หุ้น CPALL หรือ “หุ้นเซเว่นอีเลเว่น” เป็นหุ้นขวัญใจของหลายๆ คน เพราะเป็นหุ้นที่มีชื่อเสียง ทำธุรกิจใหญ่โตทั่วประเทศ มันจึงเป็นหุ้นแรกๆ ที่หลายคนสนใจจะซื้อ แต่อย่าเพิ่งรีบตัดสินใจก่อนอ่านบทความนี้ครับ! วันนี้เราจะมาดูว่าหุ้น CPALL น่าซื้อไหม? ลงทุนถือยาวดีหรือไม่? เพื่อที่คุณจะได้ลงทุนอย่างไม่ผิดพลาด
นอกจากนี้ คนที่อยากหาโอกาสที่ดีที่สุดให้ตัวเอง ก็อาจศึกษาการลงทุนต่างประเทศ ผมมีบทความแนะนำวิธีลงทุนหุ้นอเมริกา หุ้นต่างประเทศให้คุณแล้ว (คุณจะได้หุ้นฟรีมูลค่าถึง $1000 ด้วย)
ส่วนคนที่ลงทุนแล้วอยากรู้วิธีให้พอร์ตโตเร็วๆ ลองมาดูคอร์สลงทุนดีๆ ของบิงโก ซึ่งจะสอนวิธีลงทุนที่ใช้ได้ผลจริง พิสูจน์มาแล้วว่ากำไรแน่นอน
สำหรับวันนี้ เราจะมาวิเคราะห์หุ้น CPALL กันครับ
สรุปเกี่ยวกับหุ้น CPALL สำหรับคนที่ยาวไปไม่อ่าน
หุ้น CPALL ทำธุรกิจร้านสะดวกซื้อ ภายใต้แบรนด์ เซเว่นอีเลเว่น (7-Eleven) นอกจากนี้ยังมีแม็คโครและโลตัสเป็นธุรกิจเสริม
แต่ถึงยังไง เซเว่นอีเลเว่นก็ยังเป็นตัวหลัก ซึ่งมีพลังผูกขาดสูง มีพื้นฐานธุรกิจแข็งแกร่ง ยากที่ใครจะมาแข่งขันได้
แต่ธุรกิจเซเว่นกำลังอิ่มตัว ยอดขายเริ่มโตช้าลง การขยายไปต่างประเทศก็ทำได้ยากลำบาก และมีคู่แข่งจากออนไลน์เข้ามาอีก
สิ่งเหล่านี้กำลังสะท้อนออกมาในงบการเงิน ว่าหุ้น CPALL ยอดขายยังคงโตอยู่ แต่โตช้าลงกว่าในอดีตมาก
ถ้าเราจะซื้อหุ้น CPALL เราต้องมองว่ามันเป็นหุ้นที่แข็งแกร่ง ซื้อแล้วราคาจะค่อยๆ ขึ้นไปช้าๆ แต่จะไม่ได้กำไรเยอะแยะมากมาย เพราะข้อจำกัดด้านการเติบโตของมัน คนที่ซื้อควรคาดหวังผลตอบแทนระยะยาว 6-8% ต่อปี
เราสามารถลงทุนแบบ DCA กับหุ้น CPALL ได้ หรือจะมองว่าเป็นหุ้น VI ตัวหนึ่งก็ยังได้ครับ
เห็นภาพรวมก่อนว่าหุ้น CPALL เป็นการลงทุนสไตล์ไหน
ก่อนที่คุณจะลงทุนหุ้นสักตัว คุณควรรู้เป้าหมายก่อนว่า “ซื้อไปทำไม” โดยปีเตอร์ ลินช์ ได้แบ่งหุ้นเป็น 6 ชนิด ที่ช่วยให้เราเข้าใจการลงทุนหุ้นแต่ละตัวได้ดีขึ้น
หุ้น CPALL จัดเป็น “หุ้นที่คุณซื้อเพราะพื้นฐานดี” มีธุรกิจแข็งแกร่ง ดังนั้นเราจะตัดสินว่าควรซื้อไหม โดยดูว่ามัน “พื้นฐานดีจริงไหม”? หรือที่จริงมัน “ไม่ได้แข็งแกร่งอย่างที่เขาว่า” จนเป็นการลงทุนที่ได้ไม่คุ้มเสี่ยง?
คุณควรคาดหวังว่าซื้อหุ้น CPALL แล้วจะได้…
- เห็นกำไรเติบโตสม่ำเสมอ ยกเว้นช่วงที่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจจริงๆ อาจยอมให้กำไรลดลงได้ในช่วงสั้นๆ
- ถือยาวๆ แล้วราคาควรจะสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยราคาหุ้นระยะสั้นผันผวนบ้างไม่เป็นไร
- ความเสี่ยงต่ำ ธุรกิจเสถียรมั่นคง ราคาหุ้นแกว่งไม่มาก คาดเดาได้ง่ายว่าบริษัทจะดีวันดีคืน
แต่คุณไม่ควรคาดหวังสิ่งเหล่านี้จากหุ้น CPALL
- ซื้อแล้วรวยเร็ว คุณอาจเคยเห็นบทความหรือคนที่เล่าว่า “โอ้โห 10 ปีที่ผ่านมา หุ้นตัวนี้ขึ้นมา 20 เท่า” แต่ข่าวร้ายคือ คุณมาสายไป 10 ปี ตอนนี้สถานการณ์ย่อมไม่เหมือนเมื่อ 10 ปีก่อน ตอนนี้ CPALL ไม่ใช่บริษัทเล็กที่โตไวเหมือนสมัยนั้น คงเป็นไปได้ยากที่ราคาหุ้นจะสูงขึ้นเร็วเหมือนเมื่อก่อน ลองอ่านวิธีหาหุ้น 10 เด้งที่ราคาขึ้นมา 10 เท่า หรือไปหาหุ้นดีๆ โดยศึกษาวิธีลงทุนในหุ้นต่างประเทศเพิ่มเติมดีกว่าครับ
คุณจะเห็นได้ว่า CPALL จัดเป็นหุ้นที่ “ควรจะ” พื้นฐานแข็งแกร่ง เน้นความเสถียรมั่นคง จะไม่หวือหวามาก เวลาเราวิเคราะห์หุ้น ก็จะต้องคิดถึงความคาดหวังตรงนี้ด้วย
รู้จักธุรกิจของหุ้น CPALL
ธุรกิจหลักของ CPALL คือร้านสะดวกซื้อชื่อว่า 7-Eleven ดังนั้นถ้าคุณพูดถึง CPALL ก็เท่ากับพูดถึง “ร้านเซเว่นอีเลเว่น”
แต่เมื่อบริษัทใหญ่ขึ้น ก็มีการขยายธุรกิจไปหลากหลาย แตกแขนงมากขึ้น ผมขอแบ่งธุรกิจ CPALL เป็น 2 กลุ่มง่ายๆ สำหรับวิเคราะห์
- เซเว่นและธุรกิจที่พ่วงมากับเซเว่น เช่น
- รับฝากถอนเงิน จ่ายเงินค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์
- ส่งของ Delivery
- ขายเบเกอรี่ ขายกาแฟ ขายประกัน ขายยา
- ปัจจุบัน CPALL ได้ใบอนุญาตขยายร้านเซเว่นอีเลเว่นไปในอาเซียน (และปล่อยแฟรนไชส์ต่อ) จึงมีการขยายไปเปิดเซเว่นที่ลาว กัมพูชา และอินโดนีเซียเพิ่มจากฐานเดิมในไทย
- ธุรกิจเซเว่นในอินโดนีเซียล้มเหลว สู้คู่แข่งท้องถิ่นไม่ได้ และมีการปิดสาขาทั้งหมดแล้ว
- ค้าปลีกอื่นๆ นอกเหนือจากเซเว่น ได้แก่ “แม็คโคร” และ “เทสโก้ โลตัส”
- กลุ่มนี้เป็นธุรกิจที่ซื้อกิจการเพิ่มเข้ามาทีหลัง หลังจาก CPALL ประสบความสำเร็จจากร้านเซเว่นแล้ว
- เป็นเหมือนการหาช่องทางทำรายได้เสริม หลังจากธุรกิจหลักอยู่ตัว
พอเห็นภาพธุรกิจของเขาแล้ว ทีนี้เราจะมาดูกันนะครับว่าแบบนี้ถือว่า “ดีไหม”?
วิเคราะห์โครงสร้างธุรกิจของหุ้น CPALL
เราจะมาวิเคราะห์โครงสร้างธุรกิจของหุ้น CPALL กันนะครับ
- เซเว่นและพวกที่พึ่งพาเซเว่น
- แม็คโคร+โลตัส
ก่อนอื่น ผมมองว่าแม็คโคร+โลตัส เป็นธุรกิจที่ “สนับสนุนเซเว่น” (synergy) แต่ “ยังไม่ดีพอที่จะนับเป็นธุรกิจหลัก”
- synergy ที่แม็คโคร+โลตัส ช่วยส่งเสริมเซเว่นก็คือ ทำให้เครือซีพีครองการค้าปลีกสมัยใหม่ส่วนใหญ่ของประเทศไทย เขาจึงมีอำนาจผูกขาดสูง ต่อรองราคากับคู่ค้าได้ง่าย เวลาสั่งสินค้าก็สั่งได้ราคาถูกลง และเวลากระจายสินค้าก็ทำง่ายขึ้น เพราะใช้โกดังกับศูนย์กระจายสินค้าร่วมกันได้
- แต่ถึงอย่างนั้น ถ้าวันใดวันหนึ่งเซเว่นอีเลเว่นเกิดมีปัญหาเข้ามา (ลูกค้าเข้าร้านน้อยลง เพราะมีคู่แข่งใหม่ หรือไปซื้อออนไลน์มากขึ้น) ก็เป็นไปได้ยากที่ synergy นี้จะมาช่วยกอบกู้เซเว่นอีเลเว่นให้รอดชีวิต
- ในแง่ขนาดธุรกิจ แม็คโคร+โลตัส เองก็มีขนาดเล็กกว่าเซเว่นมาก จึงไม่อาจนับเป็นธุรกิจหลักของบริษัทได้
นอกจากแม็คโคร+โลตัสแล้ว ธุรกิจอื่นๆ ของ CPALL ก็ผูกติดกับเซเว่นอีเลเว่นเกือบหมด เพราะเป็นการขายสินค้าหรือให้บริการสักอย่างในร้านเซเว่นอีเลเว่น
นั่นหมายความว่าอะไร? นั่นแสดงว่าชะตาของ CPALL ขึ้นอยู่กับความสำเร็จของ “เซเว่นอีเลเว่น” ล้วนๆ ธุรกิจอื่นที่เขาขยายไปทำหรือไปซื้อมา มีผลในการช่วยเพิ่มกำไร แต่สุดท้ายถ้าแกนหลักหรือ “เซเว่น” ไปไม่รอด ก็จะเป็นโดมิโน่ที่ลากตัวอื่นลงไปด้วย
พูดอีกแง่ ถ้าเซเว่นล้ม CPALL ก็ล้ม แต่ถ้าเซเว่นรุ่ง CPALL ก็รุ่งเช่นกัน
เรียนคอร์สลงทุน “นักลงทุนมือหนึ่งของโลก”
อยากศึกษาเรื่องการลงทุนแต่เริ่มไม่ถูก?
บิงโกมีคอร์สสอนลงทุนที่จะคุณอาจสนใจ สอนตั้งแต่พื้นฐานจนถึงขั้นสูง เรียนจบพร้อมลงทุนจริงได้เลย เหมือน “นักลงทุนระดับโลกมาสอนคุณเอง”และจะร่นเวลาให้คุณลงทุนได้เก่งกาจอย่างรวดเร็ว
พลังการผูกขาดและเติบโตของหุ้น CPALL
คงมีน้อยคนที่จะนึกภาพ “ชีวิตที่ไม่มีเซเว่น” ออก
ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร ทำงานอะไร อายุเท่าไร เป็นผู้ชายหรือผู้หญิง เรียนอยู่หรือทำงานแล้ว ทานเนื้อหรือเป็นมังสวิรัติ แทบทุกคนคงเคยใช้บริการเซเว่นไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง
เรียกได้ว่า วิถีชีวิตของคนไทยจำนวนมากแทบจะผูกติดกับเซเว่นอีเลเว่นไปแล้ว
- เซเว่นคือข้าวเช้า กลางวัน เย็น ของหลายๆ คน
- มันคือที่ขายขนมและน้ำเวลาหิว
- เป็นที่จ่ายเงินค่าโทรศัพท์ ค่าน้ำ ค่าไฟ
- มันคือศูนย์รวมสิ่งของเครื่องใช้จำเป็นในชีวิต ตั้งแต่สบู่ แปรงสีฟัน ยาสีฟัน ที่โกนหนวด เหล้า ไปจนถึงครีมทาสิว
ไม่ว่าจะเป็นกรุงเทพฯ หัวเมืองใหญ่ หรือจังหวัดย่อย เราจะเจอเซเว่นอีเลเว่นได้ทุกแห่งหน
มันขายดีขนาดที่ว่า บางทำเลที่คนเยอะๆ เราเดินผ่านเซเว่นไปแค่ 1-2 บล็อกก็เจออีกร้านแล้ว
จำนวนร้านเซเว่นที่แน่นขนัด บ่งบอกชัดเจนว่า “แบรนด์แข็งแค่ไหน” นอกจากนี้พอร้านเขาเยอะ ก็กระจายสินค้าได้ง่าย ต้นทุนของศูนย์กระจายสินค้า โกดัง และโลจิสติกส์ก็ลดลง คู่แข่งหน้าใหม่ที่ไม่มีฐานเดิมตรงนี้จึงต้นทุนสูงกว่ามาก ทำให้ยากที่จะมีใครมาทำธุรกิจแข่งได้
ถ้าผมโยนเงินให้คุณ 100,000 ล้านบาท แล้วบอกให้คุณเริ่มทำธุรกิจร้านสะดวกซื้อเจ้าใหม่ แข่งกับร้านเซเว่น คุณว่าคุณทำได้ไหม? ผมคงทำไม่ได้ และยังมองไม่ออกว่าจะมีใครที่จะแข่งไหว นอกจากเขาพร้อมทุ่มเงินอีกหลายแสนล้าน เสียเวลาหลายสิบปี และอัดโปรโมชั่นโปรยเงินเข้าเนื้อตัวเองในระดับที่ Shopee กับ Lazada จะต้องอาย
นี่คือความได้เปรียบในการแข่งขันที่มหาศาลของเซเว่นอีเลเว่น หรือถ้าภาษานักลงทุน VI ก็จะเรียกว่า “คูเมือง” ซึ่งสร้างพลังผูกขาดให้ไม่มีใครเข้ามาทำธุรกิจแข่งกับเขาได้
แค่เปิดร้านขายของ มันจะยากอะไรนักหนา
แถวบ้านของผมเคยมีร้านเซเว่น (7-Eleven) กับ Family Mart มาเปิดติดกัน
ช่วงแรกๆ ทั้งสองร้านมีคนเข้าใกล้เคียงกัน เรียกได้ว่าเป็นคู่แข่งที่สูสีกันมาก แย่งลูกค้ากันดุเดือด เหมือนคู่แค้นคู่อาฆาตที่กินกันไม่ลงเสียที
Family Mart เป็นร้านสะดวกซื้อในเครือเซ็นทรัล มีฐานเงินทุนที่แข็งแกร่ง มีฐานธุรกิจค้าปลีกของเซ็นทรัลหนุนหลัง และยังเป็นแบรนด์ชื่อดังที่ซื้อแฟรนไชส์จากญี่ปุ่น นับว่า Family Mart เป็นคู่แข่งตัวฉกาจที่พร้อมที่สุดที่จะแย่งส่วนแบ่งตลาดจากเซเว่นอีเลเว่น
เวลาผ่านไป คนก็ทยอยเข้าเซเว่นอีเลเว่นมากขึ้น
จากที่สูสีก็กลายเป็นเห็นความต่างชัดเจนขึ้น
จนในที่สุดร้านหนึ่งก็มีคนเต็ม แต่อีกร้านแทบจะร้าง ร้าน Family Mart ร้านนั้นปิดตัวไปในที่สุด
ทำไม?
ผมเองก็ประหลาดใจ แต่เมื่อมาย้อนคิดดูดีๆ ผมพบว่า ถึงจะเป็นร้านสะดวกซื้อเหมือนกัน แต่สินค้าของเขาไม่เหมือนกัน
เซเว่นอีเลเว่นให้ความสำคัญกับของกินสูงมาก เพราะนิสัยคนไทยชอบซื้อของกินตลอดเวลา เวลาเราเดินเข้าร้านเซเว่น ของกินในเซเว่นจึงหลากหลายกว่า สดกว่า ถูกกว่า และอร่อยกว่าที่ราคาเท่ากัน นอกจากนี้ สินค้าอื่นๆ ในเซเว่นก็ดูจะ “ถูกใจคนไทย” มากกว่าเช่นกัน
พอสินค้าดึงคนเข้าร้านได้ เรื่องอื่นๆ ก็ตามมา พอคนเยอะก็ยอดขายเยอะ ต้นทุนต่อหน่วยถูกลง กำไรสูงขึ้น ซึ่งก็สะท้อนออกมาว่าเขามีเงินในการเทรนพนักงานมากกว่า พัฒนาระบบหลังบ้านได้ดีกว่า และดึงลูกค้าได้เพิ่มอีก คุณจึงเห็นเซเว่นเหนือกว่า Family Mart ในหลายๆ ด้าน เพราะความได้เปรียบเล็กๆ มันส่งผลต่อเนื่อง จนพนักงานรู้งานมากกว่า ยิ้มแย้มกว่า กระทั่งกระจกร้านก็ยังสะอาดกว่า หมาเยอะกว่า
แต่เรื่องง่ายๆ ที่ผมดูออก Family Mart จะดูไม่ออกเชียวหรือ? ผมคิดว่าผู้บริหาร Family Mart ก็รู้เรื่องนี้ เห็นได้จากร้าน Family Mart หลายๆ ร้านที่ปรับตัวเปลี่ยนสินค้าให้ถูกใจคนไทยมากขึ้น พยายามสร้างจุดเด่นของตัวเอง แต่ก็ยังสู้ไม่ได้อยู่ดี
“ไม่ใช่ไม่อยากทำ แต่ทำไม่ได้” เพราะรากฐานทางธุรกิจของเซเว่นอีเลเว่นมันฝังรากอยู่ลึกมาก สินค้าหลายอย่างที่ขายในเซเว่นนั้น “เขาเป็นผู้ผลิตเอง” จึงหาไม่ได้จากที่อื่น อย่างเช่น “ข้าวกล่องเซเว่น” ก็ผลิตโดยเครือซีพี ร้านอื่นจึงหามาขายไม่ได้
คุณจึงสังเกตได้ว่า ไม่ใช่แค่เงินทุนเท่านั้นที่กีดกันคู่แข่งของ CPALL แต่มันมีรากฐานทางธุรกิจหลายอย่างที่วางไว้นานหลายสิบปี ทั้งระบบโลจิสติกส์ สินค้าบางชนิดที่หาไม่ได้ แบรนด์ และทำเลทองที่เชื่อมโยงเป็นเครือข่ายอย่างเหนียวแน่น
ดังนั้น เรื่องพลังการผูกขาดของหุ้น CPALL นั้น แทบไม่มีอะไรต้องห่วงเลยครับ เป็นธุรกิจที่พื้นฐานแข็งแกร่งมาก
แต่คำถามสำคัญถัดมาคือ… ในเมื่อเรามีร้านเซเว่นอีเลเว่นอยู่แทบทุกหัวมุมถนนแล้ว ยังจะมีช่องทางให้ขยายธุรกิจได้อีกเหรอ?
พูดถึงหนทางในการขยายธุรกิจต่อไป
ผมคิดว่าไม่โตแล้ว
มี 3 วิธีที่เซเว่นจะโต
- เปิดร้านใหม่ มีแทบจะทุกหัวมุมถนนแล้ว คงจะเปิดเพิ่มได้ยาก
- ขายของให้มากขึ้นในร้านเดิม ประเทศไทยกำลังจะกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุ คนน้อยลง แต่ละคนก็บริโภคน้อยลง คงยากจะขายของได้มากขึ้น
- ทำธุรกิจอื่น เป็นทางเดียวที่ผมเห็นว่าหุ้น CPALL จะขยายต่อไปได้ และผู้บริหารของเครือซีพีก็คงคิดเหมือนผม เราจึงเห็น CPALL ไปซื้อกิจการแม็คโคร+โลตัส เพื่อเป็นการขยายธุรกิจไปทำอย่างอื่น นี่เป็นการบ่งบอกชัดเจนว่าบริษัทมีเงินเหลือแต่ไม่รู้จะเอาไปทำอะไร เขาเองก็รู้ว่าเปิดร้านใหม่ได้ยาก จึงหันไปซื้อกิจการธุรกิจอื่นๆ แทนการเปิดร้าน
ในอนาคต เราน่าจะเห็นร้านเซเว่นเริ่มอิ่มตัว มีร้านเปิดใหม่น้อยลง ร้านเดิมก็ขายได้ขึ้นๆ ลงๆ ตามสภาพเศรษฐกิจ ยอดขายรวมจากร้านเซเว่น อีเลเว่น จึงโตไปช้าๆ ตามเศรษฐกิจ
แต่บริษัทยังมีพื้นฐานที่แข็งแกร่งอยู่ เครือข่ายร้านเดิมก็เหมือนขุมกำลังที่ไม่มีใครตีแตก มันจึงเป็น “เครื่องจักรผลิตเงิน” ให้บริษัท CPALL นำเงินไปทำธุรกิจอื่นเพิ่มได้ (ข้อ 3)
เราจึงน่าจะเห็นบริษัท CPALL มีรายได้และกำไรเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากการนำเงินสดที่ได้จากร้านเซเว่น ไปทำนู่นทำนี่เพื่อสร้างผลกำไรเพิ่ม
ธุรกิจอะไร? ผมก็ไม่รู้เหมือนกัน แต่มีช่องทางหลากหลายที่เขาสามารถเลือกเดิน
- เอาเงินไปซื้อบริษัทอื่นที่กำไรดี เหมือนที่ซื้อบริษัทแม็คโครมาแล้ว (ทำไปแล้ว)
- ผลิตสินค้าของตัวเองมาขายในร้านของตัวเอง (ทำอยู่)
- ให้บริการเสริมอื่นๆ ในร้านเซเว่น (ทำอยู่ เช่น โอนเงิน จ่ายเงิน รับส่งของ)
- เริ่มต้นธุรกิจใหม่ไปเลย เช่น นำแฟรนไชส์ร้านค้าใหม่ๆ จากญี่ปุ่นหรือจีนมาทำในไทย
ไม่ว่าจะทางไหน เราก็จะเห็นรายได้และกำไรของ CPALL สูงขึ้นเรื่อยๆ ในระยะยาวแน่นอน
และจะส่งผลต่อราคาหุ้นเช่นกันครับ
โอกาสในการขยายธุรกิจไปต่างประเทศ…มีจริงหรือภาพลวงตา?
บริษัท CPALL ขยายเครือข่ายร้านเซเว่นอีเลเว่นไปลาว กัมพูชา และอินโดนีเซีย เพื่อเป็นช่องทางในการขยายธุรกิจ
แต่ผมคิดว่ามันจะไม่ราบรื่นแบบนั้น
- CPALL ไม่ได้มีฐานธุรกิจที่แข็งแกร่งในประเทศเหล่านี้ การขยายธุรกิจจึงไม่สะดวกสบายเหมือนในไทย ไหนจะมีคู่แข่งท้องถิ่นอีก บริษัทจะต้องเจออุปสรรคต่างๆ อีกมากกว่าจะยืนได้มั่นคง
- ลาวและกัมพูชาเป็นประเทศเล็ก ตลาดเล็ก เงินน้อย ต่อให้ขยายไปได้ ก็เป็นสัดส่วนน้อยเทียบกับยอดขายในไทย ไม่น่าจะมีผลมากต่อยอดขายรวมของบริษัท
- อินโดนีเซียเป็นตลาดใหญ่ แต่เท่าที่ผ่านมาเซเว่นที่ขยายไปอินโดนีเซียก็ “เจ็บตัวกลับมา” เพราะคู่แข่งท้องถิ่นเขาก็มีฐานที่แข็งแกร่งเช่นกัน จึงยากที่เซเว่นไทยจะขยายเข้าไปง่ายๆ มันก็คือเหตุผลเดียวกับที่คนอื่นเข้ามาแข่งเซเว่นไทยไม่ได้นั่นล่ะครับ (ธุรกิจแน่น มีเครือข่ายแข็งแกร่ง) พอถึงตาเราขยายไปต่างประเทศ ธุรกิจเดิมในนั้นก็ย่อมได้เปรียบกว่า
ผมมองว่าการขยายธุรกิจไปต่างประเทศ เป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องแล้วของบริษัท CPALL เพราะเป็นการแสวงหาโอกาสใหม่ๆ ที่ดี
เพียงแต่มันจะไม่ง่ายดายและรวดเร็วเหมือนที่หลายคนคิด และจะไม่ออกดอกออกผลในเร็ววัน
ในระยะยาว ธุรกิจในต่างประเทศจะช่วยให้ CPALL เติบโตต่อไปได้ แต่มันคงไม่เร็วเปรี้ยงปร้างทันใจขนาดนั้น
อันที่จริง คนที่สนใจลงทุนหุ้นต่างประเทศ ลองอ่านวิธีเริ่มลงทุนหุ้นอเมริกา+หุ้นต่างประเทศง่ายๆ ที่ผมเขียนไว้ได้เลยนะครับ แล้วคุณจะพบว่ามีโอกาสเยอะมากรอคุณอยู่ในตลาดหุ้นต่างประเทศ
จะสู้ร้านค้าออนไลน์ได้ไหม? ในวันที่โลกเปลี่ยนไป
ถ้าคุณได้ฟังนักวิเคราะห์หลายสำนักพูด เขาจะบอกคุณว่า
เซเว่นอีเลเว่นคือ “ร้านค้าปลีกสมัยใหม่” (Modern Trade) ที่สะดวกสบาย น่าซื้อ และนำเทคโนโลยีมาใช้
เซเว่นจะมาทดแทนร้านโชวห่วยยุคเก่าซึ่ง “ไม่ยอมปรับตัว” แน่นอน
นั่นเป็นเรื่องเมื่อ 20 ปีก่อน
วันนี้ โลกก็กำลังเปลี่ยนไปเช่นกัน แต่เปลี่ยนไปในทางที่ไม่ค่อยดีต่อร้านค้า “ยุคเก่า” แบบเซเว่นเท่าไรนัก เพราะคนกำลังหันไปซื้อสินค้าออนไลน์มากขึ้น ซึ่งถูกกว่าและสะดวกสบายไม่แพ้กัน
หรือวันนี้จะเป็นเซเว่นที่ “ตกยุคปรับตัวไม่ทัน” เสียเอง?
ผมคิดว่าคนจะซื้อของออนไลน์มากขึ้น ยอดขายในร้านจะลดลง โดยเซเว่นจะปรับตัวได้ในระดับหนึ่ง แต่จะไม่สามารถชดเชยยอดขายที่เสียไปได้ทั้งหมด
- สบู่ทุกก้อนที่คนสั่งซื้อจากเน็ต คือสบู่ที่คนจะไม่ซื้อจากเซเว่น แม็คโคร หรือโลตัสอีกต่อไป
- อาหารเดลิเวอรี่ทุกมื้อที่คนสั่งผ่านมือถือ คือข้าวกล่องเซเว่นที่ขายได้น้อยลง
- ค่าน้ำ ค่าไฟ และค่าโทรศัพท์ที่คนจ่ายผ่านแอพ คือรายได้ที่จะไม่เข้าร้านเซเว่นอีเลเว่นอีกต่อไป
สิ่งเหล่านี้จะเป็นแรงกดดันให้ยอดขายตามร้านเซเว่นไม่โต หรืออาจลดลงด้วยซ้ำ
ตอนนี้เซเว่นก็เริ่มให้บริการออนไลน์ของตัวเอง โดยเปิดให้คนสั่งซื้อสินค้าจากเซเว่นผ่านมือถือได้เลย แต่ผมมองว่าท้ายที่สุด ด้วยโครงสร้างของบริษัทและวัฒนธรรมองค์กรที่ไม่ได้ออกแบบมาสำหรับออนไลน์ 100% เขาก็จะสู้คู่แข่งที่ทำออนไลน์เป็นหลักไม่ได้ และเสียอำนาจผูกขาดที่กุมไว้ดั้งเดิมออกไป
นี่ไม่ได้หมายความว่าคนจะเลิกซื้อของจากเซเว่นไปเลย เพราะคนเรายังชอบเดินไปซื้อของกินใกล้บ้านเวลาหิวอยู่
นี่ไม่ได้หมายความว่ายอดขายออนไลน์ของเซเว่นจะเป็น 0 เพราะเขาก็ยังมีฐานเดิมที่พอสู้ได้
แต่ทั้งหมดนี้จะรวมกันเป็น “แรงกดดันที่มองไม่เห็น” ซึ่งคอยป้องกันไม่ให้ยอดขายของเซเว่นเติบโตได้เท่าที่ควร
วิเคราะห์งบการเงินหุ้น CPALL
เรามองภาพธุรกิจของหุ้น CPALL กว้างๆ กันไปแล้ว ต่อไปเราจะมาดูงบการเงินเพื่อเจาะลึกผลประกอบการกัน
คนที่สนใจศึกษาวิธีอ่านงบการเงิน ลองเข้าไปอ่านวิธีดูงบการเงินสำหรับมือใหม่ง่ายๆ ได้เลยนะครับ
ยอดขายไม่โต หรือโตช้าอืดอาด
ตามที่เราวิเคราะห์กันไปแล้ว หลายปัจจัยจะมาคอยกดดันไม่ให้ CPALL ยอดขายโตเร็วมากนัก (แต่น่าจะยังโตบ้าง เพราะธุรกิจเดิมเขามั่นคงดี) เพราะ…
- ตลาดไทยที่อิ่มตัว
- คู่แข่งจากออนไลน์
ซึ่งการชะลอตรงนี้ก็สะท้อนออกมาในงบตามคาดครับ ดังนี้
ตั้งแต่ปี 2017-2019 บริษัทมีรายได้โตปีละ 8% ซึ่งถือว่าสูงพอสมควร แต่ก็ไม่ได้หวือหวาน่าตื่นเต้นเหมือนสมัยก่อนที่โตปีละ 30-40%
แนวโน้มรายได้น่าจะค่อยๆ โตช้าลง ตามการอิ่มตัวของตลาด เราอาจมองตัวเลข 8% เป็นเพดานก็ได้ ต่อไปบริษัทก็อาจโตช้าลงเป็น 7% 6% 5% ดังนั้นราคาหุ้นก็จะสูงขึ้นประมาณนี้ในระยะยาว เมื่อคิดรวมกับเงินปันผลแล้ว เราอาจมองว่าผลตอบแทนจากการซื้อหุ้น CPALL ในระยะยาวน่าจะอยู่แถว 6-8% ต่อปี
ส่วนปี 2020 เป็นปีที่เกิดวิกฤติไวรัส Covid ซึ่งทำให้รายได้ลดลง แต่ก็ถือว่าลดลงไม่มาก ตรงนี้น่าสนใจครับ ในเวลาที่ย่ำแย่ขนาดนี้บริษัทกลับรายได้ลดลงไม่มาก แสดงว่าธุรกิจของเขามั่นคงมากทีเดียว
อัตรากำไรคงที่ แต่มีแนวโน้มลดลงเล็กน้อย
อัตรากำไรขั้นต้นคงที่ (เพิ่มนิดหน่อย) ต่อเนื่องกันตั้งแต่ 2017-2019 จนกระทั่งโดนพิษ Covid จึงหล่นลงมานิดหน่อย
อัตรากำไรสุทธิคงที่ (ลดนิดหน่อย) ต่อเนื่องกันตั้งแต่ 2017-2019 จนกระทั่งโดนพิษ Covid จึงหล่นลงมาแรงมาก
วิธีหาอัตรากำไร ผมสรุปไว้ในเทคนิคอ่านงบกำไรขาดทุนแล้วนะครับ
การที่อัตรากำไรคงที่ เป็นเรื่องดีสำหรับธุรกิจที่อิ่มตัวแล้ว เพราะคงจะยากถ้าจะให้มันสูงขึ้นทุกปี (ไม่ลดก็บุญแล้ว)
ปี 2020 เป็นปีพิเศษที่เกิดวิกฤติไวรัส Covid จึงเป็นเรื่องปกติที่กำไรจะลดลง ดังนั้นเราจะไม่ดูปีนี้มาก
แต่คำถามที่น่าคิดก็คือ ช่วงปี 2017-2019 ทำไม “อัตรากำไรขั้นต้น” มีแนวโน้มเพิ่มเล็กน้อย ซึ่งสวนทางกับ “อัตรากำไรสุทธิ” ที่มีแนวโน้มลดเล็กน้อย?
ผมคิดว่าเรื่องนี้กำลังสะท้อนสิ่งที่เราวิเคราะห์กันมาข้างบน นั่นก็คือ
- CPALL ได้เปรียบจากการขยายสาขาเพิ่ม ต่อรองคู่ค่าได้มากขึ้น ประหยัดต้นทุนต่อหน่วยบางชนิดได้ เช่น ค่าโลจิสติกส์ ค่าซื้อสินค้า (อัตรากำไรขั้นต้นเพิ่ม)
- ตลาดที่กำลังอิ่มตัว ทำให้ CPALL ต้องแข่งขันมากขึ้นเพื่อแย่งลูกค้า ไม่ว่าจะเป็นค่าการตลาด โปรโมชั่น ค่าเช่าทำเลทอง หรือกระทั่งค่าจ้างพนักงงานเก่งๆ (อัตรากำไรสุทธิลด)
สองปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นพร้อมกัน เราจึงเห็นงบการเงินออกมาแบบนี้ครับ
สรุปแล้วหุ้น CPALL น่าซื้อไหม? ถือยาวดีหรือไม่?
หุ้น CPALL ทำธุรกิจเซเว่นอีเลเว่น ซึงมีพื้นฐานธุรกิจแข็งแกร่ง ยากที่ใครจะมาแข่งขันได้ ตรงนี้จะเป็นเครื่องจักรทำเงินให้ CPALL นำมาขยายธุรกิจต่อไป กำไรจึงเพิ่มขึ้นได้เรื่อยๆ
แต่ธุรกิจเซเว่นกำลังอิ่มตัว ยอดขายเริ่มโตช้าลง การขยายไปต่างประเทศก็ทำได้ยากลำบาก และมีคู่แข่งจากออนไลน์เข้ามาอีก
สิ่งเหล่านี้กำลังสะท้อนออกมาในงบการเงิน ว่าหุ้น CPALL ยอดขายยังคงโตอยู่ แต่โตช้าลงกว่าในอดีตมาก
ถ้าเราจะซื้อหุ้น CPALL เราต้องมองว่ามันเป็นหุ้นที่แข็งแกร่ง ซื้อแล้วราคาจะค่อยๆ ขึ้นไปช้าๆ แต่จะไม่ได้กำไรเยอะแยะมากมาย เพราะข้อจำกัดด้านการเติบโตของมัน คนที่ซื้อควรคาดหวังผลตอบแทนระยะยาว 6-8% ต่อปี เป็นเหมือน passive income ที่ค่อยๆ ออกดอกออกผล
เราสามารถลงทุนแบบ DCA กับหุ้น CPALL ได้ หรือจะมองว่าเป็นหุ้น VI ตัวหนึ่งก็ยังได้ครับ
เริ่มต้นลงทุนหุ้นต่างประเทศเพื่อโอกาสที่ดีกว่า
ต้นไม่ที่ร่มรื่นย่อมเริ่มจากเมล็ดพันธุ์ที่ดี การลงทุนที่ดีจึงอยู่ในเศรษฐกิจที่มีการเจริญเติบโต มีนวัตกรรม และมี dynamics สูง
แต่ปัจจุบันเศรษฐกิจไทยเติบโตช้าลงมาก คนไทยเกิดน้อยลง สังคมกำลังจะกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุ ใครที่มีความรู้เรื่องเศรษฐกิจจะพอรู้ว่า “มืดมน” นักลงทุนไทยจำนวนมาก โดยเฉพาะเซียนหุ้นที่เข้าใจเรื่องนี้ จึงเริ่มเลี่ยงไปลงทุนต่างประเทศกันมากขึ้น
ถ้าคุณอยากหาโอกาสที่ดีที่สุดให้ตัวเอง คุณเองก็อาจศึกษาการลงทุนต่างประเทศมากขึ้น แล้วคุณจะพบว่าโอกาสดีๆ มีอยู่มาก ผมมีบทความสอนวิธีลงทุนหุ้นอเมริกา หุ้นต่างประเทศให้คุณแล้ว (คุณจะได้หุ้นฟรีมูลค่าสูงสุด $1000 ด้วย)
สำหรับคนที่คิดว่าการลงทุนหุ้นต่างประเทศไกลตัวเกินไป อยากซื้อกองทุนให้เขาไปลงทุนหุ้นต่างประเทศแทนเรา นั่นก็เป็นทางเลือกที่ดีมากครับ แต่ก่อนหน้านั้น ผมแนะนำให้อ่าน ซื้อกองทุนต่างประเทศยังไง ให้กำไรมากขึ้น 100% ซึ่งผมเขียนไว้ให้คุณโดยเฉพาะเลยครับ
เรียนคอร์สลงทุน “นักลงทุนมือหนึ่งของโลก”
อยากศึกษาเรื่องการลงทุนแต่เริ่มไม่ถูก?
บิงโกมีคอร์สสอนลงทุนที่จะคุณอาจสนใจ คอร์สนี้จะสอนคุณตั้งแต่พื้นฐานจนถึงระดับสูง มือใหม่เรียนจบก็พร้อมลงทุนจริงได้เลย
คอร์สนี้ถูกออกแบบให้พิเศษกว่าคอร์สลงทุนทั่วไป เพราะมาจากหนังสือลงทุนของเซียนหุ้นระดับโลก ทั้งวอร์เรน บัฟเฟตต์, ปีเตอร์ ลินช์, เบนจามิน เกรแฮม, ดร.นิเวศน์ และอื่นๆ จนเหมือน “นักลงทุนระดับโลกมาสอนคุณเอง” ทุกเล่มที่เราคัดมาคือหนังสือลงทุนที่ดีที่สุด ซึ่งได้รับการยอมรับจากทั่วโลกว่าเป็น “ของจริง” และจะร่นเวลาให้คุณลงทุนได้เก่งกาจอย่างรวดเร็ว