ถึงวินาทีนี้คงไม่มีใครไม่รู้จักอีลอน มัสก์ (Elon Musk) ด้วยชื่อเสียงจากแทบทุกวงการ ไม่ว่าจะเป็นต้นแบบ Iron Man (อีลอนไปปรากฏตัวในภาพยนตร์ Iron Man 2 ด้วย) มหาเศรษฐี เจ้าพ่อแบงกิ้งออนไลน์ (PayPal) เจ้าพ่อรถยนต์พลังงานทางเลือก (Tesla) เจ้าพ่อวิศวกรรม (SpaceX) เจ้าพ่อแห่งมีม นอกจากนี้ อีลอนยังขยายไปในอีกหลากหลายสาขาวิชา ไม่ว่าจะเป็นการก่อสร้าง (The Boring Company) พลังงานแสงอาทิตย์ (SolarCity) และอื่นๆ นับกันไม่หวาดไม่ไหวเลยทีเดียวเชียว
ในขณะที่เราๆ แค่ทำงานในมือให้เสร็จก็เหนื่อยสายตัวแทบขาด แต่อีลอนทำทั้งหมดนี้สำเร็จภายในอายุเพียง 40 หย่อนๆ เขาทำได้ยังไงกันนะ?
วิธีคิดแบบอีลอน มัสก์
หลายคนบอกว่าที่อีลอนสำเร็จได้อย่างทุกวันนี้ได้ก็เพราะวินัยในการทำงานของเขา อีลอนทำงานสัปดาห์ละ 58 ชั่วโมง เขามีวิสัยทัศน์ที่ต่างออกไป และเขาก็ยังมีความอดทนอดกลั้นสูง แต่แอดว่าสิ่งเหล่านี้ก็หาได้จากคนทั่วไป
แล้วสิ่งที่อีลอนทำต่างออกไปคืออะไรกันแน่?
ใครๆ ชอบบอกว่า ถ้าจะเป็นมือหนึ่งระดับโลก เราก็ต้องตั้งหน้าตั้งตาทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งให้สุด แต่อีลอนไม่ทำแบบนั้น อีลอนศึกษาทั้งด้านอวกาศ วิศวกรรม ฟิสิกส์ จนไปถึง AI และพลังงานทดแทน และเขาก็เก่งในทุกๆ ด้านที่ว่ามาด้วย
Orit Gadiesh ประธานบอร์ดบริหารบริษัท Bain & Company ใช้คำว่า “ผู้เชี่ยวชาญทั่วไป (Expert-Generalist)” สำหรับคนอย่างอีลอน มัสก์ ผู้เชี่ยวชาญทั่วไปจะศึกษาเกี่ยวกับเรื่องต่างๆ ในหลากหลายสาขาวิชา ทำความเข้าใจหลักการที่เกี่ยวโยงสาขาเหล่านั้นเข้าด้วยกัน และนำไปปรับใช้กับสาขาหลักของพวกเขา
และแอดเชื่อจริงๆ ค่ะว่าการเรียนรู้ในหลากหลายสาขาวิชาจะทำให้คนเราค้นพบหนทางประสบความสำเร็จได้มากกว่า
เรื่องเล่าของ “คนรู้อย่างเป็ด” (Jack of All Trades)
คุณผู้อ่านหลายคนคงคุ้นเคยกับสำนวน “รู้ทุกเรื่อง แต่รู้ไม่จริงซักเรื่อง” กันอยู่แล้ว มันหมายความว่าถ้าคุณเรียนรู้อะไรหลายๆ อย่าง คุณก็จะรู้เรื่องเหล่านั้นแต่เพียงผิวเผิน
แต่ถ้าดูจากความสำเร็จนับครั้งไม่ถ้วนของเหล่า “ผู้เชี่ยวชาญทั่วไป” แล้ว สำนวนนั้นกลับผิดมหันต์ การเรียนรู้ในหลากหลายสาขาวิชาจะทำให้คุณมีข้อมูลในสมองมากขึ้น คุณสามารถนำข้อมูลเหล่านี้ไปประยุกต์ใช้ในด้านต่างๆ มากกว่าคนทั่วไปที่สนใจแค่เรื่องตรงหน้าอย่างเดียว
ยกตัวอย่าง ถ้าคุณทำงานอยู่ในวงการเทคโนโลยี ที่ทุกคนต่างหมกมุ่นกับการเขียนโปรแกรมอย่างเดียว แต่คุณกลับมีความรู้ด้านชีววิทยาติดตัวด้วย คุณอาจจะนำการเขียนโปรแกรมไปช่วยแก้ปัญหาในชีววิทยาได้ด้วย คุณจะมีมุมมองการแก้ปัญหาที่กว้างกว่าคนที่ไม่เอาอะไรนอกจากชีวะๆ แค่นั้น
แต่คนส่วนใหญ่ก็ยังวนเวียนอยู่แต่ในสาขาวิชาของตัวเอง
ในผลงานการวิจัยชิ้นนึงของ Dean Keith Simonton บ่งชี้ว่า นักแต่งเพลงโอเปร่าในยุค 90 นั้น “ประสบความสำเร็จในการแต่งเพลง ‘โอเปร่า’ มากกว่า ถ้าในเพลงนั้นมีการผสมผสานดนตรีแนวอื่นด้วย … และนักแต่งเพลงหลีกเลี่ยงการฝึกซ้อมมากเกินไปได้ด้วยการฝึกซ้อมดนตรีแนวอื่น” ซึ่งสวนทางกับความเชื่อที่ว่า “คนเก่งคือคนที่ฝึกซ้อมในสาขานั้นๆ อย่างหนักและรู้เชี่ยวชาญในเรื่องนั้นเป็นอย่างมาก”
พลังแห่ง “การเรียนรู้ด้วยการถ่ายโอน” ของอีลอน มัสก์
คิมบาล มัสก์ น้องชายของอีลอน บอกว่าอีลอนตอนวัยรุ่นอ่านหนังสือวันละ 2 เล่ม หลากหลายประเภทไม่ซ้ำกัน ว่าง่ายๆ คือถ้าคุณอ่านหนังสือเดือนละเล่ม ก็เท่ากับอีลอนอ่านจบไปแล้วมากกว่า 60 เล่ม
ในช่วงแรก อีลอนเน้นอ่านนิยายไซไฟ ปรัชญา ศาสนา การเขียนโปรแกรม และชีวประวัติของเหล่านักวิทยาศาสตร์ วิศวกร และนักลงทุนชื่อดัง พอเขาโตขึ้น เขาก็เริ่มหันไปสนใจเกี่ยวกับฟิสิกส์ วิศวกรรม การออกแบบผลิตภัณฑ์ ธุรกิจ เทคโนโลยี และพลังงาน ความกระหายความรู้นี้เองที่ช่วยให้เขาได้เปรียบด้านข้อมูลและคิดต่างไปจากเด็กๆ คนอื่นในโรงเรียน
นอกจากนี้แล้ว อีลอน มัสก์ ยังมีวิธีเรียนรู้ที่เป็นเอกลักษณ์อีกอย่างที่คนอื่นไม่ค่อยรู้ด้วย นั่นก็คือ “การเรียนรู้ด้วยการถ่ายโอน”
การเรียนรู้ด้วยการถ่ายโอน คือการเรียนรู้เรื่องหนึ่งเพื่อนำไปใช้กับอีกเรื่อง เป็นการจับสิ่งที่เราเรียนในห้องเรียนหรืออ่านมาจากหนังสือ แล้วนำไปปรับใช้กับ “โลกแห่งความเป็นจริง” หรืออาจจะเป็นการเอาความรู้จากในแวดวงวิทยาศาสตร์ ไปใช้ในวงการธุรกิจก็อาจได้อีกเช่นกันค่ะ
อีลอนแบ่งขั้นตอนการ “เรียนรู้ด้วยการถ่ายโอน” ออกเป็น 2 ขั้นตอนด้วยกัน ได้แก่
- “ชำแหละ” สิ่งที่เรียนรู้มาออกจนเหลือเพียงแก่น
คุณต้องมองว่าความรู้เป็น “ต้นไม้แห่งความหมาย” ซึ่งหมายความว่า คุณต้องเข้าใจหลักการพื้นฐาน (ลำต้น) ก่อน แล้วจึงค่อยขยับขยายไปที่รายละเอียด (กิ่ง ก้าน ใบ) ของเรื่องนั้นๆ กิ่งก้านสาขา ใบไม้ คงอยู่ไม่ได้ถ้าไม่มีลำต้นของมันใช่มั้ยล่ะคะ
งานวิจัยชิ้นหนึ่งชี้ว่า การเปลี่ยนความรู้ของคุณให้มีความเป็นนามธรรมมากขึ้น จะช่วยให้ “การเรียนรู้ด้วยการถ่ายโอน” เป็นไปได้อย่างราบรื่นมากกว่า และยังมีเทคนิคอีกอย่างที่จะทำให้คุณค้นหาหลักการพื้นฐานได้อย่างมีประสิทธิภาพ มันมีชื่อเรียกว่า “กรณีตรงข้าม”
ดูจากรูปด้านบนแล้ว คุณผู้อ่านคิดว่าแนวคิดไหนใช้ได้ผลมากกว่ากันคะ?
ถ้าใครตอบว่า แนวคิดที่ 1 ก็ถูกต้องแล้วค่ะ ตัว A แต่ละตัวในรูปที่ 1 นั้นทำให้เรารู้ว่าพวกมันแตกต่างกันยังไง หรือมีตัวไหนที่คล้ายกันบ้าง แต่ในแนวคิดที่ 2 ตัว A เหมือนกันไปหมด
หลังจากที่เราได้ศึกษากรณีที่แตกต่างกันมากๆ เข้า เราก็จะรู้เริ่มรู้แล้วว่าสิ่งไหนสำคัญ และแม้แต่ผนวกความรู้นั้นจนกระทั่งสร้างสรรค์ผลงานของตัวเองได้ในที่สุด
ความรู้นี้มีประโยชน์อย่างไรในชีวิตประจำวันของเรา?
มันบอกให้เรารู้ว่าหากเราได้โอกาสเข้าไปเรียนรู้เกี่ยวกับสาขาวิชาใหม่ๆ เราไม่ควรตั้งหน้าตั้งตาศึกษาในเรื่องนั้นๆ เพียงอย่างเดียว เราควรค้นคว้าในหลายๆ สาขาวิชา ชำแหละมัน เปรียบเทียบ และปรับปรุง นี่จะช่วยให้เราหา “แก่น” อย่างง่ายดาย
2. “ปรับปรุง” แก่นที่ได้มาจากข้อ 1 ให้เป็นในแบบของตัวเอง และนำไปปรับใช้กับแต่ละสาขาวิชา
ยกตัวอย่างในกรณีของอีลอน:
- อีลอนเรียนรู้เรื่องอวกาศเพื่อสร้าง SpaceX
- อีลอนเรียนรู้เรื่องยานยนต์เพื่อสร้าง Tesla ที่มีจุดเด่นคือระบบขับเคลื่อนด้วยตัวเอง
- อีลอนเรียนรู้เรื่องรถไฟเพื่อศึกษาเกี่ยวกับ Hyperloop ให้ลึกยิ่งขึ้น
- อีลอนเรียนรู้เรื่องการบินเพื่อศึกษาเกี่ยวกับเครื่องบินไฟฟ้าที่บินขึ้นและจอดลงในแนวดิ่ง
- อีลอนเรียนรู้เรื่องเทคโนโลยีเพื่อทำความเข้าใจการทำงานในสมองของมนุษย์
- อีลอนเรียนรู้เรื่องเทคโนโลยีเพื่อสร้าง PayPal
- อีลอนเรียนรู้เรื่องเทคโนโลยีเพื่อสร้าง OpenAI บริษัทไม่หวังผลกำไรที่มุ่งหวังพัฒนา AI ที่ปลอดภัยกับมนุษย์
Keith Holyoak ศาสตราจารย์จาก UCLA ด้านจิตวิทยา และหนึ่งในนักคิดที่โด่งดังที่สุดในโลก แนะนำให้เราตั้งคำถาม 2 ข้อต่อไปนี้ เพื่อขัดเกลาความรู้ความสามารถเราให้เฉียบคมยิ่งขึ้น
- “สิ่งนี้ทำให้ฉันนึกถึงอะไร?”
- “ทำไมมันทำให้ฉันนึกถึงสิ่งนี้?”
เมื่อไหร่ก็ตามที่คุณกำลังอ่านหนังสือ หรือมองดูสิ่งต่างๆ รอบตัว การถาม 2 คำถามนี้จะทำให้คุณได้คิด เพิ่มรอยหยักในสมอง และหาความเชื่อมโยงของสิ่งต่างๆ ได้
ทีนี้เราก็ได้ข้อสรุปแล้วว่าอีลอน มัสก์ ได้กลายเป็น “ผู้เชี่ยวชาญทั่วไป” ระดับโลกได้อย่างไร:
- อีลอนอ่านหนังสือมากกว่าพวกเรา 60 เท่า
- อีลอนไม่ได้อ่านหนังสือแค่แนวเดียว แต่หลากหลาย
- อีลอน “ชำแหละ” ความรู้ที่ได้มาออกให้เหลือเพียงแก่น และนำไปปรับใช้ในแต่ละสาขาวิชาตามที่เขาต้องการ
ผู้เชี่ยวชาญทั่วไประดับพระกาฬนามว่า Buckminster Fuller ได้บอกเอาไว้ว่า
เราอยู่ในยุคที่ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านเป็นสิ่งที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวางและใครๆ ก็ดูจะอยากเป็น “ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน” (Specialist) กันทั้งนั้น แต่ในความเป็นจริงแล้ว สังคมเรากลับโหยหาผู้ที่มีความรู้รอบด้าน ความเชี่ยวชาญนั้นเต็มไปด้วยขอบเขตจำกัด และอคติ เพราะแต่ละคนล้วนเห็นต่างกัน ซึ่งท้ายที่สุดอาจนำไปสู่ความขัดแย้งและสงคราม
การทำความเข้าใจว่าคนอย่างอีลอน มัสก์ ได้ซูเปอร์พาวเวอร์แห่งการเรียนรู้มาจากไหน ช่วยให้เราได้เห็นว่าเขาก้าวเข้าไปสู่วงการที่อยู่มาเนิ่นนานกว่า 100 ปี และพลิกโฉมหน้ามันไปตลอดกาลได้อย่างไร
อีลอน มัสก์ อาจเป็นคนเก่งที่หาตัวจับยาก แต่ความสามารถของเขาก็ไม่ได้เสกขึ้นมาจากเวทมนต์ที่ไหนหรอกค่ะ มันเกิดขึ้นจากความมุมานะล้วนๆ
บทความเกี่ยวข้องที่น่าสนใจ
- รู้จักอีลอน มัสก์ กันไปแล้ว แล้วสตีฟ จอบส์ ล่ะ คุณรู้จักเขามากแค่ไหน? หนังสือ Steve Jobs จะพาคุณไปทำความรู้จักกับอัจฉริยะผู้เปลี่ยนโลก สตีฟ จอบส์ แบบละเอียดยิบ ทั้งวิธีการหาไอเดีย วิธีการทำงาน และช่วงเวลาอันทุลักทุเลก่อนที่เราจะได้ผลิตภัณฑ์แอปเปิ้ลอันโด่งดังมาไว้ในมือ
- วิธีการทำงานแบบอีลอน มัสก์ เป็นเพียงวิธีการหนึ่งในหลายๆ วิธีที่บุคคลที่ประสบความสำเร็จใช้กัน อีกวิธีคือ “คิดแบบมาร์ค” หนังสือ Think Like Zuck จะพาคุณไปพบกับเบื้องหลังไอเดียการสร้างผลิตภัณฑ์และวิธีการทำงานในแบบฉบับของมาร์ค ตั้งแต่ก่อนก่อตั้งเฟซบุ๊ก ไล่มาจนถึงวันที่เขายืนอยู่บนจุดสูงสุด
- ได้รู้แล้วว่ามาร์ค ซัค คิดแบบไหนในเรื่องการทำธุรกิจ แต่สมองของอัจฉริยะไม่หยุดอยู่แค่เรื่องเดียว ในบทความ 3 สิ่งที่ Mark Zuckerberg อยากบอกกับคนเจน Z ในวันรับปริญญา มาร์คจะบอกคุณผู้อ่าน โดยเฉพาะน้องๆ ที่จบใหม่ ให้รู้ว่าต้องเดินทางไหนต่อเพื่ออนาคตที่ดีกว่า
- ได้รู้เรื่องราวหลังเรียนจบแล้ว เรื่องธุรกิจเต็มตัวแล้ว หนังสือ Becoming Facebook ยังเสริมถึงรายละเอียดการทำงานของทีมงานเฟซบุ๊ก ว่าพวกเขาฝ่าฟันกันมายังไงถึงทำให้โซเชียลที่มีผู้ใช้มากที่สุดในโลกทั้งน่าดึงดูดและมีเสถียรภาพขนาดนั้นได้? ความเป็นผู้นำของมาร์คดีขนาดนั้นจริงเหรอ? ตามไปอ่านสรุปกันก่อนแล้วค่อยตัดสินใจซื้อเล่มเต็มก็ยังไม่สายค่ะ ^^ (ลิงก์หนังสือด้านล่าง)
หนังสือแนะนำเพิ่มเติมจากสำนักพิมพ์บิงโก
- ไม่ใช่ทุกคนที่จะสร้างสตาร์ทอัพได้อย่างอีลอน มัสก์ โรงเรียนสอนสตาร์ทอัพจึงถือกำเนิดขึ้นมา หนังสือ THE LAUNCH PAD ขโมยวิธีคิดสุดเจ๋ง จากสุดยอดโรงเรียนสอนสตาร์ทอัพ จะทำให้คุณวางไม่ลงด้วยเนื้อหาเจาะลึกโรงเรียนสอนสตาร์ทอัพอันดับ 1 แห่งซิลิคอนวัลเลย์ที่ทำให้ Airbnb, Twitch, Dropbox และผลิตภัณฑ์ชั้นนำอื่นๆ ต่างก็ฮิตติดตลาด หรือแม้แต่เปลี่ยนวิธีการใช้ชีวิตของผู้คนแห่งศตวรรษที่ 21 มานักต่อนักแล้ว
- อีลอน มัสก์ อาจจะเป็นเจ้าพ่อวงการเทคที่โด่งดัง แต่เราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเจ้าของเฟซบุ๊ก หรือมาร์ค ซักเคอร์เบิร์ก นั้นมีอิทธิพลกับชีวิตของเรามากกว่า Becoming Facebook คิดแบบมาร์ค ทำแบบเฟซบุ๊ก เป็นหนังสือที่ขุดคุ้ยเบื้องหลังการทำงานของมาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก และทีมงานเฟซบุ๊กได้ถึงกึ๋น เนื้อหาในเล่มมีความพิเศษและไม่เคยได้รับการเปิดเผยที่ไหนมาก่อนด้วยฝีมือการเขียนของอดีตนักการตลาดจากเฟซบุ๊กเอง
Pingback: The Secret Life of Elon Musk บุรุษผู้เปลี่ยนนิยายวิทยาศาสตร์ให้เป็นความจริง
เพราะฉันไม้เข้าใจทำตัวอย่าวไห้ฉันเู