แต่ไหนแต่ไรมา เรามักถูกผู้ใหญ่บอกให้ตั้งใจเรียน จะได้งานดีๆ ทำ ซึ่งทุกวันนี้ก็ยังพูดกันไม่หยุดปาก แต่นั่นยังใช้ได้กับโลกยุคปัจจุบันหรือเปล่า?
ช่วงนี้ เราเห็นพาดหัวข่าวนักศึกษาจบใหม่เดินเตะฝุ่นกันเต็มถนน บริษัทเลย์ออฟพนักงานออกจำนวน มากบ่อยขึ้นเรื่อยๆ มันเกิดอะไรขึ้น!?
คงถึงเวลาที่จะทบทวนคำสอนของผู้ใหญ่กันใหม่แล้วล่ะ
ทุกระบบล้วนมีข้อจำกัดและอาจถูกแซงหน้าได้เสมอ
ก่อนอื่น คุณต้องมีหลักการวิเคราะห์ที่ดีก่อน เมื่อคุณมองโครงสร้างของระบบหรือกลไกที่ซับซ้อน คุณจะเห็นว่ามีตัวแปรสำคัญหลายตัว แต่ถ้าจะวิเคราะห์เพื่อตัดสินใจบางอย่าง ให้เลือกดูแค่ตัวแปรตัวหนึ่งเท่านั้น โดยตัวแปรตัวนั้นต้องเป็นข้อจำกัดของระบบ
ทฤษฏีข้อจำกัด
อีไล โกลด์แรท ผู้ประกอบการด้านซอฟต์แวร์ เป็นผู้ค้นพบทฤษฎีแห่งข้อจำกัดนี้ในช่วงปี 1980 ทฤษฎีนี้บอกว่า ทุกระบบย่อมมีข้อจำกัด และการมุ่งพัฒนาในจุดไหนก็ตามที่ไม่ใช่ข้อจำกัดนั้นถือเป็นความล้มเหลว แอดมีตัวอย่างอธิบายทฤษฎีข้อจำกัดนี้เพื่อความเข้าใจที่ง่ายขึ้น ดังนี้
สมมติว่า รถยนต์คันหนึ่งต้องใช้ส่วนประกอบจากไลน์ผลิต 3 ไลน์ โดยสองในสามไลน์นั้นผลิตส่วนประกอบได้ 100 ชิ้นต่อชั่วโมง ส่วนไลน์ที่สามผลิตได้แค่ 50 ชิ้น แสดงว่า ไม่ว่าบริษัทจะเร่งมือผลิตแค่ไหนก็มีข้อจำกัดอยู่ที่ 50 คันต่อชั่วโมงอยู่ดี เพราะไลน์ที่สามผลิตได้แค่นั้น บริษัทนี้จึงต้องพุ่งเป้าไปที่การพัฒนาไลน์ผลิตที่สาม จึงจะปลดล็อกข้อจำกัดได้
ย้อนอดีตไปหาข้อจำกัดของระบบ
เราจะเอาแนวคิดเรื่องข้อจำกัดมาใช้กับระบบเศรษฐกิจและการทำงานอย่างไร?
ตลอด 700 ปีที่ผ่านมา โลกได้พัฒนาก้าวกระโดดอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ที่โลกก้าวหน้าขนาดนี้ได้เป้นเพราะเราค้นพบข้อจำกัดที่ชี้ขาดความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจตรง 3 ช่วงเวลาในประวัติศาสตร์และได้จัดการกับมันอย่างเหมาะสมนั่นเอง เพื่อให้เข้าใจว่าข้อจำกัดทำงานยังไงในระบบเศรษฐกิจและส่งผลตต่ออาชีพของคุณขนาดไหน ลองมาดูสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วง 700 ปีที่ผ่านมา
ปี 1300 สิ่งที่ทำให้คนมั่งคั่งร่ำรวยคือทรัพยากรธรรมชาติ คนที่มั่งมีที่สุดในยุคนั้นคือคนที่มีที่ดินมากที่สุด เพราะฉะนั้นที่ดินจึงเป็นข้อจำกัดที่ชี้ขาดว่าคุณจะรวยในยุคนั้นหรือไม่ ใครที่ยึดครองข้อจำกัดนี้ได้ก็จะมีอำนาจและความมั่งคั่งเพิ่มขึ้นทันที
300 ปีต่อมา หลายประเทศเริ่มปฏิวัติอุตสาหกรรม ข้อจำกัดจึงเปลี่ยนจากที่ดินมาเป็นเงินทุน นายธนาคารเริ่มเข้ามามีบทบาทมากขึ้น นายธนาคารบางคนมีอิทธิพลมากกว่ากษัตริย์เสียอีก ใครมีเงินทุนในยุคนี้ก็เหมือนได้ครองอำนาจ หลักฐานที่เห็นได้ชัดคือเรื่องราวของคิงฟรีดริช วิลเฮล์มที่ 3 แห่งปรัสเซีย กษัตริย์ต้องการเงินไปทำสงครามเลยขอกู้เงินจากธนาคาร แต่นายธนาคารบอกว่าจะให้กู้ก็ต่อเมื่อ ยอมเปลี่ยนระบอบการปกครอง กษัตริย์จึงจำใจทำตามนายธนาคาร
พอเข้าสู่ปี 1900 โลกเราก็ได้เปลี่ยนผ่านจากยุคอุตสาหกรรมมาสู่ยุคแห่งความรู้ ธนาคารผลิตเงินทุนได้มากขึ้นก็จริง แต่ความรู้ที่เรามียังไม่พอที่จะผลักดันให้เศรษฐกิจเติบโต บริษัทจำก้ดที่เป็นผู้ครอบ ครองความรู้มหาศาลอย่าง IBM เข้ามามีอิทธิพลต่อชีวิตผู้คนมากขึ้น ฉะนั้นข้อจำกัดของยุคนี้คือ ความรู้
แต่พอถึงปี 2000 เทคโนโลยีการสื่อสารและมาตรฐานการศึกษาที่ก้าวหน้าทำให้ผู้คนเข้าถึงความรู้ได้ง่ายกว่าเมื่อก่อน แถมยังมีนวัตกรรมที่สามารถทำงานง่ายๆ แทนคนด้วย ฉะนั้นเราจึงต้องการคนที่จะมาทำงานแบบใช้ความรู้ซับซ้อนมากขึ้น
ใบปริญญาเริ่มไร้ความหมาย
งานประจำกำลังกลายเป็นเรื่องยากขึ้นเรื่อยๆ แล้วคุณผู้อ่านเคยรู้มั้ยคะว่า เป็นเพราะเหล่าคนอายุ 50 ปีนั่นแหละ ที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์นี้ขึ้น
หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เศรษฐกิจแห่งความรู้เริ่มเดินมาถึงทางตัน ระบบใหม่กำลังคืบคลานเข้ามา คนที่เกิดในอเมริกา 20 ปีหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ถูกเรียกว่า Baby boomers (หรือก็คือรุ่นพ่อรุ่นแม่เรา)
Baby boomers มีความสุขกับความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจและมีโอกาสในการหางานมากมาย ข้อมูลจากสำมะโนสหรัฐฯ ระบุว่า ตำแหน่งงานว่างเพิ่มเร็วขึ้นมากกว่าอัตราการเกิดของประชากรถึง 1.7 เท่าในระหว่างปี 1948-2000 การเติบโตขนาดนี้หมายถึงการเข้าเรียนวิทยาลัยให้จบและหาใบปริญญากับประกาศนียบัตรต่างๆ มาการันตีความสามารถก็เพียงพอที่จะหางานทำได้แล้ว คนรุ่นหลังๆ ก็ทำตามเพราะเชื่อว่าเศรษฐกิจลักษณะนี้จะคงอยู่ตลอดไป
แต่พวกเขาคิดผิด (…หรือก็คือพวกเราหลายคนนั่นแหละค่ะ)
แล้วเศรษฐกิจใหม่ก็เข้ามาแทนที่จนได้ ที่จริงตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมา จำนวนประชากรก็เพิ่มมากกว่าตำแหน่งงานถึง 2.4 เท่า เท่ากับว่าคนเรียนจบก็อาจตกงานได้
ในอเมริกา นักศึกษาจบใหม่กว่าครึ่งถ้าไม่ตกงาน ก็ได้งานที่ไม่ตรงกับสาขาที่เรียนจบมา
เศรษฐกิจของเราขยายตัวขึ้นได้ด้วยความคิดสร้างสรรค์
เรื่องที่แอดคิดว่าน่าสนใจตอนนี้คือ งานที่เป็นที่ต้องการมากขึ้นตั้งแต่ทศวรรษ 1980 เป็นต้นมา คืองานที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ ไม่ใช่งานรูทีนที่ทำเรื่องเดิมๆ ทุกวัน
ความคิดสร้างสรรค์คือข้อจำกัดตัวใหม่ และผู้ที่เข้ามามีบทบาทก็คือเหล่าผู้ประกอบการที่ไล่ตามไอเดียสร้างสรรค์สำหรับใช้สร้างสินค้าและบริการใหม่ๆ
Airbnb เองก็เป็นบริการเกิดใหม่จากความคิดสร้างสรรค์เช่นกัน
ผู้ก่อตั้ง Airbnb ได้เริ่มไอเดียนี้โดยโพสต์ให้เช่าอพาร์ทเมนต์ลงบนเว็บไซต์ Craigslist ซึ่งเป็นอีกวิธีหนึ่งในการโปรโมตธุรกิจของตัวเอง
งานที่อาศัยความรู้ก็จ้างเอาท์ซอร์สเอาก็ได้
งานประจำในอเมริกาเริ่มหายากมากขึ้นเรื่อยๆ และหนึ่งในเหตุผลนั้นก็คือ เอาท์ซอร์ส (Outsource)
เทคโนโลยีการสื่อสารในยุคปัจจุบันและการเพิ่มขึ้นของ Global Education ได้ปลดปล่อยเราจากออฟฟิศสี่เหลี่ยมแคบๆ และนักศึกษาจบใหม่ก็เป็นที่ต้องการน้อยลง
ที่จริงจำนวนของนักศึกษาที่เรียนจบแล้วทั่วโลกเพิ่มขึ้นจาก 90 ล้านคนในปี 2000 เป็น 130 ล้านคนในปี 2010
มันหมายถึงอะไร?
เมื่อรวมเทคโนโลยีวิดีโอคอลอย่าง Skype เข้ามา ย่อมหมายถึงเราจะทำงานจากที่ไหนในโลกก็ได้ ซึ่งก็แปลว่าบริษัทต่างๆ สามารถจ้างงานแรงงานราคาถูกจากต่างประเทศได้ไม่ยาก
ยกตัวอย่าง เว็บดีไซเนอร์จากฟิลิปปินส์ที่พูดอังกฤษได้ ก็จะได้ค่าจ้าง 700-1,400 ดอลลาร์ต่อปี
ซึ่งต่างจากเว็บดีไซน์เนอร์ในอเมริกาที่เรียกค่าแรงสูงถึง 82,000 ดอลลาร์ต่อปี
จักรกลก็กำลังมาแทนที่แรงงานมนุษย์ในหลายๆ อุตสาหกรรม โดยเฉพาะแรงงานในไลน์ผลิต แต่ที่หนักหนากว่านั้นคือ เครื่องมือจักรกลก็เริ่มเข้ามาแทนที่งานที่ต้องใช้ความรู้ด้วย
ยกตัวอย่าง Eventbrite ที่เป็นบริษัทขายตั๋วออนไลน์ พวกเขาใช้ซอฟต์แวร์ดำเนินงานทั้งหมด
แล้วเราจะทำอะไรได้บ้าง?
เทคโนโลยีสมัยใหม่ช่วยให้การทำธุรกิจง่ายขึ้น ผู้ประกอบการก็หาจ้างแรงงานถูกๆ เพื่อมาช่วยบริษัทเล็กๆ ของตัวเองได้ สตาร์ทอัพที่ดำเนินงานรูปแบบนี้มักถูกเรียกว่า micro-multinationals
ยกตัวอย่าง เจสซี่ ลอว์เลอร์ ก่อตั้ง Evil Genius Technologies บริษัทซอฟต์แวร์ที่ตั้งอยู่ในเวียดนาม เขาได้จ้างแรงงานจากอังกฤษ อินเดีย ฟิลิปปินส์ และอื่นๆ อีกหลายประเทศ เจสซี่มีฝ่ายขายและฝ่ายบริการลูกค้าอยู่ในอเมริกา แต่โปรแกรมเมอร์อยู่ในเวียดนาม ทำให้เขาลดค่าใช้จ่ายไปได้มากโข เพราะเอาจริงๆ ถ้าจะจ้างแรงงานในอเมริกา แค่นักพัฒนา 2 คนก็ไม่ไหวแล้ว
เป็นผู้ประกอบการในตอนนี้ มีกำไรกว่าทำงานประจำเห็นๆ
เราถูกสอนให้เชื่อฝังหัวว่าการหางานประจำทำจะทำให้เราสบาย แต่นั่นเป็นคำสอนที่ถูกหรือเปล่า?
งานประจำในยุคนี้หมายถึงการปล่อยให้ตัวเองตกอยู่กับความเสี่ยงที่ตัวเราไม่สามารถควบคุมได้ ในเศรษฐกิจยุคปัจจุบัน เราอาจจะตกงานเมื่อไหร่ก็ได้ แล้วจะฟื้นตัวก็คงยาก
สลิปเงินที่ออกทุกเดือน ทำให้เราหลงเชื่อว่าตัวเราปลอดภัยจากยุคผู้ประกอบการแล้ว ทั้งๆ ที่เราอาจจะถูกแทนที่ด้วยแรงงานราคาถูกจากอินเดียเมื่อไหร่ก็ได้
เป็นความจริงที่โหดร้าย แต่หากเรายังคงก้มหัวทำตามคำสั่งหัวหน้าต่อไปเรื่อยๆ เราก็คงไม่มีทักษะอะไรที่จะช่วยให้ตัวเองค้นหาทางเลือกในอนาคตที่ไม่แน่นอน เหมือนไก่งวงที่ถูกป้อนอาหารทุกวัน จนถึงวันโดนส่งเอาไปเชือด! บรึ๋ย~!
ผู้ประกอบการจะไม่ประสบกับปัญหานี้ เพราะพวกเขากำลังรับมือกับความเสี่ยงที่ควบคุมได้ พวกเขาอาจจะไม่ได้สร้างกำไรทันตาเห็น แต่พวกเขามีทักษะและสร้างระบบเองได้ ถ้าอะไรไม่ได้ดั่งใจก็เปลี่ยนได้ตลอด และความเป็นไปได้ในการเติบโตก็ไม่มีที่สิ้นสุด
เทคโนโลยีสมัยใหม่ทำให้การลงทุนง่ายขึ้นและปลอดภัยกว่าแต่ก่อน
หลายคนชอบคิดว่าการเริ่มทำธุรกิจของตัวเองมีไว้เพื่ออัจฉริยะเงินหนาเท่านั้น แต่ขอบคุณเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่ช่วยให้คนอย่างเราๆ ทำอะไรก็ได้อย่างใจหวัง ตั้งแต่ออกแบบเฟอร์นิเจอร์ไปยันตีพิมพ์หนังสือนิยาย
สตีฟ จอบส์ ยังเคยพูดเลยว่า
ไม่ต้องฉลาดเหนือคนคุณก็เป็นผู้ประกอบการได้
The Internet
สิ่งหนึ่งที่เปลี่ยนวงการภาคธุรกิจไปก็คือ อินเทอร์เน็ต (ใช่ซิ) ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น
อินเทอร์เน็ตได้ลดต้นทุนการผลิตลงเป็นอย่างมาก
เครื่องมือที่จำเป็นต้องใช้ในการผลิตมีราคาถูกลงและหาซื้อได้ง่ายกว่าแต่ก่อนมาก อย่างซอฟต์แวร์ Adobe Creative Cloud ที่ขายค่าสมัครสมาชิก ในขณะที่แต่ก่อนเราต้องลงทุนซื้อเครื่องมือแพงๆ และเซ็นสัญญากับบริษัทซอฟต์แวร์ในระยะยาว และแทนที่จะต้องจ่ายเงินเป็นร้อยๆ ดอลลาร์เพื่อซื้อซอฟต์แวร์ทำบัญชีตัวนึง ตอนนี้เราเลือกที่จะจ่ายแค่ 9 ดอลลาร์ต่อเดือนได้ อย่างบริการจากบริษัท Xero เป็นต้น
อินเทอร์เน็ตยังลดต้นทุนการจัดจำหน่ายลงด้วย
เราจะเลือกใช้โรงงานฝ่ายผลิตในประเทศที่มีค่าแรงราคาถูก หรือเลือกจัดจำหน่ายให้ถึงมือลูกค้าด้วยตัวเองก็ยังได้
ยกตัวอย่าง Taylor Pearson ผู้เขียนหนังสือ The End of Jobs เล่มนี้เคยทำงานบริษัทผลิตและจัดจำหน่ายบาร์เครื่องดื่มที่พับเก็บได้ บริษัทเขาเลือกใช้โรงงานผลิตที่จีนและจัดจำหน่ายด้วยตัวเอง ทำให้ลดต้นทุนลงได้ถึง 25%
อินเทอร์เน็ตยังสร้างตลาดใหม่ๆ อยู่เสมอ
เพราะฐานที่ตั้งไม่สำคัญอีกต่อไป
ยกตัวอย่าง เมื่อก่อนเรามักใช้บริษัทที่ปรึกษาทางกฏหมายใกล้บ้าน แต่ตอนนี้เราสามารถเลือกใช้เว็บไซต์ UpCounsel เพื่อหานักกฏหมายที่ต้องการได้เองเลยง่ายๆ จากที่ไหนก็ได้ทั่วโลก!
สรุปส่งท้าย The End of Jobs
งานประจำไม่ใช่หลักประกันทางการเงินในยุคสมัยใหม่อีกต่อไป สังคมเรากำลังเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคของผู้ประกอบการ และจังหวะเวลานี้แหละ ที่เราควรตักตวงเอาจากเทคโนโลยี นำมันไปสร้างงานที่เรารักจริงๆ งานที่จะให้ผลตอบแทนและอิสระที่มากกว่างานประจำเข้า 9 โมงเช้า เลิก 5 โมงเย็นเป็นไหนๆ
บทความน่าสนใจที่เกี่ยวข้อง
- ถ้าใบปริญญาช่วยเราหางานไม่ได้แล้ว เราจะไปทำมาหากินอะไรดีล่ะ? หนังสือ A Whole New Mind จะบอกคุณว่า “สมองซีกขวา” คือปัจจัยที่สำคัญที่สุดในยุคสมัยแห่งการแข่งขันนี้ อย่างไร? ตามไปอ่านรายละเอียดกันได้ตามลิงก์ที่ให้ไว้เลย
The End of Jobs ฉบับภาษาไทย
คุณผู้อ่านท่านใดที่สนใจทำความรู้จักกับผู้เขียน Taylor Pearson และหนังสือเล่มนี้ให้มากขึ้น ก็คลิกที่นี่เพื่อไปฟังพอดแคสท์ชิลๆ กับเทย์เลอร์ตัวจริงเสียงจริงกันได้ คุณผู้อ่านจะได้คำตอบที่อยากถามจากการอ่านหนังสือเล่มนี้ และได้แง่คิดใหม่ๆ เพิ่มเติมนอกเหนือจากหนังสือเล่มนี้อีกด้วย
หนังสือแนะนำเพิ่มเติม
The End of Jobs ได้ถูกแปลและเรียบเรียงเป็นภาษาไทยแล้ว โดยสำนักพิมพ์บิงโกของเรานี่เอง
ในชื่อ ถ้าบอกกันก่อนเรียนจบ คงไม่ตกขบวนเศรษฐี
หนังสือเล่มนี้ติดอันดับ #1 Amazon Business Best Seller อย่างยาวนวน ด้วยสำนวนที่อ่านง่าย มีข้อปฏิบัติที่นำไปใช้ได้จริง เป็นที่นิยมในเหล่าผู้ประกอบการ ผู้ที่มองหาแรงบันดาลใจในการสร้างธุรกิจ และคนทั่วไปที่อยากตามโลกสมัยใหม่ให้ทัน
คุณผู้อ่านเองก็ไม่อยากตกขบวนเศรษฐีใช่มั้ยล่ะคะ 🙂
Pingback: สรุปหนังสือ Emotional Intelligence: รู้แค่นี้ก็ประสบความสำเร็จกว่าคน IQ 180
Pingback: สรุปหนังสือ Grinding It Out: ความลับของอาณาจักรแมคโดนัลด์ จากปากผู้ก่อตั้ง
Pingback: สรุปหนังสือ Everything Store: Amazon ร้านขายของออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก
Pingback: สรุปหนังสือ A Whole New Mind: ทักษะด้านไหน "ชนะ" ในโลกอนาคต
Pingback: สรุปหนังสือ Tribes เป็นหัวหน้าเผ่าในโลกสมัยใหม่ - สำนักพิมพ์บิงโก
Pingback: AI คืออะไร ทำไมมันจะเปลี่ยนโลกยิ่งกว่าอินเทอร์เน็ตและไฟฟ้า