The Secret Life of Jack Dorsey ชายผู้ให้กำเนิดเจ้านกสีฟ้า Twitter

the secret life of jack dorsey open

แม้ชายคนนี้อาจไม่ได้ถูกยกย่องให้เป็นอัจฉริยะเหมือนอย่างมาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก หรืออีลอน มัสก์ แต่ชายหนุ่มธรรมดาๆ จากรัฐมิสซูรีผู้นี้กลับนำไอเดียการส่งข้อความที่แสนจะเรียบง่ายมาพัฒนาต่อยอดจนกลายเป็นสื่อโซเชียลมีเดียยักษ์ใหญ่ระดับโลกอย่าง Twitter ได้สำเร็จ ชายคนนี้ก็คือ แจ็ค ดอร์ซี่ (Jack Dorsey)

 

ชายที่เชื่อว่าประสบการณ์สำคัญกว่าปริญญา

แจ็ค แพทริก ดอร์ซี่ (Jack Patrick Dorsey) เกิดที่เมืองเซนต์หลุยส์ รัฐมิสซูรี ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 1976 แจ็คเติบโตมาในครอบครัวคาทอลิก คุณพ่อของเขาชื่อ ทิม ดอร์ซี่ เป็นเจ้าของบริษัทเล็กๆ ซึ่งผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ ส่วนคุณแม่ชื่อ มาร์เซีย ดอร์ซี่ เป็นแม่บ้าน แจ็คมีน้องชาย 2 คน ชื่อว่าแดเนียลและแอนดรูว์

สมัยเด็กๆ แจ็คชื่นชอบเว็บไซต์ซึ่งแสดงแผนที่ของเมืองมาก เขาจึงเริ่มเรียนเขียนโปรแกรมด้วยตัวเอง พออายุ 14 ปี เขาก็เขียนโปรแกรมง่ายๆ เกี่ยวกับการเรียกใช้แท็กซี่และรถดับเพลิงได้สำเร็จ ตอนอายุ 15 ปี แจ็คมีโอกาสไปฝึกงานกับบริษัท Mira Smart Conferencing ทำให้เขาได้พบกับคนเขียนโปรแกรมเก่งๆ หลายคนรวมไปถึงหัวหน้าทีมอย่างจิม แมคเคลวีย์ คนที่มองเห็นศักยภาพบางอย่างในตัวของแจ็คและจะเข้ามามีบทบาทสำคัญกับชีวิตของเขาในอนาคตด้วย

หลังจากแจ็คเรียนจบชั้นมัธยมในปี 1995 เขาก็เข้าเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยแห่งรัฐมิสซูรีในสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แต่พอเรียนไปได้ 2 ปี ครอบครัวของเขาก็ตัดสินใจย้ายไปอยู่ที่เมืองนิวยอร์ก แจ็คจึงไปสมัครเรียนที่มหาวิทยาลัยนิวยอร์กแทน แต่สุดท้ายเขาก็ยังเรียนไม่จบอยู่ดี เพราะแจ็คเชื่อว่า “การทำงานจริงๆ น่าจะมีประโยชน์มากกว่านั่งเรียนจากตำรา”

และแล้วก้าวแรกของเขาในโลกแห่งการทำงานก็เริ่มต้นขึ้น!

 

การสมัครงานแบบบ้าบิ่นสุดขั้ว!

บริษัท Dispatch Management Services คือเป้าหมายของแจ็ค แต่เขาไม่ใช่คนที่จะทำเรซูเม่และยื่นเอกสารสมัครงานเข้าไปแบบธรรมดาๆ เพราะวิธีที่เขาใช้สมัครงานที่นี่นั้นบ้ากว่านั้นมาก

แจ็คพบช่องโหว่ในระบบความปลอดภัยของเว็บไซต์บริษัทนี้ เขาจึงแฮคเข้าระบบของบริษัทเพื่อหาอีเมลผู้จัดการ จากนั้นก็ร่างวิธีอุดรอยรั่วนี้แล้วส่งอีเมลตรงไปหาเกร็ก คิดด์ ผู้จัดการของบริษัทในขณะนั้น เกร็กประทับใจลูกบ้าของแจ็คมาก ในที่สุดแจ็คก็ได้งานชิ้นแรกเรียบร้อย

แจ็คทำงานอยู่ที่บริษัท Dispatch Management Services อยู่หลายปี เขาได้เรียนรู้การทำงานหลายอย่างทั้งระบบส่งข้อความ SMS และโปรแกรมที่เกี่ยวข้องกับรถพยาบาลและแท็กซี่ แต่พอบริษัทประสบปัญหาใหญ่ในปี 2000 แจ็คก็ต้องตกงานกลายเป็นฟรีแลนซ์ที่ได้แต่รับงานเล็กๆ น้อยๆ ถึง 5 ปี

ครั้งหนึ่งแจ็คและเกร็กเคยร่วมมือกันเปิดบริษัทชื่อว่า ดีเน็ต ซึ่งเป็นเว็บไซต์สำหรับสั่งซื้อของออนไลน์ที่จัดส่งสินค้าได้ในวันเดียวกัน ดีเน็ตได้รับเงินลงทุนจากนักลงทุนในช่วงแรก แต่สุดท้ายก็ไปไม่รอดอยู่ดี ความจริงแล้วไอเดียนี้เป็นไอเดียที่ดีเพียงแต่มันเกิดขึ้นเร็วไป เพราะทุกวันนี้ยักษ์ใหญ่อย่างอะเมซอนก็ใช้ไอเดียนี้เป็นพื้นฐานในการทำธุรกิจเช่นกัน

jack dorsey 09
ภาพถ่าย Greg Kidd และ Jack Dorsey ตั้งแต่ปี 2006 (ขอบคุณภาพจาก wsj.com)

 

ร่วมทีม Odeo จุดเริ่มต้นของการสร้าง Twitter

ย้อนกลับไปในปี 2005 บริษัท Odeo คือสตาร์ทอัพดาวรุ่งเกี่ยวกับการทำพอดแคสต์ โดยมีอีแวน วิลเลี่ยม เป็นผู้นำทีม อีแวนไม่ใช่ผู้เล่นหน้าใหม่แต่อย่างใด เขาคือผู้ก่อตั้งบล็อคเกอร์ (Blogger) บริการที่จะคอยเปิดพื้นที่ให้บุคคลทั่วไปได้เขียนบทความของตัวเองลงเว็บไซต์ ซึ่งเมื่อปี 2003 ยักษ์ใหญ่อย่างกูเกิลก็เข้าซื้อบล็อคเกอร์จากอีแวนไป

jack dorsey 11
หลายคนน่าจะคุ้นเคยกับ Blogger พื้นที่สำหรับขีดเขียนบทความของตัวเอง ซึ่งอีแวน วิลเลียมขายต่อให้กับกูเกิลก่อนมาตั้งบริษัท Odeo (ขอบคุณภาพจาก blogger.com)

 

แจ็คหลังจากตกงานอยู่นาน เขาก็ได้งานประจำครั้งใหม่ที่นี่ แต่แนวคิดการทำพอดแคสต์ครั้งนี้ออกอีแวนกลับไม่ฮิตเหมือนตอนทำบล็อคเกอร์ จำนวนสมาชิกที่เข้ามาใช้งานก็ไม่มาก แถมตัวพนักงานยังไม่อยากจะใช้ผลิตภัณฑ์ของพวกเขาเองด้วยซ้ำ ทุกอย่างยิ่งเลวร้ายลงเรื่อยๆ เมื่อบริษัทแอปเปิลของสตีฟ จอบส์ เปิดตัวไอพอดรุ่นใหม่และยังเพิ่มบริการพอดแคสต์ลงในไอทูนส์ด้วย เมื่อยักษ์ใหญ่เดิมเกมแบบนี้ มันจึงเหมือนกับการปิดประตูแจ้งเกิดของ Odeo ไปในตัว

ผู้นำทีมอย่างอีแวนเองก็ถอดใจเช่นกัน แต่สุดท้ายเขาก็ขอทิ้งทวนครั้งสุดท้ายด้วยการ “จัดประลองไอเดีย” ในหมู่พนักงานขึ้นมา

เดิมทีแจ็คเป็นคนที่สนใจการบอกข่าวสารเล็กๆ น้อยๆ ในหมู่คนรู้จักอยู่แล้ว เขาอยากอัพเดทคนอื่นรู้ว่า “ตอนนี้กำลังทำอะไร” “ฉันอยู่ที่ไหน” ซึ่งเป็นไอเดียที่อยู่ในหัวของเขาตั้งแต่สมัยเรียนมหาวิทยาลัย เมื่ออีแวนจัดการประลองไอเดียนี้ขึ้น แจ็คจึงนำไอเดียที่เขามีกลับมาปัดฝุ่นทันที เขารวบรวมเพื่อนๆ ในบริษัทที่สนใจไอเดียนี้มาช่วยกันเขียนโปรแกรมขึ้นมา

เมื่อการจัดประลองไอเดียของพนักงานจบลง ผู้ชนะก็คือ ทวิตเตอร์ (Twitter) ของแจ็คนั่นเอง

 

jack dorsey 07

กำเนิดเจ้านกสีฟ้า Twitter

ทีมผู้ก่อตั้งทวิตเตอร์มีอยู่ด้วยกัน 4 คน นั่นคือ แจ็ค ดอร์ซี่, อีแวน วิลเลี่ยม, บิซ สโตน และโนอาห์ กลาส ส่วนชื่อ Twitter ก็หมายถึงเสียงร้องเบาๆ จากนกประเภทหนึ่ง เริ่มแรกนั้นทวิตเตอร์คือบริการส่งข้อความเป็นตัวอักษรไม่เกิน 140 ตัวให้กับเพื่อนๆ ที่ติดตามเราได้อัพเดทเรื่องราวต่างๆ ไปพร้อมกัน ซึ่งการทวีตครั้งแรกของโลกก็เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2006 จากฝีมือของแจ็คเอง ข้อความนั้นก็คือ

“สร้างเจ้าทวิตของฉันเสร็จแล้ว”

jack dorsey 04
ทวีตครั้งแรกของโลกโดย Jack Dorsey (ขอบคุณภาพจาก thejournal.ie)

 

จากนั้นพนักงานของ Odeo ต่างก็ทยอยกันลงทะเบียนและลองใช้งานเจ้าทวิตเตอร์กันอย่างสนุกสนาน อีแวนในฐานะผู้นำของบริษัทจึงรู้ได้ทันทีว่าไอเดียนี้ต้องไปได้อีกไกลแน่นอน

 

เตะตานักลงทุนชื่อดัง

ในช่วงแรกเจ้านกสีฟ้าตัวนี้ยังไม่เป็นที่นิยมมากนัก มีคนไม่มากที่เข้ามาใช้บริการ แถมส่วนใหญ่ก็แค่ลงทะเบียนและจากไป จนกระทั่งในปี 2007 ทวิตเตอร์ได้ไปออกงานสัมมนาเซาท์บายเซาท์เวสต์ ซึ่งเป็นงานประชุมใหญ่ทางด้านเทคโนโลยีประจำปีในรัฐเท็กซัส ผู้คนต่างพากันพูดถึงทวิตเตอร์กันแบบปากต่อปาก แถมยังไปเตะตานักลงทุนชื่อดังอย่างเฟรด วิลสันเข้าอย่างจังด้วย ตอนนี้ไฟทุกดวงเริ่มฉายมาที่พวกเขาแล้ว

เฟรด วิลสัน เป็นนักลงทุนที่เคยลงทุนในเว็บไซต์ชื่อดังมาแล้วมากมายไม่ว่าจะเป็น Tumblr Zynga และ Kickstarter เขามอบเงินลงทุนราว 500,000 ดอลลาร์ให้ ทวิตเตอร์ตั้งเป็นบริษัทโดยเขาจะเข้ามาช่วยเหลือด้านการบริหารต่างๆ ด้วย

ตอนนี้ทวิตเตอร์พร้อมติดปีกโบยบินแล้ว โดยมีแจ็ค ดอร์ซี่ โปรแกรมเมอร์หนุ่มวัยเพิ่งขึ้นเลขสามไม่นานรับหน้าที่เป็น CEO

jack dorsey 06
การก้าวเข้ามาลงทุนและช่วยเหลืองานบริหารใน twitter ของเฟรด วิลสัน มีส่วนช่วยให้ เจ้านกสีฟ้าติดปีกบินได้อย่างรวดเร็ว

ร่วงหล่นจากบัลลังก์

เมื่อมีปัจจัยทุกอย่างพร้อมทั้งกำลังเงินและกำลังคน ทวิตเตอร์ก็เติบโตอย่างรวดเร็ว ประกอบกับกระแสนิยมของสมาร์ทโฟนที่มากขึ้นเรื่อยๆ ก็ยิ่งส่งเสริมให้บริษัทติดปีกบินไปได้ไกลขึ้นอีก จากตัวเลขสถิติในเดือนพฤษภาคม 2008 พบว่าที่ผ่านมามีข้อความถูกทวิตไปแล้วมากกว่า 1,000 ล้านครั้ง!

ชื่อเสียงของทวิตเตอร์เริ่มโด่งดังมากขึ้นเรื่อยๆ ตอนนี้นอกจากคนทั่วไปจะใช้กันแล้ว บรรดาดารา นักร้อง และบุคคลที่มีชื่อเสียงต่างก็ใช้ทวิตเตอร์เป็นช่องทางในการสื่อสารของตัวเองกับแฟนคลับ แม้กระทั่งสื่อมวลชนแขนงต่างๆ เช่น หนังสือพิมพ์ก็เริ่มรายงานข่าวผ่านทวิตเตอร์เช่นกัน

สถานการณ์ภายนอกทุกอย่างดูดีไปหมด แต่ภายในกลับไม่ได้เป็นเช่นนั้น

ถึงแจ็คจะเป็นคนที่มีไอเดียเจ๋งแค่ไหน แต่ในด้านบริหารแล้ว เขายังเป็นได้แค่ CEO มือใหม่ เขาบริหารทวิตเตอร์ได้ไม่ค่อยดีนัก พอหลายปัญหารุมเร้ามากๆ เข้าทั้งปัญหาเซิร์ฟเวอร์ล่มหรือตัวเลขการเติบโตไม่ได้ตามเป้า ในที่สุดแจ็คก็ถูกกดดันจากบอร์ดบริหารให้ต้องรับผิดชอบกับความล้มเหลวเหล่านี้ ด้วยการปลดเขาออกจากตำแหน่ง CEO

ในปี 2008 แจ็คจึงออกตำแหน่งจาก CEO ไปเป็นประธานบอร์ดบริหารแทน ซึ่งมันก็เป็นเพียงตำแหน่งแต่ในนามเท่านั้น ตอนนี้ตัวแจ็คแทบไม่มีอำนาจอีกต่อไป ส่วนคนที่เข้ามาเป็น CEO แทนที่เขาก็คือ อีแวน วิลเลียม 1 ใน 4 ผู้ก่อตั้งนั่นเอง

 

เริ่มก่อตั้ง Square

เป็นธรรมดาที่คนเมื่อร่วงหล่นลงมาจากบัลลังก์ก็ต้องการหาที่พักใจ แจ็ค ดอร์ซี่หลังจากหมดอำนาจ เขาก็กลับไปบ้านเกิดที่เมืองเซนต์หลุยส์เพื่อหาเวลาพัก ซึ่งเขาก็ได้เจอกับหัวหน้าเก่าสมัยยังเป็นเด็กฝึกงานอย่างจิม แมคเคลวีย์

ระหว่างที่แจ็คและจิมแลกเปลี่ยนเรื่องราวระหว่างกัน จู่ๆ แจ็คก็เกิดไอเดียหนึ่งขึ้นมา

จุดเริ่มต้นของไอเดียนี้มาจากจิมซึ่งเล่าให้แจ็คฟังว่า เขาพลาดขายของชิ้นหนึ่งให้ลูกค้าในราคา 2,500 ดอลลาร์ เพราะลูกค้ามีเงินสดไม่มากพอและตัวจิมเองก็รับชำระเงินโดยบัตรเครดิตไม่ได้ จากนั้นทั้งคู่ก็คุยกันถึงการเปลี่ยนสมาร์ทโฟนให้กลายเป็นเครื่องรูดบัตรเครดิต ซึ่งนี่คือจุดเริ่มต้นของ สแควร์ (Square)

สแควร์เปิดตัวครั้งแรกในปี 2010 และถือเป็นอีกไอเดียหนึ่งซึ่งปฏิวัติวงการการเงินของโลก ผู้ใช้งานแค่โหลดแอพพลิเคชั่นที่ชื่อ Square และติดตั้งอุปกรณ์เล็กๆ รูปทรงสี่เหลี่ยมเอาไว้กับช่องหูฟังของสมาร์ทโฟน เพียงเท่านี้ก็สามารถรับชำระเงินด้วยบัตรเครดิตผ่านสมาร์ทโฟนได้แล้ว โดยทุกครั้งที่มีคนชำระเงิน 100 บาทด้วยบัตรเครดิตผ่านแอพพลิเคชั่น Square จะได้ส่วนแบ่ง 2.75 บาทด้วย

jack dorsey 05
ไอเดียง่ายๆ แค่อุปกรณ์ชิ้นเล็กๆ กับสมาร์ทโฟนก็สามารถปฏิวัติวงการการเงินของโลกได้แล้ว (ขอบคุณภาพจาก bizjournals.com)

 

สแควร์เป็นธุรกิจที่เติบโตได้อย่างรวดเร็วมาก แม้แต่โฮเวิร์ด ชูลท์ซ CEO ของสตาร์บัคส์ก็เข้ามาร่วมลงทุนด้วย การได้จับมือกับร้านกาแฟที่ใหญ่ที่สุดในอเมริกายิ่งช่วยให้สแควร์เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้นไปอีก

 

Jack Dorsey Comeback!

หลังจากอีแวน วิลเลียมขึ้นมาเป็น CEO ของทวิตเตอร์แทนแจ็ค บริษัทก็เติบโตขึ้นเรื่อยๆ เช่นกัน แต่ยิ่งบริษัทเติบโตมากขึ้นเท่าไหร่ อีแวนก็เริ่มรับมือกับความใหญ่ของมันไม่ไหว ในที่สุดอีแวนก็ขอลาออกจากตำแหน่งและแต่งตั้งให้ดิ๊ก คอสโทโล ซึ่งเป็น CEO มืออาชีพเข้ามารับหน้าที่แทน

แม้ดิ๊กจะบริหารเก่งและนำบริษัทเข้าสู่ตลาดหุ้นได้สำเร็จ แต่ความสำเร็จด้านตัวเลขผู้คนใช้งานยังไม่เป็นที่ประทับใจบอร์ดบริหารนัก สุดท้ายเขาก็ถูกกดดันให้ออกจากตำแหน่ง CEO ในปี 2015

jack dorsey 08
ดิ๊ก คอสโทโล คือ CEO มืออาชีพที่อีแวน วิลเลี่ยมเลือกให้เข้ามาสานงานต่อจากเขา (ขอบคุณภาพจาก fortune.com)

 

ตอนนี้ทวิตเตอร์คือยักษ์ใหญ่ของวงการ ยิ่งปล่อยให้บริษัทขาดผู้นำนานๆ ก็ยิ่งเป็นผลเสีย แจ็คจึงถูกแต่งตั้งให้กลับมารับตำแหน่งเป็น CEO ชั่วคราว เพื่อรอสรรหาตัว CEO ที่เหมาะสมต่อไป

แต่คราวนี้แจ็คไม่ใช่คนไร้ประสบการณ์หรือ CEO มือใหม่อีกแล้ว แม้เขาจะต้องบริหารสแควร์ควบไปด้วย แต่เขาก็ทำหน้าที่ได้อย่างยอดเยี่ยม สุดท้ายแล้วก็ไม่มีใครเหมาะสมกับตำแหน่ง CEO ของทวิตเตอร์มากกว่าแจ็คอยู่ดี

จากนั้นเจ้านกสีฟ้าก็โบยบินไปข้างหน้าอย่างต่อเนื่อง ในปี 2018 บริษัทก็ทำกำไรเป็นครั้งแรกหลังจากก่อตั้งมานานถึง 11 ปี และแนวโน้มตัวเลขกำไรก็มีแต่เพิ่มมากขึ้นเช่นกัน

ทุกวันนี้แจ็ค ดอร์ซี่เป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงระดับโลก เขาเป็นผู้ก่อตั้งบริษัทเกี่ยวกับเทคโนโลยีซึ่งมีมูลค่ามากกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์ถึง 2 แห่งในเวลาเดียวกัน

 

 

CEO ที่ได้รับค่าจ้างแค่ 1.40 ดอลลาร์

ข่าวเล็กๆ ชิ้นหนึ่งเมื่อปี 2018 บอกว่าหลังจากทวิตเตอร์ทำกำไรเป็นครั้งแรกในรอบ 11 ปี ในที่สุดแจ็ค ดอร์ซี่ก็ยอมรับเงินค่าจ้างเป็นครั้งแรกเช่นกันนับตั้งแต่เขากลับมาเป็น CEO อีกครั้งในปี 2015 ซึ่งค่าจ้างที่แจ็คได้รับก็คือ 1.40 ดอลลาร์ต่อปี! [1]

ที่ผ่านมามี CEO หลายคนที่ปฏิเสธการรับเงินค่าจ้างแพงๆ จากบริษัท เพราะพวกเขาอยากโฟกัสกับงานให้เต็มที่จนบริษัทมีกำไรมากพอจะดีกว่า เช่น มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก ซึ่งรับค่าจ้างเพียง 1 ดอลลาร์ต่อปีจากเฟซบุ๊ค เป็นต้น

ส่วนที่มาของตัวเลข 1.40 ดอลลาร์นั้นก็มาจาก จำนวนสูงสุด 140 ตัวอักษรที่จะทวีตได้ในแต่ละครั้งนั่นเอง (ปัจจุบันจำนวนตัวอักษรสูงสุดอยู่ที่ 280 ตัว)

 

วิธีทำงานสุดแปลกของแจ็ค ดอร์ซี่

แจ็คเป็นคนที่ให้ความสำคัญกับความโปร่งใสและความไว้ใจมาก เขาอยากให้ทุกคนที่ทำงานด้วยรู้ว่าบริษัทกำลังจะก้าวไปในทิศทางใดและทำไมบริษัทถึงเลือกทำแบบนั้น เขาจึงมีกฎประหลาดๆ ในการทำงานที่สแควร์อยู่ข้อหนึ่ง นั่นก็คือ “ทุกการประชุมที่มีผู้เข้าร่วมมากกว่า 2 คนขึ้นไป จะต้องมี 1 คนที่จะทำบันทึกการประชุมส่งต่อให้กับพนักงานทุกคน” ไม่ว่าจะเป็นการประชุมเรื่องเล็กหรือใหญ่แค่ไหน แจ็คคิดว่าทุกคนต้องรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างในที่ประชุม

แจ็คเล่าถึงวิธีทำงานสุดแปลกนี้เอาไว้ในหนังสือเรื่อง ทำถูกครั้งเดียว อนาคตเปลี่ยนทั้งชีวิต ว่าเขามักได้รับบันทึกการประชุม 30-40 ฉบับในแต่ละวัน ซึ่งเขาจะคัดเลือกมันเอาไว้อ่านตอนกลางคืน

อีกเรื่องน่าเหลือเชื่อก็คือ แม้อีเมลบันทึกการประชุมจะถูกส่งต่อไปยังพนักงานมากกว่า 400 คน แต่ไม่เคยมีข้อมูลไหนรั่วไหลออกไปเลยแม้แต่ครั้งเดียว

หนังสือที่คุณอาจสนใจ

เจาะลึกบทเรียนล้ำค่าที่ถูกเก็บเป็นความลับเฉพาะในหมู่นักธุรกิจและนักลงทุน ส่งตรงจากศูนย์กลางสตาร์ทอัพอันดับ 1 ของโลก

  • Airbnb บริษัทที่เคยขายอาหารเช้า แต่พลิกวิกฤติเป็นโอกาสจนปฏิวัติวงการโรงแรมได้
  • Dropbox บริการฝากไฟล์ออนไลน์ที่ล้มผลิตภัณฑ์ของสตีฟ จอบส์ มาแล้ว
  • Twitch แพลทฟอร์มสตรีมเกมที่เริ่มจากไอเดียเล็กๆ แต่ทะยานสู่อันดับ 1 ภายใน 2 ปี

บริษัทเหล่านี้เปลี่ยนจากธุรกิจเล็กๆ เป็นยักษ์ใหญ่สะเทือนวงการได้ในเวลาอันสั้น แต่น้อยคนนักที่จะรู้ว่า พวกเขาเป็นศิษย์ที่ร่ำเรียนมาจากสำนักเดียวกัน และคุณก็เรียนรู้วิธีคิดของพวกเขาได้ในหนังสือขโมยวิธีคิดสุดเจ๋ง จากสุดยอดโรงเรียนสอนสตาร์ทอัพ

พบกับหนังสือแปลจากญี่ปุ่น “เปลี่ยนคนธรรมดาให้มีหัวธุรกิจใน 3 ชั่วโมง” ซึ่งรวม “ทุกวิธีคิด” ในโลกธุรกิจไว้ครบในที่เดียว ตั้งแต่พื้นฐานไปจนถึงแนวคิดที่ทันสมัยที่สุด  แค่ใช้เวลาอ่านไม่นาน คุณจะพัฒนาจากคนที่เริ่มต้นเรียนรู้ เป็นคนที่เข้าใจธุรกิจได้ลึกซึ้ง พร้อมเข้าใจการเงิน กลยุทธ์ และการตลาดของบริษัทต่างๆ ได้สบาย เหมาะกับทั้งคนที่เริ่มสนใจธุรกิจ และคนที่อยากเติมความรู้เก่าให้ครบถ้วน

หนังสือ อยากสำเร็จต้องโฟกัส ด้วยแนวคิด OKR จะพาคุณไปพบกับ “OKR” แนวคิดการบริหารแบบใหม่ ที่ฮอตฮิตที่สุดในซิลิคอนวัลเลย์ 

บริษัทยุคใหม่ทั้ง Google, Apple, Amazon, Netflix และ Facebook ต่างก็ใช้เพื่อเป็นตัวเร่งให้บริษัทเติบโต 

เขียนโดบ Christina Wodtke ศาสตราจารย์จากสแตนฟอร์ด 

แหล่งอ้างอิงเพิ่มเติม

 

1 thoughts on “The Secret Life of Jack Dorsey ชายผู้ให้กำเนิดเจ้านกสีฟ้า Twitter

  1. Pingback: สรุปหนังสือ Permission Marketing ขายออนไลน์แล้วทำไมยังเจ๊ง - สำนักพิมพ์บิงโก

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราะห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก