คุณเคยสงสัยไหมว่านักลงทุนเก่งๆ เขามีหลักการซื้อหุ้นยังไงจึงรวยเป็น 1,000 ล้านได้? หนังสือ The Intelligent Investor เล่มนี้คือคำตอบ เพราะมันคือหนังสือลงทุนที่ว่ากันว่า “ดีท่ีสุด” และนักลงทุนทุกคนควรอ่าน (มีหนังสือ Principles อีกเล่มที่ดีมากๆ สำหรับนักลงทุนเช่นกัน)
หนังสือ The Intelligent Investor เล่มนี้คือหนังสือที่เศรษฐีหุ้นอันดับ 1 ของโลก วอร์เรน บัฟเฟต แนะนำ เพราะคนเขียนคือเบนจามิน เกรแฮม อาจารย์ของเขาที่ถ่ายทอดวิชาลงทุนจนเขามีวันนี้ได้ หลักการในหนังสือเล่มนี้ได้สร้างเศรษฐีหุ้นหน้าใหม่ทุกๆ วันทั่วโลก มันจึงกลายเป็นเหมือนคัมภีร์ไบเบิลของเหล่านักลงทุนแนว VI หรือลงทุนเน้นคุณค่า เคียงคู่กับ One Up on Wall Street
ทุกวันนี้ หลายคนสนใจลงทุนมากขึ้น เพราะคุณแค่บริหารเงินให้ถูกต้อง หรือ “วางเงินให้อยู่ถูกที่” แล้วรอให้มันงอกเงย แค่นี้ก็จะสร้างความมั่งคั่งมหาศาลให้คุณในระยะยาวครับ เหมือนที่เขาบอกว่า การลงทุนเป็นหนทางสู่อิสรภาพทางการเงิน
หลักการในหนังสือเล่มนี้จะทำให้คุณรวยหุ้นได้ แต่มันไม่เหมาะกับทุกคน ถ้าคุณได้อ่าน Richest Man in BaBylon (ชายที่รวยที่สุดในบาบิลอน) คุณคงตื่นเต้นแล้วว่าจะทำได้ยังไง แต่บางคนอาจยังไม่แน่ใจ … ก่อนอื่นผมขอให้คุณเข้าใจก่อนว่าเงินไม่ได้เสกจากอากาศ คุณสามารถร่ำรวยจากการลงทุนเหมือนในหนังสือพ่อรวยสอนลูก (Rich Dad Poor Dad) แต่มันก็มีข้อจำกัด ดังนี้
- การลงทุนต้องใช้เวลา คุณจะใช้เวลา 10+ ปีก่อนรวย ถ้าคุณใจร้อนอยากรวยเป็นพันล้านใน 5 ปี คุณอาจต้องหันมาวัดดวงกับสตาร์ทอัพแทนครับ
- คุณต้องเลือกซื้อหุ้นให้ถูกตัว ไม่งั้นก็เจ๊งได้เหมือนกัน ถ้าคุณกลัวความเสี่ยง วิธีของหนังสือ I Will Teach You To Be Rich จะช่วยให้คุณรวยได้อย่างมั่นคงกว่า และไม่ต้องปวดหัวกับการเลือกซื้อหุ้นด้วย
ถ้าคุณยอมรับ 2 ข้อนี้ได้ เรามาดูเทคนิคการลงทุนของเซียนหุ้นระดับโลกกันเลยครับ
หรือถ้าใครเพิ่งหัดลงทุน ยังไม่พร้อมลุยเต็มที่ คุณสามารถอ่านขั้นตอนง่ายๆ ที่ผมสรุปไว้ให้แล้วได้เลยครับ
ถ้าคุณอยากลงทุนหุ้น คุณควรศึกษากลยุทธ์ต่างๆ ให้ดี และคิดหากลยุทธ์ที่เหมาะกับตัวเอง
หรือถ้าคุณอยากหาหนังสือหุ้นมาอ่านเพิ่มเติม ผมได้ลิสต์หนังสือดีๆ ไว้ให้คุณอ่านเรียบร้อยแล้ว ซึ่งแน่นอนว่ามีหนังสือ The Intelligent Investor อยู่ด้วย
แก่นที่แท้จริงของการลงทุน

หุ้นคือ “สิทธิความเป็นเจ้าของบริษัท” การซื้อหุ้นก็เหมือนการซื้อความเป็นเจ้าของบริษัทสักแห่ง หลักการรวยหุ้นจึงมี 2 ทาง
- ซื้อหุ้นของบริษัทในราคาที่ถูก แล้วขายในราคาแพงหรือราคาปกติ
- ซื้อหุ้นของบริษัทที่ทำธุรกิจที่ดี เมื่อธุรกิจเติบโต ราคาหุ้นก็สูงขึ้นเอง
เวลาลงทุน คุณก็แค่ต้องเลือกซื้อหุ้นที่เป็นไปตามข้อ 1 หรือ 2 หรือทั้งสองข้อ ถ้าได้ทั้งสองข้อดีที่สุด แต่ข้อเดียวก็พอไหวแม้อาจเสี่ยงหน่อยครับ
“ซื้อหุ้นในราคาถูกมาขายราคาปกติ และซื้อหุ้นบริษัทที่จะเติบโตได้ดี” ทั้งหมดนี้คือแก่นที่แท้จริงของหนังสือ The Intelligent Investor ถ้าเข้าใจแล้วคุณก็สามารถหยุดอ่านตรงนี้ได้เลย เพราะต่อไปนี้คือรายละเอียดความมันส์ที่ซ่อนอยู่ในเล่มนี้เท่านั้น
นักลงทุน vs นักเก็งกำไร
นักเก็งกำไรคือคนใส่สูทสูบซิการ์ที่เราเห็นในหนัง ทำนองว่าซื้อหุ้นถูกตัวแล้วอีก 3 วันถัดมาก็รวยทันที หรือไม่ก็ซื้อหุ้นผิดตัวแล้วล้มละลายกันได้ในชั่วข้ามคืน ส่วนนักลงทุนจะเน้นช้าแต่ชัวร์ รวยแน่แค่ต้องใช้เวลา
- นักลงทุนคิดนานเป็นเดือนก่อนจะซื้อหุ้นสักตัว นักเก็งกำไรซื้อขายเร็ว บางคนซื้อขายทุกวัน
- นักลงทุนปิดความเสี่ยงให้น้อยที่สุด นักเก็งกำไรมีชีวิตอยู่กับความเสี่ยง
- นักลงทุนมองว่าอีก 10 ปีรวย นักเก็งกำไรมองว่าพรุ่งนี้รวย
- นักลงทุนมองหุ้นเป็นธุรกิจ นักเก็งกำไรมองมันเป็นการพนัน
ในตลาดหุ้น คุณจะเห็นหุ้นบางตัวที่ขึ้นหลายสิบเท่าในเวลาไม่กี่วัน แต่บางตัวก็กลายเป็น 0 ได้ในเวลาไม่กี่วันเช่นกัน นั่นทำให้ทุก 1 คนที่รวยขึ้นมาจากตลาดหุ้น จะมีอีก 10 คนที่ขาดทุนยับออกไป การลงทุนที่ได้ผลจึงไม่ใช่การกวาดกำไรให้มากที่สุดในเวลาที่สั้นที่สุด แต่เป็นการทำกำไรอย่างต่อเนื่องโดยป้องกันไม่ให้คุณเสียหายจากความผันผวนของตลาด
คนที่จะร่ำรวยได้อย่างยั่งยืนคือนักลงทุน เพราะนักลงทุนจะมีเงินเพิ่มขึ้นเสมอเมื่อเวลาผ่านไป คุณยิ่งลงทุนก็ยิ่งมีแต่ได้กับได้ แต่ในทางกลับกัน นักเก็งกำไรมีได้และมีเสีย และนอกจากพระเจ้าแล้วไม่มีใครสามารถเก็งกำไรได้ถูกต้องตลอดโดยไม่พลาดเลย
ต่อให้คุณกำไร 1,000 เท่าจากการเก็งกำไร 99 ครั้ง แต่ถ้าการเก็งกำไร 1 ครั้งสุดท้ายทำให้คุณเสียเงินที่ได้มาทั้งหมด มันจะมีค่าอะไร? มันก็ไม่ต่างจากการพนันที่เจ้ามือล่อให้คุณได้เยอะในช่วงแรก แล้วสุดท้ายคุณก็หมดตัว
- นักเก็งกำไรอาจได้ยินข่าวลือว่าแอปเปิลจะออกสินค้าใหม่ที่จะ “ดังเปรี้ยงปร้าง” เขาจึงซื้อหุ้นแอปเปิลล่วงหน้า ถ้าเขาโชคดี หุ้นก็ขึ้น เขาก็กำไรไป แต่ถ้าแอปเปิลไม่ได้ออกสินค้าใหม่จริง หรือออกแล้วไม่ดัง เขาก็ขาดทุนอย่างรวดเร็ว
- ในทางกลับกัน นักลงทุนจะนิ่งแล้วคอยคิดวิเคราะห์ว่าหุ้นแอปเปิลมี “คุณค่าที่แท้จริง” เท่าไร ถ้าราคาหุ้นถูกกว่าคุณค่าที่แท้จริงมากๆ เขาค่อยซื้อ แต่ถ้าหุ้นแพงเกินไปเขาก็จะไม่สนใจหุ้นนั้น นั่นทำให้เขาซื้อแต่หุ้นที่ราคาถูก จึงมีโอกาสขาดทุนน้อยมาก มีแต่กำไรอย่างเดียว
คุณไม่จำเป็นต้องซื้อนาฬิการาคาแพงถ้ามันใส่ได้ไม่กี่วัน ถ้านาฬิกานั้นคุณภาพต่ำ คุณเอาเงินไปซื้อของถูกที่ใส่ได้นานไม่ดีกว่าเหรอ? นี่คือวิธีคิดของนักลงทุน
ถ้าคุณเป็นนักลงทุน ชีวิตจะน่าเบื่อจนชวนหาว เพราะวันๆ คุณจะแทบไม่ได้ทำอะไร คุณจะใช้เวลามากกว่า 90% ในการวิเคราะห์หุ้น และนานๆ ทีถึงตัดสินใจซื้อขายหุ้น แต่นั่นไม่ใช่ประเด็น สิ่งสำคัญคือกำไรต่างหาก
บางคนเป็นนักลงทุนจนเบื่อ จึงใช้เวลาว่างมาทำธุรกิจ ทำรายได้ถึง 100 ล้านบาทโดยใช้เวลา 4 ชั่วโมงต่อสัปดาห์เท่านั้น (ฟังดูเหมือนขายตรงเลยใช่ไหมครับ! แต่หนังสือ 4-Hour Workweek นั้นโด่งดังมาก ที่ขายดีมากทั่วโลกจะสอนให้คุณทำได้)
ราคาหุ้นในอดีตมันช่างไร้ประโยชน์
หลายคนคิดว่า…
หุ้นตัวไหนขึ้นมันก็ต้องขึ้นไปเรื่อยๆ จริงเหรอ? ผิด
หุ้นตัวไหนลงเสร็จแล้วเดี๋ยวสุดท้ายมันก็ขึ้น จริงเหรอ? ผิด
อ้าว! แล้วที่ถูกเป็นไง?
…
ที่ถูกก็คือ ราคาหุ้นในอดีตจะเป็นยังไงก็ไม่เกี่ยวกับอนาคต
คุณซื้อหุ้นเพราะอยากให้มันราคาขึ้น “หลัง” จากที่คุณซื้อ ไม่ใช่เคยขึ้นมา “ก่อน” ที่คุณจะซื้อ นั่นแสดงว่าถึงหุ้นตัวนั้นจะเคยขึ้นมาสูงมากในอดีต ก็ไม่ได้แปลว่าซื้อแล้วจะขึ้นต่อ คุณควรซื้อก็ต่อเมื่อคุณทำนายได้ว่าในอนาคตมันจะขึ้นต่างหาก
การทำนายราคาหุ้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับ “ราคาในอดีตและปัจจุบัน” แต่ขึ้นอยู่กับ “ตัวธุรกิจในอดีตและปัจจุบัน” ดังนั้นคุณไม่ควรสนใจราคาหุ้นในอดีต ให้สนใจตัวธุรกิจดีกว่า
ในระยะสั้นตลาดหุ้นคือเครื่องนับคะแนน
แต่ในระยะยาวมันคือเครื่องชั่ง
อย่าสนใจราคาหุ้นในระยะสั้น ให้สนใจมูลค่าระยะยาวแทน
ราคาหุ้นขึ้นลงทุกวัน ราคาหุ้นจะพุ่งสูงเป็นพิเศษถ้ามีข่าวลือหรือมีใครปั่นหุ้น แต่ราคาหุ้นตัวนั้นจะต่ำเกินจริงถ้านักลงทุนขาดความเชื่อมั่น ไม่มีใครรู้จริงว่าในระยะสั้นราคาหุ้นจะผันผวนแค่ไหน เพราะราคาขึ้นอยู่กับ “ความเชื่อมั่น” ของนักลงทุน
แต่ถ้าคุณฟังข่าวบ่อยๆ คุณจะพบว่าไอ้ “ความเชื่อมั่น” ของนักลงทุนมันเปลี่ยนบ่อยมาก เดี๋ยวก็เชื่อ เดี๋ยวก็ไม่เชื่อ เอาแน่เอานอนไม่ได้ นั่นเพราะมันไม่ได้อยู่บนพื้นฐานความเป็นจริง ราคาในระยะสั้นจึงเป็นเครื่องมือนับคะแนนว่ามีนักลงทุนกี่คนที่เชื่อมั่นในหุ้นตัวนี้
แต่ถ้าธุรกิจของบริษัทนั้นดีจริง สุดท้ายราคาหุ้นก็จะสูงขึ้นมาตามพื้นฐานทางธุรกิจเอง ราคาหุ้นในระยะยาวจึงเป็นเหมือนเครื่องชั่งที่วัดมูลค่าของตัวธุรกิจได้อย่างแม่นยำ
ดังนั้น คุณจึงไม่ควรพยายามเดาราคาในระยะสั้น (เดาไม่ได้ ขึ้นกับข่าวลือและการปั่นหุ้น) แต่คุณสามารถประเมินราคาหุ้นในระยะยาวได้โดยดูจากพื้นฐานทางธุรกิจของหุ้นตัวนั้น (เดาได้ โดยขึ้นกับตัวธุรกิจ)
พบกับหนุ่มเจ้าอารมณ์ที่ชื่อว่า “คุณตลาด”

ขอให้คุณมองนักลงทุนทุกคนในตลาดหุ้นเป็นคนคนหนึ่งที่ชื่อว่า “คุณตลาด” หรือ Mr. Market
- คุณตลาดเป็นคนเจ้าอารมณ์และไม่ฉลาด วันไหนอารมณ์ดีคุณตลาดก็จะรับซื้อ/ขายหุ้นในราคาแพง แต่วันไหนคุณตลาดอารมณ์เสียเขาก็จะรับซื้อ/ขายหุ้นในราคาถูก อารมณ์ของคุณตลาดเปลี่ยนไปทุกวันอย่างไร้เหตุผล
- คุณตลาดตกใจง่าย ถ้ามีข่าวลือด้านลบเกี่ยวกับหุ้น คุณตลาดจะเสนอขายหุ้นตัวนั้นในราคาถูกทันทีโดยไม่สนใจพื้นฐานทางธุรกิจ และถ้าเศรษฐกิจเกิดฟองสบู่ที่ร้อนแรง คุณตลาดจะรับซื้อหุ้นกลับมาในราคาสูงมากโดยไม่สนใจตัวธุรกิจเช่นกัน
- บางวันคุณตลาดจะโลกสวย เขาจะเชื่อว่าบางธุรกิจกำลังจะมีกำไรมหาศาลทั้งที่มันไม่จริง หรือบางวันคุณตลาดจะเห็นบริษัทมีกำไรในช่วงสั้นๆ แล้วคิดว่ากำไรนี้จะมีต่อไปทุกปี ซึ่งเป็นไปไม่ได้
สิ่งที่คุณต้องทำคือจัดการ “เอาเปรียบ” คุณตลาดซะ วันไหนคุณตลาดขายหุ้นถูกๆ คุณก็ควรซื้อเก็บไว้ พอวันไหนคุณตลาดรับซื้อหุ้นแพง คุณก็แค่เอาไปขาย ทำไปเรื่อยๆ ก็คือหนทางร่ำรวยจากการลงทุน
อย่าซื้อขายหุ้นตามคุณตลาด เพราะมันเต็มไปด้วยอารมณ์
ถ้าคุณถือหุ้นอยู่แล้วราคามันตก คุณขายเลยหรือถือไว้เหมือนเดิม?
ถ้ามีหุ้นอีกตัวกำลังขึ้น คุณควรขายตัวเก่าไปซื้อตัวใหม่หรือเปล่า?
วิธีลงทุนแบบนี้คือการซื้อขายตามตลาด นักลงทุนส่วนใหญ่ทำแบบนี้เพราะพวกเขากลัวขาดทุนหรือกลัวว่าถ้าไม่ทำตามคนอื่นจะเสียโอกาสกำไร แต่นักลงทุนที่ชาญฉลาดจะไม่ซื้อขายตามตลาด เพราะมันเป็นหนทางสู่หายนะ อย่าลืมว่านักลงทุนส่วนใหญ่ขาดทุน ถ้าคุณไม่อยากขาดทุนเหมือนคนอื่นก็ไม่ควรซื้อขายตามตลาดอย่างไร้สติ
การเชื่อ “คุณตลาด” หรือคนส่วนใหญ่นั้นอันตรายมาก ถ้าราคาหุ้นพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว มันก็มีโอกาสจะแพงเกินมูลค่าที่แท้จริงไปแล้ว ทำให้การลงทุนนั้นมีความเสี่ยงสูง หุ้นที่ราคาสูงขึ้นเรื่อยๆ ก็เหมือนฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ที่ทุกคนเก็งกำไรสูงขึ้นไปเรื่อยๆ โดยไม่สนใจพื้นฐานความต้องการใช้งานจริง และพอคนหยุดซื้อ ทั้งตลาดก็พังลงมา
นักลงทุนที่ชาญฉลาดจึงซื้อหุ้นในราคาถูกตอนที่ตลาดซบเซา จากนั้นค่อยขายในตลาดที่ร้อนแรง ตามตำราว่า “ซื้อถูกขายแพง” นั่นเอง
เทคนิคเบื้องต้นในการประเมินมูลค่าหุ้น
วิธีกำไรจากตลาดหุ้นก็คือซื้อหุ้นตอนที่ถูก แล้วขายตอนที่แพงหรือราคาปกติ
แต่คุณจะรู้ได้ยังไงว่าหุ้นตัวไหน “ถูก” หรือ “แพง”?
ข้าวไข่เจียวจานละ 100 นับว่าแพง แต่ถ้าสเต็กหรูจานละ 100 ก็นับว่าถูก ความถูกหรือแพงจึงไม่ได้ขึ้นอยู่กับราคาอย่างเดียว มันขึ้นอยู่กับคุณภาพด้วย
หุ้นสักตัวจะถูกหรือแพงนั้น จึงอยู่ที่ราคาเทียบกับพื้นฐานทางธุรกิจ
- แพง: ราคาหุ้น > มูลค่าธุรกิจ
- ถูก: ราคาหุ้น < มูลค่าธุรกิจ
มูลค่าของธุรกิจมาจาก 2 อย่าง คือกำไรและทรัพย์สินสุทธิ
อัตราส่วน “ราคาหุ้น/กำไรต่อหุ้น” เรียกว่าค่า PE ซึ่งในหนังสือ The Intelligent Investor เสนอว่าไม่ควรเกิน 8.5
ทรัพย์สินทุนธิมาจากทรัพย์สินที่เอาไปขายได้ (ที่ดิน ตึก อาคาร สิ่งของต่างๆ) ลบด้วยหนี้สิน ถ้าทรัพย์สินสุทธิต่อหุ้นสูงกว่าราคาหุ้น ก็เรียกว่าดี
หนังสือ The Intelligent Investor เป็นหนังสือยุคแรกสุดที่สอนการลงทุนโดยดูจากพื้นฐานทางธุรกิจ ในปัจจุบันมีเทคนิคประเมินค่าหุ้นด้วยวิธีอื่นๆ เกิดขึ้นอีกมาก เช่น ถ้าหุ้นตัวไหนเติบโตเร็วมากๆ ค่า PE อาจสูงกว่า 8.5 ก็ได้ครับ
พยายามซื้อให้ถูกไว้ก่อน เผื่อพลาด
การประเมินมูลค่าหุ้นนั้นขึ้นอยู่กับสายตาคนมอง บางครั้งคุณอาจประเมินค่าหุ้นสูงกว่าที่ควร หรือบางครั้งคุณก็ประเมินค่าต่ำกว่าที่ควร ความผิดพลาดเกิดขึ้นตลอด คุณจึงควรปิดความเสี่ยงตรงนี้ด้วยการ “ซื้อให้ต่ำกว่ามูลค่าที่ประเมินได้ เผื่อพลาด” (Margin of Safety)
ถ้าคุณคุณซื้อหุ้นในราคาเท่าที่ประเมิน คุณอาจซวยถ้าคุณประเมินราคาหุ้นสูงไป แต่ถ้าคุณซื้อถูกกว่าที่ประเมิน ต่อให้คุณประเมินสูงหน่อยไปก็ยังไม่เป็นไร เพราะคุณเผื่อพลาดไว้แล้ว เหมือนวิศวกรที่สร้างตึกให้แข็งแรงกว่าที่จำเป็นหลายเท่า ต่อให้น้ำหนักเกินตึกก็ยังไม่พังลงมา
นอกจากนี้ ถ้าคุณซื้อหุ้นในราคาถูกมากๆ ไว้ก่อนแล้ว ถึงแม้ความจริงคุณประเมินไม่พลาดก็ยิ่งดี เพราะเวลาได้กำไรคุณจะยิ่งได้กำไรมากขึ้นอีกด้วย!
ใจเย็นๆ ถ้าหุ้นตก

ถ้าเราย้อนไปดูประวัติศาสตร์ตั้งแต่มีตลาดหุ้นเกิดขึ้นบนโลก ตลาดหุ้นจะผันผวนทุกวัน และบางครั้งที่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจ ตลาดหุ้นจะถล่มลงมาย่อยยับทั้งกระดาน … โดยหุ้นที่เราถืออยู่ก็จะราคาตกลงด้วย
แต่ทุกครั้งที่ตลาดหุ้นถล่ม ผ่านไปสัก 1-2 ปีมันก็จะสูงกลับมาที่เดิม คุณจึงไม่ต้องกลัววิกฤติเศรษฐกิจหรือการที่หุ้นตกทั้งตลาด เพราะเดี๋ยวมันก็กลับมา จงทำใจให้สบาย
- ถ้าคุณซื้อหุ้นในราคาที่ต่ำกว่ามูลค่า ในระยะยาวราคาหุ้นจะสูงกลับมาเท่ามูลค่าของมัน คุณแค่ต้องใจเย็นแล้วเก็บหุ้นตัวนั้นไว้จนราคามันสูงขึ้น และคุณจะกำไรในที่สุด
- แต่ถ้าคุณซื้อหุ้นราคาแพงเกินมูลค่า เวลาหุ้นลงแล้วมันจะลงไปเลย ไม่กลับมาอีก เพราะหุ้นตัวนั้นที่จริงมีมูลค่าต่ำ ราคาจึงต่ำอยู่อย่างนั้นสมกับมูลค่าหุ้น
สิ่งสำคัญคือ คุณควรหมั่นเช็คให้แน่ใจว่าซื้อในราคาถูกกว่ามูลค่าจริงๆ (ถ้าซื้อพลาดละแย่เลย!) ตราบใดที่คุณซื้อถูกกว่ามูลค่า เดี๋ยวราคาก็กลับขึ้นมาเอง แต่ถ้าคุณพบว่าคุณคิดผิดไปแล้ว ก็ควรรีบขายก่อนจะแย่ไปกว่านี้
วิธีลงทุนสำหรับคนที่ไม่อยากรู้อะไรเลย
เมื่อคุณเริ่มลงทุน คุณต้องรู้ก่อนว่าตัวเองเป็นนักลงทุนแบบไหน เพื่อที่จะวางกลยุทธ์การลงทุนได้ถูกต้อง
หนังสือ The Intelligent Investor แบ่งนักลงทุนเป็น 2 ประเภท
- นักลงทุนเชิงรับ มีความรู้น้อย ไม่ค่อยมีเวลาลงทุน
- นักลงทุนเชิงรุก มีความรู้มาก ทุ่มเทเวลาเพื่อลงทุนให้กำไรมากขึ้น
หลายคนอาจไม่ค่อยมีเวลาศึกษาหุ้นหรือบริษัทต่างๆ คุณจึงเป็นนักลงทุนเชิงรับ แต่ข่าวดีคือ คุณเองก็ลงทุนได้กำไรได้ และจะลงทุนสบายกว่าเพื่อนเลยด้วย (อ่านรายละเอียดได้จากหนังสือ I Will Teach You To Be Rich)
เนื่องจากคุณไม่ค่อยมีเวลาดู คุณจึงมีโอกาสเลือกหุ้นพลาดได้ง่าย ทางแก้คือให้คุณลงทุนผ่านกองทุนรวม ซื้อหุ้นบริษัทใหญ่ที่มีฐานะการเงินมั่นคง และลงทุนในตราสารหนี้ของรัฐบาลและบริษัทใหญ่ เพื่อป้องกันไม่ให้ลงทุนผิดพลาด
หุ้นเป็นการลงทุนที่เสี่ยงแต่มีผลตอบแทนสูง ส่วนตราสารหนี้เป็นการลงทุนสำหรับคนที่เน้นความปลอดภัยแต่จะได้ผลตอบแทนที่น้อยกว่าหุ้น
ถ้าคุณทุ่มเทเวลาให้การลงทุน คุณจะมีโอกาสกำไรมหาศาล
ถ้าคุณเป็นนักลงทุนเชิงรับที่ลงทุนในบริษัทใหญ่หรือกองทุนรวม คุณจะได้กำไรจากการลงทุนแถวๆ ค่าเฉลี่ย ซึ่งก็สูงพอสมควร แต่ถ้าคุณอยากรวยเร็วกว่านั้น คุณก็ต้องลงมือศึกษาอย่างจริงจังแล้วล่ะครับ
- นักลงทุนเชิงรุกคือคนที่เลือกซื้อหุ้นที่ดีที่สุด ในจังหวะเวลาที่หุ้นตัวนั้นราคาต่ำที่สุด สิ่งเหล่านี้ต้องใช้เวลา แต่ความทุ่มเทนี้จะทำให้คุณได้กำไรสูงขึ้นในการลงทุน และถ้าคุณชำนาญเมื่อไหร่ มันย่อมคุ้มค่า
- นักลงทุนเชิงรุกจะศึกษาธุรกิจของหุ้นที่สนใจอย่างละเอียด คัดเลือกหุ้นที่ทำธุรกิจที่ดี และประเมินมูลค่าหุ้นออกมาให้แม่นยำ จากนั้นจึงรอจังหวะที่ “คุณตลาด” ขายหุ้นในราคาต่ำกว่ามูลค่าเพื่อซื้อหุ้นตัวนั้น
- ความยากของนักลงทุนเชิงรุกคือการตัดสินใจว่า “หุ้นแบบไหนที่เรียกว่าดี” และ “ราคาไหนถึงไม่แพงเกินไป” ซึ่งใช้ประสบการณ์และการหาข้อมูลเกี่ยวกับธุรกิจเหล่านั้น เมื่อคุณทำได้ คุณก็จะกำไรจากตลาดหุ้นมากเป็นพิเศษ
- หุ้นที่ทั้งดีและถูกย่อมหายาก ส่วนใหญ่มันมักเกิดกับบริษัทที่ตลาดไม่สนใจ หรือบริษัทกำลังขาดทุนชั่วคราว เช่น สมมติบริษัท B เป็นบริษัทใหญ่อันดับ 2 ในธุรกิจผลิตตู้เย็น บริษัท B มีกำไรต่อเนื่องมา 7 ปี ซึ่งกำไรนั้นพอใช้ได้แต่ไม่ถึงกับยอดเยี่ยม
อย่างไรก็ตาม เกิดข้อผิดพลาดทำให้ตู้เย็นรุ่นใหม่มีปัญหา จนบริษัท B ขาดทุนติดต่อกันมาแล้ว 6 เดือน นั่นทำให้หุ้นราคาตกหนักเพราะนักลงทุนบางคนกลัวจนขายหุ้นบริษัทนี้ทิ้งไป นักลงทุนที่ชาญฉลาดจะมองนี่เป็นโอกาสในการซื้อหุ้น เพราะเมื่อปัญหาถูกแก้ไข เดี๋ยวบริษัท B ก็จะกลับมากำไรเหมือนเดิม ราคาหุ้นก็จะสูงกลับขึ้นมาเอง
กระจายความเสี่ยง ปลอดภัยไว้ก่อน

ไม่มีใครที่ลงทุนไม่ผิดพลาดเลย คุณจึงควรกระจายการลงทุนไปไว้ในหุ้นหลายๆ ตัว ตรงกับสุภาษิต “อย่าเอาไข่ทั้งหมดใส่ตะกร้าใบเดียว” คุณเองก็ไม่ควรเอาเงินทั้งหมดใส่ในหุ้นตัวเดียว
นึกภาพว่าคุณทุ่มเงินทั้งหมดซื้อ “สุดยอดหุ้น” ที่มีโอกาสเติบโตสูงมาก แล้ววันต่อมาบริษัทนี้ก็ขึ้นข่าวหน้าหนึ่งว่าบริษัทมีคดีโกงภาษี คุณจะทำยังไงต่อ? คุณขายไม่ทันหรอกครับ ราคาหุ้นจะตกทันทีที่ข่าวออกมา และคุณจะขาดทุนยับทันที
เมื่อคุณกระจายความเสี่ยงโดยการถือหุ้นหลายตัวในเวลาเดียวกัน คุณก็จะไม่สูญเงินลงทุนทั้งหมดในคราวเดียว
มือใหม่เริ่มต้นลงทุนวันนี้
ถ้าคุณเพิ่งหัดเริ่มต้นลงทุน หรือกำลังสนใจอยากเริ่ม คุณสามารถอ่านขั้นตอนง่ายๆ ที่ผมสรุปไว้ให้แล้วได้เลยครับ
นอกจากนี้ ถ้าคุณอยากลงทุนหุ้น คุณควรศึกษากลยุทธ์ต่างๆ ให้ดี ลองดูหุ้น 6 ชนิดของปีเตอร์ ลินช์ ว่าคุณชอบหุ้นแนวไหน จากนั้นก็คิดหากลยุทธ์ที่เหมาะกับตัวเอง
หรือถ้าคุณอยากหาหนังสือหุ้นมาอ่านเพิ่มเติม ผมได้ลิสต์หนังสือดีๆ 10 เล่ม ไว้ให้คุณอ่านเรียบร้อยแล้ว
หนังสือที่น่าสนใจไม่แพ้ The Intelligent Investor
หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือเล่มหนาที่อ่านยาก ถ้าคุณไม่เก่งภาษาอังกฤษเป็นพิเศษคุณจะปวดหัวกับมันมาก หลายคนอ่านไม่จบ แต่ถ้าคุณเข้าใจมันอย่างถ่องแท้ หนังสือเล่มนี้จะช่วยให้คุณเป็นนักลงทุนที่เก่งกาจสมชื่อ “หนังสือลงทุนที่ดีที่สุด”
นอกจากนี้ บิงโกคิดว่ายังมีหนังสืออื่นที่คุณอาจชอบยิ่งกว่าเล่มนี้ก็ได้
- เรย์ ดาลิโอ ผู้จัดการกองทุนเฮดจ์ฟันด์ระดับโลก ได้ปล่อยหนังสือชื่อดังอีกเล่มมาที่ชื่อ Principles ซึ่งขายดีติดตลาดในเวลาไม่กี่วันที่วางแผง นักลงทุนทุกคนจะได้เรียนรู้ชีวิตจริงๆ ของชายที่ลงทุนมาทั้งชีวิตจนมีทรัพย์สินกว่า 6 แสนล้านบาท (18.4 พันล้านดอลลาร์)
- หนังสือ Think Like Zuck และ Becoming Facebook จะมาบอกแนวคิดของมาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก ผู้ก่อตั้งและ CEO ของเฟซบุ๊ก ที่เริ่มจากไอเดียเล็กๆ ของเด็กมหาวิทยาลัยจนเป็นบริษัทระดับโลก
- ใครเป็นนักลงทุนรายแรกๆ ของ Facebook? ปีเตอร์ ธีล. ใครเป็นนักลงทุนรายแรกๆ ของ Google? ปีเตอร์ ธีล. ใครเป็นนักลงทุนรายแรกๆ ของ Tesla? ปีเตอร์ธีล… ลงทุนไปลงทุนมา ปีเตอร์ ธีล จึงมีทรัพย์สินถึง 80,000 ล้านบาทในปัจจุบัน และเขาได้นำแนวคิดเกี่ยวกับการวิเคราะห์ธุรกิจ บริษัท และเทรนด์โลก มาเขียนเป็นหนังสือ Zero to One ที่จะเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับธุรกิจของคุณไปตลอดกาล
- ที่สำคัญ ถ้าคุณอยากรู้ว่าบริษัทเทคโนโลยีใหญ่ๆ ในโลกเติบโตระดับ 100 เท่ากันภายใน 5 ปีได้อย่างไร คุณสามารถอุดหนุนหนังสือ ขโมยวิธีคิดสุดเจ๋ง จากสุดยอดโรงเรียนสอนสตาร์ทอัพ ของบิงโกได้เลย ข้างในเป็นเนื้อหาของโรงเรียนสอนธุรกิจที่โด่งดังที่สุดในโลก ซึ่งสร้างบริษัทใหญ่ๆ อย่าง Airbnb และ Dropbox ตั้งแต่เจ้าของยังอดมื้อกินมื้อ จนเป็นมหาเศรษฐียักษ์ใหญ่ของโลก
- ถ้าคุณอยากเรียนรู้วิธีคิด วิธีทำงาน และการใช้ชีวิตของคนจากสองชนชาติอย่าง ญี่ปุ่นและเยอรมนี ในหนังสือเล่มเดียว บิงโกขอแนะนำหนังสือ Productivity คิดแบบเยอรมัน ลงมือทำแบบญี่ปุ่น
- คนธรรมดาที่ไม่รู้เรื่องธุรกิจจะเริ่มต้นยังไง? พบกับหนังสือ เปลี่ยนคนธรรมดาให้มีหัวธุรกิจใน 3 ชั่วโมง ที่เขียนโดยนักธุรกิจชาวญี่ปุ่นค่าตัวหลักล้าน ซึ่งจะสอนแนวคิดธุรกิจที่ครอบคลุมที่สุด ตั้งแต่ระดับเริ่มต้นยัน “expert” เหมาะกับทุกคนที่สนใจธุรกิจ ทั้งที่เพิ่งเริ่มต้น และคนที่อยากเติมความรู้ธุรกิจให้เต็ม!
Pingback: สรุปหนังสือ Rich Dad Poor Dad พ่อรวยสอนลูก | 10 คำสอนของ คนรวย
Pingback: สรุปหนังสือ Principles บทเรียนชีวิตของเจ้าพ่อเฮดจ์ฟันด์
Pingback: สรุปหนังสือ The Richest Man In Babylon อย่าให้ชีวิตคุณจบด้วยประโยค “รู้งี้...”
Pingback: สรุปหนังสือ Emotional Intelligence: รู้แค่นี้ก็ประสบความสำเร็จกว่าคน IQ 180
Pingback: 9 โมเดลธุรกิจที่มาแรงที่สุดในขณะนี้ - สำนักพิมพ์บิงโก
Pingback: หนังสือ 10 เล่มที่คุณควรอ่านก่อนลงทุนหุ้น - สำนักพิมพ์บิงโก
Pingback: สรุปหนังสือ I will teach you to be rich หนังสือที่จะทำให้โค้ชการเงินตกงาน
Pingback: สรุป 20 ข้อคิดจากหนังสือ One Up on Wall Street เหนือกว่าวอลสตรีท