4 ขั้นตอนคำนวณเงินออมให้พอเกษียณ ฉบับมนุษย์เงินเดือน

คุณแน่ใจไหมว่าที่ออมเงินอยู่ทุกวันนี้ พอใช้หลังเกษียณ?

หลายคนคิดว่าจะสร้างตัวอย่างรวดเร็วเหมือนในหนังสือพ่อรวยสอนลูก Rich Dad Poor Dad หรือสร้างธุรกิจแบบ The 4-Hour Workweek แล้วพอรวยก็จะใช้ชีวิตตามสบาย มีอิสรภาพทางการเงิน

แบบนี้คุณอาจไม่ต้องกังวลเรื่องเกษียณ คุณแค่ต้องลงทุนให้เงินงอกเงย คุณอาจลองดูวิธีเริ่มลงทุนง่ายๆ 4 ขั้นตอน ที่บิงโกสรุปไว้ได้เลย ดูวิธีเลือกหุ้นตัวแรกของคุณ หรือดูวิธีลงทุนแนว VI สไตล์มนุษย์เงินเดือน

แต่มนุษย์เงินเดือนจำนวนมากยังต้องกังวลกับการบริหารเงินให้พอเกษียณ แถมยังโดนเงินเฟ้อกินไปทุกปี (เงินเฟ้อคืออะไร?)

วันนี้ผมจึงขอแนะนำวิธีคำนวณเงินออมให้พอเกษียณแบบง่ายๆ ครับ

  1. ตั้งเป้าหมายเงินที่เราอยากใช้ในแต่ละเดือนหลังเกษียณ
  2. ปรับเงินก้อนนั้นให้สูงขึ้น เพื่อรองรับเงินเฟ้อ
  3. คำนวณเงินก้อนที่เราต้องมีเพื่อให้พอใช้กับค่าใช้จ่าย
  4. ใช้สูตรลัด หาเงินที่จะต้องเก็บในแต่ละเดือน

มาเริ่มกันเลยดีกว่า

 

1. ตั้งเป้าหมายเงินที่เราอยากใช้ในแต่ละเดือนหลังเกษียณ

แผนการทุกชนิดเริ่มต้นที่เป้าหมาย

ก่อนจะบริหารเงิน คุณต้องเริ่มคิดก่อนว่าอยากใช้เงินเดือนละเท่าไร เช่น…

  • สมมุติคุณใช้เงินทานข้าววันละ 400 บาท ค่าเดินทางวันละ 100 บาท คิดเป็นวันละ 500 หรือเดือนละ 15,000
  • ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ และจิปาถะอีกเดือนละ 5000 บาท
  • ค่าสันทนาการ เช่น ไปกินข้าวกับเพื่อน ซื้อของฝาก ไปเที่ยว ฯลฯ อีกเดือนละ 5,000 บาท
  • ค่ารักษาพยาบาลไม่นับละกัน ผมขอเว้นว่างไว้ ให้คุณใส่ค่ารักษาพยาบาลของคุณตามสถานการณ์ของคุณเอง

ในกรณีนี้ ก็จะมีค่าใช้จ่ายคนละ 25,000 บาทต่อเดือน

ถ้าคุณอยู่กันสองสามีภรรยา อย่าลืมคูณสองด้วยนะครับ ก็จะเป็นสองคน 50,000 บาทต่อเดือน

 

2. ปรับเงินก้อนนั้นให้สูงขึ้น เพื่อรองรับเงินเฟ้อ

คุณรู้ค่าใช้จ่ายตัวเองแล้ว แต่อย่าเพิ่งดีใจไปครับ เพราะข้าวจานละ 50 ในปัจจุบัน มันจะแพงขึ้นอีกในอนาคต สิ่งนี้เป็นปรากฏการณ์ที่เรียกว่า “เงินเฟ้อ” ครับ ดังนั้นถ้าคุณคิดว่าอยากใช้เงิน 20,000 บาท แท้ที่จริงแล้วมันจะต้องสูงขึ้นอีกในวันที่คุณเกษียณ เพื่อที่จะซื้อของให้ได้จำนวนเท่าเดิม

ปกติเงินเฟ้อปีละ 1-3% อยู่แล้วครับ เฉลี่ยแล้วเราจะใช้ตัวเลข 2% แล้วกัน แสดงว่าสิ่งของจะแพงขึ้น 1.02 เท่าทุกปี

สมมุติว่าคุณเหลือเวลาอีก 25 ปีจนถึงวันเกษียณ แสดงว่าสิ่งของจะแพงขึ้น 1.02^25 = 1.64 เท่า นับจากวันนี้ถึงวันเกษียณ

  • ถ้าคุณเหลืออีก 35 ปี ก็จะเป็น 1.02^35 = 2 เท่า
  • ถ้าคุณเหลืออีก 30 ปี ก็จะเป็น 1.02^30 = 1.8 เท่า
  • ถ้าคุณเหลืออีก 20 ปี ก็จะเป็น 1.02^20 = 1.5 เท่า
  • ถ้าคุณเหลืออีก 10 ปี ก็จะเป็น 1.02^10 = 1.2 เท่า

ให้คุณเอาตัวเลขนี้ไปคูณค่าใช้จ่ายต่อเดือนจากข้อ 1 ครับ

เช่น ถ้าคุณคิดว่าจะใช้เดือนละ 25,000 บาท โดยเหลือเวลาอีก 30 ปี ก็จะเป็น 25,000 x 1.8 = 45,000 บาทที่จะใช้ต่อเดือน หลังจากปรับตามเงินเฟ้อแล้ว

 

3. คำนวณเงินก้อนที่เราต้องมีเพื่อให้พอใช้กับค่าใช้จ่าย

จากข้อ 2 คุณจะได้ค่าใช้จ่ายต่อเดือนที่อยากใช้ เราต้องเปลี่ยนตัวเลขนี้ให้เป็น “เงินก้อน” ที่ต้องมีเพื่อรองรับค่าใช้จ่ายนี้

การคำนวณเงินก้อน ขึ้นอยู่กับว่าคุณอยากบริหารเงินอย่างไร

คุณมีทางเลือก 3 ทางครับ

  1. นำเงินไปลงทุน แล้วเอาเงินปันผลมาใช้ เมื่อเวลาผ่านไปคุณจะรวยขึ้น
  2. นำเงินไปฝากธนาคาร แล้วเอาดอกเบี้ยมาใช้ เมื่อเวลาผ่านไปคุณจะมีเท่าเดิม
  3. นำเงินไปฝากธนาคาร แล้วเอาเงินต้นมาใช้ เมื่อเวลาผ่านไปคุณจะจนลง จนกระทั่งเงินหมด

จะเลือกทางไหนก็แล้วแต่ความชอบครับ ข้อดีของการลงทุนก็คือ คุณไม่ต้องใช้เงินเยอะก็มีกินมีใช้ แต่คุณจะต้องมีความรู้ในการบริหารเงินด้วย ลองเข้าไปดูวิธีเริ่มต้นลงทุนง่ายๆ หรือทางเลือกต่างๆ ในการลงทุนได้เลยครับ

ถ้าคุณเลือกฝากธนาคารกินดอกเบี้ย คุณจะแทบไร้ความเสี่ยง แต่คุณจะต้องมีเงินเก็บเยอะ เพื่อให้พอใช้ พอคุณเห็นตัวเลขว่าต้อง “เยอะแค่ไหน” แล้วจะตกใจเลยครับ

ถ้าคุณตั้งใจจะเอาเงินต้นมากินใช้ คุณอาจต้องระวังนิดหน่อยว่าถ้าเงินหมดแล้วคุณยังไม่ตาย คุณจะทำยังไง

 

นำเงินไปลงทุน แล้วเอาเงินปันผลมาใช้

ถ้าคุณวางแผนจะเอาเงินไปลงทุน (ซื้อหุ้น ซื้อกองทุน) แล้วเอาเงินปันผลมาใช้ แสดงว่าคุณจะรักษาเงินต้นไว้ และใช้จ่ายจากเงินปันผลเท่านั้น เมื่อเวลาผ่านไปเงินต้นของคุณจะโตขึ้นช้าๆ ตามธุรกิจที่คุณลงทุนไป ระหว่างนั้นคุณก็ได้เงินปันผลใช้ทุกปี

ศึกษาเกี่ยวกับหุ้นปันผลได้ทางนี้ครับ คนที่ซื้อกองทุนอยู่แล้วหรือกำลังจะซื้อแนะนำให้อ่านเคล็ดลับเลือกซื้อกองทุนแบบเจาะลึก หรือลองดูก่อนว่าหุ้น 6 ชนิดของปีเตอร์ ลินช์ มีอะไรบ้าง

หุ้นปันผลมักจ่ายเงินปันผลปีละ 3-7% ของเงินที่คุณลงทุนไป เพื่อความสมจริง เราจะใช้ตัวเลข 4% ที่ไม่มากไปน้อยไป

  1. เอาค่าใช้จ่ายต่อเดือนของคุณไปคูณ 12 ให้เป็นค่าใช้จ่ายต่อปี
  2. ค่าใช้จ่ายต่อปีคูณ 25 คุณก็จะได้เงินก้อนที่ต้องการ (การคูณ 25 คิดจากเงินปันผล 4% ซึ่งเท่ากันตามหลักคณิตศาสตร์)

พูดง่ายๆ ก็ให้เอาตัวเลขจากข้อ 2 ไปคูณ 12 แล้วคูณ 25 อีกที ก็จะได้เงินก้อนที่ต้องการ

เช่น ถ้าคุณจะใช้ 45,000 ต่อเดือน คุณต้องมีเงินก้อน 45,000 x 12 x 25 = 13.5 ล้านบาท

 

นำเงินไปฝากธนาคาร แล้วเอาดอกเบี้ยมาใช้

ถ้าคุณวางแผนจะเอาเงินไปฝากธนาคาร แล้วเอาดอกเบี้ยมาใช้ คุณก็จะรักษาเงินต้นไว้ แต่เงินต้นของคุณจะไม่โต เพราะคุณเอาดอกเบี้ยไปใช้หมด

สมมุติคุณได้ดอกเบี้ยปีละ 2% คุณก็คำนวณได้ดังนี้

  • เอาค่าใช้จ่ายต่อเดือนของคุณไปคูณ 12 ให้เป็นค่าใช้จ่ายต่อปี
  • ค่าใช้จ่ายต่อปีคูณ 50 คุณก็จะได้เงินก้อนที่ต้องการ (การคูณ 50 คิดจากดอกเบี้ย 2% ซึ่งเท่ากันตามหลักคณิตศาสตร์)

พูดง่ายๆ ก็ให้เอาตัวเลขจากข้อ 2 ไปคูณ 12 แล้วคูณ 50 อีกที ก็จะได้เงินก้อนที่ต้องการ

เช่น ถ้าคุณจะใช้ 45,000 ต่อเดือน คุณจะต้องมีเงินก้อน 45,000 x 12 x 50 = 27 ล้านบาท

 

นำเงินไปฝากธนาคาร แล้วเอาเงินต้นมากินใช้

ทางเลือกนี้ผมไม่แนะนำเลย เพราะคุณจะเข้าเนื้อไปเรื่อยๆ

ยิ่งคุณอยู่นาน คุณยิ่งจนลง เพราะคุณเอาเงินที่เก็บมาทั้งชีวิตมากินมาใช้ คุณจะเห็นเงินเก็บร่อยหรอลง จนในที่สุดคุณอาจเงินหมดแล้วยังไม่ตาย

แต่ถ้าคุณอยากเดินทางนี้จริงๆ ผมก็มีวิธีคิดง่ายๆ ครับ

สมมุติว่าคุณเกษียณแล้วจะมีชีวิตอยู่ไปอีก 30 ปีแล้วตายพอดี คุณก็เอา…

  • เอาค่าใช้จ่ายต่อเดือนของคุณไปคูณ 12 ให้เป็นค่าใช้จ่ายต่อปี
  • ค่าใช้จ่ายต่อปีคูณ 30 ปีคุณก็จะได้เงินก้อนที่ต้องการ

เช่น ถ้าคุณจะใช้ 45,000 ต่อเดือน คุณก็ต้องมีเงินก้อน 45,000 x 12 x 30 = 16.2 ล้านบาท พอใช้ไปประมาณ 30 ปี แต่ถ้าคุณมีชีวิตนานกว่านั้นก็ไม่รู้แล้วครับ

 

4. ใช้สูตรลัด หาเงินที่จะต้องเก็บในแต่ละเดือน

ตอนนี้คุณรู้แล้วว่าต้องมีเงินก้อนเท่าไรตอนเกษียณ เราจะมาดูกันว่าคุณจะไปถึงเป้าหมายนั้นได้ยังไง

การคำนวณตรงนี้ซับซ้อนพอสมควร ผมเลยสรุปเป็นสูตรง่ายๆ ให้คุณแล้ว นั่นคือ…

เงินออมต่อเดือน = เงินก้อนที่อยากได้ x ผลตอบแทนต่อปี / (12x((1 + ผลตอบแทนต่อปี)^จำนวนปีก่อนเกษียณ – 1))

อย่าเพิ่งถอนหายใจแล้วปิดเว็บครับ! ตัวเลขมันดูซับซ้อนก็จริง แต่ขอให้มองว่ามันคืออนาคตของคุณ ถ้าคุณค่อยๆ คำนวณก็จะได้คำตอบแน่นอน

 

กรณีฝากธนาคารดอกเบี้ย 1.5%

สมมุติคุณต้องใช้เงินก้อน 15 ล้าน โดยฝากธนาคารได้ดอกเบี้ยปีละ 1.5% = 0.015 และเหลือเวลา 30 ปีก่อนที่จะเกษียณ

จะได้ว่า…

เงินออมต่อเดือน = 15,000,000 x 0.015 / (12 x ((1+0.015)^30 – 1) )

เงินออมต่อเดือน = 15,000,000 x 0.015 / (12 x (1.015^30 – 1) ) = 33300 บาท

 

กรณีลงทุนได้ปีละ 10%

สมมุติคุณต้องใช้เงินก้อน 15 ล้าน โดยมีผลตอบแทนปีละ 10% = 0.1 และเหลือเวลา 30 ปีก่อนที่จะเกษียณ

จะได้ว่า…

เงินออมต่อเดือน = 15,000,000 x 0.1 / (12 x ((1+0.1)^30 – 1) )

เงินออมต่อเดือน = 15,000,000 x 0.1 / (12 x (1.1^30 – 1) ) = 7600 บาท

 

กรณีลงทุนได้ปีละ 20%

สมมุติคุณต้องใช้เงินก้อน 15 ล้าน โดยมีผลตอบแทนปีละ 20% = 0.2 และเหลือเวลา 30 ปีก่อนที่จะเกษียณ

จะได้ว่า…

เงินออมต่อเดือน = 15,000,000 x 0.2 / (12 x ((1+0.2)^30 – 1) )

เงินออมต่อเดือน = 15,000,000 x 0.2 / (12 x (1.2^30 – 1) ) = 1060 บาท

 

เงินที่คุณต้องออม ขึ้นอยู่กับผลตอบแทนของคุณ

จากตัวอย่างข้างบน สังเกตว่ายิ่งเราเพิ่มผลตอบแทน คุณก็ยิ่งไม่ต้องออมต่อเดือนเยอะ

คนที่ลงทุนได้ปีละ 20% ออมเดือนละ 1,060 ได้ผลเท่ากับคนที่เอาเงินไปฝากธนาคารแล้วออมเดือนละ 33,300 บาท

ยิ่งถ้าคนที่ลงทุนได้ปีละ 20% ออมเดือนละ 33,300 บาท พอถึงเวลาเกษียณเขาจะมีเงินเก็บมากกว่าถึง 33 เท่า คนที่ลงทุน vs ไม่ลงทุน ชีวิตจึงต่างกันมาก

ถ้าคุณเก็บเงินไว้ในธนาคาร นอกจากจะโดนเงินเฟ้อกินไปทุกปี คุณยังมีค่าเสียโอกาสที่ต้องจ่าย เพราะไม่ได้เอาเงินไปลงทุนให้งอกเงยอีกด้วยครับ

ถ้าคุณเพิ่งหัดเริ่มต้นลงทุน หรือกำลังสนใจอยากเริ่ม คุณสามารถอ่านขั้นตอนง่ายๆ ที่ผมสรุปไว้ให้แล้วได้เลยครับ

นอกจากนี้ ลองอ่านวิธีลงทุน 4 สไตล์ในโลกเพื่อหาแนวทางที่เหมาะกับตัวเอง โดยวิธีที่ผมแนะนำคือการลงทุนแนวเน้นคุณค่าหรือ VI ซึ่งเป็นสไตล์ที่นิยมที่สุด และคุณยังอาจเข้าไปดูเทคนิควิเคราะห์งบการเงินสำหรับมือใหม่ครับ

หรือถ้าคุณอยากหาหนังสือหุ้นมาอ่านเพิ่มเติม ผมได้ลิสต์หนังสือดีๆ ไว้ให้คุณอ่านเรียบร้อยแล้ว

 

เริ่มต้นลงทุนหุ้นต่างประเทศเพื่อโอกาสที่ดีกว่า

การลงทุนหุ้นที่ดีจะอยู่ในเศรษฐกิจที่มีการเจริญเติบโต มีนวัตกรรม และมี dynamics สูง

แต่ปัจจุบันเศรษฐกิจไทยเติบโตช้าลงมาก คนไทยเกิดน้อยลง สังคมกำลังจะกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุ ใครที่มีความรู้เรื่องเศรษฐกิจจะพอรู้ว่า “มืดมน” นักลงทุนไทยจำนวนมาก โดยเฉพาะเซียนหุ้นที่เข้าใจเรื่องนี้ จึงเริ่มเลี่ยงไปลงทุนต่างประเทศกันมากขึ้น

ถ้าคุณอยากหาโอกาสที่ดีที่สุดให้ตัวเอง คุณเองก็อาจศึกษาการลงทุนต่างประเทศมากขึ้น แล้วคุณจะพบว่าโอกาสดีๆ มีอยู่มากจริงๆ ผมมีบทความสอนวิธีลงทุนหุ้นอเมริกา หุ้นต่างประเทศให้คุณแล้ว (คุณจะได้หุ้นฟรีมูลค่าสูงสุด $1000 ด้วย)

สำหรับคนที่คิดว่าการลงทุนหุ้นต่างประเทศไกลตัวเกินไป อยากซื้อกองทุนให้เขาไปลงทุนหุ้นต่างประเทศแทนเรา นั่นก็เป็นทางเลือกที่ดีมากครับ แต่ก่อนหน้านั้น ผมแนะนำให้อ่าน ซื้อกองทุนต่างประเทศยังไง ให้กำไรมากขึ้น 100% ซึ่งผมเขียนไว้ให้คุณโดยเฉพาะเลยครับ

 

เรียนคอร์สลงทุน “นักลงทุนมือหนึ่งของโลก”

คอร์สลงทุน บิงโก

อยากศึกษาเรื่องการลงทุนแต่เริ่มไม่ถูก?

บิงโกมีคอร์สสอนลงทุนที่จะคุณอาจสนใจ คอร์สนี้จะสอนคุณตั้งแต่พื้นฐานจนถึงระดับสูง มือใหม่เรียนจบก็พร้อมลงทุนจริงได้เลย

คอร์สนี้ถูกออกแบบให้พิเศษกว่าคอร์สลงทุนทั่วไป เพราะมาจากหนังสือลงทุนของเซียนหุ้นระดับโลก ทั้งวอร์เรน บัฟเฟตต์, ปีเตอร์ ลินช์, เบนจามิน เกรแฮม, ดร.นิเวศน์ และอื่นๆ จนเหมือน “นักลงทุนระดับโลกมาสอนคุณเอง” ทุกเล่มที่เราคัดมาคือหนังสือลงทุนที่ดีที่สุด ซึ่งได้รับการยอมรับจากทั่วโลกว่าเป็น “ของจริง” และจะร่นเวลาให้คุณลงทุนได้เก่งกาจอย่างรวดเร็ว

ดูรายละเอียด

 

 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราะห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก