สรุปหนังสือ The One Thing โฟกัสแค่ 1 แต่ได้ถึง 100

ในหนังสือ The One Thing แกร์รี เคลเลอร์ และเจย์ แพพาสัน ได้เผยความลับของบุคคลที่ประสบความสำเร็จอย่างแท้จริงว่าพวกเขาเริ่มแค่จากก้าวสั้นๆ เท่านั้นเองค่ะ พวกเขาไม่พยายามทำทุกสิ่งพร้อมกัน แต่เลือกที่จะพุ่งเป้าไปที่สิ่งเดียวที่หวังผลได้มากที่สุด พูดง่ายๆ ก็คือ พวกเขาเมินสิ่งที่ “น่าจะทำ” และหันไปสนใจสิ่งที่พวกเขา “ควรทำ” แทน

หนังสือเล่มนี้จะตอบข้อสงสัยเหล่านี้ให้คุณผู้อ่านได้

  • เราจะตั้งเป้าหมายและจัดลำดับความสำคัญของงานต่างๆ ได้อย่างไร?
  • เราจะตั้งสมาธิกับสิ่งที่สำคัญที่สุดได้อย่างไร?
  • เราจะคว้าเป้าหมายมาไว้ในมือได้อย่างไร? 

 

คิดเล็กไปก็ไม่มีอะไรดีขึ้น

ก่อนที่เจ. เค. โรลลิ่ง จะลงมือเขียนบทแรกของแฮร์รี่ พอตเตอร์ เธอก็คาดการณ์ไว้ก่อนแล้วว่าแฮร์รี่ พอตเตอร์ จะมีถึง 7 เล่ม และเธอก็ประสบความสำเร็จอย่างมหาศาล เพราะเธอไม่กลัวที่จะคิดการใหญ่ ถ้าเธอไม่รู้จักคิดการใหญ่แต่แรก ใครจะรู้ว่าเธอจะมีทุกวันนี้รึเปล่า จริงไหมคะ?

harry potter หนังสือดี
นวนิยาย Harry Potter ทั้ง 7 เล่มเป็นหนังสือชุดสร้างชื่อให้กับ J. K. Rowling

 

แต่การคิดการใหญ่ก็ออกจะฟังดูน่ากลัวและไกลตัวเกินไป หลายคนจึงเลือกที่จะคิดการเล็กมากกว่า ซึ่งอาจทำให้เราพลาดโอกาสในการประสบความสำเร็จหลายๆ อย่างในชีวิตได้ เพราะหากนักวิทยาศาสตร์ไม่ลองตั้งคำถามหรือคิดถึงความเป็นไปได้ต่างต่างนานา เช่น การหายใจใต้น้ำ การบิน หรือแม้แต่การท่องอวกาศ มนุษยชาติก็คงไม่พัฒนามาถึงจุดนี้

เราอาจเขียนสมการเบื้องต้นได้ว่า

เริ่มคิดการใหญ่ ➞ ลงมือทำ ➞ ความสำเร็จ

 

จัดลำดับความสำคัญ

หลายคนชอบจด “รายการสิ่งที่ต้องทำ” ไว้ แต่พอจดเสร็จ เราจะรู้ได้อย่างไรคะ ว่าสิ่งไหนควรทำก่อนระหว่าง

  1. ทำสิ่งที่กินเวลามากๆ ก่อน
  2. ทำเรื่องง่ายๆ ก่อน หรือ
  3. ไล่ทำตามที่จดไว้ลงมาเป็นลำดับขั้น
to-do list
การจดรายการสิ่งที่ต้องทำจะมีประสิทธิภาพก็ต่อเมื่อคุณลำดับความสำคัญของพวกมันไว้ด้วย

 

ทว่า จริงๆ แล้วรายการสิ่งที่ต้องทำนั้นไม่ได้มีประสิทธิภาพอย่างที่เราๆ คิดกันหรอกค่ะ เพราะทุกเรื่องสำคัญไม่เท่ากัน

หากเราลองคิดอย่างถี่ถ้วนกันอีกทีแล้วจะเห็นได้ว่า มีงานเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่จะพาเราไปให้ถึงเป้าหมายสูงสุดได้ และงานส่วนน้อยที่ว่าหรือ The One Thing นี่แหละที่เราควรใส่ใจมากที่สุด

โจเซฟ เอ็ม. จูราน อดีตพนักงานควบคุมคุณภาพ (QC) ของบริษัท General Motors ได้ค้นพบว่า รอยตำหนิที่เกิดบนรถเกิดจากข้อผิดพลาดเล็กๆ น้อยๆ ของฝ่ายผลิต เพราะฉะนั้นการทำความเข้าใจกับฝ่ายผลิตเพื่อลดข้อผิดพลาดจึงควรมาก่อนงานอื่นใด

หลักการพาเรโต

โจเซฟตั้งชื่อการค้นพบครั้งนี้ว่า “หลักการพาเรโต” ตามนักเศรษฐศาสตร์ชาวอิตาลีคนหนึ่งที่ชื่อว่า วิวเฟรโด พาเรโต ผู้เขียนต้นแบบของความมั่งคั่งและการกระจายรายได้ในช่วงศตวรรษที่ 19

พาเรโตบอกว่ามีเพียง 20% ของคนในประเทศเท่านั้นที่เป็นเจ้าของที่ดินถึง 80% จากทั้งหมด และโจเซฟก็คิดว่ากฎนี้ใช้ได้กับกฎของเขาด้วย ซึ่งก็คือ มีเพียง 20% ของข้อผิดพลาดเท่านั้นที่ทำให้เกิด 80% ของร่องรอยตำหนิบนรถ

กฎ 80/20

โจเซฟยังตระหนักอีกว่า กฎ 80/20 ข้อนี้อาจจะนำไปใช้ทั่วไปได้ด้วย ซึ่งก็คือ 20% ของการทำงานของเราก็ก่อให้เกิดผลลัพธ์ถึง 80% ได้

จากกฎ 80/20 นี้สามารถสรุปได้ว่า รายการงานที่เราจดไว้ไม่ได้สำคัญเท่ากันทั้งหมด มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่จะช่วยให้เราไปถึงเป้าหมายที่แท้จริงได้ และเราก็ควรเลือกทำแค่ส่วนน้อยนั่นก็เพียงพอแล้ว

 

การฝึกใช้ “คำถามเพื่อการโฟกัส”

มาร์ค ทเวน นักเขียนชื่อดังชาวอเมริกัน เคยเล่าว่า

“เคล็ดลับของความก้าวหน้าคือการเริ่มลงมือทำ เคล็ดลับของการลงมือทำคือการแบ่งงานออกเป็นส่วนย่อยๆ แล้วเริ่มทำส่วนแรกก่อน”

นี่ถือเป็นคำแนะนำที่ดี แต่การจะรู้ได้ว่าเป้าหมายสำคัญคืออะไร แล้วจะเริ่มทำตรงไหนก่อนดูเป็นเรื่องยากไม่น้อยเลยใช่มั้ยล่ะคะ ฉะนั้นเราต้องมาเริ่มตั้ง “คำถามเพื่อการโฟกัส” คำถามที่จะช่วยให้เรากำหนดเป้าหมายสำคัญและเริ่มลงมือทำได้

questioning reasoning
การฝึกใช้ “คำถามเพื่อการโฟกัส” จะช่วยให้คุณไปถึงเป้าหมายได้ไวขึ้น

คำถามเพื่อการโฟกัส

“อะไรที่จะช่วยให้งานของเราง่ายขึ้นหรืออาจจะทำให้มันไม่จำเป็นต้องทำซะเลย?”

คำถามนี้มี 2 ระดับ

  1. ระดับมหภาค ช่วยให้เราเห็นภาพกว้างและกำหนดเป้าหมายสำคัญที่สุดได้ กำหนดสิ่งเดียวที่เราอยากทำและอยากได้มากที่สุดในชีวิต เช่น เป้าหมายในอาชีพการงาน
  2. ระดับจุลภาค หรือ ระดับปฏิบัติ ที่จะช่วยให้เราเริ่มลงมือทำงานตรงหน้าก่อน มักจะเป็นงานที่ง่ายที่สุดหรือให้ผลลัพธ์ทันที เช่น การโทรศัพท์ติดต่อใครสักคน

ระดับแรกเป็นการค้นหาเส้นทางในการใช้ชีวิต ส่วนในระดับที่สองเป็นการเลือกการกระทำที่เหมาะสมนั่นเองค่ะ

การถาม “คำถามเพื่อการโฟกัส” บ่อยๆ จะช่วยให้เราไม่ออกนอกลู่นอกทาง และยังจะช่วยให้เราไปถึงเป้าหมายได้ง่ายขึ้นด้วยการเลือกงานที่ลงมือทำได้ก่อนไปเรื่อยๆ เป็นลำดับขั้น จนไปถึงเป้าหมายที่หวังไว้

 

เคล็ดลับของความมีวินัย คือการสร้างนิสัยเป็นลำดับขั้น

พอเราคิดถึงคนที่ประสบความสำเร็จอย่างบิล เกตส์ เราก็มักจะเชิดชูความมีวินัยอย่างหาที่เปรียบมิได้ของเขา วินัยที่หล่อหลอมให้บิล เกตส์ เรียนรู้การเขียนโปรแกรมตั้งแต่เด็ก ไม่ออกไปดีดลูกแก้วเล่นเหมือนเพื่อนๆ ในรุ่นเดียวกัน วินัยที่หลายๆ คนมองว่าสร้างยาก แล้วคนอย่างบิล เกตส์ ทำได้ยังไง?

bill gates เศรษฐี ผู้ทรงอิทธิพล
Bill Gates อดีต CEO ของ Microsoft มหาเศรษฐีอันดับ 2 ของโลก

 

กุญแจสำคัญของความสำเร็จของเขาไม่ใช่การสร้างวินัยเพื่อให้มีแรงขับในการทำงานหรอกค่ะ แต่เป็นการใช้วินัยเพื่อสร้างนิสัยที่ดีต่างหาก

ยกตัวอย่างกรณีของนักกีฬาว่ายน้ำชาวอเมริกัน ไมเคิล เฟลป์ส ใครๆ ต่างก็ยอมรับความมีวินัยในการทำงานของเขา ทั้งที่จริงๆ แล้วในสมัยเด็ก หมอบอกว่าเขาเป็นโรคสมาธิสั้น คนรอบข้างเลยทึกทักเอาว่าเขาคงตั้งใจทำอะไรจริงๆ ไม่ได้ แล้วไมเคิล เฟลป์ส ลบข้อกังขาเหล่านั้นได้ยังไงกัน?

ไมเคิลใช้วินัยที่เขามีมาสร้าง 1 นิสัย หรือ The One Thing ของเขา ซึ่งก็คือการว่ายน้ำทุกวัน ตลอด 10 ปีตั้งแต่อายุ 14 จนได้เหรียญโอลิมปิกส์ที่ปักกิ่ง เขายังคงฝึกซ้อมว่ายน้ำไม่หยุด 7 วันต่อสัปดาห์ 365 วันต่อปี

michael phelps นักกีฬา เหรียญทอง
Michael Phelps เป็นนักกีฬาว่ายน้ำที่ได้รับการยกย่องว่าประสบความสำเร็จมากที่สุด

 

การสร้างนิสัย The One Thing เป็นแค่การเริ่มต้นเท่านั้นเองนะคะ นิสัยนั้นรักษาได้ง่ายกว่าการเริ่มลงมือสร้าง เพราะฉะนั้นหากเราสร้างนิสัยได้อย่างหนึ่งแล้ว เราก็อาจจะใช้วินัยที่มีสร้างนิสัยอื่นๆ อีกได้เป็นลำดับขั้นไป เช่น การเลือกที่จะเข้าออฟฟิศเร็วขึ้น 30 นาทีทุกวันเพื่อจัดการกับอีเมลก่อนเพื่อนร่วมงานจะมาถึง เมื่อนิสัยนี้ถูกสร้างขึ้นมาแล้ว เราก็ขยับไปที่เป้าหมายถัดไปได้

การสร้างนิสัยที่ดีโดยการใช้วินัยเป็นแก่นจะช่วยให้เรามีชีวิตที่เป็นระเบียบแบบแผนมากขึ้น

 

ทำหลายอย่าง ไม่ได้แปลว่าเก่ง

ในปัจจุบัน ใครๆ ก็มองว่าการทำงานหลายๆ อย่างในเวลาเดียวกันเป็นเรื่องดี พฤติกรรมแบบนี้มีต้นตอมาจากการทำงานของคอมพิวเตอร์ที่ประมวลผลหลายโปรแกรมพร้อมๆ กันอย่างรวดเร็ว

แม้ว่าเราจะทำงานหลายๆ อย่างในเวลาเดียวกันได้ เช่น เดินไปด้วยคุยโทรศัพท์ไปด้วย แต่เราไม่สามารถทำให้ผลลัพธ์ทั้ง 2 อย่างนั้นออกมาอย่างมีประสิทธิภาพเท่าที่ควร จากที่เราคิดว่าเรากำลังทำงานหลายอย่างพร้อมกัน แต่ที่จริงมันเป็นแค่การที่เรากำลังพยายามถ่วงดุลไม่ให้งานทั้ง 2 อย่างนั้นพังไม่เป็นท่าต่างหาก

multitasking is bad
การทำอะไรหลายๆ อย่างพร้อมกันมีแต่จะทำให้ปวดหัวซะมากกว่า

ทำอะไรหลายๆ อย่างพร้อมกันให้โทษมากกว่าผลดี

มีงานวิจัยค้นพบว่าการทำอะไรหลายๆ อย่างพร้อมกันให้โทษมากกว่าผลดี หากเป็นงานง่ายๆ เราก็คงไม่เห็นความแตกต่างมาก แต่ถ้าเป็นงานที่ซับซ้อน เวลาที่เสียไปก็จะเพิ่มมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

เช่น สมมติว่าเรากำลังนั่งกรอกข้อมูลในตาราง Excel อยู่ แต่เพื่อนร่วมงานดันมาขัดจังหวะชวนคุยเรื่องอื่นซะนี่ แล้วพอจะกลับมาทำงานตรงหน้า เราก็ต้องมาเสียเวลานั่งนึกอีกว่าทำตรงไหนทิ้งไว้

หลายคนต้องเจอกับเหตุการณ์แบบนี้ตลอดวันในที่ทำงานและที่บ้าน แล้วเวลาที่เสียไปก็จะถูกบวกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

มีรายงานบอกว่า คนทำงานออฟฟิศทั่วไปจะโดนขัดจังหวะทุกๆ 11 นาที และต้องใช้เวลา 1 ใน 3 ของวันเพื่อกลับมานั่งนึกว่าทำอะไรอยู่ก่อนหน้านี้ คุณผู้อ่านอยากจะเสียเวลา 1 ใน 3 ของวันไปแบบไม่ยอมทำอะไรเลยแบบนี้งั้นเหรอคะ?

 

แรงใจเป็นเหมือนน้ำมันเชื้อเพลิง

หลายคนรู้อยู่แล้วว่าแรงใจของตัวเองไม่ยั่งยืน และยังมีงานวิจัยบอกอีกว่า แรงใจนั้นห่างจากคำว่ายั่งยืนมากกว่าที่เราคิดเสียอีก ขึ้นอยู่กับว่ามีกิจกรรมอะไรที่เราทำอยู่ระหว่างวันบ้าง

แรงใจของเราจะมอดไหม้ไป หากเราต้องใช้มันเพื่อ

  1. ตัดสินใจ
  2. ควบคุมอารมณ์
  3. ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตัวเอง

 

ขนมขบเคี้ยว

เมื่อแรงใจของเราหมดไป เราก็จะรู้สึกหมดเรี่ยวหมดแรงในการทำงานชิ้นต่อไป

นี่เองที่อธิบายได้ว่าทำไมเราถึงอยากกินขนมขบเคี้ยวทุกครั้งหลังจากการตัดสินใจครั้งสำคัญสิ้นสุดลง หรือหลังจากการทำงานที่มีความซับซ้อนมาก

การต้องคอยพักเบรกอาจจะดูไม่ใช่เรื่องใหญ่อะไร แต่หากวันใดเราต้องไปอยู่ในสถานการณ์คอขาดบาดตาย ในขณะที่แรงใจไม่เหลือแล้ว ผลลัพธ์ที่ออกมาคงสาหัสกว่ามากนัก

เรามาลองหัดวางแผนในแต่ละวัน เพื่อจะได้ไม่ต้องไขว่คว้าหาแรงใจในยามที่เราใช้มันหมดไปแล้วดูเถอะค่ะ

gary keller
ของกินที่หลายคนต้องสรรหามาเพื่อช่วยเติมแรงใจ

 

หากอยากทำงานของตัวเองให้เสร็จ ก็หัดปฏิเสธงานเล็กๆ น้อยๆ เสีย

เราทุกคนต่างก็เคยอยู่ในสถานการณ์ที่การปฏิเสธเป็นเรื่องที่ยากมาแล้ว เพราะเราต่างก็อยากช่วยเหลือผู้อื่น

การช่วยเหลือผู้อื่นเป็นเรื่องดีค่ะ แต่การจะประหยัดเวลาและพลังงานของเราไว้สำหรับเป้าหมายที่แท้จริง เราก็ต้องรู้จักปฏิเสธงานเล็กๆ น้อยๆ บ้าง

สตีฟ จ็อบส์ โด่งดังมากในเรื่องการปฏิเสธ

เมื่อปี 1997 เขาลดจำนวนผลิตภัณฑ์ของบริษัทลงจาก 350 เหลือแค่ 10 ตัว นั่นคงจะต้องมาจากการตอบปฏิเสธนับครั้งไม่ถ้วนแหงๆ ล่ะค่ะ

ในงานประชุมนักพัฒนาโปรแกรมที่จัดขึ้นในปีเดียวกันนั้น สตีฟกล่าวไว้ว่า

“เมื่อคุณพูดถึงเรื่องการทำงานให้สำเร็จลุล่วง คุณอาจจะคิดว่ามันคือการตอบตกลงตลอดเวลา ไม่จริงนะครับ! การทำงานให้ลุล่วงคือการที่ต้องปฏิเสธให้เป็นต่างหาก!”

บุคคลที่ประสบความสำเร็จ
Steve Jobs ในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ถูกขนานนามว่าเป็นหนึ่งในผู้ทรงอิทธิพลที่สุดในโลก

วิธีปฏิเสธอย่างละมุนละม่อม

การปฏิเสธไม่จำเป็นต้องเป็นการเมินเฉยผู้อื่นเสมอไปหรอกค่ะ ไม่เชื่อคุณผู้อ่านลองทำตาม 2 ข้อนี้ดูก็ได้

  1. ให้คำแนะนำกับพวกเขาโดยที่ตัวเองไม่ต้องลงแรงดู หรือ
  2. ลองให้พวกเขาไปขอความช่วยเหลือจากคนอื่นที่อาจจะทำประโยชน์ให้ได้มากกว่าตัวคุณผู้อ่านเอง

และอย่าลืมอีกอย่างที่ควรทำค่ะ มันคือการวางแผนลดจำนวนการที่คุณผู้อ่านต้องปฏิเสธลงไปซะ เช่น ให้เพื่อนร่วมงานที่ชอบมาถามคำถามไปเปิดไปดูฟอรั่มถาม-ตอบเมื่อเกิดปัญหาขึ้น แทนที่จะเดินมาหาคุณผู้อ่านถึงที่ทุกครั้ง และไม่ว่ายังไงๆ พวกเราทุกคนก็หลีกหนีการปฏิเสธไม่พ้นอยู่แล้ว หากเราอยากประสบความสำเร็จตามเป้าที่ตั้งไว้ ลองทำดูเถอะค่ะ

 

ตั้งเป้าหมายและกำหนดขั้นตอนไปสู่เป้าหมาย

สมมติว่าตอนนี้คุณผู้อ่านไม่มีเป้าหมายหรือความทะเยอะทะยานอะไรในชีวิตเลย คุณผู้อ่านจะเลือกทำอะไรในแต่ละวันคะ? จะเลือกทำงานยากๆ โดยที่ไม่มีเหตุผลว่าต้องทำไปทำไมหรือเปล่า?

เวลาที่เราสมมติอะไรแบบนี้ เราก็จะนึกได้ว่า “เป้าหมาย” นั้นสำคัญกับชีวิตเรามากแค่ไหน มันจะทำให้

  • ชีวิตเรามีความหมายและมีคุณค่า
  • ความคิดอ่านของเราชัดเจนขึ้น
  • การกระทำของเราน่าเชื่อถือมากขึ้น
  • การตัดสินใจรวดเร็วมากยิ่งขึ้น
  • มีแรงขับและแรงบันดาลใจในการข้ามพ้นปัญหา

 

หากเรามีเป้าหมาย เราก็จะเริ่มกำหนดขั้นตอนเพื่อไปให้ถึงเป้าหมายนั้นให้ได้ และขั้นตอนเหล่านี้เองที่จะช่วยกระตุ้นเราและเตรียมตัวขยับไปหาเป้าหมายได้ง่ายขึ้น

งานวิจัยหนึ่งพบว่าเหล่านักเรียนที่กำลังทำข้อสอบ ถูกขอให้

  1. คิดถึงผลลัพธ์ของการสอบที่จะออกมา
  2. คิดถึงขั้นตอนในการเตรียมตัวสอบ

นักเรียนที่คิดถึงข้อ 2 มีแรงขับที่มากกว่าและผลลัพธ์ที่ออกมาก็ดีกว่ามากเลยล่ะค่ะ!

หากใครก็ตามบอกว่าอยากจะพิชิตยอดเขาเอเวอร์เรสต์ ก็แปลว่าคนผู้นั้นพบสิ่งที่เขาอยากทำจริงๆ แล้วล่ะค่ะ ถึงตอนนั้นเขาก็ต้องหาข้อมูล ฝึกฝนร่างกาย และจัดหาอุปกรณ์ที่เหมาะสม ขอบคุณเป้าหมายนี้เองที่ทำให้เขารู้จักวางแผน กำหนดขั้นตอน และเดินหน้าต่อ

gary keller
การพิชิตยอดเขาเอเวอร์เรสต์ก็ถือเป็นเป้าหมายที่จะช่วยให้คุณรู้จักวางขั้นตอนอย่างเป็นระบบ

อย่าปล่อยให้ชีวิตการทำงานมาทำลายชีวิตส่วนตัว

ใครๆ ก็อยากมีชีวิตการงานและส่วนตัวที่สมดุล เราแบ่งเรื่องต่างๆ ในชีวิตออกเท่าๆ กันโดยไม่หยุดถามตัวเองเลยว่าทำไปทำไม แล้วสิ่งไหนกันแน่ที่เราต้องการจากการทำแบบนี้

เป็นเรื่องเข้าใจได้ว่าเราอยากมีชีวิตที่สมดุล เพราะไม่ว่าจะเป็นเรื่องงานหรือชีวิตส่วนตัวต่างก็สำคัญกับเราทั้งนั้นใช่มั้ยล่ะคะ

แต่ในความเป็นจริงแล้ว ชีวิตที่สมดุลนั้นแทบจะเรียกว่าเป็นไปไม่ได้และก็ไม่น่าพิสมัยเอาซะเลยค่ะ หากเราพยายามทำทุกอย่างพร้อมกันแล้ว ก็จะไม่มีอะไรออกมาดีสักอย่าง

นักประพันธ์นามว่า เจมส์ แพทเทอร์สัน สรุปเรื่องนี้ไว้ง่ายๆ ว่า

“ลองสมมติว่าชีวิตคือเกมเกมหนึ่งที่คุณต้องโยนและรับลูกบอล 5 ลูกในเวลาเดียวกันสลับไปมา แต่ละลูกคือ หน้าที่การงาน ครอบครัว เพื่อน สุขภาพ และจริยธรรม คุณโยนพวกมันไปๆ มาๆ ในอากาศอย่างนี้ตลอดแต่อยู่มาวันหนึ่งคุณก็ตระหนักได้ว่า ลูกบอลที่เป็นงานนั้นทำจากยางและสามารถกระดอนกลับได้หากตกพื้น ส่วนอีก 4 ลูกที่เหลือทำจากแก้วที่แตกได้”

จากคำพูดนี้เองที่บอกเราได้ว่า เราไม่สามารถสละชีวิตส่วนตัวเพื่อหน้าที่การงานได้ หากเราล้มเหลวในชีวิตส่วนตัวแล้ว เราจะประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานได้ยังไงกันล่ะ?

the one thing พัฒนาตัวเอง
ชีวิตการทำงานยืดหยุ่นได้ ไม่จำเป็นต้องทำให้มันอยู่ในอากาศตลอดเวลา

 

จงจัดตารางในการทำงานของตัวเองให้เหมาะสม การเพิกเฉยบางสิ่งในชีวิตส่วนตัวอาจเป็นเรื่องคอขาดบาดตายได้ แต่ถ้าเป็นเรื่องในที่ทำงาน เราสามารถต่อรองได้เสมอค่ะ!

บางครั้ง สิ่งที่ไม่ได้อยู่ด้านบนสุดของลำดับความสำคัญของเรา ก็อาจต้องถูกลดหน้าที่ลงไปอีก หรือยืดเวลาออกไป หรือโยกไปให้คนอื่นทำบ้าง จนกว่าสิ่งที่เราทำอยู่ก่อนจะลุล่วง

 

รู้จักใช้กลยุทธ์ในการบริหารเวลาที่มีประสิทธิภาพ

สมมติว่าคุณผู้อ่านเจอสิ่งที่คุณผู้อ่านต้องการทำจริงๆ แล้ว คุณผู้อ่านก็อยากทำสิ่งนี้ให้สำเร็จเหลือเกิน คุณผู้อ่านวางแผนแต่ละขั้นตอนไว้เสร็จสรรพ และพร้อมที่จะทุ่มเทให้มันเต็มที่

แต่มันก็จะติดอยู่อย่างเดียวล่ะค่ะ…ชีวิตไม่มีปุ่มหยุด

the one thing พัฒนาตัวเอง
มีปุ่มแบบนี้อยู่ในชีวิตจริงซะเมื่อไหร่ล่ะ

 

ในขณะที่เราตั้งหน้าตั้งตาทำสิ่งที่เราคิดว่าใช่ โลกรอบตัวก็ยังคงหมุนไปเรื่อยๆ หลายๆ สิ่งหลายๆ อย่างและอีกหลายๆ คนจะยังคงเรียกร้องความสนใจจากเรา

ลองสมมตินะคะว่าคุณผู้อ่านได้เซ็นสัญญางานใหญ่ชิ้นหนึ่ง คุณผู้อ่านต้องเสียสละหลายสิ่งหลายอย่างเพื่อให้มันลุล่วงไปให้ได้

งานที่คุณผู้อ่านทำอยู่ทุกวันต้องคอยแจกจ่ายไปให้เพื่อนร่วมงานแทน ปัญหาต่างๆ ที่ไม่เกี่ยวกับสัญญาชิ้นนั้นก็จะพอกพูน คุณผู้อ่านเองก็จะรู้สึกกดดันที่ไม่ได้เข้าไปดูแลพวกมันเลย

มาถึงตอนนี้คุณผู้อ่านควรเรียนรู้ที่จะเชื่อในสิ่งที่เลือกแล้วอย่างหมดใจ เมื่อคุณผู้อ่านทำสำเร็จ มันจะคุ้มค่ากับความเครียดและแรงกดดันที่สั่งสม หรือพูดสั้นๆ ก็คือ ปล่อยวาง

คุณจะใช้ประโยชน์สูงสุดจากเวลาของคุณได้ยังไง?

ทุ่มเทกับมันให้เต็มที่ไปเลยค่ะ ปกป้องมันสุดตัวให้เหมือนไข่ในหิน

คุณผู้อ่านยังต้องมั่นใจอีกด้วยนะคะว่าสิ่งแวดล้อมรอบตัวจะช่วยให้คุณผู้อ่านใช้ประโยชน์จากเวลาที่มีได้เต็มที่ ไม่ว่าจะทำงานที่ไหน คุณผู้อ่านต้องลดสิ่งรบกวนให้เหลือน้อยที่สุด ถ้าที่ออฟฟิศไม่ช่วย ก็ต้องลองหาที่อื่นดูซักที่ มันไม่ง่าย แต่ก็ไม่ยากอย่างที่คิดหรอกค่ะ

และเทคนิคเหล่านี้เองที่จะช่วยให้คุณผู้อ่านใช้เวลาอย่างคุ้มค่าไปกับที่สิ่งที่เห็นว่าสำคัญจริงๆ

 

สรุปส่งท้ายก่อนวางหนังสือ The One Thing

ความสำเร็จเกิดจากการตั้งหน้าทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งอย่างเดียว และเมื่อเรากำลังพุ่งเป้าไปที่สิ่งนั้น ก็อย่าลืมพึงระวังสิ่งที่อาจขัดขาเราก่อนไปถึงเป้าหมาย เรียนรู้ที่จะถางทางที่รกเรื้อ และพยายามในสิ่งที่เราคิดว่าใช่ให้ดีที่สุด

 

  • ยังมี สรุปใน YouTube ดีๆ ที่บอกเล่าเกี่ยวกับหนังสือ The One Thing เล่มนี้ไว้อีกด้วย
  • และหากคุณผู้อ่านเป็นคนที่ชอบพัฒนาตัวเองอย่างไม่หยุดยั้ง ก็สามารถค้นบทความคล้ายๆ กันได้ สรุปหนังสือ Manage Your day-to-day

1 thoughts on “สรุปหนังสือ The One Thing โฟกัสแค่ 1 แต่ได้ถึง 100

  1. Pingback: สรุปหนังสือ Getting Things Done คัมภีร์ไบเบิ้ลสำหรับคนอยากเพิ่ม Productivity

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราะห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก