“ออริจินัล” (Originals) เป็นคำที่เรามักใช้เรียกสิ่งที่เป็นต้นฉบับ ชิ้นงานที่ถูกเรียกว่าออริจินัลจะหมายถึงงานชิ้นเอกที่โลกยอมรับ ส่วนบุคคลที่ถูกเรียกว่าออริจินัลก็หมายความว่าเขาเป็นบุคคลที่พิเศษและแตกต่างไปจากคนอื่น
ผมเชื่อว่าใครๆ ต่างก็รู้จัก “โมซาร์ท” “ไอน์สไตน์” “ปิกาสโซ่” หรือ “ดาร์วินชี”
โมซาร์ทถูกยกย่องให้เป็น “อัจฉริยะนักดนตรี” จากผลงานเพลงที่น่าประทับใจของเขา
ปิกาสโซ่ถูกยกย่องให้เป็น “จิตรกรเอกของโลก” ด้วยผลงานภาพเขียนสมัยใหม่ที่ดูแปลกตาออกไป
แต่คุณรู้หรือไม่ครับว่า ปิกาสโซ่ต้องวาดภาพมากเท่าไหร่กว่าที่เราจะได้เห็น “Guernica” ภาพเขียนชื่อดังที่สะท้อนความโหดร้ายของสงครามออกมาได้อย่างโดนใจ
คำตอบคือมากกว่า 1,000 ภาพครับ
มาถึงตอนนี้คุณอาจจะคิดว่า “เป็นไปไม่ได้หรอกที่ฉันจะสร้างงานออริจินัลแบบปิกาสโซ่” วันนี้ผมจึงอยากแนะนำหนังสือสักเล่มที่จะเปลี่ยนเรื่องเหลือเชื่อนี้ให้เป็นไปได้ครับ
หนังสือเล่มนี้ชื่อว่า Originals เขียนโดยศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยา อดัม แกรนท์ (ผลงานน่าอ่านอีกเล่มเขาคือ Give and Take) ซึ่งติดอันดับขายดีตั้งแต่เริ่มวางขาย ผมรวบรวมเนื้อหาที่น่าสนใจทั้งหมดให้คุณแล้วในบทความนี้ ทีนี้เรามาดูกันดีกว่าครับว่า เคล็ดลับสร้างผลงานให้โลกจำมีอะไรบ้าง?
6 เคล็ดลับสร้างผลงานให้โลกจำจากหนังสือ Originals
- สะกิดต่อมช่างสงสัยแล้วลองตั้งคำถามกับสิ่งที่ถูกกำหนดมาแล้วดูบ้าง
- อยากสำเร็จก็ต้องเสี่ยง แต่คุณต้องรู้จักเสี่ยงแต่พอดี
- ผลงานยิ่งมาก คุณยิ่งเก่งและมีโอกาสกว่าคนอื่น ดังนั้นจงลงมือทำให้มากที่สุดเท่าที่คุณจะทำได้
- ใครๆ ก็อยากผ่อนการทำงานลงบ้าง แต่คุณต้องรู้จักผัดวันประกันพรุ่งให้เป็น
- คำติ คำเตือน และคำวิจารณ์อาจชี้ทางสว่างได้ ดังนั้นคุณต้องให้อิสระในการโต้เถียงและแสดงความคิดเห็นกับผู้อื่น
- คนเราพออารมณ์ดี ทุกอย่างก็จะดีตาม คุณจึงต้องเข้าใจวิธีควบคุมอารมณ์ของตัวเองให้ดี
ตั้งคำถามกับสิ่งที่ถูกกำหนดมาแล้ว
หนึ่งในวิธีคิดสำคัญของคนที่สามารถสร้างงาน “ออริจินัล” ขึ้นมาได้ก็คือ ตั้งคำถามกับสิ่งที่ถูกกำหนดมาแล้ว
