สรุปหนังสือ What Got You Here Won’t Get You There นิสัยดับอนาคตที่ผมน่าจะรู้ตั้งแต่อายุ 20

What Got You Here Won't Get You There

หนังสือ What Got You Here Won’t Get You There เล่มนี้จะชี้ให้คุณเห็น “เรื่องเล็กๆ ที่อาจดับอนาคตคุณ” หรือถ้ามองอีกแง่ก็คือ “เรื่องเล็กๆ ที่พอแก้ไขแล้วคุณจะประสบความสำเร็จยิ่งขึ้น”

เคยสงสัยไหมว่าทำไมคนที่อยู่ในองค์กรมานานหรือมีประสบการณ์สูง ต้องดุดัน ขึงขัง หรือด่าทอคนรอบข้าง ทั้งที่มันทำให้คนรอบข้างเกลียด? คำตอบง่ายๆ ก็คือ เขา “คิดว่าทำแบบนั้นแล้วดี” …แต่นั่นเพราะพวกเขาไม่ฉลาดเหรอ? เปล่าเลย พวกเขาเป็นคนเก่ง แต่คนเรา (รวมทั้งคุณ) มีแนวโน้มจะทำแบบพวกเขา มันเป็นธรรมชาติของมนุษย์ และคุณเองก็มีสิทธิ์กลายเป็นหัวหน้าที่มีแต่คนเกลียดได้ถ้าไม่ระวังให้ดี (บิงโกมีสรุปหนังสือ Predictably Irrational ว่ามนุษย์เราคิดแบบไร้เหตุผลมากๆ ครับ แต่คุณสามารถจับทางได้ เพราะความไร้เหตุผลมันฝังอยู่ใน DNA ของเรา)

หลายคนทำงานเก่ง แต่มีนิสัยเสียบางอย่างที่ทำให้หัวหน้า เพื่อนร่วมงาน หรือคนอื่นๆ ไม่ชอบ คุณจึงไม่ก้าวหน้าในที่ทำงานเท่าที่ควร อนาคตที่ฝันไว้ก็ไปได้ไม่สุด สิ่งที่อยากได้ก็ไม่ได้ โดยที่คุณก็ไม่เข้าใจว่าทำไม (อ่านวิธีเป็นที่ชื่นชอบของทุกคนในสรุปหนังสือคลาสสิค How to Win Friends and Influence People)

ในหนังสือเล่มนี้ มาร์แชล โกลสมิธ โค้ชชื่อดังที่สร้างผู้บริหารระดับสูงมานับไม่ถ้วน จะสอนคุณแก้นิสัยเสียเหล่านี้ เพื่อให้คุณเติบโตในหน้าที่การงาน ถ้าคุณอยากก้าวหน้า คุณต้อง “เปลี่ยนวิธีคิดจากลูกน้องเป็นหัวหน้า” เพราะถ้าคุณยังคิดเหมือนตอนทำงานเป็นลูกน้องเล็กๆ คุณจะไม่มีทางก้าวขึ้นเป็นผู้นำได้ เหมือนอย่างมาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก ที่ตอนบริษัทยังเล็กก็ทำตัวบ้าบอได้ แต่เมื่อขึ้นเป็นผู้นำ เขาก็ต้องพัฒนาทักษะด้านคนขึ้น (เรียนรู้ทักษะความเป็นผู้นำได้ใน Leaders Eat Last)

เราทุกคนสะสมนิสัยเสียไว้เมื่อก้าวหน้าขึ้น

What Got You Here Won't Get You There
คุณกำลังสร้างนิสัยเสียโดยไม่รู้ตัวหรือเปล่า?

มาร์แชล (ผู้เขียน) เคยทำงานกับผู้จัดการคนหนึ่งที่เก่งมาก แต่เขามีข้อเสียหนึ่งคือ เขาไม่ฟังคนอื่น แต่เนื่องจากเขาทำงานดี คนอื่นก็เลยไม่กล้าพูดอะไร ในขณะที่ผู้จัดการคนนั้นก็ค่อยๆ เชื่อว่า “การไม่ฟังคนอื่น” ถือเป็นจุดแข็งที่ทำให้เขาประสบความสำเร็จ เพราะมันทำให้เขาคิดสร้างสรรค์นอกกรอบ

คุณเองก็มีแนวโน้มจะสร้างความเชื่อผิดๆ เมื่อทำงานไปเรื่อยๆ เพราะเมื่อทำอะไรสักอย่างแล้วบรรลุเป้าหมาย เราก็จะอยากทำแบบนั้นต่อ พอนานไปเราก็คิดว่า “สิ่งนั้น (ข้อเสียนั้น) ต้องทำให้เราสำเร็จแน่ๆ” แต่จริงๆ แล้วคุณมีข้อดีอย่างอื่นที่ทำให้สำเร็จ และข้อดีของคุณมันดีพอจะกลบนิสัยเสียแค่นั้นเอง

แต่ยิ่งนานไป นิสัยเสียพวกนี้จะใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ จนเป็นภัยต่ออนาคตของคุณ ตอนคุณตำแหน่งเล็กๆ คุณทำงานของคุณคนเดียว คุณจึงอาจไม่สนใจคนอื่นได้ แต่ถ้าคุณอยากก้าวหน้าเป็นผู้บริหารใหญ่โต ทักษะด้านผู้คนจะสำคัญขึ้น คุณจึงต้องรีบแก้นิสัยเสียต่างๆ ให้เร็วที่สุด (อ่านวิธีเป็นที่ชื่นชอบของทุกคนในสรุปหนังสือ How to Win Friends and Influence People)

เลิกสำเร็จคนเดียว แล้วสนับสนุนให้คนอื่นสำเร็จ

What Got You Here Won't Get You There
ผู้นำที่ส่งเสริมคนอื่นย่อมประสบความสำเร็จมากกว่า

มีบริษัทอาหารใหญ่แห่งหนึ่งทำอาหารสำเร็จรูปขาย แต่ทุกครั้งที่ดีไซเนอร์เสนอไอเดียแพคเกจจิ้งให้หัวหน้า หัวหน้าจะพยายามออกไอเดียเพื่อพัฒนาไอเดียดั้งเดิมตลอด เช่น ถึงแม้หัวหน้าจะคิดว่าแพคเกจจิ้งสวยพอสมควร เขาก็จะยังบอกว่า “พี่ว่าน่าจะลองสีฟ้านะ จะได้ดูหรูขึ้น”

แต่พอดีไซเนอร์แก้งานกลับมา เขากลับคิดว่าสีแดงอาจจะดีกว่าก็ได้ สุดท้ายคนอื่นก็สับสนว่า “จะเอายังไงแน่!” และไม่มีใครชอบหัวหน้าคนนี้เลย

  • ตอนเราทำงานอยู่ตำแหน่งเล็กๆ เราแค่ตั้งใจทำงานของเราให้ดีก็พอ เราจึงทำไปเรื่อยๆ ให้ดีที่สุดได้ แต่พอคุณทำงานร่วมกับคนอื่น คุณไม่ควรมัวแต่แก้จุดเล็กๆ จุกจิก หน้าที่ของคุณคือ “ช่วยเหลือคนอื่น” ให้ทำงานได้สำเร็จ ถึงจะมีรายละเอียดเล็กน้อยที่ไม่ถูกใจคุณทีเดียว คุณก็ควรปล่อยๆ ไปบ้าง
  • การพยายามทำทุกอย่างเกิดจากการที่คุณติดนิสัย “สำเร็จคนเดียว” คุณจึงไปมองว่ามุมมองของตัวเองสำคัญที่สุด และคุณต้องเก็บรายละเอียดทุกขั้นให้ได้ด้วยตัวเอง แต่วิธีคิดแบบนี้จะทำให้คุณติดแหง็กและมีแต่คนเกลียด
  • นึกภาพว่ามีคนเสนอไอเดียดีๆ ให้คุณ เธอชอบไอเดียนี้ อยากทำมาก คุณก็คิดว่ามันดี แต่ “อยากแก้นิดนึง” …ขอให้คุณหยุดตรงนี้เลยครับ! คุณอาจคิดว่าคุณกำลัง “ช่วย” ให้มันดีขึ้น แต่สำหรับคนฟังแล้วมันคือ “คำสั่ง” ที่จะเปลี่ยนไอเดียนี้จากของเธอเป็นไอเดียของคุณ คนที่ถูกสั่งก็จะเสียแรงจูงใจในการทำไป

ยิ่งคุณขึ้นไปสูง คุณยิ่งต้องระวังเรื่องการจู้จี้จุกจิกเกินไป เมื่อคุณเป็นผู้บริหาร หน้าที่ของคุณไม่ใช่การ “ทำงานของตัวเองให้ดีที่สุด” แต่เป็นการ “ช่วยให้ผู้อื่นทำงานได้ดีที่สุด”

ไม่ต้องถูกทุกเรื่องก็ได้

หลายคนแยกไม่ออกระหว่างอยากชนะกับอยากชนะมากเกินไป

อย่างแรกช่วยให้คุณมีแรงจูงใจ อย่างที่สองคือปัญหา

นึกภาพว่าคุณกำลังเลือกร้านอาหารกับแฟน คุณสองคนเถียงกันใหญ่ว่าจะไปร้านไหนดี ลงเอยด้วยการไปร้านที่แฟนคุณเลือก แต่โชคร้ายอาหารไม่อร่อย คุณจะทำไง ระหว่างบ่นว่าถ้าไปอีกร้านก็สบายไปแล้ว กับพยายามเงียบๆ แล้วมีความสุขกับแฟนดีกว่า?

คนส่วนใหญ่จะเลือกบ่น เพราะพวกเขาอยากเอาชนะ ทั้งที่ชนะไปก็ไม่ได้อะไร

ในการทำงานก็เช่นกัน บางครั้งเมื่อเกิดข้อผิดพลาดขึ้น คุณจะโทษว่าใครทำผิดไปก็ไม่มีอะไรดีขึ้น แทนที่จะโวยวาย คุณควรมุ่งแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นและป้องกันปัญหานี้ในอนาคตต่างหาก

คุณไม่จำเป็นต้องโทษคนอื่นทุกครั้งที่เกิดปัญหา หรือเถียงให้ชนะในเรื่องที่ไม่ได้ประโยชน์ ทุกครั้งที่คุณอยากเอาชนะ ขอให้คุณลองคิดอีกทีว่าชนะไปแล้วได้อะไร? การนิ่งเงียบจะดีกับทุกคนมากกว่าไหม?

 

งานสำเร็จไม่ใช่ทุกอย่าง

ถ้าคุณมองที่เส้นชัย คุณจะพลาดสิ่งมีค่าระหว่างทาง

สมมติว่าคุณเป็นแม่ทัพที่พาทหารออกรบ คุณปฏิบัติภารกิจยึดพื้นที่ได้สำเร็จ แต่คนใต้บังคับบัญชาตายเรียบ มันคุ้มค่าหรือเปล่า?

ถ้าคุณทำงานเล็กๆ ของคุณคนเดียว คุณแค่ต้องทำงานให้ดี การทำงานให้สำเร็จจึงเป็นจุดมุ่งหมายที่สำคัญที่สุด แต่เมื่อคุณต้องทำงานกับคนอื่นๆ จะมีปัจจัยต่างๆ ให้คุณต้องคิดเพิ่มนอกเหนือจากความสำเร็จของงาน

คนเก่งมีนิสัยเสียหลายอย่าง แต่รากเหง้าของปัญหาจริงๆ มักมาจาก “การมุ่งทำงานให้สำเร็จโดยไม่สนอย่างอื่น” มันคือการที่คุณสนใจผลลัพธ์สุดท้ายโดยลืมมองภาพรวมไป คุณใช้คนเปลืองไปมั้ย? คนที่ทำงานกับคุณพอใจวิธีทำงานของคุณไหม? คุณตั้งเป้าหมายผิดไปหรือเปล่า? และอื่นๆ

มาร์แชล (ผู้เขียน) เคยทำงานกับนักการตลาดคนหนึ่งที่มีความคิดสร้างสรรค์ (Originals) กระตือรือร้น และทำงานสำเร็จดีเยี่ยม (Getting Things Done) แต่เธอมักเอาเครดิตของคนทั้งทีมไปหมดเมื่อนำเสนองานกับหัวหน้าของเธอ นั่นทำให้เพื่อนร่วมงานและลูกน้องเกลียดเธอมาก ไม่นานเธอก็ไม่เหลือคนเก่งๆ ทำงานด้วยเลย

เมื่อคุณมุ่งทำงานให้สำเร็จอย่างเดียว คุณจะลืมสิ่งที่สำคัญอื่นๆ ไปจนหมด จนคุณตัดสินใจผิดพลาด และกลายเป็นผลร้ายมากกว่าดี

มีการทดลองให้นักเรียนศาสนาไปสอนเรื่องความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ในอีกฟากของพื้นที่มหาวิทยาลัย นักเรียนถูกบอกว่าตอนนี้สายแล้ว มีคนมารอฟังจำนวนมาก พวกเขาจึงรีบวิ่งไปอย่างรวดเร็ว ระหว่างทางนักเรียนจะเจอคนที่แสดงเป็นคนจรจัดที่แต่งตัวมอมแมมมาขอความช่วยเหลือ แต่ 90% จะไม่สนใจ เพราะกำลังรีบวิ่งไปสอนเรื่องความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่อยู่

กลายเป็นว่านักเรียน 90% มองข้ามคนที่มาขอความช่วยเหลือ เพื่อไปบรรยายเรื่องการช่วยผู้อื่นให้ทันเวลา นั่นแสดงว่าการมุ่งทำเป้าหมายให้สำเร็จอย่างเดียวอาจทำให้เรามองข้ามสิ่งสำคัญไปได้

คำขอโทษและขอบคุณ คือการสร้างการยอมรับที่ต้นทุนถูกที่สุด

What Got You Here Won't Get You There
การขอโทษแก้ปัญหาได้ดีกว่าการอ้างนู่นอ้างนี่

วันที่ 11 กันยายน 2011 เกิดเหตุก่อการร้ายเครื่องบินชนตกเวิลร์ดเทรดในเมืองนิวยอร์ก คนกว่า 3,000 คนเสียชีวิต นับเป็นวินาศกรรมครั้งใหญ่ที่สุดที่เกิดในแผ่นดินอเมริกาตั้งแต่ก่อตั้งประเทศมา

รัฐบาลอเมริกาถูกวิจารณ์อย่างหนัก คนอเมริกันต่างก็ไม่พอใจและเศร้าโศก ในตอนนั้นเองริชาร์ด คลาร์ก หัวหน้าฝ่ายความมั่นคงของอเมริกาในขณะนั้น ออกมาพูดขอโทษ “เป็นความผิดของรัฐบาล เป็นความผิดของผม”

แค่คำขอโทษฟังดูไม่ได้ช่วยอะไรเลย ใครก็พูดได้ แต่คำง่ายๆ นี้เองช่วยให้คนสงบลงได้

คำว่า “ขอโทษ” เป็นคำที่ทรงพลัง เคยเห็นคนที่ทำผิดแล้วหาข้ออ้างไปเรื่อยไหมครับ? ข้ออ้างพวกนี้อาจทำให้คนอื่นขี้เกียจเถียงแล้วก็เลิกพูด แต่มันไม่ได้ช่วยให้คนอื่นมองเราดีขึ้น ในทางกลับกัน แค่คุณขอโทษปัญหาหลายเรื่องก็จบได้อย่างง่ายดาย ในโลกนี้ไม่มีการ “ขอโทษมากเกินไป” หรอกครับ

คำขอบคุณก็มีพลังมหัศจรรย์เช่นกัน แค่คุณพูดว่า “ขอบคุณครับ/ค่ะ” บทสนทนาที่ตึงเครียดก็จะผ่อนคลายลง ไม่มีใครต่อว่าคนที่เพิ่งขอบคุณตัวเองลง!

แค่พูดขอโทษและขอบคุณให้บ่อยขึ้น คุณจะกลายเป็นที่รักของคนรอบตัวได้ง่ายขึ้นอย่างน่าทึ่ง

 

จงชื่นชมคนอื่นถึงแม้เขาจะไม่ได้ทำผลงาน

นึกภาพคุณเพิ่งเซ็นสัญญาธุรกิจกับลูกค้ารายใหญ่สำเร็จ หัวหน้าคงชื่นชมคุณแน่เลยใช่ไหม?

แต่ถ้าระหว่างการเจรจานั้น คุณนึกขึ้นมาได้ว่าสัญญาฉบับนี้จะทำให้บริษัทขาดทุน คุณจึงตัดสินใจถอนตัว คุณว่าหัวหน้าจะยังชื่นชมคุณอยู่ไหม? ไม่หรอกใช่ไหมครับ

เราคุ้นเคยว่าถ้าทำงานดีก็ต้องชื่นชม แต่เราไม่ค่อยชื่นชมคนที่หลบเลี่ยงความผิดพลาดได้สำเร็จ ทั้งที่การหลบความผิดพลาดนั้นสำคัญไม่แพ้การทำสิ่งใหม่ๆ ให้ดี

ธุรกิจต่างๆ ใช้เวลาเป็นปีๆ ในการสร้างขึ้นมา แต่พังได้ด้วยความผิดพลาดครั้งเดียว (รู้ทันข้อผิดพลาดของธุรกิจใน E-Myth Revisited) การปิดความผิดพลาดเพื่อให้งานดำเนินไปอย่างราบรื่นจึงสำคัญมาก นึกภาพว่าคุณเลิกบุหรี่ได้ (เลิกการตัดสินใจที่ผิด) คุณย่อมดีใจกับมัน แต่เวลาทำงานคุณกลับไม่ชื่นชมการหลบความผิดพลาดบ้าง

ในช่วงปี 1990 เจราด เลวิน อดีตประธานบริษัท Time Warner ได้สร้างช่องโทรทัศน์ HBO จนบริษัทจนใหญ่โตแข็งแรง แต่แล้วเขาก็ทำพลาดโดยการควบรวมกิจการกับบริษัท AOL จน Time Warner เกือบถูกทำลาย ถ้าเขาระวังตัวมากกว่านี้ เขาก็คงไม่เซ็นสัญญาฉบับนี้ และกลายเป็นตำนานที่คนยกย่องไปแล้ว

คุณควรชื่นชมคนที่ระวังไม่ทำสิ่งที่ผิดพลาด เพราะคนเหล่านั้นนี่แหละที่ช่วยให้ทุกอย่างเป็นไปอย่างราบรื่น

 

รับฟังคนอื่นเพื่อปรับปรุงตัว

What Got You Here Wont Get You There
รับฟังคนอื่น อย่ามั่นใจในตัวเองมากไป

คนจำนวนมากฟังคำติชมในแง่ลบไม่ได้ โดยเฉพาะคนเก่ง คนที่เรียนจบมาสูง คนที่ประสบความสำเร็จ และคนที่เป็นหัวหน้า พวกเขามักมองว่าตัวเองดีที่สุดแล้ว ไม่มีทางพัฒนาตัวเองให้ดีกว่านี้ได้ ความเชื่อแบบนี้ทำให้พวกเขาเองก้าวหน้าไปได้น้อยกว่าที่ควร (คนที่ประสบความสำเร็จเขาทำอะไรก่อนอาหารเช้า? What Successful People Do Before Breakfast)

มาร์แชล (ผู้เขียน) เคยเป็นโค้ชให้ผู้บริหาร 3 คนในบริษัทใหญ่แห่งหนึ่ง เขาถามทั้ง 3 ว่าแต่ละคนมีส่วนทำให้บริษัทกำไรมากแค่ไหน … ซึ่งพอเอามารวมกันก็ได้มากกว่า 150% ของกำไรทั้งหมด! แสดงว่าแต่ละคนคิดว่าตัวเองทำกำไรให้บริษัทครึ่งหนึ่ง (ยังไม่นับรวมผู้บริหารคนอื่นๆ)

คำติชมในแง่ลบคือโอกาสการเรียนรู้ที่มีค่ามาก ต่อให้คนรอบตัวคุณไม่พูดออกมา คุณก็ยังสังเกตคำติชมได้ทุกวันจากภาษากาย ภาษาตา หรือกระทั่ง “ดีเลย์” ที่คนอื่นใช้เวลาคิดก่อนตอบคำถามคุณ

ทุกครั้งที่มีคนพูดกับคุณไม่ว่าดีหรือร้าย เช่น “โอ้โห ทำดีจัง” หรือ “มาสายนะ” หรือ “ฟังอยู่หรือเปล่า?” จงจดใส่สมุด แล้วก็คอยเอาลิสต์เหล่านี้มาดู แล้วคุณจะพบ pattern นิสัยเสียของตัวเอง

มีเพื่อนของคุณมาร์แชลได้ลองเอาเทคนิคนี้มาทำดู แล้วพบว่าคำพูดที่เจอบ่อยที่สุดคือ “เออ รู้แล้ว!” เขาจึงรู้ตัวว่าคนอื่นไม่ชอบที่เขามักพูดซ้ำ และเขาก็แก้นิสัยเสียนี้ได้สำเร็จหลังจากมันติดตัวเขามานาน

นอกจากเทคนิคจดคำพูดของคนอื่น คุณยังจดคำพูดของตัวเองได้ด้วย เพราะบางครั้งคนเราจะชอบพูดกลบเกลื่อนข้อเสียของตัวเอง เช่น เพื่อนของคุณอาจชอบพูดว่า “ฉันเป็นคนตรงต่อเวลานะ!” ทั้งที่เขามักเข้าประชุมสาย 30 นาทีทุกครั้ง คุณกำลังทำแบบเดียวกันหรือเปล่า? ลองจดโน้ตดูสิ

สรุป

คนเรามักไม่รู้ข้อเสียของตัวเอง แต่การแก้ข้อเสียเหล่านี้จะทำให้คุณเป็นคนที่คนอื่นรักและก้าวหน้าในหน้าที่การงานได้เร็วขึ้น

  • สังเกตตัวเอง หรือถามคนอื่นถึงสิ่งที่เราปรับปรุงได้
  • ยอมรับความจริง
  • ตั้งใจแก้นิสัยเสีย พัฒนาตัวเอง
  • ลองช่วยคนอื่นให้พัฒนาตัวเองด้วย เขาจะขอบใจคุณแน่ๆ

ลองดูหนังสืออื่นที่อาจจะดีกว่าเล่มนี้

แก่นจริงๆ ของหนังสือเล่มนี้คือ “ความเป็นผู้นำ” นั่นเอง ถ้าคุณอยากก้าวหน้าในหน้าที่การงาน หรือถ้าคุณทำธุรกิจส่วนตัว ไม่ช้าก็เร็วคุณจะต้องเป็นผู้นำคนอื่น … ถ้าคุณไม่เข้าใจว่าผู้นำต้องวางตัวยังไง คุณก็คงไม่ได้ก้าวหน้าขึ้นเป็นผู้นำหรอกครับ หรือคุณได้เป็นผู้นำแต่กลับนำไม่ได้ ผลงานของคุณก็จะไม่ดี และไม่เติบโตต่อเท่าที่ควร

บิงโกมีหนังสือที่เกี่ยวกับความเป็นผู้นำและการพูดคุยกับคนอื่นๆ ที่อาจดีกว่า What Got You Here Won’t Get You There ก็ได้

  • กระทั่งบริษัทระดับโลกอย่างกูเกิลเอง ก็บริหารโดยให้ความสำคัญกับคนเป็นหลัก How Google Works เป็นวิธีทำธุรกิจที่อดีต CEO ของกูเกิล เอริค ชมิตต์ เขียนด้วยตัวเอง เพื่อสอนการทำธุรกิจที่เน้นคนเก่งเป็นหลัก
  • ความสำเร็จของคุณขึ้นอยู่กับ “นิสัยเล็กๆ” ที่เปลี่ยนแค่ 1% ชีวิตจะดีขึ้นถึง 99% หนังสือสุดคลาสสิค The 7 Habits of Highly Effective People จะบอกนิสัยสำคัญทั้ง 7 ที่คนประสบความสำเร็จทุกคนมี
  • ผู้นำแบบไหนถึงได้ใจคนอื่น? นักจิตวิทยารูปหล่อไซมอน ซิเน็ค (ดูคลิปได้เลยว่าหล่อแค่ไหน!) ได้พูดถึงผู้นำที่สร้างความประทับใจให้ผู้ติดตามทุกคน ในหนังสือ Leaders Eat Last
  • หนังสือ “เปลี่ยนคนธรรมดาให้มีหัวผู้นำใน 3 ชั่วโมง” เป็นหนังสือแปลจากญี่ปุ่นที่ศาสตราจารย์ด้านผู้นำจากมหาวิทยาลัยวาเซดะ ได้รวมหลักความเป็นผู้นำทุกอย่างไว้ … เหมาะกับทุกคน!! ไม่ว่าคุณจะเป็นผู้นำอยู่แล้ว หรือยังไม่เป็นแต่ฝันว่าสักวันจะต้องก้าวหน้าเป็นผู้นำให้ได้
  • การที่คนจะชอบเราหรือไม่นั้นขึ้นกับเวลา 90 วินาทีแรกที่เจอหน้ากัน หนังสือ ทำอะไรใครก็ Like ด้วยเทคนิคมัดใจใน 90 วินาที จะสอนเทคนิคการสร้างความประทับใจอย่างรวดเร็วกับใครก็ตามที่คุณเจอ ด้วยเทคนิค NLP
  • ความสำเร็จของคุณอยู่ที่การรายล้อมตัวเองด้วย “คนที่ใช่” หนังสือ “แค่มองให้เป็น ก็ได้คนเจ๋งๆ มาทำงานกับเรา” จะสอนวิธีมองคนให้เป็น เพื่อให้ชีวิต ธุรกิจ และหน้าที่การงานของคุณ ดีขึ้นได้ถึง 10 เท่า
  • หนังสือ “ชีวิตเหนือกว่า แค่รู้จักหาคู่หู และรู้วิธีปราบคู่แข่ง” คือคัมภีร์จิตวิทยาขั้นสุดยอดจากฮาร์วาร์ดที่จะสอนทักษะการพูดคุย โน้มน้าว เจรจาต่อรอง กดดัน และแข่งขันกับทุกคนที่เข้ามาในชีวิต ข้างในประกอบด้วยเรื่องเล่าที่น่าตื่นเต้น พร้อมหลักการต่างๆ ที่นำไปใช้ได้จริงกับชีวิตของคุณ

6 thoughts on “สรุปหนังสือ What Got You Here Won’t Get You There นิสัยดับอนาคตที่ผมน่าจะรู้ตั้งแต่อายุ 20

  1. Pingback: สรุปหนังสือ Emotional Intelligence: รู้แค่นี้ก็ประสบความสำเร็จกว่าคน IQ 180

  2. Pingback: สรุปหนังสือ A Whole New Mind: ทักษะด้านไหน "ชนะ" ในโลกอนาคต

  3. Pingback: สรุปหนังสือ Grinding It Out: ความลับของอาณาจักรแมคโดนัลด์ จากปากผู้ก่อตั้ง

  4. Pingback: สรุปหนังสือ Everything Store: Amazon ร้านขายของออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก

  5. Pingback: กฎ 10 ข้อของ Sam Walton เจ้าของวอลมาร์ท ซูเปอร์มาร์เก็ตที่ใหญ่ที่สุดในโลก

  6. Pingback: สรุปหนังสือ Atomic Habits เปลี่ยนนิสัยแค่นิดเดียว แล้วชีวิตคุณจะดีขึ้นในทุกวัน

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราะห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก