจุดเริ่มต้นของแบรนด์ “ไนกี้” ที่มีนวัตกรรมล้ำหน้ากว่าคู่แข่งเดิมทั้ง Adidas และโอนิสึกะ
1968 (อายุ 30) สร้างความสัมพันธ์
- ปีนี้ยอดขายของ Blue Ribbon เพิ่มขึ้นอีก 2 เท่าเป็น 160,000 ดอลลาร์ (เพิ่ม 2 เท่าเป็นปีที่ 5 แล้ว) แต่บริษัทยังช็อตเงินอยู่บ่อยๆ เท่ากับว่าฟิลยังคงขายรองเท้าฟรีโดยไม่มีรายได้จากธุรกิจเลย
- ฟิลยังทำงานบัญชีอยู่ที่ Price Waterhouse 6 วันต่อสัปดาห์ ทำให้เขามีเวลาทำธุรกิจ Blue Ribbon แค่ตอนดึกกับวันอาทิตย์ ฟิลอยากมีเวลาทำธุรกิจมากขึ้น จึงลาออกไปเป็นอาจารย์สอนบัญชีที่มหาวิทยาลัย Portland State โดยที่พ่อไม่ค่อยเห็นด้วยเท่าไร
- ฟิลพบนักเรียนสาวสวยผมทองชื่อ เพเนโลป ปาร์ค หรือ “เพนนี” ซึ่งเรียนเก่งสอบได้ที่หนึ่งของห้องตลอด เธอมาขอให้ฟิลเป็นที่ปรึกษา แต่ฟิลชวนเพนนีมาเป็นนักบัญชีให้ Blue Ribbon เสียเลย ความสัมพันธ์ของทั้งสองพัฒนาอย่างรวดเร็ว ทั้งคู่หมั้นกันหลังรู้จักกันไม่กี่เดือน และแต่งงานกันในเวลาเพียงหนึ่งปี
- ระหว่างนั้น ฟิลก็เดินทางไปญี่ปุ่นเพื่อสร้างความสัมพันธ์กับบริษัทโอนิสึกะ เนื่องจากเขาทำยอดขายได้น่าประทับใจ ฟิลจึงเริ่มสนิทสนมกับคุณคิตามิ ผู้บริหารคนหนึ่งของโอนิสึกะ ฟิลพูดคุยกับคุณคิตามิหลายครั้งในช่วงหลายสัปดาห์ที่อยู่ญี่ปุ่น นอกจากนี้ ฟิลยังรู้จักกับคุณฟูจิโมโตะ พนักงานวัยกลางคนของโอนิสึกะที่่บ้านเพิ่งถูกพายุถล่ม ฟิลส่งเงินให้คุณฟูจิโมโตะ 50 ดอลลาร์เพื่อซื้อจักรยานคันที่พังไปให้ใหม่ ต่อมาคุณฟูจิโมโตะจึงกลายมาเป็น “สปาย” ในโอนิสึกะให้กับ Blue Ribbon
1969 (อายุ 31) เติบโตอย่างรวดเร็ว
- ปีนี้ยอดขายเพิ่ม 2 เท่าอีกครั้ง (เป็นปีที่ 6) กลายเป็น 300,000 ดอลลาร์ คราวนี้ฟิลถือโอกาสลาออกจากตำแหน่งอาจารย์มหาวิทยาลัยมาทำธุรกิจ Blue Ribbon เต็มตัว
- ฟิลเริ่มไม่ไว้ใจบริษัทโอนิสึกะ โดยสังเกตจากจดหมายและการคุยโทรศัพท์ช่วงหลังๆ ของคุณคิตามิ โอนิสึกะจะเพิ่มราคาขายหรือเปล่า? หรือโอนิสึกะจะหักหลังด้วยการหาผู้จัดจำหน่ายรายใหม่อีกครั้ง? ฟิลรู้สึกถึงความผิดปกติ เขาประกาศในบริษัท Blue Ribbon ว่าเขามี “สปาย” อยู่ในโอนิสึกะ ซึ่งก็คือคุณฟูจิโมโตะที่ฟิลซื้อจักรยานคันใหม่ให้
- บริษัท Blue Ribbon รับพนักงานใหม่เพิ่มขึ้นกว่า 40 คน โดยส่วนใหญ่เป็นพนักงานขายที่กระจายอยู่ทั่วอเมริกา บริษัทมีขุมกำลังหลัก 3 คน ได้แก่บ็อบ วู้ดเดล (อดีตนักวิ่งที่พิการจากอุบัติเหตุ) ที่เลื่อนเป็นผู้จัดการใหญ่ในออฟฟิศกลาง เจฟ จอห์นสัน (พนักงานคนแรกสุดไฟแรง) ที่คุมการขายฝั่งตะวันออกของอเมริกา และจอห์น บ็อค ที่คุมการขายฝั่งตะวันตก
- เมื่อก่อนฟิลไม่เชื่อในการโฆษณา แต่เขาเริ่มเข้าใจว่ามันสำคัญมาก (เราคุยกันแล้วว่าสื่อสารหรือทำการตลาดยังไงให้ดึงดูดใน Made to Stick) ในงานโอลิมปิกปี 1968 ที่เม็กซิโก เขาพบว่านักกีฬาเกือบทุกคนถูก Adidas หรือ Puma (เจ้าของเป็นพี่น้องชาวเยอรมัน) ซื้อสปอนเซอร์ไปหมด ส่วน Blue Ribbon ได้แต่ยืนดูเพราะไม่มีงบขนาดนั้น ฟิลได้แต่เก็บความแค้นนี้ไว้สู้ต่อไป (เหมือน David and Goliath ที่คนตัวเล็กเอาชนะยักษ์ใหญ่ได้ในที่สุด)
- หลังจากฟิลแต่งงานกับเพนนี พวกเขาก็ซื้อบ้านหลังใหม่โดยใช้เงินเก็บทั้งหมดเป็นค่าดาวน์ ฟิลเป็นคนขี้ลืมและซกมก แต่เพนนีก็ปรับตัวให้เข้ากับเขาได้ทุกเรื่อง พวกเขามีชีวิตอยู่ด้วยเงินเดือนก้อนเล็กๆ จาก Blue Ribbon ซึ่งเพนนีก็ไม่เคยบ่น ทั้งคู่มีลูกคนชายคนแรกชื่อแมธธิว
1970 (อายุ 32) หักเหลี่ยมซ้อนกล
- สัญญาจัดจำหน่ายรองเท้ากับโอนิสึกะกำลังจะหมด ฟิลจึงบินไปญี่ปุ่นเพื่อต่อสัญญา ฟิลอยากได้สัญญา 5 ปีเพราะโอนิสึกะขายดีในอเมริกาก็เพราะเขา แบบสำรวจยังชี้ว่าคนอเมริกัน 70% ใส่รองเท้าโอนิสึกะ Tiger แต่บริษัทโอนิสึกะให้ต่อสัญญาได้แค่ 3 ปีเท่านั้น ทำไมได้แค่ 3 ปีน่ะเหรอ? คุณคิตามิจอมเจ้าเล่ห์ได้เลื่อนตำแหน่งเป็นผู้บริหารระดับสูงแล้วยังไงล่ะ!
- Blue Ribbon มีปัญหากับโอนิสึกะไม่จบไม่สิ้น โอนิสึกะส่งสินค้าช้าและผิดตลอด โอนิสึกะสัญญาว่าจะพัฒนาโรงงานให้ดีขึ้นแต่ก็ไม่เคยทำได้จริง ฟิลค้นพบว่าโอนิสึกะสนใจผลิตรองเท้าให้ลูกค้าญี่ปุ่นเท่านั้น พอขายในญี่ปุ่นแล้วจึงค่อยส่งของเหลือมาขายในอเมริกา
- ด้านธนาคารก็มีปัญหา บริษัท Blue Ribbon เติบโตปีละ 2 เท่าติดต่อกันนานจนยอดขายกำลังจะทะลุ 1 ล้านดอลลาร์ในปีหน้า ซึ่งต้องการเงินสดหมุนเวียนจำนวนมาก แต่ธนาคารมองว่าเสี่ยงเกินไป ธนาคารยื่นคำขาดว่าจะไม่ให้เครดิตเพิ่มแล้ว และถ้าขาดจ่ายเพียงงวดเดียวจะตัดสัมพันธ์ทันที
- ทั้งการส่งของช้าจากโอนิสึกะ และธนาคารไม่ปล่อยกู้เพิ่ม ทำให้ Blue Ribbon เริ่มไม่มีเงินมาจ่ายค่ารองเท้า ฟิลลองเปิดขายหุ้นแก่นักลงทุนโดยหวังจะได้ 3 แสนดอลลาร์ แต่ได้มา 300 ดอลลาร์ ในที่สุดฟิลต้องเร่ขายหุ้นให้กับเพื่อน ครอบครัว และคนรู้จัก ซึ่งก็ไม่มีใครสนใจ จนสุดท้ายครอบครัวของบ็อบ วู้ดเดล (ผู้บริหาร Blue Ribbon อดีตนักวิ่งที่พิการจากอุบัติเหตุ) ยกเงินเก็บทั้งชีวิต 8,000 ดอลลาร์ให้ยืม
- ต่อมาฟิลอ่านเจอเกี่ยวกับ “บริษัทเทรดดิ้งญี่ปุ่น” ที่ทำธุรกิจทุกอย่าง ตั้งแต่นำเข้า ส่งออก และปล่อยกู้ เขาจึงไปธนาคารโตเกียวสาขา Potland และรู้จักกับ “นิชโช อิวาอิ” บริษัทเทรดดิ้งอันดับ 6 ของญี่ปุ่น คุยกันสักพักฟิลก็ได้เงินกู้มาแก้ปัญหาการเงินที่เกิดขึ้น
- ก่อนกู้เงิน ฟิลติดต่อไปคอนเฟิร์มสินค้าล็อตใหม่กับโอนิสึกะ แต่ไม่มีใครตอบเป็นสัปดาห์… และแล้วสิ่งที่ฟิลกลัวที่สุดก็เกิดขึ้น มีข่าวว่าโอนิสึกะเริ่มคัดเลือกผู้จัดจำหน่ายรองเท้ารายใหม่ในอเมริกา ทั้งที่เขาเพิ่งเซ็นสัญญา 3 ปีไป นี่แสดงว่าโอนิสึกะพร้อมฉีกสัญญาตั้งแต่แรกแล้ว ฟิลติดต่อคุณฟูจิโมโตะที่เป็นสปาย และรู้ว่าคุณคิตามิกำลังคิดจะตัดสัมพันธ์กับ Blue Ribbon แผนนี้ยังไม่แน่นอน แต่เป็นไปได้สูง
- ฟิลยังมีความหวัง เขาเชิญคุณคิตามิมาอเมริกาเพื่อแสดงว่า Blue Ribbon เจ๋งยังไง
1971 (อายุ 33) จุดพลิกผัน
- ปีนี้เป็นปีแห่งการเปลี่ยนแปลงของฟิล ไนท์
- คุณคิตามิมาอเมริกาโดยฟิลต้อนรับเขาอย่างดีด้วยแซลมอนและไวน์ และเลี้ยงดูอย่างดีตลอดระยะเวลาหลายวัน แต่คุณคิตามิก่อเรื่องไม่หยุด เขาด่าฟิลว่ายอดขายต้องเพิ่มปีละ 3 เท่า ไม่ใช่แค่ 2 เท่า และฟิลยังขโมยแฟ้มเอกสารของคุณคิตามิมาดูจนพบรายชื่อว่าที่ผู้จัดจำหน่ายรองเท้า Tiger อีก 18 ราย พร้อมกำหนดการนัดหมายกับครึ่งหนึ่งในนั้น
- ฟิลขัดแย้งกับโอนิสึกะมากขึ้นเรื่อยๆ แต่เขายังพยายามเอาใจคุณคิตามิไม่ให้ทิ้ง Blue Ribbon เพราะถ้าไม่มีรองเท้าจากโอนิสึกะ ฟิลก็ไม่รู้จะทำธุรกิจต่อไปได้ยังไง
- คุณคิตามิออกจากออฟฟิศ Blue Ribbon และเดินทางไปทั่วอเมริกา (โดยไม่ได้บอกว่าเดินทางไปทำอะไร) จากนั้นเขาก็กลับมาใหม่ด้วยข้อเสนอซื้อกิจการ Blue Ribbon นี่เป็นคำขาด ถ้าฟิลไม่ขาย โอนิสึกะก็จะตั้งผู้จัดจำหน่ายรายใหม่จำนวนมาก ฟิลซื้อเวลาด้วยการบอกว่าขอคุยกับหุ้นส่วนอีกคนก่อน (บิล โบเวอร์แมน)
- ตอนนี้ฟิลเข้าใจแล้วว่าโอนิสึกะเชื่อใจไม่ได้ เขาจะต้องแตกหักกับโอนิสึกะ แต่ก่อนหน้านั้นเขาต้องยื้อเวลาเพื่อหาซัพพลายเออร์รองเท้าใหม่ให้ได้ก่อน โดยการ…
- 1. ซื้อเวลาด้วยการส่งจดหมายขู่ผู้จัดจำหน่ายรายใหม่ๆ ของโอนิสึกะว่าจะฟ้องร้อง
- 2. หารองเท้าใหม่มาขาย
- ฟิลรู้จักโรงงานรองเท้าในเม็กซิโกที่ Adidas เคยใช้ผลิตรองเท้า เขาเดินทางไปดูโรงงานและถูกใจ จึงสั่ง “รองเท้าฟุตบอล” 3,000 คู่มาทดลอง (สัญญากับโอนิสึกะห้ามไม่ให้ Blue Ribbon ขาย “รองเท้าวิ่ง” แบรนด์อื่น)
- ก่อนจ้างโรงงานผลิตรองเท้าของตัวเอง Blue Ribbon ต้องคิดชื่อกับโลโก้ใหม่ ฟิลได้แคโรลีน เดวิดสัน มาช่วยออกแบบโลโก้ให้ในราคา 35 ดอลลาร์ หลังจากแก้งานกันหลายรอบ ทีมงาน Blue Ribbon ก็เลือกสัญลักษณ์ “Swoosh” ที่คล้ายปีกและลม ฟิลไม่ชอบโลโก้นี้เลย แต่ก็จำใจเอาเพราะถูกกดดันด้วยเดดไลน์จากโรงงาน
- ด้านชื่อ ฟิลมั่นใจกับชื่อ “Dimension Six” แต่ทีมงานทุกคนค้านเป็นเสียงเดียวกันว่าชื่อนี้ยาวเกินไป จนถึงคืนวันสุดท้าย เจฟ จอห์นสัน (พนักงานคนแรกที่ไฟแรง) ได้โทรหาออฟฟิศกลางเพื่อเสนอชื่อที่เขา “ฝันขึ้นมาได้” ชื่อนี้คือ “Nike” นั่นเอง ชื่อไนกี้ออกเสียงง่ายและทรงพลัง อีกทั้งยังเป็นชื่อเทพีแห่งชัยชนะที่ตรงกับปรัชญาการใช้ชีวิตของฟิลด้วย ที่จริงฟิลไม่คิดว่าชื่อนี้ดีเท่าไร แต่ก็ยอมตกลงเพื่อจะได้ขายรองเท้าแบรนด์ใหม่นี้สักที
- รองเท้าออกมาล้มเหลวไม่เป็นท่า ใช้ได้ไม่นานก็พัง ซ้ำร้ายธนาคารที่ให้ Blue Ribbon กู้เงินตั้งแต่เริ่มธุรกิจยังตัดสินใจยุติการให้กู้ยืมเงิน ฟิลต้องเร่ร่อนหาธนาคารใหม่หลายแห่ง จนในที่สุดเขาก็ได้รับความช่วยเหลือจากนิชโช บริษัทเทรดดิ้งยักษ์ใหญ่ที่พร้อมให้เงินกู้ ติดต่อนักออกแบบรองเท้า และช่วยหาโรงงานใหม่ให้
- นิชโชจะให้เครดิตและเงินกู้ในการสั่งซื้อรองเท้า โดยขอส่วนแบ่งรายได้จากการขาย จากนั้นนิชโชยังแนะนำให้ฟิลรู้จักกับโจนาส เซนเตอร์ ผู้มีฉายา “Shoe Dog” (ผู้ชื่นชอบรองเท้าสุดหัวใจ) ที่จะมาช่วยไนกี้ออกแบบและสร้างรองเท้าดีๆ สุดท้าย นิชโชพาฟิลตระเวนหาซัพพลายเออร์นาน 3 สัปดาห์จนได้โรงงาน Nippon Rubber ที่ฟิลประทับใจ ฟิลแค่หยิบรองเท้า Cortez ของโอนิสึกะมาให้ตอนเช้า พอกินข้าวเที่ยงเสร็จก็มี Cortez ยี่ห้อไนกี้มาวางไว้เรียบร้อย ฟิลสั่งผลิตรองเท้าไนกี้ล็อตใหญ่หลายรุ่นทันที
- ก่อนกลับจากญี่ปุ่น ฟิลแวะไปเยี่ยมบริษัทโอนิสึกะเพื่อไม่ให้ถูกสงสัยว่ามาญี่ปุ่นทำไมตั้ง 3 สัปดาห์ เขาพบคุณคิตามิ คุณฟูจิโมโตะ (สปาย) และคุณโอนิสึกะ (เจ้าของ) พวกเขาไปเที่ยวเมืองโกเบก่อนส่งฟิลกลับอเมริกา
- พอถึงอเมริกา ฟิลนัดประชุมกับบิล โบเวอร์แมน (หุ้นส่วนไนกี้ 49%) ซึ่งบ่นว่ารองเท้าวิ่งไม่มีการพัฒนามาตั้ง 50 ปีแล้ว บิลกลับบ้านไปคิดหนักเรื่องการสร้างรองเท้าวิ่งให้ดีขึ้น เขาได้แรงบันดาลใจจากเครื่องทำวาฟเฟิลของภรรยา และเกิดไอเดียที่พลิกโฉมวงการรองเท้าวิ่งครั้งยิ่งใหญ่ … คนที่มีความคิดสร้างสรรค์ระดับโลกเขาคิดได้ยังไง? บิงโกได้สรุปไว้ใน Originals
1972 (อายุ 34) แตกหัก
- โอนิสึกะประกาศกับสาธารณะว่าพวกเขาจะเข้าซื้อกิจการ Blue Ribbon ซึ่งเป็นแผนกดดันให้ Blue Ribbon ขายกิจการ แต่นั่นไม่ได้ผลกับฟิล ไนท์ ที่ตัดสินใจแน่วแน่แล้วว่าจะแตกหักกับโอนิสึกะ
- ไนกี้เปิดตัวครั้งแรกที่งานอุปกรณ์กีฬาที่ใหญ่ที่สุดในอเมริกา ฟิลสั่งกล่องสีส้มสดใสเพื่อให้รองเท้าดูเด่นที่สุด แต่เมื่อแกะกล่องออกมา รองเท้าจาก Nippon Rubber กลับคุณภาพต่ำกว่าที่กำหนดไว้มาก ฟิลคิดว่าเขาคงจบสิ้นแล้ว แต่ผิดคาด คนกลับมาแห่สั่งออเดอร์รองเท้าไนกี้ เพราะ Blue Ribbon มีชื่อเสียงดีว่าขายรองเท้าคุณภาพสูง
- 2 สัปดาห์ถัดมา คุณคิตามิ (ผู้บริหารเจ้าเล่ห์) กับโอนิสึกะ (เจ้าของ) รีบบินมาอเมริกาอย่างเร่งรีบ พวกเขาต้องการคำอธิบายว่าไอ้เจ้า “ไนกี้” นี่คืออะไร! ฟิลอ้างว่าเขาแค่ป้องกันความเสี่ยงหากโอนิสึกะเลิกส่งรองเท้าให้ Blue Ribbon ตามที่ขู่ไว้ แต่ยังไม่มีไนกี้ขายตามร้านต่างๆ แน่นอน
- คุณคิตามิเดินทางไปตรวจดูถึงร้านค้าในลอสแอนเจลิส ฟิลสั่งให้จอห์น บ็อค (ผู้จัดการร้าน) โกหกเรื่องรองเท้า แต่คุณคิตามิพบรองเท้าไนกี้อยู่ในร้านเป็นร้อยๆ กล่อง เขากลับมาที่ออฟฟิศกลางของ Blue Ribbon พร้อมทนายอีกคน คุณคิตามิฉีกสัญญาซื้อขายรองเท้าทิ้งและขู่จะฟ้องร้อง Blue Ribbon โทษฐานละเมิดสัญญา ส่วนจอห์น บ็อค ก็ผิดหวังที่ถูกบังคับให้โกหก จึงลาออกไปทำงานกับโอนิสึกะ
- ฟิล ไนท์ เดินมาถึงจุดที่ถอยไม่ได้แล้ว เขาเรียกประชุมใหญ่ในวันรุ่งขึ้น โดยแจ้งพนักงานว่าโอนิสึกะได้เลิกสัญญากับ Blue Ribbon แล้ว พนักงานเสียขวัญทันที เพราะรองเท้าไนกี้ก็ยังคุณภาพไม่ถึงขั้น และอาจจะมีการฟ้องร้องจากโอนิสึกะอีก แต่ฟิลพลิกวิกฤตินี้เป็นโอกาส เขาประกาศว่าตั้งแต่วันนี้ Blue Ribbon จะไม่อยู่ใต้เงาคนอื่นอีกต่อไป พวกเขาจะสร้างแบรนด์ของตัวเองให้แข็งแกร่ง และพัฒนารองเท้าที่ดีที่สุดในโลก!!
- เกิดเหตุก่อการร้ายขึ้นในงานกีฬาโอลิมปิกที่มูนิช มือปืนสวมหน้ากาก 8 คนได้ลักพาตัวและฆาตกรรมนักกีฬาชาวอิสราเอล 11 คน บิล โบเวอร์แมน ซึ่งเป็นโค้ชวิ่งของทีมอเมริกาก็อยู่ในเหตุการณ์และรู้สึกสะเทือนใจ เขาจึงลาออกจากการเป็นโค้ช ทำให้ Blue Ribbon ได้บิลมาทำงานธรกิจรองเท้าเต็มตัว
- แบรนด์ไนกี้เริ่มเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องด้วยการโฆษณาผ่านนักกีฬาชื่อดัง (อ่านกลยุทธ์การตลาดโตไวได้ใน Growth Hacker Marketing) ฟิลเซ็นสัญญากับนักเทนนิสอิลไล นาสเทส ให้ช่วยโปรโมทรองเท้าด้วยเงิน 10,000 ดอลลาร์ (อิลไลใส่รองเท้าไนกี้อยู่ก่อนแล้ว) นอกจากนี้ ทีมอเมริกันฟุตบอลจากมหาวิทยาลัยโอเรกอนยังกลายเป็นสาวกไนกี้ไปทั้งทีม นักกีฬาต่างๆ เริ่มนิยมรองเท้าไนกี้มากขึ้น
1973 (อายุ 35) แรงกดดัน
- ไนกี้ได้ว่าจ้างสตีฟ โพรฟอนเทน หรือ “Pre” นักวิ่งโอลิมปิกทีมชาติอเมริกา ให้มาช่วยโปรโมทรองเท้าด้วยเงิน 5,000 ดอลลาร์ต่อปี (โค้ชบิล โบเวอร์แมน เป็นคนแนะนำมา) ซึ่ง Pre มีฐานแฟนคลับที่ตามเขาไปทุกที่ ไนกี้จึงได้ลูกค้าใหม่ๆ จาก Pre เยอะมาก
- ฟิลมองว่าเจฟ จอห์นสัน (พนักงานคนแรกที่ไฟแรง) มีความสามารถสูง ฟิลจึงย้ายเขาจากออฟฟิศฝั่งตะวันออกมาอยู่ออฟฟิศกลาง แล้วให้บ็อบ วู้ดเดล (อดีตนักวิ่งที่พิการซึ่งได้เป็นผู้บริหาร) สลับจากออฟฟิศกลางไปบริหารฝั่งตะวันออกแทน
- ปีนี้ไนกี้ขาดทุน 57,000 ดอลลาร์จากยอดขาย 4.8 ล้านดอลลาร์ ผู้ถือหุ้นกว่า 30 คนตื่นตระหนกและมากดดันทีมผู้บริหารอย่างหนัก ฟิลต้องเสนอสิทธิขายหุ้นคืนให้ผู้ถือหุ้นเป็นเวลา 5 ปี พวกเขาจึงสงบลงได้ ฟิลเหนื่อยใจกับผู้ถือหุ้นและคิดในใจว่าในอนาคตจะไม่เอาบริษัทเข้าตลาดหุ้นที่มีผู้ถือหุ้นเป็นพันๆ คนแน่
- ตลาดรองเท้าเติบโตเร็วขนาดที่ Adidas และ Puma ยังผลิตรองเท้าไม่ทันขาย แต่ไนกี้ยังคงประสบปัญหาเดิมๆ นั่นก็คือขาดเงินสดมาขยายธุรกิจ ฟิลจึงเริ่มกลยุทธ์ให้ผู้จัดจำหน่ายรองเท้าสั่งซื้อล่วงหน้า 6 เดือนโดยลดราคาให้พิเศษ ช่วงแรกๆ ผู้จัดจำหน่ายก็ลังเล แต่เสน่ห์ของรองเท้าไนกี้รุ่นใหม่ๆ ทำให้ทุกคนพากันสั่งสินค้าล่วงหน้าหมด เพราะกลัวไม่ได้ขาย
- โอนิสึกะเปิดเกมฟ้องร้องตามคาด ฟิลโดนถล่มจากหลักฐานต่างๆ เช่นโน้ตที่เขาบอกพนักงานว่ามีสปาย การที่เขาขโมยแฟ้มเอกสารของคิตามิมาดู ฯลฯ พร้อมกับที่ฟิลมีลูกชายคนที่ 2 พอดี
1974 (อายุ 36) ขึ้นศาลครั้งแรกในชีวิต
- คดีความเริ่มขึ้น โอนิสึกะกล่าวหาว่า Blue Ribbon เป็นผู้วางแผนละเมิดสัญญาจัดจำหน่ายรองเท้า โดยจ้างสปาย โกหกหลอกลวง และลอกเลียนแบบรองเท้า เรื่องโอนิสึกะติดต่อผู้จัดจำหน่ายรายอื่นก็เพื่อ “สำรวจตลาด” เท่านั้น และคนที่เสนอให้โอนิสึกะซื้อกิจการ Blue Ribbon ก็คือตัวฟิล ไนท์ เอง โอนิสึกะยังมีจอห์น บ็อค (อดีตผู้จัดการร้านที่ทรยศไปเข้ากับโอนิสึกะ) เป็นพยาน
- ทีม Blue Ribbon สู้คดีอย่างยากลำบาก ฟิลเล่าว่าโอนิสึกะวางแผนจะฉีกสัญญามาก่อนแล้ว โดยคุณอิวาโนะ (ผู้ช่วยของคุณคิตามิ) ช่วยเป็นพยานว่าคิตามิเคยพูดถึงเรื่องนี้หลายครั้ง และผู้เชี่ยวชาญก็ยืนยันว่ารองเท้าไนกี้ที่คิดค้นขึ้นใหม่นั้นไม่ได้ก๊อปปี้ Tiger ของโอนิสึกะ ที่จริงรองเท้าไนกี้คุณภาพสูงกว่าด้วยซ้ำ เห็นได้จากยอดขายที่แทบจะแซงหน้าโอนิสึกะอยู่แล้ว
- ศาลตัดสินให้ Blue Ribbon ชนะคดี หลังจากเห็นว่า Blue Ribbon เล่าเรื่องราวอย่างจริงใจ ในขณะที่คุณคิตามิโกหกอย่างมีพิรุธหลายครั้ง (เช่น เขาพูดภาษาอังกฤษได้แต่กลับให้การเป็นภาษาญี่ปุ่น) ศาลตัดสินให้ Blue Ribbon สามารถผลิตรองเท้าทุกรุ่นที่คิดค้นร่วมกับโอนิสึกะ และได้รับเงินชดเชยอีก 400,000 ดอลลาร์
- หลังไนกี้ชนะคดี รัฐบาลก็อเมริกาประกาศลอยตัวค่าเงิน ทำให้ต้นทุนค่าผลิตรองเท้าผันผวนจนไนกี้ต้องยกเลิกการผลิตที่โรงงานญี่ปุ่น ฟิลหาซัพพลายเออร์เจ้าใหม่ในไต้หวันและเปอร์โตริโก้ แต่ไม่มีใครยอมรับผลิตรองเท้าให้บริษัทเล็กๆ แบบนี้ สุดท้ายฟิลตัดสินใจตั้งโรงงานของตัวเองที่เขต New England ในอเมริกา
- เจฟ จอห์นสัน (พนักงานคนแรกที่ไฟแรง) ได้รับหน้าที่ผู้จัดการโรงงานแห่งใหม่นี้ เขาไม่รู้เรื่องการบริหารโรงงานเลย และเพิ่งย้ายบ้านไปอยู่แถวออฟฟิศกลางในโอเรกอน แต่เจฟรู้ว่าหน้าที่นี้สำคัญมาก ซึ่งแสดงถึงความเชื่อใจที่มีต่อเขา เขาอิดออดสักพักก็ยอมย้ายบ้านไป New England
- ปีนี้ไนกี้มียอดขาย 8 ล้านดอลลาร์ ไนกี้เปิดร้านใหม่ๆ ได้ผู้จัดจำหน่ายรายใหม่จำนวนมาก และได้นักกีฬาอีกหลายคนมาช่วยโปรโมทรองเท้าไนกี้ด้วย ถึงจุดนี้การเป็นเจ้าแห่งรองเท้าและเอาชนะ Adidas ก็ไม่ใช่ความฝันอีกต่อไป
1975 (อายุ 37) เช็คเด้ง
- ปัญหาขาดเงินสดของไนกี้ยิ่งหนักกว่าเก่า ฟิลรู้ว่าลูกค้าอยากได้รองเท้าไนกี้มากจนผลิตเท่าไรก็ขายหมด เขาจึงทุ่มเงินสดทั้งหมดมาผลิตรองเท้าป้อนตลาด แต่การตัดสินใจนี้เสี่ยงมาก ขอแค่มีผู้จัดจำหน่ายจ่ายเงินช้าสักครั้งเดียว เขาจะช็อตเงิน และทุกอย่างก็พังได้อย่างง่ายดาย
- วันหนึ่งผู้จัดจำหน่ายจ่ายเงินช้า ไนกี้ขาดเงินไป 75,000 (จาก 1 ล้าน) ที่ต้องจ่ายหนี้นิชโช ฟิลจึงดึงเงินจากร้านสาขากับโรงงานมาหมุนก่อน จากนั้นพนักงานโรงงานก็เช็คเด้ง และเจ้าหนี้รายอื่นก็เช็คเด้ง ธนาคารแห่งที่สองที่ให้ไนกี้กู้เงินบอกว่าจะยุติการให้เงินกู้ และติดด่อ FBI ให้มาสอบสวนการฉ้อโกง มีเจ้าหนี้อีก 2 รายบินมาที่ออฟฟิศกลางของไนกี้เพื่อตรวจสอบสถานการณ์
- ฟิลขอความช่วยเหลือจากบริษัทเทรดดิ้งนิชโช คุณอิโตะกับคุณซุเมรางิ เจ้าหน้าที่ระดับสูง 2 คนของนิชโชจึงเข้ามาตรวจสอบบัญชีบริษัท สถานการณ์เลวร้ายขนาดที่ฟิลเริ่มนอนไม่หลับ เขาคิดทบทวนถึงการตัดสินใจที่ผ่านมาในชีวิต ฟิลถึงกับคิดว่าถ้าไม่ได้เริ่มทำธุรกิจรองเท้าชีวิตคงสบายกว่านี้
- คุณซุเมรางิตรวจบัญชีแล้วพบว่าสถานการณ์เลวร้ายกว่าที่คาด เขาผ่อนผันให้ Blue Ribbon ยังไม่ต้องจ่ายหนี้จนกว่าการเงินจะดีขึ้น … ที่จริงปกติ Blue Ribbon ก็ไม่เคยจ่ายเงินนิชโชตรงเวลาอยู่แล้ว คุณอิโตะที่เป็นหัวหน้าซุเมรางิจึงถามว่าทำไมยอมแบบนั้น? คุณซุเมรางิตอบง่ายๆ ว่า Blue Ribbon คือบริษัทที่จะประสบความสำเร็จ และเขามองฟิลเป็นเหมือนลูกชาย (บริษัทที่ดีกับบริษัทที่ “ยอดเยี่ยม” ต่างกันยังไง? ดูได้ใน Good to Great)
- คุณอิโตะได้ยินดังนั้นจึงพูดกับฟิลว่า “ความฝันของนายก็ไม่เลว” คุณอิโตะจ่ายเงินที่ Blue Ribbon ติดหนี้ธนาคารอื่นให้จนหมด เขามองว่าบริษัท Blue Ribbon ยังมีอนาคตอีกไกล ไม่จำเป็นต้องฮึดฮัดกับการจ่ายเงินช้าเพียงนิดเดียว ฟิลได้คนสนับสนุนเพิ่มอีกคนแล้ว
- ข่าวเศร้าส่งท้ายปี นักกีฬาวิ่ง Pre ที่ช่วยโปรโมทไนกี้ตั้งแต่เริ่มแบรนด์ เสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถชน ฟิลเสียใจกับการจากไปของเพื่อนคนสำคัญ Pre ทิ้งคำพูดติดปากไว้ว่า “คนบางคนอาจชนะผมได้ แต่เขาต้องเจ็บสาหัสก่อน” ฟิลนำคำพูดนี้มาเป็นคติในการทำธุรกิจต่อไป
1976 (อายุ 38) ขยายธุรกิจ
- ปีนี้ยอดขายเพิ่มขึ้นสองเท่าอีกครั้งกลายเป็น 14 ล้านดอลลาร์ ไนกี้กลายเป็นแบรนด์ใหญ่ทั่วอเมริกา และเปลี่ยนชื่อจาก Blue Ribbon เป็น Nike Inc. ฟิลนัดประชุมกลยุทธ์ครั้งใหญ่เพื่อ “ชนะ” ในตลาดรองเท้าวิ่งให้ได้ (จุดกระแสให้คนแห่มาซื้อสินค้าของคุณได้ด้วยกลยุทธ์ The Tipping Point)
- ไนกี้ต้องการโรงงานใหม่ที่จะผลิตรองเท้าให้ทันยอดขาย ฟิลกับลูกน้องคนสนิทเดินทางไปดูโรงงานไต้หวันหลายสิบราย และเมาหัวราน้ำกับเหล่าเจ้าของโรงงาน สุดท้ายเขาก็เลือกโรงงานหลายเจ้าที่น่าเชื่อถือหลายแห่ง
- ไนกี้ยังมีปัญหาด้านการเงินเหมือนเคย ทีมงานเสนอให้ขายหุ้นเข้าตลาดหุ้นเพื่อระดมทุน แต่ฟิลยืนยันว่าไม่เอา เขาเข็ดจากการโดนผู้ถือหุ้นรุมด่าในคราวก่อน ฟิลจึงเลือกหาเงินกู้เพิ่มจากธนาคารแห่งใหม่และหน่วยงานรัฐที่ส่งเสริมธุรกิจ
- ธนาคารแห่งหนึ่งต้องให้ฟิลและบิล โบเวอร์แมน ค้ำประกันส่วนตัว ซึ่งบิลไม่อยากเสี่ยงอีกแล้ว บิลขายหุ้น 2 ใน 3 ของเขาคืนให้ฟิล เขาเหน็ดเหนื่อยจากข่าวร้ายต่างๆ นานาจนไม่อยากทำอะไรอีก แต่ฟิลยังคงส่งอุปกรณ์ออกแบบให้บิลเป็นประจำ
- รองเท้าไนกี้รุ่นวาฟเฟิลที่บิลเป็นคนออกแบบโด่งดังขึ้นเรื่อยๆ ลูกค้าของไนกี้ไปไกลยิ่งกว่านักวิ่งแล้ว คนทั่วไปเริ่มหันมาซื้อรองเท้าไนกี้ใส่ จุดพลิกเกมคือการออกรองเท้าสีน้ำเงินที่เข้าคู่กับกางเกงยีนส์ซึ่งขายดีเป็นเทน้ำเทท่า
- ยังมีปัญหาอีกหลายอย่างต้องแก้ ทั้งการขยายโกดังสินค้า การทำโฆษณาในวงกว้าง และการจับมือกับนักกีฬาในวงการต่างๆ ทีมผู้บริหารหลักของไนกี้มีชื่อเล่นขำๆ ว่า “ทีมหน้าตูด” ซึ่งประกอบด้วยฟิล ไนท์ (CEO), บ็อบ วู้ดเดล (บริหารทั่วไป), เจฟ จอห์นสัน (โรงงานและการขาย), ร็อบ สแตรสเซอร์ (กฎหมาย) และเดลเบิร์ต เฮย์ (บัญชี) เรื่องตลกก็คือ “จะมีสักกี่บริษัทที่คุณแค่บอกว่า ‘เห้ยไอ้หน้าตูด’ แล้วทีมผู้บริหารทั้งทีมหันหน้ามาเพราะนึกว่าหมายถึงตัวเอง?”
- ฟิลรักทีมนี้มาก พวกเขาทำงานได้เก่งกาจ โดยที่แต่ละคนแบกความล้มเหลวในอดีตของตัวเองไว้ (บ็อบ วู้ดเดล เสียความฝันในการเป็นนักวิ่งจากอุบัติเหตุ เดลเบิร์ต เฮย์ ขึ้นเป็นผู้บริหารในบริษัทเก่าไม่ได้เพราะอ้วนเกินไป ฟิลสอบตกจากทีมเบสบอล) พวกเขาจะรวมตัวกันในบ้านพักร้อนแล้วคุยกันทุกเรื่อง ใช้คำหยาบ ด่า หรือพูดอะไรก็ได้
- ฟิลมีเวลาให้ครอบครัวน้อยมาก แมธธิว (ลูกชายคนโต) ไม่พอใจนัก ส่วนทราวิส (ลูกชายคนเล็ก) เข้าใจพ่อเสมอ ฟิลถามตัวเองตลอดว่าเขาทำอะไรอยู่ เขาเป็นนักธุรกิจที่ดีไหม? เขาเป็นพ่อที่ดีไหม?
1977 (อายุ 39) โด่งดังทั่วอเมริกา
- ไนกี้ยังคงทะยานขึ้นต่อไป พวกเขาเซ็นสัญญากับนักกีฬามหาวิทยาลัยต่างๆ และโค้ชชื่อดังจำนวนมาก ตอนนี้คนทั้งอเมริการู้จักไนกี้แล้ว ขนาดพ่อของฟิลยังพูดถึงรองเท้าไนกี้ในเกมบาสเกตบอล (ฟิลภูมิใจมากที่พ่อยอมรับไนกี้แล้ว)
- ไนกี้ยังคงออกรองเท้ารุ่นใหม่อย่างต่อเนื่อง บิล โบเวอร์แมน ออกแบบรองเท้ารุ่น LD1000 ที่ไม่ประสบความสำเร็จนัก ไนกี้เรียกสินค้าคืน แต่ลูกค้ากลับชื่นชมที่ไนกี้กล้าทดลองทำสิ่งใหม่แม้อาจล้มเหลว
- ถัดจากรุ่น LD1000 ไนกี้ก็มีนวัตกรรมชิ้นถัดไป วิศวกรคนหนึ่งเดินทางมาเสนอไนกี้ว่าเขาสามารถเสริมถุงอากาศเข้าไปในพื้นรองเท้าได้ ตอนแรกฟิลก็ไม่มั่นใจ (วิศวกรคนนี้ถูก Adidas ปฏิเสธมาแล้ว) แต่พอฟิลลองใส่รองเท้านี้ไปวิ่งดู เขาก็รีบซื้อลิขสิทธิ์มาผลิตรองเท้ารุ่น Nike Air ทันที
- ตอนนี้ยอดขาย 70 ล้านดอลลาร์แล้ว แต่ไนกี้ยังมีปัญหาขาดเงินสดเหมือนเดิม บริษัทมาถึงจุดที่หนี้สินเท่ากับ 90% ของทรัพย์สินทั้งบริษัท ที่ปรึกษาด้านธุรกิจยืนกรานว่าฟิลต้องรีบเอาบริษัทเข้าตลาดหุ้นเพื่อระดมทุน ไม่อย่างนั้นอาจล้มละลายได้
- ยอดขายที่สูงขึ้นย่อมมาพร้อมกับปัญหาการผลิต ไนกี้เซ็นสัญญากับโรงงานต่างๆ ทั้งในไต้หวัน เกาหลี และเปอร์โตริโก้ มีโรงงานเกาหลีแห่งหนึ่งส่งรองเท้าไนกี้เลียนแบบที่เหมือนของจริงเปี๊ยบมาให้ ฟิลเขียนจดหมายสั่งให้หยุดพร้อมเสนอร่วมธุรกิจ จากนั้นทั้งคู่ก็กลายเป็นคู่หูธุรกิจกัน
- ไนกี้ออกโฆษณา “There is no finish line.” (ชีวิตไม่มีเส้นชัย) ที่กลายเป็นที่จดจำของผู้คน คำอธิบายของโฆษณาชิ้นนี้ก็คือ “การเอาชนะคู่แข่งนั้นไม่ยาก แต่การเอาชนะตัวเองคือการทุ่มเทโดยไม่สิ้นสุด” (เหมือนที่หนังสือ Outlier บอกว่าถ้าคุณฝึกฝนเป็นเวลา 10,000 ชั่วโมง คุณจะกลายเป็นเทพในสิ่งนั้น) แต่ฟิลก็ยังคงไม่ให้ความสำคัญกับการโฆษณา เขามองว่าสินค้าที่ดีจะบอกกันปากต่อปากอยู่แล้ว อีกอย่าง ไม่มีหลักฐานว่าโฆษณาจะช่วยเพิ่มยอดขายสักหน่อย!
- เกิดปัญหาใหญ่อีกครั้ง กรมศุลกากรสั่งเก็บภาษีไนกี้ย้อนหลัง 25 ล้านดอลลาร์ ตามกฎ “American Selling Price” (ASP) ซึ่งกำหนดให้ผู้นำเข้ารองเท้าต้องเสียภาษีสูงกว่าเดิมมากถ้ารองเท้านั้นมีผู้ผลิตในประเทศ กลุ่มผู้ผลิตรองเท้าที่นำโดยบริษัท Converse ได้ล็อบบี้รัฐบาลให้ออกกฎเพื่อทำลายไนกี้โดยเฉพาะ
- ไนกี้ไม่มีทางจ่ายภาษีก้อนนี้ไหวแน่นอน ถ้าจ่ายก็ล้มละลาย แต่ในเมื่อมันเป็นกฎหมาย จะไม่ทำตามก็ไม่ได้เหมือนกัน ฟิลทำโทรศัพท์พังไปหลายเครื่องระหว่างโทรคุยกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายต่างๆ
- ด้านครอบครัว ฟิลมีปัญหากับลูกชายคนโตแมธธิว ซึ่งไม่พอใจที่พ่อมัวแต่ทำงานไม่ยอมกลับบ้าน ส่วนลูกชายคนเล็กก็เริ่มได้รับอิทธิพลจากลูกคนโตไปด้วย ฟิลจึงมีปัญหากับลูกทั้งสองอยู่เป็นประจำ
1978 (อายุ 40) หยุดไม่อยู่
- ฟิลจ้างนักล็อบบี้ไปเจรจาต่อรองเรื่องภาษีศุลกากร (ASP) ในกรุงวอชิงตัน เพื่อยกเลิกมาตรการ ASP ให้ได้
- ยอดขายเพิ่มขึ้นอีก 2 เท่า (คงชินกันแล้วใช่ไหมครับ!) กลายเป็น 140 ล้านดอลลาร์ ไนกี้ได้รับการยอมรับว่าเป็นรองเท้าวิ่งคุณภาพสูงกว่าคู่แข่งทุกราย ไนกี้ย้ายออฟฟิศหลักไปอยู่ตึกขนาด 3,700 ตารางเมตร ห้องของฟิลคนเดียวขนาดใหญ่กว่าทั้งออฟฟิศตอนเริ่มตั้งบริษัท ไนกี้มีโรงงานในไต้หวัน เกาหลี อังกฤษ และไอร์แลนด์ นักวิเคราะห์ต่างมองว่าไนกี้หยุดไม่อยู่แล้ว
- ไนกี้ปรับกลยุทธ์ขยายเข้าไปในธุรกิจเสื้อผ้า (เลียนแบบ Adidas ซึ่งขณะนั้นยอดขายเสื้อผ้าสูงกว่ารองเท้าเสียอีก) ฟิลให้นักบัญชีอายุน้อยคนหนึ่งเป็นคนดูแลแบรนด์เสื้อผ้า (ฟิลมองว่าเขาคิดเลขเป็น จึงน่าจะทำธุรกิจได้) แต่ผลงานเละไม่เป็นท่าเพราะนักบัญชีคนนั้นแต่งตัวยังไม่เป็นเอาเสียเลย ฟิลจึงสลับให้บ็อบ วู้ดเดล มาทำแทน และแบรนด์เสื้อผ้าไนกี้ก็ถือกำเนิด … สังเกตว่าถึงไนกี้จะประสบความสำเร็จ ก็ยังต้องปรับตัวอยู่ตลอด ไม่เช่นนั้นทุกสิ่งย่อมเสื่อมถอยลงเหมือนเจ้าหนูหน้าโง่ใน Who Moved My Cheese
- ฟิลเริ่มรู้สึกว่าคนรอบตัวเขาแต่งตัวกันเชยสนิท ไม่เนี้ยบเวลาไปติดต่อนายธนาคารหรือนักลงทุน ฟิลจึงออกกฎให้พนักงานแต่งตัวให้ดี แต่เขาโดนประท้วงเพราะการแต่งตัวเนี้ยบมันขัดกับวัฒนธรรมสบายๆ ของไนกี้ ผู้บริหารบางคนถึงกับบอกให้ตัดเงินเดือนจากการแต่งตัวผิดระเบียบได้เลย
- ไนกี้ออกรองเท้ารุ่นใหม่ชื่อ Tailwind ที่เกิดจากนวัตกรรมถุงอากาศในรองเท้า ไนกี้กระหน่ำโฆษณาจนยอดขายถล่มทลาย แต่ต่อมาก็ต้องเรียกสินค้าคืนเพราะรองเท้าฉีกขาดง่ายเกินไป ในขณะเดียวกับที่ภาษี ASP เจรจาไม่สำเร็จ สถานการณ์ย่ำแย่อีกครั้ง ฟิลเริ่มหมดไฟในการทำงานเมื่อมองเห็นแต่ปัญหาเต็มไปหมด
1979 (อายุ 41) การเมือง
- ฟิลลงมือเจรจากับกรมศุลกากรในกรุงวอชิงตันด้วยตัวเอง แต่ข้าราชการที่ดูแลเรื่องไม่สนใจ ถึงแม้การจ่ายภาษี 25 ล้านดอลลาร์จะทำให้กิจการไนกี้ล้มละลาย
- ฟิลหันไปขอให้ส.ว. 2 คนจากรัฐโอเรกอนช่วยเหลือ ข้าราชการศุลกากรเริ่มหวั่นไหวที่นักการเมืองเข้ามาเคลียร์เรื่องให้ด้วยตัวเอง ไนกี้พอเห็นทางรอดแล้ว
- ไนกี้วางกลยุทธ์ขยายธุรกิจเข้าไปในจีนแผ่นดินใหญ่ซึ่งเป็นโอกาสขาย “รองเท้า 2,000 ล้านข้าง” ในขณะที่ออฟฟิศใหญ่ย้ายไปตึกที่ใหญ่กว่าเดิมเพื่อรองรับพนักงานที่มากขึ้น
1980 (อายุ 42) เข้าตลาดหุ้น
- ปีนี้เป็นปีสุดท้ายที่เขียนในหนังสือ Shoe Dog ไนกี้เอาบริษัทเข้าตลาดหุ้นในที่สุด
- ฟิลเหน็ดเหนื่อยกับข้าราชการศุลกากรที่ดึงเรื่องมาแล้วถึง 3 ปี เขาใช้กลยุทธ์ตีโต้กลับ เริ่มจากเปิดตัวแบรนด์รองเท้าราคาถูกที่ผลิตในอเมริกา ฟ้องร้องกลุ่มผู้ผลิตรองเท้ากลับ 25 ล้านดอลลาร์ในข้อหาผูกขาด และลงโฆษณาที่บริษัทเล็กๆ ในโอเรกอนถูกข้าราชการกลั่นแกล้ง เมื่อถูกกดดัน เจ้าหน้าที่ศุลกากรจึงลดภาษีให้เหลือเพียง 9 ล้านดอลลาร์ ฟิลยอมจ่ายเงินเพื่อให้เรื่องจบ
- พอคดีกับศุลกากรจบ ไนกี้ก็ทำเรื่องเข้าตลาดหุ้นได้สักที ฟิลมีข้อกังวลคือไม่อยากให้บริษัทต้องคอยเอาใจผู้ถือหุ้นในตลาดเป็นพันๆ คนที่ทำธุรกิจยังไม่เป็นแต่ก็จะมาโวยวายให้เสียเรื่อง ฟิลจึงออกหุ้น 2 ชนิดเป็นหุ้นชนิด A และ B เพื่อที่ตัวฟิลกับทีมผู้บริหารจะยังคงมีอำนาจตัดสินใจ
- ไนกี้บุกตลาดจีนครั้งแรก โดยมีเดวิด ชาง พาฟิลไปติดต่อรัฐบาลจีนซึ่งพาฟิลไปชมโรงงานรองเท้าจีนหลายราย (ซึ่งส่วนใหญ่ซกมกมากๆ) ไนกี้เซ็นสัญญากับโรงงาน 2 แห่งและได้รับการสนับสนุนจากสมาพันธ์นักวิ่งจีน ทำให้ทีมจีนไปแข่งโอลิมปิกด้วยรองเท้าไนกี้ทั้งทีมในเวลาต่อมา… ไนกี้กลายเป็นบริษัทรองเท้าอเมริกันเจ้าแรกที่เข้าไปในจีนหลังเปิดประเทศ การเข้าไปในตลาดจีนครั้งนี้ได้ส่งผลต่อการเติบโตอย่างรวดเร็วของไนกี้จนถึงปัจจุบัน (เป็นเวลา 40 ปี)
- หลังกลับจากจีน ไนกี้ก็เข้ากระบวนการ IPO (เอาบริษัทเข้าตลาดหุ้น) ไนกี้ตระเวน Roadshow ให้นายธนาคารรู้จักรองเท้าไนกี้และทีมงานที่มุ่งมั่น ฟิลสู้สุดใจให้หุ้นเปิดขายในราคาสูง มีบริษัทเล็กๆ อีกแห่งชื่อ Apple (ของ Steve Jobs) กำลังเข้าตลาดหุ้นในสัปดาห์เดียวกัน ฟิลเชื่อว่าไนกี้ก็ต้องมีมูลค่าสูงไม่แพ้แอปเปิล
- หุ้นเปิดขายในราคา 22 ดอลลาร์ ฟิลถือหุ้น 46% คิดเป็นมูลค่า 178 ล้านดอลลาร์ บิล โบเวอร์แมน มีหุ้น 9 ล้านดอลลาร์ ส่วนทีมผู้บริหารเจฟ จอห์นสัน, บ็อบ วู้ดเดล, ร็อบ สแตรสเซอร์ และเดลเบิร์ต เฮย์ มีหุ้นคนละ 6 ล้านดอลลาร์
- ฟิลนึกย้อนกลับไปถึงวันเวลาอันยากลำบากที่ฟันฝ่ามา ทั้งการไม่มีเงินจ่ายธนาคาร คดีความกับโอนิสึกะ เช็คเด้ง จดหมายจากเจฟ จอห์นสัน ที่ขออนุญาตทุกเรื่องจนน่ารำคาญ ไปจนถึงวันแรกที่สั่งรองเท้าโอนิสึกะมาขาย
“ไนกี้” จากวันนั้นถึงวันนี้
- ในปี 2006 ฟิลลาออกจากตำแหน่ง CEO ยอดขายในปีนั้นคือ 16,000 ล้านดอลลาร์ (Adidas ยอดขาย 10,000 ล้าน) ไนกี้มีร้านสาขา 5,000 ร้านและพนักงาน 10,000 คนทั่วโลก ฐานการผลิตที่ใหญ่ที่สุดอยู่ในจีน
- ไนกี้ได้เซ็นสัญญากับไทเกอร์ วู้ดส์, ไมเคิล จอร์แดน, เลบรอน เจมส์ และอื่นๆ สำนักงานใหญ่ของไนกี้ตั้งชื่อตึกตามนักกีฬาต่างๆ ที่ช่วยสร้างแบรนด์ไนกี้จนประสบความสำเร็จ มี 2 ซอยที่ตั้งชื่อตามบิล โบเวอร์แมน และเดลเบิร์ต เฮย์
- จากที่เคยคัดค้านการทำธุรกิจ พ่อของฟิลหันมาปลื้มใจกับความสำเร็จของไนกี้ ฟิลพาพ่อไปดูการแข่งขันกีฬารอบโลก ซึ่งแน่นอนว่ามีโลโก้ไนกี้อยู่ทุกแห่งหนทั้งในรองเท้าและอุปกรณ์กีฬาต่างๆ
- นักกีฬาต่างๆ ที่ไนกี้เคยสนับสนุนล้วนไปมาหาสู่กันเสมอมา เลบรอน เจมส์ ส่งนาฬิกาโรเล็กซ์ให้ฟิลเป็นของขวัญ ข้างในแกะสลักว่า “ขอบคุณที่เชื่อในตัวผม” ส่วนไมเคิล จอร์แดน ก็ได้ที่นั่งแถวหน้าสุดในงานศพพ่อของฟิล เทียบเท่าสมาชิกครอบครัว
- ในปี 2000 แมธธิว ไนท์ ลูกชายคนโตของฟิล ไนท์ เสียชีวิตด้วยวัย 34 ปีจากอุบัติเหตุดำน้ำ นี่เป็นการสูญเสียที่รุนแรงที่สุดของครอบครัวไนท์ ฟิลเศร้าโศกอยู่หลายสัปดาห์ที่เสียลูกชายไปโดยยังไม่สามารถปรับความเข้าใจกันได้
- ในปี 1993 บิล โบเวอร์แมน (โค้ชที่ร่วมก่อตั้งไนกี้มาตั้งแต่แรก) เสียชีวิตในบ้านของตัวเอง ฟิลร้องไห้จนเลิกใช้กระดาษทิชชู่แล้วเปลี่ยนมาพกผ้าผืนใหญ่แทน
- ในปี 1993 ร็อบ สแตรสเซอร์ (ผู้บริหารสายกฎหมาย) เสียชีวิตจากโรคหัวใจ ก่อนหน้านั้นร็อบมีผลงานเซ็นสัญญา “Nike Air” กับไมเคิล จอร์แดน ทำให้ร็อบหลงความสำเร็จจนไม่ฟังคำสั่งใคร เขาทะเลาะกับฟิลและลาออกไปทำงานกับ Adidas นี่เป็นการทรยศที่ฟิลไม่ยอมให้อภัยจนวาระสุดท้าย (แต่ฟิลก็ได้จ้างลูกสาวของร็อบมาทำงานที่ไนกี้ในเวลาต่อมา)
- เดลเบิร์ต เฮย์ (นักบัญชีตัวอ้วนฉุ) เกษียณไปทำไร่ในชนบทพร้อมคฤหาสน์หลังใหญ่ เขามีงานอดิเรกสะสมรถแทร็กเตอร์ที่เขาโปรดปราน
- บ็อบ วู้ดเดล (อดีตนักวิ่งที่พิการจากอุบัติเหตุ) หันไปคุมท่าเรือเมืองพอร์ทแลนด์ ฝึกขับเครื่องบิน และเปิดโรงเบียร์เล็กๆ ของตัวเองอย่างมีความสุข
- เจฟ จอห์นสัน (พนักงานคนแรกที่ไฟแรงสุดๆ) เกษียณไปสร้างคฤหาสน์หลังใหญ่และมีห้องสมุดส่วนตัวที่เปิดให้คนทั่วไปเข้ามาอ่านหนังสือได้
- ประเด็นที่ทำให้ฟิลโมโหที่สุดคือข่าว “โรงงานนรก” ที่นักข่าวไปคุ้ยว่าคนงานชีวิตที่ไม่ดีพอ ทั้งที่ไนกี้เองได้พัฒนาโรงงานให้ดีขึ้นกว่าเดิมหลายเท่าแล้ว อีกอย่าง ไนกี้ไม่ใช่เจ้าของโรงงาน แค่มาจ้างผลิต ในหลายกรณีไนกี้ก็ไม่สามารถช่วยเหลือได้ (ไนกี้เคยคิดจะขึ้นค่าแรงในประเทศกำลังพัฒนาแห่งหนึ่ง แต่ถูกรัฐบาลเรียกไปคุยว่ามันจะทำให้เศรษฐกิจปั่นป่วน เพราะคนงานผลิตรองเท้าจะมีเงินเดือนสูงกว่าหมอ)… ไนกี้ใช้วิกฤตินี้พัฒนาโรงงานอย่างต่อเนื่องจนได้รับรางวัลจาก UN
- หลังฟิลได้ดูหนัง The Bucket List (คุณอยากทำอะไรก่อนตาย) เขาจึงตัดสินใจบริจาคเงินปีละ 100 ล้านดอลลาร์ และได้สร้างสนามกีฬา “Matthew Knight” ที่มหาวิทยาลัยโอเรกอน เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่ลูกชายอันเป็นที่รัก
- ปิดท้าย ฟิล ไนท์ ให้คำแนะนำแก่ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ว่าให้ทำในสิ่งที่ตัวเองรัก และแสวงหาคนที่ “มีความมุ่งมั่นเหมือนกัน มีความฝันเหมือนกัน” คุณควรทำในสิ่งที่ตัวเองรักและอย่ายอมแพ้เด็ดขาด “ถ้าคุณใช้ชีวิตตามความฝัน ความเหน็ดเหนื่อยจะหายไป ความผิดหวังจะกลายเป็นพลัง และจุดสูงสุดจะเป็นความรู้สึกที่คุณไม่เคยสัมผัสมาก่อน”
หนังสือที่อาจจะดีกว่าเล่ม Shoe Dog
ก่อนอื่น ยินดีด้วยยยยยครับที่อ่านจนจบ! หนังสือ Shoe Dog จัดเป็นประวัติของผู้ก่อตั้งไนกี้ที่ละเอียดที่สุด และผมหวังว่ามันจะให้แง่คิดกับคุณไม่มากก็น้อย … บิงโกยังมีบทความและหนังสือดีๆ อีกมากที่คุณอาจสนใจ ดังนี้ครับ
- ไนกี้เป็นแบรนด์รองเท้าเจ้าดัง แต่ถ้าใครสนใจแนวขายรองเท้า บิงโกมีบทความเกี่ยวกับ Zappos ร้านขายรองเท้าออนไลน์เจ้าดังในอเมริกา ที่กระทั่ง Amazon ยังสู้ไม่ได้
- สรุปประวัติ Steve Jobs รวมถึงวิธีคิดของสตีฟ จอบส์ ที่ทำให้เขาคิดไอเดียเปลี่ยนโลกได้หลายต่อหลายครั้ง
- หลายคนสงสัยว่า “แค่ขายรองเท้ามันรวยขนาดนี้เลยเรอะ!” เป็นไปได้แน่นอนถ้าคุณรู้จักวิธีทำการตลาด ลองดูได้จากหนังสือ Growth Hacker Marketing ที่จะทำให้ธุรกิจโตขึ้น 10 ได้อย่างง่ายดาย
- ไนกี้ขึ้นตอนที่ฟิลเป็นแค่นักบัญชี และขายรองเท้าเป็นรายได้เสริมตอนเย็นเท่านั้น … คุณเองก็สามารถสร้างธุรกิจควบคู่กับการทำงานประจำได้ (และง่ายกว่าด้วย เพราะสมัยนี้มีเทคโนโลยี) หนังสือ 4-Hour Workweek จะสอนคุณทุกอย่างเอง
- ถ้าคุณอยากเริ่มทำธุรกิจออนไลน์ บิงโกมีหนังสือ The 7 Day Startup ที่จะช่วยคุณสร้างธุรกิจออนไลน์ได้อย่างรวดเร็ว โดยที่คุณไม่จำเป็นต้องมีพื้นฐานมาก่อน เขียนโดยแดน นอร์ริส นักธุรกิจชาวออสเตรเลียที่คนทั่วโลกมาฝากตัวเป็นลูกศิษย์
- คนธรรมดาที่ไม่รู้เรื่องธุรกิจจะเริ่มต้นยังไง? พบกับหนังสือ เปลี่ยนคนธรรมดาให้มีหัวธุรกิจใน 3 ชั่วโมง ที่เขียนโดยนักธุรกิจชาวญี่ปุ่นค่าตัวหลักล้าน ซึ่งจะสอนแนวคิดธุรกิจที่ครอบคลุมที่สุด ตั้งแต่ระดับเริ่มต้นยัน “expert” เหมาะกับทุกคนที่สนใจธุรกิจ ทั้งที่เพิ่งเริ่มต้น และคนที่อยากเติมความรู้ธุรกิจให้เต็ม!
- หนังสือ ทำถูกครั้งเดียว อนาคตเปลี่ยนตลอดชีวิต รวบรวมประวัติเศรษฐีระดับโลก 16 คนที่สร้างตัวขึ้นมาหลายพันล้านดอลลาร์ได้ โดยใช้เวลาไม่ถึง 5 ปี! แต่ละคนเห็นโอกาสจากเทคโนโลยีต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากโลกดิจิตอล … โดยคุณอาจเป็นคนถัดไป
Pingback: สรุปหนังสือ Grinding It Out: ความลับของอาณาจักรแมคโดนัลด์ จากปากผู้ก่อตั้ง
Pingback: กฎ 10 ข้อของ Sam Walton เจ้าของวอลมาร์ท ซูเปอร์มาร์เก็ตที่ใหญ่ที่สุดในโลก
Pingback: สรุปหนังสือ Sam Walton: กำเนิด Walmart เครือซูเปอร์มาร์เก็ตที่ใหญ่ที่สุดในโลก
I am now not certain where you’re getting your information, but great topic.
I must spend a while finding out much more or understanding more.
Thank you for excellent info I used to be in search of this information for
my mission.
Pingback: จากเด็กส่งยา สู่ราชาฮิพฮอพ: Jay-Z - สำนักพิมพ์บิงโก
Pingback: กฎเหล็ก 3 ข้อในการทำธุรกิจ กับบริษัทกระเป๋าเดินทาง Away - สำนักพิมพ์บิงโก
Pingback: โลกหลัง Covid ที่ไม่มีอเมริกา... แล้วไทยอยู่ไหน - สำนักพิมพ์บิงโก
สวัสดีค่ะ ก่อนอื่นเลยต้องขอชื่นชมผู้เขียนมาก เราเป็นคนที่ชอบอ่านหนังพัฒนาตัวเอง การลงทุน เทคโนโลยี หรือแม้กระทั่งแนว Heeling ต่างๆ บทความข้างบนเขียน/ก็ชัดเจน กระชับ ไม่น่าเบื่อเลย อยากขอบคุณที่มอบเวลาให้แก่การอ่านหนังสือและแบ่งปันให้คนที่ชอบการอ่านสรุปเป็นที่สุด
ปล. ทำต่อไปด้วยนะคะ นะตามอ่านให้ครบค่ะ
ปล.2 จากใจจริง