เนื้อหานี้ผมหยิบมาจากต้นฉบับ How The Economic Machine Works ของคุณเรย์ ดาลิโอ ผู้จัดการกองทุนชั้นนำของโลก คุณเรย์ยังได้เขียนหนังสือ Principles อันโด่งดัง ซึ่งสอนข้อคิดที่ผมพูดได้คำเดียวว่า “สุดยอด” ขอแนะนำให้อ่านสรุปได้เลยนะครับ
เวลาคุณลงทุนหรือฟังข่าวเศรษฐกิจ คุณจะได้ยินเขาบอกว่า “เกิด X ขึ้น พรุ่งนี้จึงจะเกิด Y” แต่คุณคงมองไม่เห็นภาพไกลกว่าพรุ่งนี้ใช่ไหม? แล้วพอสัปดาห์ถัดไป คุณก็เจอข่าวใหม่ที่ขัดแย้งกับเรื่องที่คุณฟังมาก่อน คุณก็ได้แต่คิดแล้วสงสัย จากความสงสัยก็เป็นความงงงวย
คุณรับรู้ข้อมูลวันต่อวัน มองเห็นอนาคตได้ไม่เกิน 2 สัปดาห์ แล้วก็ต้องเดาสุ่มว่าเศรษฐกิจจะเป็นไงต่อ นั่นเพราะคุณไม่เข้าใจภาพรวม พอคุณไปอ่านบทความตามอินเทอร์เน็ต เขาก็จะบอกจุดเล็กๆ ตรงโน้นตรงนี้ แต่เขาไม่ได้หยิบจุดมาเชื่อมภาพใหญ่ให้คุณสักที
ในความเป็นจริง เศรษฐกิจไม่ได้เข้าใจยากเหมือนที่หลายคนกลัว บทความนี้ผมจะไขทุกข้อสงสัย ว่าระบบการเงิน การธนาคาร หนี้สิน และตลาดหุ้น สัมพันธ์กันอย่างไร ทั้งหมดนี้ใช้เวลา 30 นาที
นอกจากนี้ ถ้าใครอยากหาโอกาสที่ดีที่สุดให้ตัวเอง มาดู วิธีลงทุนหุ้นต่างประเทศง่ายๆ ได้เลย
ตัวป่วนที่เรียกว่าเงิน
เศรษฐกิจจะเรียบง่ายกว่านี้มากถ้าเราไม่มีสิ่งที่เรียกว่า “เงิน”
เงินคืออะไรก็ตามที่ทุกคนในสังคมใช้แลกเปลี่ยนสิ่งของกัน มันจะเป็นอะไรก็ได้ ตั้งแต่เปลือกหอย ทองคำ ทองแดง ไปจนถึงเศษกระดาษ ขอแค่ทุกคนยอมแลกสิ่งของกับเงิน เจ้าเงินนั้นจะมีค่าขึ้นมา
เงินทำให้เราค้าขายสะดวก เราเลี้ยงไก่แล้วไปขายได้เงิน แล้วเราค่อยเอาเงินไปซื้อสิ่งที่อยากได้ นึกภาพว่าถ้าไม่มีเงิน เราก็ต้องเอาไก่ไปแลกข้าว แต่กว่าจะเจอคนที่ปลูกข้าวแล้วอยากได้ไก่ คงหมดเวลาเป็นวันๆ นี่ยังไม่รวมเบียร์ เสื้อผ้า พริก น้ำปลา และกระเทียมที่เราอยากได้อีก
เงินจึงช่วยให้เราแลกเปลี่ยนสินค้าง่ายขึ้น
แต่อีกเดี๋ยวเราจะได้เห็นกัน ว่าเงินนี่แหละที่ทำให้เกิด “วิกฤติเศรษฐกิจ” ขึ้น
เราแลก “สินค้า/บริการ” กับ “เงิน”
สินค้า/บริการ คือสิ่งที่เราอยากได้ เช่น อาหาร เสื้อผ้า รถยนต์ เบียร์ ฯลฯ
เงินคือกระดาษที่เราใช้แลกเปลี่ยน “สินค้า/บริการ” กัน มันไม่มีค่าในตัวเอง ค่าของเงินอยู่ที่มันแลก “สินค้า/บริการ” ได้แค่ไหน
เราผลิต “สินค้า/บริการ” จากนั้นนำมันไปขาย ได้ “เงิน” มาซื้อ “สินค้า/บริการ” จากคนอื่น
A ซื้อไก่จาก B –> B ได้เงิน
B ซื้อข้าวจาก C –> C ได้เงิน
C ซื้อผักจาก D –> D ได้เงิน
D ซื้อปลาจาก E –> E ได้เงิน
เงินก้อนนี้ทำให้ A B C D E รู้สึกตัวเองมีเงิน ทั้งที่มันเป็น “เงินก้อนเดิม” ที่หมุนเวียนเปลี่ยนมือกันเฉยๆ
เศรษฐกิจเกิดจากการแลกเปลี่ยน “สินค้า/บริการ” กับ “เงิน” นับล้านครั้ง รวมกันเป็นเศรษฐกิจขึ้นมา
หนี้สินกับ “เงินเทียม” (credit)
พอมีเงินก็มีคนหัวหมอ ตั้งตัวเป็น “ธนาคาร” ซึ่งปล่อยกู้เงินให้คนอื่นแล้วคิด “ดอกเบี้ย”
เจ้าหนี้ปล่อยกู้เพราะอยากได้ดอกเบี้ย ลูกหนี้กู้เงินเพราะอยากซื้อสิ่งที่ตัวเองไม่มีเงินซื้อ เช่น ซื้อบ้าน ซื้อรถ ซื้อไอโฟน ลงทุนทำธุรกิจ หรือซื้อหุ้น
แต่เดี๋ยวก่อนนะครับ…
เมื่อ A ซื้อของด้วยเงินกู้ เขากำลังเอา “เงิน” ไปให้ B เพื่อแลก “สินค้า/บริการ” ทั้งที่ตอนแรก A ไม่มีเงินนั้นอยู่จริง
แต่พอกู้เงินมาได้ เงินนั้นก็กลายเป็นของจริงขึ้นมา แล้ว B ก็นำเงินนั้นไปใช้หมุนต่อในระบบเศรษฐกิจได้
นั่นแสดงว่าตอนที่ A ก่อหนี้ เขากำลังสร้าง “เงินเทียม” (credit) ขึ้นมาจากความว่างเปล่า
โลกเราหมุนด้วยหนี้
ตอนนี้เรารู้สองอย่าง
- รายจ่ายของ A คือรายได้ของ B ซึ่งทำให้ B มีเงินและรู้สึกว่าตัวเอง “รวยขึ้น”
- ต่อให้ตอนแรก A ไม่มีเงินเลย ก็สามารถก่อหนี้ไปซื้อของจาก B และทำให้ B “รวยขึ้น” ได้อยู่ดี
A ก่อหนี้จากความว่างเปล่า เพื่อสร้างรายได้ให้ B
เมื่อ B มีรายได้ เขาก็สามารถใช้รายได้นั้นค้ำประกันเงินกู้ที่มากขึ้น แล้วสร้างรายได้ให้ C
เมื่อ C มีรายได้ เขาก็สามารถใช้รายได้นั้นค้ำประกันเงินกู้ที่มากขึ้น แล้วสร้างรายได้ให้ D
เมื่อ D มีรายได้ เขาก็สามารถใช้รายได้นั้นค้ำประกันเงินกู้ที่มากขึ้น แล้วสร้างรายได้ให้ E
แสดงว่าถ้าคนเรากู้หนี้ยืมสินมาใช้จ่าย มันจะสร้าง “เงินเทียม” (credit) ขึ้นมา พร้อมเป็นรายได้ให้คนขายของ จึงเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจทางอ้อม
เราทุกคนต่างกู้กันคนละนิด จน “เงินเทียม” บวมขึ้นเรื่อยๆ ในระบบเศรษฐกิจ
ในเศรษฐกิจทุกวันนี้ คนเรากู้หนี้ยืมสินจนมี “เงินเทียม” มากกว่า “เงินจริง” หลายเท่า คาดกันว่าในอเมริกามีเงินเทียมจากหนี้สินมากกว่าเงินจริงถึง 16 เท่า แต่ระบบการเงินไทยยังไม่พัฒนาเท่าอเมริกา เราจึงอาจเห็นเงินเทียมนี้ไม่ถึง 16 เท่า แต่ก็ยังคงเป็นตัวเลขที่สูงอยู่ดีครับ
ของฟรีไม่มีในโลก มีหนี้ต้องชำระ บุญคุณต้องทดแทน
ยิ่งเรากู้เงินมาใช้จ่ายมากแค่ไหน เงินนั้นจะกลายเป็น “รายได้” ของคนอีกคนหนึ่ง ทำให้เศรษฐกิจดีขึ้นเท่านั้น
แต่ทุกงานเลี้ยงต้องมีการเลิกรา เพราะเมื่อเรามีหนี้ เราก็ต้องใช้คืน และการใช้หนี้คืนย่อมเจ็บปวดเสมอ
นั่นทำให้เศรษฐกิจมีวัฏจักรขึ้นลง
- พอคนเรากู้เงินกันเยอะๆ ช่วงนั้นเศรษฐกิจจะดี
- ช่วงไหนคนต้องใช้หนี้คืน ช่วงนั้นเศรษฐกิจจะแย่
เราสังเกตเศรษฐกิจไทยก็ได้ครับ ช่วงไหนคนกู้เงินกันเยอะมากๆ ช่วงนั้นเศรษฐกิจจะดี จากนั้นพอคนเป็นหนี้กันเยอะๆ ก็จะต้องหาเงินมาจ่ายหนี้กัน คนจะบริโภค/ลงทุนน้อยลง ช่วงนั้นเศรษฐกิจจะแย่
“หนี้” คือเหตุผลที่เศรษฐกิจมีขึ้นมีลง
เราจะใช้ความรู้ด้านเศรษฐกิจ ในการลงทุนอย่างไร?
เมื่อเรารู้แล้วว่าเศรษฐกิจสมัยใหม่สร้างขึ้นมาบนฐานของหนี้ก้อนมโหฬาร จึงทำให้มีวัฎจักรเศรษฐกิจขึ้นลง เราก็ต้องถามต่อว่า รู้แบบนี้จะช่วยให้เราลงทุนให้ดีขึ้นได้อย่างไร? ผมขอสรุปเป็น 2 ด้านดังนี้ครับ
- รู้ว่าเศรษฐกิจขึ้นลงเป็นวัฎจักร หลังจากเศรษฐกิจดี ก็จะไม่ดี และหลังจากเศรษฐกิจไม่ดี ก็จะดี ช่วงเวลาลงทุนที่ดีที่สุดคือช่วงที่เศรษฐกิจยังไม่ดีและทำท่าว่ากำลังจะฟื้น ส่วนช่วงเวลาที่แย่ที่สุดในการลงทุนคือช่วงที่เศรษฐกิจขึ้นถึงขีดสุดและกำลังจะเป็นขาลง
- ธุรกิจที่มีปัญหาหนักที่สุดช่วงเศรษฐกิจขาลง คือพวกที่เกี่ยวกับหนี้ เพราะวัฏจักรขาลงเกิดจากการที่ระบบหนี้เสียสมดุลล้มลง ธุรกิจที่จะได้รับผลกระทบมากจึงเป็นพวกที่สัมพันธ์กับหนี้สิน
- ธุรกิจที่กู้หนี้ยืมสินมาเยอะ = ยอดขายลดจนอาจไม่มีเงินจ่ายหนี้
- ธุรกิจธนาคาร ปล่อยกู้ = ลูกหนี้เบี้ยวหนี้ เสียหายหนัก
- ธุรกิจที่ให้เครดิตลูกค้า ลูกค้าซื้อก่อนผ่อนทีหลัง = ลูกค้าอาจไม่จ่ายเพราะการเงินของเขามีปัญหา
ถ้าเราเข้าใจเรื่องเหล่านี้ เราก็จะลงทุนได้ดีขึ้นครับ
แต่ว่าการลงทุนต้องการความรู้ที่มากกว่าแค่เข้าใจเศรษฐกิจนะครับ เรายังต้องเข้าใจธุรกิจ งบการเงิน โครงสร้างกำไร และโอกาสในการเติบโตของบริษัทที่เราจะไปลงทุน ดังนั้นเราจะต้องหาความรู้ให้ดีก่อน เพื่อที่จะลงทุนให้ได้ดี
คุณสามารถศึกษาเรื่องการลงทุนด้วยตัวเองได้ แต่ปัญหาของหลายๆ คนคือ การศึกษาเองนั้นใช้เวลาเยอะ ด้วยเนื้อหาที่ยากและหลากหลาย การเรียนทุกอย่างเองอาจต้องใช้เวลานานหลายปี บิงโกมีคอร์สดีๆ ที่จะสอนทุกอย่างที่คุณต้องรู้ในเวลาอันสั้น ตั้งแต่วิธีบริหารเงิน ออมเงิน วางแผนการเงิน พร้อมสอนวิธีนำเงินไปลงทุนให้งอกเงยด้วยเทคนิคของมหาเศรษฐีและนักลงทุนชั้นนำ ทั้งวอร์เรน บัฟเฟตต์, ปีเตอร์ ลินช์, ไปจนถึงคุณเรย์ ดาลิโอ ผู้โด่งดัง
รูปแบบ 3 ชั้นที่ซ่อนอยู่ในทุกเศรษฐกิจ
นั่นทำให้เศรษฐกิจจริงเกิดจากรูปแบบย่อย 3 ตัว ซ้อนทับกันอยู่ ได้แก่…
- ความสามารถในการผลิต (Productivity)
- วงจรหนี้รอบเล็ก (Short-term Debt Cycle)
- วงจรหนี้รอบใหญ่ (Long-term Debt Cycle)
ทั้งสามตัวนี้รวมกันทำให้เกิดภาพเศรษฐกิจจริงที่เราเห็นอยู่ทุกวัน ดังนั้นถ้าเราเข้าใจ 3 องค์ประกอบนี้ เราก็จะเข้าใจเศรษฐกิจด้วยครับ
1. ความสามารถในการผลิต (Productivity)
สมัยก่อนคน 1 คนนั่งอบขนมปังทีละถาด ผลิตขนมปังได้ 10 ก้อน
ปัจจุบันคน 1 คนสับคันโยกทีเดียว โรงงานขนมปังก็ผลิตขนมปังได้ 10,000 ก้อน
คนเราทำงานเก่งขึ้นเรื่อยๆ เพราะเราเรียนรู้ นำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ในการทำงาน และอ่านบทความบิงโก เราจึงผลิตสินค้าและบริการได้มากขึ้น
ยิ่งประเทศไหนพัฒนา Productivity ได้เร็ว เศรษฐกิจก็ยิ่งโตเร็ว แต่ถ้าประเทศไหนพัฒนา Productivity ช้า เศรษฐกิจก็จะโตช้า
Productivity คือกุญแจที่ทำให้เศรษฐกิจเจริญในระยะยาว
เศรษฐกิจไทยช่วงหลังเติบโตจาก “ร้านขายของ” หรือ “ร้านอาหาร” หรือ “การท่องเที่ยว” เป็นหลัก ซึ่งไม่ได้พัฒนา Productivity นั่นทำให้บางช่วงเศรษฐกิจดี บางช่วงเศรษฐกิจแย่ แต่เราจะเห็นว่าระยะยาวไปไม่ถึงไหน เพราะ Productivity เท่าเดิม
ในอนาคตที่กำลังจะมาถึง คุณจะลงทุนอย่างไรกับทศวรรษที่กำลังจะหายไปของไทย
2. วงจรหนี้รอบเล็ก (Short-term Debt Cycle)
ในช่วงสั้นๆ คุณไม่จำเป็นต้องพัฒนาตัวเอง (เพิ่ม Productivity) คุณแค่กู้เงินมาใช้จ่าย/ลงทุน แค่นี้ก็รวยขึ้นแล้ว
พอเรากู้เงิน เศรษฐกิจก็ดี –> พอถึงเวลาใช้หนี้ เศรษฐกิจก็แย่ เกิดเป็นวงจรหนี้รอบเล็ก “เศรษฐกิจขึ้น-ลง” ทุก 5-8 ปี
- ช่วงต้นวงจร คนจะไม่ค่อยมีหนี้ จึงกู้เงินมาใช้จ่ายกันสบายตัว เศรษฐกิจดี
- พอคนมีหนี้มากขึ้นๆ จะเริ่มเงินตึง ใช้จ่ายไม่คล่องเหมือนก่อน เศรษฐกิจจะแย่ลง จนกระทั่งคนใช้หนี้เสร็จ ก็จะกลับไปเริ่มวงจรใหม่
คนส่วนใหญ่มองไม่เห็นวงจรนี้ พวกเขารู้แค่ “วันนี้เศรษฐกิจดี” หรือ “เดือนนี้เศรษฐกิจแย่” แต่ไม่เข้าใจภาพรวม แต่ถ้าคุณมองเห็นภาพวัฏจักรนี้ คุณก็จะเข้าใจภาพรวมของการก่อหนี้และการขึ้นลงของเศรษฐกิจ
3. วงจรหนี้รอบใหญ่ (Long-term Debt Cycle)
ธรรมชาติคนเราชอบเป็นหนี้ ทุกครั้งที่วงจรหนี้ระยะสั้นวนจบ เราจะไม่ใช้หนี้จนหมดสิ้นไป เศรษฐกิจจะมีหนี้สะสมเพิ่มขึ้น
หนี้สะสมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ พร้อมกับเศรษฐกิจที่โตขึ้นจากหนี้ ธนาคารจะปล่อยกู้มากขึ้น เราจะเป็นหนี้มากขึ้น ตลาดหุ้นจะวิ่งแรงขึ้น อสังหาริมทรัพย์ร้อนแรงขึ้น บนฐานหนี้กองมโหฬาร
จนถึงวันที่เศรษฐกิจรับไม่ไหวแล้วจริงๆ จึงพังครืนลงมา เกิดความพินาศครั้งใหญ่ คนจะล้มละลายและล้างหนี้ออกไปจนหมด นับเป็นหนึ่งรอบ “วงจรหนี้รอบใหญ่”
วงจรหนี้รอบใหญ่ กินเวลายาวนาน 75-100 ปี ชีวิตคนหนึ่งคนจะเห็นครั้งเดียว จึงมักไม่มีใครเตรียมตัวหรือเข้าใจมันดีพอ
สรุป…ทุกระบบเศรษฐกิจต้องพังทุก 100 ปี?
เรามาสรุปกันหน่อยครับ
- เงินคือสิ่งที่ใช้แลกเปลี่ยนสินค้าและบริการ
- เงินจะหมุ่นไปเรื่อยๆ ในระบบเศรษฐกิจ
- รายจ่ายของ A คือรายได้ของ B
- หนี้สินทำให้เศรษฐกิจโตในช่วงสั้นๆ แต่ชะลอตัวเมื่อต้องใช้หนี้คืน
- หนี้สินทำให้เกิดวงจรหนี้รอบเล็กและใหญ่ รอบเล็กกินเวลา 5-8 ปี รอบใหญ่ 75-100 ปี เวลาจบรอบใหญ่เศรษฐกิจจะเละมาก
- ในระยะยาว เศรษฐกิจโตจาก Productivity แต่ในะระยะสั้น เศรษฐกิจโตด้วยหนี้
ตอนนี้เราอยู่ในจุดเปลี่ยนในประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจ เพราะเรากำลังเข้าใกล้ “จุดจบวงจรหนี้รอบใหญ่” เข้าไปทุกที เศรษฐกิจที่เดินมาถึงจุดจบรอบใหญ่จะพังทลายลงอย่างรวดเร็ว คุณจะเห็นธุรกิจล้มละลาย คนตกงาน และอนาคตมืดมน มันเป็นจุดที่สร้างเศรษฐีหน้าใหม่ และทำลายเศรษฐีรุ่นเก่ามาโดยตลอด
ประเทศไทยเผชิญจุดจบวงจรหนี้ “รอบใหญ่” ไปเมื่อปีพ.ศ. 2473 และ 2540 ทั้งสองครั้งเศรษฐกิจไทยพังพินาศ เป็นอภิมหาวิกฤติสำหรับคนที่ไม่พร้อม แต่เป็นโอกาสให้คนรุ่นใหม่สร้างตัวขึ้นมาได้
อเมริกาเผชิญจุดจบวงจรหนี้ “รอบใหญ่” ไปในปี 1930 และมาถึงตอนนี้เวลาได้ล่วงเลยไปเกือบ 100 ปีแล้ว สัญญาณเริ่มชัดเจนว่า “รอบถัดไป” กำลังจะมาถึง เพียงแต่อเมริกาเป็นประเทศใหญ่ จึง “โกงความตาย” ได้นานกว่าคนอื่น
แต่จะมีใครฝืนธรรมชาติได้บ้าง? เป็นไปได้ไหมที่อเมริกาจะรอดพ้นจากวงจรหนี้รอบใหญ่ได้ตลอดกาล? อ่านต่อใน เข้าใจระบบเศรษฐกิจใน 30 นาที How The Economic Machine Works – ตอนที่ 2 ได้เลยครับ
เริ่มต้นลงทุนหุ้นต่างประเทศเพื่อโอกาสที่ดีกว่า
การลงทุนหุ้นคือการซื้อธุรกิจที่ยอดเยี่ยม ดังนั้นหุ้นที่ดีจะอยู่ในเศรษฐกิจที่มีการเจริญเติบโต มีนวัตกรรม และมี dynamics สูง
แต่ปัจจุบันเศรษฐกิจไทยเติบโตช้าลงมาก คนไทยเกิดน้อยลง สังคมกำลังจะกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุ ใครที่มีความรู้เรื่องเศรษฐกิจจะพอรู้ว่า “มืดมน” นักลงทุนไทยจำนวนมาก โดยเฉพาะเซียนหุ้นที่เข้าใจเรื่องนี้ จึงเริ่มเลี่ยงไปลงทุนต่างประเทศกันมากขึ้น
ถ้าคุณอยากหาโอกาสที่ดีที่สุดให้ตัวเอง คุณเองก็อาจศึกษาการลงทุนต่างประเทศมากขึ้น แล้วคุณจะพบว่าโอกาสดีๆ มีอยู่มากจริงๆ ผมมีบทความสอนวิธีลงทุนหุ้นอเมริกา หุ้นต่างประเทศให้คุณแล้ว (คุณจะได้หุ้นฟรีมูลค่าสูงสุด $1000 ด้วย)
สำหรับคนที่คิดว่าการลงทุนหุ้นต่างประเทศไกลตัวเกินไป อยากซื้อกองทุนให้เขาไปลงทุนหุ้นต่างประเทศแทนเรา นั่นก็เป็นทางเลือกที่ดีมากครับ แต่ก่อนหน้านั้น ผมแนะนำให้อ่าน ซื้อกองทุนต่างประเทศยังไง ให้กำไรมากขึ้น 100% ซึ่งผมเขียนไว้ให้คุณโดยเฉพาะเลยครับ
เรียนคอร์สลงทุน “นักลงทุนมือหนึ่งของโลก”
อยากศึกษาเรื่องการลงทุนแต่เริ่มไม่ถูก?
บิงโกมีคอร์สสอนลงทุนที่จะคุณอาจสนใจ คอร์สนี้จะสอนคุณตั้งแต่พื้นฐานจนถึงระดับสูง มือใหม่เรียนจบก็พร้อมลงทุนจริงได้เลย
คอร์สนี้ถูกออกแบบให้พิเศษกว่าคอร์สลงทุนทั่วไป เพราะมาจากหนังสือลงทุนของเซียนหุ้นระดับโลก ทั้งวอร์เรน บัฟเฟตต์, ปีเตอร์ ลินช์, เบนจามิน เกรแฮม, เรย์ ดาลิโอ และอื่นๆ จนเหมือน “นักลงทุนระดับโลกมาสอนคุณเอง” ทุกเล่มที่เราคัดมาคือหนังสือลงทุนที่ดีที่สุด ซึ่งได้รับการยอมรับจากทั่วโลกว่าเป็น “ของจริง” และจะร่นเวลาให้คุณลงทุนได้เก่งกาจอย่างรวดเร็ว