“งบกระแสเงินสด” คืออะไร นักลงทุนมือใหม่จะวิเคราะห์ยังไง ดูอะไรบ้าง?

“งบกระแสเงินสด” คือ งบที่ช่วยบอกว่าบริษัทหาเงินได้แค่ไหน และเอาเงินไปใช้ทำอะไรบ้าง วันนี้เราจะมาดูกันว่าจะวิเคราะห์งบกระแสเงินสดได้ยังไง ต้องดูอะไรบ้าง

งบกระแสเงินสดเป็นงบการเงิน 1 ใน 3 ชนิดหลัก คุณอาจสนใจ วิธีอ่านงบการเงินง่ายๆ สำหรับมือใหม่ ซึ่งเป็นภาพที่ใหญ่กว่า

นอกจากนี้ คนที่อยากหาโอกาสที่ดีที่สุดให้ตัวเอง ก็อาจศึกษาการลงทุนต่างประเทศ ผมมีบทความแนะนำวิธีลงทุนหุ้นต่างประเทศให้คุณแล้ว (คุณจะได้หุ้นฟรีมูลค่าถึง $1000 ด้วย)

เรามาเริ่มรู้จักงบกระแสเงินสดกันดีกว่าครับ

 

งบกระแสเงินสดแบ่งย่อยเป็น 3 ส่วน

งบกระแสเงินสด 1

งบกระแสเงินสด ช่วยให้เราเห็นการเคลื่อนไหวเงินของบริษัท โดยแบ่งดังนี้

  1. กระแสเงินสดจากการดำเนินงาน เป็นการบอกว่าบริษัททำธุรกิจแล้วได้เงินมาแค่ไหน
    • ทำธุรกิจได้เงิน = เป็นบวก
    • ทำธุรกิจเสียเงิน = เป็นลบ
  2. กระแสเงินสดจากกิจกรรมลงทุน บริษัทเอาเงินไปลงทุนทำอะไร หรือขายสินทรัพย์ไปหรือไม่
    • เอาเงินไปลงทุน = เป็นลบ
    • ขายสินทรัพย์ได้เงิน = เป็นบวก
  3. กระแสเงินสดจากการจัดหาเงิน บริษัทกู้เงินหรือเอาเงินไปคืนเจ้าหนี้แค่ไหน
    • กู้เงิน = เป็นบวก
    • เอาเงินไปคืนเจ้าหนี้ = เป็นลบ

ระวังเครื่องหมายดีๆ นะครับ เวลาดูให้มองเงินสดเป็นหลัก ถ้าเงินเข้ากระเป๋าเรา จะเป็นบวก เช่น เอาโรงงานไปขาย เอาที่ดินไปขาย หรือกู้เงิน จะเป็นบวก

แต่ถ้าเงินออกจากกระเป๋าเรา เช่น เอาเงินไปลงทุน เอาเงินไปใช้หนี้ จะเป็นบวก

 

“กระแสเงินสดจากการดำเนินงาน” คล้ายกับ “กำไร” แต่ต่างกันนิดนึง

งบกระแสเงินสด 2
คล้ายกันแต่ไม่เหมือนกันเสียทีเดียว

ตรงนี้เป็นจุดที่มือใหม่หลายคนสับสน ผมจึงขอเน้นนิดนึงนะครับ

การทำธุรกิจเป็นช่องทางหาเงินทางหนึ่ง แต่ไม่ใช่ทางเดียว ถ้าคุณไปดูงบกระแสเงินสด จะเห็นได้ว่า มีวิธีหาเงินถึง 3 ทาง

  1. ทำธุรกิจ เป็นวิธีหาเงินที่สำคัญที่สุด แต่ไม่ใช่วิธีเดียว (ดูวิธีอ่านงบกำไรขาดทุนง่ายๆ ได้เลยครับ)
  2. ขายสินทรัพย์ บริษัทที่ร้อนเงินจริงๆ อาจจะเอาโต๊ะเก้าอี้ไปขาย เอาที่ดินไปขาย เอาเครื่องจักรไปขาย เขาก็จะได้เงินมาใช้แก้ขัด
  3. กู้เงิน ตราบใดที่เจ้าหนี้ให้กู้ เราก็กู้เงินมาใช้ได้เรื่อยๆ และจะนับว่า “กระแสเงินสดเป็นบวก” นะครับ เพราะมีเงินเข้าบริษัท (ถึงแแม้จะมีหนี้สินที่ต้องจ่ายในอนาคต)

ทีนี้ คุณอาจสงสัยต่อว่า แล้ว กระแสเงินสดจากการดำเนินงาน ต่างจากกำไรไหม? เพราะมันมาจากการทำธุรกิจทั้งคู่

คำตอบคือ “ต่าง แต่เกี่ยวข้องกัน”

เวลาบริษัททำธุรกิจ บางครั้งบริษัทจะ “ลงบัญชีว่ามีกำไร” ถึงแม้ว่า “ยังไม่ได้เงิน” เช่น บริษัทขายสินค้า แล้วลูกค้าตกลงว่าจะทยอยจ่ายเงินในอีก 3 ปีข้างหน้า

  • พอเป็นแบบนี้ บริษัทจะลงบัญชีไว้ก่อนแล้วว่ามีกำไร ซึ่งตัวเลขกำไรนี้จะไปอยู่ในงบกำไรขาดทุน ในขณะที่เงินสดไม่เข้า ตัวเลขนี้ก็จะไม่ปรากฏในงบกระแสเงินสด

ในทางกลับกัน บางทีบริษัทไม่ได้บันทึกกำไร แต่อยู่ดีๆ ก็มีเงินไหลเข้า เช่น บริษัททรู ให้บริการ True Money Wallet เปิดให้เราโอนเงินเข้าวอลเล็ต แล้วเราเอาไปซื้อของในอินเทอร์เน็ตได้ (เหมือนแอพเป๋าตัง)

  • เนื่องจากบริษัททรูยังไม่ได้ขายของอะไรเลย กำไรจึงเท่าเดิม ไม่มีการบันทึกในงบกำไรขาดทุน แต่ทุกครั้งที่ลูกค้าโอนเงินเข้าวอลเล็ต ก็จะมีเงินมาฝากไว้ในบัญชีธนาคารของทรู ทำให้เขาเอาเงินนี้ไปใช้ประโยชน์ได้ ตัวเลขนี้จะโผล่มาในงบกระแสเงินสด

ในกรณีค้าขายปกติ เช่น บริษัทซื้อไก่ 100 มาขาย 120 พอขายเสร็จก็ได้เงินเลย

  • แบบนี้ก็จะบันทีกกำไร 20 บาทลงงบกำไรขาดทุน พร้อมบันทึกเงินสดไหลเข้า 20 บาทลงงบกระแสเงินสด

คุณจะสังเกตว่าโดยทั่วไป กำไรมักเกิดขึ้นพร้อมกับกระแสเงินสดจากการดำเนินงาน แต่บางครั้งก็ไม่ใช่ ตัวเลขสองตัวนี้จึงเพิ่มขึ้นและลดลงไปด้วยกัน แต่จะไม่เท่ากันเป๊ะครับ

ดูตัวอย่างกันดีกว่า อันนี้เป็นงบกระแสเงินสดของบรัษัทไทยออยล์ (TOP) ในปี 2017-2020 จากเว็บไซต์ investing.com นะครับ

งบกระแสเงินสด 3

เวลาดูกระแสเงินสด ให้ดูแยก 3 ตัวเลยนะครับ (เงินสดจากการดำเนินงาน จากการลงทุน จากการหาเงิน) โดยผมคั่นด้วยหยึกหยักสีแดงให้แล้ว

เงินสดจากการดำเนินงาน ผมเคยบอกใช่ไหมครับว่าเงินสดจากการดำเนินงานนั้น คล้ายกำไร แต่ไม่เหมือนกันเป๊ะ เพราะมันมาจากการทำธุรกิจเหมือนกัน ดังนั้นเราสามารถคำนวณย้อนกลับได้ โดย…

  • เริ่มจากกำไรสุทธิ (ในตารางเขียนเป็นรายได้สุทธิ แต่เหมือนกัน)
  • เอามาบวกลบกับค่าต่างๆ เพื่อ “ปรับ” ให้กำไรสุทธิกลายมาเป็นเงินสดจากการดำเนินงาน

ในที่นี้ เขาเริ่มที่กำไรสุทธิในบรรทัดบนสุด แล้วเอามาบวกกับไอ้ค่าต่างๆ ด้านล่าง จนกลายมาเป็น “เงินสดจากการดำเนินงาน” แต่ที่จริงเขายังมีการบวกอย่างอื่นอีก ซึ่งเขาละเอาไว้ ไม่ได้แสดงในที่นี้

เงินสดจากการลงทุน ก็ไม่มีอะไรมาก ติดลบแสดงว่าเขาเอาเงินไปลงทุนเพิ่ม

เงินสดจากการจัดหาเงิน (ในตารางเขียนว่าไฟแนนซ์ แต่เหมือนกัน) เป็นบวก แสดงว่าบริษัทกู้เงินเพิ่ม ซึ่งก็สอดคล้องกับที่เขาเอาเงินไปลงทุน แสดงว่าบริษัทกู้เงินมาลงทุนเพิ่ม สังเกตว่าการกู้เงินจะทำให้เงินสดจากการจัดหาเงินเป็นบวก

 

กระแสเงินสดทั้ง 3 ตัวบวกกัน ได้การเปลี่ยนแปลงเงินสุทธิ

ถ้าเราเอาทั้ง 3 ตัวมาบวกกัน ก็จะได้ “เงินสดเปลี่ยนแปลงสุทธิ” นะครับ ในตารางด้านบนผมวงกลมเอาไว้เป็นสีน้ำเงิน

  • เงินสดปี 2019 + เงินสดเปลี่ยนแปลงสุทธิ = เงินสดปี 2020
  • เงินสดปี 2018 + เงินสดเปลี่ยนแปลงสุทธิ = เงินสดปี 2019
  • เงินสดปี 2017 + เงินสดเปลี่ยนแปลงสุทธิ = เงินสดปี 2018
  • ฯลฯ

 

แต่…ไม่ใช่แค่ดูงบการเงินแล้ววิเคราะห์หุ้นได้

คอร์สลงทุน บิงโก นักลงทุนระดับโลก

อยากเลือกหุ้นถูกตัว วิเคราะห์ธุรกิจได้เฉียบขาด?

งบการเงินเป็นแค่จุดเริ่มต้นของการวิเคราะห์ธุรกิจ หุ้นบางตัวงบออกมาดี แต่ราคาลงไปเรื่อยๆ นั่นเพราะการลงทุนต้องมีมากกว่าดูงบการเงินเป็น บิงโกมีคอร์สสอนลงทุนที่จะคุณอาจสนใจ คอร์สนี้จะสอนคุณทุกเรื่องที่ต้องรู้ในการลงทุน ทั้งงบการเงิน การวิเคราะห์ธุรกิจ กลยุทธ์การลงทุน และวิธีมองภาพเศรษฐกิจ โดยเรียบจบลงทุนจริงได้เลย และจะร่นเวลาให้คุณลงทุนได้เก่งกาจอย่างรวดเร็ว

ดูรายละเอียด

 

แปลง “กำไร” เป็น “กระแสเงินสดจากการดำเนินงาน”

งบกระแสเงินสด 4

ผมบอกไปแล้วว่า “กำไร” กับ “กระแสเงินสดจากการดำเนินงาน” จะขึ้นลงไปด้วยกัน แต่ไม่เท่ากันเป๊ะ เพราะมีกรณีที่เราทำธุรกิจได้เงิน แต่ไม่นับเป็นกำไร และมีกรณีที่เราลงบัญชีเป็นกำไร ท้งที่ยังไม่ได้เงิน

เราจึงสามารถแปลง “กำไร” เป็น “กระแสเงินสดจากการดำเนินงาน” ได้ง่ายๆ ดังนี้

 

กระแสเงินสดจากการดำเนินงาน = กำไรสุทธิ + [รายจ่ายที่ลงบัญชีไว้แต่ไม่จ่ายเป็นเงิน] – [การเปลี่ยนแปลงเงินทุนหมุนเวียนสุทธิ]

 

เงินทุนหมุนเวียน (Working Capital) เป็นอีกชื่อหนึ่งของ “สินทรัพย์ระยะสั้น” ตัวนี้คือสิ่งต่างๆ ที่บริษัทต้องใช้ในการทำธุรกิจ เช่น สต็อกสินค้า ลูกหนี้การค้า ฯลฯ

  • ในสูตรนี้เขาเติมคำว่า “สุทธิ” ลงไปเป็น “เงินทุนหมุนเวียนสุทธิ” ซึ่งหมายถึง “สินทรัพย์ระยะสั้น – หนี้สินระยะสั้น” แสดงว่าเราต้องดูทั้งสินทรัพย์และหนี้สิน โดยหาดูได้จากงบดุล (มือใหม่จะอ่านงบดุลง่ายๆ ได้ยังไง)
  • เขายังมีคำว่า “การเปลี่ยนแปลง” นั่นก็คือเอาเงินทุนหมุนเวียนสุทธิของปีนี้ไปลบกับปีก่อน (ต้องดูงบดุลปีนี้เทียบกับปีก่อน)

การเปลี่ยนแปลงเงินทุนหมุนเวียนสุทธิ เป็นค่าที่สะท้อนการที่บริษัทแปลงเงินเป็นสิ่งของเพื่อใช้ทำธุรกิจ เช่น เอาเงินไปซื้อสินค้ามาสต็อกมากขึ้น ซึ่งทำให้เงินสดน้อยลง จึงเป็นกุญแจสำคัญในการคำนวณหากระแสเงินสด

แนวคิดของการคำนวณนี้ก็คือ..

  • เริ่มต้นที่กำไรสุทธิก่อน กำไรตัวนี้คือตัวเดียวกับที่อยู่ในงบกำไรขาดทุน (ดูวิธีอ่านงบกำไรขาดทุนง่ายๆ ได้เลยครับ)
  • รายจ่ายที่ไม่ได้จ่ายเงินจริง (อยู่ในงบกำไรขาดทุนทั้งหมด) บวกกลับไปให้หมด ได้แก่
    • ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (เป็นรายจ่ายทางบัญชี แต่ไม่ได้จ่ายเงินจริง)
    • ค่าตอบแทนผู้บริหารที่จ่ายเป็นหุ้น ไม่ได้จ่ายเป็นเงิน
    • ภาษีเงินได้ที่รอตัดบัญชี (Deferred Tax) ➝ เวลาบริษัทยื่นภาษี เขาจะใช้บัญชีคนละชุดกับที่รายงานในงบการเงิน ดังนั้นบางครั้งภาษีที่รายงานในงบการเงิน จะมากกว่าหรือน้อยกว่าภาษีที่จ่ายเป็นเงินไปจริงๆ จึงต้องบวกคืน
    • รายจ่ายอื่นๆ ที่เป็นแค่รายการทางบัญชีแต่ไม่ได้จ่ายเงิน (Non-cash Items) ก็บวกคืน เช่น ซื้อน้ำมันไว้แล้วราคาน้ำมันลง จึงบันทึกเป็นขาดทุน แต่เป็นแค่การขาดทุนทางบัญชี ไม่ส่งผลกับเงินสด (ไม่นับ เลยต้องบวกคืน)
  • การเปลี่ยนแปลงเงินทุนหมุนเวียนสุทธิ (Net Working Capital) ต้องเอามาลบออก ค่าพวกนี้อยูในงบดุลทั้งหมด ประกอบด้วย
    • ส่วนต่างสินค้าคงคลัง (ถ้าเพิ่ม แสดงว่าบริษัทซื้อของมาเก็บไว้ ทำให้เงินลด จึงลบออก)
    • ส่วนต่างลูกหนี้การค้า (ถ้าเพิ่ม แสดงว่าลูกค้าซื้อของแล้วยังไม่จ่ายเงิน ก้อนนี้จะถูกบันทึกกำไรแต่ไม่ได้เงิน จึงลบออก)
    • ส่วนต่างเจ้าหนี้การค้า ก้อนนี้เป็นหนี้สิน จึงคิดกลับด้านกัน ➝ เอามาบวกกลับ (ถ้าหนี้เพิ่ม แสดงว่าบริษัทซื้อของมาแล้วยังไม่จ่ายเงิน จึงบวกเงินสดกลับเข้าไป)
    • ส่วนต่างค่าใช้จ่ายค้างจ่าย (Accrued Expenses) ก้อนนี้เป็นหนี้สิน จึงคิดกลับด้านกัน ➝ เอามาบวกกลับ (ถ้าหนี้เพิ่ม แสดงว่าบริษัทใช้บริการคนอื่นแล้วยังไม่จ่ายเงิน จึงบวกเงินสดกลับเข้าไป)
    • ส่วนต่างรายได้รอการตัดบัญชี (Deferred Revenue) ก้อนนี้เป็นหนี้สิน จึงคิดกลับด้านกัน ➝ เอามาบวกกลับ (บางทีลูกค้าจ่ายเงินเราล่วงหน้า แต่เรายังไม่ทันส่งสินค้า จึงยังไม่บันทึกเป็นรายได้ทั้งที่เราได้เงินแล้ว)

สรุปสั้นๆ

กระแสเงินสดจากการดำเนินงาน = กำไรสุทธิ + [รายจ่ายที่ลงบัญชีไว้แต่ไม่จ่ายเป็นเงิน] – [การเปลี่ยนแปลงเงินทุนหมุนเวียนสุทธิ]

สรุปยาวๆ

กระแสเงินสดจากการดำเนินงาน = กำไรสุทธิ + [ค่าเสื่อมราคา + ค่าตอบแทนผู้บริหารที่จ่ายเป็นหุ้น + รายจ่ายอื่นๆ ที่ไม่ได้จ่ายเงิน (Non-cash Items)] – [ส่วนต่างสินค้าคงคลัง + ส่วนต่างลูกหนี้การค้า – ส่วนต่างเจ้าหนี้การค้า – ส่วนต่างค่าใช้จ่ายค้างจ่าย (Accrued Expenses) – ส่วนต่างรายได้รอการตัดบัญชี (Deferred Revenue)]

ในทางปฏิบัติ คุณไม่ต้องจำสูตรทั้งหมดก็ได้ครับ เพราะในงบกระแสเงินสดเขาก็จะคำนวณให้คุณดูอยู่แล้ว (ดูตัวอย่างงบข้างบนก็ได้) เพียงแต่คุณควรรู้ที่มาที่ไปว่าแต่ละรายการหมายถึงอะไร

 

ดอกเบี้ย เป็นการดำเนินงาน แต่เงินต้น เป็นการจัดหาเงิน

เราดูกันไปแล้วในบทความ วิธีอ่านงบดุลง่ายๆ สำหรับมือใหม่ ว่าเวลาบริษัทกู้เงินหรือคืนเงินต้น เขาจะไม่คิดว่าเป็นค่าใช้จ่าย แต่ในทางกลับกัน ดอกเบี้ยถือเป็นค่าใช้จ่าย ซึ่งไปปรากฏในงบกำไรขาดทุน

พอมาถึงงบกระแสเงินสด เราก็เจอแบบเดียวกันครับ เขาจะคิดแยกดอกเบี้ยกับเงินต้น

  • ดอกเบี้ยจะถูกปฏิบัติเหมือนค่าใช้จ่าย ก็จะไปรวมอยู่ในกระแสเงินสดจากการดำเนินงาน
  • เงินต้น ไม่ว่าจะตอนกู้หรือตอนใช้คืน จะไปอยู่ในกระแสเงินสดจากการจัดหาเงิน

 

กระแสเงินสดจากการลงทุน มีอะไรบ้าง

เงินเข้า (เป็นบวก) แสดงว่ามีการขายสินทรัพย์ เช่น

  • ขายที่ดิน ขายเครื่องจักร ขายอุปกรณ์
  • ขายหุ้น ขายตราสารหนี้

เงินออก (เป็นลบ) แสดงว่ามีการซื้อสินทรัพย์ เช่น

  • ซื้อที่ดิน ซื้อเครื่องจักร ซื้ออุปกรณ์
  • ซื้อหุ้น ซื้อตราสารหนี้

 

กระแสเงินสดจากการจัดหาเงิน มีอะไรบ้าง

เงินเข้า (เป็นบวก) เช่น

  • กู้เงิน
  • จ่ายเงินปันผล

เงินออก (เป็นลบ) เช่น

  • คืนเงินกู้
  • เพิ่มทุน

การเพิ่มทุน คือการที่บริษัท “เสก” หุ้นใหม่ขึ้นมา เพื่อขายให้กับนักลงทุนรายใหม่ โดยบริษัทก็จะได้เงินมาใช้ แลกกับการที่นักลงทุนรายใหม่ได้หุ้นไป

การเพิ่มทุนทำให้บริษัทมีหุ้นมากขึ้น สัดส่วนความเป็นเจ้าของของผู้ถือหุ้นเดิมจึงลดลง

 

กระแสเงินสดอิสระ Free Cash Flow (FCF)

งบกระแสเงินสด 5

เทคนิควิเคราะห์งบกระแสเงินสดที่สำคัญที่สุดคือ FCF (Free Cash Flow)

 

 FCF = กระแสเงินสดจากการดำเนินงาน – เงินสดที่เอาไปลงทุน

 

FCF เป็นการบอกว่าบริษัทหาเงินเก่งแค่ไหน โดยดูจากเงินสดเพียวๆ ทำให้เราเห็นภาพที่ชัดเจนขึ้นกว่าการดู “กำไร” ซึ่งเป็นแค่ตัวเลขทางบัญชี

มีวิธีตีความ FCF ได้หลายสไตล์ ขึ้นกับคน

  • บางคนใช้ FCF แทนกำไรไปเลย เพราะมันก็เหมือนกำไรนี่แหละ แต่ไปดูเงินสดแทนกำไรทางบัญชี
  • บางคนใช้ FCF เพื่อบอกว่าบริษัทมีเงินเหลือไปจ่ายเงินปันผลมากแค่ไหน
  • บางคนดู FCF คู่กับกำไร ถ้าใกล้เคียงกันก็แล้วไป แต่ถ้าต่างกันเยอะแสดงว่าต้องมีบางรายการที่ผิดปกติ จะต้องดูต่อว่าทำไมไม่เท่า

นอกจากนี้ FCF ยังช่วยเราวิเคราะห์การจ่ายปันผลของหุ้นปันผลอีกด้วย ค่า FCF จะบอกถึงเงินที่บริษัทหามาได้ในปีนี้ ซึ่งเป็นขีดบนสุดของเงินที่บริษัทควรจ่ายปันผล ถ้าบริษัทจ่ายมากกว่านี้จะเป็นการไปดึงเงินส่วนอื่นๆ มา เช่น บริษัทอาจกู้เงินมาจ่ายปันผล ซึ่งอันตรายและไม่ยั่งยืนอย่างยิ่ง

 

สรุปง่ายๆ ต้องดูอะไรในงบกระแสเงินสด

งบกระแสเงินสดไม่ใช่ตัวหลักในการวิเคราะห์งบการเงิน (ตัวหลักคือ งบกำไรขาดทุน กับ งบดุล) ดังนั้นปกติเราจะดูงบกระแสเงินสดคู่กับงบการเงินตัวอื่นๆ

  • FCF ควรเป็นบวก เพื่อบ่งบอกว่าบริษัทหาเงินได้จากการทำธุรกิจ
  • ลองดู FCF เทียบกับกำไร
    • ถ้า FCF > กำไร ถือว่าดี แสดงว่าบริษัทมีเงินเหลือเยอะไปขยายกิจการต่อ
    • ถ้า FCF < กำไร ต้องดูว่าทำไม ถ้าปีนั้นลงทุนเยอะก็แล้วไป แต่ถ้า FCF น้อยเพราะลูกค้าจ่ายเงินช้า หรือเพราะสินทรัพย์หมุนเวียนมากขึ้น แบบนี้ไม่ดี
  • ดูกระแสเงินสดจากการลงทุน ว่ามากเกินไปหรือน้อยเกินไปเมื่อเทียบกับกำไร บริษัทที่ยอดเยี่ยมมักลงทุนน้อยแต่ทำกำไรได้เยอะ

 

เริ่มต้นลงทุนหุ้นต่างประเทศเพื่อโอกาสที่ดีกว่า

งบกระแสเงินสด 6

ต้นไม่ที่ร่มรื่นย่อมเริ่มจากเมล็ดพันธุ์ที่ดี การลงทุนที่ดีจึงอยู่ในเศรษฐกิจที่มีการเจริญเติบโต มีนวัตกรรม และมี dynamics สูง

แต่ปัจจุบันเศรษฐกิจไทยเติบโตช้าลงมาก คนไทยเกิดน้อยลง สังคมกำลังจะกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุ ใครที่มีความรู้เรื่องเศรษฐกิจจะพอรู้ว่า “มืดมน” นักลงทุนไทยจำนวนมาก โดยเฉพาะเซียนหุ้นที่เข้าใจเรื่องนี้ จึงเริ่มเลี่ยงไปลงทุนต่างประเทศกันมากขึ้น

ถ้าคุณอยากหาโอกาสที่ดีที่สุดให้ตัวเอง คุณเองก็อาจศึกษาการลงทุนต่างประเทศมากขึ้น แล้วคุณจะพบว่าโอกาสดีๆ มีอยู่มาก ผมมีบทความสอนวิธีลงทุนหุ้นอเมริกา หุ้นต่างประเทศให้คุณแล้ว (คุณจะได้หุ้นฟรีมูลค่าสูงสุด $1000 ด้วย)

สำหรับคนที่คิดว่าการลงทุนหุ้นต่างประเทศไกลตัวเกินไป อยากซื้อกองทุนให้เขาไปลงทุนหุ้นต่างประเทศแทนเรา นั่นก็เป็นทางเลือกที่ดีมากครับ แต่ก่อนหน้านั้น ผมแนะนำให้อ่าน ซื้อกองทุนต่างประเทศยังไง ให้กำไรมากขึ้น 100% ซึ่งผมเขียนไว้ให้คุณโดยเฉพาะเลยครับ

 

ไม่ใช่แค่ดูงบการเงินแล้ววิเคราะห์หุ้นได้

คอร์สลงทุน บิงโก

อยากเลือกหุ้นถูกตัว วิเคราะห์ธุรกิจได้เฉียบขาด?

ท้ายที่สุด งบการเงินก็เป็นแค่ส่วนหนึ่งของการวิเคราะห์หุ้น การลงทุนให้ประสบความสำเร็จ จำเป็นต้องมีความรู้มากกว่าการดูงบการเงินง่ายๆ ไม่กี่บรรทัด

บิงโกมีคอร์สสอนลงทุนที่คุณอาจจะสนใจ คอร์สนี้จะสอนคุณทุกเรื่องที่ต้องรู้ในการลงทุน ทั้งงบการเงิน การวิเคราะห์ธุรกิจ กลยุทธ์การลงทุน และวิธีมองภาพเศรษฐกิจ โดยออกแบบให้เหมือน “นักลงทุนระดับโลกมาสอนคุณเอง” เรียบจบลงทุนจริงได้เลย และจะร่นเวลาให้คุณลงทุนได้เก่งกาจอย่างรวดเร็ว

ดูรายละเอียด

 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราะห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก