ทุกวันนี้เรายังจดจำภาพของชายคนหนึ่งซึ่งใส่แว่นตา เสื้อคอเต่าสีดำ กางเกงยีนส์เท่ๆ และรองเท้า New Balance ได้เป็นอย่างดี ในอดีตผู้คนทั่วทั้งโลกต่างตื่นเต้นและเฝ้ารอคอยให้ถึงวันที่ “สตีฟ จ็อบส์” (Steve Jobs) ก้าวขึ้นเวทีเพื่อแนะนำนวัตกรรมชิ้นใหม่ของแอปเปิล (Apple) ทำไมสิ่งที่จ็อบส์พูดถึงได้ทรงพลังและน่าสนใจมากขนาดนี้ เราจะมาหาคำตอบไปพร้อมกันในหนังสือเรื่อง The Presentation Secrets of Steve Jobs
The Presentation Secrets of Steve Jobs เป็นผลงานเขียนของ คาร์ไมน์ กัลโล (Carmine Gallo) ผู้เชี่ยวชาญด้านการสื่อสารและอดีตผู้สื่อข่าวของสำนักข่าวระดับโลกอย่าง CNN หนังสือเล่มนี้นอกจากจะขายดีไปทั่วโลกแล้ว คาร์ไมน์ยังมีผลงานอื่นๆ ที่ขายดีไม่แพ้กันอย่าง Talk Like TED ด้วย
The Presentation Secrets of Steve Jobs เป็นหนังสือที่หยิบเอา “การนำเสนอของสตีฟ จ็อบส์” มาวิเคราะห์และสรุปออกมาเป็นเทคนิคดีๆ ให้คนอ่านได้ศึกษากัน ซึ่งคงไม่เกินไปนักถ้าเราจะบอกว่าในปัจจุบันนี้ “ทักษะการนำเสนอ” ได้กลายเป็นอีกหนึ่งทักษะสำคัญสำหรับคนวัยทำงานไปแล้ว คุณลองนึกภาพตามง่ายๆ ก็ได้ว่า คุณมีสินค้าดีๆ ในมือ แต่ไม่รู้ว่าจะนำเสนอมันให้กับลูกค้าอย่างไรดูสิครับ
ผมเชื่อว่าคุณคงเสียโอกาสดีๆ ไปไม่น้อย
อย่ามัวรอช้าอยู่เลยครับ เรามาไล่เรียงเทคนิคการนำเสนอจากสตีฟ จ็อบส์ ชายผู้เป็นตำนานคนนี้ไปพร้อมกันเลย
ข้อคิดดีๆ จากหนังสือ The Presentation Secrets of Steve Jobs
- การพูดนำเสนอที่ยอดเยี่ยมที่สุด เกิดจากความพยายามในการฝึกซ้อมอย่างหนักและเตรียมคำพูดทุกคำมาเป็นอย่างดี
- สมองของคนเราไม่สามารถโฟกัสกับคำพูดยืดยาวได้ ดังนั้นการพูดนำเสนอแต่ละครั้งต้องกระชับ ตรงประเด็น เข้าใจง่าย และทำให้คนฟังเห็นภาพให้มากที่สุด
9 มกราคม 2007
ย้อนกลับไปในวันที่ 9 มกราคม 2007 ณ เมืองซานฟรานซิสโก ประเทศสหรัฐอเมริกา วันนี้เป็นวันแรกที่โลกจะได้รู้จักนวัตกรรมชิ้นใหม่ที่จะก้าวเข้ามามีบทบาทสำคัญในชีวิตประจำวันของผู้คนทั่วโลกไปตลอดกาล
ก่อนหน้านี้ สตีฟ จ็อบส์ เคยนำเสนอนวัตกรรมที่ “ปฏิวัติวงการ” มาแล้วถึง 2 ครั้งด้วยกัน นั่นก็คือ การนำเสนอ “คอมพิวเตอร์แมคอินทอชรุ่นแรก” (Macintosh) ที่ปฏิวัติวงการคอมพิวเตอร์ในปี 1984 และการนำเสนอ “ไอพอด” (iPod) ที่ปฏิวัติวงการเพลงในปี 2001 ผู้คนจึงต่างพากันตื่นเต้นไปกับสิ่งที่จ็อบส์กำลังจะนำเสนอในวันนี้
จ็อบส์เดินก้าวขึ้นเวทีอย่างช้าๆ ก่อนจะพูดว่า “เขารอคอยวันนี้มานานกว่า 2 ปีครึ่ง” จ็อบส์เกริ่นนำอะไรอีกพอสมควร จากนั้นเขาก็เริ่มนำคนฟังเข้าสู่เนื้อหาจริงๆ ที่ตั้งใจ
“วันนี้เราจะแนะนำผลิตภัณฑ์ที่พลิกโฉมสินค้า 3 ประเภทด้วยกัน หนึ่งคือ ไอพอดแบบจอกว้างที่ควบคุมโดยการสัมผัส สองคือ โทรศัพท์มือถือแบบปฏิวัติวงการ สามคือ อุปกรณ์สื่อสารผ่านอินเทอร์เน็ตที่ไม่เคยมีมาก่อน”
จากนั้นจ็อบส์ก็ทวนรายการทั้ง 3 อย่างนี้อีกครั้งด้วยอารมณ์ขันเล็กน้อยเพื่อเน้นย้ำสิ่งที่เขาพูดไป แล้วเขาก็ถามคนฟังว่า “พวกคุณเข้าใจแล้วใช่มั้ยครับว่ามันไม่ใช่อุปกรณ์ 3 ชิ้นแยกกัน แต่มันเป็นอุปกรณ์เพียงชิ้นเดียวที่เราเรียกว่า ไอโฟน (iPhone)”
ทันใดนั้นเองเสียงฮือฮาจากกลุ่มคนดูก็ดังขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทุกคนพากันตื่นเต้นที่ได้รู้ว่าแอปเปิลกำลังจะมีนวัตกรรมชิ้นใหม่เป็น “โทรศัพท์มือถือ” ที่จะก้าวเข้าปฏิวัติวงการอีกครั้งแล้ว
สุดยอดเทคนิคการนำเสนอของสตีฟ จ็อบส์
นอกจากจ็อบส์จะนำเสนอได้ยอดเยี่ยมแล้ว ผลจากการนำเสนอของเขายังยิ่งใหญ่กว่านั้น มันไม่หยุดอยู่แค่คนฟังพากันตื่นเต้นที่ได้ฟังสิ่งที่จ็อบส์พูด แต่มันกลายเป็น “ความหลงใหล” จนเหล่าผู้ฟังหลายคนตกเป็น “สาวก” ของจ็อบส์และแอปเปิลไปโดยไม่รู้ตัว
คาร์ไมน์ศึกษาการนำเสนอของสตีฟ จ็อบส์ แล้วพบว่า ปัจจัยที่ช่วยให้การนำเสนอนั้นออกมายอดเยี่ยมที่สุดมี 3 อย่างด้วยกันคือ
- เรื่องเล่า: สร้างเรื่องราวให้น่าสนใจ
- การแสดง: ส่งต่อประสบการณ์ไปยังผู้ฟัง
- ความบันเทิง: ใช้ภาษากายและใส่ความมีสไตล์
เรื่องเล่า: สร้างเรื่องราวให้น่าสนใจ
ก่อนที่คุณจะนำเสนออะไรสักอย่างได้ สิ่งแรกที่ควรต้องทำก็คือ “เขียนมันออกมา” โดยใช้อุปกรณ์พื้นฐานอย่างกระดาษและปากกาก็พอ เมื่อไหร่ก็ตามที่ไอเดียของคุณเข้าที่แล้ว คุณค่อยขยับไปใช้คอมพิวเตอร์เพื่อลงมือในขั้นตอนอื่นๆ อย่างเช่น การเตรียมสไลด์นำเสนอ การทำคลิปวิดีโอประกอบ ฯลฯ ต่อไป
แนนซี่ ดูอาร์ต นักเขียนซึ่งเคยทำงานร่วมกับ อัล กอร์ เพื่อทำสารคดีเกี่ยวกับภาวะโลกร้อนเรื่อง An Inconvenient Truth กล่าวว่า “คนพูดนำเสนอควรต้องใช้เวลาวางแผนบนกระดาษนานเป็น 2 เท่าของเวลาที่ใช้ทำสไลด์จริง”
ลำดับมาต่อมาคือ คุณต้องตีโจทย์ให้แตกว่า “ทำไมคนฟังต้องสนใจไอเดียของคุณด้วย?”
ในหนังสือ The Presentation Secrets of Steve Jobs คาร์ไมน์ยกตัวอย่างร้านกาแฟสตาร์บัคส์
ฮาเวิร์ด ชูลท์ซ CEO ของสตาร์บัคส์ ไม่จำเป็นต้องพร่ำบอกลูกค้าเกี่ยวกับความยอดเยี่ยมของกาแฟสตาร์บัคส์ แต่สิ่งที่เขาเลือกสื่อสารออกมาก็คือ “ร้านกาแฟแห่งนี้เปรียบเหมือนบ้านหลังที่สามของทุกคน”
นอกเหนือจากบ้านและที่ทำงานแล้ว ฮาเวิร์ดต้องการนำเสนอให้ร้านกาแฟสตาร์บัคส์เป็นบ้านหลังที่สาม เมื่อคุณมาที่ร้าน คุณจะได้รู้สึกสะดวกสบายเหมือนกับอยู่ที่บ้านหรือที่ทำงาน คุณสามารถมานั่งคุยโทรศัพท์ นั่งเล่นโน๊ตบุ๊ค หรือจะนั่งเฉยๆ ให้สบายๆ ไปพร้อมกับจิบกาแฟดีๆ ได้ที่นี่
สิ่งที่ฮาเวิร์ดนำเสนอคือสิ่งที่ลูกค้าสนใจ มันคือข้อดีที่ใครก็อยากเข้ามาใช้บริการสตาร์บัคส์นั่นเอง
อีกตัวอย่างหนึ่งที่ผมต้องพูดถึงก็คือ การเปิดตัวไอพอด (iPod) ครั้งแรก จ็อบส์เลือกนำเสนอไอพอดง่ายๆ ว่า “1,000 เพลงในกระเป๋าของคุณ” สั้นๆ ง่ายๆ แค่นี้ก็ชนะขาดครับ เพราะในยุคสมัยนั้นไม่มีอุปกรณ์ชิ้นไหนที่จะให้คุณได้มากกว่าไอพอดของจ็อบส์อีกแล้ว
ถ้าคุณอยากตีโจทย์ข้อนี้ให้แตก เทคนิคง่ายๆ ที่ควรนำไปใช้คือ “คนฟังมักสนใจไอเดียที่ช่วยให้ชีวิตของพวกเขาดีขึ้น” ถ้าไอเดียของคุณช่วยให้ชีวิตของคนฟังดีขึ้นหรือช่วยแก้ปัญหาอะไรสักอย่างในชีวิตให้พวกเขาได้ นั่นแหละครับสิ่งที่คุณควรพูดมันออกมา
เทคนิคสุดท้ายในหัวข้อนี้ที่ผมอยากแนะนำก็คือ “จงใส่ตัวร้ายในเรื่องเล่าของคุณด้วย” ผมมีเรื่องเล่าหนึ่งแบ่งออกเป็น 2 เวอร์ชั่นให้คุณลองเลือกดูว่าเวอร์ชั่นไหนสนุกกว่ากัน
- ป๋องเป็นพนักงานเงินเดือนในออฟฟิศแห่งหนึ่งย่านในเมือง ครอบครัวของเขามีฐานะปานกลาง ป๋องมีแฟนสาวชื่อ หนิง เธอทำงานอยู่ที่กระทรวงแห่งหนึ่งซึ่งมีคุณพ่อเป็นปลัดกระทรวง ป๋องและหนิงคบหากันมาสักระยะ ทั้งคู่จึงตัดสินใจแต่งงานกันโดยที่ครอบครัวของทั้งสองฝ่ายก็เห็นดีด้วย หลังจากป๋องและหนิงเตรียมงานแต่งกันมากว่าครึ่งปี ทั้งคู่ก็ได้แต่งงานกันอย่างมีความสุข
- ป๋องเป็นพนักงานเงินเดือนในออฟฟิศแห่งหนึ่งย่านในเมือง ครอบครัวเขามีฐานะปานกลาง ป๋องคบหากับหนิงกันมาสักพักหนึ่งโดยที่ครอบครัวฝ่ายหนิงไม่เห็นด้วย พ่อของเธอที่เป็นปลัดกระทรวงแห่งหนึ่งมองว่าป๋องไม่คู่ควรคบหากับลูกสาวของเขา พ่อของหนิงบอกให้ทั้งคู่เลิกกันแล้วเขาจะแนะนำผู้ชายคนใหม่ซึ่งเป็นลูกชายนายพลให้กับหนิงเอง แต่ป๋องและหนิงก็ไม่ยอมแพ้ ทั้งสองอยากจะพิสูจน์ให้ผู้ใหญ่ได้เห็นว่าความรักของพวกเขายิ่งใหญ่แค่ไหน
คุณจะเห็นว่าทั้งสองเรื่องมีตัวละครเหมือนกัน แต่พอผมปรับบทให้ “คุณพ่อ” เป็นตัวร้าย เรื่องราวก็น่าติดตามขึ้นทันที
เรื่องราวเดียวกันแค่เติมแต่ง “ตัวร้าย” ลงไป เรื่องราวนั้นก็จะน่าติดตามขึ้นมาเอง นี่คือเทคนิคครอบจักรวาลที่ทั้งนักเขียนหนังสือ นักเขียนบทภาพยนตร์ และนักโฆษณาต่างใช้กัน
ถ้าคุณมีโอกาสได้ดูการเปิดตัวไอโฟนในปี 2007 จ็อบส์ได้พูดถึงไอโฟนในฐานะ “สมาร์ทโฟน” เป็นครั้งแรก เขาเล่าว่าที่ผ่านมาโทรศัพท์มือถือช่างไม่ฉลาดเอาเสียเลย แถมหน้าตายังดูไม่ดีอีก (ลองสังเกตในสไลด์ด้านหลังของเขาที่มีหน้าตาโทรศัพท์หลายรุ่นโผล่ขึ้นมาสิครับ) หลังจากให้โทรศัพท์รุ่นอื่นรับบทตัวร้ายไปแล้ว จ็อบส์ค่อยเปิดตัวฮีโร่ในเรื่องอย่าง “ไอโฟน” ที่จะเข้ามาแก้ปัญหาให้กับทุกคน (คุณสามารถเปิดชมการนำเสนอไอโฟนครั้งแรกของจ็อบส์และอ่านบทความของเราไปพร้อมกันได้นะครับ)
การแสดง: ส่งต่อประสบการณ์ไปยังผู้ฟัง
เทคนิคการนำเสนอที่จ็อบส์ใช้ทุกครั้งก็คือ “สาธิตให้ดูมากกว่าพูด”
ตอนที่จ็อบส์เปิดตัวไอโฟนครั้งแรก คุณสมบัติหนึ่งที่เขาพูดถึงก็คือ นี่คืออุปกรณ์ที่ใช้เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน แทนที่จ็อบส์จะพูดว่าไอโฟนต่ออินเทอร์เน็ตเสร็จภายในกี่วินาที แล้วจะใช้อินเทอร์เน็ตได้เร็วสูงสุดเท่าไร เขากลับเลือกสาธิตมันให้ทุกคนดูแทน
จ็อบส์สาธิตการใช้ด้วยการเปิดแอพพลิเคชั่น Google Maps จากนั้นเขาก็ค้นหาร้านกาแฟสตาร์บัคส์ที่อยู่ในละแวกนั้น จ็อบส์กดเลือกร้านสาขาหนึ่งแล้วเบอร์โทรศัพท์ของร้านก็แสดงขึ้นมา แค่นี้ทุกคนที่ดูจ็อบส์สาธิตการใช้งานก็ฮือฮาแล้ว แต่จ็อบส์ไม่หยุดแค่นั้น เพราะเขาดันกดโทรออกจริงๆ
พนักงานสาวจากร้านสตาร์บัคส์ที่รับสายพูดว่า “ที่นี่ร้านสตาร์บัคส์ อรุณสวัสดิ์ค่ะ มีอะไรให้เราช่วยคะ?”
จ็อบส์ตอบว่า “ผมอยากสั่งลาเต้ 4,000 แก้วครับ … ล้อเล่นครับ ผมโทรผิดเบอร์ ขอบคุณมาก บ๊าย บาย”
การสาธิตง่ายๆ ให้ทุกคนได้เห็นการใช้งานไอโฟนจริงๆ พอบวกกับมุกตลกจากอารมณ์ขันสุดแสบของชายคนนี้ย่อมสร้างความประทับใจได้มากกว่าการพูดเพียงอย่างเดียวแน่นอนครับ
อีกหนึ่งเรื่องที่จ็อบส์ใส่ใจมากก็คือ “สไลด์นำเสนอ”
จ็อบส์ไม่ใช้สไลด์ที่มีแต่ตัวหนังสือหรือบุลเล็ตเป็นหัวข้อเลย แต่เขาจะเลือกเล่าผ่านรูปภาพแทน เพราะสมองของคนเราจะจดจำภาพได้ดีกว่าตัวอักษรเสมอ ถ้าคุณเลือกทำสไลด์ที่มีแต่ตัวหนังสือ แทนที่คนฟังจะสนใจสิ่งที่คุณพูด พวกเขาจะมัวแต่นั่งอ่านสไลด์ของคุณหรือไม่ก็เลิกสนใจมันไปเลย
เทคนิคสุดท้ายในหัวข้อนี้ที่ผมอยากแนะนำคือ “สร้างช่วงเวลาว้าว”
ในหนังสืออัตชีวประวัติของสตีฟ จ็อบส์ ที่ตั้งชื่อเดียวกับเขาว่า Steve Jobs นักเขียนอย่าง วอลเตอร์ ไอแซคสัน กล่าวว่า “การนำเสนอของจ็อบส์แต่ละครั้งทำให้สมองของคนดูหลั่งสารโดพามีน” สารโดพามีนคือสารที่มีส่วนช่วยในการจำของสมอง เมื่อคนเราเจอเรื่องตื่นเต้นหรือเศร้าเป็นพิเศษ สมองของเราจะหลั่งสารโดพามีนออกมาทำให้เราจดจำช่วงเวลานั้นได้
ย้อนกลับไปในปี 2008 จ็อบส์ที่แต่งตัวด้วยสไตล์เดิมๆ ที่ทุกคนคุ้นเคยได้เดินขึ้นเวทีเพื่อแนะนำผลิตภัณฑ์ชิ้นใหม่อย่าง MacBook Air ซึ่งเป็นคอมพิวเตอร์แบบพกพาที่เบาและบางที่สุดในโลก หลังจากจ็อบส์พูดถึงสิ่งประดิษฐ์ชิ้นนี้ไปสักพักแล้ว สไลด์ด้านหลังของเขาก็ขึ้นรูปภาพของซองเอกสารหนึ่งขึ้นมา จากนั้นเขาก็เดินไปหยิบซองเอกสารหนึ่งที่เตรียมไว้ แล้วเปิดมันออกพร้อมกับหยิบ MacBook Air ออกมา
นี่คือ “ช่วงเวลาว้าว” ตามแบบฉบับของสตีฟ จ็อบส์นั่นเอง (คุณสามารถดูจังหวะสุดคลาสสิกที่จ็อบส์เปิดซองเอกสารได้ที่ลิงค์นี้ครับ)
ความบันเทิง: ใช้ภาษากายและใส่ความมีสไตล์
ถ้าคุณเปิดคลิปยูทูปการนำเสนอไอโฟนครั้งแรกตามไปด้วย คุณคงสังเกตว่าตลอดเวลาที่จ็อบส์พูด เขาจะใช้ “ภาษากาย” ประกอบด้วยเสมอ จ็อบส์จะไม่ยืนนิ่งเฉยๆ อยู่หลังโพเดียมแล้วพูดไปเรื่อยๆ ตามสไลด์ แต่เขาเลือกที่จะเดินไปทั่วเวทีเพื่อดึงดูดความสนใจของคนดู นอกจากนี้จ็อบส์ยังชอบใช้มือทำท่าทางต่างๆ ประกอบคำพูดไปด้วย
เทคนิคต่อมาก็คือ “ใส่ความมีสไตล์”
“ความมีสไตล์” หรือจะพูดให้เข้าใจง่ายกว่านั้นก็คือ “ความดูดีมีระดับ” เป็นสิ่งที่คนนำเสนอสามารถสร้างขึ้นมาได้จากหลายอย่างประกอบเข้าด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นการแต่งตัวและรายละเอียดการพูด
เมื่อคุณมีนัดสำคัญต้องนำเสนอไอเดียสักอย่างในที่ประชุม ผมเชื่อว่าวันนั้นคุณต้องพิถีพิถันในการแต่งตัวมากกว่าวันปกติแน่นอน ถ้าคุณอยากแต่งตัวให้มีสไตล์ คุณไม่จำเป็นต้องลอกแบบมาจากหนังสือแฟชั่นเลย คุณแค่แต่งตัวให้เหมาะกับกาลเทศะและสถานที่ก็เพียงพอแล้ว
ส่วนรายละเอียดการพูดนั้น คุณสามารถดูตัวอย่างจากจ็อบส์ได้หลายอย่างด้วยกัน เช่น ระดับความดังของเสียงเมื่อพูดถึงช่วงสำคัญๆ จ็อบส์จะพูดให้ดังกว่าเดิมขึ้นมา, การเน้นคำที่เปรียบเหมือนคีย์เวิร์ด และการหยุดเงียบให้คนฟังได้คิดตาม เป็นต้น
สิ่งสุดท้ายที่สำคัญที่สุดก็คือ “การฝึกซ้อมและขัดเกลาตัวเอง”
ต่อให้จ็อบส์จะเก่งกาจแค่ไหน เขาก็ไม่มีทางพูดนำเสนอได้เก่งตั้งแต่แรกหรอกครับ จ็อบส์หมั่นฝึกฝนและเตรียมตัวหนักมากก่อนจะขึ้นเวทีเสมอ อย่างในปี 2007 ที่เขาขึ้นพูดเปิดตัวไอโฟนเป็นครั้งแรก จ็อบส์บอกกับทีมงานก่อนวันจริงว่า “จะต้องมีการสาธิตสดเท่านั้น ไม่มีการอัดเทปเด็ดขาด” ดังนั้นตลอดระยะเวลา 5 วันที่เขาซ้อมก่อนวันจริง จ็อบส์ก็ต้องพูดให้ทีมงานฟัง ส่วนทีมงานก็ต้องฟังสิ่งที่จ็อบส์พูด พร้อมกับทำงานเตรียมงานสาธิตในส่วนของตัวเองไปด้วย
สรุปสุดท้ายก่อนวางหนังสือ The Presentation Secrets of Steve Jobs
ถึงหนังสือเล่มนี้จะออกตีพิมพ์ครั้งแรกตั้งแต่ปี 2009 แต่เนื้อหาของหนังสือเล่มนี้ไม่เคยเก่าตามจำนวนปีที่ผ่านไปเลย ปัจจุบันคุณจะเห็นผู้คนนำเทคนิคการนำเสนอในแบบของสตีฟ จ็อบส์ มาประยุกต์ใช้มากมาย ไม่ว่าจะเป็นการเปิดตัวสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ๆ หรือจะเป็นการเปิดตัวรถยนต์
นอกจากนี้ในหนังสือThe Presentation Secrets of Steve Jobs ยังมีเทคนิคเล็กๆ น้อยๆ ซ่อนอยู่อีกเพียบเลยครับ ถ้าคุณเป็นคนหนึ่งที่อยากพัฒนาทักษะการนำเสนอ ผมคิดว่าคงจะไม่มีใครเป็นต้นแบบให้เราได้ศึกษาได้ดีไปกว่าคนที่ประสบความสำเร็จด้านนี้และยังได้รับการยกย่องจากผู้คนทั่วทั้งโลกอย่าง “สตีฟ จ็อบส์” อีกแล้ว
หนังสือเล่มอื่นที่น่าสนใจไม่แพ้ The Presentation Secrets of Steve Jobs
- ถ้าคุณอยากเรียนเทคนิคดีๆ เพิ่มเติมเกี่ยวกับการวางตัวให้ดูดีจนมีคนถูกใจ สนพ.บิงโก ขอแนะนำหนังสือเรื่อง “ทำอะไรใครก็ Like ด้วยเทคนิคมัดใจใน 90 วินาที” ผลจากเขียนจากนิโคลัส บูธแมน นักจิตวิทยามือหนึ่งจากเกาะอังกฤษ
- สนพ.บิงโก ยังมีหนังสืออีกเล่มหนึ่งเกี่ยวกับเทคนิคการนำเสนอให้น่าสนใจ เพียงแต่คราวนี้เป็นหนังสือแปลเรื่องเยี่ยมจากฝั่งตะวันออกอย่าง “คิดเป็นภาพ เปลี่ยนเรื่องยากให้ง่ายใน 1 นาที” ผลงานของ ซากุราดะ จุน นักอินโฟกราฟิกมือหนึ่งจากญี่ปุ่น ซึ่งมีความชอบเป็นการสรุปทุกเรื่องราวในโลกให้ย่ออยู่ภาพเพียงภาพเดียว
- ถ้าคุณเป็นอีกหนึ่งสาวกของสตีฟ จ็อบส์ เราแนะนำให้คุณอ่านอัตชีวประวัติของเขาจากหนังสือเรื่อง Steve Jobs ซึ่งรวบรวมทุกแง่มุมชีวิตของจ็อบส์ ไม่ว่าจะเป็นชีวิตการทำงาน เรื่องส่วนตัว และความลับการทำงานที่ไม่เคยอ่านจากที่ไหนมาก่อนครับ
- ปิดท้ายกันด้วยหนังสือดีๆ เกี่ยวกับบริษัทผลิตภาพยนตร์แอนิเมชั่นชื่อดังอย่าง Pixar ในเรื่อง Creativity, Inc. ซึ่งครั้งหนึ่งสตีฟ จ็อบส์ เองก็เคยรับตำแหน่งเป็น CEO ของ Pixar ด้วย แถมเขายังสามารถสร้างสรรค์ผลงานแอนิเมชั่นเรื่องเยี่ยมอย่าง Toy Story ให้เข้าไปนั่งอยู่ในใจผู้คนทั่วโลกมาแล้ว
Pingback: สรุปหนังสือ Tribes เป็นหัวหน้าเผ่าในโลกสมัยใหม่ - สำนักพิมพ์บิงโก
Pingback: สรุปหนังสือ The 4-Hour Workweek ทำน้อยแต่รวยมาก เลิกรวยตอนแก่