สรุปหนังสือ Lean In หนังสือที่ผู้หญิงทุกคนต้องอ่าน!

สวัสดีค่ะ วันนี้เปิดหัวแรงด้วยการใช้คำว่า “ต้องอ่าน!” สำหรับผู้หญิงทุกคน (หนุ่มๆ ก็อ่านได้อ่านดีนะ) แต่ก็เพราะของเขาแรงจริงๆ น่ะสิคะ

Lean In: Women, Work and the Will to Lead ถูกเขียนขึ้นโดย เชอริล แซนด์เบิร์ก เธอเป็น COO (รองประธานฝ่ายปฏิบัติการ) ของ Facebook และเป็นอดีตรองประธานฝ่ายขายและปฏิบัติการออนไลน์ของ Google นอกจากนี้ เชอริลยังได้รับการจัดอันดับโดยนิตยสาร Fortune ให้เป็น 1 ในผู้หญิงที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดในวงการธุรกิจอีกด้วย

หนังสือเล่มนี้ได้รับการยกย่องว่าเป็นหนังสือที่ทรงอิทธิพลต่อผู้หญิงมากที่สุดเล่มหนึ่ง ในขณะเดียวกันก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากผู้อ่านและสื่อหลายสำนัก เพราะอะไรเราไปดูกันเลย

ในบทความนี้เราจะมาพูดถึงเรื่องต่อไปนี้

  • ความเท่าเทียมทางเพศตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน
  • ผู้หญิงกับความทะเยอทะยาน
  • ความไม่เท่าเทียมแบบเปิดเผยและวิธีแก้ไข
  • ขาดความมั่นใจ = ตัวเรียกอุปสรรค
  • วางแผนอาชีพแบบม้าโหน มุ่งไปที่จุดสูงสุด แต่ก็ยืดหยุ่นได้
  • ความสำเร็จไปด้วยกันได้กับการเข้าสังคมมั้ยนะ?
  • การสื่อสารและการฝึกซ้อมที่มีประสิทธิภาพ ส่งเสริมความจริงใจและความเหมาะสม
  • จัดลำดับความสำคัญ
lean in
Sheryl Sandberg (1969-ปัจจุบัน) (ขอบคุณภาพจาก Yahoo Finance)

ความเท่าเทียมทางเพศตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน

ในโลกที่พัฒนาแล้วอย่างทุกวันนี้ ผู้หญิงต่างมีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าเมื่อก่อนมาก ต้องขอบคุณเหล่าสุภาพสตรีในอดีตที่ลุกขึ้นสู้ แต่แม้ความเหลื่อมล้ำทางเพศจะดูห่างหายไป ผู้หญิงก็ยังหยุดต่อสู้ไม่ได้

ดูตัวอย่างค่าตอบแทน:

ในปี 1970 ผู้หญิงชาวอเมริกันทำงานได้เงินเพียง 59 เซนต์ ในขณะที่ผู้ชายได้ 1 ดอลลาร์ในสายงานเดียวกัน

ในปี 2010 ผู้หญิงก็ยังได้แค่ 77 เซนต์ นักเคลื่อนไหวคนนึงเคยพูดติดตลกไว้ว่า “ผ่านมา 40 ปี ขึ้นมาแค่ 18 เซนต์ ราคาไข่ยังขึ้นมากกว่าตั้ง 10 เท่าเลย” นี่ไม่ใช่ปัญหาแค่ในอเมริกา ในยุโรปเองถึงดูจะตัวเลขดีขึ้นมานิด แต่ก็หยุดเพียงแค่ 84 เซนต์เท่านั้น

นอกจากเรื่องความเสียเปรียบด้านรายได้แล้ว งานวิจัยหลายชิ้นยังชี้อีกด้วยว่าการทำงานของผู้หญิงถูกประเมินอย่างไม่เป็นธรรม เมื่อเหล่านายจ้าง (ทั้งหญิงและชาย) ถูกขอให้ประเมินประสิทธิภาพการทำงานและศักยภาพในการเติบโตของพนักงานแล้ว พวกเขากลับเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิงมากกว่า

คุณผู้อ่านอาจจะคิดว่า โอ๊ย ก็แค่ความคิดของพวกโง่เง่า ชอบเหยียดเพศหญิงเท่านั้นแหละ ส่วนพวกเราที่เป็นผู้เจริญแล้วไม่มีทางทำงั้น

กลับกันเลยค่ะ งานวิจัยชิ้นเดียวกันนี่เองที่แสดงให้เห็นว่า ยิ่งคนประเมินบอกว่าตัวเองเป็นธรรมมากเท่าไหร่ พวกเขายิ่งเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิงมากขึ้นเท่านั้น

คนที่ “เหยียดแบบไม่ตั้งใจ” (benevolent sexism) นั่นแหละที่อันตรายมากกว่าคนที่เหยียดอย่างออกหน้า (hostile sexism) มากนัก เพราะคนพวกนี้จะไม่รู้ตัวเลยว่าตัวเองกำลังทำร้ายเพื่อนร่วมงานเพศหญิงอยู่ ซึ่งผลที่ตามมาคือไม่รู้สึกผิดและไม่คิดจะเปลี่ยนความคิดหรือการกระทำ

ความเท่าเทียมในครอบครัวเองก็ยังมีอยู่ เช่น การที่ผู้หญิงถูกคาดหวังให้เป็นคนเลี้ยงลูกเสมอ เหล่าสามีที่ถูกถามว่า จะให้ภรรยาออกจากงานมาเลี้ยงลูกมั้ย 46% ตอบว่า ออกครับ ในขณะที่มีผู้หญิงเพียง 5% บอกว่าอยากออก

 

ผู้หญิงกับความทะเยอทะยาน

ความไม่เท่าเทียมทางเพศเห็นได้เด่นชัดที่สุดในตำแหน่งผู้นำ มีเพียง 20% ในที่นั่งในสภาเท่านั้นที่เป็นผู้หญิง ในการจัดอันดับ Fortune 500 ก็มีเพียง 4% ที่เป็นผู้หญิง

ตัวเลขพวกนี้น้อยมาก เมื่อเทียบกับผู้หญิงส่วนใหญ่ที่ประสบความสำเร็จในการเรียนมากกว่าผู้ชาย 57% จบปริญญาตรี และอีก 60% ถือใบปริญญาโท (ในอเมริกา) แต่ผู้หญิงที่เปี่ยมไปด้วยความสามารถเหล่านี้กลับแทบไม่ได้ขึ้นแท่นตำแหน่งผู้นำเลย

สาเหตุของปรากฏการณ์นี้มีอยู่หลายข้อด้วยกัน แต่ข้อที่สำคัญที่สุดคือ ความทะเยอทะยานในการขึ้นสู่ตำแหน่งผู้นำ งานวิจัยหลายชิ้นแสดงให้เห็นว่าผู้ชายมีความทะเยอทะยานอยากเป็นผู้บริหารมากกว่า

 

ทำไมล่ะ?

 

ลักษณะเฉพาะประจำเพศ (gender stereotype) เป็นตัวขับอย่างหนึ่ง ผู้หญิงไม่ค่อยถูกคาดหวังให้ทะเยอทะยานและทำงานหนัก คนที่แหกความคาดหวังนี้จึงถูกตราหน้าว่าเป็น “จอมบงการ” หรือแย่กว่านั้น

ลักษณะเฉพาะประจำเพศ (ที่ถูกเป่าหูมาแต่เด็กแบบนี้) จึงกดดันไม่ให้ผู้หญิงตั้งเป้าหมายในการทำงานสูงเกินไป

ในขณะที่ผู้ชายค้นหาความสมดุลระหว่างชีวิตส่วนตัวและชีวิตการทำงานไปพร้อมๆ กันได้ ผู้หญิงกลับถูกสังคมและสื่อบอกให้เลือกระหว่างงานและครอบครัว นี่เองที่ส่งผลให้ผู้หญิงไม่จริงจังกับอาชีพการงานเท่าผู้ชาย และทยอยออกไปเลี้ยงลูก

ผลการสำรวจโรงเรียนธุรกิจแห่งมหาวิทยาลัยเยลและฮาร์วาร์ด พบว่าในช่วงเวลา 20 ปี มีศิษย์เก่าที่เป็นผู้ชายถูกว่าจ้างเต็มเวลาถึง 90% ส่วนผู้หญิงเพียงครึ่งหนึ่งของผู้ชายเท่านั้น แทบไม่น่าแปลกใจเลยที่ทั้งสองเพศมีช่องว่างของความทะเยอทะยานมาคั่น เพราะผู้หญิงที่มีความสามารถค่อยๆ หายหน้าไปจากที่ทำงานนี่เอง

 

ความไม่เท่าเทียมแบบเปิดเผยและวิธีแก้ไข

ก่อนอื่นเราต้องได้รับสิทธิในการพูดเรื่องความเสียเปรียบของผู้หญิงได้อย่างเปิดเผยมากขึ้นก่อน โดยไม่ถูกมองว่าเป็นการคอมเพลนหรือเรียกร้องอะไรเป็นพิเศษ

การถกกันอย่างเปิดเผยจะชูเรื่องความตระหนักและส่งเสริมให้ผู้คนกล้าออกมาพูดถึงปัญหาที่มีอยู่มากขึ้น และนี่ก็น่าจะจุดประกายให้เหล่าผู้หญิงอยากเป็นผู้นำมากขึ้น และจุดประกายให้เหล่าผู้ชายอยากสนับสนุนให้ผู้หญิงกล้าออกมานำ

การสร้างความตระหนักอาจจะสร้างความเปลี่ยนแปลงในจุดเล็กๆ แต่สำคัญยิ่ง เช่น ศาสตราจารย์ในมหา’ลัยที่สังเกตเห็นว่านักศึกษาหญิงมักลังเลที่จะยกมือตอบคำถาม ก็อาจจะเรียกพวกเธอให้ลุกขึ้นตอบตรงๆ เลย ซึ่งน่าจะแก้ปัญหาที่ว่าเพศไหนตอบมากกว่าได้

ผู้หญิงด้วยกันเองก็ต้องช่วยเหลือซึ่งกันและกัน แต่น่าเสียดายที่ผ่านมามันไม่เป็นแบบนั้น

ดูได้จาก “ควีนบีซินโดรม” (ผู้หญิงในตำแหน่งสูงที่เข้มงวดกับลูกน้องผู้หญิงมากกว่า) ในอดีตนั้น มีผู้หญิงเพียงหนึ่งคนที่ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งอาวุโสในองค์กรที่มีแต่ผู้ชายเป็นใหญ่ได้ ผู้หญิงเหล่านั้นจึงรู้สึกว่าต้องทำทุกวิถีทาง เพื่อไม่ให้ลูกน้องผู้หญิงเติบโตได้

ยังมีอีกกรณีคล้ายๆ กันคือ เหล่าคุณแม่บ้านมักทำให้คุณแม่ที่ยังทำงานรู้สึกว่าตัวเองไม่รักครอบครัว หรือในทางกลับกัน ทำให้คนทั้งสองกลุ่มวิพากษ์วิจารณ์กันและขัดขากันอยู่ตลอด ยกตัวอย่าง เจ้าหน้าที่สังกัดกองทัพเรือสหรัฐฯ ผู้หญิงคนแรกสังเกตว่าเพื่อนร่วมงานผู้ชายของเธอเคารพเธอ แต่เหล่าภรรยาของพวกเขากลับไม่พอใจเธอมาก

เราต้องผลักดันให้ความเท่าเทียมทางเพศเดินหน้าต่อ ไม่ใช่แค่สังคมที่จะได้ประโยชน์จากบุคลากรที่มีความเป็นผู้นำและคุณภาพเพิ่มขึ้นอีกถึงครึ่ง แต่ความเท่าเทียมจะยังนำความสุขมาให้กับทุกฝ่ายด้วย (จากงานวิจัยของนักศึกษาฮาร์วาร์ด)

lean in
ควีนบีของสาวๆ หลายคนจากซีรีส์ในตำนาน Gossip Girl ท่าทีหลายอย่างของเธอก็บ่งชี้ว่าเป็นนางพญาจริงๆ ล่ะนะ แต่อย่าให้ถึงขั้นกับเป็นซินโดรมเลยค่ะ ^^”

ขาดความมั่นใจ = ตัวเรียกอุปสรรค

นอกจากผู้หญิงจะเจออุปสรรคขวากหนามจากภายนอกแล้ว ภายในตัวพวกเธอก็ยังมีไม่แพ้กัน นั่นคือ การขาดความมั่นใจ

แม้แต่มืออาชีพที่เก่งกาจ (รวมถึงเชอริล แซนด์เบิร์ก ผู้เขียนด้วย) เองก็ยังเป็นโรคคิดว่าตัวเองไม่เก่ง (impostor syndrome) ทำให้พวกเธอรู้สึกว่าความสามารถและความสำเร็จที่ได้มานั้นไม่ใช่เรื่องจริง และอาจถูกเปิดเผยในไม่ช้า มีผู้หญิงที่เป็นโรคคิดว่าตัวเองไม่เก่งมากกว่าผู้ชาย ซึ่งผลลัพธ์ที่ตามมาคือพวกเธอประเมินความสามารถของตัวเองต่ำไป

งานวิจัยจากอุตสาหกรรมหลายแขนง เช่น วงการแพทย์ กฎหมาย การเมือง แสดงให้เห็นว่าผู้หญิงชอบประเมินคุณสมบัติตัวเองต่ำกว่าความเป็นจริง ในขณะที่ผู้ชายมั่นใจในตัวเองมากจนเกินงาม

คล้ายๆ กัน ผู้ชายมักบอกว่าพวกเขาประสบความสำเร็จก็ด้วยฝีมือตัวเอง และโทษปัจจัยภายนอกเมื่อเจอความล้มเหลว ส่วนผู้หญิงให้ค่าปัจจัยภายนอก และโทษตัวเองเมื่อล้มเหลว ความคิดผิดๆ พวกนี้เองที่ทำให้ผู้หญิงไม่มั่นใจในตัวเอง และมันก็จะส่งผลกระทบต่ออาชีพ การจะได้ตำแหน่งอาวุโสมาต้องอาศัยความมั่นใจในการสัมภาษณ์เข้าทำงาน หรือในการลุกขึ้นพูดในที่ประชุมผู้บริหาร

การขาดความมั่นใจยังส่งผลให้ผู้หญิงละเลยโอกาสดีๆ ในการทำงาน เพราะพวกเธอชอบคิดว่าตัวเองคุณสมบัติไม่ถึง ทั้งๆ ที่ในยุคนี้ทุกอย่างรวดเร็วมาก อะไรก็รอไม่ได้ คุณต้องเป็นคนเริ่ม ต้องคว้าโอกาส และขวนขวายด้วยตัวเอง พูดง่ายๆ คือ คุณต้องเดินหน้าเพื่องานของตัวเอง ไม่ใช่ถอยหลังหรือยืนมองเฉยๆ

แล้วต้องทำยังไง?

ถ้าคุณผู้หญิงคนไหนยังหาความมั่นใจไม่ได้ ก็ลอง “ทำเป็นว่ามี” ดูสิ การแสดงออกว่าคุณมั่นใจอาจจะค่อยๆ ช่วยให้คุณมีความมั่นใจขึ้นมาจริงๆ ในภายหลังก็ได้นะ

เราต้องตระหนักอีกอย่างว่าผู้หญิงไม่ค่อยกล้าคว้าโอกาส เราจึงต้องเปลี่ยนแปลงข้อเท็จริงนี้ด้วยการสนับสนุนและช่วยเหลือ

 

วางแผนอาชีพแบบโครงเหล็กสามมิติ มุ่งไปที่จุดสูงสุด แต่ก็ยืดหยุ่นได้

เชอริลกล่าวว่าความคิดเรื่องขั้นบันได (ladder) ในอาชีพการงานสมัยนี้ไม่ค่อยถูกต้องเท่าไหร่ ผู้คนไม่ได้เข้าทำงานแล้วขึ้นไปเป็นผู้บริหารในบริษัทหรืออุตสาหกรรมเดียวกันอีกต่อไปแล้ว ที่ถูกคือการไต่แบบโครงเหล็กสามมิติในสนามเด็กเล่น (jungle gym) ที่เราจะเลือกไปเส้นทางไหนก็ได้เพื่อให้ถึงจุดสูงสุด

นี่เป็นความคิดที่เหมาะกับคนที่ไม่ได้วางแผนอาชีพหลังเรียนจบเหมือนกับเชอริล แซนด์เบิร์ก บนโครงเหล็กสามมิติ คุณไม่ต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจนก็ได้ ลองไปเรื่อยๆ แล้วดูว่าแบบไหนที่คิดว่าใช่

ในการเดินทางครั้งนี้ คุณต้องคิดถึงแผนในระยะยาวและระยะสั้น

ในระยะยาวนั้นไม่ต้องแน่ชัดนักหรือจะเพ้อฝันมั่งก็ได้ แต่แผนในระยะยาวนี้ก็น่าจะช่วยให้คุณตัดสินใจได้ว่าอยากทำงานแบบไหน อย่างเชอริลเองก็อยากทำงานที่จับต้องได้ เธอจึงได้ใช้แผนการนี้นำทางเธอในการทำงาน

นอกจากนี้ คุณยังต้องมองหาโอกาสในการทำงานจากสิ่งสำคัญที่สุด นั่นก็คือ การเติบโต ตอนที่เชอริลกำลังตัดสินใจว่าจะรับงานที่กูเกิล (ตอนนั้นยังไม่ดัง) ดีมั้ย ซีอีโอก็บอกเธอว่า สนเรื่องว่าเธอจะพัฒนาตัวเองได้มั้ยก็พอ ซึ่งสำคัญมากในบริษัทที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว

“ถ้ามีคนเสนอให้คุณขึ้นนั่งบนจรวด อย่าถามว่านั่งตรงไหน ให้ขึ้นไปเลย”

ในการวางแผนระยะยาว คุณยังต้องเตรียมเป้าหมายระยะสั้นไว้ด้วย (ประมาณในอีก 18 เดือนข้างหน้า) อย่าลืมใส่เป้าหมายในอาชีพหรือดูว่าอยากเรียนรู้ในเรื่องไหน ถามตัวเองว่า “เราจะพัฒนาตรงไหนได้บ้างนะ?”

lean in
โครงเหล็กสามมิติหรือ jungle gym ที่ผู้เล่นจะเริ่มไต่ขึ้นจากตรงไหนก็ได้ และเลือกเปลี่ยนเส้นทางตรงไหนก็ได้อีกเช่นกัน

ความสำเร็จไปด้วยกันได้กับการเข้าสังคมมั้ยนะ?

ลักษณะเฉพาะทางเพศยังมีมาจนกระทั่งทุกวันนี้ อย่างผู้ชายควรเด็ดเดี่ยวและมุ่งมั่น ส่วนผู้หญิงก็ช่างอ่อนไหวและชอบเทคแคร์

หากผู้หญิงคนนึงประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน ก็จะทำลายภาพลักษณ์อันอ่อนไหวและชอบเทคแคร์ของเธอไป นี่เป็นเหตุผลที่ว่า ถ้าผู้ชายประสบความสำเร็จในอาชีพ เขาก็จะดูน่าชื่นชมไปด้วย ในขณะที่ของผู้หญิงมักจะสวนทาง

ผู้ชายที่เก่งและทะเยอทะยานดูน่ายกย่อง ในขณะที่ผู้หญิงถูกมองว่า “จู้จี้” หรือ “ไม่ให้ความร่วมมือ” มันไม่แฟร์เลย โดยเฉพาะความน่าชื่นชมนั้นเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับความสำเร็จในอาชีพ

อย่างไรก็ตาม การพยายามทำตัวให้ดู “สมเป็นหญิง” ก็อาจทำให้การเติบโตในอาชีพหยุดชะงักได้ เพราะนั่นจะหมายถึงเธอคนนั้นจะทะเยอทะยานน้อยลงและละเลยโอกาสใหม่ๆ เกิดเป็นสถานการณ์ “ทำไม่ทำก็ค่าเท่ากัน”

นี่เป็นเรื่องยากพอๆ กับตอนที่พวกเธอต้องเจรจาขอเลื่อนตำแหน่งหรือขึ้นเงินเดือนเลย ทั้งๆ ที่เรื่องพวกนี้เป็นเรื่องสำคัญมากหากอยากจะก้าวหน้าในอาชีพการงาน แต่ผู้หญิงที่ทำเพื่อตัวเองกลับโดนมองไม่ดี ทั้งจากผู้ชาย…และผู้หญิงด้วยกัน

และโชคร้ายที่การจะเอาชนะการเหยียดเพศได้ ผู้หญิงต้องอ้างความชอบธรรมในการเจรจาด้วย เช่น การอ้างอิงมาตรฐานค่าตอบแทนในวงการธุรกิจนั้นๆ หรือบอกว่าผู้จัดการแนะนำให้เธอมาเจรจา

เราได้แต่หวังว่า ผู้หญิงที่กล้าแกร่งจะได้รับการยอมรับมากขึ้น อย่างอาชีพนักยิมนาสติกที่ผู้หญิงโดดเด่นมาก เป็นต้น

 

สนับสนุนการสื่อสารและการฝึกซ้อมที่มีประสิทธิภาพ

ส่งเสริมความจริงใจและความเหมาะสม

การสื่อสารที่จริงใจเป็นสิ่งสำคัญมากในที่ทำงาน การสื่อสารช่วยให้ความสัมพันธ์แน่นแฟ้นขึ้น ทำให้การตัดสินใจแย่ๆ ถูกตั้งคำถาม และช่วยให้ผู้คนกล้าพูดในเรื่องที่ไม่มีใครกล้าแตะ กระนั้น หลายคน (โดยเฉพาะผู้หญิง) ก็ยังกลัวที่จะพูดตรงๆ ในที่ทำงาน พวกเธอกลัวถูกมองในแง่ลบ ทั้งๆ ที่ความเห็นของพวกเธอเป็นที่ต้องการมากเหลือเกิน

เหล่าหัวหน้าจึงควรทำทุกอย่างเพื่อส่งเสริมความจริงใจ โดยเริ่มจากขอฟีดแบค ขอคำแนะนำ และขอบคุณคนที่กล้าพูดความจริงให้ทุกคนเห็น

กุญแจสำคัญในการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพที่ใช้ได้ทุกที่ทุกเวลา ได้แก่ การผสมผสานความจริงใจเข้ากับความเหมาะสม โดยอย่าลืมความรู้สึกคนอื่น พูดอีกอย่างคือ พูดความจริงได้ แต่อย่าตรงจนกลายเป็นหยาบคาย

อย่าสับสนระหว่างความเหมาะสมกับการพูดอ้อมค้อมนะคะ เช่น อย่าไปพูดว่า “แม้ว่าฉันจะเชื่อในการวิเคราะห์ของคุณ แต่ฉันไม่มั่นใจในข้อบกพร้องที่อาจเกิดขึ้นได้…” ซึ่งจริงๆ แปลได้ว่า “ฉันไม่เห็นด้วยกับไอเดียนี้”

บางทีมุขตลกก็เป็นหนทางนึงในการแตะหัวข้อที่ไม่มีใครอยากพูด เช่น ผู้บริหารกูเกิลคนนึงไม่กล้าเริ่มคุยตรงๆ กับเพื่อนร่วมงานที่ไม่ชอบหน้าเขา เขาเลยถามเธอขำๆ ว่า “ทำไมคุณเกลียดผมนักล่ะ?”

ไม่ว่าจะสถานการณ์ไหน ความจริง 100% ก็แทบไม่มีทางเกิดขึ้นได้เลย ดังนั้น คุณจึงควรเริ่มมองสิ่งต่างๆ จากมุมมองของคนอื่นก่อน เช่น “ฉันเข้าใจว่าคุณไม่พอใจเรื่องนี้ เพราะคุณรู้สึกว่า…”

ทริคอีกอย่างคือตอนพูดให้ขึ้นด้วย “ฉันรู้สึกว่า” ดีกว่า “คุณผิด” คุณจะเห็นว่าประโยคแรกจะช่วยเปิดการโต้เถียง ในขณะที่ประโยคหลังเป็นเพียงข้อขัดแย้ง

 

จัดลำดับความสำคัญ

การ “มีทุกอย่าง” เป็นกับดักที่อันตรายมากสำหรับผู้หญิง ไม่มีใครมีหรือเป็นทุกอย่างได้หรอกค่ะ เพราะชีวิตคือการได้บ้างเสียบ้างตลอดเวลา ไม่มีใครทำทั้งงานและทำที่บ้านได้เพอร์เฟคท์ทั้งคู่

ในงานที่กดดันมากๆ เราก็มักทำสิ่งที่บริษัทบอกให้ทำ แล้วก็เลิกเพราะอาการเหนื่อยหน่าย

ลองขีดเส้นแล้วทำงานในแบบของตัวเองดูค่ะ

ที่บ้านก็มีความกดดันไม่แพ้กัน เพราะเหล่าคุณแม่ต่างถูกคาดหวังให้ใช้เวลาอยู่กับลูกน้อยมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งอาจทำให้คุณแม่ที่ทำงานไปด้วยรู้สึกผิด แม้ว่างานวิจัยจะชี้ให้เห็นแล้วว่า ให้คนอื่นเลี้ยงลูกก็ไม่ได้ส่งผลต่อพัฒนาการของเด็กในแง่ลบแต่อย่างใด

สำหรับเหล่าคุณแม่ การจัดสรรความรู้สึกผิดก็สำคัญเท่าๆ กับการจัดสรรเวลานั่นแหละค่ะ อย่าไปใส่ใจกับสิ่งที่ไม่ได้ทำมาก แต่หันมามองสิ่งที่อยู่ในมือดีกว่า

เพราะไม่มีใครทำทุกอย่างได้ จัดลำดับความสำคัญและโฟกัสไปที่สิ่งที่สำคัญที่สุด เช่น หาเวลาไปงานแสดงเต้นรำของลูกสาว แต่อย่าไปสนเรื่องพับผ้าให้กริบ

อย่าเลือกความสมบูรณ์แบบ หาวิธีแก้ที่ยั่งยืนและน่าพอใจ ณ ตอนนั้นดีกว่า ทั้งที่บ้านและที่ทำงานเลยนะคะ

ไม่มีคำว่า “เพอร์เฟคท์” ให้กับชีวิตส่วนตัวและชีวิตการทำงานพร้อมๆ กันหรอกค่ะ เพราะฉะนั้นเลือกหนทางที่ดีที่สุดให้กับตัวเองดีกว่า

lean in
Marissa Mayer เป็นอดีตประธานบริหารและ CEO ของ Yahoo! เธอเป็นผู้หญิงที่เชอริลให้การยกย่องมาก ในหนังสือเองก็กล่าวถึงเธอหลายครั้งจนคนอ่านบางคนตั้งข้อสังเกตว่ามากเกินไปหรือเปล่า (ขอบคุณภาพจาก Yahoo Finance)

สรุปส่งท้ายก่อนวางหนังสือ Lean In

แม้เราจะมาไกลจากอดีตมาก ในแง่ของความเท่าเทียมทางเพศ แต่ผู้นำที่เป็นผู้หญิงก็ยังแทบไม่มีให้เห็น เหตุผลมาจากปัจจัยภายนอกอย่าง อคติและภาพลักษณ์ทางเพศ นอกจากนี้ยังมีปัจจัยภายในอย่าง การขาดความมั่นใจและความเครียดที่ต้องทำงานไปด้วยดูแลครอบครัวไปด้วย การแก้ไขปัญหาเหล่านี้ไม่ได้ช่วยแค่เหล่าสุภาพสตรีเท่านั้น แต่ยังจะพัฒนาสังคมเราให้เดินไปข้างหน้าด้วย

มาถึงตรงนี้หลายคนคงมีความเห็นต่อหนังสือและตัวเชอริลเองแตกต่างกันออกไป ใครอยากบอกอะไรคอมเมนต์ไว้ด้านล่างได้เลยค่ะ

 

นำไปต่อยอด

  • หนังสือ ชีวิตดีขึ้นทุกด้าน ด้วยการช่างแม่ง เป็นหนังสือพัฒนาตัวเองอีกเล่มที่เขียนโดยผู้หญิงถึงผู้หญิง แต่จะเน้นชีวิตประจำวันมากกว่าสาขาอาชีพ หนังสือคุณภาพอีกเล่มจากสำนักพิมพ์บิงโกของเรา
  • คุณผู้อ่านสามารถติดตามความคิดเคลื่อนไหวของเชอริลแบบเรียลไทม์ได้ที่ทวิตเตอร์ส่วนตัวของเธอ: @sherylsandberg

2 thoughts on “สรุปหนังสือ Lean In หนังสือที่ผู้หญิงทุกคนต้องอ่าน!

    • Tum Piyapong says:

      ขอบคุณครับ สำนักพิมพ์บิงโกตั้งใจนำหนังสือความรู้พัฒนาตัวเองและบริหารธุรกิจแนวใหม่ จากต่างประเทศส่งตรงถึงผู้อ่านครับ ^^

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราะห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก