สตาร์ทอัพคืออะไร? ต่างจาก SME หรือเปล่า? และสำคัญต่อชีวิตเราอย่างไร?

คำว่า “สตาร์ทอัพ” (Startup) เริ่มถูกพูดถึงกันในวงกว้างตั้งแต่ปี 2016 ทั้งในต่างประเทศและในเมืองไทย หลายคนได้ยินคำนี้พร้อมๆ กับนโยบาย “ประเทศไทย 0.4” “ประเทศไทย 4.0” ผ่านรายการทีวีในวันศุกร์ ปัจจุบันรัฐบาลไทยกำลังผลักดันให้เกิดสตาร์ทอัพหน้าใหม่ๆ ขึ้นในทุกอุตสาหกรรม เพราะสตาร์ทอัพคือกลไกหนึ่งที่จะช่วยให้ประเทศไทยหลุดจากกับดักประเทศรายได้ปานกลาง

แล้วสตาร์ทอัพที่พูดๆ กันอยู่นี่ คืออะไรกันแน่? แตกต่างจาก SME มั้ย? แล้วมันสำคัญกับชีวิตเรายังไง? แค่เปิดเพจเฟซบุ๊ก/อินสตาแกรมขายครีมถือว่า เป็นสตาร์ทอัพมั้ย? อาเจ็กที่เพิ่งเปิดร้านขายน้ำเต้าหู้หน้าปากซอย กำลังทำสตาร์ทอัพอยู่หรือเปล่า? หรือแท้จริงแล้ว สตาร์ทอัพเป็นเพียงคำพูดเท่ๆ ที่เอาไว้เรียก SME ที่เพิ่งเปิดใหม่? … ก็อาจจะใช่นะครับ

 

คำนิยามของสตาร์ทอัพ จากปากของเหล่ากูรู

ก่อนอื่น ลองมาฟังนิยามจากปากของกูรูในวงการสตาร์ทอัพกันดูนะครับ ว่าพวกเขาให้นิยามคำว่า “สตาร์ทอัพ” ไว้อย่างไรบ้าง

 

sme
Steve Blank เรียนไม่จบมหาวิทยาลัย แต่ตอนนี้นอกจากจะเป็นนักลงทุนและนักเขียนชื่อดังแล้ว ยังเป็นอาจารย์สอนบรรยายที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด, เบิร์กลีย์ และโคลัมเบียอีกด้วย

Steve Blank ผู้ที่ได้รับการขนานนามว่าเป็น บิดาแห่งสตาร์ทอัพ ให้คำนิยามไว้ว่า

“A startup is an organization formed to search for a repeatable and scalable business model.”

“สตาร์ทอัพคือองค์กรที่จัดตั้งขึ้นเพื่อค้นหาโมเดลธุรกิจที่ทำซ้ำได้และเติบโตแบบก้าวกระโดด”

 

 

sme
Eric Ries จบจากมหาวิยาลัยเยล ตอนนี้เป็นทั้งนักลงทุน นักเขียน และบล็อกเกอร์ที่มีผู้ติดตามนับล้านทั่วโลก

Eric Ries เจ้าพ่อแห่งวงการ Lean Startup และผู้เขียนหนังสือ The Lean Startup (ได้รับการแปลเป็นภาษาไทยแล้วในชื่อปก สร้างธุรกิจที่ยิ่งใหญ่ต้องเริ่มตอนที่ไม่พร้อม) ให้คำนิยามว่า

“A Startup is a human institution designed to create a new product or service under conditions of extreme uncertainty.”

“สตาร์ทอัพคือองค์กรที่มุ่งมั่นจะสร้างผลิตภัณฑ์หรือบริการใหม่ท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน”

 

 

sme
Paul Graham ผู้ก่อตั้ง YCombinator บริษัทระดมเงินทุนที่ว่ากันว่ามีเมล็ดพันธุ์เจ๋งๆ มากที่สุด

Paul Graham ผู้ก่อตั้งแหล่งระดมเงินทุนสำหรับสตาร์ทอัพ YCombinator ได้ให้คำนิยามไว้ว่า

“A startup is a company designed to grow fast… The only essential thing is growth. Everything else we associate with startups follows from growth.”

“สตาร์ทอัพคือบริษัทที่ถูกออกแบบมาเพื่อที่จะเติบโตอย่างรวดเร็ว สิ่งเดียวที่สำคัญที่สุดก็คือการเติบโต สิ่งอื่นๆ ที่เกี่ยวกับสตาร์ทอัพจะตามมาพร้อมกับการเติบโต”

 

จากคำจำกัดความข้างต้นของกูรูทั้งสาม ผมชอบนิยามของ Steve Blank มากที่สุดเพราะเข้าใจง่ายที่สุด แต่คำนิยามนี้ก็มีคำศัพท์ที่ต้องศึกษาเพิ่มเติมนั่นคือ “โมเดลธุรกิจ”

ถ้ามีคนมาถามคุณว่า “โมเดลธุรกิจของคุณคืออะไร?” เท่ากับเขาอยากรู้ว่า “ธุรกิจของคุณมอบคุณค่าอะไรให้แก่ลูกค้า และสร้างรายได้จากมันอย่างไร?”

พอนำคำว่า โมเดลธุรกิจ ไปเติมแต่งเพิ่มเป็นวลี “โมเดลธุรกิจที่ทำซ้ำได้และเติบโตแบบก้าวกระโดดได้” ก็ทำให้สับสนมากขึ้น

 

“ทำซ้ำได้” กับ “เติบโตแบบก้าวกระโดด” คืออะไรกันแน่?

  • ทำซ้ำได้

ขอยกตัวอย่างธุรกิจขายมีดโกนหนวดที่ผู้ชายคุ้นเคยอย่าง Gillette
เมื่อคุณผู้ชายใช้มีดโกนหลายครั้ง ความคมจะหายไปเป็นธรรมดา ทำให้ต้องซื้อมีดโกนใบใหม่อยู่เสมอ Gillette เลยต้องผลิตใบมีดโกนออกมาเรื่อยๆ … นี่แหละ ทำซ้ำได้

  • เติบโตแบบก้าวกระโดด

ลองดูธุรกิจ Grab แอพพลิเคชั่นสำหรับเรียกแท็กซี่ของสิงคโปร์

เดิมทีแอพนี้เปิดให้ใช้บริการแค่ในสิงคโปร์ แต่ผู้ก่อตั้งอยากจะขยายไปให้คนทั่วอาเซียนได้ใช้ ปัจจุบันคนในอาเซียนไม่มีใครไม่รู้จัก Grab …. นี่แหละ เติบโตแบบก้าวกระโดด

โมเดลธุรกิจของสตาร์ทอัพจะต้องมี 2 คุณสมบัตินี้ สตาร์ทอัพจะประสบความสำเร็จมากน้อย ก็ขึ้นอยู่กับว่าพวกเขามีโมเดลธุรกิจที่ทำซ้ำได้และเติบโตแบบก้าวกระโดดได้จริงๆ หรือไม่ ทำซ้ำได้มากน้อยขนาดไหน? เติบโตได้ง่ายหรือเปล่า?

 

สตาร์ทอัพ ต่างจาก SME อย่างไร?

SME ย่อมาจาก Small and Medium Enterprise แปลว่า วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ครอบคลุมกิจการ 3 กลุ่มใหญ่ ได้แก่ กลุ่มการผลิต กลุ่มการค้า และกลุ่มการบริการ สรุปคือบริษัทตั้งใหม่ที่ทำกิจการเกี่ยวข้องกับ 3 กลุ่ม (ก็ทุกบริษัทนั่นแหละ) จัดว่าเป็น SME

สตาร์ทอัพ ก็คือ SME นั่นแหละครับ แต่เป็น SME ที่มีโมเดลธุรกิจที่ทำซ้ำได้และเติบโตแบบก้าวกระโดด

ทุกสตาร์ทอัพเป็น SME แต่มีแค่บาง SME เท่านั้นที่เป็นสตาร์ทอัพ

พูดถึงสตาร์ทอัพคงไม่มีใครไม่รู้จัก Airbnb กับ Uber เพราะเป็นสตาร์ทอัพสัญชาติอเมริกาที่มีมูลค่ามากที่สุดในโลก และสะท้อนภาพลักษณ์ของความเป็นสตาร์ทอัพได้สุดโต่งชัดเจน ทั้งสองบริษัทพลิกโฉมธุรกิจการให้บริการที่พักและบริการรถยนต์โดยสารทั่วโลกไปอย่างสิ้นเชิง โมเดลธุรกิจของ Airbnb และ Uber เป็นสิ่งใหม่ที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน

 

ยิ่งธุรกิจมีความเกี่ยวข้องกับ IT มากขึ้นก็ยิ่งง่ายต่อการเติบโต

สตาร์ทอัพไม่จำเป็นต้องเป็นธุรกิจด้าน IT แต่สตาร์ทอัพที่ประสบความสำเร็จจะมีการนำเอา IT มาใช้เป็นหัวใจหลักของธุรกิจ เพราะ IT เป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้สตาร์ทอัพเติบโตอย่างรวดเร็วและก้าวกระโดด

ขอยกตัวอย่างให้เห็นภาพความสำคัญของ IT สำหรับการเติบโตง่ายๆ นะครับ

สมมติร้านบะหมี่หน้าปากซอยใช้ต้นทุน 10 หน่วยในการเปิด 1 สาขา (ต้นทุนในที่นี้หมายถึงเงิน พนักงาน ความรู้ ระบบ)
ถ้าเจ้าของร้านอยากเปิดร้านเพิ่มที่ซอยถัดไป ต้องใช้ต้นทุนอีก 9 หรือ 10 หน่วยถึงเปิดสาขาต่อไปได้

ต่างจาก Grab ที่ใช้ต้นทุน 10 หน่วย ในการเปิดตลาดในสิงค์โปร์ แค่เพิ่มต้นทุนอีก 1 หน่วยก็เปิดตลาดในไทยได้แล้ว เพราะ Grab ไม่ต้องจ้างคนเพิ่ม แค่ซื้อ Server อีกเครื่องรองรับผู้ใช้ที่มากขึ้น และแปลภาษาอังกฤษเป็นไทยก็พอแล้ว

ธุรกิจไหนที่เกี่ยวข้องกับ IT มักจะเติบโตได้อย่างรวดเร็ว สตาร์ทอัพทั้งของไทยและต่างประเทศที่เรารู้จักส่วนใหญ่จึงเป็นแนวแอพพลิเคชั่นทั้งนั้น แต่จริงๆ แล้วสตาร์ทอัพแนวอื่นที่ประสบความสำเร็จก็มีให้เห็นมากมาย เช่น แนวฮาร์ดแวร์ ทำอุปกรณ์จับต้องได้ อย่าง Gopro (ขายกล้อง) และ Oculus (ขายแว่น VR) เป็นต้น 

 

รูปแบบการหาเงินทุนของ สตาร์ทอัพ และ SME

มีอีกเรื่องนึงที่เป็นเส้นแบ่ง สตาร์ทอัพ กับ SME อย่างชัดเจนคือ รูปแบบการหาเงินทุน

SME จะหาเงินทุนจากเงินส่วนตัวหรือกู้ยืมจากสถาบันการเงิน โดยผู้ที่ลงทุนใน SME จะหวังเพียงดอกเบี้ยเงินกู้ แต่สตาร์ทอัพหาเงินทุนด้วยวิธีการที่ต่างออกไป

ผู้ก่อตั้งสตาร์ทอัพจะหาเงินทุนโดยการแบ่งหุ้นบางส่วนให้กับผู้ที่จะมาลงทุน จากนั้นสตาร์ทอัพจะนำเงินทุนนี้ไปหมุนให้ธุรกิจเติบโตแบบก้าวกระโดด ผู้ที่ลงทุนในสตาร์ทอัพจะเป็นพวกบริษัทร่วมลงทุน (Venture Capital: VC) หรือไม่ก็นักลงทุนใจดี (Angel Investor) กลุ่มคนเหล่านี้ไม่ต้องการเงินปันผลเพียงปีละ 5-10% แต่คาดหวังผลตอบแทนสูงกว่านั้นมากๆๆ ตำนานการลงทุนในเฟซบุ๊กของอดีตผู้ก่อตั้งเพย์พาลจะช่วยให้คุณเห็นภาพมากขึ้น

ในปี 2004 อดีตผู้ก่อตั้งเพย์พาลและเจ้าของ VC ที่ชื่อว่า ปีเตอร์ ธีล ได้นำเงินมาลงทุนในเฟซบุ๊กที่เพิ่งตั้งมาไม่ถึงปี ด้วยเงินจำนวน 5 แสนดอลลาร์ เพื่อถือหุ้นเพียงน้อยนิดในบริษัทเฟซบุ๊กจากนั้น 8 ปีต่อมาเฟซบุ๊กเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ NASDAQ ปีเตอร์ ธีล ขายหุ้นของตัวเองทิ้งเพื่อโกยเงิน 4 ร้อยล้านดอลลาร์ เข้ากระเป๋า

ปีเตอร์ ธีล ได้ผลตอบแทน 800 เท่าในเวลาเพียงแค่ 8 ปี

sme
Peter Thiel เป็นนักลงทุนที่ชาญฉลาด เขายังเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง PayPal และ Palantir บริษัทซอฟต์แวร์ข้อมูล ที่ว่ากันว่าช่วยทางการสหรัฐฯ จับผู้ก่อการร้ายมาแล้วนักต่อนัก

 

กลับมาที่คำถามแรกเริ่ม แม่ค้าที่เปิดเพจเฟซบุ๊ก/อินสตาแกรมขายครีม กับอาเจ็กที่เพิ่งเปิดร้านขายน้ำเต้าหู้หน้าปากซอย กำลังทำสตาร์ทอัพอยู่หรือเปล่า? คงต้องเป็นหน้าที่ของคุณผู้อ่านที่จะตอบคำถามนี้ แต่ผมขอสรุปข้อสังเกตธุรกิจที่เป็นสตาร์อัพ 2 ข้อ ทุกสตาร์ทอัพจะมี…

  1. มีโมเดลธุรกิจที่ทำซ้ำได้และเติบโตแบบก้าวกระโดด
  2. มีการใช้ IT มาช่วยทำธุรกิจ (หรือใช้ IT เป็นหัวใจของธุรกิจ)

 

คำว่า สตาร์ทอัพ สำคัญกับชีวิตคุณอย่างไร

ทุกวันนี้ เราเห็นธุรกิจสตาร์ทอัพจากต่างประเทศรุกคืบมากินตลาดไทยในหลายวงการไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยว การขนส่ง ธนาคาร ฯลฯ สตาร์ทอัพเหล่านี้โกยเงินคนไทยออกนอกประเทศทุกวัน!! (และไม่เสียภาษีในไทยด้วยนะ) ส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยมหาศาล จึงไม่แปลกที่ภาครัฐจะลงมาผลักดันให้เกิดระบบนิเวศ SME และสตาร์ทอัพอย่างขะมักเขม้น

ทุกวันนี้เราทุกคนแถบจะเอานิ้วออกห่างเฟซบุ๊กกับอินสตาแกรมไม่ได้เลย เมื่อมีสถานที่ที่สามารถรวบรวมสายตาของคนจำนวนมากได้ ย่อมเป็นที่น่าจับตาของเหล่าพ่อค้าแม่ค้าและแบรนด์ต่างๆ เจ้าของธุรกิจทุกคนล้วนอยากจะนำสินค้าและบริการของตนไปปรากฎต่อสายตาคนให้มากที่สุด ซึ่งการลงโฆษณาผ่านเฟซบุ๊กเป็นหนึ่งในวิธีที่ง่ายและถูกที่สุด

นับตั้งแต่เฟซบุ๊กแพร่หลายในไทย เม็ดเงินโฆษณาก็พรั่งพรูในโซเชียลมีเดียตัวนี้มากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

หลังจากเหล่าพ่อค้าแม่ค้าซื้อพื้นที่โฆษณาในเฟซบุ๊กแล้ว ก็จะได้ใบเสร็จ หากเหลือบไปมองมุมขวาล่างก็จะเห็นแบบนี้

Facebook Ireland Limited
4 Grand Canal Square, Grand Canal Harbour Dublin 2, Ireland

แปลความได้ว่า เงินของคุณถูกส่งไปถึงบริษัทเฟซบุ๊กที่ประเทศไอร์แลนด์เรียบร้อยแล้ว โดยที่ประเทศไทยไม่ได้เงินภาษีจากธุรกรรมนี้เลยแม้แต่น้อย ยังไม่พอเฟซบุ๊กยังสร้างผลกระทบต่ออุตสาหกรรมโฆษณาไทยอีกด้วย ธุรกิจสื่อทางทีวีหรือสื่อออฟไลน์ในไทยที่เคยล่ำซำกลับสูญเสียลูกค้าส่วนใหญ่ไป

ตัวอย่างข้างต้น พูดถึงแค่อุตสาหกรรมเดียวเท่านั้น ในชีวิตจริง เราเห็นอีกหลายอุตสาหกรรมที่มีเนื้อเรื่องเดียวกันแต่เปลี่ยนตัวละคร ทั้งหมดนี้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในหลายมิติ

แล้วคุณจะช่วยประเทศไทยได้อย่างไร…

 

ถ้าคุณคือ นักศึกษาหรือพนักงานเงินเดือน

จริงๆ แล้วกระบวนการคิดแบบสตาร์ทอัพน่าสนใจมากๆ สามารถนำไปใช้ในการทำงานและชีวิตประจำวันได้หลายอย่าง คุณควรศึกษาเรื่องการทำธุรกิจเอาไว้บ้าง ไม่ใช่เพราะการทำธุรกิจจะทำให้คุณรวยลัด รวยเร็ว ตามกระแสหรอกนะครับ ยุคนี้เป็นยุคที่ต้องการผู้ประกอบการและผู้ที่มีแนวคิดแบบผู้ประกอบการจำนวนมาก (อ่านเหตุผลเต็มๆ ในหนังสือเล่มนี้) หรือไม่ก็เปิดใจลองร่วมงานกับบริษัทสตาร์ทอัพ ใช้ความรู้และความสามารถผลักดันให้สตาร์ทอัพเติบโตต่อไป

 

ถ้าคุณคือ เจ้าของธุรกิจ SME

คุณควรนำเอาแนวคิดของสตาร์ทอัพไปประยุกต์ใช้ ธุรกิจ SME ที่นำแนวคิดของสตาร์ทอัพมาใช้จะกลายเป็นเสือติดปีกทันที คุณควรจะลองหาว่า มีหนทางปรับเปลี่ยนโมเดลธุรกิจให้ใกล้เคียงสตาร์ทอัพได้หรือไม่ ลองดูธุรกิจชายสี่หมี่เกี๊ยวและสตาร์บัค เป็นตัวอย่าง

เดิมทีทั้งสองธุรกิจนี้มีเพียงร้านอาหารและร้านกาแฟเล็กๆ ที่ไม่มีใครรู้จัก ภายหลังเจ้าของได้ปรับเปลี่ยนโมเดลธุรกิจ โดยการสร้างระบบขึ้นมาเพื่อที่จะทำซ้ำได้และง่ายต่อการขยายธุรกิจมากขึ้น จนขยายสาขาไปในหลายประเทศ

*** ในการขยายสาขาของชายสี่หมี่เกี๊ยวหรือสตาร์บัคนั้น แต่ละสาขาอาจใช้ต้นทุนแค่ 6 หรือ 7 หน่วย เพราะเจ้าของสร้างระบบที่แข็งแกร่งอย่างละเอียด เหมือนเป็นสูตรสำเร็จเอาไว้แล้ว ผนวกกับการใช้ IT เข้ามาช่วย เลยไม่ต้องเหนื่อยกับร้านสาขาทั้งหมด ***

ถ้าคุณคือ ผู้ที่กำลังทำสตาร์ทอัพ

คุณกำลังอยู่บนเส้นทางที่เต็มไปด้วยความเสี่ยง แต่ก็ต้องสู้ต่อไปนะ ทาเคชิ!! แก่นแท้ของสตาร์ทอัพคือการเรียนรู้เพื่อหาโมเดลธุรกิจที่เหมาะสม ถ้าคุณอยากศึกษาเรื่องสตาร์ทอัพอย่างจริงจัง หรืออยากเข้าใจกระบวนการคิดแบบสตาร์ทอัพมากกว่านี้ ผมแนะนำให้เริ่มจากหนังสือ The Lean Startup เขียนโดย Eric Ries และต่อด้วยหนังสือ ขโมยวิธีคิดสุดเจ๋ง จากสุดยอดโรงเรียนสอนสตาร์ทอัพ ซึ่งคุณสามารถอ่านสรุปได้ตามลิงก์ด้านล่างเลยครับ

(อ่านเพิ่มเติม : สรุปหนังสือ The Lean Startup ตอนที่ 1 และ สรุปหนังสือ The Lean Startup ตอนที่ 2)

สรุปส่งท้าย

การจะมาถกเถียงกันว่า อะไรคือ SME อะไรคือสตาร์ทอัพ เพื่อแบ่งแยกประเภทให้ชัดเจนนั้นไม่ได้มีสาระแต่อย่างใด เพราะแบ่งแล้วก็ไม่ได้หมายความว่าสตาร์ทอัพจะแข่งขันกับแค่สตาร์ทอัพ SME แข่งขันกับแค่​ SME ด้วยกัน

เมื่อก้าวขึ้นสู่สังเวียนธุรกิจแล้วก็ไม่มีการแบ่งแยกอะไรทั้งนั้น ไม่มีการแบ่งรุ่น Heavyweight/Lightweight กฏมีข้อเดียวก็คือ อ่อนแอก็แพ้ไป แต่ทว่า…ความเดือดไม่ได้มีแค่นี้

ปัจจุบัน เส้นเชือกที่กำหนดพื้นที่สังเวียนมันเริ่มจะขาดสะบั้น หมายความว่า กติกาการขึ้นชกไม่มีอีกต่อไป คนที่ขึ้นสังเวียนไม่จำเป็นต้องเป็นนักมวยก็ได้ ปรมาจารย์กังฟู หน่วยซีล เจได จาพนม หลวงจีนหอไตร ก็ขึ้นมาต่อสู้บนสังเวียนได้

ใช่ครับ การต่อสู้มันเริ่มมั่วกันไปหมดแล้ว คู่แข่งของธนาคารสีม่วง ไม่ใช่แค่ธนาคารสีเขียว พวกสตาร์ทอัพสายการเงินทั้งของไทยและต่างประเทศ Lazada หรือแม้กระทั่งสตาร์บัค ก็เป็นคู่แข่งธนาคาร!!

ขอให้คุณโชคดี!

แหล่งข้อมูล

7 thoughts on “สตาร์ทอัพคืออะไร? ต่างจาก SME หรือเปล่า? และสำคัญต่อชีวิตเราอย่างไร?

  1. Pingback: สรุปหนังสือ All In Startup อยากทำสตาร์ทอัพ ต้องรู้ว่าตอนไหนควรทุ่มหมดหน้าตัก

    • Tum Piyapong says:

      แนะนำหนังสือ ขโมยวิธีคิดสุดเจ๋ง จากโรงเรียนสอนสตาร์ทอัพ ครับ

  2. Nipawaz says:

    ธุรกิจสตาทอัพก็จะเป็น แอร์บีแอนบี(จองที่พัก),คิวคิว(จองคิวร้านอาหาร)
    และ http://www.shippop.com (ส่งของส่งพัสดุ)ฟรี

  3. Pingback: มาดูกัน!! มีอะไรใหม่ใน dtac accelerate batch 7 - World Variety News

  4. Pingback: สรุป The Intelligent Investor: หนังสือลงทุนที่ดีที่สุดในโลก (นักลงทุนต้องอ่าน)

  5. Pingback: สรุปหนังสือ Toyota Kata "วิถีโตโยต้า": หลักคิดการทำธุรกิจที่ไม่มีวันแพ้

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราะห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก