วิธีหาหุ้นตัวแรกของคุณ กำไรด้วยความเสี่ยงน้อยที่สุด

ถ้าคุณเพิ่งเริ่มต้นลงทุน คุณคงสับสนงงงวย ว่าจะเลือกซื้อหุ้นตัวไหนดี ถึงแม้คุณจะศึกษาเรื่องการลงทุนมาเยอะ อ่านหนังสือมาหลายเล่ม ก็อาจยังไม่แน่ใจ

ไม่ใช่หุ้นทุกตัวที่ซื้อได้ หุ้นส่วนใหญ่ในตลาดเป็นหุ้นที่คุณไม่ควรซื้อ หลายคนใจร้อนเกินไปจนซื้อหุ้นผิดตัว และขาดทุนหนักจนยากจะฟื้นตัว

วันนี้บิงโกจึงอยากแนะนำวิธีคัดเลือกหุ้นตัวแรกของคุณ ซึ่งนำมาจากวิธีลงทุนแนวเน้นคุณค่าหรือ VI แล้วผมนำมาปรับให้เป็นขั้นตอนที่ลงมือทำตามได้เลย

  1. หาชื่อหุ้น
  2. มี Story ว่าจะเติบโต
  3. มีตัวเลขยืนยันว่าจะโตจริง
  4. คิดถึงกรณีที่แย่ที่สุดเผื่อไว้
  5. ราคาหุ้นไม่แพงเกินไป
  6. ผู้บริหารซื่อสัตย์มีความสามารถ

 

1. หาชื่อหุ้น

ไม่มีทางที่เราจะศึกษาหุ้นทุกตัวได้ละเอียดอยู่แล้ว เราจึงต้องมีวิธีคัดกรองหุ้นก่อน เพื่อให้เหลือหุ้นน้อยตัวที่เราสนใจและพร้อมจะวิเคราะห์เชิงลึก โดยเราสามารถหาชื่อหุ้นได้ด้วยวิธีดังนี้ครับ

 

1.1. ถามเพื่อนหรือถามโบรคเกอร์

โบรคเกอร์มักจะมีบทวิเคราะห์หุ้นให้เราดูเป็นประจำอยู่แล้ว คุณสามารถตามอ่านบทวิเคราะห์พวกนี้ แล้วก็จะได้ชื่อหุ้นมา

เราไม่ควรเชื่อโบรคเกอร์ว่าควรซื้อหรือควรขายตัวไหน ตรงส่วนนี้เราควรคิดเองมากกว่าเชื่อโบรคเกอร์ แต่เราสามารถดูข้อมูลจากบทวิเคราะห์ได้ว่าหุ้นตัวนี้ทำธุรกิจอะไร มีผลประกอบการอย่างไร และถ้าตัวไหนน่าสนใจเราก็หาข้อมูลต่อได้

คุณยังอาจถามชื่อหุ้นจากเพื่อน ถ้าเพื่อนคนนั้นลงทุนเก่ง เราก็เชื่อได้มาก แต่ถ้าเพื่อนไม่ค่อยเก่งเราก็อาจจะเอามาแค่ชื่อแล้วไปหาข้อมูลต่อเอง

 

1.2. หาหุ้นแบบ Top Down (มองภาพใหญ่)

หาหุ้นแบบ Top Down มองภาพใหญ่

เวลาคุณหาหุ้นแบบ Top Down คุณก็ต้องเริ่มจากมองว่าอุตสาหกรรมไหนน่าลงทุน

จากนั้นค่อยเจาะลึกลงไปว่าอุตสาหกรรมนั้นมีหุ้นตัวไหนให้เราซื้อได้บ้าง

เช่น คุณอาจมองว่าประเทศไทยโดดเด่นเรื่องการท่องเที่ยว คุณก็อาจมองหาหุ้นโรงแรม ร้านอาหาร สายการบิน สนามบิน

หรือถ้าคุณมองว่าช่วงนี้รัฐบาลส่งเสริมพลังงานทดแทน คุณก็อาจมองดูว่าบริษัทไหนจะได้ประโยชน์จากนโยบายรัฐ เป็นต้น

 

1.3. หาหุ้นแบบ Bottom Up (หาหุ้นเป็นรายตัว)

หาหุ้นแบบ Bottom Up เริ่มจากภาพเล็ก

คุณอาจเลือกหาหุ้นแบบ Bottom Up โดยมองหุ้นเป็นรายตัว

คุณอาจหาหุ้นได้จากสินค้าและบริการในชีวิตประจำวัน เวลาคุณเดินห้างสรรพสินค้าหรือร้านค้า คุณก็อาจลองสังเกตดูว่าสินค้าไหนขายดี แล้วเช็คดูว่าบริษัทมีชื่ออยู่ในตลาดหุ้นให้เราซื้อได้ไหม หรือว่าร้านอาหารร้านไหนมีคนต่อคิวแน่นตลอด คุณก็อาจไปศึกษาบริษัทนั้นต่อไป

  • ถ้าคุณชอบเดินเซเว่น คุณก็อาจไปดูหุ้น CPALL
  • ถ้าคุณชอบทานร้านขนม After You คุณก็อาจไปดูหุ้น AU
  • ถ้าคุณชอบดู Netflix คุณก็อาจดูหุ้น NFLX ในตลาดอเมริกา
  • ถ้าคุณชอบใช้สินค้า Apple คุณก็อาจดูหุ้น AAPL ในตลาดอเมริกา

เวลาคุณอ่านข่าว คุณก็อาจเห็นข่าวของบางบริษัท เช่น บางบริษัทประมูลสัมปทานมูลค่ามหาศาลได้จากรัฐบาล คุณก็อาจไปหาข้อมูลหุ้นตัวนั้นต่อ เป็นต้น

ขั้นตอนการหาหุ้นนี้เป็นขั้นที่สำคัญที่สุด แต่ก็ยากที่สุดเช่นกัน เพราะเราต้องมีความรู้เพียงพอก่อนจึงจะเลือกหุ้นได้ถูกต้อง ความรู้ที่ดีที่สุดด้านการลงทุนมักอยู่ในหนังสือ เพราะหนังสือเป็นช่องทางที่เราจะเข้าถึงแนวคิดในการลงทุนของนักลงทุนชั้นนำของโลกได้ง่ายที่สุด ไม่มีนักลงทุนระดับโลกคนไหนจะมาอธิบายเทคนิคของตัวเองอย่างละเอียดในยูทูป แต่ถ้าเขาอยากถ่ายทอดจริงๆ เขามักเขียนเป็นหนังสือไปเลย

ที่จริงนักลงทุนไทยเก่งๆ ก็เรียนรู้แนวคิดของนักลงทุนชั้นนำในโลกจากหนังสือนี่แหละครับ ผมกล้าบอกเลยว่านักลงทุนไทยทุกคนที่ประสบความสำเร็จ ล้วนอ่านหนังสือมาเยอะมาก

คนที่ไม่รู้จะเริ่มอ่านจากไหน ผมได้สรุปหนังสือลงทุนดีๆ ที่ควรอ่าน ให้คุณแล้วครับ

แต่ปัญหาของหลายๆ คนคือ หนังสือแต่ละเล่มนั้นใช้เวลาอ่านเยอะ แถมทำความเข้าใจยาก อ่านรู้เรื่องบ้างไม่รู้เรื่องบ้าง กว่าจะอ่านครบแล้วเชื่อมโยงแต่ละเล่มเข้าด้วยกันก็กินเวลานาน (เล่มนึงบางทีอ่านเป็นสัปดาห์ เล่มหนาๆ ก็เป็นเดือน)

แนวคิดบางอย่างก็อยู่ในบริบทของต่างประเทศและเกิดขึ้นมาเมื่อหลายสิบปีก่อน จึงยากที่จะทำความเข้าใจ บิงโกจึงมีคอร์สลงทุนที่ช่วยเรียบเรียงลำดับความคิดเรื่องการลงทุนทั้งหมดให้คุณ ดูรายละเอียดคอร์สด้านล่างได้เลยครับ

ดูรายละเอียด

 

2. มี Story ว่าจะเติบโต

ต้องมี Story ว่าบริษัทจะเติบโต

หุ้นที่ดีคือหุ้นที่กำไรจะเติบโตในอนาคต แต่กำไรจะเติบโตได้นั้นต้องมีเหตุผลให้โตด้วย

ดังนั้นก่อนลงทุน คุณต้องเข้าใจธุรกิจของบริษัทนั้นก่อน ว่าบริษัทนั้นมีเหตุผลให้เชื่อได้ว่าจะมีกำไรเติบโตในอนาคต เช่น…

  • บริษัทเปิดร้านเพิ่ม แล้วร้านใหม่ขายออกทุกร้าน ลูกค้าแน่น
  • บริษัทขยายไปหาตลาดใหม่ เช่น ขยายไปจีน แล้วขายได้
  • บริษัทเปิดตัวสินค้าใหม่ที่ลูกค้าพร้อมจ่าย
  • บริษัทผูกขาดบริการสำคัญในธุรกิจที่กำลังเติบโต เช่น สนามบินย่อมมีรายได้เพิ่มถ้ามีนักท่องเที่ยวเพิ่ม ดังนั้นถ้าประเทศไทยจะเติบโตจากการท่องเที่ยว ถึงอย่างไรสนามบินก็ต้องเติบโตไปด้วย

 

3. มีตัวเลขยืนยันว่าจะโตจริง

แค่ Story อย่างเดียวยังไม่พอที่จะยืนยันได้ว่าบริษัทจะเติบโตจริง

ในตลาดหุ้น มีบริษัทมากมายที่คุยไว้ใหญ่โต ราคาหุ้นก็พุ่งแรง สุดท้ายทำจริงไม่ได้ กำไรไม่โตอย่างที่โม้ไว้ แล้วราคาก็ร่วงกลับมารุนแรง เหลือเท่าเดิมหรือต่ำกว่าเดิม

อย่าตกเป็นเหยื่อบริษัทขี้โม้เลยครับ

ก่อนเราจะเชื่อ Story ของบริษัทพวกนี้ เราควรต้องเห็นหลักฐานก่อน ว่าบริษัทจะโตจริงอย่างที่คุยไว้ ไม่อย่างนั้นการลงทุนนั้นก็จะเสี่ยงมาก เราอาจหาหลักฐานได้จาก…

  • ดูงบการเงินปีล่าสุด ว่ายอดขายเติบโตจริง (อ่านวิธีวิเคราะห์งบการเงินสำหรับมือใหม่ได้เลย)
  • ดูจำนวนคนโหลดแอพ คนเข้าเว็บ ยอด Follow คนสั่งซื้อสินค้า ที่เราพอจะดูได้จากแหล่งข้อมูลออนไลน์
  • ถ้าบริษัทเป็นผู้นำในธุรกิจนั้น เราอาจหาข้อมูลธุรกิจชนิดนั้น แล้วเชื่อมโยงเอาว่าถ้าธุรกิจนั้นโต บริษัทก็ต้องโตด้วย เช่น ถ้าบริษัทเป็นสายการบิน แล้วนักท่องเที่ยวมากขึ้น เราก็อาจมองว่าสายการบินน่าจะโตด้วย

 

นักลงทุนเก่งๆ บางคนสามารถคาดเดากำไรได้โดยไม่ต้องรอตัวเลขยืนยัน โดยดูจากสินค้าหรือบริการว่าดีจริง และคาดเดาปริมาณลูกค้าล่วงหน้าว่าจะมีคนซื้อเยอะ

การทำแบบนี้ยากมาก ส่วนใหญ่จะเป็นธุรกิจที่เขาถนัดพอดี และเขาก็มีประสบการณ์สูงแล้ว แต่ถ้าเรายังเพิ่งหาหุ้นตัวแรก ผมแนะนำว่ารอดูตัวเลขก่อนค่อยลงทุนจะดีกว่าครับ

 

4. คิดถึงกรณีที่แย่ที่สุดเผื่อไว้

จู่ๆ อเมริกาอาจมีนโยบายแปลกๆ ทำให้ธุรกิจทรุดหนัก

ทุกสิ่งเกิดขึ้นได้ในธุรกิจและสงคราม

ยิ่งถ้าบริษัทกำลังเปิดตัวสินค้าใหม่ ขยายไปในตลาดใหม่ หรือทำอะไรที่ไม่เคยทำ ก็ยิ่งเกิดข้อผิดพลาดได้ง่าย

ต่อให้บริษัททำดีทุกอย่าง จู่ๆ อาจมีนโยบายรัฐหรือเรื่องในต่างประเทศเข้ามา จากธุรกิจที่กำลังไปได้สวย อาจกลายเป็นมีปัญหาไปได้

ก่อนลงทุนคุณจึงควรคิดถึงความเสี่ยงต่างๆ เผื่อไว้ด้วย ถ้ามีความเสี่ยงมากเกินไป เราอาจเลี่ยงไม่ลงทุนหุ้นตัวนี้ ไปลงทุนตัวอื่นแทน

เช่น บริษัทกำลังเร่งขยายธุรกิจโดยเปิดร้านใหม่ แต่คุณสังเกตว่าร้านใหม่ไปเปิดในพื้นที่ที่คนฐานะด้อยลง ทั้งที่ฐานลูกค้าเดิมของบริษัทเป็นลูกค้าที่กำลังซื้อสูง คุณก็อาจตั้งคำถามไว้ก่อนว่าแล้วจะขายได้ไหม แล้วอาจไปเช็คยอดขายของร้านใหม่ หรือดูที่ยอดขายเฉลี่ยทุกร้านว่าลดลงไหม

 

5. ราคาหุ้นไม่แพงเกินไป

หุ้นที่ดีกำไรเติบโตสูงแต่ราคาแพง จู่ๆ ราคาอาจหล่นลงมาทั้งที่ธุรกิจไปได้สวยก็ได้

การซื้อหุ้นในราคาไม่แพงจึงเป็นการปกป้องเราส่วนหนึ่งด้วย

วิธีดูว่าบริษัทแพงไปไหม ให้ดูจากค่า P/E

  • P คือ ราคาหุ้นที่เราจะซื้อ
  • E คือ กำไรต่อหุ้น
  • เอามาหารกันก็เป็นค่า P/E

บริษัทที่โตเร็วจะมี P/E สูงได้ (บริษัทดีเราก็ยอมจ่ายแพงได้) แต่บริษัทที่เติบโตช้า ห้ามซื้อ P/E สูง

ค่า P/E ไม่ควรเกินอัตราการเติบโต เช่น ถ้าบริษัทกำไรโตปีละ 30% ค่า P/E ก็ไม่ควรเกิน 30 ครับ

บางบริษัท เช่นพวกบริษัทเทคโนโลยีในอเมริกา จะเติบโตเร็วทั้งที่ไม่มีกำไร บริษัทแบบนี้วิเคราะห์ยาก จึงไม่เหมาะกับนักลงทุนมือใหม่ครับ ไว้ผมจะเล่าให้ฟังในบทความถัดๆ ไป

 

6. ผู้บริหารซื่อสัตย์มีความสามารถ

CEO ที่เป็นคนสร้างบริษัทกับมือ จะเก่งมากเป็นพิเศษ

สำคัญที่สุดคือความซื่อสัตย์ ถ้าผู้บริหารไม่ซื่อสัตย์เราก็ควรเลี่ยงหุ้นตัวนั้น

เรื่องความสามารถ บางทีก็ไม่จำเป็นครับ เพราะบางธุรกิจก็ดีด้วยตัวเองอยู่แล้ว ผู้บริหารไม่เก่งมากก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าผู้บริหารเก่งก็ย่อมดีกว่า

ผู้บริหารที่เก่งเป็นพิเศษคือ “Founder CEO” หรือก็คือคนที่สร้างบริษัทนั้นมากับมือ แล้วยังนั่งบริหารเองอยู่ พวกเขาจะรู้ไส้รู้พุงของบริษัทหมด และทำธุรกิจได้ดุเด็ดเผ็ดมัน พวกเขาจะคิดนอกกรอบกว่าผู้บริหารจากข้างนอกที่ไม่ได้สร้างบริษัทนั้นเอง

 

มือใหม่เริ่มต้นลงทุนหุ้นได้ง่ายๆ วันนี้

คอร์สลงทุน บิงโก

อยากศึกษาเรื่องการลงทุนแต่เริ่มไม่ถูก?

การลงทุนนั้นแฝงด้วยความลึกซึ้ง คุณต้องใช้ทั้งศาสตร์ ศิลป์ และประสบการณ์ร่วมกัน นักลงทุนมือใหม่จึงต้องใช้เวลาพอสมควรกว่าจะทำความเข้าใจและจับหลักได้ถูก

ถ้าคุณอยากได้ตัวช่วย บิงโกมีคอร์สลงทุนดีๆ​ ซึ่งจะสอนวิธีลงทุนแนว VI อย่างละเอียด โดยใช้เทคนิคของนักลงทุนชั้นนำทั่วโลกมาสอนคุณอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ (สอนตัั้งแต่พื้นฐานจนลงทุนเก่ง) เหมือน “นักลงทุนระดับโลกมาสอนคุณเอง” เรียนจบพร้อมลงทุนจริงได้เลย ซึ่งจะร่นเวลาให้คุณลงทุนได้เก่งกาจอย่างรวดเร็ว

ดูรายละเอียด

 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราะห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก