ปฏิเสธไม่ได้ว่าทุกวันนี้คนเยอรมันมีอำนาจและอิทธิพลสูงมากในโลก นอกจากนี้ เยอรมนียังเป็นประเทศที่สวยงาม น่าอยู่ คนจำนวนไม่น้อยได้อาศัยอยู่ในเยอรมนีแล้วจึงติดใจไม่อยากกลับ
ความลับของชาวเยอรมันคืออะไร? ทำไมพวกเขาจึงสร้างชาติที่ยิ่งใหญ่ขึ้นมาได้ ทั้งที่ขนาดประเทศก็ไม่ได้ใหญ่กว่าประเทศไทย?
วันนี้เราจะมาสำรวจแนวคิดของคนเยอรมันกันอย่างเจาะลึก ว่าคนเยอรมันและคนไทยมี “วิธีคิด” ต่างกันอย่างไร โดยเนื้อหาอันน่าตื่นเต้นนี้ผมหยิบมาจากหนังสือ “คิดแบบเยอรมัน ทำแบบญี่ปุน” แล้วผมนำเรื่องราวของคนเยอรมันมาเทียบกับคนไทย
คนเยอรมันมีวิธีทำงานและใช้ชีวิตที่พิเศษอย่างไร? เรามาดูความมหัศจรรย์กันเลย
คนเยอรมันเลือกทางเดินชีวิตตั้งแต่ 10 ขวบ
คุณอาจเคยมีคำถามว่า “ทำไมคนเยอรมันชอบพึ่งพาตัวเอง?”
คำตอบก็คือ มันเป็นผลจากการศึกษา
เด็กเยอรมันอายุแค่ 13 ปีก็ถูกสอนให้โต้วาทีเรื่องยากๆ เช่น “คุณเห็นด้วยกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์หรือไม่?” ในขณะที่คนไทยจะได้เขียนเรียงความเรื่องวัฒนธรรมไทยอันสวยงามหนึ่งหน้าครึ่ง คนเยอรมันจึงได้ฝึกฝนทักษะคิดวิเคราะห์มากกว่าคนไทยตั้งแต่เด็ก
จริงๆ แล้วคนเยอรมันเลือกทางเดินชีวิตตั้งแต่ 10 ขวบ เด็กเยอรมันเข้าโรงเรียนประถมศึกษาตอนอายุ 6 ขวบ หลังจากนั้นพอขึ้นป.5 พวกเขาต้องเลือกสถานศึกษาต่อจาก 3 ตัวเลือก
- โรงเรียนที่เน้นวิชาการเพื่อเตรียมเข้ามหาวิทยาลัย
- โรงเรียนที่เน้นการปฏิบัติเพื่อเตรียมเข้าวิทยาลัยเทคนิค
- โรงเรียนที่เน้นการฝึกอาชีพต่างๆ เพื่อเป็นช่างฝีมือหรือพนักงานโรงงาน
โรงเรียนแต่ละประชนิดจะเรียนไม่เหมือนกัน โรงเรียนที่เน้นวิชาการเรียนถึงอายุ 19 ปี โรงเรียนที่เน้นการปฏิบัติเรียนถึงอายุ 16 ปี และโรงเรียนที่เน้นการฝึกอาชีพต่างๆ เรียนถึงอายุ 15 ปี
คนเยอรมันเริ่มชีวิตการทำงานตั้งแต่อายุ 16-17 ปี คนไทยตอนอายุเท่านี้เพิ่งจะเรียนชั้นมัธยมปลายเท่านั้น
ในทางกลับกัน ไทยเราแบ่งเด็กเป็น “สายวิทย์” กับ “สายศิลป์” แต่ถ้าใครเรียนวิทย์ไม่ได้ก็จะถูกมองเป็นเด็กหัวอ่อน เราเชิดชูเด็กที่เรียนเก่ง แต่ทิ้งคนที่ไม่ได้ถนัดทำข้อสอบไว้ข้างหลัง คนที่เรียนเก่งจึงได้รับการปฏิบัติเยี่ยงผู้ชนะ ส่วนที่เหลือก็จะกลายเป็นผู้แพ้
พอเข้ามหาวิทยาลัย คนไทยจะแห่สมัครเข้าคณะ “ที่ดีที่สุดตามค่านิยม” เช่นแพทย์ วิศวะ หรือไม่อย่างนั้นก็ “เรียนอะไรก็ได้” เราจะได้ยินบ่อยๆ ว่ามีคนยอมเรียนซ้ำชั้นหลายปีเพื่อย้ายคณะ เพราะเพิ่งมาค้นพบทีหลังว่าชอบอะไร
ในขณะที่คนไทยหลายคนยังไม่รู้ว่าตัวเองชอบอะไร แม้จะทำงานมาเนิ่นนานแล้ว
วิธีใช้เงินของคนไทยกับคนเยอรมัน
เยอรมนีเป็นประเทศอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ภาพลักษณ์ของคนเยอรมันคือเรียบง่ายและมัธยัสถ์ พวกเขาชอบใช้ของไปนานๆ มากกว่าซื้อใหม่ไปเรื่อยๆ คนเยอรมันจึงทุ่มเงินซื้อบ้าน รถ และเครื่องใช้ไฟฟ้า แล้วใช้งานอย่างทะนุถนอมเป็นเวลาหลายสิบปี
เวลาไปเยี่ยมบ้านของคนเยอรมัน คุณจะไม่เจอข้าวของรกรุงรัง พวกเขาจัดบ้านให้เป็นระเบียบเรียบร้อยอยู่เสมอและไม่เก็บสะสมของเกินความจำเป็น บ้านคนเยอรมันจะไม่มี “ห้องรกๆ” เลย
อีกเรื่องหนึ่งคือ คนเยอรมันเป็นคนกินง่าย พวกเขาทุ่มเงินซื้อบ้าน แต่ไม่ค่อยใช้เงินกับเรื่องแฟชั่นและของกิน พวกเขากินอาหารเย็นที่เย็นชืดเป็นเรื่องปกติ ขอแค่มีขนมปัง ชีส และแฮมก็พอแล้ว
คนไทยสนใจเสมอว่าวันนี้คนรอบข้างใส่เสื้อผ้าสีอะไร แบรนด์อะไร ไปจนยี่ห้อรองเท้าและรถยนต์ที่ขับ เราให้ความสำคัญกับแฟชั่นมาก และบางครั้งตัดสินคนกันที่ตรงนี้ทีเดียว เรายอมจ่ายเงินหลักร้อยหรือหลักพันเพื่อทานข้าวนอกบ้าน ในขณะที่คนเยอรมันเป็นคนเรียบง่ายโดยธรรมชาติอยู่แล้ว พวกเขาเลยไม่พยายามอะไร
คนเยอรมันนิยมแบรนด์แฟชั่นเรียบง่ายอย่างมูจิและยูนิโคล่ พวกเขาชอบเสื้อผ้าเรียบง่าย ใช้งานได้จริง ราคาถูก และคุณภาพดี แต่พวกเขาไม่ใช่คนขี้เหนียว แค่แยกแยะเรื่องที่ “ควรใช้เงิน” และ “ไม่ควรใช้เงิน” ออกจากกันอย่างชัดเจน คนเยอรมันชอบไปเที่ยวต่างประเทศกับครอบครัวช่วงพักร้อน โดยไม่รู้สึกเสียดายเงิน ส่วนคนไทยใช้เงินกับเครื่องแต่งกาย อาหาร และที่อยู่อาศัย ซึ่งแตกต่างจากคนเยอรมันมาก
คนไทยพยายามหาทางซื้อของราคา 100 บาทในราคา 80 บาท ส่วนคนเยอรมันจะไม่ซื้อของราคา 100 บาท พวกเขาจะเลือกซื้อของดีๆ ในราคา 120 บาท เพราะเขาอยากซื้อของใช้ที่ทนทาน จะได้ใช้ของชิ้นเดิมไปนานๆ ไม่ต้องซื้อใหม่ทุกปี
อย่าเอาชีวิตไปเกาะติดกับที่ทำงาน
บนโต๊ะทำงานของหัวหน้าคุณซุมิตะ คัง ที่บริษัทเมทซเลอร์จะมีหินทับกระดาษวางอยู่ วันหนึ่งเขาถามซุมิตะว่า “คุณซุมิตะ คุณรู้ความหมายของคำว่า “Carpe diem” (คา-เพ-เดียม) ที่สลักบนหินไหม?”
ซุมิตะตอบว่าไม่เข้าใจ เขาจึงเฉลยว่าคำนี้เป็นภาษาละติน ซึ่งปรากฏในบทกวีของฮอเรซ กวีโรมันโบราณก่อนคริสตกาล
หมายความว่า “จงคว้าวันนี้ไว้”
“จงคว้าวันนี้ไว้” หมายความว่าจงให้ความสำคัญกับตอนนี้และจงสนุกกับปัจจุบัน
เพลง Mit 66 Jahren ของอูโด้ เยอร์เกนส์ นักร้องชายยอดนิยมในเยอรมนีมีเนื้อร้องท่อนหนึ่งบอกว่า “ชีวิตเริ่มต้นเมื่ออายุ 66 ปี ชีวิตเริ่มสนุกตั้งแต่อายุ 66 ปี” คนเยอรมันจะเข้าสู่วัยเกษียณในช่วงอายุ 60-65 ปี แต่จริงๆ แล้วแทบไม่มีใครทำงานจนเกษียณเลย คนเยอรมันจะค้นหาทางเดินชีวิตตัวเองก่อนเกษียณและเริ่มออกเดินทางท่องเที่ยว
บางคนสนุกกับงานอดิเรก บางคนมุ่งมั่นกับงานจิตอาสา บางคนเปลี่ยนไปทำงานบริษัทอื่น และบางคนเริ่มทำธุรกิจส่วนตัว ระบบบำนาญของเยอรมนีเพียบพร้อมกว่าไทย คนเยอรมันจึงเลือกทางเดินชีวิตเส้นที่ 2 หรือ 3 ได้อย่างสบาย
คนไทยมักใช้ชีวิตอยู่ในกรอบ มีน้อยคนที่จะใช้ชีวิตได้เต็มที่จริงๆ พอถึงเวลาที่ชีวิตต้องเปลี่ยนกะทันหัน คนจำนวนไม่น้อยจึงยังค้นหาความหมายของชีวิตไม่เจอ คนไทยจะเปลี่ยนงานตอนอายุ 35 ปีขึ้นไปเป็นเรื่องยาก ทั้งที่ในเยอรมนีอายุและเพศไม่มีผลกับการทำงาน เพราะสิ่งสำคัญคือ “ประสบการณ์” คนคนนั้นเคยทำอะไรมาบ้างและทำอะไรเป็นบ้าง จริงอยู่ที่งานบางอย่าง เช่น โปรแกรมเมอร์ อาจจะเหมาะกับคนหนุ่มสาวมากกว่า แต่งานส่วนใหญ่แล้วอายุไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องอยู่แล้ว
ถ้าเราสร้างเส้นทางให้ชีวิตมีความสุขขึ้นได้ เราก็จะพึ่งพาตัวเองได้ ดีกว่ามานั่งถอนใจตอนอายุ 60 พร้อมกับบ่นพึมพำว่า “ฉันต้องทำงานหนักมาตั้งนาน เมื่อไรชีวิตจะมีความสุขสักทีเนี่ย”
ไม่ใช้คำว่า “ด่วนที่สุด”
คำพูดว่า “ขอด่วนที่สุดเลยนะ” คือตัวอย่างหนึ่งของการสื่อสารที่ไปลด Productivity ผมได้ยินคนไทยพูดคำนี้บ่อยมาก
หัวหน้าใช้คำว่า “ด่วนที่สุด” โดยคิดไว้ว่า “ต้องได้พรุ่งนี้” อยู่ในใจ แต่ถ้าคุณไม่ระบุเวลาไปชัดเจน คนฟังก็อาจคิดว่า “อีก 3 วันก็ได้มั้ง” แล้วพอวันรุ่งขึ้น หัวหน้าก็ถามลูกทีมอย่างโมโหว่า “ทำไมยังไม่เสร็จ”
คนเยอรมันจะไม่บอกว่า “ด่วน” แต่ระบุเวลาไปเลยว่า “พี่ขอภายใน…นะ” เพื่อให้สื่อสารได้ชัดเจน คนฟังไม่ต้องคาดเดาเอาเองว่า “ด่วนคือเมื่อไร” เพราะถ้าลูกทีมรีบร้อนทำงานที่รอได้ ความประณีตของงานก็จะลดลงและอาจถึงขั้นต้องทำใหม่
คนที่เดือดร้อนจากคำพูดคลุมเครือว่า “ด่วนที่สุด” ไม่ใช่ฝ่ายที่พูดคำนี้ แต่กลับเป็นฝ่ายที่เดาใจคนพูดไม่ถูก ลูกทีมต้องแบกรับความกดดันเงียบๆ เพราะเขาถูกคาดหวังว่าต้องรู้ใจหัวหน้าว่าอยากได้อะไร แต่วิธีนี้คือการสื่อสารที่ไร้ประสิทธิภาพแถมยังสร้างภาระให้อีกฝ่ายด้วย
เวลาคุณซุมิตะ คัง ผู้เขียนหนังสือ “คิดแบบเยอรมัน ทำแบบญี่ปุน” สั่งงานคนเยอรมัน ถ้าเป็นงานด่วนพิเศษ เขาจะพูดอย่างชัดเจนว่า “ผมรีบใช้ ขอโทษนะ คุณช่วยทำให้เสร็จภายในพรุ่งนี้เช้าได้ไหม?”
ถ้าพวกเขาทำได้ก็จะตอบว่า “ได้” แต่ถ้าทำไม่ได้ก็จะตอบชัดเจนว่า “ทำไม่ได้”
ถ้าอีกฝ่ายถามกลับมาว่า “ทำไมต้องใช้วันพรุ่งนี้” เขาก็จะอธิบายว่าทำไมต้องรีบใช้เวลานี้ งานนี้สำคัญมากแค่ไหน ลูกค้าต้องใช้หรือไม่ และถ้าทำไม่ทันจะเกิดอะไรขึ้น
คนเยอรมันไม่ชอบทำงานเปล่าประโยชน์ ดังนั้นถ้าคุณไม่อธิบายเหตุผลที่ต้องทำงานนั้นให้เสร็จภายในพรุ่งนี้เช้า พวกเขาจะไม่ยอมทำ
คำถามติดปากของคนเยอรมันคือ “Ist es sinnvolls?” แปลเป็นไทยว่า “เรื่องนั้นสมเหตุสมผลไหม?” เบื้องหลังของคำถามนี้มาจากแนวคิดที่ว่า งานควรจะเกิดขึ้นหลังจากทุกฝ่ายมีวัตถุประสงค์ร่วมกัน ถ้าคนไทยถามผู้ใหญ่ไปว่า “งานนี้สมเหตุสมผลไหม?” คนนั้นจะถูกมองว่าเป็นคนไม่รู้จักกาลเทศะทันที
บริษัทยุโรปจ้างพนักงานหลากหลายเชื้อชาติเป็นเรื่องปกติ พวกเขาคิดว่าถ้าไม่อธิบายให้ชัดเจน อีกฝ่ายจะไม่เข้าใจ
อีกเหตุผลหนึ่งก็คือ คนไทยไม่ค่อยยอมรับความคิดเห็นที่ต่างกับตัวเอง ทำนองว่า “คิดแบบนี้กันได้อย่างไร”
คนเยอรมันจะมองว่า แม้จะเป็นพนักงานบริษัทเดียวกัน หรือเป็นคนไทยเหมือนกัน แต่ละคนก็มีความคิดเห็นเป็นของตัวเอง ดังนั้นเวลาเจอคนที่มีความคิดเห็นต่าง เราก็ต้องพูดความคิดเห็นของตัวเองออกไปว่า “ฉันคิดแบบนี้” เพื่อรับฟังความคิดเห็นของอีกฝ่ายด้วยความเคารพ หาข้อแตกต่าง ปรับตัวเข้าหากัน และหาทางประนีประนอม
เมื่อทำผิดต้องคิดว่า “ต่อไปจะทำอย่างไร?”
สมัยที่คุณซุมิตะทำงานในธนาคารโตเกียว สาขาเยอรมนี ลูกทีมหญิงชาวเยอรมันบอกว่างานมีปัญหา เพราะเธอทำผิดพลาด เธอติดต่อลูกค้ารายหนึ่งโดยไม่ได้แลกเปลี่ยนเอกสารที่กำหนดไว้ตามระเบียบ
พอได้ยินดังนั้น คุณซุมิตะจึงตอกกลับไปว่า “ทำไมคุณถึงทำแบบนั้น?”
เธอสวนกลับทันทีว่า “คุณซุมิตะ งานของคุณไม่ใช่การถามฉันว่าทำไม แต่เป็นการหาทางแก้ปัญหาให้ดีที่สุด”
ขณะที่ผมคิดว่า “ทำผิดแล้วยังมีหน้ามาพูดแบบนี้อีก”
เธอก็พูดต่อว่า “คุณซุมิตะ ฉันขอพูดอีกอย่างนะคะ ถ้าฉันไม่รายงาน คุณก็คงไม่รู้ว่าฉันทำผิดระเบียบ ความจริงคุณควรจะขอบคุณฉันด้วยซ้ำ”
ฟังแล้วคุณซุมิตะอึ้งไปชั่วขณะ แวบแรกเขาคิดว่า “ทำไมเธอถึงหน้าไม่อายแบบนี้” แต่สิ่งที่เธอพูดก็มีเหตุผลจริงๆ เหตุการณ์นี้เป็นบทเรียนที่ดีมาก เวลาเกิดเรื่องผิดพลาด ถ้าเราไม่ขอบคุณคนที่มารายงานจะไม่มีใครกล้ารายงานเรื่องไม่ดี สิ่งที่ควรทำคือ ขอบคุณ คิดหาวิธีแก้ปัญหา และดำเนินการแก้ไข จากนั้นค่อยมาพูดคุยและวิเคราะห์กันว่า “ทำไมถึงเกิดข้อผิดพลาดแบบนี้”
วิธีนี้ไม่ใช่การเลี่ยงความรับผิดชอบ แต่เป็นแนวคิดที่มีเหตุผลและช่วยกู้สถานการณ์ได้ง่ายกว่าด้วย
ถ้าคนเยอรมันทำผิดพลาด หัวหน้าจะไม่ตำหนิหรือหาคนผิด เขาจะไม่ถามลูกทีมว่า “ทำไมถึงทำผิด” แต่จะคิดหาทางว่า “ต้องแก้ปัญหาอย่างไร” ส่วนคนไทยจะพยายามหาคนผิดมาลงโทษก่อน แทนที่จะหาวิธีรับมือ
ถ้าเรามัวแต่คิดหาคนผิด มันจะกลายเป็นการทวงถามความรับผิดชอบหรือการวิพากษ์วิจารณ์ แรงจูงใจในการทำงานก็จะลดลง เมื่อโทษว่าเป็นความผิดส่วนบุคคล ต่อไปลูกทีมจะไม่กล้าตัดสินใจเอง เพราะกลัวความผิดพลาด
ภาษาเยอรมันและภาษาอังกฤษไม่มีคำไหนที่ใกล้เคียงกับคำว่า “คิดทบทวน” ในภาษาไทย เพราะเมื่อคนเยอรมันทำผิด พวกเขาจะคิดว่า “ต่อไปควรทำอย่างไร” คนเยอรมันจึงไม่เข้าใจการคิดทบทวนแบบคนไทยว่า “ฉันจะไม่ทำผิดแบบนี้อีก”
เรื่องนี้ก็เหมือนกับการแข่งเทนนิส นักกีฬาเทนนิสถึงจะเสียคะแนน แต่เขาจะไม่กังวลใจเรื่องความผิดพลาดหรือคะแนนที่เสียไป ถ้าเขาไม่มีสมาธิ เขาจะเสียคะแนนมากขึ้น เขาจะคิดแค่ว่า “ต้องเอาชนะให้ได้” ก็พอ
คนเยอรมันก็คิดถึงสาเหตุของความผิดพลาดเช่นกัน แต่พวกเขาไม่ได้มองหาคนผิดเหมือนคนไทย พวกเขาคิดอย่างมีเหตุผล แม้ทำผิดกฎระเบียบไปบ้าง อย่างหญิงเยอรมันที่ผมกล่าวถึงตอนต้น แต่ถ้าการกระทำนั้นมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ก็ยอมรับได้
กฎระเบียบเป็นสิ่งที่ต้องรักษา แต่ถ้ากฎระเบียบไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงและใช้ไม่ได้ผล ก็ถึงเวลาที่จะต้องปรับเปลี่ยนกฎอย่างเอาจริงเอาจัง คนไทยไม่ชอบคิดนอกกรอบ เราชอบทำตามสิ่งที่ทำกันมาโดยไม่ตั้งคำถาม แต่คนเยอรมันจะไม่คิดแบบนั้น พวกเขายืดหยุ่นกว่า และยอมรับคนที่คิดนอกกรอบ
ไม่ประชุมแบบตัดสินใจไม่ได้
คุณรู้สาเหตุที่ทำให้การประชุมไร้ประโยชน์ไหมครับ?
คนไทยชอบประชุมแบบไร้ประโยชน์ เพราะมันทำให้เรารู้สึกว่า “ฉันกำลังทำงาน” แค่ทุกคนมาคุยกันในห้องประชุม ทุกคนก็รู้สึกว่ากำลังทำงาน แม้จะไม่ได้ข้อสรุปก็ตาม
คนเยอรมันประชุมน้อยมากจนน่าแปลกใจ พวกเขาอาจประชุมแบบคุยกันไม่กี่คนทำนองว่า “ขอเวลาสัก 5 นาทีได้ไหม” บ่อยๆ แต่ถ้าประชุมกันอย่างเป็นทางการจะมีน้อยมาก แถมเนื้อหาการประชุมยังแตกต่างจากไทยโดยสิ้นเชิง
บริษัทเยอรมันจะมีเป้าหมายในการประชุมอย่างชัดเจน เช่น เมื่อมีโครงการใหม่ พวกเขาจะจัดประชุมแยกกันระหว่าง “ประชุมเรื่องที่ต้องตัดสินใจ” กับ “ประชุมเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล”
การประชุมเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลจะจัดสัปดาห์ละ 2 ครั้ง แต่พนักงานจะเข้าหรือไม่เข้าก็ได้ สิ่งแรกที่จะเกิดในที่ประชุมคือ “การอธิบายว่าในวงการเกิดเรื่องแบบนี้ขึ้นนะ” ถ้าใครมีคำถามก็จะถาม ส่วนคนที่มีความคิดเห็นก็พูดได้ตามใจชอบว่า “ฉันคิดแบบนี้” “ผมได้ยินมาแบบนี้” โดยไม่ต้องมีใครคุม เมื่อทุกคนพูดครบแล้วบรรยากาศจะกลับสู่ความเงียบสงบ การประชุมจะสิ้นสุดลง คนที่เข้าประชุมจะได้รับข้อมูลที่จำเป็นในเวลาสั้นๆ ซึ่งเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพมาก
ส่วนการประชุมเรื่องที่ต้องตัดสินใจ ผู้บริหารจะไม่พูดฝ่ายเดียวและพนักงานหนุ่มสาวก็ไม่ได้นั่งฟังเงียบๆ กฎเหล็กก็คือเมื่อทุกคนเข้าประชุม ทุกคนต้องได้พูด ถ้าไม่พูดเลยเท่ากับว่าคุณใช้เวลาประชุมโดยเปล่าประโยชน์ นอกจากนี้ คนที่ไม่ได้เข้าประชุมเพราะติดงานจะไม่ถูกตำหนิ เพราะเขาแค่ไปอ่านบันทึกการประชุมก็เข้าใจเรื่องที่คุยกันได้
บ่อยครั้งที่บริษัทไทยจัดประชุมเพื่อหาข้อสรุปโดยมีผู้เข้าร่วมประชุมเยอะมาก เราใช้เวลายาวนานแถมยังหาข้อสรุปไม่ได้ ส่วนที่บริษัทเยอรมันนั้นจะประชุมสั้นๆ ราว 30 นาที ถ้าประชุมเรื่องจริงจังก็ไม่เคยเกิน 2 ชั่วโมง นี่แปลว่าคนเยอรมันประชุมชั่วโมงเดียวก็ได้ข้อสรุปของปัญหาแล้ว
ทำไมคนเยอรมันดื่มเหล้าในบริษัทตอน 5 โมงเย็นวันศุกร์
คนเยอรมันและคนญี่ปุ่นไม่ชอบคนที่ไม่มีทีมเวิร์กและยึดมั่นความคิดเห็นของตัวเองเกินไป ดังนั้นคนที่ทำงานเป็นทีมจะได้รับความไว้ใจมากกว่าคนที่ชอบอ้างว่า “ฉันคิดแบบนั้น” “ฉันอยากทำแบบนี้”
เมื่อคนเยอรมันให้ความสำคัญกับการทำงานเป็นทีม พวกเขาจึงมีการสื่อสารภายในทีมที่ยอดเยี่ยมด้วย ตัวอย่างเช่น บริษัทเยอรมันมักจัดประชุมนอกสถานที่อยู่บ่อยๆ การประชุมลักษณะนี้มีประสิทธิภาพสูงกว่าการประชุมภายในบริษัท
พนักงานเยอรมันระดับบริหารมักจะทิ้งออฟฟิศไปประชุมแบบค้างคืนตามสถานที่ซึ่งมีธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ 2-3 วันเป็นประจำ บางครั้งพนักงานจะพาครอบครัวไปประชุมนอกสถานที่ด้วย เหล่าภรรยาจะเดินเล่นหรือเล่นกีฬากระชับความสัมพันธ์ตามแบบผู้หญิง ส่วนพวกผู้ชายจะหมกตัวประชุมกันตอนกลางวัน พอตกกลางคืน ทุกคนจะดื่มและรับประทานอาหารร่วมกันเพื่อเปลี่ยนบรรยากาศและกระชับมิตร
คนไทยชอบออกไปสังสรรค์หลังเลิกงาน ส่วนบริษัทเยอรมันไม่ค่อยสังสรรค์กันหลังเลิกงาน แต่จะหาโอกาสให้พนักงานแต่ละแผนกมาผูกมิตรกัน
ตัวอย่างเช่น ตอน 5 โมงเย็นของวันศุกร์ บริษัทจะเปิดไวน์ให้ทุกคนมาดื่มร่วมกันซึ่งใครจะมาร่วมด้วยก็ได้ เมื่อพนักงานมาอยู่รวมกัน พวกเขาจะพูดคุยอย่างเป็นกันเองประมาณ 1 ชั่วโมงแล้วค่อยๆ แยกย้ายกันไป
ไม่มีใครมัวคิดว่า “ถ้าหัวหน้ายังอยู่ ตัวเองจะกลับก่อนไม่ได้” ทุกคนจะรีบกลับบ้านไปหาครอบครัวช่วงหลังเลิกงาน คนเยอรมันจะไม่ไปดื่มสังสรรค์ ต่อด้วยร้านคาราโอเกะ และคุยกันเอะอะในรถไฟเที่ยวสุดท้าย ร่างกายพวกเขาจึงสดชื่น
คนเยอรมันยังทำเค้กในวันเกิดของตัวเองและแจกจ่ายให้เพื่อนร่วมงาน เจ้าของวันเกิดจะถือเค้กเข้าไปในห้องครัวและส่งอีเมลถึงทุกคนว่า “ฉันมีเค้กนะ มาเร็วๆ” จากนั้นใครสะดวกเวลาไหนก็จะแวะมาหาพร้อมกับส่งเสียงอวยพรว่า “แฮปปี้เบิร์ดเดย์”
คิดแบบเยอรมัน ทำแบบญี่ปุ่น
เนื้อหาในบทความนี้ผมเอามาจากหนังสือ คิดแบบเยอรมัน ทำแบบญี่ปุ่น ครับ
ซุมิตะ คัง เป็นคนญี่ปุ่นคนแรกที่ทำงานในบริษัทการเงินเก่าแก่ 300 ปีของเยอรมนี เขาได้สัมผัสวิธีคิดแบบเยอรมัน และนำมาเทียบกับข้อดีของญี่ปุ่น เขาผสานสไตล์ทั้ง 2 เข้าด้วยกัน เกิดเป็นแนวทางที่มหัศจรรย์ในหนังสือเล่มนี้ขึ้นมา
ในหนังสือ เขาจะพูดถึงศิลปะการเพิ่ม Productivity ที่รวมทั้งเยอรมันและญี่ปุ่นตั้งแต่วิธีคิด การสื่อสาร การบริหารเวลา การทำงานเป็นทีม ไปจนถึงการใช้ชีวิตซึ่งจะช่วยคุณสร้างผลงาน และมีความสุขในชีวิตมากขึ้น ใครสนใจสั่งซื้อได้ที่นี่เลย
แนะนำหนังสือดีๆ ที่คุณอาจชอบยิ่งกว่า
คนส่วนใหญ่ชอบศึกษาหาข้อมูล วางแผนให้ดีก่อนลงมือทำ …แต่นั่นทำให้พวกเขาไม่พร้อมสักที จนไม่ได้ทำอะไรเลย!
ในหนังสือคนชนะทำแล้วแก้ คนแพ้มัวแต่คิดไม่ได้ทำ เขาจะสอนเทคนิค “ทำไปก่อนเดี๋ยวดีเอง” ให้คุณสร้างผลงานที่ยอดเยี่ยมขึ้น จำนวนมากขึ้น ในเวลาที่สั้นลง
ทั้งเรียนหนังสือ ทำงาน บริหารเงิน สร้างคอนเน็คชั่น และนำเสนอตัวเอง คุณสามารถนำแนวทางนี้มาใช้พัฒนาชีวิตในทุกแง่มุม
หนังสืออีกเล่มที่จะมาแนะนำเทคนิคดีๆ ที่ช่วยให้คุณรู้จักบริหารเวลาให้เก่งไม่แพ้ใครนั่นก็คือ “แค่ใช้เวลาเป็น ไม่ต้องเก่งก็ไปได้ไกลกว่า” ของเควิน ครูซ หนังสือเล่มนี้จะมาเผยความลับการบริหารเวลาของมหาเศรษฐี นักธุรกิจชื่อดัง นักกีฬาโอลิมปิก และนักเรียนเกรดเอให้คุณจนหมดเปลือก
บทความอื่นๆ ที่คุณอาจชอบไม่แพ้กัน
- ความสำเร็จเกิดจากสิ่งเล็กๆ ที่คุณทำทุกวัน ลองอ่านสรุปหนังสือ Atomic Habits จะสอนให้คุณเปลี่ยนนิสัยเล็กๆ น้อยๆ แล้วคุณจะพบผลลัพธ์ที่น่าทึ่ง โดยคุณไม่จำเป็นต้องหักดิบหรือลุกขึ้นมาปฏิวัติตัวเอง สิ่งที่คุณต้องทำแค่เปลี่ยนแปลงนิสัยเล็กๆ น้อยๆ เท่านั้น ดีกรีของหนังสือเล่มนี้ไม่ธรรมดา เพราะตั้งแต่เริ่มวางขายเมื่อปี 2018 หนังสือก็ฮิตติดชาร์ทในหลายสำนัก เช่น Wall Street Journal, USA Today และ Publisher’s Weekly
- ถ้าคุณอยากอ่านเนื้อหาเกี่ยวกับนิสัยในการทำงานบิงโกยังได้ทำสรุปหนังสือเรื่อง What Got You Here Won’t Get You There ที่จะมาแนะนำวิธีดีๆ ในวางตัวเวลาทำงานให้กับคุณ
- ถ้าคุณอยากสร้างนิสัยใหม่ในตอนเช้าแล้วอยากรู้ว่าคนเก่งๆ เขาชอบทำอะไรกัน บิงโกขอแนะนำ What the Most Successful People Do Before Breakfast หนังสือที่จะช่วยแนะแนวทางการวางแผนเวลาในช่วงเช้าทั้งวันหยุดและวันทำงาน เพื่อให้คุณทำงานได้ดีขึ้นและมีความสุขมากขึ้น
- “วิกฤติชีวิต” มักมาแบบไม่ทันตั้งตัว มันทั้งโหด เจ็บปวด และรวดเร็ว วิกฤติจะทำให้คุณรู้สึกอยากนอนค้างบนเตียงตอนเช้า สมองปิดทำการไม่อยากทำอะไรทั้งสิ้น แต่อย่าลืมว่าชีวิตต้องเดินต่อไป วิกฤติคือช่วงเวลาสำหรับการพัฒนาตัวเอง วันนี้ผมจึงขอเสนอ “วิธีเพิ่ม Productivity ให้ได้ 100% ในช่วงเวลาวิกฤติ” ให้ชีวิตของคุณก้าวไปข้างหน้าในช่วงเวลาที่ย่ำแย่ที่สุด