ตัวแกรนท์เองได้นำประสบการณ์ตรงของเขามาเล่าให้เราฟังในหนังสือเล่มนี้ด้วยครับ เขาถึงกับบอกว่านี่คือหนึ่งในการตัดสินใจที่ผิดพลาดที่สุดครั้งหนึ่งของเขาเลยทีเดียว มันคือเรื่องราวตอนที่แกรนท์ปฏิเสธที่จะให้เงินลงทุนกับ 4 หนุ่มผู้ก่อตั้ง Warby Parker
Warby Parker คือร้านขายแว่นตาออนไลน์ที่ขายแว่นคุณภาพในราคาสมเหตุสมผล จุดเริ่มต้นของพวกเขามาจากหุ้นส่วนคนหนึ่งต้องการซื้อแว่นสายตาอันใหม่ แต่เขาคิดว่าราคามันแพงเกินควร เขาจึงตั้งข้อสังเกตว่า “ทำไมแว่นตาที่ไม่ได้มีเทคโนโลยีอะไรถึงขายราคาแพงขนาดนี้?” และแน่นอนครับว่าเพื่อนๆ ของเขาก็มีคำถามนี้ในใจเช่นกัน
พวกเขาพยายามหาคำตอบนี้จนพบว่า ตลาดแว่นตากว่า 80% ตกเป็นของบริษัทเดียวนั่นก็คือ Luxxotica ผู้เป็นเจ้าของร้านขายแว่นตารายใหญ่ และเป็นเจ้าของแบรนด์แว่นตาอย่าง Ray-Ban, Oakley
ในปี 2010 พวกเขาได้ตั้งเว็บไซต์ขายแว่นตาออนไลน์ขึ้นมา เว็บนี้จะขายแว่นในราคาเพียง 95 ดอลลาร์ จากที่ปกติแล้วคนทั่วไปจะต้องเสียเงินมากถึง 500 ดอลลาร์เพื่อแว่นสายตาเพียงอันเดียว นอกจากนี้ทุกๆ ครั้งที่แว่นตาถูกขายออกไป พวกเขายินดีบริจาคแว่นตาอีกอันไปให้ผู้ขาดแคลน
ไอเดียที่ท้าทายเช่นนี้ทำให้ Warby Parker ประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็ว ในปี 2015 Warby Parker ติดอยู่ในอันดับที่ 1 ของ World’s Most Innovative Company จากเว็บไซต์ Fast Company (ก่อนหน้านี้ผู้ที่เคยอยู่ในอันดับ 1 ก็คือ Google, Apple และ Nike ซึ่งล้วนแต่เป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ทั้งสิ้น)
Warby Parker เติบโตจากไอเดียที่ไม่มีใครเห็นค่า มาเป็นร้านแว่นตาออนไลน์ที่ประสบความสำเร็จอย่างงดงามได้เพราะพวกเขาไม่ยอมรับกับสิ่งที่ถูกกำหนดมาแล้วนั่นเอง
อีกหนึ่งตัวอย่างที่น่าสนใจก็คือ งานวิจัยที่บอกว่าผู้ใช้อินเทอร์เน็ตผ่านโปรแกรม Chrome และ Firefox จะทำงานได้ดีกว่าผู้ใช้งาน IE และ Safari
เหตุผลของข้อสรุปนี้ก็คือ IE และ Safari ต่างก็เป็นโปรแกรมที่ถูกติดตั้งมากับเครื่องคอมพิวเตอร์อยู่แล้ว ผู้ที่ใช้โปรแกรมนี้คือคนที่ก้มหน้าก้มตายอมรับและใช้งานมันไปโดยไม่ตั้งคำถามว่า “มันมีโปรแกรมอื่นที่ดีกว่าหรือไม่?”
ผู้ใช้งานโปรแกรม Chrome และ Firefox คือคนที่มีความคิดริเริ่ม กล้าตั้งคำถามและเพิ่มความพยายามลงไปในการมองหาสิ่งที่ดีกว่าให้กับตัวเอง
ตอนนี้คุณลองมองไปรอบตัวดูสิครับ ไม่แน่ว่าการตั้งคำถามครั้งต่อไปของคุณ มันอาจนำไปสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่ก็เป็นได้
เสี่ยงแต่พอดี
หลายคนอาจจะมองว่า มีแต่คนที่กล้าเสี่ยงเท่านั้นถึงจะสร้างสิ่งใหม่ๆ จนประสบความสำเร็จได้ แต่ความจริงอีกด้านที่เราปฏิเสธไม่ได้ก็คือ ยังมีคนอีกมากที่ประสบความสำเร็จเพราะเขารู้จักเสี่ยงแต่พอดี
แกรนท์ยกเรื่องราวของ Warby Parker มาเป็นตัวอย่างอีกครั้ง ในตอนแรกที่ผู้ก่อตั้งทั้ง 4 คนเริ่มทำเว็บไซต์ขึ้นมา ทุกคนต่างทำงานและเรียนไปด้วย นั่นแสดงว่าพวกเขามีแผนสองอยู่เสมอในกรณีที่เว็บไซต์ขายแว่นตาออนไลน์ของพวกเขาไปไม่รอด
อีกคนหนึ่งที่แกรนท์พูดถึงก็คือ เฮนรี่ ฟอร์ด
แม้ว่าฟอร์ดจะคิดค้นเครื่องยนต์สำหรับรถของเขาได้สำเร็จ แต่เขาก็ยังเลือกที่จะทำงานต่อในบริษัทเดิมอีกกว่า 2 ปีเลยทีเดียว
แกรนท์นำผลสำรวจจากเหล่าผู้ประกอบการกว่า 5,000 คนมาสนับสนุนเหตุผลข้อนี้ด้วย ผลสำรวจนี้บอกว่า ผู้ประกอบการหน้าใหม่ที่ทำงานประจำไปด้วยนั้นจะมีโอกาสล้มเหลวน้อยกว่าผู้ที่ตัดสินใจลาออกมาทำเต็มตัวกว่า 33%
ถ้าเรารู้ว่าจะจัดการกับความเสี่ยงอย่างไรแล้ว ผมเชื่อว่าคุณจะคิดรอบคอบมากขึ้นในทุกครั้งที่ทำงานเลยละครับ
ลงมือทำให้มากที่สุดเท่าที่คุณจะทำได้
อีกหนึ่งวิธีที่จะช่วยให้คุณสร้างงาน “ออริจินัล” ออกมาได้ก็คือ คุณต้องลงมือทำมันให้ได้มากที่สุด
นักจิตวิทยา ดีน ซิมอนตัน ค้นพบว่า พวกอัจฉริยะไม่จำเป็นต้องเก่งกว่าคนอื่นเสมอไป แต่พวกเขาขยันที่จะผลิตชิ้นงานออกมาเป็นจำนวนมากจนทำให้พวกเขามีโอกาสประสบความสำเร็จมากกว่าใครๆ
ซิมอนตันกล่าวว่า “โอกาสประสบความสำเร็จขึ้นอยู่กับจำนวนชิ้นงานทั้งหมดที่คุณสร้าง”
คุณรู้หรือไม่ว่า โมซาร์ทแต่งเพลงเกือบ 1,000 เพลง ไอน์สไตน์ตีพิมพ์งานวิจัยมากกว่า 200 ชิ้น และปิกาสโซ่วาดภาพมากกว่า 1,000 ภาพ เราทุกคนถึงจดจำและยกย่องพวกเขาให้เป็นอัจฉริยะ ทั้งๆ ที่เรารู้จักผลงานเพียงไม่กี่ชิ้นของพวกเขาเท่านั้นเอง
รู้จักผัดวันประกันพรุ่งให้เป็น
แกรนท์ไม่ได้จะบอกให้เราผัดผ่อนการทำงานออกไปเรื่อยๆ หรอกนะครับ เขาแค่อยากจะบอกเราว่า “คุณต้องรู้จักผัดวันประกันพรุ่งให้เป็น” ก็เท่านั้นเอง
ว่าแต่เราต้องทำอย่างไรบ้างเหรอ? แกรนท์อธิบายเอาไว้แบบนี้
เวลาที่คนเราทำงานอะไรสักอย่างค้างไว้ สมองของคนเราจะจดจำเรื่องราวต่างๆ ที่ยังทำไม่เสร็จได้ แต่เมื่อใดก็ตามที่เราทำมันเสร็จแล้ว เราจะลืมรายละเอียดของมันไปทันที ปรากฏการณ์นี้มีชื่อเรียกว่า “ซีกานิค แอฟเฟกต์” (Zeigarnik effect)
ดังนั้นถ้าคุณรู้จักผัดวันประกันพรุ่งให้เป็น มันจะมีประโยชน์อย่างมากสำหรับการคิดงานของคุณ คุณจะมีเวลาคิดทบทวนไอเดียจนคุณสามารถหาวิธีพลิกแพลงหรือปรับปรุงมันให้ดีขึ้นได้ เหมือนอย่างลีโอนาร์โด ดาร์วินชีที่ใช้เวลาเขียนภาพโมนาลิซ่านานถึง 16 ปี หรืออาจตัวแกรนท์เองก็เคยหยุดเขียนหนังสือเล่มนี้กลางทางเป็นเวลาเกือบเดือน ก่อนที่เขาจะกลับมาเขียนต่อบทนั้นให้เสร็จสมบูรณ์
นอกจากนี้ศิลปะของการผัดวันประกันพรุ่งยังสามารถสื่อถึงการรอช่วงเวลาที่เหมาะสมด้วย
เราต้องยอมรับว่าหลายๆ ครั้งชีวิตของคนเราก็ต้องรอจังหวะเวลาที่เหมาะสม ความคิดบางอย่างอาจเร็วเกินไปที่คนทั่วไปจะตามมันทันก็เป็นได้ ดังนั้นเวลาที่คุณจะเริ่มทำสิ่งใหม่ๆ คุณไม่จำเป็นต้องเป็นเจ้าแรกเสมอไปหรอกครับ คุณแค่รู้จักจังหวะในการเปิดตัวให้เหมาะสมก็ได้เช่นกัน
มันก็เหมือนกับ 4 หนุ่ม Warby Parker พวกเขาไม่ใช่เจ้าแรกที่ขายแว่นตา แต่พวกเขาก็เลือกจังหวะที่ผู้คนเริ่มชินกับพฤติกรรมซื้อของออนไลน์ไปแล้ว พวกเจาจึงเปิดตัวเว็บไซต์ขายแว่นตาออนไลน์ขึ้นมา
แกรนท์สรุปไว้ว่า “คุณไม่จำเป็นต้องเป็นคนแรกที่ชนะ แต่คุณต้องแตกต่างและดีกว่าเดิมให้ได้”
อิสระในการโต้เถียงและแสดงความคิดเห็น
คุณเคยให้คนอื่นวิจารณ์งานของคุณอย่างตรงไปตรงมาหรือไม่?
บางครั้งมุมมองที่แตกต่างออกไปกับความคิดเห็นจากคนรอบตัวก็สามารถช่วยชี้ทางสว่างให้กับเราได้ แต่เมื่อใดก็ตามที่ความคิดเห็นนั้นคล้อยตามหรือเห็นด้วยไปกับเราทุกเรื่อง มันก็ไม่อาจช่วยเปิดมุมมองอะไรให้กับเราได้เช่นกัน
หนึ่งในตัวอย่างที่แกรนท์เล่าให้เราฟังก็คือ บริษัทกองทุน Bridgewater ของเรย์ ดาลิโอ
เจ้าพ่อกองทุนเฮดจ์ฟันด์อย่าง เรย์ ดาลิโอ ใช้หลักการที่ว่า “พนักงานทุกคนมีสิทธิ์เสนอความเห็น แม้ความเห็นนั้นจะท้าทายพนักงานระดับสูงกว่าก็ตาม” กับบริษัท Bridgewater ดาลิโอไม่สนใจในตำแหน่งใดๆ เขาให้อิสระในการแสดงความคิดเห็นกับทุกคน และแน่นอนครับว่ากองทุนของเขาประสบความสำเร็จอย่างงดงาม
(เรย์ ดาลิโอ ได้เขียนหนังสือขายดีที่สุดเล่มหนึ่งอย่าง Principles เอาไว้ ซึ่งเราได้เคยสรุปเนื้อหาดีๆ จากเล่มนี้เอาไว้แล้ว ถ้าคุณสนใจเรื่องราวของเขาสามารถตามอ่านต่อได้ที่ สรุปหนังสือ Principles)
ควบคุมอารมณ์ของคุณให้ดี
กว่าที่คุณจะก้าวไปเป็น “ออริจินัล” ได้นั้น คุณจะต้องพบกับช่วงเวลาแย่ๆ หลายครั้ง คุณอาจรู้สึกสงสัยในงานที่ทำหรือรู้สึกกลัวว่างานจะไม่ประสบความสำเร็จ และถ้าเมื่อใดก็ตามที่คุณไม่สามารถควบคุมอารมณ์ของคุณให้ดี คุณอาจล้มเหลวก็เป็นได้
เมื่อคุณเริ่มรู้สึกว่าความมุ่งมั่นของคุณกำลังลดน้อยลงไป คุณแค่ย้อนกลับไปติดตามความคืบหน้าของงานที่คุณทำลงไป มันจะช่วยเพิ่มแรงผลักดันให้คุณเดินหน้าต่อไปได้
บางครั้งคุณอาจต้องสวมบทบาทเป็น “คนมองโลกในแง่ร้าย” ดูบ้าง เพราะคนพวกนี้มักจะหาข้อบกพร่องในชิ้นงานได้ดีกว่า คุณจะวางแผนรับมือกับมันได้อย่างทันท่วงที
ถ้าคุณรู้สึกกังวลหรือกลัว แทนที่คุณจะยอมแพ้ให้กับมัน คุณก็แค่ก้มหน้าก้มตาทำงานของคุณต่อไป เชื่อเถอะว่ามันจะมีเรื่องดีๆ เกิดขึ้นตามมาอย่างแน่นอน
อดีตรัฐบุรุษอย่างเนลสัน แมนเดลลา เคยกล่าวไว้ว่า
“คนกล้าหาญไม่ใช่คนที่ไม่รู้สึกกลัว แต่คือคนที่รู้วิธีเอาชนะความกลัวนั้นต่างหาก”
สรุปทิ้งท้ายก่อนวาง หนังสือ Originals
ผมคิดว่าถ้าคุณกำลังมองหาวิธีสร้างงานหรือไอเดียใหม่ๆ หนังสือเล่มนี้น่าจะเหมาะกับคุณครับ แกรนท์ได้เล่าถึงวิธีต่างๆ มากมายที่คุณสามารถนำไปปรับใช้ได้จริง ไม่ว่าจะเป็นการรู้จักตั้งคำถามกับสิ่งที่ถูกกำหนดไว้แล้ว ผัดวันประกันพรุ่งให้เป็น ขยันสร้างผลงานให้มากเข้าไว้ เป็นต้น
สุดท้ายนี้แม้ว่าเราทุกคนจะไม่สามารถเป็น “ออริจินัล” ได้หมด แต่แกรนท์เชื่อว่าถ้าคุณต้องการและพยายามมากพอ ผลงานชิ้นใหม่ของคุณอาจเป็นชิ้นงานที่ผู้คนทั่วโลกจดจำ
อดัม แกรนท์คือใคร?
อดัม แกรนท์ (Adam Grant) เกิดเมื่อปี 1981 เป็นศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาลัยจากมหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย นอกจากนี้เขายังเป็นนักเขียนชื่อดังเจ้าของผลงาน Originals, Give and Take และ Option B
ส่วนถ้าใครสนใจเรื่องราวในหัวข้อ “ศิลปะของการผัดวันประกันพรุ่ง” ผมขอแนะนำให้ลองตามดูคลิปวิดีโอ TED Talk ของเขาได้ที่ TED VIDEO
บทความน่าสนใจที่เกี่ยวข้อง
- ทักษะการคิดสิ่งใหม่ๆ ที่แกรนท์นำเสนอใน Originals นั้นเป็นทักษะที่สำคัญต่ออาชีพในยุคสมัยใหม่นี้มาก เพื่อตามโลกให้ทัน หนังสือ A Whole New Mind จะพาคุณไปค้นหาว่ายังมีทักษะไหนที่กำลังเป็นที่ต้องการอีกบ้าง
Pingback: สรุปหนังสือ Shoe Dog: ไนกี้ จากรองเท้าห้องแถวสู่ธุรกิจ 3 ล้านล้าน
Pingback: สรุปหนังสือ Emotional Intelligence: รู้แค่นี้ก็ประสบความสำเร็จกว่าคน IQ 180
Pingback: สรุปหนังสือ A Whole New Mind: ทักษะด้านไหน "ชนะ" ในโลกอนาคต
Pingback: สรุปหนังสือ Everything Store: Amazon ร้านขายของออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก
Pingback: สรุปหนังสือ What Got You Here Won't Get You There: วางตัวแบบไหนได้ใจคน
Pingback: สรุปหนังสือ Give and Take ยิ่งคุณให้มากเท่าไหร่ คุณยิ่งได้รับมากกว่าเดิม
Pingback: สรุปหนังสือ Atomic Habits เปลี่ยนนิสัยแค่นิดเดียว แล้วชีวิตคุณจะดีขึ้นในทุกวัน
Pingback: สรุปหนังสือ Purple Cow อยากสำเร็จต้องเป็นวัวสีม่วง - สำนักพิมพ์บิงโก