“ทองคำ” มีอีกชื่อเรียกที่มีความหมายแสนดีว่า Safe Haven หรือแหล่งพักเงินอันปลอดภัย ไม่แปลกเลยที่ไม่ว่าจะยุคสมัยไหน มนุษย์ก็ยังหลงรัก หวงแหน และสะสมทองคำกันเป็นล่ำเป็นสัน
ภาพจำเกี่ยวกับทองคำของพี่วัวในวัยเด็กคือ การเดินตามแม่เข้าร้านทองที่มีไฟสว่างๆ และมีตู้กระจกสีแดงๆ เรียงรายเต็มไปหมด
แม่พี่วัวชอบแบ่งเงินออมมาซื้อทองรูปพรรณเก็บไว้ แม่มักบอกว่าตอนนี้ทองราคาดี อยากซื้อเก็บไว้ใส่สักบาทนึง แล้วก็ชี้ชวนกันเลือกทองเส้นนั้นเส้นนี้กับคนขาย พลางถามพี่วัววัยเด็กว่า “เส้นนี้สวยไหม?” “ลายนี้สวยไหม?”
จากวันวานที่แม่พี่วัวซื้อทองคำในราคาบาทละไม่ถึงหมื่น ณ ตอนนี้ (20/6/24) ทองคำราคา 40,550 บาทแล้ว ราคาปรับตัวขึ้นมาเยอะมาก นี่จึงเป็นอีกข้อดีของทองคำนั่นคือ ทองคำสู้เงินเฟ้อได้เก่งมาก
แล้วข้อดีอีกเรื่องของทองคำที่มองข้ามไม่ได้คือ มันมีสภาพคล่องสูงมาก ยามเดือนร้อน เราสามารถเปลี่ยนทองคำในมือเป็นเงินสดได้ง่ายมาก ซึ่งต่างจากสินทรัพย์ประเภทอื่นเช่น อสังหาริมทรัพย์หรือกองทุน
แต่ก่อนเริ่มลงทุนทองคำ พี่วัวอยากให้ทุกคนรู้จักกันก่อนว่าทองที่เราจะซื้อนั้นแบ่งออกเป็น 2 แบบด้วยกันคือ
1.ทองคำแท่ง
2.ทองรูปพรรณ
สองอย่างนี้ต่างกัน ทองคำแท่งให้นึกถึงก้อนทองคำสี่เหลี่ยม ขนาดก็ตามน้ำหนักทอง ทองประเภทนี้คนมักนิยมซื้อเพื่อออมหรือลงทุน เอามาใส่เป็นเครื่องประดับไม่ได้
ส่วนทองรูปพรรณ คือทองที่ถูกขึ้นรูปเป็นเครื่องประดับ เช่น กำไร สร้อยข้อมือ สร้อยคอ ทองประเภทนี้คนมักนิยมซื้อใส่ จะเรียกว่าเป็นการออมก็ยังพอเรียกได้ แต่ถ้าเรียกว่าการลงทุน พี่วัวว่าไม่เหมาะ เพราะเวลาซื้อทองรูปพรรณ เราต้องเสียค่ากำเหน็จด้วย คิดง่ายๆ ว่าค่าจ้างช่างทองทำเครื่องประดับลายสวยๆ นั่นเอง
ส่วนวิธีลงทุนทองคำในแบบที่เข้าใจว่ายที่สุด มือใหม่ก็เริ่มต้นได้ทันที มีอยู่ 3 วิธีด้วยกันคือ
1.ซื้อที่ร้านทอง
2.ซื้อกองทุนทอง
3.ซื้อทองผ่านแอปร้านทอง
ลงทุนทองคำวิธีที่ 1 ซื้อที่ร้านทอง
วิธีแรกคลาสสิกที่สุด สมัยก่อนจะเรียกกันว่า “ไปร้านตู้แดง” ลองนึกภาพอาม่า อากงไปยืนต่อคิวซื้อทองที่เยาวราชดูก็ได้ ร้านทองชอบใส่ทองไว้ในตู้สีแดงๆ เราเลยเรียกกันติดปากแบบนั้น
วิธีนี้ง่ายมาก เหมือนเราซื้อของอื่นทั่วไป พอถึงร้านทองก็ถามราคาทอง บอกน้ำหนักทองที่ต้องการ เช่น 1 บาท 5 บาท แล้วก็จ่ายเงินรับทองกลับบ้าน
แต่มีอีกเรื่องหนึ่งที่ควรถามกันก่อนเพื่อคำนวณเงินก่อนตัดสินใจคือ ถามร้านทองว่าคิดค่ากล่องเท่าไหร่? มีขั้นต่ำไหม?
เวลาขายทองคำแท่ง 1 บาท ร้านทองจะมีกล่องพลาสติดใส่ทองให้ลูกค้า แล้วก็จะคิดราคาด้วย ไม่จ่ายไม่ได้ทอง จุดนี้แต่ละร้านทองจะคิดไม่เหมือนกัน โดยทั่วไปจะคิดประมาณ 150-300 บาท แต่ถ้าซื้อทอง 5 บาท อาจจะฟรีค่ากล่องไปเลย
ข้อเสียของวิธีนี้คือ ความเสี่ยง เราต้องดูแลรักษาทองที่ซื้อมาเอง ถ้าระหว่างทางเกิดอุบัติเหตุ ทำกระเป๋าหาย ทำหล่น นั่นคือเราต้องรับผิดชอบเอง
โดยปกติของการซื้อขายทองวิธีนี้ คนมักจะนำทองออกมาขายเมื่อราคาทองคำปรับตัวสูงขึ้น 2-5% ดังนั้นคนที่เล่นทองแบบนี้ก็มักจะมีทองไม่ต่ำกว่า 10-20 บาท ไว้หมุนขายเก็งกำไร
ลงทุนทองคำวิธีที่ 2 ซื้อกองทุนทอง
ยุคนี้เราสามารถลงทุนทองได้ง่ายๆ ผ่านแอปด้วย เรากดซื้อจากกองทุนที่เลือกไว้ แล้วเขาก็จะเอาเงินเราไปลงทุนทองคำอีกต่อแทน
วิธีนี้เราจะเสียค่าธรรมเนียม เพราะมีคนมาบริหารจัดการกองทุนให้เรา แล้วที่สำคัญคือ เราจะไม่ได้ทองคำแท่งของจริงมาถือไว้ในมือเลยไม่ว่าเราจะซื้อไปมากเท่าไหร่ก็ตาม
ตัวอย่างกองทุนทองเจ้าดังๆ ก็เช่น SPDR นี่คือกองทุน ETF ซึ่งมีนโยบายลงทุนในทองคำแท่งเพียงอย่างเดียว ว่ากันว่ากองทุนเจ้านี้มีทองคำแท่งมากกว่าที่ทั้งประเทศไทยมีถึง 4 เท่า ถ้าอยากง่ายกว่านั้นสามารถเลือกจากกองทุนทองของธนาคารดังๆ ในประเทศไม่ว่าจะเป็นกสิกร ไทยพาณิชย์ หรือกรุงเทพ เราศึกษาผลตอบแทนย้อนหลังและรายละเอียดค่าธรรมเนียมก่อนตัดสินใจได้เลย
ลงทุนทองคำวิธีที่ 3 ซื้อทองผ่านแอปร้านทอง
เมื่อเทคโนโลยีพัฒนาขึ้น ร้านทองก็เริ่มปรับตัวตาม สมัยนี้เราไม่จำเป็นต้องไปซื้อทองที่ร้านอีกต่อไป แต่สามารถซื้อแอปที่พัฒนาโดยร้านทองโดยตรงได้เลย ข้อดีอีกอย่างคือ เรายังทยอยซื้อได้ด้วย เช่น เราอยาก DCA ทองคำ โดยซื้อเดือนละ 1,000 บาทก็ทำได้ แล้วเมื่อเราซื้อไปมากๆ แล้วเรายังสามารถเปลี่ยนเป็นทองคำแท่งจริงมาเก็บไว้ได้อีกด้วย
ร้านทองเจ้าดังๆ ที่คนนิยมซื้อผ่านแอปเช่น แม่ทองสุก ฮั่วเซงเฮง
สุดท้ายนี้ไม่ว่าเพื่อนๆ จะเลือกลงทุนทองคำวิธีไหน สิ่งสำคัญที่สุดคือ เงินลงทุนนั้นควรเป็นเงินเย็น นอกจากนี้เรายังควรกระจายการลงทุนไปยังสินทรัพย์อื่น เพื่อกระจายความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นตามมาด้วย