เคล็ดลับ 9 ข้อ คุ้มครองธุรกิจของคุณให้อยู่รอดปลอดภัยในปี 2020

โลกเปลี่ยนไปไวมาก โดยเฉพาะโลกของธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นการปฏิสัมพันธ์กับลูกค้า การที่บริษัทสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ หรือแม้แต่โมเดลธุรกิจก็เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วเช่นกัน

ถ้าคุณเป็นคนนึงที่มีธุรกิจเป็นของตัวเอง ไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ ใหม่หรือเก่า คุณก็ต้องเข้าใจโมเดลธุรกิจใหม่ๆ และดูว่ามันจะนำมาปรับใช้กับธุรกิจของคุณได้ไหมด้วย วันนี้แอดเลยจะเลือกโมเดลธุรกิจทั้ง 9 ตัวที่กำลังมาแรงในปี 2020 ให้คุณผู้อ่านที่สนใจได้นำไปต่อยอด หรือคุณผู้อ่านท่านใดที่เป็นเจ้าของธุรกิจอยู่แล้วก็อาจจะนำไปปรับใช้ให้เข้ากับสถานการณ์ของตัวเองได้ทันท่วงที เรามาเริ่มกันก่อนที่

 

1. แบบสมัครสมาชิก (Subscription Business)

บริษัทที่ใช้โมเดลธุรกิจแบบสมัครสมาชิกจะมีรายได้จากการขายบริการอย่างต่อเนื่อง แทนที่จะเป็นการขายทีเดียวจบ 

ในระหว่างที่ลูกค้ายังใช้บริการสมัครสมาชิกนี้ บริษัทจะทำความเข้าใจพฤติกรรมการใช้งานของลูกค้าเพื่อพัฒนาบริการ อย่างการแนะนำสินค้าตัวอื่นๆ ที่ลูกค้าน่าจะชื่นชอบ และบ่อยครั้งลูกค้าก็ให้ฟีดแบคกลับ ไม่ว่าจะด้วยทางตรงหรือทางอ้อม นี่เป็นการสร้างความสัมพันธ์ที่ทำให้ทั้งสองฝ่ายใกล้ชิดกัน แล้วจะบอกเลิกหรืออยู่ด้วยกันต่อก็อยู่ที่ช่วงเวลาระหว่างนี้ล่ะค่ะ

ตัวอย่างบริษัทที่ใช้โมเดลนี้ ได้แก่

  • Netflix บริการสตรีมหนัง/ซีรี่ส์ที่ให้เราสมัครสมาชิกเป็นรายเดือน
  • Spotify บริการสตรีมเพลง/พอดแคสต์ ที่มีให้เลือกเสียเงินสมัครสมาชิกแบบรายเดือน หรือจะไม่สมัครก็ได้ แต่ต้องทนฟังเสียงโฆษณาเอา

เท่านี้คุณก็คงนึกกันออกแล้วว่าโมเดลธุรกิจแบบสมัครสมาชิกหน้าตาเป็นยังไง ต่อไป เราลองมาเปรียบเทียบตัวอย่างจริงๆ ระหว่างแบบสมัครสมาชิกกับแบบไม่สมัครกัน

เรายก Netflix กลับมาอีกรอบ มาเทียบกับ Disney ทาง Disney แค่ผลิตหนัง ใส่โรงภาพยนต์ เราไปดู แล้วก็แยกย้ายกันกลับบ้าน จบกระบวนการซื้อขาย ต่างกับ Netflix ที่จะมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับลูกค้าเป็นอย่างมาก ทีมงานจะรู้ได้ทันทีว่าหนัง/ซีรี่ส์เรื่องไหนมีคนดูเยอะ คนดูเลิกดูกลางคันหรือเปล่า แล้วถ้าเลิกดู พวกเขาไปดูเรื่องอื่นต่อหรือเปล่า ถ้าดูต่อ ดูเรื่องไหน แนวเดิมไหม หรือว่าเขาเลือกที่นักแสดงมากกว่า ทุกอย่างจะถูก Netflix เก็บใส่คลังไว้หมดเพื่อสร้างความพึงพอใจสูงสุดให้กับลูกค้า

9 business models
ที่จริง Disney ก็มีบริการสตรีมเป็นของตัวเองแล้ว นั่นก็คือ Hulu, Disney+ และ ESPN+ ที่คุณสามารถเลือกได้ว่าจะสมัครแยก หรือเหมารวมทั้ง 3 บริการ (กลายเป็นคู่แข่งตัวฉกาจของ Netflix)

 

2. แบบแพลตฟอร์ม (Platform-based Business)

โมเดลนี้จะพบเห็นบ่อยในธุรกิจแบบแบ่งปัน (Sharing Economy) โมเดลแบบแพลตฟอร์มจะมีประสิทธิภาพมากขึ้นเมื่อนำไปใช้คู่กับโมเดลแบบสมัครสมาชิก

ตัวอย่างบริษัทที่ใช้โมเดลนี้ เราๆ ท่านๆ รู้จักกันดีอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็น Facebook, Uber, Airbnb, Amazon

บริษัทเหล่านี้เป็นตัวกลางที่นำคน(อย่างน้อย) 2 กลุ่มมาเจอกัน

  • Facebook เป็นตัวกลางที่ให้ เจ้าของธุรกิจที่อยากโปรโมทสินค้า/บริการ กับ กลุ่มเป้าหมาย มาเจอกัน
  • Uber เป็นตัวกลางที่ให้ เจ้าของรถ กับ ผู้โดยสาร มาเจอกัน
  • Airbnb เป็นตัวกลางที่ให้ เจ้าของห้องเช่า กับ ผู้เช่า มาเจอกัน
  • Amazon เป็นตัวกลางที่ให้ ผู้ขาย กับ ผู้ซื้อ มาเจอกัน

ธุรกิจที่นำโมเดลแพลตฟอร์มมาใช้จะได้ประโยชน์จากพลังของเครือข่าย (Network Effect) ดึงดูดลูกค้าทั้ง 2 ทาง และให้ทุกฝ่ายได้มีปฏิสัมพันธ์กัน และแลกเปลี่ยนระหว่างกัน แล้วแพลตฟอร์มก็จะได้รับข้อมูลเชิงลึกจากการที่ผู้คนปฏิสัมพันธ์กันเป็นสิ่งตอบแทน

 

3. แบบโปร่งใสและจริงใจ (Authentic Business)

โมเดลธุรกิจแบบดั้งเดิมที่ประกอบไปด้วยสายบังคับบัญชา ความเป็นเอกเทศ และการประชุมแบบทางการกำลังล้าสมัย ทุกวันนี้ลูกค้าจะอยากเห็นและรู้จักผู้คนที่อยู่เบื้องหลังแบรนด์ต่างๆ พวกเขาอยาก “เข้าถึง” กับคนทำธุรกิจ ดังนั้น การที่หัวหน้าจะมากดดันลูกน้องไม่ให้แสดงความคิดเห็น หรือนายจ้างจะมาห้ามไม่ให้ลูกจ้างวิจารณ์บริษัท นี่ไม่ถือว่าเป็นการจัดการที่เหมาะสมในยุคสมัยใหม่นี้แล้วนะคะ

บริษัทในยุคนี้ต้องโปร่งใส แชร์ความเห็นให้สาธารณะได้รับรู้ เช่น อีลอน มัสก์ เป็นซีอีโอของ SpaceX และใช้โซเชียลมีเดีย (ปกติแกใช้ twitter) เพื่อแบ่งปันความเห็นของตัวเองกับสาธารณะ ส่วนพนักงานทั่วไปก็เปรียบเสมือนเป็นผู้เชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างองค์กรกับผู้บริโภค แบรนด์ต่างๆ จึงแอคทีฟบนโซเชียลมีเดียมากขึ้น เพื่อ connect กับลูกค้าได้มากขึ้น แบรนด์ที่ใช้โมเดลนี้ได้อย่างโดดเด่นที่สุด ได้แก่ Adidas, Apple และ Lego

 

4. แบบให้ลูกจ้างเป็นศูนย์กลาง (Employee-centric Business)

วิธีการทำงานของเรากำลังเปลี่ยนไปแล้วล่ะค่ะ ผู้คนแทบจะไม่หยุดอยู่กับที่อีกต่อไปแล้ว วันวานของ “งานตลอดชีพ” ได้หายวับไปกับตา บริษัทยังคงต้องการคนเก่งๆ แต่วิธีการดึงดูดให้พวกเขามาทำงานด้วยได้เปลี่ยนไปแล้ว

“Gig Economy” หรือตลาดงานไม่ประจำ เช่น งานฟรีแลนซ์ หรืองานที่มีอายุสัญญาสั้นๆ คือกุญแจสำคัญที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ เพราะมันช่วยให้ธุรกิจสร้างทีมงานเจ๋งๆ ขึ้นมาได้ บริษัททั้งหลายแหล่จึงไม่แคร์เท่าไหร่ว่าผู้คนจะเข้าๆ ออกๆ หรือแม้แต่ทำงานให้หลายบริษัทในเวลาเดียวกัน ด้วยเหตุนี้เอง บริษัทจึงได้มีโมเดลธุรกิจแบบที่มีลูกจ้างเป็นศูนย์กลาง มีสถานที่น่าทำงาน เลือกทำงานเวลาหรือวันไหนก็ได้ และที่สำคัญคือ ให้พวกเขาได้พัฒนาตัวเองและสายอาชีพของตัวเองได้ด้วย Google เป็นบริษัทตัวอย่างที่ใช้โมเดลธุรกิจนี้ได้อย่างดีเยี่ยม

9 business models
บรรยากาศมุมพักผ่อนภายในออฟฟิศ Google ที่สิงคโปร์ เห็นแบบนี้ใครๆ ก็อยากเข้ามาทำงานด้วย

 

5. แบบให้คู่ค้าเป็นศูนย์กลาง (Partner-centric Business)

นอกจากบริษัทจะให้ลูกจ้างเป็นศูนย์กลางแล้ว พวกเขาก็ยังค่อยๆ เปลี่ยนมาให้คู่ค้าเป็นศูนย์กลางด้วย เหมือนการทำเครือข่ายธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นการจ้างเอาท์ซอร์ส หรือหาคนจากภายในเมื่อจำเป็น บริษัทจะสร้างเครือข่ายที่น่าสนใจต่อคู่ค้า และทำตัวเป็นคู่ค้าที่น่าร่วมงานด้วย บริษัทขนาดกลางและขนาดย่อมเดี๋ยวนี้ก็ดูจะใช้โมเดลธุรกิจแบบให้คู่ค้าเป็นศูนย์กลางกันทั้งนั้น เช่น เอาท์ซอร์สเพื่อจัดการงานด้านโซเชียลมีเดีย พาร์ทเนอร์กับบริษัทออกแบบ จ้างที่ปรึกษาด้านแบรนดิ้ง เกณฑ์ผู้ให้ฝึกอบรมภายนอก เป็นต้น แต่นั่นก็ไม่ได้แปลว่าบริษัทใหญ่ๆ จะใช้โมเดลนี้ไม่ได้นะคะ ในโลกที่ยุคสมัยเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วนี้ บริษัทใหญ่ๆ นั่นแหละที่ต้องรู้จักยืดหยุ่นให้เหมือนบริษัทขนาดกลางและขนาดย่อมเหล่านี้

 

6. แบบแก้ปัญหาให้ลูกค้าก่อน (Customer Value-obsessed Business)

อ่านชื่อโมเดลแล้วคุณผู้อ่านคงส่ายหัวและบอกว่า ไม่ว่าธุรกิจแบบไหนก็ต้องทำแบบนี้ทั้งนั้น ซึ่งก็คือการแก้ปัญหาให้ลูกค้า คาดเดาความต้องการของพวกเขา ทำให้ชีวิตของพวกเขาง่ายขึ้น และกำจัดสิ่งที่อาจเป็นอุปสรรคในชีวิตประจำวันของพวกเขาให้หมดไป ถูกต้องแล้วล่ะค่ะ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจ บริษัท ห้างร้าน องค์กร ทุกที่ ล้วนแล้วแต่ใช้โมเดลนี้กันทั้งนั้น แต่ธุรกิจที่ใช้โมเดลนี้ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพที่สุดก็เห็นจะหนีไม่พ้น amazon.com (อ่านประวัติของชายผู้อยู่เบื้องหลัง Amazon เพิ่มเติมกันได้ที่ ร้านค้าออนไลน์ ยอดขายหมื่นล้าน Amazon)

Amazon มีบริการส่งสินค้าถึงด้านในบ้านไม่พอ (in-home delivery) ยังมีออพชั่นให้สมัคร Amazon Prime ที่ไม่ได้ส่งฟรีส่งเร็วเท่านั้น แต่ยังมีสิทธิพิเศษอื่นๆ พ่วงมาด้วย เช่น สิทธิในการดูหนัง/ซีรี่ส์ของ Prime หรือคนที่สนใจเกมมากกว่าก็ใช้ Prime ในการสมัครสมาชิกช่องบน twitch.tv แบบฟรีๆ ได้ (Amazon เป็นเจ้าของ Twitch) หมดปัญหาการไปเบียดเสียดกับผู้คนในห้างช่วงวันหยุด ไม่ต้องเสียเงินดูหนังทีละเรื่อง ในเมื่อจ่ายทีเดียวก็หาดูได้เป็นร้อยๆ เรื่อง ที่เดียวจบ ครบ (แทบ) ทุกบริการ

9 business models
บริการส่งของ “ถึงในบ้าน” ของ Amazon

 

7. แบบสร้างสรรค์อยู่ตลอด (Constant-innovation Business)

หากบริษัทหนึ่งอยากจะประสบความสำเร็จ ความสามารถในการสร้างสรรค์ย่อมเป็นสิ่งสำคัญ และทุกวันนี้เราไม่ใช่แค่ต้องสร้างสรรค์เท่านั้น แต่ต้องสร้างสรรค์อยู่ตลอดด้วย ธุรกิจที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในโลกมักมีการสร้างสรรค์และเปลี่ยนแปลงตัวเองอยู่ตลอดเวลา แม้มันจะหมายถึงการทำลายสินค้า/บริการตัวก่อนๆ ของตัวเอง เพื่อให้ได้สินค้า/บริการใหม่ๆ ออกมาก็ตาม ยกตัวอย่าง iPod ของบริษัทแอปเปิล (ติดตามประวัติของสตีฟ จอบส์ ผู้ก่อตั้ง Apple อย่างลงลึกได้ที่ Steve Jobs บทเรียนชีวิตและธุรกิจจากชายผู้เปลี่ยนโลก)

แอปเปิลเลือกสร้างสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ขึ้นมา โดยมีฟังก์ชั่นฟังเพลงด้วย ทำให้ iPod ไม่จำเป็นอีกต่อไป ยอดขายของ iPod ลดลงตั้งแต่ปี 2008 เป็นต้นมา ซึ่งก็พอดีกับที่ iPhone เครื่องแรกออกมาสู่สายตาชาวโลก

 

8. แบบขับเคลื่อนด้วยข้อมูล (Data-driven Business)

บริษัทที่ทันโลกจะรู้ว่าข้อมูล (data) คือกุญแจสำคัญในการทำให้บริษัทเติบโต และบริษัทที่ล้ำกว่านั้นอีกก็จะทำให้การเก็บ/ใช้ข้อมูลกลายเป็นนิสัยในทุกลำดับชั้นขององค์กรของตน ทุกการตัดสินใจจะพึ่งพาข้อมูล ไม่มีอาศัยการคาดเดาอีกต่อไป บริษัทที่ใช้โมเดลแบบขับเคลื่อนด้วยข้อมูลนี้จะใช้ข้อมูลวิเคราะห์สถานการณ์ปัจจุบัน และผลจากการวิเคราะห์นั้นมาช่วยในการตัดสินใจ ขัดเกลาแผนการทำงาน หรือแม้แต่กรุยทางสร้างรายได้ใหม่ๆ บริษัทเหล่านี้จะทำการทดลอง วิจัย เสาะหา และสร้างสรรค์ได้ไวกว่าบริษัทที่ไม่สนใจคุณค่าของข้อมูล

 

9. แบบเทคโนโลยีจ๋า (Tech-savvy Business)

เราใช้ชีวิตอยู่ในห้วงเวลาที่เทคโนโลยีครองโลก AI, Big Data, Blockchain, VR, AR, การพิมพ์แบบ 3 มิติ เหล่านี้คือเทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาทในการใช้ชีวิตของเรา หรือแม้แต่เปลี่ยนวิถีการใช้ชีวิตของเราไปเลย จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่บริษัทยักษ์ใหญ่จะเป็นบริษัทเทคโนโลยีเสียหมด ตั้งแต่ Apple, Alphabet (บริษัทแม่ของ Google), Microsoft, Amazon และ Facebook (อ่านเกี่ยวกับความคิดของเจ้าพ่อโซเชียลมีเดีย Mark Zuckerberg ได้ที่ Think Like Zuck อัจฉริยะยุคใหม่เขาคิดอะไรกัน)

บริษัทเพียงหนึ่งเดียวใน 6 อันดับที่ดูเหมือนไม่เกี่ยวข้องเทคโนโลยีคือ กลุ่มบริษัท Berkshire Hathaway ของเจ้าพ่อนักลงทุน Warren Buffet แต่จริงๆ แล้ว บริษัทนี้ถือหุ้นบริษัทเทคโนโลยีอยู่หลายแห่งเหมือนกัน

ไม่ว่าบริษัทคุณจะเล็กหรือใหญ่ ทำธุรกิจแบบไหน เทคโนโลยีก็ยังเป็นสิ่งสำคัญที่ทิ้งไม่ได้อยู่ดี หรือถ้าคุณไม่สนใจ ตัวคุณเองก็อาจจะถูกทิ้งไว้ข้างหลังกับซากแห่งความล้าสมัยด้วยเช่นกัน

แม้เราจะแยกโมเดลธุรกิจออกได้เป็น 9 โมเดลด้วยกัน แต่บริษัทที่ประสบความสำเร็จย่อมไม่ได้ใข้เพียงโมเดลเดียวในการบริหาร กลับกัน พวกเขาอาจจะรวมทั้ง 9 ข้อนี้เพื่อพัฒนาบริษัทตัวเองให้ถึงขีดสุดเลยก็เป็นได้ 

และแม้แต่ธุรกิจของเราที่ไม่ได้ยิ่งใหญ่ระดับโลก ก็สามารถเลือกใช้โมเดลธุรกิจหลายๆ ตัวพร้อมกันได้ หรือคุณผู้อ่านอาจจะสนใจโมเดลตัวไหนเป็นพิเศษ หรือมีความคิดว่าตัวไหนที่น่าจะโดดเด่นมากกว่าเพื่อนหรือเปล่าคะ?

 

บทความเพิ่มเติมที่น่าสนใจ

หนังสือดีๆ ที่คุณอาจสนใจ

พบกับหนังสือแปลจากญี่ปุ่น “เปลี่ยนคนธรรมดาให้มีหัวธุรกิจใน 3 ชั่วโมง” ซึ่งรวม “ทุกวิธีคิด” ในโลกธุรกิจไว้ครบในที่เดียว ตั้งแต่พื้นฐานไปจนถึงแนวคิดที่ทันสมัยที่สุด  แค่ใช้เวลาอ่านไม่นาน คุณจะพัฒนาจากคนที่เริ่มต้นเรียนรู้ เป็นคนที่เข้าใจธุรกิจได้ลึกซึ้ง พร้อมเข้าใจการเงิน กลยุทธ์ และการตลาดของบริษัทต่างๆ ได้สบาย เหมาะกับทั้งคนที่เริ่มสนใจธุรกิจ และคนที่อยากเติมความรู้เก่าให้ครบถ้วน

เจาะลึกบทเรียนล้ำค่าที่ถูกเก็บเป็นความลับเฉพาะในหมู่นักธุรกิจและนักลงทุน ส่งตรงจากศูนย์กลางสตาร์ทอัพอันดับ 1 ของโลก

  • Airbnb บริษัทที่เคยขายอาหารเช้า แต่พลิกวิกฤติเป็นโอกาสจนปฏิวัติวงการโรงแรมได้
  • Dropbox บริการฝากไฟล์ออนไลน์ที่ล้มผลิตภัณฑ์ของสตีฟ จอบส์ มาแล้ว
  • Twitch แพลทฟอร์มสตรีมเกมที่เริ่มจากไอเดียเล็กๆ แต่ทะยานสู่อันดับ 1 ภายใน 2 ปี

บริษัทเหล่านี้เปลี่ยนจากธุรกิจเล็กๆ เป็นยักษ์ใหญ่สะเทือนวงการได้ในเวลาอันสั้น แต่น้อยคนนักที่จะรู้ว่า พวกเขาเป็นศิษย์ที่ร่ำเรียนมาจากสำนักเดียวกัน และคุณก็เรียนรู้วิธีคิดของพวกเขาได้ในหนังสือขโมยวิธีคิดสุดเจ๋ง จากสุดยอดโรงเรียนสอนสตาร์ทอัพ

หนังสือเล่มนี้จะประคองให้คุณเริ่มก้าวจาก 0 ไปถึงจุดที่คุณสร้างธุรกิจสตาร์ทอัพของตัวเองได้ใน 7 วัน

หนังสือสตาร์ทอัพสร้างได้ใน 7 วันเล่มนี้ อิงจากประสบการณ์จริงของแดน นอริส ผู้เคยเป็นเจ้าของธุรกิจที่ล้มเหลวต่อเนื่องเกือบสิบปี แต่แล้วเขาก็กลายมาเป็นเจ้าของธุรกิจสตาร์ทอัพที่โต 400% ทุกปี ที่สำคัญเขาใช้เวลาเริ่มต้นธุรกิจนี้เพียง 7 วันเท่านั้น

แหล่งศึกษาเพิ่มเติม

 

3 thoughts on “เคล็ดลับ 9 ข้อ คุ้มครองธุรกิจของคุณให้อยู่รอดปลอดภัยในปี 2020

  1. Pingback: Big Data คืออะไร? ทำไมถึงสำคัญกับชีวิตเรา? - สำนักพิมพ์บิงโก

  2. Pingback: Netflix กลายเป็นผู้นำเรื่องการใช้ Big Data ได้ยังไง? - สำนักพิมพ์บิงโก

  3. Pingback: Walmart ใช้ Big Data จนขึ้นแท่นเป็นร้านค้าปลีกที่ใหญ่ที่สุดในโลกได้อย่างไร? - สำนักพิมพ์บิงโก

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราะห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก