สรุปหนังสือ The Power of Habit เปลี่ยนตัวเองครั้งใหญ่ ด้วยการปรับนิสัยแค่ 1%

ความสำเร็จเกิดจากนิสัยของคนเราที่ทำสิ่งเล็กๆ ซ้ำๆ โดยไม่รู้ตัว ซึ่งถ้าคุณจับจุดได้ นิสัยนี้อาจก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่กับชีวิต ธุรกิจหรือแม้แต่สังคมที่คุณอยู่ได้

ถ้าคุณอยากสำรวจนิสัยที่ซ่อนอยู่ในตัวเอง แล้วใช้มันเพื่อเปลี่ยนชีวิตคุณแล้วละก็ ผมมีแนวคิดดีๆ จากหนังสือขายดีติดอันดับ New York Times อย่าง The Power of Habit มาเล่าให้คุณฟัง

 

นิสัยเกิดขึ้นได้อย่างไร

สมองของคนเราไม่อยากเสียพลังงานโดยไม่จำเป็น ดังนั้นถ้าสมองต้องคิดเรื่องอะไรซ้ำๆ สมองจะเปลี่ยนสิ่งนั้นให้กลายเป็นนิสัย กิจกรรมที่ตอนแรกต้องใช้ความคิดจึงกลายเป็นนิสัยที่เราทำไปโดยอัตโนมัติ กระบวนการเกิดนิสัยนั้นมี 3 ขั้นตอน คือ

  1. มีสัญญาณภายนอก เช่น นาฬิกาปลุกดัง
  2. สมองสั่งให้ร่างกายทำตามนิสัยที่คุ้นเคย เช่น เดินไปห้องน้ำแล้วแปรงฟันโดยไม่ต้องคิด
  3. สมองรู้สึกดีที่ได้ทำ เช่น แปรงฟันแล้วรู้สึกว่าลมหายใจหอมสดชื่น สมองจะจดจำไว้ว่าวันหลังก็ให้ทำนิสัยนั้นอีก เพราะทำแล้วรู้สึกดี

เมื่อเราทำอะไรเป็นนิสัยแล้ว มันจะเลิกยากเสมอ ยกตัวอย่างเช่น คนที่สมองเสียหายจากอุบัติเหตุจนจำไม่ได้กระทั่งบ้านตัวเอง เขายังติดนิสัยเดิมๆ อยู่ตั้งแต่ก่อนได้รับอุบัติเหตุเสียอีก ดังนั้นถ้าคุณติดนิสัยเสียอย่างเช่น ชอบสูบบุหรี่ คุณก็เลิกนิสัยนี้ได้ยากเช่นกัน

 

คนเราไม่เลิกนิสัยเดิมๆ เพราะรู้สึกดีที่ได้ทำ

สมมุติว่าทุกวันตอนพักเที่ยง คุณชอบกินขนมหวานแสนอร่อยจากร้านเจ้าประจำ คุณรู้สึกดีที่ได้กินขนมเพราะมันเหมือนกับคุณได้ให้รางวัลกับตัวเองหลังจากทำงานหนักในทุกๆ วัน

อยู่มาวันหนึ่งเพื่อนของคุณมาบอกว่า คุณเริ่มอ้วน คุณเลยตัดสินใจเลิกนิสัยกินขนมทุกเที่ยง แต่คุณจะรู้สึกอย่างไรถ้าต้องเดินผ่านร้านเจ้าประจำทุกวัน? ผมคิดว่าคุณจะรู้สึกหงุดหงิดหรืออารมณ์ไม่ดีอย่างแน่นอน

กระบวนการสร้างนิสัย

สมองเราจะติดนิสัยเดิมๆ เพราะคนเราได้รับรางวัลจากการทำนิสัยนั้นและเราจะอยากได้รางวัลต่อไปเรื่อยๆ นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมยาสีฟันต้องทำให้ลมหายใจหอมสดชื่น ทั้งที่มันมีหน้าที่กำจัดสิ่งสกปรกและเชื้อโรคเท่านั้น

บริษัทยาสีฟันรู้ว่าคนเราจะติดนิสัยแปรงฟันทุกเช้าและก่อนเข้านอนได้ มันต้องมีรางวัลให้กับสมอง บริษัทยาสีฟันจึงจงใจใส่กลิ่นหอมเข้าไปในยาสีฟันเพื่อให้สมองคนเราติดนิสัยการแปรงฟันอย่างสม่ำเสมอนั่นเอง

 

ถ้าคุณอยากเปลี่ยนนิสัยเสีย คุณต้องหานิสัยใหม่มาแทน

ถ้าคนติดบุหรี่อยากจะเลิกบุหรี่ เขาจะเลิกเฉยๆ ไม่ได้ เพราะร่างกายจะโหยหารางวัลจากการสูบบุหรี่อยู่เสมอ ต่อให้เป็นคนใจแข็งแค่ไหน แต่สมองคนเราไม่ได้ถูกออกแบบมาให้ต้านทานแรงยั่วยวนได้ขนาดนั้น ดังนั้นถ้าคุณจะใช้วิธี “ใจแข็งไม่สูบบุหรี่” สุดท้ายมันอาจจะไม่ได้ผล

วิธีที่ได้ผลก็คือ อย่าไปต้านทานนิสัยที่ไม่ดี แต่ให้หานิสัยใหม่มาทดแทน คนเราติดบุหรี่เพราะทุกครั้งที่ร่างกายโหยหาบุหรี่ การสูบบุหรี่ทำให้รู้สึกดี ดังนั้นถ้าเราอยากเลิก เราต้องหานิสัยใหม่ที่ทำให้เรารู้สึกดีมาทดแทนเวลาที่ร่างกายโหยหาบุหรี่

องค์กร Alcoholics Anonymous (AA) ได้ช่วยคนติดเหล้ามาแล้วกว่า 10 ล้านคน เทคนิคที่พวกเขาใช้ก็คือ หานิสัยใหม่มาทดแทน เช่นกัน

องค์กรนี้พบว่าคนติดเหล้าเพราะอยากได้ความรู้สึกผ่อนคลายกับการมีเพื่อนดื่มเหล้าด้วย นั่นแปลว่ารางวัลจากการดื่มเหล้าคือ ความรู้สึกผ่อนคลายกับเพื่อนฝูง

ดังนั้นแทนที่ AA จะสอนให้เลิกดื่มเหล้าแบบหักดิบ พวกเขาก็หานิสัยใหม่มาทดแทน ทุกครั้งที่คนติดเหล้าอยากดื่มเหล้า ก็ให้เขาทำกิจกรรมอื่นที่ผ่อนคลายและมีคนมาเป็นเพื่อนคุย เพื่อเป็นรางวัลทดแทนนิสัยการดื่มเหล้าแบบเดิมๆ

 

แค่เปลี่ยนนิสัย เรื่องยิ่งใหญ่ตามมาได้

บริษัทอะลูมีเนียม Alcoa กำลังเจอกับปัญหา พวกเขาใกล้จะล้มละลาย แต่บุคคลที่เข้ามารับตำแหน่งซีอีโอและเข้ามาฟื้นฟูกิจการแห่งนี้กลับเป็นอดีตข้าราชการคนหนึ่งที่ชื่อ พอล โอเนียล

เหล่าผู้ถือหุ้นต่างรอคำตอบเรื่องรายได้ กำไร หรืออนาคตของธุรกิจนี้ แต่โอเนียลกลับเลือกประกาศว่า เขาจะฟื้นฟูบริษัทแห่งนี้ด้วยการทำให้สถานที่ทำงานปลอดภัย

ผู้ถือหุ้นต้องงงเป็นไก่ตาแตก แถมนักลงทุนคนหนึ่งยังโวยวายด้วยว่า “นี่เรารับฮิปสเตอร์มาเป็นผู้บริหารหรือไง”

 

พอล โอเนียล อดีตซีอีโอของบริษัท Alcoa และอดีตรัฐมนตรีกระทรวงการคลังสหรัฐอเมริกา

ทว่าหลังจากนั้นไม่นาน สถานการณ์ของ Alcoa ก็ดีขึ้น พวกเขาทำกำไรสูงขึ้นถึง 5 เท่า คุณคิดว่า แนวคิดการทำให้สถานที่ทำงานปลอดภัยของโอเนียลส่งผลต่อเรื่องนี้อย่างไร?

โอเนียลเข้าใจดีว่า ทุกองค์กรจะมีนิสัยของตัวมันอยู่ การจะปรับเปลี่ยนองค์กรนั้นต้องปรับนิสัยขององค์กรด้วย โอเนียลจึงเริ่มจากการปรับนิสัยที่สำคัญที่สุด โดยเขาให้พนักงานเรียนรู้ว่า ความปลอดภัยต้องมาก่อน นั่นทำให้พนักงานค่อยๆ เรียนรู้นิสัยอื่นตามมา ไม่ว่าจะเป็นการปรับกระบวนการผลิตให้ปลอดภัย หรือการปฏิรูปโครงสร้างทั้งองค์กรให้มีประสิทธิภาพ

นิสัยที่สำคัญที่สุดคือ นิสัยที่ทำได้ง่าย และช่วยกระตุ้นให้คุณรู้สึกว่าถ้าเปลี่ยนนิสัยอื่นๆ ด้วยจะทำให้ชีวิตดีขึ้น มันคือตัวจุดชนวนให้คุณอยากหันมาเปลี่ยนนิสัยอื่นๆ จนคุณเปลี่ยนนิสัยทั้งตัวและกลายเป็นคนใหม่

มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งบอกว่า คนอ้วนจะลดน้ำหนักไม่สำเร็จ ถ้าหมอบอกให้เขาต้องปรับนิสัยหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ลดอาหารหวาน ลดจำนวนมื้อต่อวัน นอนหลับให้เพียงพอ ฯลฯ แต่ถ้าคนอ้วนปรับนิสัยสำคัญอย่างเดียว เช่น เขาต้องเขียนบันทึกการกินอาหาร นิสัยดีๆ อย่างอื่นก็จะเกิดขึ้นตามมาเอง

 

ความมุ่งมั่นตั้งใจ คือนิสัยที่สำคัญที่สุด

มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดทดลองให้เด็ก 4 ขวบหักห้ามใจไม่ให้กินขนมมาร์ชเมลโลก่อนได้รับอนุญาต ถ้าใครหักห้ามใจได้สำเร็จก็จะได้มาร์ชเมลโลเพิ่มอีกชิ้น การศึกษานี้พบว่าเด็กที่หักห้ามใจตัวเองได้จะโตขึ้นมาเรียนเก่งกว่า และมีชีวิตดีกว่า

การทดสอบทางจิตวิทยาของเด็ก จัดทำโดยมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด

“ความมุ่งมั่นตั้งใจ” คือ นิสัยที่สำคัญที่สุดและจะส่งเสริมให้คนเราสร้างนิสัยดีๆ อื่นๆ ขึ้นมาในชีวิต โชคดีที่ความมุ่งมั่นตั้งใจนี้เป็นสิ่งที่ฝึกฝนกันได้ แต่ทำไมคนเรามุ่งมั่นตั้งใจไม่เท่ากันในแต่ละวัน? บางครั้งเราบังคับตัวเองให้ออกกำลังกายได้ แต่บางวันเรากลับอยากนอนกลิ้งไปกลิ้งมาอย่างเดียว

ความมุ่งมั่นตั้งใจก็เหมือนกล้ามเนื้อ มันเหนื่อยได้ ถ้าคุณเหนื่อยใจไปกับการทำงานที่น่าเบื่อหน่าย เช่น การกรอกข้อมูลลงตาราง คุณก็จะเหนื่อยใจจนไม่อยากทำอะไรอีก

คุณสามารถเพิ่มความมุ่งมั่นตั้งใจของตนเองได้แน่นอน ซึ่งเคล็ดลับอยู่ที่การสร้างนิสัยต่างๆ ที่ส่งเสริมความตั้งใจนั้น เช่น คุมอาหารอย่างเคร่งครัดให้เป็นนิสัย หรือสร้างนิสัยออกกำลังกายเป็นประจำ พอคุณติดนิสัยแล้วคุณก็จะทำได้เองโดยไม่ต้องเปลืองพลังความตั้งใจ

ความตั้งใจยังถูกสั่นคลอนได้ด้วยอารมณ์ที่แปรปรวน ร้านกาแฟชื่อดังอย่างสตาร์บัคส์พบว่าพนักงานสามารถยิ้มต้อนรับลูกค้าได้อย่างดีในเกือบทุกๆ วัน ถึงแม้ว่าไม่ใช่คนชอบยิ้มก็ตาม แต่ถ้าวันไหนเกิดสถานการณ์ตึงเครียด เช่น ลูกค้าโวยวายเสียงดัง พนักงานก็จะเสียความมุ่งมั่นตั้งใจไป อย่างไรก็ตาม ถ้าพนักงานเตรียมใจมาก่อนก็จะยังพอรักษาความตั้งใจเอาไว้ได้

สุดท้าย คนเราจะเสียความตั้งใจได้ง่ายมากถ้าถูกบังคับ ถ้าคนเราไม่ได้ทำสิ่งที่เราเลือกหรือชอบ กล้ามเนื้อความตั้งใจจะเหนื่อยเร็วเป็นพิเศษ

 

วิกฤติคือโอกาสเปลี่ยนนิสัย

องค์กรต่างๆ ล้วนมีกฎที่ไม่ได้ถูกเขียนเอาไว้ ซึ่งค่อยๆ ถูกหล่อหลอมขึ้นมาจากวัฒนธรรมการทำงานของพนักงาน แต่วิกฤติจะเป็นโอกาสเปลี่ยนนิสัยเหล่านั้นได้อย่างรวดเร็ว

ในปี 1987 ระบบรถไฟฟ้าใต้ดินลอนดอนถูกแบ่งเป็น 7 เขตการบริหาร ซึ่งก็เหมือนหน่วยงานราชการทั่วไป คือแต่ละหน่วยจะไม่เข้าไปมีส่วนร่วมกับเรื่องที่เกี่ยวข้องแต่ไม่ใช่ความรับผิดชอบของหน่วยงานตัวเอง

องค์กรส่วนใหญ่ก็เป็นแบบนี้ พนักงานต่างแก่งแย่งผลงานกัน ภายในองค์กรจึงแบ่งเป็นหน่วยงานย่อยที่จะไม่ยอมเข้ามาทำงานส่วนที่ไม่ใช่ความรับผิดชอบของตัวเองเด็ดขาด ใครพยายามเข้ามาช่วยข้ามหน่วยงานก็จะถูกมองด้วยสายตารังเกียจ

แต่แล้วกลับเกิดเหตุเพลิงไหม้ที่สถานีคิงส์ครอสในปี 1987 พนักงานเก็บตั๋วสังเกตเห็นไฟตั้งแต่แรก แต่เขาไม่ได้กดสัญญาณแจ้งเตือน เพราะมันไม่ใช่หน้าที่ของเขา เมื่อไฟเริ่มลุกลาม คนที่อยู่บริเวณนั้นไม่มีอำนาจใช้เครื่องดับเพลิงหรือเข้าถึงสปริงเกอร์กระจายน้ำดับเพลิง จึงไม่มีใครทำอะไร ด้วยเหตุผลง่ายๆ แค่ “เพราะไม่ใช่หน้าที่”

 

ภาพหลังเหตุการณ์เพลิงไหม้สถานีรถไฟฟ้าใต้ดินคิงครอส อังกฤษ ปี 1976

 

ไฟเล็กๆ กลับก่อตัวเป็นเพลิงไหม้ขนาดใหญ่ภายในไม่กี่นาที จนเข้าไปถึงผู้โดยสารที่กำลังรอรถ เหตุการณ์นี้ทำให้มีคนเสียชีวิต 31 คน บาดเจ็บอีกจำนวนมาก

หลังเกิดเหตุ ความจริงที่ปรากฏก็คือ ก่อนหน้านี้เคยมีคนเสนอมาตรการป้องกันเพลิงไหม้มาหลายครั้งแล้ว แต่ไม่มีใครสนใจ หัวหน้าหน่วยสืบสวนเพลิงไหม้จึงใช้โอกาสนี้แฉเรื่องทั้งหมดลงสื่อ ซึ่งมันนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในระบบรถไฟฟ้าใต้ดินลอนดอน

 

บริษัทต่างๆ รีดเงินจากคุณด้วยการวิเคราะห์นิสัยของคุณ

บริษัทห้างร้านต่างๆ รู้นิสัยของคุณมากกว่าตัวคุณเองเสียอีก ห้างร้านเหล่านี้วิเคราะห์กองข้อมูลขนาดมหึมา แล้วหาวิธีเพิ่มยอดขายจากข้อมูลของคุณ

คนส่วนใหญ่ชอบเดินเลี้ยวขวาโดยไม่รู้ตัวเวลาเข้าร้านค้า ดังนั้นร้านค้าจึงเอาสินค้าที่ได้กำไรสูงมาวางไว้ทางขวาตรงทางเข้า

Target ร้านค้าปลีกอันดับต้นๆ ของอเมริกา

ร้านค้าปลีก Target รู้กระทั่งว่าลูกค้าคนไหนกำลังตั้งครรภ์และจะคลอดเมื่อไหร่ เพราะลูกค้าเหล่านั้นจะเริ่มซื้อวิตามินสำหรับคนท้องและอาหารเสริม Target ยังเคยส่งคูปองสำหรับคนท้องไปให้วัยรุ่นคนหนึ่งจนพ่อไปโวยวายถึงร้านใกล้บ้าน คุณเห็นมั้ยครับว่า พวกเขารู้ว่าวัยรุ่นคนนี้ตั้งครรภ์ก่อนที่พ่อแม่จะรู้เสียอีก

คนเราไม่อยากถูกสอดส่องอยู่ตลอดเวลาหรอกใช่ไหมครับ? ตอนนี้ Target ก็เลยแก้เกมด้วยการส่งคูปองลดราคาสินค้าที่หลากหลาย แล้วซ่อนคูปองของสิ่งที่คนอยากได้ไว้ท่ามกลางสินค้าอื่นอีกที

นอกจากนี้ บริษัทต่างๆ ยังขายของให้คุณได้โดยอาศัยนิสัยของคุณ เช่น ดีเจจะดันเพลงใหม่ให้ดังได้ด้วยการแอบเอาเพลงใหม่ไปคั่นระหว่างเพลงที่ดังอยู่แล้ว คนฟังก็จะค่อยๆ ติดเพลงใหม่ขึ้นมาโดยไม่รู้ตัว

 

สำนักพิมพ์บิงโกตั้งใจนำความรู้ด้านธุรกิจและพัฒนาตัวเองจากต่างประเทศมาเสิร์ฟให้คุณทุกสัปดาห์ กดติดตาม See First ใน Facebook ได้ที่นี่

6 thoughts on “สรุปหนังสือ The Power of Habit เปลี่ยนตัวเองครั้งใหญ่ ด้วยการปรับนิสัยแค่ 1%

  1. Pingback: สรุปหนังสือ Mastery “หากไร้ซึ่งพรสวรรค์หรือความเป็นอัจฉริยะ จงสร้างเส้นทางนี้ขึ้นมาด้วยตัวค

  2. Pingback: สรุปหนังสือ Principles บทเรียนชีวิตของเจ้าพ่อเฮดจ์ฟันด์

  3. Pingback: สรุปหนังสือ What Got You Here Won't Get You There: วางตัวแบบไหนได้ใจคน

  4. Pingback: สรุปหนังสือ Toyota Kata "วิถีโตโยต้า": หลักคิดการทำธุรกิจที่ไม่มีวันแพ้

  5. Pingback: สรุปหนังสือ The Greatest Salesman in the World คัมภีร์สร้างนิสัยเปลี่ยนคุณเป็นสุดยอดนักขาย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราะห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก