ลงทุน VI คืออะไร? (ลงทุนแนวเน้นคุณค่า) เหมาะกับคุณไหม

การลงทุนแนว VI (Value Investing) หรือการลงทุนเน้นคุณค่า เป็นแนวทางที่คนนิยมมากที่สุดในโลก ดังนั้นบทความนี้เราจะมาดูวิธีลงทุนแนว VI เบื้องต้นกันครับ

หรือถ้าคุณอยากหาโอกาสที่ดีที่สุดให้ตัวเอง คุณเองก็อาจศึกษาการลงทุนต่างประเทศมากขึ้น ผมมีบทความแนะนำวิธีลงทุนหุ้นอเมริกา หุ้นต่างประเทศให้คุณแล้ว (คุณจะได้หุ้นฟรีมูลค่าสูงสุด $1000 ด้วย)

 

ลงทุนแบบ VI เหมาะกับใคร

ลงทุน VI แนวเน้นคุณค่า 1

ถึงแม้คุณจะไปอ่านหนังสือพ่อรวยสอนลูก Rich Dad, Poor Dad ศึกษาด้านการลงทุนอย่างเข้มข้น หรือไปฟังพอดคาสต์ด้านการลงทุนจนมั่นใจ แต่…

…ความจริงที่น่าสะเทือนใจคือ นักลงทุนในตลาดหุ้นเกิน 90% ขาดทุน ถึงแม้หุ้นในตลาดจะให้ผลตอบแทน 10% ต่อปีโดยเฉลี่ย

สาเหตุคือ ตลาดหุ้นเป็นอะไรที่คาดเดายาก เราบอกไม่ค่อยได้หรอกครับว่ามันจะขึ้นหรือลงพรุ่งนี้ คนส่วนใหญ่จึงเดาทางตลาดหุ้นไม่ถูก และขาดทุนไปในที่สุด

แต่ในทางกลับกัน หุ้นคือชิ้นส่วนความเป็นเจ้าของธุรกิจ ดังนั้นถ้าคุณมองว่า “การซื้อหุ้น = การซื้อธุรกิจ” คุณก็ไม่ต้องคาดเดาตลาดหุ้น และโฟกัสไปที่ตัวธุรกิจได้ นี่แหละครับคือที่มาของการลงทุนแบบ VI

การลงทุนแบบ VI จึงเหมาะกับคนที่อยากกำไรค่อนข้างแน่นอน โดยอิงกับพื้นฐานทางธุรกิจของหุ้นที่คุณซื้อ

  • คนที่เวลาน้อยก็ลงทุนแบบ VI ได้ เพราะคุณไม่ต้องเกาะติดตลาดหุ้นทุกวัน
  • คนที่อยากลงทุนด้วยเหตุผลทางธุรกิจ ไม่อยากเดาตลาดหุ้น ก็เหมาะกับ VI
  • คนที่มีเงินก้อนและไม่อยากเสียมันไป ก็จะลงทุนแนว VI ให้เงินงอกเงยได้โดยเสี่ยงน้อย
  • คนที่อยากรวยแบบ “ช้าแต่ชัวร์” แนวทาง VI เป็นทางเลือกหนึ่งที่ทำได้จริง
  • คนทำงานกินเงินเดือนอาจยุ่งกับงานประจำ คุณก็สามารถลงทุนแบบ VI ได้

แต่การลงทุนแบบ VI ไม่ได้เหมาะกับทุกคน กำไรจากวิธี VI จะค่อนข้างช้า คุณจะไม่เห็นลัมโบกินี่ภายในครึ่งปี คุณจะไม่ได้ไปมัลดีฟจนกว่าจะลงทุนไปสิบปีและเห็นผลจากการลงทุน

ถ้าคุณอยากรวยเร็ว คุณอาจต้องไปลงทุนสไตล์อื่น ก่อตั้งสตาร์ทอัพ หรือเล่นบิทคอยน์แทน หรือถ้าคุณอยากหาโอกาสที่ดีที่สุดให้ตัวเอง คุณเองก็อาจศึกษาการลงทุนต่างประเทศมากขึ้น แล้วคุณจะพบว่าโอกาสดีๆ มีอยู่มากจริงๆ ผมมีบทความสอนวิธีลงทุนหุ้นต่างประเทศ หุ้นอเมริกาให้คุณแล้ว เข้าไปดูกันได้เลยครับ

 

ลงทุน VI หรือ Value Investing คืออะไร ลงทุนยังไง

ลงทุน VI แนวเน้นคุณค่า 2
นักลงทุน VI จะชั่งน้ำหนักมูลค่ากับราคาหุ้น ซื้อเมื่อราคาต่ำกว่ามูลค่า

เวลาคุณซื้อทรัพย์สินอะไรสักอย่าง (หุ้น) คุณจ่ายเงินไปเพื่อซื้อสิ่งนั้น

แล้วคุณก็จะได้ทรัพย์สิน (หุ้น) นั้นมา แลกกับเงินที่คุณจ่ายไป

  • ราคา (Price) คือเงินที่คุณจ่ายไป
  • มูลค่า (Value) คือสิ่งที่คุณได้รับมา

นักลงทุนแบบ VI คือคนที่ซื้อหุ้นในราคาที่ต่ำกว่ามูลค่า

จบแล้วครับ ง่ายมั้ย 555

มันฟังดูง่าย แต่แฝงด้วยความลึกซึ้งครับ

ราคาเป็นสิ่งที่ชัดเจน คุณรู้แน่นอนว่าคุณจ่ายเงินซื้อหุ้นไปเท่าไร แต่ “มูลค่า” มันแล้วแต่คนจะมอง

ถ้าผมเอาภาพดอกไม้ของวินเซนต์ แวนโก๊ะ ให้คุณดู คุณอาจบอกว่าภาพนี้มีมูลค่าหมื่นล้าน แต่ผมดูยังไงก็ให้แค่ร้อยบาท ถามว่าใครถูก? ตอบไม่ได้หรอกครับ มันขึ้นกับคนมอง

หุ้นก็เหมือนกัน หุ้น ABC ตัวเดียวกัน คุณอาจมองว่ามูลค่า 500 บาท แต่ผมให้มูลค่า 20 บาท ทั้งที่เรามองหุ้นตัวเดียวกัน บางคนดูงบการเงิน บางคนดูเทรนด์เทคโนโลยี บางคนดูจากสภาพเศรษฐกิจ ทำให้เราประเมินมูลค่าไม่เท่ากัน

หุ้นทุกตัวจะมี “มูลค่า” ที่แท้จริงอยู่ แค่ไม่มีป้ายแปะไว้ และไม่มีใครรู้จริงจนกว่าเวลาจะผ่านไปในอนาคต

ในระยะสั้น ราคาหุ้นจะแกว่งมั่วไปมั่วมา แต่ในระยะยาว ราคาหุ้นจะกลับไปหามูลค่าที่แท้จริงของมันเสมอ

พูดอีกแง่ การลงทุนแนวเน้นคุณค่าหรือ VI คือการที่เราวิเคราะห์หา “มูลค่า” ที่แท้จริงของหุ้น แล้วซื้อในราคาที่ต่ำกว่ามูลค่า จากนั้นจึงรอให้กำไรเมื่อราคากลับไปหามูลค่าในระยะยาว

ลงทุน VI แนวเน้นคุณค่า 3
ภาพดอกไม้ของแวนโก๊ะ ราคาหลายล้าน คุณให้มูลค่ามันแค่ไหน

ข้อดี ข้อเสีย ผลตอบแทน ความเสี่ยงของ VI

ข้อดีของ VI

  • ใช้เหตุผลมากกว่าการลงทุนอื่น คุณซื้อหุ้นเหมือนซื้อธุรกิจ
  • เสี่ยงน้อยเมื่อเทียบกับการลงทุนหุ้นแบบอื่น
  • ถ้าคุณลงทุนได้ดี จะรวยช้าแต่ชัวร์

ข้อเสียของ VI

  • ใช้ความรู้เยอะ คุณต้องรอบรู้และติดตามข่าวสารตลอด
  • รวยช้า ทดสอบความอดทนอย่างยิ่ง
  • ปวดใจ เพราะคุณมักถือหุ้นยาว จึงมีบางช่วงที่หุ้นลง คุณดูราคาแล้วก็จะปวดใจ
  • มีความยากในการวิเคราะห์ธุรกิจ จึงไม่เหมาะกับทุกคน
  • ไม่มีกลยุทธ์ถอย กว่าคุณจะรู้ตัวว่าลงทุนพลาด ก็ขาดทุนไปพอสมควรแล้ว

 

วิธีเลือกหุ้น-ประเมินมูลค่าหุ้น VI

มูลค่าของหุ้น คือกำไรในอนาคตที่บริษัทจะทำได้

กำไร กำไร กำไร

แต่ปริศนาเงินล้านก็คือ “กำไรในอนาคต” จะเป็นอย่างไร? ไม่มีใครรู้อนาคตจริง แล้วเราจะทำนายกำไรในอนาคตได้ไง?

หุ้นสไตล์ VI จึงมีสองปัจจัย ปัจจัยแรกคือ “ธุรกิจแข็งแกร่ง ทำนายกำไรได้ง่าย” และปัจจัยสองคือ “จะเอากำไรมาแปลงเป็นตัวเลขมูลค่าอย่างไร” ซึ่งเราจำเป็นต้องดูงบการเงินประกอบ

 

ลงทุน VI แนวเน้นคุณค่า 4

เลือกซื้อธุรกิจที่แข็งแกร่ง เพื่อทำนายกำไรได้ง่าย

ก่อนจะซื้อหุ้น นักลงทุน VI ควรมองหาธุรกิจที่แข็งแกร่งก่อน ดังนี้

  • มีความได้เปรียบในการแข่งขัน คู่แข่งเข้ามาไม่ได้ง่ายๆ เช่น บริษัท BTS ผูกขาดรถไฟฟ้าในไทย ต่อให้ผมอยากทำรถไฟฟ้ามาแข่งก็ทำไม่ได้ แบบนี้เราก็บอกได้ว่าบริษัทได้เปรียบในการแข่งขันมาก
  • กำไรย้อนหลังสม่ำเสมอ มีแต่เพิ่มขึ้นทุกปี 
  • มีช่องทางขยายธุรกิจ (มีโอกาสโต) ถ้าบริษัทไม่โตก็ไม่มีอนาคต มีแต่ทรงกับทรุด
  • ลงทุนน้อยกำไรมาก (ค่า ROE สูง) บริษัทจะได้โตง่ายๆ ไม่ต้องลงทุนเยอะก็โตสบาย
  • อดทนช่วงเศรษฐกิจตกต่ำได้ พูดอีกแง่ บริษัทจะไม่เจ๊งถ้าเศรษฐกิจตกต่ำ

บางบริษัทจะทำนายกำไรยาก เช่น บริษัทโรงน้ำตาล คุณจะเห็นว่าราคาน้ำตาลมันขึ้นลงทุนปีตามตลาดโลก กำไรของโรงน้ำตาลจึงคาดเดายาก คุณสามารถลงทุนบริษัทน้ำตาลแนวหุ้นวัฏจักรตามหุ้น 6 ชนิดของปีเตอร์ ลินช์ แต่แบบนี้ไม่นับเป็นหุ้น VI

เมื่อคุณเลือกธุรกิจที่ทำนายกำไรได้ง่ายๆ ต่อมาก็ต้องแปลงกำไรในอนาคตให้เป็นตัวเลข “มูลค่า” หุ้น

 

มีหลายวิธีในการประเมินมูลค่าหุ้น

การประเมินมูลค่าหุ้นที่ถูกต้องที่สุด จะต้องใช้เทคนิค DCF ซึ่งซับซ้อนพอสมควร ขอเก็บไว้บทความของ DCF โดยเฉพาะนะครับ

มีอีกวิธีที่ง่ายกว่าในการประเมินมูลค่าหุ้น คือใช้ค่า P/E โดยให้เอาราคาหุ้น (Price) มาหารด้วยกำไรต่อหุ้นปีล่าสุด (Earning)

ค่า P/E สูงแสดงว่าหุ้นราคาแพงเทียบกับกำไรปีล่าสุด และค่า P/E ต่ำแสดงว่าหุ้นราคาถูกเทียบกับกำไรปีล่าสุด

เพราะบริษัทที่โตเร็วย่อมดีกว่าโตช้า บริษัทที่่โตเร็วจึงมีค่า P/E สูงได้ โดยทั่วไปค่า P/E ไม่ควรอัตราการเติบโต เช่น ถ้าโตปีละ 25% ก็ไม่ควรมี P/E เกิน 25

บางบริษัทขาดทุนในปีล่าสุด จึงหาค่า P/E ไม่ได้ ซึ่งเป็นข้อจำกัดของค่า P/E ครับ

 

ถ้าอยากศึกษาวิธีลงทุนแบบ VI จะเริ่มยังไงดี?

ความรู้ที่ครอบคลุมที่สุดในการลงทุน VI มักอยู่ในหนังสือ เพราะหนังสือเป็นช่องทางที่เราจะเข้าถึงแนวคิดในการลงทุนของนักลงทุนชั้นนำของโลกได้ง่ายที่สุด ไม่มีนักลงทุนระดับโลกคนไหนจะมาอธิบายเทคนิคของตัวเองอย่างละเอียดในยูทูป แต่ถ้าเขาอยากถ่ายทอดจริงๆ เขามักเขียนเป็นหนังสือไปเลย

ที่จริงนักลงทุนไทยเก่งๆ ก็เรียนรู้แนวคิดของนักลงทุนชั้นนำในโลกจากหนังสือนี่แหละครับ ผมกล้าบอกเลยว่านักลงทุนไทยทุกคนที่ประสบความสำเร็จ ล้วนอ่านหนังสือมาเยอะมาก กระทั่งดร.นิเวศน์ ปรมาจารย์การลงทุนแนว VI ของไทย ก็ศึกษาวิธีลงทุนจากหนังสือของนักลงทุนชั้นนำของโลกมาก่อน

คนที่ไม่รู้จะเริ่มอ่านจากไหน ผมได้สรุปหนังสือลงทุนดีๆ ที่ควรอ่าน ให้คุณแล้วครับ

แต่ปัญหาของหลายๆ คนคือ หนังสือแต่ละเล่มนั้นใช้เวลาอ่านเยอะ แถมทำความเข้าใจยาก อ่านรู้เรื่องบ้างไม่รู้เรื่องบ้าง กว่าจะอ่านครบแล้วเชื่อมโยงแต่ละเล่มเข้าด้วยกันก็กินเวลานาน (เล่มนึงบางทีอ่านเป็นสัปดาห์ เล่มหนาๆ ก็เป็นเดือน)

แนวคิดบางอย่างก็อยู่ในบริบทของต่างประเทศและเกิดขึ้นมาเมื่อหลายสิบปีก่อน จึงยากที่จะทำความเข้าใจ บิงโกจึงมีคอร์สลงทุนที่ช่วยเรียบเรียงลำดับความคิดเรื่องการลงทุนทั้งหมดให้คุณ ดูรายละเอียดคอร์สด้านล่างได้เลยครับ

ดูรายละเอียด

 

จังหวะซื้อขาย

ซื้อเมื่อราคาหุ้นต่ำกว่ามูลค่าพอสมควร

ขายเมื่อราคาหุ้นสูงกว่ามูลค่า

จบแล้วครับ มีเพิ่มเติมนิดหน่อยตรงที่ขีดเส้นใต้ว่า “ซื้อเมื่อราคาหุ้นต่ำกว่ามูลค่าพอสมควร

สิ่งนี้เรียกว่า “ส่วนเผื่อความปลอดภัย” (Margin of Safety) เวลาเราซื้อหุ้น เราจะไม่ค่อยรู้หรอกว่ามูลค่ามันเท่าไร เราประเมินมูลค่าไว้ก็จริง แต่ไม่มีอะไรรับประกันว่าเราจะประเมินถูก ดังนั้นเพื่อความปลอดภัย เราจึงควรซื้อให้ถูกไว้ก่อน ถ้าประเมินพลาดจะได้ไม่เจ็บตัว

เช่น ถ้าคุณประเมินว่าหุ้นมีมูลค่า 100 บาท ก็ไม่ควรซื้อที่ 98 บาท เพราะสมมุติเราคิดผิด ที่จริงมันมีค่า 80 บาท เราก็ขาดทุน

ในทางกลับกัน ถ้าเราซื้อถูกไว้ก่อน เราซื้อมา 70 บาท ต่อให้มูลค่าเป็น 80 บาทเราก็ยังกำไร

 

เพื่อให้คุณเห็นภาพ เราจะมาดูตัวอย่างจริงกัน

สมมุติมีหุ้นสายการบิน คุณวิเคราะห์ไว้ว่ามูลค่า 100 บาท จึงซื้อมาที่ราคา 50 บาท

ต่อมาเกิดไวรัส Covid ระบาด แทบไม่มีใครขึ้นเครื่องบิน สายการบินขาดทุนกระจาย ราคาหุ้นสายการบินจึงดิ่งฮวบ ข่าวร้ายนี้ทำให้มูลค่าลดลงเหลือ 40 บาท

แสดงว่าตอนนี้ราคาหุ้น 50 บาทที่คุณซื้อมานี้สูงเกินมูลค่า 40 บาทไปแล้ว คุณก็ควรขายออกถึงแม้จะขาดทุน

 

ซื้อแล้วหุ้นลงทำไงดี!!!!

ลงทุน VI แนวเน้นคุณค่า 5

กลับมาที่พื้นฐานของ VI ครับ

ขายเมื่อราคาสูงกว่ามูลค่า

คุณต้องถามตัวเองว่า ราคาหุ้นสูงกว่ามูลค่าหรือไม่ ถ้าตอนแรกคุณคิดว่ามูลค่า 100 คุณซื้อมา 70 แล้วราคาลงมาเหลือ 50 แสดงว่าราคาต่ำกว่ามูลค่ายิ่งกว่าเดิมอีก แบบนี้ต้อง “ซื้อเพิ่ม”

หุ้นที่มีอยู่เดิมก็ไม่ต้องทำอะไร ถือไปยาวๆ รอให้ราคาขึ้นกลับมาได้

แต่อย่าลืมว่า “มูลค่า” เปลี่ยนได้ตามสถานการณ์ธุรกิจ อย่าลืมเช็คข่าวสารเพื่อประเมินมูลค่าใหม่ คุณอาจพบว่ามีข่าวร้ายเข้ามา ทำให้มูลค่าหุ้นลดลง ราคาจึงลงมาด้วยก็ได้ ถ้ามูลค่าลงมาเยอะๆ บางทีคุณอาจต้องตัดใจขายขาดทุนก็ได้

สรุป ถ้าหุ้นดี ให้ถือไปยาวๆ ไม่ต้องขาย แต่ถ้าหุ้นพื้นฐานเปลี่ยน บริษัทไม่ดีแล้ว ต้องยอมขายแม้จะขาดทุน

ผมเขียนวิธีปรับตัวเมื่อหุ้นลงไว้แล้ว ดูรายละเอียดเพิ่มที่นี่ครับ

 

ซื้อแล้วหุ้นขึ้นทำไงดี!!!!

ยินดีด้วยครับ คุณกำไรแล้ว แต่อย่าเพิ่งรีบขายครับ

กลับมาที่พื้นฐานครับ

ขายเมื่อราคาหุ้นกว่ามูลค่า

มูลค่าหุ้นก็เพิ่มได้นะ เพราะธุรกิจที่เราซื้อมามันโตขึ้นทุกวัน เพราะงั้นเวลาหุ้นขึ้น คุณก็ควรกลับมาเช็คหน่อยว่าราคาสูงเกินมูลค่าไปหรือยัง ถ้ายังก็ไม่ต้องขาย แต่ถ้าสูงเกินไปแล้ว คุณก็ขายได้

 

เพื่อให้คุณเห็นภาพ สมมุติหุ้น ABC ราคาซื้อขายกัน 30 บาทในตลาดหุ้น แต่คุณคิดว่ามูลค่าคือ 120 บาท คุณจึงซื้อ ABC มาเต็มพอร์ต

ต่อมา ABC ราคาขึ้นไป 40 บาท คุณก็ไม่ขาย เพราะยังไม่ถึงมูลค่า 120 บาท

ต่อมา ABC ราคาขึ้นไป 50 บาท คุณก็ไม่ขาย เพราะยังไม่ถึงมูลค่า 120 บาท

ต่อมา ABC ราคาขึ้นไป 60 บาท คุณก็ไม่ขาย เพราะยังไม่ถึงมูลค่า 120 บาท

ต่อมา ABC ราคาขึ้นไป 70 บาท คุณก็ไม่ขาย เพราะยังไม่ถึงมูลค่า 120 บาท

ต่อมา ABC ราคาขึ้นไป 80 บาท คุณก็ไม่ขาย เพราะยังไม่ถึงมูลค่า 120 บาท

ต่อมา ABC ราคาขึ้นไป 90 บาท คุณก็ไม่ขาย เพราะยังไม่ถึงมูลค่า 120 บาท

ต่อมา ABC ราคาขึ้นไป 100 บาท คุณก็ไม่ขาย เพราะยังไม่ถึงมูลค่า 120 บาท

ต่อมา ABC ราคาขึ้นไป 150 บาท คุณกลับไปวิเคราะห์ใหม่ พบว่าบริษัทมันโต ตอนนี้มูลค่ากลายเป็น 200 บาท ก็ยังไม่ต้องขาย ถือไปก่อน

จุดสำคัญคือการเปรียบเทียบมูลค่า-ราคา ถ้าราคายังต่ำกว่ามูลค่า ต่อให้หุ้นขึ้นก็ควรถือต่อ

ทนรวยให้ได้ครับ

 

นักลงทุน VI รูปแบบคลาสสิค

ลงทุน VI แนวเน้นคุณค่า 6

ถ้าคุณพูดถึงหุ้น VI แบบดั้งเดิม เราจะนึกภาพหุ้นที่ทำธุรกิจมั่นคง และ P/E ต่ำ นี่คือ “หุ้น VI คลาสสิค”

มีหลายวิธีในการประเมินมูลค่าหุ้น แต่วิธีที่คนชอบใช้คือดูค่า P/E ซึ่งเอาราคาหุ้นมาหารด้วยกำไรต่อหุ้น

ยิ่ง P/E ต่ำก็แสดงว่าหุ้นนี้ราคาถูก เทียบกับกำไรปีล่าสุด

ยกตัวอย่าง บริษัท SCC หรือ “ปูนซีเมนต์ไทย” เติบโตปีละ 5% หุ้นซื้อขายกันที่ P/E = 15 คุณมองว่าบริษัทปูนซีเมนต์ไทยผูกขาดอุตสาหกรรมหลายชนิดในไทย ยังไงก็ไม่ล้มละลายง่ายๆ และมี P/E ต่ำ จึงซื้อ

ต่อให้เศรษฐกิจตกต่ำ บริษัทก็อยู่ได้ เพราะมีฐานธุรกิจที่มั่นคงมาก พอเศรษฐกิจฟื้นก็กลับขึ้นมาแข็งแรงกว่าเดิม

เมื่อเวลาผ่านไป บริษัทก็โตขึ้น ราคาหุ้นก็จะค่อยๆ สูงขึ้น พร้อมจ่ายเงินปันผลให้คุณระหว่างทาง

นี่คือหุ้น VI แบบคลาสสิค ลักษณะจะคล้ายการลงทุนหุ้นปันผล คุณวิเคราะห์งบการเงิน เลือกหุ้นที่ราคาต่ำเทียบกับกำไรในปัจจุบัน แล้วก็รอให้ราคาหุ้นค่อยๆ ขึ้น และจ่ายปันผลให้คุณทุกปี

 

หุ้น 10 เด้งกับนักลงทุน VI ยุคใหม่

ลงทุน VI แนวเน้นคุณค่า 7

ถ้าคุณซื้อหุ้น VI แบบคลาสสิค คุณจะไม่รวย

พูดให้ถูกคือ คุณจะรวยแหละ แต่ไม่รวยมาก

นั่นเพราะหุ้น VI คลาสสิคมีจุดอ่อนคือ บริษัทที่ซื้อขายกันด้วย P/E ที่ต่ำ มักเติบโตช้า และ “ไปเรื่อยๆ” 

จริงอยู่ที่ธุรกิจเหล่านั้นจะมั่นคง คุณขาดทุนได้ยาก แต่พอมันโตช้า ราคาหุ้นก็ขึ้นช้า คุณก็รวยช้าด้วย

ราคาหุ้นที่ขึ้นช้า + เงินปันผล พอเวลาผ่านไปนานๆ ก็จะทำให้คุณรวยได้ครับ แต่ความมั่งคั่งของคุณจะคนละสเกลกับคนที่ถือหุ้นที่โตเร็ว

 

นักลงทุนชื่อดัง ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากรณ์ เรียกหุ้นโตเร็วว่า “หุ้น 10 เด้ง” เพราะราคาหุ้นจะขึ้นไปได้เกิน 10 เท่า

ผมคิดว่านำมาจากคำว่า “10 Baggers” ของปีเตอร์ ลินช์ ในหนังสือ One Up on Wall Street เหนือกว่าวอลสตรีท

คนส่วนใหญ่มองว่าหุ้นโตเร็วไม่ใช่หุ้น VI แต่นักลงทุน VI อันดับหนึ่งของโลกวอร์เรน บัฟเฟตต์ กล่าวไว้ว่า “Growth and value are part of the same equation.” วอร์เรน บัฟเฟตต์ มองว่าหุ้นโตเร็วก็คือหุ้น VI รูปแบบหนึ่งนั่นเอง

หุ้น 10 เด้งเป็นความฝันของนักลงทุน คนที่หาเจอจะเปลี่ยนชีวิตได้

ต่อให้คุณขาดทุนหุ้นตัวอื่นย่อยยับ หุ้น 10 เด้งตัวเดียวจะคืนที่คุณขาดทุนทั้งหมดกลับมา และยังเหลือกำไรให้อีกก้อนใหญ่

ถ้าคุณจะหาหุ้น 10 เด้งเจอ ต้องใช้ทั้งการวิเคราะห์งบการเงิน เข้าใจธุรกิจ และเซ้นส์ในการทำนายอนาคตร่วมกัน

ผมจึงเขียนไว้อีกบทความสำหรับหุ้น 10 เด้งโดยเฉพาะเพื่อให้สมศักดิ์ศรีของมัน ตามอ่านได้เลยครับ

 

กับดักนักลงทุนเน้นคุณค่า “Value Trap”

ลงทุน VI แนวเน้นคุณค่า 8

นักลงทุน VI มือใหม่มักติด “กับดักมูลค่า” หรือ Value Trap

นั่นคือ ซื้อหุ้นที่เขาคิดว่าเป็นหุ้น VI แต่ที่จริงไม่ใช่

เวลาคุณอ่านบทความอื่นตามอินเทอร์เน็ต เขาจะบอกคุณว่าหุ้น VI คือหุ้น P/E ต่ำ ซึ่งผมบอกคุณตรงนี้เลยว่าไม่จริง

ถ้าคุณซื้อหุ้นที่ P/E ต่ำแล้วราคาก็เท่าเดิมเป็นปีๆ หรือลดลงอีก คุณอาจติดกับดักมูลค่าเข้าแล้ว

 

นักลงทุน VI มี 2 สิ่งที่ต้องมอง นั่นคือ “ราคา” กับ “มูลค่า”

มูลค่าหุ้นมาจากกำไรของบริษัทในอนาคต บริษัทที่โตเร็วจะมีมูลค่าสูงกว่าบริษัทที่โตช้า

การมองแค่ P/E คือการมองราคา แต่คุณลืมมองมูลค่า คุณอาจซื้อหุ้นที่ราคาถูก แต่มูลค่าถูกยิ่งกว่าก็ได้ แบบนี้ไม่ใช่ VI

สมมุติมีหุ้นตัวหนึ่ง P/E = 4 แต่อยู่ในธุรกิจตะวันตกดิน กำไรลดลงปีละ 20% แบบนี้หุ้นราคาถูกก็จริง แต่มูลค่ายิ่งถูกกว่า คุณซื้อมาก็ขาดทุนได้

ในทางกลับกัน หุ้นบางตัว P/E สูงก็จริง แต่บริษัทโตเร็ว มีอนาคต บริษัทจึงมี “มูลค่าสูง”

ถ้าบริษัทมูลค่าสูง คุณก็สามารถซื้อด้วย P/E ที่สูง (แต่ห้ามสูงไป เพราะต้องเปรียบเทียบราคากับมูลค่านะครับ)

หุ้นโตเร็วที่ P/E สูงจึงเป็นหุ้น VI ได้ อยู่ที่ว่าราคาต่ำกว่ามูลค่าไหม เหมือนที่วอร์เรน บัฟเฟตต์ กล่าวไว้ “Growth and value are part of the same equation.”

 

บริษัท SCC หรือ “ปูนซีเมนต์ไทย” เติบโตปีละ 5% หุ้นซื้อขายกันที่ P/E = 15 คุณมองว่าบริษัทปูนซีเมนต์ไทยผูกขาดอุตสาหกรรมหลายชนิดในไทย ยังไงก็ไม่ล้มละลายง่ายๆ และมี P/E ต่ำ จึงซื้อ

ในปี 2015 หุ้น SCC ราคา 450 บาท

ในปี 2020 หุ้น SCC ราคา 340 บาท

คุณลงทุนมา 5 ปี กลับขาดทุน นี่คือ “กับดักมูลค่า” หรือ “Value Trap” มันคือการที่คุณซื้อหุ้นโดยดูจากราคาอย่างเดียว ไม่ได้ดูเทียบกับมูลค่าด้วย

 

เริ่มต้นลงทุนหุ้นต่างประเทศเพื่อโอกาสที่ดีกว่า

ลงทุนหุ้นต่างประเทศ หุ้นอเมริกา

การลงทุนหุ้นคือการซื้อธุรกิจที่ยอดเยี่ยม ดังนั้นคุณจะเจอหุ้นที่ดีในเศรษฐกิจที่มีการเจริญเติบโต มีนวัตกรรม และมี dynamics สูง

แต่ปัจจุบันเศรษฐกิจไทยเติบโตช้าลงมาก คนไทยเกิดน้อยลง สังคมกำลังจะกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุ ใครที่มีความรู้เรื่องเศรษฐกิจจะพอรู้ว่า “มืดมน” นักลงทุนไทยจำนวนมาก โดยเฉพาะเซียนหุ้นที่เข้าใจเรื่องนี้ จึงเริ่มเลี่ยงไปลงทุนต่างประเทศกันมากขึ้น

นอกจากนี้ ถ้าคุณอยากหาโอกาสที่ดีที่สุดให้ตัวเอง คุณเองก็อาจศึกษาการลงทุนต่างประเทศมากขึ้น แล้วคุณจะพบว่าโอกาสดีๆ มีอยู่มาก ผมมีบทความสอนวิธีลงทุนหุ้นต่างประเทศ หุ้นอเมริกาให้คุณแล้ว (คุณจะได้หุ้นฟรีมูลค่าสูงสุด $1000 ด้วยนะ)

 

เรียนคอร์สลงทุน “นักลงทุนมือหนึ่งของโลก”

คอร์สลงทุน บิงโก

อยากศึกษาเรื่องการลงทุนแต่เริ่มไม่ถูก?

บิงโกมีคอร์สสอนลงทุนที่จะคุณอาจสนใจ คอร์สนี้จะสอนคุณตั้งแต่พื้นฐานจนถึงระดับสูง เรียนจบพร้อมลงทุนจริงได้เลย เหมือน “นักลงทุนระดับโลกมาสอนคุณเอง” โดยใช้วิธีของนักลงทุนชั้นนำทั่วโลกมาสอนคุณ ทั้งวอร์เรน บัฟเฟตต์, ปีเตอร์ ลินช์, เบนจามิน เกรแฮม และอื่นๆ ซึ่งจะร่นเวลาให้คุณลงทุนได้เก่งกาจอย่างรวดเร็ว

ดูรายละเอียด

 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราะห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก