“งบดุล” คืออะไร เราจะวิเคราะห์ยังไง มือใหม่ควรดูอะไรบ้าง?

“งบดุล” คือ งบที่บ่งบอกถึงทรัพย์สินและหนี้สินของบริษัทในวันที่ปิดงบ วันนี้เราจะมาดูกันว่าเราจะวิเคราะห์งบดุลได้ยังไง ต้องดูอะไรบ้าง

งบดุลเป็นงบการเงิน 1 ใน 3 ชนิดหลัก คุณอาจสนใจ วิธีอ่านงบการเงินง่ายๆ สำหรับมือใหม่ ซึ่งเป็นภาพที่ใหญ่กว่า หรือ 4 ขั้นตอนง่ายๆ ในการเริ่มลงทุน

ส่วนคนที่อยากลงทุนเก่งเร็วๆ บิงโกมีคอร์สลงทุนดีๆ​ ซึ่งจะสอนวิธีลงทุนอย่างละเอียด โดยใช้เทคนิคของนักลงทุนชั้นนำทั่วโลกมาสอนคุณอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ (สอนตั้งแต่พื้นฐานจนลงทุนเก่ง) ซึ่งจะช่วยให้คุณสร้างความมั่งคั่งไปได้ตลอดชีวิต

เรามาเริ่มรู้จักงบดุลกันดีกว่าครับ

 

งบดุลบอกเราว่าใน “วันที่ปิดงบ” บริษัทมีทรัพย์สินและหนี้สินเท่าไร

งบดุล 1

งบดุลจะบ่งบอกถึง 3 สิ่ง

  1. สินทรัพย์/ทรัพย์สิน (Assets) คือสิ่งที่บริษัทมี เช่น เงินสด ที่ดิน โต๊ะ เก้าอี้
  2. หนี้สิน (Liabilities) คือสิ่งที่บริษัทติดค้างคนอื่นไว้ เช่น หนี้สินระยะสั้น หนี้สินระยะยาว
  3. ส่วนของผู้ถือหุ้น (Equity) คือตัวเลขสมมุติว่าถ้าบริษัทเอาสินทรัพย์ไปจ่ายหนี้จนหมด บริษัทจะเหลือแค่ไหน ค่านี้บางทีก็จะเรียกว่า “ทุน” หรือ “ส่วนทุน” หรือ “ส่วนของเจ้าของ”

งบดุล 2

กฎที่คุณต้องจำคือ สินทรัพย์ = หนี้สิน + ส่วนของผู้ถือหุ้น

เวลาอ่านงบดุล ให้มองว่าบริษัทเป็นเหมือนคนครับ คนเราจะมีสินทรัพย์กับหนี้สิน และถ้าเอามาลบกัน ก็จะเหลือเป็นสิ่งที่คนคนนั้นมีอยู่จริงๆ มันคือ “ส่วนของผู้ถือหุ้น” ที่จะเหลือหลังจากเอา “สินทรัพย์มา” หักลบ “ส่วนของเจ้าหนี้” ไปหมดแล้ว

เช่น ถ้าเรามีบ้านมูลค่า 5 ล้านบาท และเงินฝากธนาคาร 2 ล้านบาท โดยมีหนี้สิน 6 ล้านบาท

  • ทรัพย์สินจะเป็น 5+2 = 7 ล้านบาท
  • หนี้สินคือ 6 ล้านบาท
  • ส่วนของผู้ถือหุ้น 7 – 6 = 1 ล้านบาท นี่คือเงินจริงๆ ที่เรามี หลังหักหนี้สินแล้ว

 

สินทรัพย์ แบ่งง่ายๆ เป็นระยะสั้นกับระยะยาว

  • สินทรัพย์ระยะสั้น คือสิ่งที่เปลี่ยนเป็นเงินได้ง่าย มีอีกชื่อว่า “สินทรัพย์หมุนเวียน” เช่น เงินสด สินค้าคงคลัง ลูกหนี้การค้า หุ้นที่บริษัทซื้อไว้ (บริษัทก็เล่นหุ้นได้เหมือนคนนะเออ)
  • สินทรัพย์ระยะยาว คือสิ่งที่ต้องใช้เวลาเกิน 1 ปีในการเปลี่ยนเป็นเงินสด เช่น ที่ดิน โรงงาน รถยนต์ อาคาร เครื่องจักร เป็นต้น

 

หนี้สิน แบ่งเป็นระยะสั้นกับระยะยาว เช่นกัน

  • หนี้สินระยะสั้น คือหนี้ที่ต้องจ่ายภายใน 1 ปี มีอีกชื่อว่า “หนี้สินหมุนเวียน” เช่น เจ้าหนี้การค้า เงินกู้ระยะสั้น
  • หนี้สินระยะยาว คือหนี้ที่ต้องจ่ายในเวลาเกิน 1 ปี เช่น เงินกู้ระยะยาว

หนี้สินจะบอกเราสองอย่างเกี่ยวกับบริษัท อย่างแรกคือประสิทธิภาพ บริษัทที่กู้เงินมาทำธุรกิจเยอะแสดงว่าไม่มีประสิทธิภาพ อย่างที่สองคือความเสี่ยง ถ้าบริษัทมีหนี้สินเยอะ หากเกิดวิกฤติเศรษฐกิจขึ้นมา บริษัทขายของไม่ได้ ก็อาจไม่มีเงินมาจ่ายหนี้ได้

 

สำหรับ ส่วนของผู้ถือหุ้น ในการวิเคราะห์เบื้องต้นจริงค่านี้จะไม่สำคัญมากครับ เพราะค่านี้เป็นการบอก “อดีต” ว่าในอดีตบริษัทเคยลงทุนไปเท่าไร (เงินลงทุนจะเท่ากับทรัพย์สิน – หนี้สิน ซึ่งแสดงออกมาเป็นส่วนของผู้ถือหุ้น) แต่เงินลงทุนในอดีตนั้นไม่สำคัญ เราควรมองไปที่อนาคตมากกว่า ซึ่งส่วนของผู้ถือหุ้นบอกอะไรไม่ได้มาก

  • บางกรณีที่บริษัทใกล้เจ๊ง นักลงทุนบางคนจะดูส่วนของผู้ถือหุ้น เพื่อดูว่าถ้าบริษัทต้องเลิกกิจการแล้วจะมีเงินเหลือมาคืนผู้ถือหุ้นเท่าไร

 

ดูตัวอย่างกันดีกว่า อันนี้เป็นงบดุลของบรัษัทไทยออยล์ (TOP) ในปี 2017-2020 จากเว็บไซต์ investing.com นะครับ

งบดุล 3

เวลาดูงบดุล ให้ดูแยก 3 ตัวเลยนะครับ (สินทรัพย์ หนี้สิน ส่วนของผู้ถือหุ้น) โดยผมคั่นด้วยหยึกหยักสีแดงให้แล้ว

เวลาคุณอ่านตาราง สังเกตนะครับว่าบางบรรทัดมันจะเว้นเข้าไปจากบรรทัดก่อนหน้า บรรทัดที่เว้นเข้าไปนั่นหมายถึง “เป็นส่วนหนึ่ง” ของบรรทัดบน เช่น ถ้าคุณไปดูตรง “หนี้สิน” เขาจะมีหนี้สินระยะยาวรวม แล้วอีก 2 บรรทัดถัดมาจะย่นเข้าไป แสดงว่าอีก 2 บรรทัดถัดมานั้นเป็นส่วนหนึ่งของ “หนี้สินระยะยาวรวม”

สินทรัพย์จะแยกเป็นสินทรัพย์ระยะสั้นกับระยะยาว ซึ่งพอเอามาบวกกันจะได้สินทรัพย์รวม

  • สินทรัพย์ระยะสั้น เขาใช้อีกชื่อว่า “สินทรัพย์สภาพคล่อง” ซึ่งเหมือนกัน
  • บรรทัด “สินทรัพย์สภาพคล่องรวม” จะอยู่บนสุด แล้วเขาค่อยแยกย่อยอีกที
  • เขาไม่มีการรวม “สินทรัพย์ระยะยาว” ให้เรา แต่กระจายหลายบรรทัดออกมาเลย
  • พอเอา “สินทรัพย์สภาพคล่องรวม” รวมกับสินทรัพย์ย่อยอื่นๆ ก็จะได้สินทรัพย์รวม

หนี้สินก็จะแยกเป็นระยะสั้นกับระยะยาว พอเอามาบวกกันจะได้หนี้สินรวม

  • หนี้สินระยะสั้น เขาใช้อีกชื่อว่า “หนี้สินหมุนเวียน” ซึ่งเหมือนกัน
  • บรรทัด “หนี้สินหมุนเวียนรวม” จะอยู่บนสุด แล้วเขาค่อยแยกย่อยอีกที
  • เขาไม่มีการรวม “หนี้สินระยะยาว” ให้เรา แต่กระจายหลายบรรทัดออกมาเลย
  • พอเอา “หนี้สินหมุนเวียนรวม” รวมกับหนี้สินย่อยอื่นๆ ก็จะได้หนี้สินรวม

ส่วนของผู้ถือหุ้น ไม่ค่อยต้องดูมาก สังเกตว่าเท่ากับสินทรัพย์ – หนี้สิน ตามกฎ สินทรัพย์ = หนี้สิน + ส่วนของผู้ถือหุ้น ที่เราพูดถึงด้านบน

 

ลูกหนี้การค้า = สินทรัพย์, เจ้าหนี้การค้า = หนี้สิน

ในงบดุล คุณจะเห็น “เจ้าหนี้การค้า” กับ “ลูกหนี้การค้า” ซึ่งเป็นรายการสำคัญครับ

  • ลูกหนี้การค้าเป็นสินทรัพย์ รายการนี้เกิดจากลูกค้าซื้อของแล้วยังไม่จ่าย ลูกค้าจึงเป็นหนี้เรา เป็นเหมือน “สินทรัพย์” ที่ในอนาคตจะเปลี่ยนเป็นเงินได้
    • เช่น ลูกค้ามาซื้อรถแล้วขอผ่อน ลูกค้าซื้อไอโฟนแล้วขอผ่อน
    • ถ้าบริษัทมีลูกหนี้การค้าเยอะ แสดงว่าบริษัทมีอำนาจต่อรองต่ำ ลูกค้าซื้อก่อนจ่ายทีหลังแต่คุณก็ต้องยอม
    • ถ้าลูกหนี้การค้าสูงกว่าปีก่อนๆ มีแนวโน้มว่าบริษัทเริ่มมีปัญหา
    • สมมุติว่าบริษัทขายของได้ แต่ลูกค้ายังไม่จ่ายเงิน ขอติดไว้ก่อน บริษัทก็จะมี “ลูกหนี้การค้า” เยอะ แล้วอยู่มาวันหนึ่งถ้าลูกค้าเบี้ยวหนี้คุณ สินทรัพย์ก้อนนี้จะกลายเป็น 0
  • เจ้าหนี้การค้าเป็นหนี้สิน รายการนี้เกิดจากคุณไปซื้อของคนอื่นแล้วคุณยังไม่จ่าย คุณจึงเป็นหนี้เขา
    • เช่น คุณสั่งสินค้าจากซัพพลายเออร์แล้วจะจ่ายในอีก 3 เดือน
    • ถ้าบริษัทมีเจ้าหนี้การค้าเยอะ หลายคนคิดว่าไม่ดี แต่ที่จริงดีครับ เพราะแสดงว่าบริษัทมีอำนาจต่อรองสูง จ่ายเงินช้าแต่คนอื่นก็ต้องยอม ทำให้บริษัทมีเงินสดเหลือไปทำธุรกิจได้ง่ายขึ้น

 

สินค้าคงคลัง = สินทรัพย์

งบดุล 4

ถ้าบริษัทซื้อสินค้ามาเก็บไว้ก่อน แล้วในอนาคตจะเอาไปขาย ก็จะมาอยู่ในรูปสินทรัพย์ “สินค้าคงคลัง”

เช่น บริษัทซื้อกะละมังมาวางขายในร้าน กะละมังก็จะถูกนับเป็นสินค้าคงคลัง

 

ค่าใช้จ่ายล่วงหน้า = สินทรัพย์

บางบริษัทจะจ่ายค่าบริการล่วงหน้า 1 ปี หรือหลายปี เช่น

  • จ่ายค่าโทรศัพท์มือถือให้พนักงานล่วงหน้า 1 ปี
  • จ่ายค่าบริการ IT ล่วงหน้า 3 ปี

ค่าใช้จ่ายล่วงหน้าจะถูกนับเป็นสินทรัพย์ เพราะเราสามารถเอาไปใช้ประโยชน์ได้ในอนาคต (ได้รับบริการ)

 

ค่าเสื่อมราคาสะสม = สินทรัพย์ติดลบ

ถ้าบริษัทมีที่ดิน โรงงาน เครื่องจักร พวกนี้จะเป็นสินทรัพย์ใช่ไหมครับ

แต่โรงงานกับเครื่องจักร ใช้ไปก็เก่า ดังนั้นบริษัทจะต้องมี “ค่าเสื่อมราคา” ซึ่งคิดเป็นค่าใช้จ่ายทุกปี อยู่ในงบกำไรขาดทุน (อ่านรายละเอียดเรื่องค่าเสื่อมราคาในบทความ วิธีอ่านงบกำไรขาดทุนง่ายๆ)

แต่เพื่อให้คุณไม่ลืม เขาจึงเอาค่าเสื่อมราคาพวกนี้มาจดไว้ แล้วหักจากค่าเครื่องจักร บันทึกไว้ในงบดุล เช่น สมมุติว่าคุณซื้อเครื่องจักรมา 100

ปี 1 จ่ายค่าเสื่อมราคา 20

  • งบกำไรขาดทุนมีค่าใช้จ่าย 20
  • งบดุลมีสินทรัพย์ = เครื่องจักร 100, ค่าเสื่อมราคาสะสม 20 ➝ หักแล้วเครื่องจักรเหลือ 80

ปี 2 จ่ายค่าเสื่อมราคา 20

  • งบกำไรขาดทุนมีค่าใช้จ่าย 20
  • งบดุลมีสินทรัพย์ = เครื่องจักร 100, ค่าเสื่อมราคาสะสม 40 ➝ หักแล้วเครื่องจักรเหลือ 60

ปี 3 จ่ายค่าเสื่อมราคา 20

  • งบกำไรขาดทุนมีค่าใช้จ่าย 20
  • งบดุลมีสินทรัพย์ = เครื่องจักร 100, ค่าเสื่อมราคาสะสม 60 ➝ หักแล้วเครื่องจักรเหลือ 40

ปี 4 จ่ายค่าเสื่อมราคา 20

  • งบกำไรขาดทุนมีค่าใช้จ่าย 20
  • งบดุลมีสินทรัพย์ = เครื่องจักร 100, ค่าเสื่อมราคาสะสม 80 ➝ หักแล้วเครื่องจักรเหลือ 20

ปี 5 จ่ายค่าเสื่อมราคา 20

  • งบกำไรขาดทุนมีค่าใช้จ่าย 20
  • งบดุลมีสินทรัพย์ = เครื่องจักร 100, ค่าเสื่อมราคาสะสม 100 ➝ หักแล้วเครื่องจักรเหลือ 0

ปี 6 ไม่เหลือให้หักแล้ว

  • งบกำไรขาดทุนไม่เปลี่ยน
  • งบดุล เหมือนปีก่อน = เครื่องจักร 100, ค่าเสื่อมราคาสะสม 100 ➝ หักแล้วเครื่องจักรเหลือ 0

 

สินทรัพย์ที่ไม่มีตัวตน

คือสินทรัพย์ที่ไม่ใช่สิ่งของ เช่น

  • ลิขสิทธิ์
  • สิทธิบัตร
  • สิทธิการเช่า
  • เครื่องหมายการค้า

 

ค่าความนิยม

งบดุล 5

“ค่าความนิยม” (Goodwill) เป็นสินทรัพย์ชนิดหนึ่ง

มันคือการบันทึก “คุณค่าที่จับต้องไม่ได้” ของธุรกิจออกมาเป็นตัวเงิน เช่น ความน่าเชื่อถือ แบรนด์ ฯลฯ

และเนื่องจากมันจับต้องไม่ได้ เราจึงประเมินได้ยากว่า “ค่าความนิยม” ที่บันทึกเอาไว้นั้นเหมาะสมหรือเปล่า

เวลาวิเคราะห์งบแล้วคุณเจอค่าความนิยม คุณอาจคิดเสียว่ามัน “ไม่มี” เลยก็ได้ โดยการเอาไปหักจากตัวสินทรัพย์รวม

อ่านรายละเอียดเกี่ยวกับค่าความนิยมเพิ่มได้ที่นี่ครับ

 

เงินกู้เป็นการเปลี่ยนรูปสินทรัพย์ ดอกเบี้ยเป็นค่าใช้จ่าย

เวลาบริษัทกู้เงิน จะส่งผลต่องบดุล 2 ฝั่ง

  1. เงินสดในธนาคารเพิ่ม (สินทรัพย์เพิ่ม)
  2. หนี้สินเพิ่มเป็นจำนวนเท่ากัน

เช่น ถ้าบริษัทกู้เงิน 100 ก็จะมีเงินเพิ่ม 100 พร้อมหนี้สินเพิ่ม 100

เวลาบริษัทจ่ายเงินคืน คราวนี้จะยุ่งยากขึ้น เพราะเงินที่จ่ายคืนจะมี 2 ส่วน คือเงินต้น กับดอกเบี้ย

การจ่ายเงินต้นจะส่งผลแค่งบดุล เงินสดในธนาคารหายไป พร้อมกับหนี้สินหายไป (เหมือนตอนกู้)

แต่การจ่ายดอกเบี้ย จะถือว่าเป็นค่าใช้จ่ายในการทำธุรกิจ มันจึง

  1. ถูกคิดเป็นค่าใช้จ่ายในงบกำไรขาดทุน
  2. ส่งผลต่องบดุล โดยไปลดเงินสดและส่วนของผู้ถือหุ้นในจำนวนเท่ากัน

เช่น ถ้าบริษัทจ่ายเงินต้นคืน 100 พร้อมดอกเบี้ย 10

การจ่ายเงินต้นจะส่งผลกับงบดุลแบบตรงข้ามกับตอนกู้ เงินลด 100 หนี้ลด 100

ดอกเบี้ยจะเป็นค่าใช้จ่าย 10 ในงบกำไรขาดทุน

นอกจากนี้ ดอกเบี้ยจะไปลดเงิน 10 ในสินทรัพย์ และลดส่วนของผู้ถือหุ้นลงอีก 10 ในเวลาเดียวกัน

 

ระวัง!…งบการเงินไม่ใช่ทั้งหมดในการวิเคราะห์ธุรกิจ

หลายคนที่สนใจเรียนรู้เรื่องงบการเงิน อาจตั้งใจไว้ว่าพออ่านงบการเงินเป็น ก็จะสามารถมองธุรกิจได้เฉียบขาด วิเคราะห์หุ้นได้เก่ง และจะลงทุนได้อย่างประสบความสำเร็จ

นี่เป็นความเข้าใจผิดที่อันตรายมากครับ เพราะแท้ที่จริงแล้วงบการเงินเป็นแค่จุดเริ่มต้นเท่านั้น หุ้นบางตัวงบออกมาดี แต่ราคาลงไปเรื่อยๆ นั่นเพราะการลงทุนต้องมีมากกว่าแค่ดูงบการเงิน คุณจะต้องเข้าใจลักษณะของตัวธุรกิจงทุนจริง เข้าใจตลาดหุ้น มีวิธีบริหารความเสี่ยง และมีกลยุทธ์การลงทุนที่ถูกต้องด้วย

คุณสามารถศึกษาสิ่งเหล่านี้เพิ่มเองได้จากหนังสือ โดยความรู้ที่ดีที่สุดในการลงทุนมักอยู่ในหนังสือ เพราะหนังสือเป็นช่องทางที่เราจะเข้าถึงแนวคิดในการลงทุนของนักลงทุนชั้นนำของโลกได้ง่ายที่สุด ไม่มีนักลงทุนระดับโลกคนไหนจะมาอธิบายเทคนิคของตัวเองอย่างละเอียดในยูทูป แต่ถ้าเขาอยากถ่ายทอดจริงๆ เขามักเขียนเป็นหนังสือไปเลย

ที่จริงนักลงทุนไทยเก่งๆ ก็เรียนรู้แนวคิดของนักลงทุนชั้นนำในโลกจากหนังสือนี่แหละครับ ผมกล้าบอกเลยว่านักลงทุนไทยทุกคนที่ประสบความสำเร็จ ล้วนอ่านหนังสือมาเยอะมาก

ผมได้สรุปหนังสือลงทุนดีๆ ที่ควรอ่าน ให้คุณแล้วครับ

แต่ปัญหาของหลายๆ คนคือ หนังสือแต่ละเล่มนั้นใช้เวลาอ่านเยอะ แถมทำความเข้าใจยาก อ่านรู้เรื่องบ้างไม่รู้เรื่องบ้าง กว่าจะอ่านครบแล้วเชื่อมโยงแต่ละเล่มเข้าด้วยกันก็กินเวลานาน (เล่มนึงบางทีอ่านเป็นสัปดาห์ เล่มหนาๆ ก็เป็นเดือน)

แนวคิดบางอย่างก็อยู่ในบริบทของต่างประเทศและเกิดขึ้นเมื่อหลายสิบปีก่อน จึงยากที่จะทำความเข้าใจ บิงโกจึงมีคอร์สลงทุนที่ช่วยเรียบเรียงลำดับความคิดเรื่องการลงทุนทั้งหมดให้คุณ คอร์สนี้จะสอนคุณทุกเรื่องที่ต้องรู้ในการลงทุน ทั้งงบการเงิน การวิเคราะห์ธุรกิจ กลยุทธ์การลงทุน และวิธีมองภาพเศรษฐกิจ โดยเรียบจบลงทุนจริงได้เลย ดูรายละเอียดคอร์สด้านล่างได้เลยครับ

ดูรายละเอียด

 

เรื่องราวร้านขายเป็ดของแจ็ค

งบดุล 7
ภาพของแจ็ค ถ่ายวันที่เขาลืมโกนหนวด

แจ็คเป็นคนมีอันจะกิน พ่อแม่มีฐานะ แจ็คจะอยู่บ้านเฉยๆ ก็มีเงินใช้ เป็นชีวิตที่หลายคนได้แต่อิจฉา

แต่แจ็ครู้สึกว่านั่นไม่ใช่ตัวเขา ชีวิตของเขาต้องมีอะไรมากกว่านั้น

แจ็คแสวงหาความท้าทาย เขามีความฝัน เขาอยากพิสูจน์ตัวเอง

นั่นทำให้แจ็คตัดสินใจเปิดร้านขายเป็ดย่าง โดยแจ็คจะใช้น้ำซอสสูตรลับที่คิดค้นโดยปู่ทวดและถ่ายทอดกันมาในตระกูล เขาจะย่างเป็ดด้วยสไตล์ผสมผสานแบบอิตาเลียนและเอธิโอเปีย พร้อมขายเป็ดรมควันชั้นหนึ่งที่เขาไปเรียนมาจากรายการเชฟกระทะเหล็กในยูทูป

เราจะมาดูกันว่า “งบดุล” ของแจ็คจะหน้าตายังไง

สังเกตให้ดีว่ากฎทางบัญชีจะถูกต้องเสมอ สินทรัพย์ = หนี้สิน + ส่วนของผู้ถือหุ้น

 

แจ็คไปจดทะเบียนบริษัท

พ่อให้เงินแจ็คมาจดทะเบียนบริษัท 1 ล้านบาท

สินทรัพย์: เงิน 1 ล้านบาทในธนาคาร

หนี้สิน: 0

ส่วนของผู้ถือหุ้น: 1 ล้านบาท

 

แจ็คซื้อตู้เย็นราคา 20,000 บาท

งบดุล 8

การซื้อตู้เย็นเป็นแค่การเปลี่ยนรูปสินทรัพย์ จากเงินไปเป็นตู้เย็น ไม่เกิดเป็นกำไรหรือขาดทุนแต่อย่างใด

สิ่งที่เกิดขึ้น: เงิน 20,000 กลายเป็นตู้เย็น 20,000

สินทรัพย์: เงิน 980,000 ในธนาคาร + เครื่องจักร 20,000

หนี้สิน: 0

ส่วนของผู้ถือหุ้น: 1 ล้านบาท

 

แจ็คซื้อเป็ดดิบมาเก็บไว้ 5,000 บาท

งบดุล 9

การซื้อเป็ดเป็นแค่การเปลี่ยนรูปสินทรัพย์ จากเงินไปเป็นเป็ด ไม่เกิดเป็นกำไรหรือขาดทุนแต่อย่างใด

สิ่งที่เกิดขึ้น: เงิน 5,000 กลายเป็นเป็ด 5,000

สินทรัพย์: เงิน 975,000 ในธนาคาร + เครื่องจักร 20,000 + สินค้าคงคลัง 5,000

หนี้สิน: 0

ส่วนของผู้ถือหุ้น: 1 ล้านบาท

 

ลูกค้าซื้อเป็ดกิน 500 โดยต้นทุนเป็ด 100 และค่าซอส 50

งบดุล 10

มีการทำธุรกิจเกิดขึ้น การลงบัญชีจะส่งผลถึงงบการเงิน 2 จุดด้วยกัน นั่นคือ

  1. งบกำไรขาดทุน มีรายได้ 500 รายจ่าย 150 (ลองอ่านวิธีดูงบกำไรขาดทุนง่ายๆ)
  2. งบดุล เงินสดเพิ่มขึ้น 500 แต่เป็ดหายไป 100 ➝ จากนั้นเงินก็หายไปอีก 50 เป็นค่าซอส

สิ่งที่เกิดขึ้น: เงินเพิ่ม 450, เป็ดหาย 100, ส่วนของผู้ถือหุ้นเพิ่มเท่ากับส่วนต่าง (350)

สินทรัพย์: เงิน 975,450 ในธนาคาร + เครื่องจักร 20,000 + สินค้าคงคลัง 4,900

หนี้สิน: 0

ส่วนของผู้ถือหุ้น: 1,000,350

 

แต่…ไม่ใช่แค่ดูงบการเงินแล้ววิเคราะห์หุ้นได้

คอร์สลงทุน บิงโก นักลงทุนระดับโลก

อยากเลือกหุ้นถูกตัว วิเคราะห์ธุรกิจได้เฉียบขาด?

งบการเงินเป็นแค่จุดเริ่มต้นของการวิเคราะห์ธุรกิจ หุ้นบางตัวงบออกมาดี แต่ราคาลงไปเรื่อยๆ นั่นเพราะการลงทุนต้องมีมากกว่าดูงบการเงินเป็น บิงโกมีคอร์สสอนลงทุนที่จะคุณอาจสนใจ คอร์สนี้จะสอนคุณทุกเรื่องที่ต้องรู้ในการลงทุน ทั้งงบการเงิน การวิเคราะห์ธุรกิจ กลยุทธ์การลงทุน และวิธีมองภาพเศรษฐกิจ โดยเรียบจบลงทุนจริงได้เลย และจะร่นเวลาให้คุณลงทุนได้เก่งกาจอย่างรวดเร็ว

ดูรายละเอียด

 

ลูกค้าสั่งเป็ดล็อตใหญ่ 10,000 โดยต้นทุนเป็ด 2,000 ค่าซอส 1,000 แต่ขอติดเงินไว้ก่อน

งบดุล 11

มีการทำธุรกิจเกิดขึ้น การลงบัญชีจะส่งผลถึงงบการเงิน 2 จุดด้วยกัน นั่นคือ

  1. งบกำไรขาดทุน มีรายได้ 10,000 รายจ่าย 3,000 (ลองอ่านวิธีดูงบกำไรขาดทุนง่ายๆ)
  2. งบดุล ลูกหนี้การค้าเพิ่ม 10,000 แต่เป็ดหายไป 2,000 ➝ จากนั้นเงินก็หายไปอีก 1,000 เป็นค่าซอส

สิ่งที่เกิดขึ้น: ลูกหนี้การค้าเพิ่ม 10000, เงินลด 1000, เป็ดหาย 2000, ส่วนของผู้ถือหุ้นเพิ่มเท่ากับส่วนต่าง (7,000)

สินทรัพย์: เงิน 974,450 ในธนาคาร + เครื่องจักร 20,000 + สินค้าคงคลัง 2,900 + ลูกหนี้การค้า 10,000

หนี้สิน: 0

ส่วนของผู้ถือหุ้น: 1,007,350

 

เป็ดที่เก็บไว้เน่า คิดเป็นมูลค่า 2,000

การที่เป็ดเน่าก็เป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจ การลงบัญชีจะส่งผลถึงงบการเงิน 2 จุดด้วยกัน นั่นคือ

  1. งบกำไรขาดทุน มีรายจ่าย 2,000
  2. งบดุล เป็ดหายไป 2,000

สิ่งที่เกิดขึ้น: เป็ดหาย 2000, ส่วนของผู้ถือหุ้นลด 2000

สินทรัพย์: เงิน 974,450 ในธนาคาร + เครื่องจักร 20,000 + สินค้าคงคลัง 900 + ลูกหนี้การค้า 10,000

หนี้สิน: 0

ส่วนของผู้ถือหุ้น: 1,005,350

 

ลูกค้าไม่จ่ายเงินที่ติดไว้ แล้วหายไปเลย โทรไปไม่รับสาย

งบดุล 12
โทรไปไม่รับสาย ติดต่อไม่ได้

ลูกค้าไม่จ่ายเงินก็เป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจ การลงบัญชีจะส่งผลถึงงบการเงิน 2 จุดด้วยกัน นั่นคือ…

  1. งบกำไรขาดทุน มีรายจ่าย 10,000 เพราะ “ลูกหนี้การค้า” ซึ่งเป็นสินทรัพย์ จะถูกหักออก
  2. งบดุล ลูกหนี้การค้าหายไป 10,000

สิ่งที่เกิดขึ้น: ลูกหนี้การค้าหายไป 10000, ส่วนของผู้ถือหุ้นลด 10000

สินทรัพย์: เงิน 974,450 ในธนาคาร + เครื่องจักร 20,000 + สินค้าคงคลัง 900

หนี้สิน: 0

ส่วนของผู้ถือหุ้น: 995,350

 

ตู้เย็นเสีย ใช้แล้วไม่เย็น แต่จะทิ้งก็เสียดาย เลยเก็บไว้ก่อน

ตรงนี้จะมี “ค่าเสื่อมราคา” เกิดขึ้น ซึ่งจะเสื่อมแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับวิธีลงบัญชี ขึ้นอยู่กับการประเมินของนักบัญชี แต่เอาง่ายๆ ว่านักบัญชีอยากหักสัก 5,000 ละกันนะครับ ตรงนี้จะส่งผลถึงงบการเงิน 2 จุดด้วยกัน นั่นคือ…

  1. งบกำไรขาดทุน มีรายจ่าย 5,000 เป็นค่าเสื่อมราคา
  2. งบดุล ค่าเสื่อมราคาสะสมเพิ่มขึ้น 5,000

สิ่งที่เกิดขึ้น: ค่าเสื่อมราคาสะสมเพิ่มขึ้น 5000, ส่วนของผู้ถือหุ้นลด 5000

สินทรัพย์: เงิน 974,450 ในธนาคาร + [เครื่องจักร 20,000 แต่ค่าเสื่อมสะสม 5,000 สุทธิเหลือ 15,000] + สินค้าคงคลัง 900

หนี้สิน: 0

ส่วนของผู้ถือหุ้น: 990,350

 

แจ็คแอบเอาเงินไปใช้ 600,000 ซื้อมอเตอร์ไซค์คันใหม่

งบดุล 13

แจ็คอยากได้มอเตอร์ไซค์แต่พ่อไม่ซื้อให้ แจ็คจึงยักยอกเอาจากเงินในธนาคารของบริษัท

แต่ถ้าแจ็คเอาเงินไปใช้เฉยๆ พอถึงเวลาปิดงบ เงินในธนาคารที่หายไป 600,000 เฉยๆ จะไปละเมิดกฎที่ว่า  สินทรัพย์ = หนี้สิน + ส่วนของผู้ถือหุ้น

ดังนั้น เงินจะหายไปเฉยๆ ไม่ได้ ถ้าเงินหายไปก็ต้องมีสินทรัพย์อย่างอื่นมาแทน เพื่อดุลให้สมการเท่ากันตามกฎ

สิ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือ แจ็คจะต้องไปหาสินทรัพย์อย่างอื่นมาใส่ด้วย ในที่นี้แจ็คจะใส่ “เงินยืมจากตัวเอง” เข้าไปเป็นสินทรัพย์ชนิดใหม่ เสมือนกับว่าบริษัทเป็นเจ้าหนี้แจ็ค แล้วแจ็คก็จะจ่ายเงินคืนให้บริษัทสักวัน (วันไหนก็ไม่รู้ อาจเป็นอนาคตที่ไกลมากกกกก)

สิ่งที่เกิดขึ้น: เงินสดลดลง 600000, เงินยืมจากตัวเอง[สินทรัพย์] เพิ่มขึ้น 600000, ส่วนของผู้ถือหุ้นเท่าเดิม

สินทรัพย์: เงิน 374,450 ในธนาคาร + เครื่องจักรสุทธิ 15,000 + สินค้าคงคลัง 900 + เงินยืมจากตัวเอง[สินทรัพย์] 600,000

หนี้สิน: 0

ส่วนของผู้ถือหุ้น: 990,350

ก่อนจะไปต่อ ผมอยากให้คุณสังเกตให้ดีว่าตอนนี้บริษัทขายเป็ดแทบไม่ได้ เงินลดลงจากตอนแรก 1 ล้านเหลือแค่ 3 แสนกับตู้เย็นเสียๆ หนึ่งใบ แต่ถ้าคุณไปดู “ส่วนของผู้ถือหุ้น” คุณจะยังพบว่ามันยังสวยอยู่ ยังเหลืออีกตั้งเกือบล้านสบายๆ

เวลาคุณอ่านงบดุล ไอ้เจ้า “ส่วนของผู้ถือหุ้น” จึงเป็นค่าที่ไม่ค่อยมีประโยชน์ มันบอกอะไรไม่ได้มากเกี่ยวกับสถานการณ์จริงของบริษัท

 

แจ็คกู้เงินเพิ่ม 2 ล้าน

สิ่งที่เกิดขึ้น: เงินสดเพิ่มขึ้น 2 ล้าน, เงินกู้ระยะยาวเพิ่มขึ้น 2 ล้าน, ส่วนของผู้ถือหุ้นเท่าเดิม

สินทรัพย์: เงิน 2,374,450 ในธนาคาร + เครื่องจักรสุทธิ 15,000 + สินค้าคงคลัง 900 + เงินยืมจากตัวเอง[สินทรัพย์] 600,000

หนี้สิน: เงินกู้ระยะยาว 2,000,000

ส่วนของผู้ถือหุ้น: 990,350

 

แจ็คเพิ่มทุนอีก 1 ล้าน

การเพิ่มทุนเป็นเหมือนการ “เติมเงิน” เข้าไป มักเกิดขึ้นเมื่อบริษัทอยากขยายธุรกิจเพิ่ม หรือบริษัททำธุรกิจเสียหายจนต้องการเงินมาอุดเพื่อให้รอด

เวลาบริษัทเพิ่มทุน ก็จะมีเงินก้อนใหม่มาให้ใช้ แต่แลกกับการที่บริษัทต้อง “ออกหุ้นเพิ่ม” ทำให้หุ้นทั้งหมดของบริษัทมีมากขึ้น ความเป็นเจ้าของของผู้ถือหุ้นเก่าก็จะลดลง (ตรงนี้ใครงง ลองอ่านบทความ หุ้นคืออะไร เพิ่มนะครับ)

สิ่งที่เกิดขึ้น: เงินสดเพิ่มขึ้น 1 ล้าน, ส่วนของผู้ถือหุ้นเพิ่มขึ้น 1 ล้าน

สินทรัพย์: เงิน 3,374,450 ในธนาคาร + เครื่องจักรสุทธิ 15,000 + สินค้าคงคลัง 900 + เงินยืมจากตัวเอง[สินทรัพย์] 600,000

หนี้สิน: เงินกู้ระยะยาว 2,000,000

ส่วนของผู้ถือหุ้น: 1,990,350

 

แจ็คสั่งซื้อเตาอบใหม่ 100,000 บาท แต่ติดไว้ก่อน ยังไม่จ่ายเงิน

งบดุล 14

แบบนี้เงินสดของบริษัทก็เท่าเดิม แจ็คจะมีเตาอบใหม่ แต่มี “เจ้าหนี้การค้า” เกิดขึ้น

สิ่งที่เกิดขึ้น: เครื่องจักรเพิ่มขึ้น 100000, เจ้าหนี้การค้าเพิ่มขึ้น 100000

สินทรัพย์: เงิน 3,374,450 ในธนาคาร + เครื่องจักรสุทธิ 115,000 + สินค้าคงคลัง 900 + เงินยืมจากตัวเอง[สินทรัพย์] 600,000

หนี้สิน: เงินกู้ระยะยาว 2,000,000 + เจ้าหนี้การค้า 100000

ส่วนของผู้ถือหุ้น: 1,990,350

 

แจ็คจ่ายหนี้ 100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย 200,000 บาท

งบดุล 15

เดิมบริษัทมีเงินกู้ 2 ล้าน ถ้าคิดดอกเบี้ยสัก 10% ก็จะเป็น 200,000 นั่นเอง

อย่าลืมนะครับ การใช้คืนเงินต้นจะไม่นับเป็นกำไรขาดทุน แต่การจ่ายดอกเบี้ยคิดเป็นต้นทุนของธุรกิจ ดังนั้น…

  1. งบกำไรขาดทุน มีรายจ่ายดอกเบี้ย 200,000
  2. งบดุล เงินหายไป 300,000 เพื่อจ่ายเงินต้นและดอกเบี้ย และจะไปสะท้อนที่หนี้สินกับส่วนของผู้ถือหุ้นด้วย

สิ่งที่เกิดขึ้น: เงินลดลง 300000, เงินกู้ระยะยาวลดลง 100000, ส่วนของผู้ถือหุ้นลดลง 200000

สินทรัพย์: เงิน 3,074,450 ในธนาคาร + เครื่องจักรสุทธิ 115,000 + สินค้าคงคลัง 900 + เงินยืมจากตัวเอง[สินทรัพย์] 600,000

หนี้สิน: เงินกู้ระยะยาว 1,900,000 + เจ้าหนี้การค้า 100000

ส่วนของผู้ถือหุ้น: 1,690,350

 

ทั้งหมดนี้เป็นรายละเอียด ของรายการต่างๆ ในงบดุลนะครับ ต่อไปเราจะมาดูวิธีวิเคราะห์งบดุลเบื้องต้นกัน

 

สัดส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (Debt to Equity)

หน้าที่สำคัญของงบดุลก็คือ บอกเราว่าตอนนี้บริษัทมีสถานะทางการเงินอย่างไร

พูดอีกแง่ เราต้องการรู้ว่า “บริษัทมีหนี้สินเหมาะสมกับขนาดของมันหรือเปล่า”

ถ้าบริษัทเล็ก ก็มีหนี้สินได้น้อย

ถ้าบริษัทใหญ่ ก็มีหนี้สินได้เยอะ แต่ก็ไม่ควรเยอะมากเกินไป

ทุกอย่างมีขอบเขตของมัน ซึ่งวิธีดูแบบหนึ่งคือให้ดูสัดส่วน “หนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้น” (Debt to Equity หรือ D/E)

ง่ายๆ ครับ งบดุลมันมี 3 ตัวใช่ไหม

  1. สินทรัพย์
  2. หนี้สิน (Debt)
  3. ส่วนของผู้ถือหุ้น (Equity)

เอาสองตัวหลังมาหารกัน จะได้สัดส่วน D/E = Debt/Equity = หนี้สิน/ส่วนของผู้ถือหุ้น

ถ้าค่านี้เยอะ แสดงว่าบริษัทเป็นหนี้มากไป ซึ่งไม่ดี

แต่! การใช้สัดส่วนนี้ ต้องระวังดังนี้

  • ธุรกิจแต่ละชนิด จะมีสัดส่วน D/E ต่างกัน เช่น บริษัทโรงไฟฟ้าจะต้องลงทุนสูง แต่ธุรกิจเสถียรมั่นคง คุณจึงพบว่าโรงไฟฟ้ามักมีสัดส่วน D/E สูง เพราะธุรกิจเขามั่นคงอยู่แล้ว กู้ได้เยอะไม่ต้องกลัว
  • ค่า D/E จะคิดจาก “หนี้สิน” ซึ่งรวมหนี้สินทุกชนิด ตั้งแต่เจ้าหนี้การค้า หนี้สินระยะสั้น หนี้สินระยะยาว ฯลฯ ซึ่งมองดีๆ ก็ไม่ค่อยสมเหตุสมผล เพราะเจ้าหนี้การค้าหรือหนี้สินระยะสั้นไม่น่าส่งผลต่อ “ความเสี่ยงด้านหนี้สิน” เท่าไร นักลงทุนบางคนจึงคำนวณ D/E จากหนี้สินระยะยาวเท่านั้น

 

ROE และ ROA บอกถึงประสิทธิภาพการทำกำไร

บางครั้งเราก็ดู “ประสิทธิภาพในการทำกำไร” ได้จากค่า ROE และ ROA

  1. ROE (Return on Equity) = กำไร/ส่วนของผู้ถือหุ้น
  2. ROA (Return on Assets) = กำไร/สินทรัพย์

ทั้งสองค่านี้บอกเราว่า บริษัทเอาเงินทุนที่มีไปทำกำไรได้แค่ไหน ยิ่งสูงยิ่งดี

ROE คิดกำไรเทียบกับส่วนของผู้ถือหุ้น ซึ่งเป็น “เงินทุนเพียวๆ” ที่เป็นของบริษัทจริงๆ แล้วเอาไปทำธุรกิจเพื่อหากำไร

  • เนื่องจาก ROE บอกถึงกำไรเทียบเงินทุน มันจึงช่วยบอกว่าพอบริษัทมีกำไร จะเอากำไรนั้นไปขยายธุรกิจต่อได้เร็วแค่ไหน นั่นทำให้ ROE สะท้อนความเร็วในการโตของบริษัท และเป็นค่าที่นักลงทุนหลายคนสนใจ
  • ดูคร่าวๆ ว่าถ้า ROE > 20 ถือว่าดี บริษัทมีศักยภาพในการโตสูง

ROA คิดกำไรเทียบกับสินทรัพย์ ซึ่งเป็น “เงินทุนบวกหนี้” ที่บริษัทเอาเงินทุนเดิมไปกู้มาเพิ่ม เพื่อไปทำธุรกิจหากำไร

  • ROA บอกถึงประสิทธิภาพในการใช้สินทรัพย์ ซึ่งไม่ได้บอกความเร็วในการเติบโตโดยตรง แต่โดยทั่วไปถ้าบริษัทใช้สินทรัพย์ได้ดี ก็จะโตง่ายกว่า

ดังนั้นคุณจะเห็นว่า ROE กับ ROA มันบอกสิ่งเดียวกัน ว่าบริษัทเอาสิ่งที่มีอยู่ไปทำกำไรได้แค่ไหน แต่ตัวนึงเอาหนี้มาคิด อีกตัวไม่คิด มองง่ายๆ ว่า ROE = ROA x ความเป็นหนี้

งบดุล 16

ปกตินักลงทุนจะดู ROE เพื่อบอกศักยภาพในการเติบโต และใช้ ROA คอนเฟิร์มว่าการที่ ROE สูงนั้นไม่ได้เกิดจากการกู้เงินมากเกินไป

บางบริษัทมี ROE สูง แต่ ROA ต่ำ แสดงว่าจริงๆ เขาทำธุรกิจไม่เก่ง แต่ใช้วิธีกู้เงินมาเยอะๆ ทำให้ดูเหมือนกำไรดี

โดยตอนเราวิเคราะห์ มีข้อควรระวังดังนี้ครับ

  1. กำไรมั่วได้ บางครั้งบริษัทขายของได้แต่เก็บเงินไม่ได้ เขาก็ยังคิดเป็นกำไร จึงทำให้ ROE/ROA เพี้ยน (อ่านเพิ่มเกี่ยวกับงบกำไรขาดทุนได้ที่นี่) คุณอาจปรับลดกำไรลงให้เป็นค่าที่เหมาะสมมากขึ้น หรือนักลงทุนบางคนก็ใช้วิธีดูกระแสเงินสดแทนไปเลย (อ่านเพิ่มเกี่ยวกับงบกระแสเงินสดได้ที่นี่)
  2. Asset มั่วได้ ที่จริงสินทรัพย์ของบริษัทไม่จำเป็นต้องมีมูลค่าตามตัวเลขทางบัญชี ต่อให้บัญชีลงว่า “ที่ดินแปลงนี้ราคาหมื่นล้าน” พอถึงเวลาขายจริง มันอาจขายได้ไม่ถึงหมื่นล้านก็ได้
    • ในทางกลับกัน บางทีบริษัทลงบัญชีเป็น “การลงทุนในบริษัทลูก ABC” ซึ่งเป็นตัวเลขเมื่อหลายปีก่อน แต่ตอนนี้บริษัท ABC ใหญ่โตกว่าเดิมมาก เขาอาจยังไม่ได้ปรับตัวเลขให้สูงขึ้น
  3. Equity มั่วได้ เราดูกันไปแล้วในร้านขายเป็ดของแจ็ค ว่า “ส่วนของผู้ถือหุ้น” หรือ Equity มันมั่วได้ เพราะมันไม่ได้คิดถึงไส้ในว่าสินทรัพย์ของบริษัทเป็นยังไง
    • ตัว Equity นั้นอิงกับ Asset (จากสมการ สินทรัพย์ = หนี้สิน + ส่วนของผู้ถือหุ้น) ดังนั้นถ้าสินทรัพย์เพี้ยน ส่วนของผู้ถือหุ้นก็เพี้ยนตาม

 

สรุป งบดุลแบบไหนเรียกว่าดี

พอเรารู้เรื่องงบดุลกันครบถ้วนแล้ว คุณคงมีคำถามว่า “สรุปต้องดูอะไร”

ผมจึงขอสรุปให้คุณดังนี้

  1. หนี้ไม่เยอะ ดูได้จากสัดส่วน D/E ไม่สูงเกินไป
  2. ROE สูง ถ้าเกิน 20% ยิ่งดี
  3. ROA สูง เพื่อบ่งบอกประสิทธิภาพ
  4. เงินสดเยอะ ในบรรดาสินทรัพย์ทุกตัว “เงินสด” คือตัวที่เชื่อได้มากที่สุด เพราะสินทรัพย์อื่นๆ จะมีมูลค่าขึ้นกับสถานการณ์ จึงไม่ชัดเจน แต่เงินถึงยังไงก็คือเงิน ค่าของมันมีอยู่เท่านั้นแน่นอน ดังนั้นถ้าบริษัทมีเงินสดเยอะ จะดีมาก
  5. สัดส่วนของ “ลูกหนี้การค้า” เทียบกับยอดขาย ไม่เพิ่มจากปีก่อนๆ ไม่งั้นแสดงว่าบริษัทขายของได้ แต่เริ่มเก็บเงินไม่ได้ ซึ่งส่งสัญญาณไม่ดี

 

ถ้าบริษัทไหนมีครบทั้ง 5 ข้อ จะยอดเยี่ยมมาก

แต่ส่วนใหญ่แล้วบริษัทก็เหมือนคน ไม่มีใครสมบูรณ์แบบ เราจึงต้องชั่งน้ำหนักว่า ข้อดีของเขา ดีพอจะชดเชยข้อเสียหรือไม่

เช่น บริษัทอาจมีเงินสดสูง หนี้น้อย แต่ ROE ต่ำ แบบนี้เราก็ต้องมาชั่งน้ำหนักว่าอะไรสำคัญกว่า และนอกจากนี้ เรายังต้องดูงบการเงินตัวอื่นประกอบด้วย

สุดท้าย งบดุลเป็นงบการเงิน 1 ใน 3 ชนิดหลัก คุณอาจสนใจ วิธีอ่านงบการเงินง่ายๆ สำหรับมือใหม่ ซึ่งเป็นภาพที่ใหญ่กว่าอีกด้วย

ส่วนคนที่อยากลงทุนเก่งเร็วๆ บิงโกมีคอร์สลงทุนดีๆ​ ซึ่งจะสอนวิธีลงทุนอย่างละเอียด โดยใช้เทคนิคของนักลงทุนชั้นนำทั่วโลกมาสอนคุณอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ (สอนตั้งแต่พื้นฐานจนลงทุนเก่ง) ซึ่งจะช่วยให้คุณสร้างความมั่งคั่งไปได้ตลอดชีวิต

 

เริ่มต้นลงทุนหุ้นต่างประเทศเพื่อโอกาสที่ดีกว่า

งบดุล 17

ต้นไม่ที่ร่มรื่นย่อมเริ่มจากเมล็ดพันธุ์ที่ดี การลงทุนที่ดีจึงอยู่ในเศรษฐกิจที่มีการเจริญเติบโต มีนวัตกรรม และมี dynamics สูง

แต่ปัจจุบันเศรษฐกิจไทยเติบโตช้าลงมาก คนไทยเกิดน้อยลง สังคมกำลังจะกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุ ใครที่มีความรู้เรื่องเศรษฐกิจจะพอรู้ว่า “มืดมน” นักลงทุนไทยจำนวนมาก โดยเฉพาะเซียนหุ้นที่เข้าใจเรื่องนี้ จึงเริ่มเลี่ยงไปลงทุนต่างประเทศกันมากขึ้น

ถ้าคุณอยากหาโอกาสที่ดีที่สุดให้ตัวเอง คุณเองก็อาจศึกษาการลงทุนต่างประเทศมากขึ้น แล้วคุณจะพบว่าโอกาสดีๆ มีอยู่มาก ผมมีบทความสอนวิธีลงทุนหุ้นอเมริกา หุ้นต่างประเทศให้คุณแล้ว (คุณจะได้หุ้นฟรีมูลค่าสูงสุด $1000 ด้วย)

สำหรับคนที่คิดว่าการลงทุนหุ้นต่างประเทศไกลตัวเกินไป อยากซื้อกองทุนให้เขาไปลงทุนหุ้นต่างประเทศแทนเรา นั่นก็เป็นทางเลือกที่ดีมากครับ แต่ก่อนหน้านั้น ผมแนะนำให้อ่าน ซื้อกองทุนต่างประเทศยังไง ให้กำไรมากขึ้น 100% ซึ่งผมเขียนไว้ให้คุณโดยเฉพาะเลยครับ

 

ไม่ใช่แค่ดูงบการเงินแล้ววิเคราะห์หุ้นได้

คอร์สลงทุน บิงโก

อยากเลือกหุ้นถูกตัว วิเคราะห์ธุรกิจได้เฉียบขาด?

ท้ายที่สุด งบการเงินก็เป็นแค่ส่วนหนึ่งของการวิเคราะห์หุ้น การลงทุนให้ประสบความสำเร็จ จำเป็นต้องมีความรู้มากกว่าการดูงบการเงินง่ายๆ ไม่กี่บรรทัด

บิงโกมีคอร์สสอนลงทุนที่คุณอาจจะสนใจ คอร์สนี้จะสอนคุณทุกเรื่องที่ต้องรู้ในการลงทุน ทั้งงบการเงิน การวิเคราะห์ธุรกิจ กลยุทธ์การลงทุน และวิธีมองภาพเศรษฐกิจ โดยออกแบบให้เหมือน “นักลงทุนระดับโลกมาสอนคุณเอง” เรียบจบลงทุนจริงได้เลย และจะร่นเวลาให้คุณลงทุนได้เก่งกาจอย่างรวดเร็ว

ดูรายละเอียด

 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราะห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก