สรุปหนังสือ “วิถีโตโยต้า” (Toyota Kata)
Toyota Kata หรือ “วิถีโตโยต้า” คือหลักแห่งความสำเร็จของโตโยต้า … ถ้าพูดถึงบริษัทที่ประสบความสำเร็จที่สุด เราต้องได้ยินชื่อ “Toyota” บริษัทรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก (บริษัทที่ยิ่งใหญ่ทั่วโลกทำอะไรเหมือนกัน? บิงโกเคยสรุปไว้แล้วใน สรุปหนังสือ Good to Great)
- ปัจจุบันมีมูลค่า 6 ล้านล้านบาท และยังคงเติบโตสูงขึ้นทุกปี
- เป็นหนึ่งในบริษัทอายุ 80 ปีเพียงไม่กี่แห่ง ที่มีนวัตกรรมต่อเนื่องไม่แพ้สตาร์ทอัพ
- วิธีทำงานของโตโยต้ากลายเป็นหลักคิดที่ทุกคนศึกษา ทั้งบริษัทรถอื่นๆ และวงการธุรกิจทุกประเภท เทคนิคธุรกิจ Agile, Lean, Lean Startup ที่สตาร์ทอัพใช้กันก็ล้วนกำเนิดมาจากที่นี่
ไมค์ โรเฮอร์ ได้เข้าไปคลุกคลีกับโตโยต้าอยู่นาน และได้สกัดแนวคิดของโตโยต้ามาเป็นหนังสือ Toyota Kata ที่แปลเป็นไทยว่า “วิชามวยแบบโตโยต้า” ซึ่งทำให้โตโยต้าก้าวนำคู่แข่งมาตลอด
แก่นแท้ของวิถีโตโยต้าคือหลัก “ไคเซ็น” ที่บอกว่า “ถ้าเราทำวันนี้ให้ดีกว่าเมื่อวานแค่ 1% เมื่อเวลาผ่านไป 365 วัน เราจะเก่งกาจขึ้นถึง 38 เท่า!” ในขณะที่ถ้าเราทำแย่ลงวันละ 1% เมื่อเวลาผ่านไป 365 วัน เราจะเหลือความเก่งกาจแค่ 2.5% ของตอนเริ่มต้น
… มันคือการพัฒนาตัวเองอยู่ตลอดเวลานั่นเอง หลักการนี้ต่างจากบริษัทเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่เน้น “คิดใหญ่ 10 เท่า” อย่าง Google, Amazon, Apple และ Facebook (คิดใหญ่ดีแค่ไหน ดูความมหัศจรรย์ได้ใน สรุปหนังสือ Magic of Thinking Big)
ฟังดูง่าย แต่ทำจริงยากมากครับ คนปกติจะพัฒนาตัวเองทุกวันยังยากเลย แต่นี่คุณต้องทำให้พนักงานเป็นแสนๆ คนพัฒนาพร้อมกันทุกวัน โตโยต้าทำได้ไง? เคล็ดลับอยู่ที่ระบบการทำงานที่ดีครับ เรามาดูกันเลย!
มองภาพรวมให้ออก
พื้นฐานของวิถีโตโยต้าเริ่มจากตั้งภาพกว้างก่อน ซึ่งมี 4 ขั้นตอนครับ
- รู้เส้นทางที่อยากเดิน ซึ่งเรียกกันว่า “วิสัยทัศน์” ซึ่งกำหนดว่าทั้งองค์กรจะเดินไปทิศทางไหน
- เข้าใจสถานการณ์ปัจจุบัน
- กำหนด “เป้าหมายระยะสั้น” ทีเป็นส่วนหนึ่งของวิสัยทัศน์ระยะยาว (ถ้าคุณต้องเดินเรือไปทวีปอันไกลโพ้น คุณจะแวะเกาะไหนเป็น “ที่ถัดไป” ซึ่งทำได้จริงและนำไปสู่เป้าหมายใหญ่ด้วย)
- ลงมือทำและแก้ปัญหาต่างๆ ที่เจอ (เปลี่ยนปัญหาเป็นความสำเร็จได้ง่ายๆ ด้วยเทคนิคในสรุปหนังสือ Obstacle is the Way)
สรุปสั้นๆ มันก็เหมือนกับที่เราพูดกันว่า “ผู้นำต้องมีวิสัยทัศน์” นั่นแหละครับ หลักของโตโยต้าก็เริ่มจากวิสัยทัศน์ก่อน (รู้ว่าอยากไปที่ไหน) แล้วค่อยๆ บีบให้แคบลงจนในที่สุดกลายเป็นการลงมือทำจริง
พูดง่ายแต่ทำยากครับ เราก็มักเห็นบริษัทต่างๆ ที่ประกาศวิสัยทัศน์แล้วเป็นได้แค่เรียงความบนแผ่นกระดาษ ไม่มีใครสนใจ คนเขียนเองยังจำไม่ได้ด้วยซ้ำว่าวิสัยทัศน์เขียนไว้ว่าอะไรบ้าง
ลองเอาหลักนี้มาใช้กับชีวิตเราดูครับ…
1. สมมุติว่าคุณกำลังสอบเข้ามหาวิทยาลัย แรกสุดคุณก็ต้องกำหนดวิสัยทัศน์ พูดง่ายๆ คุณอยากเห็นตัวเองสอบติด
- ถ้าคุณไม่มีวิสัยทัศน์ว่า “สอบติดมหาวิทยาลัย” คุณอาจไปฝันอย่างอื่น เช่นจะเลิกเรียนแล้วไปเป็นพ่อครัวมืออาชีพเลย ซึ่งความฝันเหล่านี้ไม่ใช่ไม่ดี แต่มันจะทำให้คุณสอบมหาวิทยาลัยไม่ติด (กลายเป็นพ่อครัวแทน)
2. พอคุณเห็นภาพตัวเองสอบติด คุณก็ต้องย้อนกลับมาดูความจริงก่อน ว่าสภาพปัจจุบันมันจะไปสอบติดได้ยังไง! คุณจะได้รู้จุดอ่อนจุดแข็งของตัวเอง
- ดูว่าคณะที่อยากได้ต้องใช้คะแนนวิชาอะไร และเราถนัดวิชานั้นแค่ไหน
- ถ้าคุณไม่ดูความเป็นจริงเลย คุณอาจมัวไปอ่านวิชาที่ไม่ออกสอบ หรือไปอ่านวิชาที่ไม่สำคัญ
3. ต่อไปก็กำหนดเป้าหมายระยะสั้นเพื่อไม่ให้หลงทาง ซึ่งต้องสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ (ช่วยให้สอบติด)
- เช่น อ่านภาษาอังกฤษ 5 หน้า คณิตศาสตร์ 4 หน้า และทำแบบฝึกหัดอีก 1 บท ทุกวัน
- เป้าหมายควรสอดคล้องกับการสอบติด ถ้าคุณตั้งเป้าว่าจะ “วิดพื้น 100 ครั้ง ซิทอัพ 100 ครั้ง นั่งยอง 100 ครั้ง และวิ่ง 10 กม. ทุกวัน” คุณอาจมีร่างกายที่แข็งแรง แต่มันจะไม่ตรงกับวิสัยทัศน์ที่อยากสอบติด
4. ลงมืออ่าน แต่การลงมือจริงนั้นยากเสมอ เมื่ออ่านๆ ไปคุณอาจพบว่า “ไม่เหมือนที่คิดไว้” คณิตศาสตร์มันยากจัง อ่านแค่วันละ 2 หน้าก็ไม่ไหวแล้ว ส่วนภาษาอังกฤษสนุกกว่าที่คิด อ่านนานๆ ก็ได้ คุณจึงค่อยๆ ปรับแผนให้เหมาะสม
- ค่อยๆ อ่านหนังสือและแก้ปัญหาที่เจอระหว่างทาง
- และแล้วเราก็ค่อยๆ เปลี่ยนจากวิสัยทัศน์ไปเป็นการสอบติดจริงๆ ได้
…หลายคนบ่นว่า “ไม่เห็นต้องยุ่งยากวางแผนหลายขั้นเลย เสียเวลา แค่อ่านๆ ให้เยอะๆ ก็พอแล้ว” คุณอาจทำได้เพราะการอ่านหนังสือสอบมันไม่ซับซ้อน แต่โลกจริงมันไม่ง่ายอย่างนั้นครับ
ลองเปลี่ยนโจทย์ดีกว่า สมมุติพรุ่งนี้มีคนเอาเก้าอี้ประธานบริษัทโตโยต้ามาให้คุณ แล้วคุณต้องทำอะไรก็ได้เพื่อเพิ่มกำไร จะทำอะไรดี? คราวนี้คุณจะงงไปเลย เพราะทางเลือกมันเยอะมาก
คุณจะไปกระโดดเชียร์แล้วตะโกน “ทุกคนพยายามเต็มที่นะ!” แล้วหวังว่ากำไรจะมาเองหรือเปล่าครับ? หรือคุณจะเดินไปหาทีมการตลาดแล้วสั่งว่า “ปีนี้พวกคุณต้องเพิ่มยอดขาย 20% ไม่งั้นจะโดนหักเงินเดือน!” แล้วทำท่าเหมือนผู้บริหารดุๆ ในละครน้ำเน่าตอนดึก? วิธีเด็กน้อยแบบนี้คงไม่ได้ผลแน่
มาดูสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในโตโยต้ากันดีกว่าครับ
วิถีการพัฒนาธุรกิจอย่างต่อเนื่อง
หัวใจของวิถีโตโยต้าคือการวางระบบที่พัฒนาตัวมันเองโดยคุณไม่ต้องเข้าไปยุ่งยาก ซึ่งก็มีพื้นฐานมาจาก 4 ขั้นตอนที่เราคุยกันด้านบนนั่นแหละครับ
- ตั้งวิสัยทัศน์ระยะยาว
- เข้าใจปัจจุบัน
- ตั้งเป้าหมายระยะสั้น
- ลองผิดลองถูกจนเป้าหมายระยะสั้นสำเร็จ
โตโยต้ามีวิสัยทัศน์ (ภาพความฝันอันงดงาม) ว่า…
- ต้องผลิตรถทุกคนได้โดยไม่มีข้อผิดพลาด (Zero Defects)
- รถโตโยต้าสร้างมูลค่าให้ลูกค้าอย่างน้อย 100%
- เริ่มผลิตชิ้นส่วนแล้วไม่มีการหยุดเดินเครื่อง เพื่อประสิทธิภาพสูงสุด
- การผลิตปลอดภัย พนักงานห้ามบาดเจ็บ
ถ้าคุณทำธุรกิจ คุณอาจมีวิสัยทัศน์คล้ายกัน…
- การทำงานไม่มีผิดพลาดเลย งานผิดพลาดเป็น 0
- เน้นขายของดี ไม่ใช่ของถูกที่ใช้แป๊ปเดียวพัง
- ไม่ทำงานซ้ำซ้อน ขั้นตอนทำงานไหลลื่น
- พนักงานมีความสุข
วิสัยทัศน์พวกนี้ฟังดูเกร่อมากใช่ไหมครับ ใครๆ ก็พูดได้ เราจึงต้องซอยมันให้แคบลงเพื่อให้ทำได้จริง ขั้นถัดไปคือการเข้าใจความจริงในปัจจุบัน (สิ่งที่คุณเป็น ไม่ใช่สื่งที่คุณ “อยาก” เป็น) โตโยต้าจะดูสิ่งเหล่านี้…
- เวลาที่ใช้ผลิตรถ 1 คัน
- จำนวนคนที่ใช้ในโรงงาน
- จำนวนขั้นตอนผลิต (ยิ่งขั้นตอนน้อยยิ่งดี)
- สัดส่วนรถที่ผลิตแล้วเสีย (ขายไม่ได้ คุณภาพไม่ถึง)
พอเรารู้สภาพความจริง ก็เหลือแค่ตั้งเป้าหมายระยะสั้นเพื่อพัฒนาสิ่งเหล่านี้ ไมค์ โรเฮอร์ (ผู้เขียนหนังสือ) ได้เสนอให้เพิ่มความเร็วในการผลิต โดยขอให้ซัพพลายเออร์มาส่งของตรงเวลาที่จะผลิตในแต่ละขั้นตอนเป๊ะเป็นหน่วยนาที เพื่อจะได้ไม่มีสินค้ากองค้างในโกดัง การผลิตจะได้ไหลลื่น ไมค์คาดว่าแค่ปรับตรงนี้ การผลิตก็จะเร็วขึ้นถึง 15%
พอผู้จัดการโรงงานได้ฟังข้อเสนอ เขาก็ให้ลองผลิตดูเลย แล้วทดลองปรับเวลาที่ซัพพลายเออร์มาส่งของ จากนั้นปัญหาต่างๆ ก็โผล่ขึ้นมา และทั้งทีมก็ช่วยกันแก้ปัญหานั้นจนผลิตได้เร็วขึ้น 15% จริงๆ
เมื่อผลิตเร็วขึ้น ก็สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ใหญ่ และยิ่งเวลาผ่านไป โตโยต้าก็ปรับตรงนู้นนิด ตรงนี้หน่อย จนเหนือกว่าคู่แข่งหลายเท่า
คำถามคือ ตัวคุณกำลังมองปัญหาและเป้าหมายในชีวิตอย่างไร?
คุณพัฒนาตัวเองอยู่เสมอหรือไม่?
ผู้นำไม่ใช่คนคิดวิธี ทีมงานไม่ใช่คนรับคำสั่ง
เราเคยชินกับการทำงานแบบ “เจ้านายสั่ง ลูกน้องทำ” โดยลูกน้องไม่ต้องคิดอะไร ก้มหน้าก้มตาทำตามก็พอ บอกให้ทำก็ทำ บอกให้ม้วนหน้าก็ต้องถามว่า “จะเอากี่รอบครับ/คะ!”
ถ้าธุรกิจมีปัญหา ก็เป็นหน้าที่ของหัวหน้าที่จะลงมา “แก้” โดยบอกทุกรายละเอียดว่าแต่ละคนต้องทำอะไร ปัญหาก็จะหายไปสักพัก แต่เดี๋ยวมันก็กลับมาใหม่ และหัวหน้าก็ต้องลงมาแสดงวิทยายุทธ์ไปเรื่อยๆ ไม่จบไม่สิ้น
เหตุการณ์คุ้นตานี้เกิดกับเราเสมอ เพราะคนที่เป็นหัวหน้าเชื่อว่าตัวเองรู้ดีที่สุด ตัวเองเป็นคนเดียวที่คิดและตัดสินใจได้ แต่นั่นทำให้ทุกคนต้องรอคำสั่งจากเขาตลอดเวลา ทุกคนต้องรอเขาเวลามีปัญหา กลายเป็นไม่มีใครคิดเองได้ ทุกคนรอคำสั่งหมด (ใน หนังสือ What Got You Here Wont Get You There เราได้เห็นนิสัยแปลกๆ ที่ทำให้คนเก่งไม่ก้าวหน้าเสียที!)
วิธีแก้ปัญหาอย่างถาวรไม่ใช่การที่ผู้นำเก่งที่สุดแล้วลงมาทำทุกเรื่อง แต่เป็นการพัฒนา “คน” ให้คิดได้เองโดยไม่ต้องคอยบอก หรือถ้าให้ดีก็ปั้นให้เขาขึ้นมาเป็นหัวหน้าคนใหม่เลย ส่วนผู้นำก็ขึ้นไปทำสิ่งที่สำคัญยิ่งขึ้น ผู้นำต้องเป็นพี่เลี้ยง ไม่ใช่ผู้บัญชาการ (บิงโกได้สรุปเรื่องความเป็นผู้นำไว้ใน สรุปหนังสือ Leaders Eat Last แล้ว ซึ่งเป็นความจริงที่ขัดกับสามัญสำนึกมากๆ!)
มีการประชุมด่วนในโตโยต้าถึงการที่ของเสียในโรงงานเพิ่มขึ้น 8% ใน 2 เดือนที่ผ่านมา ฮิมเป็นหัวหน้าทีมที่ได้รับมอบหมายให้ตรวจสอบสาเหตุ และลดของเสียลงไปให้เท่าเดิมภายใน 30 วัน
เมื่อประชุมเสร็จ ฮิมก็ส่งลูกน้อง 5 ทีมไปตรวจสอบปัญหาในแผนกของตัวเอง พบว่าทีมของแอนมีของเสียมากที่สุด ฮิมจึงเริ่มตรวจสอบจากตรงนั้น
ฮิมเข้าไปคุยกับแอน และรู้ว่าแอนเองก็สังเกตว่ามีรายงานความผิดพลาดจากแผนกตกแต่งอะไหล่บ่อยจริงๆ (แสดงว่าแอนเห็นปัญหาคาตาอยู่แล้ว แต่ก็ยังไม่ลงมือทำอะไร) ฮิมที่เป็นหัวหน้าจึงแก้ปัญหา แต่เขารู้ว่าถ้าทำเองทั้งหมดก็จะเกิดปัญหาซ้ำอีก เขาต้องพัฒนาที่ตัวแอน ฮิมจึงเป็นพี่เลี้ยงช่วยให้แอนลงมือแก้ปัญหา
- ฮิมพาแอนไปสำรวจที่กองของเสียแล้วถามแอนว่าเจออะไรบ้าง
- แอนพบว่าตัวหนีบอะไหล่หักหลายตัว แอนเสนอว่าซัพพลายเออร์อาจส่งตัวหนีบคณภาพไม่ดีมาให้ แต่ฮิมก็ให้กลับไปดูใหม่อีกที
- แอนกลับไปดูอีกครั้ง และสังเกตว่าอะไหล่ที่เสียทุกชิ้นจะมีน็อต 3 ตัวที่เกลียวหัก ฮิมจึงให้แอนเดินไปตรวจที่แผนกตกแต่งอะไหล่
- แอนไปตรวจและพบว่าก็ปกติดี ฮิมจึงให้แอนกลับไปดูอีกครั้ง แต่โฟกัสที่พนักงานไขน็อตเท่านั้น
- แอนสังเกตว่าพนักงานต้องไขน็อตในรูมืด และรีบกลับมาแจ้งว่าปัญหาเกิดจากพนักงานมองไม่เห็น แอนเสนอว่าต้องมีการนำพนักงานมาสอนงานใหม่ ฮิมก็ท้วงอีกว่าต้องตรวจให้แน่ใจก่อน
- แอนก็ไปตรวจตามที่บอก พบว่าตั้งแต่มีพนักงานใหม่เข้ามา ของเสียก็เพิ่มขึ้นจริงๆ แอนอยากเรียกพนักงานใหม่มาตักเตือนและสอนงานใหม่อีกรอบ แต่ฮิมก็ท้วงว่า “รู้หรือยังว่าพนักงานทำให้เกลียวหักได้ยังไง”
- แอนไปตรวจหน้างานอีกรอบ และสังเกตว่าพนักงานใหม่กดปุ่มให้ไขควงไฟฟ้าหมุนก่อนสอดเข้าไปขันน็อต ไขควงจึงกระแทกจนเกลียวหัก ฮิมให้แอนลองขันน็อตแบบเดียวกับพนักงานใหม่ เพื่อให้มั่นใจว่าวิธีนี้เป็นสาเหตุให้เกลียวหักจริง
- แอนลองขันน็อต 10 ตัว และเกลียวหักถึง 4 ตัว แอนจึงมั่นใจว่าวิธีขันน็อตนี้เองที่เป็นสาเหตุ แอนจึงเรียกประชุมพนักงานเพื่อบอกปัญหาและสอนวิธีขันน็อตที่ถูกต้อง
ยาวมากใช่ไหมครับ! กว่าจะแก้ปัญหาแค่นี้จบ หลายคนรำคาญฮิมว่า “บอกไปตั้งแต่แรกก็จบแล้ว” แต่ถ้าเขาทำแบบนั้นจริง แอนก็จะจัดประชุมสอนวิธีขันน็อตแล้วไม่ได้เรียนรู้อะไร แอนยังมองปัญหาให้แตกด้วยตัวเองไม่ได้ คุณจะสังเกตได้ว่าเมื่อแอนเห็นอะไรก็จะด่วนสรุปว่านั่นคือสาเหตุ โดยไม่ดูให้ดีก่อน
ถ้าหัวหน้าฮิมไม่สอนให้แอนทำเองได้ ปัญหาก็จะเกิดซ้ำไม่จบ วันนี้เป็นน็อตอะไหล่ วันข้างหน้าอาจเป็นประตู กระจก ลูกสูบ ล้อ หรือคันเร่ง นานเข้าเมื่อแอนเลื่อนตำแหน่งสูงขึ้น (หรือมีคนแบบแอนเยอะขึ้น) จะยิ่งไปกันใหญ่
งานหลักของผู้นำคือการสร้างคนให้แก้ปัญหาเองเป็น ธุรกิจจะเจริญหรืออยู่รอดได้นานแค่ไหน ตัดสินกันด้วยความสามารถของคนทั้งองค์กร ไม่ใช่แค่ผู้บริหารเพียงไม่กี่คน (บริษัทสมัยใหม่อย่าง Google ก็มีวิธีทำธุรกิจคล้ายกัน ดูต่อได้ใน How Google Works)
คลั่งใคล้ปัญหา และแก้ก่อนที่มันจะเกิด
อุบัติเหตุรถชนที่เพิ่งเกิดวันนี้ อาจเกิดจากเราติดนิสัยขับรถตอนอดนอนเมื่อ 5 ปีที่แล้ว…
การที่โรงแรมมีลูกค้าลดลง 40% วันนี้ที่แท้อาจมาจากลูกค้าที่โมโหกลับไปเมื่อ 4 ปีก่อน…
การจราจรที่ติดขัดในปัจจุบัน แท้จริงมาจากการออกแบบผังเมืองที่ผิดพลาดเมื่อหลายปีที่แล้ว…
ปัญหาใหญ่ที่เราเจอกันในวันนี้ มักเกิดจากปัญหาเล็กๆ ที่สะสมไว้จนก่อตัวเป็นเรื่องรุนแรงขึ้นมา โตโยต้ามีประเพณีในการคุ้ยปัญหาทุกอย่างที่ซ่อนอยู่ แล้วกำจัดมันก่อนที่ปัญหาเล็กๆ จะก่อเรื่องใหญ่
โรงงานรถยนต์ของโตโยต้ามีกฎอยู่ว่าจะให้พนักงานแจ้งปัญหาอย่างน้อย 1,000 ครั้งต่อกะ (หนึ่งพันครั้งถูกแล้วครับ) ฟังดูเป็นกฎที่บ้าบอมากครับ ถ้าวันไหนปัญหาลดลง บริษัทอื่นคงปิดซอยฉลองที่ “พัฒนาจนปัญหาหมดไป” แต่โตโยต้าจะไม่คิดอย่างนั้น เพราะการที่ปัญหาน้อยลงเป็นไปได้ 2 ทาง
- ปัญหายังคงมีอยู่ แต่ถูกซุกไว้ใต้พรม
- ปัญหาลดลงจริงๆ แต่คนพอใจกับสิ่งที่ทำอยู่จนหยุดพัฒนา
ต่อให้ทุกอย่างดูเรียบร้อยดี ผู้บริหารโตโยต้าจะบังคับให้ “หาปัญหา” มาให้ได้จนครบ 1,000 ครั้ง เพื่อที่จะได้หาทางพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น เขาจะมองว่า “ขุดปัญหาขึ้นมาแก้ = ก้าวหน้า” นั่นเอง
ลองกลับมาที่ชีวิตใกล้ตัวบ้างดีกว่าครับ
สมมุติว่าเราจะทำผัดกะเพรากินเองในงบ 30 บาท มีวัตถุดิบคือหมูสับ ใบกะเพรา พริก กระเทียม น้ำมัน น้ำปลา และซอสหอยนางรม โดยปกติคุณผัดกินอยู่ในงบนี้ได้ตลอด
แต่ถ้าวันหนึ่งผัดกะเพราของคุณกลายเป็น 35 บาท แสดงว่าเกิดปัญหาแล้ว เมื่อตรวจสอบดูคุณก็พอว่าเนื้อหมูขึ้นราคา ทางแก้ก็มีหลายทาง เช่น ลดคุณภาพเนื้อหมู ลดปริมาณเนื้อหมู ไปลดปริมาณใบกะเพราะกับซอสหอยนางรมแทน หรือเปลี่ยนงบเป็น 35 บาทเพื่อให้สอดคล้องกับต้นทุนวัตถุดิบที่เปลี่ยนไป
แต่ แต่ แต่… โตโยต้าจะไม่หยุดแค่นั้น เขาจะถามต่อว่า “ทำไมเนื้อหมูขึ้นราคา?” เพราะการที่เนื้อหมูราคาแพงอาจมีวิธีแก้ไขก็ได้
- ร้านค้าโก่งราคาหรือเปล่า? เราลองเปลี่ยนร้านที่ซื้อได้ไหม
- ปีนี้มีโรคระบาดสำหรับหมู ทำให้หมูขาดตลาด แสดงว่าไก่ยังน่าจะราคาเท่าเดิม เราอาจเปลี่ยนไปทำกะเพราไก่แทนได้
- เงินเฟ้อ อันนี้คงทำอะไรไม่ได้ เพราะของทุกอย่างมันแพงไปหมด ต้องจำใจปรับตัวโดยดี
เมื่อเราคุ้ยลึกไปถึงปัญหา เราจะพบสาเหตุที่แท้จริง และแก้ปัญหาได้ตรงจุดก่อนที่มันจะเกิดเสียอีก จุดสำคัญอยู่ที่การถามว่า “ทำไม” เพื่อเจาะลึกถึงแก่นปัญหา … แต่อันที่จริงคำว่า “ทำไม” ในหนังสือ Start With Why นั้นลึกซึ้งยิ่งกว่านี้อีกครับ มันจะเปิดโลกคุณเลย
สรุป
ที่จริง “วิชามวยแบบโตโยต้า” นั้นแทบไม่มีอะไรซับซ้อนเลยครับ โดยแก่นแท้แล้วมันคือการสำรวจและแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาวันละน้อยแต่พัฒนาทุกวัน
การพัฒนานี้ฝังรากลึกอยู่ในแนวคิดของพนักงาน และถูกวางระบบให้การทำงานหนี “ความมุ่งมั่นจะพัฒนา” นี้ไม่พ้น ทำให้โตโยต้าค่อยๆ ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องและมั่นคง ในขณะที่คู่แข่งโตบ้างหยุดบ้าง เมื่อเวลาผ่านไปนานเข้าโตโยต้าจึงทิ้งห่างบริษัทรถยนต์อื่น
ที่สำคัญ นอกจากจะพัฒนากระบวนการทำงานแล้ว คุณยังต้องพัฒนาคนด้วย บริษัทที่ดีไม่ใช่การที่ลูกน้องรอฟังคำสั่งของหัวหน้าอย่างเคร่งครัด แต่เป็นบริษัทที่หัวหน้าฟังลูกน้องแล้วร่วมมือกันทำงานให้ดีที่สุด …เพราะบริษัทนั้นไม่ใช่สถานที่ แต่เป็นผู้คนนั่นเอง
หนังสือที่อาจจะดีกว่าวิถีโตโยต้า “Toyota Kata”
บิงโกมีหนังสือและบทความดีๆ อีกมากที่คุณอาจสนใจ ดังนี้
- เมื่อคุณรู้หลักของโตโยต้า คุณอาจลองเปรียบเทียบกับหลักของกูเกิลใน How Google Works ซึ่งเป็นวิธีทำธุรกิจที่อดีต CEO ของกูเกิล เอริค ชมิตต์ เขียนด้วยตัวเอง เพื่อสอนการทำธุรกิจในสไตล์กูเกิล
- หนังสือ Think Like Zuck และ Becoming Facebook จะมาบอกแนวคิดของมาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก ผู้ก่อตั้งและ CEO ของเฟซบุ๊ก ที่เริ่มจากไอเดียเล็กๆ ของเด็กมหาวิทยาลัยจนเป็นบริษัทระดับโลก
- วิธีทำธุรกิจแบบปัจจุบันไม่เหมือนในอดีตแล้ว หนังสือ Rework จะมาสอนคุณใช้เทคโนโลยีมาลดต้นทุนและประสิทธิภาพการทำงาน เพราะสมัยนี้มีเงินแค่ไม่กี่พันบาทก็เริ่มธุรกิจของตัวเองได้!
- คนธรรมดาที่ไม่รู้เรื่องธุรกิจจะเริ่มต้นยังไง? พบกับหนังสือ “เปลี่ยนคนธรรมดาให้มีหัวธุรกิจใน 3 ชั่วโมง” ที่เขียนโดยนักธุรกิจชาวญี่ปุ่นค่าตัวหลักล้าน ซึ่งจะสอนแนวคิดธุรกิจที่ครอบคลุมที่สุด ตั้งแต่ระดับเริ่มต้นยัน “expert” เหมาะกับทุกคนที่สนใจธุรกิจ ทั้งที่เพิ่งเริ่มต้น และคนที่อยากเติมความรู้ธุรกิจให้เต็ม!
- หนังสือ “เปลี่ยนคนธรรมดาให้มีหัวผู้นำใน 3 ชั่วโมง” เป็นหนังสือแปลจากญี่ปุ่นที่ศาสตราจารย์ด้านผู้นำจากมหาวิทยาลัยวาเซดะ ได้รวมหลักความเป็นผู้นำทุกอย่างไว้ … เหมาะกับทุกคน!! ไม่ว่าคุณจะเป็นผู้นำอยู่แล้ว หรือยังไม่เป็นแต่ฝันว่าสักวันจะต้องก้าวหน้าเป็นผู้นำให้ได้
- ถ้าคุณอยากรู้ว่าบริษัทเทคโนโลยีใหญ่ๆ ในโลกเติบโตระดับ 100 เท่ากันภายใน 5 ปีได้อย่างไร คุณสามารถอุดหนุนหนังสือ “ขโมยวิธีคิดสุดเจ๋ง จากสุดยอดโรงเรียนสอนสตาร์ทอัพ” ของบิงโกได้เลย ข้างในเป็นเนื้อหาของโรงเรียนสอนธุรกิจที่โด่งดังที่สุดในโลก ซึ่งสร้างบริษัทใหญ่ๆ อย่าง Airbnb และ Dropbox ตั้งแต่เจ้าของยังอดมื้อกินมื้อ จนเป็นมหาเศรษฐียักษ์ใหญ่ของโลก
Pingback: กฎ 10 ข้อของ Sam Walton เจ้าของวอลมาร์ท ซูเปอร์มาร์เก็ตที่ใหญ่ที่สุดในโลก