ทุกคนมีภาระหน้าที่รับผิดชอบต่างกัน เราจึงเจอปัญหาการเงินแตกต่างหลากหลายกันออกไป แต่ถ้าเรารู้ทันสัญญาณเตือนว่า “ตอนนี้เริ่มอันตรายแล้วนะ” เราจะมีโอกาสดีในการแก้ไขก่อนปัญหาจะเริ่มบานปลาย
เมื่อเราหมั่นสำรวจตัวเอง ก็เปรียบเหมือนเราตรวจสภาพรถยนต์ก่อนออกเดินทาง เครื่องยนต์ดีไหมนะ? เบรกดีไหมนะ? ถ้าเราเจอจุดที่เสีย เราจะได้ลงมือซ่อมอย่างทันท่วงที สุดท้ายเราจะได้ใช้รถเดินทางไปสู่เป้าหมายปลายทางได้อย่างปลอดภัย
วันนี้พี่วัวจะมาเผยถึง 5 สัญญาณอันตรายด้านการเงิน ยิ่งใครมีหลายข้อ นั่นแปลว่าคุณกำลังเริ่มมีปัญหามากขึ้นเรื่องๆ และควรรีบแก้ไขก่อนจะสายเกินไป
5 สัญญาณอันตรายด้านการเงิน
1.ใช้เงินเดือนชนเดือน
สัญญาณแรกนี้เป็นเรื่องที่หลายคนเจอกับตัวเอง ถ้าปัญหาไม่ร้ายแรงก็อาจจะเจอแค่บางช่วง เช่น พ่อแม่บางบ้านเจอปัญหานี้ช่วงลูกเปิดเทอม แต่ถ้าเป็นปัญหาที่เจออยู่บ่อยๆ อันนี้อันตรายครับ
เมื่อสัญญาณเตือนนี้ดังขึ้น นี่คือจุดเริ่มวงจรแห่งความไม่มั่นคงทางการเงิน ถ้าคุณเกิดดวงตกโชคร้ายเจอปัญหาด่วน คุณจะเดือดร้อนหนักทันที เช่น รถเสีย คอมพิวเตอร์พัง โทรศัพท์มือถือจอแตก ฯลฯ พอเกิดเรื่อง คุณอาจจะถูกบีบให้ต้องรูดบัตรเครดิตเพื่อนำเงินในอนาคตของคุณไปแก้ปัญหาก่อน
วิธีแก้ให้ธงแดงกลายเป็นธงเขียวคือ “ทำบัญชีรายรับรายจ่าย” เพื่อสางดูว่าจริงๆ แล้วคุณใช้เงินต่อเดือนเกินที่หาได้หรือไม่? ถ้าไม่ ยินดีด้วยครับ คุณสามารถเอาตัวรอดได้ง่ายมาก แค่หันมาบริหารจัดการรายรับให้ดีขึ้น และจัดแบ่งเงินให้เป็นสัดส่วนมากขึ้น
2.ไม่มีเงินสำรองเป็นเซฟโซน
เงินเซฟโซนในที่นี้ พี่วัวกำลังหมายถึง “เงินสำรองฉุกเฉิน” เงินอีกบัญชีที่เราควรแยกเก็บไว้ต่างหากเพื่อเก็บไว้ใช้แก้ปัญหาเวลาเกิดเรื่องไม่คาดฝัน
ถ้าเมื่อไหร่เราไม่มีเงินส่วนนี้ วงจรเลวร้ายเดิมๆ จะเกิดขึ้นไปเรื่อยๆ นั่นคือ คุณจะรูดบัตรเครดิต คุณจะยืมเงิน คุณจะกู้เงิน นี่คือการนำเงินในอนาคตมาใช้ล่วงหน้า
พี่วัวตั้งชื่อเล่นของเงินสำรองฉุกเฉิน่า “เงินเซฟโซน” เพราะเงินส่วนนี้ช่วยให้ทุกคนใช้ชีวิตได้อย่างสบายใจและไร้กังวลมากขึ้น เราจะกล้าลงมือทำสิ่งต่างๆ มากขึ้นเมื่อสัมผัสได้ว่าเรายังปลอดภัย ตัวเลขที่พี่วัวแนะนำให้มีเก็บสำรองไว้เป็นเซฟโซนคือ มีให้ได้อย่างน้อยที่สุด 3 เดือน ดีขึ้นมา ขอ 6 เดือน และดีที่สุด ขอ 12 เดือน
ตัวอย่างเช่น พี่วัวจำเป็นต้องมีเงินใช้ต่อเดือน 20,000 บาท สำหรับกินใช้และจ่ายหนี้สิน พี่วัวก็เอาตัวเลข 20,000 บาทตั้งแล้วคูณจำนวนเดือนเข้าไป ดังนั้นอย่างน้อยพี่ัวัวควรมีเงินเซฟโซน 60,000 บาท และอย่างดีที่สุดควรมี 240,000 บาท
3.เริ่มจ่ายขั้นต่ำบัตรเครดิต
ทุกวันนี้เรามีบัตรเครดิตไว้ใช้หลากหลายประเภทมาก ไม่ว่าจะเป็นบัตรเติมน้ำมัน บัตรซื้อของ บัตรกินเที่ยว ถ้าเราใช้เป็น เราก็จะได้ประโยชน์เยอะมาก ทั้งแลกแต้ม แลกสิทธิ์ประโยชน์ และส่วนลดต่างๆ
แต่ถ้าใครเริ่มต้องกดเงินสดจากบัตรเครดิตมาใช้และมาถึงงวดจ่าย ไม่สามารถจ่ายทั้งหมด จ่ายไหวแค่ขั้นต่ำ สัญญาณเตือนอันตรายได้ดังขึ้นแล้วครับ
ถ้าเหตุการณ์เลวร้ายกว่านี้ คุณจะเริ่มกดเงินจากบัตรที่สอง มาจ่ายบัตรที่หนึ่ง กดจากบัตรที่สาม มาจ่ายบัตรที่สอง วนไปเรื่อยๆ รอวันที่ทุกวงเงินจะเต็ม ซึ่งเมื่อนั้นปัญหาได้ใหญ่โตลุกลาม เพราะดอกเบี้ยบัตรเครดิตเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
วิธีเลี่ยงปัญหานี้ควรเริ่มจากสร้างนิสัยที่ดีในการใช้บัตรเครดิตขึ้นมา ลองเริ่มจากทุกครั้งที่ใช้บัตร ต้องโอนเงินจำนวนเท่ากับที่ใช้ไปเก็บรอไว้ในอีกบัญชี คุณจะได้มั่นใจขึ้นว่าพอถึงงวดจ่ายบัตร คุณจะได้มีจ่ายแน่นอน
4.จ่ายหนี้ล่าช้า
คนที่บริหารเงินเก่ง ถ้าถึงกำหนดจ่ายแล้ว พวกเขาย่อมจ่ายตรงตามนัดแน่นอน แต่ถ้าเมื่อไหร่เราเริ่มอยากดึงให้ช้าเข้าไว้ จนบางครั้งช้าจนเกินกำหนด นี่คือสัญญาณเตือนอีกครั้งว่า “คุณกำลังมีปัญหาด้านการเงิน”
ข้อเสียใหญ่ที่จะตามมาคือ คุณจะเสียเครดิตและความน่าเชื่อถือ ถ้าในอนาคตคุณต้องไปขอสินเชื่อ คุณจะลำบาก เพราะประวัติคุณไม่ดี
วิธีแก้คือ คุณควรแบ่งเงินตั้งแต่แรกไว้เลยว่าเป็นค่าจ่ายหนี้กี่บาท แล้วแบ่งเงินรอไว้ในบัญชี ถ้าคุณกันเงินส่วนนี้ไว้ตั้งแต่แรก คุณจะสบายใจกว่าเดิมมาก
5.เริ่มใช้เงินแก้ปัญหาด้านอารมณ์
อารมณ์กับเงินเกี่ยวข้องกันมาก ยามเราได้เงินก้อน เราก็อารมณ์ดี ถูกหวย เรายิ่งลิงโลด ถ้าเสียเงิน เราก็เซ็งและเครียด
ไม่แปลกเลยถ้าเวลามีปัญหา หลายคนจึงมักเลือกใช้เงินเพื่อแก้ปัญหา เช่น เครียดก็ออกไปกินเที่ยว โมโหก็ออกไปช็อปปิง บางคนถึงขั้นเครียดเรื่องเงินก็ยังอยากออกไปใช้เงินแก้เครียดด้วยซ้ำ
พี่วัวคิดว่าการใช้เงินเยียวยาอารมณ์ตัวเองนั้นไม่ใช่เรื่องผิดอะไร เพียงแต่เราควรทำในขอบเขตที่ยังควบคุมไหว บ่อยครั้งที่พี่วัวเหนื่อยมากๆ พี่วัวก็มักจะอยากออกไปกินอาหารจากร้านที่ชอบหรือออกไปนั่งเล่นดูวิวทะเลให้ใจผ่อนคลายขึ้น
ดังนั้นลองตั้งงบกันดูครับว่าเราควรมีเงินไว้เยียวยาตัวเองสักเท่าไหร่ ถึงจะไม่เดือดร้อนเรื่องเงินในภายหลัง