กฎ 10 ข้อของ Sam Walton เจ้าของวอลมาร์ท ซูเปอร์มาร์เก็ตอันดับ 1 ของโลก

10RulesOfSamWalton

สรุปหนังสือ The 10 Rules of Sam Walton

หลักทำธุรกิจของ Sam Walton ผู้ก่อตั้ง Walmart เครือซูเปอร์มาร์เก็ตที่ใหญ่ที่สุดในโลก

ก่อนหน้านี้เราพูดถึงบริษัทเทคโนโลยีไปเยอะมาก ทั้ง Facebook, Google, Apple และ Amazon คราวนี้เราลองมาดูธุรกิจคลาสสิคอย่างซูเปอร์มาร์เก็ตกันบ้างครับ (ถ้าคุณสนใจ สามารถดูบทความเกี่ยวกับ McDonald’s และ Nike ได้ครับ)

ถ้าพูดถึงร้านค้าปลีกชื่อดังจากอเมริกา หลายคนคงนึกถึง “ราชาอีคอมเมิร์ซ” อย่าง Amazon ที่รวมสินค้าทั่วทุกมุมโลกมาอยู่บนเว็บไซต์เดียว … ก็ไม่ผิดนักถ้าเรามองที่การขายของออนไลน์ แต่ถ้าเป็นร้านค้าภาคพื้นดิน คนที่ครองแชมป์กลับเป็น “วอลมาร์ท” ซูเปอร์มาร์เก็ตที่ใหญ่ที่สุดในอเมริกาและในโลก (บิงโกได้สรุปประวัติของวอลมาร์ทละฉบับอ่านสนุกไว้แล้วใน Sam Walton: Made in America)

  • ยอดขายต่อปีของวอลมาร์ทสูงกว่า Amazon 2 เท่า และสูงกว่า Alibaba 14 เท่า
  • สินค้าอุปโภคบริโภคของคนอเมริกันเกินครึ่ง ซื้อจากวอลมาร์ท
  • วอลมาร์ทมีพนักงานประจำทั่วโลก 2.2 ล้านคน คิดเป็น 7 เท่าของประชากรประเทศไอซ์แลนด์ แต่ถ้าคิดเฉพาะพนักงานในอเมริกา จะได้ 1.4 ล้านคน เท่ากับประชากรจังหวัดชลบุรี
  • เมื่อเอาลานจอดรถของวอลมาร์ททุกสาขามารวมกัน จะมีขนาดใหญ่เท่าเกาะภูเก็ตเลย
  • ลูกหลานวอลมาร์ทมีทรัพย์สินรวมกัน 150 พันล้านดอลลาร์ (4.8 ล้านล้านบาท) ถ้ารวมเป็นคนเดียวจะกลายเป็นคนที่รวยที่สุดในโลก

แต่ที่น่าทึ่งก็คือ เครือซูเปอร์มาร์เก็ตวอลมาร์ทนั้นสร้างขึ้นในชั่วอายุคนเดียวเท่านั้น โดยคุณ “แซม วอลตัน” หรือ “ปู่แซม” ชายที่ทุ่มเททั้งชีวิตให้กับการสร้างเครือซูเปอร์มาร์เก็ตด้วยสโลแกน “ของดี ลดราคาสุดๆ ทุกวัน!” … หลักคิดต่างๆ ของเขาได้เปลี่ยนวิธีทำธุรกิจของร้านค้าทั่วโลกไปตลอดกาล

ถึงแม้ปัจจุบันปู่แซมจะเสียชีวิตไปแล้ว ในหนังสือ “The 10 Rules of Sam Walton” พนักงานคนสนิทของปู่แซมได้มาบอกเล่ากฎ 10 ข้อที่ทำให้แซม วอลตัน ประสบความสำเร็จในธุรกิจ และข้อคิดที่คุณนำมาปรับใช้กับชีวิตได้ … ดังนี้ครับ 

กฎข้อ 1 “ตั้งเป้าไปที่ความสำเร็จ แล้วทุ่มเทอยู่เสมอ”

Sam Walton กับร้านค้าวอลมาร์ท
ร้านวอลมาร์ทกับผู้คนเยอะสุดๆ

“ถ้าคุณอยากทำชีวิตให้ดีที่สุด จงใช้ชีวิตทุกวันทำสิ่งที่คุณรัก”

ปู่แซมตื่นตี 4 และเข้าออฟฟิศตอนตี 5 ทุกวัน เขาจึงเป็นตัวอย่างให้พนักงานทำตาม ผู้จัดการโกดังกับศูนย์กระจายสินค้าวอลมาร์ทจึงทำงานสัปดาห์ละ 75-90 ชั่วโมงตามปู่แซม

ปู่แซมเชื่อว่าผู้นำต้องเป็นตัวอย่างให้ลูกน้อง เขาจึงอยู่ออฟฟิศดึกเป็นคนสุดท้ายเสมอ … ไปๆ มาๆ เขาเลยไม่ค่อยมีเวลาให้ครอบครัว แต่เขามีภรรยาและลูกๆ ที่เข้าใจ ซึ่งสนับสนุนให้สร้างธุรกิจได้เต็มที่ กระทั่งในวาระสุดท้าย ปู่แซมก็ยังทำงานอยู่บนเตียงโรงพยาบาล และคิดหาไอเดียพัฒนาระบบของวอลมาร์ทอยู่ตลอด

บิงโกได้สรุปหนังสือ Crush It ของนักธุรกิจชื่อดังระดับโลกที่จะสอนคุณเปลี่ยนสิ่งที่คุณรักเป็นธุรกิจสร้างเงินล้านได้ง่ายๆ

กฎข้อ 2 “แบ่งปันความสำเร็จกับผู้อื่น”

ถ้าคุณเก็บความสำเร็จไว้กับตัวคนเดียว ก็จะไม่มีใครอยากทำงานกับคุณ เรื่องแปลกก็คือ คนที่แบ่งความสำเร็จให้ผู้อื่นกลับสำเร็จมากกว่า เหมือนผู้นำที่ยอมให้คนอื่นในหนังสือ Leaders Eat Last ซึ่งสุดท้ายกลับประสบความสำเร็จยิ่งกว่าผู้นำที่เห็นแก่ตัว

เจ้าของธุรกิจที่กอบโกยอย่างเดียวโดยให้เงินเดือนลูกน้องต่ำๆ ก็จะได้ผลงานในระดับเดียวกับเงินเดือน (ต่ำเหมือนกัน) แต่ถ้าคุณผูกความสำเร็จของบริษัทเข้ากับผลตอบแทน พนักงานจะตั้งใจทำเต็มที่ เพราะพวกเขารู้ว่าถ้าบริษัทไปได้ดี เขาก็ได้ด้วย

ตั้งแต่บริษัทเข้าตลาดหุ้นในปี 1970 ปู่แซมทั้งแจกหุ้น ริเริ่มโครงการแบ่งกำไร และส่งเสริมให้พนักงานซื้อหุ้นบริษัทเป็นของตัวเอง นโยบายเหล่านี้ทำให้พนักงานมองบริษัทเหมือนเป็นของตัวเอง พวกเขาจึงตั้งใจทำงานเต็มที่ ช่วยกันลดต้นทุน และยิ้มแย้มแจ่มใสกับลูกค้า ซึ่งสำคัญมากต่อธุรกิจซูเปอร์มาร์เก็ต

ปู่แซมเรียกโครงการแบ่งกำไรให้พนักงานว่า “หนึ่งในความสำเร็จที่ใหญ่ที่สุดของวอลมาร์ท” ในขณะที่โครงการนี้ทำให้พนักงานหลายคนกลายเป็นเศรษฐีเช่นกัน (บิงโกได้สรุปเส้นทางสร้างตัวจาก 0 สู่ล้านไว้ในหนังสือ ชายที่รวยที่สุดในบาบิลอน The Richest Man in Babylon และ พ่อรวยสอนลูก Rich Dad, Poor Dad)

หลังจากเห็นข้อดีของการแบ่งปันความสำเร็จ ภรรยาของปู่แซมก็บอกให้ทำเพิ่มอีก ปัจจุบันวอลมาร์ทจึงยึดมั่นในการแบ่งปันความสำเร็จกับพนักงาน

  • พนักงานวอลมาร์ททุกคนที่ทำงานเกิน 1,000 ชั่วโมงต่อปี (คิดเป็นสัปดาห์ละ 20 ชั่วโมง ถือว่าไม่มากเลย) สามารถลงทุนเงินเดือน 6% เพื่อแบ่งกำไรกับวอลมาร์ทได้
  • ถ้าสาขาไหนมีกำไรดี ผู้จัดการสาขา รวมทั้งพนักงาน full-time และ part-time จะได้รับ “โบนัสเจ้าของร้าน” ที่ตอบแทนความตั้งใจทำงาน
  • พนักงานที่ดีสุดคือคนที่ “คิดเหมือนเจ้าของ” ไม่ใช่คนที่ทำงานพอผ่านเพื่อรับเงินเดือน ปู่แซมจะจ้างคนที่มีทัศนคติที่ดีโดยไม่เน้นว่าต้องมีประสบการณ์สูงก็ได้ คนแบบนี้จะสามารถขยายธุรกิจได้เหมือนตัวเจ้าของบริหารเอง
  • ปู่แซมจะเอาบัญชีกำไรขาดทุนมาให้พนักงานทุกระดับดู เพื่อทุกคนจะได้เห็นว่าบริษัทกำไรตรงไหน ขาดทุนตรงไหน จะได้แก้ไขถูกจุด เช่น ถ้าร้านมีปัญหาคนขโมยของ เขาจะหยิบบัญชีมาให้ดูผลกระทบ ทุกคนจึงแก้ปัญหาร่วมกัน

กฎข้อ 3 “สร้างแรงบันดาลใจให้ตัวเองและผู้อื่น”

“คนที่ตั้งใจทำงานที่สุดคือเจ้าของธุรกิจขนาดเล็ก … เราต้องการให้พนักงานทุกสาขาของวอลมาร์ทเป็นเช่นนั้น”

สิ่งที่จูงใจคนได้ดีที่สุดไม่ใช่เงิน แต่เป็น “ความรู้สึกดีๆ” ที่มีให้กัน ปู่แซมเชื่อว่าถ้าคุณสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้อื่น พวกเขาจะทำงานสำเร็จได้ง่ายกว่าการออกคำสั่งหรือใช้เงินล่อ ปู่แซมแสดงออกเสมอว่าเขาเชื่อในตัวพนักงาน … เขายังสอนผู้บริหารทุกคนที่วอลมาร์ทให้เชื่อในลูกน้อง เพื่อดึงศึกยภาพสูงสุดของทุกคนออกมา (เรียนรู้วิธีชนะใจคนรอบข้างในสรุปหนังสือ How to Win Friends and Influence People)

  • ปู่แซมเป็น “โค้ช” สอนทักษะใหม่ๆ ให้คนรอบตัวเสมอ บางครั้งก็เป็นด้านที่เขาถนัด (ผู้จัดการร้านได้เรียนเรื่องการบริหารร้าน) บางครั้งก็เป็นเรื่องใหม่เอี่ยมสำหรับคนนั้น (ผู้บริหารฝ่ายการตลาดได้เรียนบัญชี) นั่นทำให้คนในวอลมาร์ทพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ
  • ปู่แซมคาดหวังสูง ยิ่งเขาเชื่อในตัวคนอื่น คนอื่นก็ยิ่งทำได้ดีเท่านั้น
  • คนที่อยู่กับปู่แซมไปนานๆ จะประสบความสำเร็จและเชื่อมั่นในตัวเองมากขึ้น เพราะเขาเห็นแล้วว่าตัวเอง “ทำได้จริง” เมื่อตั้งใจ

กฎข้อ 4 “คุยกับคนอื่นบ่อยๆ และแสดงความใส่ใจ”

Related image

การทำธุรกิจคือการบริหารคน และธุรกิจจะประสบความสำเร็จได้นั้นมี 2 อย่างที่สำคัญที่สุด

  1. ลูกค้าพอใจสินค้าและบริการ
  2. ต้นทุนต่ำ

ธุรกิจที่ดีต้องเริ่มจากรากฐานที่เล็กที่สุด ปู่แซมจึงพูดคุยกับร้านสาขาต่างๆ อยู่เสมอ เพื่อสื่อสารให้พนักงานทุกคนดูแลลูกค้าเป็นอย่างดี และช่วยกันดูแลร้านให้มีต้นทุนต่ำที่สุด

  • เราคงเจอบ่อยๆ ที่ไปซื้อของแล้วพนักงานหน้ามุ่ย ไม่ต้อนรับลูกค้า … ถ้าพนักงานไม่ได้รู้สึกว่า “จำเป็นต้องดูแลลูกค้า” มาตรฐานการบริการก็จะตกต่ำลงเรื่อยๆ จนลูกค้าหันไปซื้อสินค้าจากคู่แข่งที่บริการดีกว่า
  • หรือถ้าพนักงานปล่อยปละละเลย “ปัญหาเล็กๆ” ในร้านค้า ต้นทุนก็จะสูงขึ้นทีละน้อย รู้ตัวอีกทีร้านก็จะมีต้นทุนสูงมากเกินไป กำไรก็หดจนไม่เหลือ … เห็นได้จากหลายร้านที่ขายดีแต่กลับไม่มีกำไร เพราะไม่มีใครสนใจลดต้นทุน ทุกคนคิดว่า “ไม่ใช่ปัญหาของตัวเอง”

ตอนวอลมาร์ทยังเป็นร้านเล็กๆ ปู่แซมจะจัด “ประชุมประจำวัน” เพื่อเน้นย้ำปรัชญา “ลูกค้าคือพระเจ้า” และ “ต้นทุนต้องต่ำที่สุด” จนวิธีนี้คิดนี้ฝังลึกไปในผู้จัดการร้านและพนักงานทุกคน

เมื่อวอลมาร์ทขยายใหญ่จนมีซูเปอร์มาร์เก็ตมากกว่า 10,000 สาขาทั่วโลก (และเปิดใหม่อย่างน้อยวันละ 1 สาขา) ปู่แซมดูแลด้วยตัวเองไม่ได้หมด เขาจึงให้มีทั้งถ่ายทอดสด อีเมล และนิตยสารภายในให้ร้านวอลมาร์ททั่วโลกได้ชม ถ้าสาขาไหนมีปัญหา ปู่แซมจะถ่ายทอดสดไปร้านนั้นด้วยตัวเอง (รวมถึงร้านใกล้เคียงอื่นๆ) จากนั้นปัญหาก็สงบลงอย่างรวดเร็ว

กฎข้อ 5 “จงขอบคุณผู้อื่นที่ตั้งใจ จงยกย่องชมเชยเมื่อพวกเขาทำดี

“ผู้นำที่แท้จริงจะให้เครดิตลูกน้องเมื่อทำดี แต่รับความผิดพลาดไว้กับตัวเอง”

ปู่แซมมีสไตล์ทำการธุรกิจ “บริหารด้วยการเดินไปเดินมา” … แต่อย่าเข้าใจผิดครับ ปู่แซมไม่ได้เดินไปทั่วออฟฟิศแล้วบ่นใส่ลูกน้องให้หัวเสียเล่นๆ เหมือนหัวหน้าของเราส่วนใหญ่! การเดินไปเดินมาของปู่แซมคือการ “เข้าไปสัมผัสสถานการณ์ที่หน้าร้านจริงๆ” ต่างหาก (อ่านเกี่ยวกับความเป็นผู้นำได้ในสรุปหนังสือ Leaders Eat Last และ “หัวหน้าที่มีแต่ลูกน้องเกลียด” ได้ใน What Got You Here Won’t Get You There)

สมัยที่ปู่แซมเปิดวอลมาร์ทสาขาแรกสุด เขาจะเดินไปทั่วร้านเพื่อสังเกตสภาพต่างๆ ในร้าน ปู่แซมจะเข้าไปทักทายพนักงานแต่ละคน สอบถามสารทุกข์สุขดิบ (“ที่บ้านเป็นยังไงบ้างลูก”) การที่ปู่แซมเข้าไปแสดงความใส่ใจทำให้เขาเป็นที่รักของพนักงาน ทุกคนรู้ว่า “ถ้าทำดีจะมีคนชมเชย” จึงเป็นแรงผลักดันให้ทุกคนตั้งใจบริการลูกค้าเต็มที่ … นอกจากนี้ ปู่แซมยังมองเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นจริง และแก้ปัญหาได้ทันที

เมื่อวอลมาร์ทใหญ่ขึ้น และพนักงานรุ่นแรกๆ เติบโตเป็นผู้จัดการสาขาใหม่ๆ ทุกคนก็ซึมซับวิธีบริหารแบบเดียวกันจากปู่แซม ความใส่ใจจึงกลายเป็นวัฒนธรรมที่ติดตัวผู้บริหารและพนักงานทุกคน ทั้งหมดเริ่มมาจากปู่แซมที่ดูแลเอาใจใส่ตั้งแต่วันที่เปิดสาขาแรกนั่นเอง

กฎข้อ 6 “เฉลิมฉลองความสำเร็จของผู้อื่น

คนเราจะมีความสุขเมื่อได้รับการยอมรับจากคนรอบตัว คุณจึงควรเฉลิมฉลองความสำเร็จของผู้อื่น ไม่ว่ามันจะเป็นเรื่องเล็กน้อยแค่ไหนก็ตาม

นึกถึงตัวเราเองก็ได้ครับ ถ้าอยู่มาวันหนึ่งบริษัทก็จัดงานฉลองให้คุณ (ด้วยเหตุผลอะไรก็ได้) มีเค้ก มีอาหาร และทุกคนมายินดีกับเรา ถึงคุณจะไม่ชอบกินเค้กหรือไม่ชอบให้คนเยอะๆ มาล้อม แต่ก็คงอดคิดไม่ได้ว่า “ดีใจจังเลย!” ใช่ไหมครับ

ปู่แซมชอบจัดงานฉลองให้พนักงานวอลมาร์ทเนื่องในโอกาสต่างๆ หลายคนประทับใจและเก็บความทรงจำนี้ไปตลอดชีวิต

  • วอลมาร์ทมี “กิจกรรมสร้างทีม” เพื่อสานสัมพันธ์ภายในบริษัท ตั้งแต่ระดับพนักงานหน้าร้าน ไปจนถึงระดับผู้บริหาร
  • มีรางวัลให้คนที่ “ทำเกินหน้าที่เพื่อลูกค้า” หรือคนที่เสนอไอเดียบริหารจัดการสินค้าใหม่ๆ
  • บางครั้งปู่แซมจะเล่นละครตลก ละครน้ำเน่า หรือจัดเหตุการณ์พิเศษให้ประหลาดใจ ผู้คนจึงสนุกสนานหรือซึ้งไปกับบรรยากาศ
  • มีการจัดงานวันเกิดให้พนักงาน รวมทั้งการฉลองให้คนที่ทำงานดี เป็นที่รักของเพื่อนร่วมงาน และทำงานมานาน (แสดงถึงความผูกพันกับบริษัท)
  • ปู่แซมชอบจัดแข่งขัน ทั้งแข่งกันภายในสาขา และแข่งกันข้ามสาขา ผู้จัดการสาขาจะเขียนคะแนนโชว์บนกระดานทุกวันเพื่อให้เกิดบรรยากาศการแข่งขัน ครั้งหนึ่งปู่แซมเคยแข่งแพ้ จึงต้องใส่กระโปรงเต้นฮูล่าให้ทุกคนดู

กฎข้อ 7 “รับฟังความคิดเห็นและไอเดียจากผู้อื่น

ถ้าคุณเก่งอยู่คนเดียว อย่างมากคุณก็ทำงานได้เท่าคน 2-3 คน แต่ถ้าคุณนำไอเดียดีๆ ของคนอื่นมาใช้ คุณจะทำงานได้เท่าคน 1,000 คน

เราหลายคนคงเคยเจอหัวหน้าที่เชื่อว่าตัวเองถูกเสมอ จนไม่ฟังใครเลย เมื่อเป็นแบบนี้บ่อยๆ จึงไม่มีใครเสนอไอเดียให้เขาอีก … ในเวลาปกติเขาก็มองไม่เห็นโอกาสใหม่ๆ และในเวลาที่เขาตัดสินใจผิด ก็ไม่มีคนเตือน

ซูเปอร์มาร์เก็ตของวอลมาร์ทไม่ได้ใหญ่โตเพราะผู้บริหารเป็นอัจฉริยะรู้วิธีบริหารขึ้นมาเอง แต่มาจากการที่ผู้บริหารฟังความคิดเห็นของพนักงานต่างๆ อยู่เสมอ โดยเฉพาะคนที่ทำงานอยู่หน้าร้านและได้พูดคุยกับลูกค้า ซึ่งเข้าใจลูกค้าได้ดีที่สุด (กูเกิลก็มีวิธีคิดคล้ายกัน ลองดูวิธีทำธุรกิจสไตล์กูเกิลได้ใน How Google Works)

  • ปู่แซมจะเดินทางไปเยี่ยมวอลมาร์ททุกสาขา พูดคุยกับพนักงานและลูกค้า เพื่อเรียนรู้สถานการณ์ในหน้าร้าน สร้างแรงบันดาลใจ และสร้างความสัมพันธ์ของทีมในทุกสาขา
  • ธุรกิจเกิดจากความสัมพันธ์ของผู้คน … ผู้คนภายนอกคือลูกค้า ส่วนผู้คนภายในคือพนักงาน ผู้นำต้องยกคนอื่นมาก่อนตัวเอง เพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับพนักงาน
  • ปู่แซมวางระบบให้พนักงานมีความสุขที่สุด เขาจะเช็คอัตราการลาออก เปิดห้องทำงานให้ใครเข้ามาคุยด้วยก็ได้ และพูดคุยถามไถ่กับคนรอบข้างทุกวัน วอลมาร์ทยังสอนให้ผู้บริหารติดดิน อยู่ใกล้ชิดกับทีมงานคนอื่นๆ เสมอ (ธุรกิจที่ดีไม่ได้เกิดจากเจ้าของเป็นอัจฉริยะทำทุกอย่างเก่งหมด แต่เกิดจากระบบงานที่ดี Toyota Kata: วิถีโตโยต้า จะเปิดเผยการวางระบบทำงานแบบฉบับโตโยต้าที่ทำให้บริษัทยืนยงมาเกือบ 100 ปี)

กฎข้อ 8 “ทำเกินความคาดหวังของลูกค้า

จงทำให้ลูกค้าตะลึง

ปู่แซมเรียกลูกค้าว่า “เพื่อน” พนักงานว่า “ผู้ช่วย” และผู้บริหารว่า “โค้ช” ซึ่งบ่งบอกบทบาทหน้าที่ของทุกคนได้อย่างดี

  • พนักงานต้องบริการลูกค้าให้ดี ทั้งสวัสดีตอนเข้าร้าน ขอบคุณตอนออกจากร้าน และขอโทษถ้าทำผิดพลาด
  • ถ้าคุณซื้อสินค้าที่วอลมาร์ทแล้วไม่ถูกใจ คุณจะขอคืนเงินได้ทันทีโดยไม่ถาม เพราะลูกค้าถูกเสมอ
  • วอลมาร์ทมี “กฎ 10 ฟุต” ซึ่งให้พนักงานที่อยู่ใกล้ลูกค้าในระยะ 10 ฟุต (3 เมตร) เข้าไปพูด “สวัสดี” และเสนอตัวว่าจะช่วยเหลือ
  • วอลมาร์ทจะมีป้ายตัวใหญ่เขียนว่า “รับประกันความพึงพอใจ” ที่ไม่ได้มีไว้ประดับ ทุกคนในวอลมาร์ทมุ่งบริการลูกค้าให้พอใจเสมอ

บริการลูกค้าให้มากกว่าที่พวกเขาคาดหวังแค่เล็กน้อย แสดงออกถึงความใส่ใจ แล้วลูกค้าจะกลับมาหาคุณอีกครั้งแล้วครั้งเล่า

กฎข้อ 9 “ลดต้นทุน … ประหยัดจนรวยไม่รู้ตัว

คู่แข่งจะเอาอะไรไปสู้ ถ้าราคาสินค้าในวอลมาร์ทนั้นต่ำกว่าต้นทุนของคู่แข่ง?

นั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้นจากการที่วอลมาร์ทลดต้นทุนทุกอย่างตั้งแต่ออฟฟิศไปจนถึงสินค้าต่อหน่วย

ปู่แซมประหยัดจนเรียกได้ว่าขี้เหนียว และเขาก็ปลูกฝังแนวคิดนี้จนเป็นวัฒนธรรมของวอลมาร์ท (ต่อมา Amazon ได้เอาหลักปฏิบัตินี้มาทำตาม จนกลายเป็นบริษัทที่ยิ่งใหญ่อีกแห่ง)

  • ออฟฟิศของวอลมาร์ทไม่มีการตกแต่งสวยงามเหมือนบริษัทใหญ่อื่นๆ (ทั้งที่วอลมาร์ทเป็นบริษัทใหญ่อันดับต้นๆ ของโลก) สำนักงานใหญ่ของวอลมาร์ทเป็นโกดังเก่าที่ดัดแปลงมา ผู้บริหารบางคนใช้กล่องลูกฟูกสีน้ำตาลแทนเก้าอี้ เน้นประโยชน์ใช้สอยโดยไม่มีความสวยแม้แต่น้อย
  • ปู่แซมเคยนัดกินข้าวกับพนักงานในสาขาแห่งหนึ่ง เขาซื้อแครกเกอร์ถูกๆ จากวอลมาร์ทมากิน ส่วนพนักงานเอาข้าวมาจากบ้าน ทุกคนประหยัดหมด!
  • วอลมาร์ทผลิตสินค้าบางอย่างเองโดยไม่พึ่งแบรนด์ เพื่อลดต้นทุน (เช่นน้ำเปล่า หรือผงซักฟอก ซึ่งลูกค้าบางคนไม่สนใจแบรนด์เท่าไร)
  • โครงการ “แบ่งกำไรให้พนักงาน” จูงใจให้ทุกคนในวอลมาร์ทช่วยกันลดต้นทุนตั้งแต่พนักงานหน้าร้านไปจนถึงผู้บริหาร

ซูเปอร์มาร์เก็ตวอลมาร์ทจึงมีต้นทุนต่ำกว่าคู่แข่งแบบทิ้งกันไม่เห็นฝุ่น ข้อได้เปรียบนี้ทำให้เกิดผล 2 ข้อ

  1. ในเวลาปกติ วอลมาร์ทจะกำไรเยอะมากๆ และขยายธุรกิจได้เร็วกว่าปกติหลายเท่า
  2. ช่วงที่เศรษฐกิจตกต่ำ คู่แข่งหลายเจ้าพากันล้มละลาย แต่วอลมาร์ทยังยืนได้ จากนั้นเมื่อเศรษฐกิจฟื้นวอลมาร์ทจะแข็งแกร่งกว่าเดิม เพราะคู่แข่งหายไปหมด

กฎข้อ 10 “กล้าสวนกระแส

“ปู่แซมจะคิดปรับปรุงธุรกิจอยู่เสมอ เขาเรียนรู้ตลอดเวลา เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา และท้าทายหลักคิดดั้งเดิมตลอดเวลา”

ไม่มีคนที่ประสบความสำเร็จด้วยการคิดหรือทำเหมือนคนอื่นๆ … เหมือนที่คนแห่ไปปลูกยางเมื่อยางราคาสูง คนแห่ไปปลูกทุเรียนเมื่อทุเรียนราคาดี แล้วพอผลผลิตล้นตลาด ราคาก็ตก เดือดร้อนไปตามๆ กัน

ถ้าคนอื่นๆ มีวิธีทำธุรกิจแบบเดียวกันหมด โอกาสที่ยอดเยี่ยมมักอยู่อีกด้านเสมอ ปู่แซมมักตั้งคำถามว่า “ถ้าเราทำธุรกิจให้ต่างออกไป จะดีขึ้นหรือไม่?” เขาจึงสร้างธุรกิจที่ยิ่งใหญ่ขึ้นมาได้ … นี่เป็นสาเหตุที่ธุรกิจต้องปรับตัวเสมอ ลองดูได้จากสรุปหนังสือ Who Moved My Cheese ก็ได้ครับ

  • วอลมาร์ทไม่ได้เปลี่ยนธุรกิจตลอดเวลา (ไม่งั้นคงทำธุรกิจไม่ได้!) แต่ปู่แซมได้คิดค้นหลักการที่เปลี่ยนแปลงวงการค้าปลีกไปตลอดกาล นั่นคือหลัก “KISS” หรือ “Keep It Simple, Stupid” (ทำระบบให้เรียบง่าย) ที่ใช้เทคโนโลยีมาทำให้กระบวนการง่ายขึ้น และให้พนักงานสื่อสารกันได้ทุกระดับ
  • ร้านค้าสมัยก่อนมองว่าตัวเองเป็นแค่ตัวกลางจัดจำหน่าย ผู้ผลิตมีหน้าที่ผลิตสินค้าให้ดี ส่วนร้านมีหน้าที่ขายของให้ดี … ฟังดูสมเหตุสมผลใช่ไหมครับ? แต่ปู่แซมไม่สนใจหลักนี้ เขาลงไปคลุกกับผู้ผลิตและร่วมปรับปรุงสินค้าโดยตรง จนวอลมาร์ทได้สินค้าราคาถูกที่ลูกค้าชื่นชอบ ผู้ผลิตทุกรายจะเชื่อมระบบเข้ากับวอลมาร์ทเพื่อปรับแผนการผลิตได้เร็วในหลักวินาที

คุณจะโดนดูถูกอยู่บ่อยครั้งถ้าคุณทำสิ่งที่ต่างจากคนอื่น แต่คุณควรยึดมั่นในสิ่งที่เชื่อ ปู่แซมเคยถูกสบประมาทหลายครั้งว่า “เมืองเล็กๆ เปิดห้างใหญ่ไม่ได้หรอก” แต่ทุกวันนี้วอลมาร์ทกระจายอยู่แทบทุกเมืองในอเมริกาและอีกหลายประเทศทั่วโลก

Image result for walmart china

สรุป

แซม วอลตัน ผู้ก่อตั้งเครือซูเปอร์มาร์เก็ตวอลมาร์ท ได้ปลุกปั้นหนึ่งในบริษัทที่ใหญ่ที่สุดในโลก และเปลี่ยนวิธีทำธุรกิจค้าปลีกไปอย่างใหญ่หลวง เขาศึกษาคู่แข่งอย่างหนัก คิดค้นไอเดียใหม่ๆ อย่างหนัก จนเกิดเป็นหลักการเฉพาะตัวที่ทำให้เขาประสบความสำเร็จขึ้นมาได้

ในวาระสุดท้ายของชีวิต ปู่แซมได้สรุปหลักการของเขาเป็นกฎ 10 ข้อที่ทุกคนนำไปปรับใช้ได้ จุดสังเกตที่ชัดที่สุดคือ 7 ใน 10 ข้อนั้นเกี่ยวกับ “การทำเพื่อผู้อื่น” ไม่ว่าจะเป็นทำเพื่อลูกค้าหรือเพื่อพนักงาน แสดงถึงความเชื่อของเขาว่า “การทำเพื่อผู้อื่นคือกุญแจสำคัญที่สุดในการประสบความสำเร็จ” นั่นเอง

 

บทความเกี่ยวข้องที่น่าสนใจ

 

หนังสือที่อาจจะดีกว่า 10 Rules of Sam Walton เล่มนี้

นอกจาก 10 Rules of Sam Walton บิงโกมีหนังสือและบทความดีๆ อีกมากที่คุณอาจสนใจ ดังนี้

  • กฎ 10 ข้อของ Sam Walton นั้นเป็นแค่น้ำจิ้มที่สรุปแนวคิดของปู่แซมเอาไว้ แต่ถ้าคุณอยากอ่านประวัติเต็ม บิงโกมีสรุปฉบับเต็มของปู่แซม วอลตัน ไว้แล้ว เป็นคัมภีร์สมบูรณ์ที่รวมทุกรายละเอียดของการก่อตั้งวอลมาร์ทเอาไว้
  • ถ้าพูดถึงร้านค้าปลีก หลายคนต้องเคยได้ยินชื่อร้านค้าออนไลน์อย่าง Amazon ซึ่งว่ากันว่าเจฟ เบซอส CEO ของบริษัทนี้มีวิธีคิดที่โหดเหี้ยมและเฉียมแหลมมาก เจฟเริ่มสร้างธุรกิจตั้งแต่มันเป็นร้านเล็กๆ และขยี้คู่แข่งทุกรายที่ขวางทางจนใหญ่ที่สุดในโลกได้
  • หนังสือ Think Like Zuck และ Becoming Facebook จะมาบอกแนวคิดของมาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก ผู้ก่อตั้งและ CEO ของเฟซบุ๊ก ที่เริ่มจากไอเดียเล็กๆ ของเด็กมหาวิทยาลัยจนเป็นบริษัทระดับโลก
  • ใครอยากรวยต้องมาอ่าน Rich Dad, Poor Dad หรือ “พ่อรวยสอนลูก” หนังสือในตำนานที่จะสอนคุณให้ร่ำรวย มีชีวิตที่มีอิสรภาพ และมีความสุขได้ เขาจะสอนคุณตั้งแต่หลักคิดของ “คนรวย vs คนจน” ไปจนถึงการใช้เงินทำงานแทนคุณ ให้คุณรวยขึ้นเรื่อยๆ โดยไม่ต้องออกแรงทำงานอีกต่อไป
  • คนธรรมดาที่ไม่รู้เรื่องธุรกิจจะเริ่มต้นยังไง? พบกับหนังสือ “เปลี่ยนคนธรรมดาให้มีหัวธุรกิจใน 3 ชั่วโมง” ที่เขียนโดยนักธุรกิจชาวญี่ปุ่นค่าตัวหลักล้าน ซึ่งจะสอนแนวคิดธุรกิจที่ครอบคลุมที่สุด ตั้งแต่ระดับเริ่มต้นยัน “expert” เหมาะกับทุกคนที่สนใจธุรกิจ ทั้งที่เพิ่งเริ่มต้น และคนที่อยากเติมความรู้ธุรกิจให้เต็ม!
  • หนังสือ “เปลี่ยนคนธรรมดาให้มีหัวผู้นำใน 3 ชั่วโมง” เป็นหนังสือแปลจากญี่ปุ่นที่ศาสตราจารย์ด้านผู้นำจากมหาวิทยาลัยวาเซดะ ได้รวมหลักความเป็นผู้นำทุกอย่างไว้ … เหมาะกับทุกคน!! ไม่ว่าคุณจะเป็นผู้นำอยู่แล้ว หรือยังไม่เป็นแต่ฝันว่าสักวันจะต้องก้าวหน้าเป็นผู้นำให้ได้
  • ซากุราดะ จุน นักออกแบบ InfoGraphic มือหนึ่งของญี่ปุ่นจะมาสอนคุณมองสิ่งต่างๆ ด้วยแผนภาพ ซึ่งจะช่วยให้คุณเข้าใจเรื่องยากๆ ได้ใน 1 นาที พบกับหนังสือ “คิดเป็นภาพ” ที่เจาะลึกเทคนิคคิดเป็นภาพของเขาอย่างละเอียด พร้อมแบบฝึกหัดที่สอดแทรกเรื่องราวสนุกๆ และบทเรียนธุรกิจจากบริษัทชั้นนำ เพื่อขัดเกลาความคิดของคุณให้เฉียบคม

 

5 thoughts on “กฎ 10 ข้อของ Sam Walton เจ้าของวอลมาร์ท ซูเปอร์มาร์เก็ตอันดับ 1 ของโลก

  1. Pingback: สรุปหนังสือ Sam Walton: กำเนิด Walmart เครือซูเปอร์มาร์เก็ตที่ใหญ่ที่สุดในโลก

    • Tum Piyapong says:

      ขอบคุณครับ สำนักพิมพ์บิงโกตั้งใจนำหนังสือความรู้พัฒนาตัวเองและบริหารธุรกิจแนวใหม่ จากต่างประเทศส่งตรงถึงผู้อ่านครับ ^^

  2. Pingback: Walmart ใช้ Big Data จนขึ้นแท่นเป็นร้านค้าปลีกที่ใหญ่ที่สุดในโลกได้อย่างไร? - สำนักพิมพ์บิงโก

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราะห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก