เพื่อนๆ คนไหนเคยถอนหายใจเฮือกใหญ่กับค่าภาษีสังคมบ้างครับ? พี่วัวเชื่อว่าหลายคนคงยกมือและพยักหน้าตามกับเพียบ
ยิ่งใครเป็นหัวหน้าฝ่าย หัวหน้าทีม ลูกพี่ใหญ่ หรือบอส ยิ่งแล้วใหญ่ บางเดือนอาจจะเจอค่าภาษีสังคมสูงจนเริ่มเครียด อย่างพี่วัวเองบางเดือนเจองานแต่ง งานบวช งานศพเข้าไป ก็ต้องจ่ายค่าภาษีสังคมเยอะจนน่าตกใจเช่นกัน
วันนี้พี่วัวเลยมีวิธีรับมือกับค่าภาษีสังคมมากฝากกันว่าจริงๆ แล้วเราควรจัดการอย่างไร ถึงผ่านไปได้ด้วยดี ไม่นึกเสียใจ และไม่ให้ผลลัพธ์ย้อนกลับมาทำร้ายตัวเอง
ภาษีสังคม รายจ่ายลับที่บังคับจ่าย
ภาษีสังคมคือรายจ่ายเพื่อการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่น มนุษย์คือสัตว์สังคม แล้วทุกการเข้าสังคมก็มีค่าใช้จ่ายที่ตามมา ถ้าเป็นสังคมการงาน เราอาจเรียกค่าภาษีสังคมอีกชื่อว่า “ค่าคอนเน็กชัน” ถ้าเป็นสังคมเพื่อน เราอาจเรียกอีกชื่อว่า “ค่าเข้าสังคม”
รายจ่ายเรื่องภาษีสังคมมีได้หลากหลายรูปแบบมาก ตัวอย่างที่เจอได้เยอะมากในสังคมไทยเช่น ค่าใส่ซองงานบุญ บวช แต่งงาน ศพ ขึ้นบ้านใหม่ เป็นต้น
ถ้าไม่จ่ายโดยตรงเป็นเงินสดด้วยการใส่ซอง เราอาจจ่ายเป็นค่าอาหารเครื่องดื่ม เวลาต้องไปพบปะหรือสังสรรค์กัน หรือจ่ายเป็นค่าของขวัญ เวลามีโอกาสสำคัญ เช่น ฉลองตำแหน่งใหม่ รับขวัญเด็กเกิดใหม่ เป็นต้น
ภาษีสังคมจึงเป็นเหมือนค่าใช้จ่ายลับที่ซ่อนอยู่ ยากที่จะคำนวณให้ลงตัวในทุกเดือน แต่ก็เป็นรายจ่ายที่หลายคนหลีกเลี่ยงได้ยากมากๆ เช่นกัน
4 วิธีรับมือค่าภาษีสังคม
1.ตั้งงบภาษีสังคมเป็นประจำทุกเดือน
ถ้าเราได้ตั้งงบส่วนนี้ไว้ตั้งแต่แรก ทำจนเป็นเหมือนนี่คือบิลค่าน้ำไฟที่เราต้องเตรียมจ่าย เราจะมีเงินส่วนหนึ่งไว้รับมือภาษีสังคมได้ดีขึ้น ไม่ต้องปวดหัวเมื่อถึงเวลาต้องจ่ายขึ้นมาจริงๆ
ตัวอย่างเช่น พี่วัวมีเงินเดือน 30,000 บาท พี่วัวจะแบ่งไว้ 3,000 บาทหรือ 10% เป็นค่าภาษีสังคม คราวนี้ถ้าพี่วัวต้องไปสังสรรค์กับน้องๆ ในทีมหรือใส่ซองงานแต่ง พี่วัวก็มีเงินกันไว้แต่แรกเรียบร้อย
ถ้าเดือนไหนมีเงินส่วนนี้เหลือ พี่วัวแนะนำให้โอนไปเก็บไว้ในบัญชีอื่น เช่น บัญชีสำรองฉุกเฉินหรือเงินเซฟโซน เราจะได้มีเงินออมติดตัวกันมากขึ้น
2.อย่าคิดเปรียบเทียบกับใครเวลาจ่าย
ยิ่งเป็นเรื่องเงินด้วยแล้ว ถ้าเราคิดเปรียบเทียบกับคนอื่น นี่คือสงครามที่เราไม่มีวันชนะ แล้วเราก็ไม่มีวันจะพอใจได้เลย
สมมุติพี่วัวต้องใส่ซองงานแต่งเพื่อนร่วมงาน ถ้าพี่วัวอยากดูดี ใส่แบงค์เทาไปเลย พี่วัวก็คงดูดี แต่ถ้าดูดีแล้วต้องเครียดภายหลัง พี่วัวขอเลือกจ่ายให้เหมาะสมกับตัวเองดีกว่า เช่น พี่วัวไม่ได้สนิทกับเพื่อนร่วมงานคนนี้นัก เพราะอยู่คนละแผนก วันงานจริงอาจไม่ได้ไปร่วมยินดีด้วย พี่วัวอาจเลือกใส่ซอง 500 บาทแทนสบายใจกว่า
หรือสมมุติพี่วัวนัดลูกค้ามาอัปเดทงานกันนอกสถานที่ พี่วัวไม่จำเป็นต้องเลือกร้านกาแฟแพงๆ เสมอไป เลือกร้านที่ราคาสบายกระเป๋า แล้วใช้ความตั้งใจที่เตรียมงานมา แสดงให้ลูกค้าดู แบบนี้พี่วัวคิดว่าจะสร้างความมั่นใจให้ลูกค้าได้ดีแน่นอน
3.พยายามอย่าตัดงบส่วนนี้ทิ้ง
คนเรามักจดจำกันได้ผ่านการแสดงออก เวลามีโอกาสสำคัญในชีวิต คนที่แสดงออกถึงความยินดีหรือความเสียใจ ย่อมเป็นที่จดจำได้มากกว่าคนที่เงียบหายไปเลย
พี่วัวแนะนำว่ามีมากจ่ายมาก มีน้อยจ่ายน้อย ยังดีกว่าเงียบหายไปเลย แล้วถ้าเป็นงานที่คิดว่าไม่สำคัญจริงๆ บางครั้งการมองข้ามไปบ้างก็ไม่ใช่เรื่องร้ายแรงอะไร
4.ไม่ต้องตรงเป๊ะทุกครั้ง
เวลาไปกินข้าวสังสรรค์ เราชอบมีธรรมเนียมหารจ่ายเท่า แต่สำหรับพี่วัวแล้ว พี่วัวคิดว่าการหารเท่าทุกครั้ง มันดูจู้จี้จุกจิกเกินไป บางครั้งเราหารแบบปัดเศษเผื่อไปบ้างก็ได้ คิดเสียว่าเป็นการแสดงน้ำใจเล็กๆ น้อยๆ เช่น ถ้าคุณพาทีมงานไปเลี้ยงฉลองหมูกระทะ คุณอาจบอกแต่ต้นว่า “มื้อนี้พี่จ่ายพันนึงนะ ที่เหลือหารกันเลย”