สรุปหนังสือ How will you measure your life? หนังสือที่จะสร้างความสุขในชีวิตให้กับคุณ

How you will measure your life? open

ถ้าจะให้ผมนึกถึงหนังสือสักเล่มที่จะช่วยชี้แนวทางการใช้ชีวิตได้ดีที่สุด หนึ่งในนั้นจะต้องมีหนังสือเรื่อง How will you measure your life?

หนังสือเล่มนี้เขียนโดยเคลย์ตัน เอ็ม คริสเตนเซน อาจารย์จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เคลย์ตันถูกยกย่องให้เป็นหนึ่งในนักทฤษฎีทางธุรกิจที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดในปัจจุบัน และยังเป็นผู้เสนอแนวคิด Disruption ซึ่งถูกพูดถึงมากที่สุดในแวดวงธุรกิจทุกวันนี้

นอกจากเคลย์ตันจะเก่งด้านทฤษฎีแล้ว ภาคปฏิบัติเขาก็ยังทำได้อย่างยอดเยี่ยมด้วย เพราะก่อนที่เคลย์ตันจะมาเป็นอาจารย์ที่ฮาร์วาร์ด เขาเคยสร้างธุรกิจของตัวเองจนเข้าตลาดหลักทรัพย์มาแล้ว ส่วนในแง่มุมของชีวิต ชายหนุ่มวัยใกล้ 70 ปีผู้นี้เคยผ่านประสบการณ์ร้ายๆ จากโรคมะเร็งมาก่อน เรียกได้ว่าหากจะมีใครสักคนที่จะถ่ายทอดประสบการณ์เพื่อเป็นแนวทางการใช้ชีวิตและการทำงานได้ดีที่สุด ผมเชื่อว่าเคลย์ตันคือบุคคลผู้นั้นอย่างแน่นอน

เคลย์ตันได้ตั้งคำถาม 3 ข้อเกี่ยวกับ “ความสุขของชีวิต” ให้คนอ่าน แม้คำถามของเขาจะเรียบง่าย แต่สำหรับบางคนอาจต้องใช้เวลามากกว่าค่อนชีวิตเพื่อตอบมัน ในบทความนี้ผมคงทำได้แค่สรุปเนื้อหาสำคัญจากหนังสือ How will you measure your life? มาให้คุณ แล้วคุณต้องเป็นคนตอบคำถามของเคลย์ตันด้วยตัวเอง

 

รวมข้อคิดดีๆ จากหนังสือ How will you measure your life?

  • คนที่ประสบความสำเร็จในชีวิตไม่ใช่คนที่ร่ำรวยหรือมีชื่อเสียง แต่เป็นคนที่ตื่นไปทำงานด้วยความสุขและกลับบ้านมาเจอครอบครัวกับเพื่อนฝูงที่แสนอบอุ่น
  • เรื่องบางอย่างคุณต้องใส่ใจและลงมือทำด้วยตัวเอง ต่อให้จ้างคนเก่งหรือดีแค่ไหน คนคนนั้นก็ไม่มีทางเลี้ยงดูและอบรม “ลูก” ได้ดีเท่าตัวคุณเอง
  • อย่าหลวมตัวทำผิด ด้วยเหตุผลเข้าข้างตัวเองอย่าง “ขอแค่ครั้งเดียว” เพราะนั่นคือก้าวแรกสู่หายนะ

 

how will you measure your life 04
เคลย์ตัน เอ็ม คริสเตนเซน อาจารย์คนเก่งจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (ภาพจาก claytonchristensen.com)

คำถาม 3 ข้อของเคลย์ตัน

ตลอดชีวิตที่ผ่านมา เคลย์ตันพบว่าแม้เพื่อนๆ หลายคนของเขาจะประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน แต่พวกเขากลับหาความสุขในชีวิตไม่เจอ บางคนต้องหย่าร้าง บางคนมีปัญหาในครอบครัว และบางคนก็เผลอทำเรื่องผิดพลาด เคลย์ตันจึงเอาเรื่องเหล่านี้มาตั้งคำถามกับนักศึกษาที่เขาสอนในมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด นั่นก็คือ

  • เราจะแน่ใจได้อย่างไรว่าเราจะมีความสุขกับหน้าที่การงาน
  • เราจะแน่ใจได้อย่างไรว่าความสัมพันธ์กับคู่ครอง ครอบครัว และเพื่อนสนิท จะสร้างความสุขไม่รู้จบ
  • เราจะแน่ใจได้อย่างไรว่าเราจะไม่เผลอทำผิดจนต้องจบชีวิตลงในคุก

ทำไมคำถามของเคลย์ตันทั้ง 3 ข้อนี้ถึงส่งผลกับแนวทางการใช้ชีวิตและการทำงาน เราลองมาไล่เรียงกันไปทีละข้อกันเลยครับ

 

how will you measure your life 01

เราจะแน่ใจได้อย่างไรว่าเราจะมีความสุขกับหน้าที่การงาน

ทุกครั้งที่คุณได้เงินเดือนเพิ่มขึ้น คุณรู้สึกดีและมีความสุขหรือไม่ครับ?

ผมคิดว่าใครหลายคนก็คงตอบว่า “ดีสิ” หรือ “แฮปปี้มากๆ เลยแหละ” แต่ความสุขที่คุณมีนั้นมันมาจาก “หน้าที่การงาน” หรือ “เงิน” ที่เพิ่มขึ้นกันแน่?

เคลย์ตันเขียนเตือนไว้ว่าความจริงแล้วเงินไม่ใช่แรงจูงใจสูงสุดในการทำงาน ชื่อเสียงหรืออำนาจก็ไม่ใช่ แต่แรงผลักดันให้เราทำงานอย่างมีความสุขนั้นเกิดจากโอกาสในการเรียนรู้ ความท้าทายของงาน การทำเพื่อผู้อื่น และการยอมรับจากผู้คนรอบข้าง

คุณคงเคยเห็นคนที่ทำงานเพื่อคนอื่นหรือเพื่อส่วนรวม คนเหล่านี้แม้จะได้รับค่าตอบแทนไม่มากนัก แต่สิ่งหนึ่งที่พวกเขามีมากกว่าใครก็คือ “ความสุข” นั่นเอง

นอกจากเรื่องเงินจะเป็นสิ่งที่เคลย์ตันเตือนเอาไว้ เขายังพูดถึง “เป้าหมายในชีวิต” ด้วย

เคลย์ตันบอกว่าเรามักหาเป้าหมายในชีวิตไม่เจอได้แต่ใช้ชีวิตและทำงานไปเรื่อยๆ แต่เมื่อเราหาเป้าหมายนั้นเจอ มันจะเหมือนการกำหนดทิศทางชีวิตให้ตัวเอง แล้วเราก็จะวางแผนจัดสรรทรัพยากรในตัวทั้ง 3 อย่าง นั่นก็คือ “เวลา” “พละกำลัง” และ “ปัญญา” ได้อย่างเหมาะสม

ถ้าคุณมัวแต่สนใจผลลัพธ์ที่อยู่ตรงหน้า เช่น ทุ่มเทเวลาและพละกำลังเพื่อทำงานหนัก คุณอาจจะได้ค่าตอบแทนที่ดีหรือได้เลื่อนตำแหน่ง แต่ในระยะยาวแล้วมันอาจไม่คุ้ม เพราะคุณหมดเวลาและพละกำลังไปกับงานจนละเลยครอบครัวหรือเพื่อนฝูง สุดท้าย คุณก็จะกลายเป็นเหมือนเพื่อนๆ หลายคนของเคลย์ตันที่ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน แต่กลับต้องทนทุกข์กับความล้มเหลวของครอบครัว

 

how will you measure your life 02

เราจะแน่ใจได้อย่างไรว่าความสัมพันธ์กับคู่ครอง ครอบครัว และเพื่อนสนิท จะสร้างความสุขไม่รู้จบ

เมื่อคุณรู้เป้าหมายในชีวิตและรู้ลำดับความสำคัญของเป้าหมายระยะสั้นกับระยะยาว คุณจะรู้จักวิธีหาสมดุลของทรัพยากรอย่าง “เวลา” “พละกำลัง” และ “ปัญญา” เพื่อสร้างความสัมพันธ์อันดีกับคู่ครอง ครอบครัว และเพื่อนสนิท

ครอบครัวจะช่วยเติมพลังในการทำงานให้กับคุณ คู่ครองจะช่วยสร้างความสุขในชีวิตให้กับคุณ และเพื่อนสนิทจะมอบน้ำใจให้กับคุณ พวกเขาเหล่านี้พร้อมสนับสนุนการงานของคุณโดยไม่เรียกร้องอะไรตอบแทน แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าคุณสามารถละเลยที่จะมอบเวลาให้กับพวกเขา

สิ่งสำคัญที่สุดที่จะรักษาความสัมพันธ์อันดีกับทุกคนรอบตัวก็คือ “ความสม่ำเสมอ” และ “ความใส่ใจ” ผมอยากให้คุณลองจินตนาการเรื่องราวตามนี้ดูนะครับ

ชายหนุ่มคนหนึ่งเพิ่งได้รับข่าวดีจากบริษัท ในที่สุดเขาก็ได้เลื่อนตำแหน่งเป็นผู้จัดการหลังจากทุ่มเททำงานหนักมาทั้งปี ก่อนกลับบ้านวันนั้นเขาจึงตัดสินใจซื้อของขวัญชิ้นหนึ่งให้กับภรรยาเพื่อแทนคำขอบคุณที่เธอช่วยดูแลเขาเป็นอย่างดีตลอดมา พอเขากลับถึงบ้าน เขาก็มอบของขวัญนั้นให้เธอ แต่แทนที่เธอจะดีใจหรือยินดีไปกับเขา เธอกลับอารมณ์เสีย เธอบอกเขาว่าเธอมีปัญหาเรื่องลูกๆ อยากปรึกษา แต่เขาก็มัวแต่ทำงานจนไม่สนใจเธอเลย เธอไม่ได้ต้องการของขวัญพิเศษหรือคำขอบคุณอะไร สิ่งที่เธอต้องการมากที่สุดก็คือ “เวลา” เวลาที่เธอได้ปรึกษาเรื่องของครอบครัวกับสามี

การเลี้ยงลูกก็เช่นกัน คุณไม่สามารถฝากหน้าที่นี้ไว้กับพี่เลี้ยงหรือคนอื่นๆ แล้วคุณค่อยกลับมาให้เวลากับลูกแค่ช่วงวันหยุดได้ เพราะสิ่งล้ำค่าที่สุดของเด็กๆ ก็คือ การเลี้ยงดูและการสอนจากพ่อแม่

คุณต้องรู้จักสอนให้ลูกแก้ปัญหาและหัดปล่อยให้เขาเผชิญหน้ากับความท้าทายต่างๆ ด้วยตัวเอง อย่ากลัวถ้าลูกของคุณจะพบกับความล้มเหลว เพราะคุณคือคนที่จะสนับสนุนให้เขาได้เติบโตและเรียนรู้จากความล้มเหลวนั้น

how will you measure your life 03

เราจะแน่ใจได้อย่างไรว่าเราจะไม่เผลอทำผิดจนต้องจบชีวิตลงในคุก

เคลย์ตันเป็นคนที่เคร่งครัดและมีวินัยมาก เขาบอกว่า “ให้ทำถูก 100% ง่ายกว่าทำถูก 98%” เพราะเมื่อใดก็ตามที่คนเรายอมทำผิดด้วยเหตุผลทำนองว่า “ขอแค่ครั้งเดียว” มันคือจุดเริ่มต้นของหายนะ

คาร์ลอส กอส์น คือสุดยอด CEO คนหนึ่ง เขาเริ่มสร้างชื่อเสียงจากผลงานการบริหารให้บริษัทมิชลินในประเทศบราซิลพลิกจากขาดทุนกลับมามีกำไร ต่อมาเขาก็ถูกดึงตัวไปทำงานให้กับบริษัทรถยนต์สัญชาติฝรั่งเศสอย่าง เรอโนต์ ซึ่งตอนนั้นกำลังขาดทุนอย่างหนัก คาร์ลอสก็เข้าไปปรับปรุงโครงสร้างต่างๆ จนบริษัทเรอโนต์กลับมามีกำไรได้อีกครั้ง จากนั้นคาร์ลอสก็ต้องเจอกับโจทย์หินที่สุดในชีวิต เมื่อเขาเข้าไปบริหารบริษัทรถยนต์สัญชาติญี่ปุ่นอย่าง นิสสัน

ขณะนั้นบริษัทนิสสันต้องแบกภาระหนี้สินท่วมหัว แถมรถยนต์หลายรุ่นก็ไม่ทำกำไรเลยด้วย ไม่มีใครเชื่อว่าคาร์ลอสจะพลิกสถานการณ์นี้กลับมาได้ แต่เขาก็ประกาศแผนการฟื้นฟูบริษัทนิสสันโดยยอมเอาตำแหน่งเป็นเดิมพัน และเขาก็ทำมันสำเร็จ ในที่สุดคาร์ลอสก็ได้รับทั้งเสียงชื่นชมและการยอมรับจากทั่วโลก

แต่แล้วในช่วงใกล้สิ้นปี 2018 ทั้งโลกต่างก็ต้องตกใจกับข่าวการเข้าจับกุมคาร์ลอส กอส์นที่ประเทศญี่ปุ่นในข้อหาทุจริตเกี่ยวกับรายได้และการนำทรัพย์สินของบริษัทไปใช้ส่วนตัว

ไม่มีใครรู้ว่าทำไมถึงเกิดเรื่องแบบนี้ ทำไมคาร์ลอสซึ่งมีทั้งเงินทอง ทรัพย์สิน และชื่อเสียงมากมาย ถึงตัดสินใจทำผิด บางทีมันอาจจะเป็นเพราะเหตุผลง่ายๆ อย่าง “ขอแค่ครั้งเดียว” ที่ดึงคาร์ลอสไปสู่เส้นทางของหายนะก็เป็นได้

 

สรุปสุดท้ายก่อนวางหนังสือ How will you measure your life?

ถ้าจะบอกว่าเนื้อหาในหนังสือเล่มนี้เป็นการตั้งคำถามเชิงปรัชญาก็คงไม่ผิดนัก เพราะทั้ง 3 คำถามของเคลย์ตันเป็นเหมือนคำถามที่ทุกคนต่างต้องหาคำตอบด้วยตัวเอง โดยไม่มีใครสามารถตอบแทนใครได้เลย

คุณไม่จำเป็นต้องคิดคำตอบได้ภายใน 3 วัน 5 วัน เพราะผมรู้สึกว่าสิ่งที่ตัวอักษรของเคลย์ตันต้องการสื่อสารออกมาก็คือ “คุณควรหมั่นถามตัวเองบ่อยๆ และใช้เวลาขบคิดไปกับมัน” เมื่อคุณทำได้ คุณจะใช้เวลา พละกำลัง และปัญญาที่มีอย่างคุ้มค่า

แม้ How will you measure your life? จะเป็นเพียงหนังสือสั้นๆ แต่หนังสือเล่มนี้ก็เปรียบเหมือนคู่มือที่คอยชี้แนะแนวทางการใช้ชีวิตและการทำงานให้กับคุณ มันจะช่วยให้คุณค้นพบ “สมดุล” ระหว่างการงานและชีวิต และที่สำคัญที่สุดก็คือ คุณจะค้นพบ “ความสุข” ในทุกย่างก้าวของชีวิต

ถ้าคุณสนใจแนวคิดของเคลย์ตัน คุณสามารถเข้าไปตามดูผลงานหรือบทความใหม่ๆ ของเขาได้ที่เว็บไซต์ส่วนตัวของเคลย์ตันเลยครับ

 

how will you measure your life tie in

หนังสืออื่นๆ ที่น่าสนใจไม่แพ้ How will you measure your life?

  • ถ้าคุณเป็นคนหนึ่งที่อยากใช้ความเรียบง่ายสร้างความสุขให้ชีวิต สำนักพิมพ์บิงโกขอแนะนำหนังสือเรื่อง “ชีวิตดีเมื่อมีของน้อย: ปรัชญาความสุขฉบับมินิมอล” หนังสือที่รวบรวมประสบการณ์ของคนโคตรสุขที่ได้ใช้ชีวิตในแบบตัวเองโดยไม่ต้องมีข้าวของอะไรมากมายเลย
  • หนังสืออีกเล่มที่จะมาแนะนำวิธีเปลี่ยนงานอดิเรกสุดรักให้กลายเป็นอาชีพทำเงิน นั่นก็คือ Crush It! ผลงานของแกรี่ เวเนอร์ชุค ชายที่เริ่มจากคนขายไวน์ธรรมดาๆ จนกลายมาเป็นนักชิมไวน์อันดับต้นๆ ของโลก ซึ่งสำนักพิมพ์บิงโกได้ทำบทสรุปข้อคิดดีๆ จากเล่มนี้เอาไว้ให้คุณแล้ว
  • เคลย์ตันเตือนให้เรารู้จักบริหารเวลา พละกำลัง และปัญญาให้เหมาะสม สำนักพิมพ์บิงโกขอแนะนำหนังสือที่น่าสนใจเกี่ยวกับการบริหารเวลาอย่าง “แค่ใช้เวลาเป็น ไม่ต้องเก่งก็ไปได้ไกลกว่า”  ผลงานของเควิน ครูซ นักเขียนขายดีของ New York Times Best Seller ซึ่งในเล่มคุณจะได้พบเคล็ดลับการบริหารเวลาจากมหาเศรษฐี นักกีฬาโอลิมปิก นักเรียนระดับหัวกะทิ และนักธุรกิจชั้นนำมากกว่า 200 คน!

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราะห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก