ความรู้ MBA ฟังดูเป็นเรื่องยาก แล้วยิ่งเป็น “การเงิน MBA” ยิ่งทำให้หลายคนกลัว นึกไปว่าคนที่เรียนได้จะต้องเป็นอัจฉริยะ หลายคนจึงมีความเชื่ออยู่ลึกๆ ว่าการเงินการลงทุนนั้น “ลึกลับซับซ้อน” มาก
แต่วันนี้ผมจะสรุปการเงิน MBA ทั้งหมดให้คุณใน 15 นาที แค่อ่านจบคุณก็จะมีความรู้เทียบเท่าคนจบ MBA การเงิน
เมื่อคุณอ่านเนื้อหาข้างล่างนี้ คุณจะเข้าใจแก่นที่แท้จริงของการเงิน ว่า “นักการเงิน” เขามีวิธีคิดยังไง แล้วจะเอาวิธีคิดของนักการเงินมาใช้กับชีวิต ธุรกิจ และการลงทุนได้อย่างไร (คนที่สนใจลงทุน อ่านวิธีเริ่มต้นง่ายๆ ได้เลย)
นอกจากที่ผมจะเล่าให้คุณฟังข้างล่าง เนื้อหาการเงินที่เหลือก็จะเป็นพวกรายละเอียดเล็กน้อย แต่บทความนี้ผมจะอัดเฉพาะแก่นที่แท้จริงให้คุณ และเมื่อคุณอ่านจบ คุณอาจสนใจ “วิธีวิเคราะห์งบการเงินสำหรับมือใหม่” อีกบทความ
เริ่มกันเลยครับ
เวลาเป็นเงินเป็นทอง
เราจะได้ยินนักธุรกิจหรือนักลงทุนที่เก่งกาจพูดบ่อยๆ ว่า “เวลาเป็นเงินเป็นทอง” หรือ “Time is money”
นั่นก็เพราะคนที่ลงทุนเป็น เขาจะนำเงินไปต่อยอดให้งอกเงยได้ ยิ่งเวลาผ่านไปนานก็ยิ่งงอกเงย เวลาจึงมีค่ากับพวกเขามาก
ถ้าคุณมีเวลาไม่จำกัด เงิน 1 บาทจะมีค่ามากกว่าเงิน 1000 ล้านบาท
เพราะเงินสามารถต่อยอดได้ไม่จำกัด ถ้าคุณมีเวลาลงทุนมากพอ
อันที่จริง ต่อให้คุณมีความรู้ด้านการลงทุนเป็น 0 คุณแค่เอาเงินไปฝากธนาคาร ก็ได้ดอกเบี้ยทุกปีอยู่แล้ว
ถ้าคุณรอได้สักหมื่นปี เงินของคุณก็จะงอกขึ้นเรื่อยๆ โดยคุณไม่จำเป็นต้องเหนื่อยยากอะไรเลย
จาก 1 บาทก็จะเป็น 2 3 4 5 … 1000 ล้านบาทในที่สุดครับ
ดังนั้นเวลาจึงมีค่า
ถ้าคุณสามารถได้รับเงิน 1 ล้านบาทวันนี้ กับ 1 ล้านบาทในอีก 10 ปีข้างหน้า คุณควรเลือกรับเงินวันนี้ เพราะคุณสามารถเอาเงินก้อนนี้ไปฝากธนาคารกินดอกเบี้ย หรือเอาไปลงทุนให้งอกเงยได้ แทนที่จะต้องรอถึง 10 ปี
เงินก้อนเท่ากัน ถ้าได้รับในอนาคตจะมีค่าน้อยกว่าได้รับในปัจจุบันเสมอ
ทุกสิ่งวัดค่าได้ รวมทั้งอนาคตด้วย
ถ้าผมหยิบกระดาษให้คุณแผ่นนึง แล้วเขียนเป็นสัญญาว่า
“คนที่ถือกระดาษใบนี้จะได้รับเงิน 100 บาททุกวันที่ 31 มกราคมไปตลอดกาลปวสาน และกระดาษใบนี้ซื้อขายได้”
คุณคิดว่ากระดาษใบนี้มีค่าเท่าไร?
พันบาท? หมื่นบาท? แสนบาท?
ถ้าคุณไม่มีความรู้ทางการเงิน คุณอาจเดาสุ่มตามใจชอบ
แต่ในทางการเงิน เรามีวิธีคำนวณมูลค่ากระดาษใบนี้ได้ละเอียดจนถึงจุดทศนิยม เรียกว่าวิธี DCF หรือ Discounted Cash Flow หรือแปลไทยว่า “วิธีคิดลดกระแสเงินสด”
ก่อนจะไปดูเฉลย ผมขอให้คุณลองเดาราคาที่คุณจะให้กับกระดาษแผ่นนี้ แล้วเขียนไว้ตรงไหนก็ได้ครับ
ก่อนจะประเมินมูลค่ากระดาษใบนี้ คุณต้องเข้าใจเทคนิค DCF เสียก่อน
สมมุติคุณมีเงิน 555 บาท เอาไปลงทุนได้ 77% ต่อปี
เมื่อเวลาผ่านไป 1 ปี คุณจะมีเงิน 177% x 555 หรือ 1.77 x 555
เมื่อเวลาผ่านไป 2 ปี คุณจะมีเงิน 177%^2 x 555 หรือ 1.77^2 x 555
เมื่อเวลาผ่านไป 3 ปี คุณจะมีเงิน 177%^3 x 555 หรือ 1.77^3 x 555
…
เมื่อเวลาผ่านไป t ปี คุณจะมีเงิน 177%^t x 555 หรือ 1.77^t x 555
สรุปเป็นสูตรว่า ถ้าคุณมีเงิน Present บาทในปีนี้ ลงทุนได้ปีละ r เงินก้อนนี้จะมีค่าเทียบเท่าเงิน (1+r)^t x Present ในอีก t ปีข้างหน้า
ในทางกลับกัน ถ้าคุณมีเงิน Future ในอีก t ปีข้างหน้า เงินก้อนนี้ก็จะมีค่า Future/(1+r)^t ในปัจจุบัน เพราะถ้าคุณเอาเงิน Future/(1+r)^t ไปลงทุนได้ปีละ r มันจะกลายเป็นเงิน Future ในอีก t ปีข้างหน้าพอดี
สรุปคือ เราสามารถหามูลค่าเงินในอนาคตได้ โดยคิดย้อนกลับมาเป็นปัจจุบัน และมูลค่าของกระดาษแผ่นนี้ก็คือเงินในอนาคตปีต่างๆ มาบวกกัน
ย้อนกลับมาที่กระดาษของเรา
คุณค่าของกระดาษแผ่นนี้อยู่ที่เงินในอนาคตที่มันจะจ่าย ซึ่งเงินในอนาคตจะมีค่าแค่ไหนนั้น ก็ขึ้นอยู่กับว่า Future/(1+r)^t เป็นเท่าไร แล้วเราก็เอาค่าในอนาคตมาบวกกัน จะได้มูลค่ากระดาษ
อีก 1 ปีถัดไป Future/(1+r)^t คือ 100/(1+r)
อีก 2 ปีถัดไป Future/(1+r)^t คือ 100/(1+r)^2
อีก 3 ปีถัดไป Future/(1+r)^t คือ 100/(1+r)^3
อีก 4 ปีถัดไป Future/(1+r)^t คือ 100/(1+r)^4
อีก 5 ปีถัดไป Future/(1+r)^t คือ 100/(1+r)^5
กระดาษใบนี้จะจ่ายเงินให้เราไปเรื่อยๆ จนกาลปวสาน ดังนั้นมูลค่าของมันก็คือ
ตามหลักคณิตศาสตร์ ทั้งก้อนนี้เขียนเป็นสูตรง่ายๆ ได้เท่ากับ 100/r
ถ้าคุณลงทุนได้ปีละ 30% แสดงว่า r = 30% = 0.3
กระดาษแผ่นนี้จะมีค่า 100/0.3 = 333 บาท
ถ้าคุณลงทุนได้ปีละ 20% แสดงว่า r = 20% = 0.2
กระดาษแผ่นนี้จะมีค่า 100/0.2 = 500 บาท
ถ้าคุณลงทุนได้ปีละ 1% แสดงว่า r = 1% = 0.01
กระดาษแผ่นนี้จะมีค่า 100/0.01 = 10000 บาท
ค่านี้ตรงกับตัวเลขที่คุณเดาไว้แค่ไหนครับ? สังเกตว่ามูลค่าของกระดาษจะขึ้นอยู่กับผลตอบแทนที่คุณทำได้ ถ้าคุณลงทุนได้ผลตอบแทนต่ำ มูลค่าของกระดาษก็จะสูง แต่ถ้าคุณลงทุนได้ผลตอบแทนสูง มูลค่าของกระดาษก็จะต่ำ
น่าทึ่งนะครับ กระดาษแผ่นนี้ให้เงินเราไปตลอดกาล แต่มูลค่าของมันกลับไม่ใช่อนันต์
เรากลับหามูลค่าของมันออกมาได้ด้วย
เรียนคอร์สลงทุนจาก Set หนังสือ
“นักลงทุนมือหนึ่งของโลก”
บิงโกมีคอร์สสอนลงทุนที่จะคุณอาจสนใจ คอร์สนี้จะสอนตั้งแต่พื้นฐานจนถึงขั้นสูง เรียนจบพร้อมลงทุนจริงได้เลย
คอร์สนี้ถูกออกแบบให้พิเศษกว่าคอร์สลงทุนทั่วไป เพราะมาจากหนังสือลงทุนของเซียนหุ้นระดับโลก ทั้งวอร์เรน บัฟเฟตต์, ปีเตอร์ ลินช์, เบนจามิน เกรแฮม, ดร.นิเวศน์ และอื่นๆ จนเหมือน “นักลงทุนระดับโลกมาสอนคุณเอง” ทุกเล่มที่เราคัดมาได้รับการยอมรับจากทั่วโลกว่าเป็น “ของจริง” และจะร่นเวลาให้คุณลงทุนได้เก่งกาจอย่างรวดเร็ว
คอร์สนี้จะให้คุณมากกว่าความรู้ในหนังสือแต่ละเล่มรวมกัน เพราะเวลาคุณอ่านหนังสือเอง บางครั้งคุณอาจมองข้ามแก่นสำคัญ หรือไม่เข้าใจความคิดของคนเขียนอย่างแท้จริง แต่ผมจะนำทุกจุดมาอธิบายให้คุณอย่างครบถ้วน พร้อมยกตัวอย่างที่ใกล้ตัว เข้าใจง่าย คุณจึงมั่นใจได้ว่าจะได้แนวคิดการลงทุนที่ถูกต้องโดยสมบูรณ์
ดูรายละเอียด
พี่โจ๊กกับไอ้โจ้ ผลตอบแทน vs ความเสี่ยง
เราจะเห็นได้ว่าทรัพย์สินทุกอย่างในโลกวัดค่าออกมาได้หมด โดยคิดจากว่ามันจะทำเงินในอนาคตได้แค่ไหน
ถ้าเรารู้เงินที่ได้จากทรัพย์สินนั้นในอนาคต เราก็แค่เปลี่ยนค่าในอนาคตให้อยู่ในปัจจุบัน ก็วัดมูลค่าทรัพย์สินออกมาได้อย่างแม่นยำแล้วครับ
สมมุติคุณมีคนรู้จักสองคน คือพี่โจ๊กกับไอ้โจ้
พี่โจ๊กเป็นคนดีมีความรับผิดชอบ น่าเชื่อถือ ยืมเงินเมื่อไรจะคืนตลอด แต่ไอ้โจ้นี่ตัวดีเลย งานการไม่ยอมทำ กินเหล้าหัวราน้ำทุกวัน มีเงินเท่าไรก็ใช้หมด
สมมติทั้งสองคนมากู้เงินจากคุณ 1000 บาท มีการเขียนสัญญาเงินกู้เรียบร้อย
โดยทั้งคู่จะจ่ายดอกเบี้ยให้คุณทุกปี ปีละ r% จากนั้นเมื่อครบ 10 ปีก็จะคืนเงิน 1000 บาทให้คุณ
ถามตามตรง ถ้าทั้งคู่จ่ายดอกเบี้ยเท่ากัน คุณอยากให้ใครกู้เงินมากกว่ากันครับ?
แน่นอนครับ ใครๆ ก็อยากให้พี่โจ๊กกู้เงิน เพราะทุกคนรู้ว่าถ้าใครให้ไอ้โจ้กู้เงิน สุดท้ายไม่น่ารอด
สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ คุณต้องเรียกดอกเบี้ยจากไอ้โจ้เยอะกว่า เพราะมันมีสิทธิ์เบี้ยวหนี้
คุณอาจให้พี่โจ๊กจ่ายดอกเบี้ยปีละ 50 บาทก็พอ (5%) แต่ไอ้โจ้ต้องจ่ายปีละ 400 บาท (40%)
คุณมองว่าถ้าไอ้โจ้จ่ายดอกเบี้ยสัก 3 ปีแล้วเลิกจ่าย คุณก็จะได้มา 1200 บาท ยังกำไรอยู่
แต่ถ้าไอ้โจ้จ่ายปีแรกแล้วเบี้ยวเลย คุณจะได้มา 400 บาท ก็ขาดทุนไป
และถ้าไอ้โจ้จ่ายครบ 10 ปี นับว่าปาฏิหาริย์ คุณก็กำไรก้อนโต
เวลาคุณลงทุนหุ้น อสังหาริมทรัพย์ พันธบัตรรัฐบาล หรือโปรเจกต์ต่างๆ ก็เช่นกัน
ถ้าการลงทุนนั้นความเสี่ยงสูง (ไอ้โจ้) คุณก็ต้องมองหาผลตอบแทนที่สูง เพื่อชดเชยกับความเสี่ยง
ถ้าการลงทุนนั้นความเสี่ยงต่ำ (พี่โจ๊ก) คุณก็ยอมรับผลตอบแทนต่ำได้
คุณยังสามารถโยงกลับไปที่ DCF ข้างบนได้ด้วยครับ
ในเทคนิค DCF คุณจะแปลงเงินในอนาคตกลับเป็นปัจจุบัน โดยหารด้วย 1+r ซึ่งเป็นผลตอบแทนที่คุณอยากได้
ถ้าการลงทุนนั้นเสี่ยง คุณก็ต้องใส่ค่า r ไว้สูง ทำให้มูลค่าเงินในอนาคตนั้นลดลง ตามความเสี่ยงที่สูงขึ้น
หุ้นและพันธบัตร
เวลาคุณไปดูลิสต์สิ่งที่คุณจะลงทุนได้ ตัวหลักก็คือหุ้นกับพันธบัตรครับ
แต่อย่าลืมว่า ไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สินอะไร ทุกอย่างอยู่ภายใต้หลักทางการเงินทั้งหมด
หลักนั้นคือ มูลค่าคิดจากเงินที่จะได้จากสิ่งนั้นในอนาคต แปลงเป็นปัจจุบัน แล้วบวกกันให้หมด
หุ้นและพันธบัตรก็เช่นกัน
หุ้นจะมอบเงินให้เราในอนาคตในรูปของเงินปันผล โดยเวลาบริษัทมีกำไรแล้วไม่ได้ไปขยายธุรกิจ เขาก็จะเอาเงินนั้นมาจ่ายคืนให้ผู้ถือหุ้น นั่นคือเงินปันผล
แต่โลกธุรกิจนั้นโหดร้ายนัก บริษัทที่เคยมีกำไร จู่ๆ อาจขาดทุน บริษัทเก่าแก่ร้อยปีก็ล้มละลายได้ในเวลาไม่กี่เดือน
ดังนั้น ทั้งกำไรและเงินปันผลจึงเป็นสิ่งที่คาดเดาได้ยาก พูดอีกอย่างคือ “ความเสี่ยงสูง”
เวลาเราลงทุนหุ้น เราจึงแบกรับความเสี่ยงที่บริษัทจะล้มละลายอยู่ด้วย เราก็ต้องคาดหวังผลตอบแทนที่สูงเพื่อมาชดเชยกับความเสี่ยง
ในทำนองกลับกัน พันธบัตรจะค่อนข้างแน่นอนกว่า โดยเฉพาะพันธบัตรที่ออกโดยรัฐบาลหรือบริษัทใหญ่ (พันธบัตรที่ออกโดยบริษัท เรียกว่าหุ้นกู้)
พันธบัตรจึงมีความเสี่ยงต่ำ และผลตอบแทนต่ำไปด้วย
ใช้ DCF หามูลค่าหุ้น
เราสามารถใช้ DCF หามูลค่าหุ้นได้
เป้าหมายของธุรกิจคือทำเงิน ดังนั้น “มูลค่าที่แท้จริงของกิจการ” จึงขึ้นอยู่กับว่าบริษัทนั้นสร้างกระแสเงินสดให้เราได้มากแค่ไหน นับจากปัจจุบันจนถึงวันที่บริษัทเลิกกิจการ (วันนั้นอาจไกลมากๆ ในอนาคต)
ยิ่งบริษัทสร้างกระแสเงินสดได้มาก ยิ่งมูลค่าสูง
เราใช้คำว่า “กระแสเงินสด” (Cash Flow) แทน “กำไร” (Profit) เพราะบางครั้งบริษัทขายของได้แต่เก็บเงินไม่ได้ เราจะลงบัญชีว่า “มีกำไร” แต่กำไรนั้นไม่มีประโยชน์เพราะเราไม่ได้เงิน
เราจึงหามูลค่าหุ้นได้ดังนี้
- คาดเดากระแสเงินสด ที่บริษัทจะทำได้ในแต่ละปีในอนาคต (Cash Flow: C)
- กำหนด “อัตราคิดลด” (Discount Rate หรือ r)
- ปรับเงินในอนาคตเป็นปัจจุบันด้วยสูตร DCF = C/(1+r)^n
- มูลค่ากิจการ = ผลรวมของกระแสเงินสด DCF ในทุกปี
1. คาดเดากระแสเงินสด ที่บริษัทจะทำได้ในแต่ละปีในอนาคต (Cash Flow: C)
อนาคตเป็นสิ่งไม่แน่นอน เราจึงอาจคาดเดาพลาด แต่ยิ่งเราเดาได้ใกล้เคียงความจริง เราก็ยิ่งประเมินมูลค่าได้แม่นยำ
บางครั้งเราจะ “ประมาณ” อัตราการเติบโต (G) ขึ้นมาสักค่า (เช่น โตปีละ 5%) แล้วก็สมมติว่าบริษัทนี้จะเติบโตเท่านี้ไปตลอดจนชั่วนิรันดร์ วิธีนี้จึงทำให้เราคำนวณได้ง่ายขึ้น
2. กำหนด “อัตราคิดลด” (Discount Rate หรือ r)
อัตราคิดลด r คือผลตอบแทนที่เราคาดหวังต่อปี ดังนั้น r จะเป็นเท่าไรก็ได้ ขึ้นกับความคาดหวังของเรา ว่าเราคู่ควรกับผลตอบแทนแค่ไหน
- เช่น เราอาจให้ r = 10% = 0.1 หรือ r = 15% = 0.15 ก็ได้
- หุ้นปกติกำหนด r = 10-20% กำลังดี แต่ถ้าเป็นหุ้นที่เสี่ยงสูง ก็เพิ่มให้สูงขึ้นสักหน่อย
ช่วงหลังๆ มีนักวิชาการหลายคนเสนอทฤษฎีต่างๆ ที่ช่วยเรากำหนดค่า r
ที่จริงเราจะใช้ r เท่าไรก็แล้วแต่เราแหละครับ ผมคิดว่าทฤษฎีพวกนี้ก็เชื่อได้ครึ่งเชื่อไม่ได้ครึ่ง ในทางปฏิบัติแค่ใช้ r = 10-20% ก็พอแล้ว
แต่ถ้าคุณสนใจ สามารถไปศึกษาทฤษฎี WACC ต่อได้ เขาจะบอกค่า r ให้คุณด้วยสูตรอันซับซ้อน
3. ปรับเงินในอนาคตเป็นปัจจุบันด้วยสูตร DCF = C/(1+r)^n
n คือจำนวนปีที่ห่างออกไปในอนาคตของ Cash Flow (C) ในปีนั้น
ยิ่งกระแสเงินสดอยู่ไกลออกไปในอนาคต ยิ่งมีมูลค่าน้อยลง (ได้เงินปีนี้ ย่อมดีกว่าได้เงินในอีก 20 ปีข้างหน้า)
4. มูลค่ากิจการ = ผลรวมของกระแสเงินสด DCF ในทุกปี
เอากระแสเงินสด DCF ทุกปีมาบวกกัน จะได้มูลค่ากิจการเท่ากับ
ค่า C ในแต่ละปีอาจไม่เท่ากัน ปรับตามความเหมาะสมครับ (เราอาจกำหนดค่าในแต่ละปีด้วยมือ หรือไม่ก็สมมุติว่าบริษัทจะเติบโต x% จากปีก่อนก็ได้)
สรุปการเงิน MBA อย่างด่วนจี๋
จบแล้วครับ ตรงส่วนที่เป็นคณิตศาสตร์อาจยากนิดหน่อย แต่ถ้าคุณค่อยๆ นั่งทำความเข้าใจจนรู้เรื่อง แค่นี้คุณก็จะมีความรู้เทียบเท่าคนที่เรียนจบ MBA แล้ว
ก่อนจากกัน เรามาสรุปกันดีกว่าครับ
- เวลามีค่า เพราะเงินจะงอกเงยได้ไม่จำกัดถ้ามีเวลามากพอ
- เราสามารถวัดมูลค่าสิ่งต่างๆ ได้อย่างแม่นยำ โดยดูจากเงินที่มันสร้างได้ในอนาคต เรียกว่าเทคนิค DCF
- ถ้าได้เงินเท่ากัน ได้ตอนนี้จะดีกว่าได้ในอีก 10 ปี เพราะเงินในอนาคตมีค่าน้อยกว่าเงินในปัจจุบัน
- อะไรเสี่ยงผลตอบแทนต้องสูง อะไรไม่เสี่ยงผลตอบแทนมักจะต่ำ
- หุ้นเสี่ยงสูง-ผลตอบแทนสูง พันธบัตรเสี่ยงต่ำ-ผลตอบแทนต่ำ
สุดท้าย คนที่กำลังหัดลงทุน สามารถอ่านขั้นตอนง่ายๆ ที่ผมสรุปไว้ให้แล้วได้เลยครับ
ลองอ่านวิธีลงทุน 4 สไตล์ในโลกเพื่อหาแนวทางที่เหมาะกับตัวเอง โดยวิธีที่ผมแนะนำคือการลงทุนแนวเน้นคุณค่าหรือ VI ซึ่งเป็นสไตล์ที่นิยมที่สุด คุณยังอาจเข้าไปดูเทคนิควิเคราะห์งบการเงินสำหรับมือใหม่ครับ
หรือถ้าคุณอยากหาหนังสือหุ้นมาอ่านเพิ่มเติม ผมได้ลิสต์หนังสือดีๆ ไว้ให้คุณอ่านเรียบร้อยแล้ว
เริ่มต้นลงทุนหุ้นต่างประเทศเพื่อโอกาสที่ดีกว่า
การลงทุนคือการซื้อธุรกิจที่ยอดเยี่ยม ดังนั้นการลงทุนจึงได้ผลดีที่สุดในเศรษฐกิจที่มีการเจริญเติบโต มีนวัตกรรม และมี dynamics สูง
แต่ปัจจุบันเศรษฐกิจไทยเติบโตช้าลงมาก คนไทยเกิดน้อยลง สังคมกำลังจะกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุ ใครที่มีความรู้เรื่องเศรษฐกิจจะพอรู้ว่า “มืดมน” นักลงทุนไทยจำนวนมาก โดยเฉพาะเซียนหุ้นที่เข้าใจเรื่องนี้ จึงเริ่มเลี่ยงไปลงทุนต่างประเทศกันมากขึ้น
ถ้าคุณอยากหาโอกาสที่ดีที่สุดให้ตัวเอง คุณเองก็อาจศึกษาการลงทุนต่างประเทศมากขึ้น แล้วคุณจะพบว่าโอกาสดีๆ มีอยู่มาก ผมมีบทความสอนวิธีลงทุนหุ้นอเมริกา หุ้นต่างประเทศให้คุณแล้ว (คุณจะได้หุ้นฟรีมูลค่าสูงสุด $1000 ด้วย)
สำหรับคนที่คิดว่าการลงทุนหุ้นต่างประเทศไกลตัวเกินไป อยากซื้อกองทุนให้เขาไปลงทุนหุ้นต่างประเทศแทนเรา นั่นก็เป็นทางเลือกที่ดีมากครับ แต่ก่อนหน้านั้น ผมแนะนำให้อ่าน ซื้อกองทุนต่างประเทศยังไง ให้กำไรมากขึ้น 100% ซึ่งผมเขียนไว้ให้คุณโดยเฉพาะเลยครับ
เรียนคอร์สลงทุนจาก Set หนังสือ “นักลงทุนมือหนึ่งของโลก”
บิงโกมีคอร์สสอนลงทุนที่จะคุณอาจสนใจ คอร์สนี้จะสอนคุณตั้งแต่พื้นฐานจนถึงระดับสูง มือใหม่เรียนจบก็พร้อมลงทุนจริงได้เลย
คอร์สนี้ถูกออกแบบให้พิเศษกว่าคอร์สลงทุนทั่วไป เพราะมาจากหนังสือลงทุนของเซียนหุ้นระดับโลก ทั้งวอร์เรน บัฟเฟตต์, ปีเตอร์ ลินช์, เบนจามิน เกรแฮม, ดร.นิเวศน์ และอื่นๆ จนเหมือน “นักลงทุนระดับโลกมาสอนคุณเอง” ทุกเล่มที่เราคัดมาคือหนังสือลงทุนที่ดีที่สุด ซึ่งได้รับการยอมรับจากทั่วโลกว่าเป็น “ของจริง” และจะร่นเวลาให้คุณลงทุนได้เก่งกาจอย่างรวดเร็ว
คอร์สนี้จะให้คุณมากกว่าความรู้ในหนังสือแต่ละเล่มรวมกัน เพราะเวลาคุณอ่านหนังสือเอง บางครั้งคุณอาจมองข้ามแก่นสำคัญ หรือไม่เข้าใจความคิดของคนเขียนอย่างแท้จริง แต่ผมจะนำจุดสำคัญทุกจุดมาอธิบายให้คุณอย่างครบถ้วน พร้อมยกตัวอย่างที่ใกล้ตัว เข้าใจง่าย คุณจึงมั่นใจได้ว่าจะได้รับแนวคิดการลงทุนที่ถูกต้องโดยสมบูรณ์ คุณจะได้รับ…
- วิดีโอที่อธิบายแนวคิดในหนังสือลงทุนระดับโลกอย่างละเอียด ดูซ้ำได้ตลอดชีพ พร้อม Mind Map สรุปหนังสือทุกเล่มให้คุณทบทวนทีหลังได้ง่าย
- เนื้อหาแยกเป็นพื้นฐาน กลาง สูง ให้เลือกเรียนได้ตามระดับความชำนาญ
- ความรู้ที่ครบถ้วนในการลงทุนทุกด้าน ทั้งกลยุทธ์ แนวคิด การวิเคราะห์มูลค่า การอ่านงบการเงิน จิตวิทยาการลงทุน ไปจนถึงเศรษฐศาสตร์ ซึ่งคัดมาเน้นๆ อธิบายให้เข้าใจง่าย เพื่อให้คุณเรียนรู้โดยใช้เวลาเสี้ยวเดียวของการอ่านหนังสือหรือศึกษาเอง