ผลประโยชน์ของทีมต้องมาก่อนตัวเองเสมอ
เพราะผู้นำต้องกินเป็นคนสุดท้าย Leader Eat Last
เมื่อปี 2011 ไซมอน ซิเนค นักการตลาดและนักพูดชื่อดังแห่งเวที TED Talk ได้เขียนหนังสือขายดีเล่มหนึ่งที่ชื่อ Start With Why เพื่อบอกเล่าเกี่ยวกับการสื่อสารให้ได้ผลมากที่สุด อีก 2 ปีต่อมา เขาได้ซุ่มเขียนหนังสืออีกเล่มคือ Leader Eat Last คราวนี้เขาตั้งใจชี้ให้ทุกคนเห็นความสำคัญของความเป็นผู้นำผ่านประสบการณ์ส่วนตัวและเรื่องราวของบุคคลชื่อดังหลายต่อหลายคน
ซิเนคได้แรงบันดาลใจในการเขียนหนังสือเล่มนี้จากคลิปวิดีโอหนึ่งซึ่งเป็นภาพเหตุการณ์ของทหารอเมริกันถูกซุ่มโจมตีในอัฟกานิสถาน ในคลิปเป็นเหตุการณ์ที่ร้อยเอกสเวนสันและเพื่อนทหารอีกคนกำลังประคองทหารผู้บาดเจ็บไปที่เฮลิคอปเตอร์ กล้องติดหมวกจับภาพร้อยเอกสเวนสันกำลังโน้มตัวลงไปจูบหน้าผากของนายทหารที่บาดเจ็บคนนั้น ก่อนที่จะหันกลับไปช่วยคนอื่นต่อ
ซิเนคเกิดคำถามขึ้นทันทีว่า อะไรเป็นแรงผลักดันให้คนคนหนึ่งยอมเสี่ยงชีวิตเพื่อผู้อื่น? คนแบบนี้จะหาเจอได้ที่ไหน? ทำไมเราไม่มีเพื่อนร่วมงานแบบนี้บ้าง?
คุณอาจจะคิดว่า คนพวกนี้คงเป็นคนที่ดีกว่าคนทั่วไป เขาจึงเป็นทหารและยินดีที่จะได้ช่วยเหลือผู้อื่น แต่ข้อสรุปนี้ผิดโดยสิ้นเชิง เพราะเมื่อซิเนคถามเหล่าวีรบุรุษที่ยอมเสี่ยงชีวิตตัวเองว่า “ทำไมคุณทำแบบนั้น?” พวกเขาตอบแบบเดียวกันว่า “ถ้าเป็นคนอื่น เขาก็จะทำกับฉันแบบเดียวกัน”
ซิเนคจึงได้ข้อสรุปว่า
คำตอบนี้แสดงให้เห็นถึงความร่วมมือและความรู้สึกไว้วางใจอย่างลึกซึ้ง สิ่งเหล่านี้เกิดจากความรู้สึกไม่ใช่คำสั่ง คุณไม่สามารถเดินไปตบไหล่ลูกน้องเบาๆ แล้วพูดว่า “เชื่อฉันสิ” แล้วลูกน้องจะเชื่อใจคุณ คุณไม่สามารถประกาศข้อบังคับให้พนักงาน 2 คนเชื่อใจกัน แล้วพวกเขาจะเชื่อใจกันจริงๆ ได้หรอก
ต้นกำเนิดของความเชื่อใจ
ย้อนกลับไป 50,000 ปีก่อน ช่วงยุคหินเก่า โลกเราเต็มไปด้วยภัยอันตราย ไม่ว่าจะเป็นสัตว์ป่า สภาพอากาศ หรือสิ่งรอบตัว ล้วนสามารถทำให้อายุขัยของมนุษย์สั้นลง มนุษย์เลยกลายเป็นสัตว์สังคม อยู่ กินและทำงานร่วมกันกับคนในเผ่าของตัวเองซึ่งเป็นที่ที่ทุกคนรู้สึกปลอดภัย จนเกิดเป็นวงกลมแห่งความปลอดภัย
ถ้าคุณอยู่ในเผ่า คุณสามารถนอนหลับสนิทตลอดคืนโดยไว้ใจให้คนในเผ่าเฝ้าระวังภัยอันตรายให้ ความเชื่อใจและความร่วมมือจึงถูกพัฒนาขึ้นในวงกลมแห่งความปลอดภัยนี้
ปัจจุบัน โลกเรายังคงเต็มไปด้วยอันตรายเหมือนเดิม เพียงแต่เปลี่ยนเรื่องราวออกไป มีหลายสิ่งสามารถรบกวนชีวิตและบั่นทอนโอกาสในการประสบความสำเร็จของคนเรา ไม่ว่าจะเป็นกลไกเศรษฐกิจ ความผันผวนในตลาดหุ้น หรือเทคโนโลยีใหม่ที่เข้ามาแทนที่ โดยที่คุณไม่สามารถควบคุมปัจจัยเหล่านี้ได้เลย
ผู้นำสำคัญมากกว่าที่คุณคิด
ปัจจัยเดียวที่ผู้นำสามารถควบคุมได้คือ บรรยากาศในองค์กร เพราะผู้นำคือคนที่สามารถกำหนดทุกอย่างในองค์กรได้ เมื่อผู้นำเลือกความปลอดภัยของคนในกลุ่มเป็นเป้าหมายแรกและพร้อมเสียสละประโยชน์ส่วนตัวเพื่อให้คนในองค์กรปลอดภัย สิ่งมหัศจรรย์ก็จะเกิดขึ้นได้
ผู้นำที่ยอดเยี่ยมจึงเปรียบเสมือนพ่อแม่ที่คอยปกป้องดูแลให้พนักงานปลอดภัยและเติบโตอย่างมีคุณภาพ ผู้นำจะมอบโอกาสให้พนักงานลองผิดลองถูกและผลักดันให้พวกเขาประสบความสำเร็จก้าวหน้ายิ่งกว่าตัวเอง
ถ้าบรรยากาศในองค์กรไม่ดี พนักงานแต่ละคนจะใช้เวลาและทรัพยากรเพื่อปกป้องและรักษาผลประโยชน์ของตัวเองเท่านั้น ส่งผลให้องค์กรอ่อนแอลง
จากรายงานของบริษัทให้คำปรึกษา Mercer, LLC ระบุว่า ในปี 2011 หนึ่งในสามของพนักงานทั่วอเมริกาครุ่นคิดเรื่องการลาออก ถ้าพนักงานเหล่านั้นลาออกจริงๆ ก็คงไม่เกิดปัญหา แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ มีเพียงแค่ 1.5% เท่านั้นที่ลาออก ตัวเลขนี้สื่อความหมาย 2 อย่างคือ
- มีคนจำนวนมากอยากลาออกจากงาน
- ผู้คนรู้สึกว่าตัวเองไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากทนอยู่กับงานเดิม เพราะเรื่องเงิน ครอบครัว ความไม่ปลอดภัย หรือไม่สามารถหางานอื่นได้
ถ้าคุณเคยคลุกคลีกับพนักงานที่กำลังคิดเรื่องลาออก คุณจะรู้ว่า คนพวกนี้มีอัตราการทำงานที่ต่ำมาก ซึ่งจากงานวิจัยของ Gallup เสริมข้อมูลนี้อีกว่า อัตราการทำงานที่ต่ำนี้ส่งผลให้อเมริกาสูญเสียกำลังการผลิตสูงถึงประมาณ 5 แสนล้านดอลลาร์ต่อปี
สิ่งที่ผู้นำทำส่งผลโดยตรงต่อพนักงาน
งานวิจัยชิ้นหนึ่งของมหาวิทยาลัย College London พบว่า คนที่เป็นทุกข์กับงานจะรู้สึกหดหู่เท่าๆ กับหรือมากกว่าคนที่ว่างงานด้วยซ้ำ พนักงานที่รู้สึกว่างานที่ตัวเองทำนั้นถูกองค์กรมองข้ามและไม่มีใครให้คุณค่าจะมีโอกาสได้รับผลกระทบจากโรคหัวใจ
ในปี 2013 ยังมีงานวิจัยอีกชิ้นจาก Gallup ที่ได้ผลอย่างน่าประหลาดใจคือ เมื่อหัวหน้าเพิกเฉยต่อลูกน้อง จะมีลูกน้อง 40% ตีตัวออกห่างจากงาน แต่ถ้าหัวหน้าวิจารณ์พวกเขา จะมีลูกน้อง 22% ตีหัวออกห่างจากงาน มันแสดงให้เราเห็นว่า การวิจารณ์ลูกน้องทำให้มีพนักงานที่ใส่ใจกับงานเพิ่มขึ้นถึง 18% ลองคิดดูนะครับ ถ้าผู้นำองค์กรไม่มีความเป็นผู้นำจะส่งผลต่อบริษัทมากน้อยแค่ไหน
เราเห็นตัวเลขสำคัญกว่าคนตั้งแต่เมื่อไหร่
วันที่ 3 สิงหาคม 1981 พนักงานควบคุมการบินของสหรัฐฯ จำนวนมากรวมตัวกันเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลเพิ่มเงินเดือนและลดชั่วโมงการทำงานของพนักงาน เหตุการณ์นี้ส่งผลให้เที่ยวบินหลายพันเที่ยวต้องถูกยกเลิก การค้าหยุดชะงัก ประเทศสูญเสียรายได้ทางเศรษฐกิจหลายพันล้านดอลลาร์
2 วันต่อมา ประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกนตัดสินใจไล่พนักงานควบคุมการบินทั้ง 11,359 คน ออกจากตำแหน่ง และห้ามพนักงานเหล่านี้ทำงานด้านการบินตลอดชีพ
สิ่งที่ประธานาธิบดีเรแกนทำในวันนั้นเป็นการส่งสัญญาณไปให้ผู้ประกอบการทั่วอเมริกาได้เห็นตัวอย่างในการบริหารจัดการภายในองค์กรว่า ถ้าพนักงานประพฤติตัวไม่เหมาะสม การไล่ออกที่เคยเป็นทางเลือกสุดท้ายต้องกลายเป็นตัวเลือกแรก
ปัจจุบัน เราถูกรายล้อมไปด้วยการวัดผลและประเมินเป็นตัวเลขไม่ว่าจะเป็น ยอด Like ใน Facebook หรือจำนวน Follower ใน Twitter ทำให้คนสมัยนี้เชื่อใจกันน้อยลง เราประเมินคนรอบข้างเป็นเพียงตัวเลขจนลืมไปว่าสิ่งเดียวที่จะขับเคลื่อนให้ธุรกิจดำเนินต่อไปได้ก็คือ คน
ใช้ตัวเลขเป็นเครื่องมือตัดสิน
หนึ่งในบรรดาผู้บริหารที่ประสบความสำเร็จจนมีชื่อเสียงก้องโลกคือ แจ็ค เวลช์ เขาเข้ามาเป็นซีอีโอของบริษัท General Electric(GE) ตั้งแต่ปี 1981 จนถึงปี 2000
หลักการบริหารที่เวลช์ใช้คือ ในทุกปีเขาจะปลดผู้จัดการที่มีผลงานอันดับล่างๆ จำนวน 10% ออก แล้วมอบโบนัสและสิทธิ์ในการซื้อหุ้นของบริษัทในราคาที่กำหนดแก่ผู้จัดการที่สร้างผลงานโดดเด่นจำนวน 20% บนแทน
อีกแนวคิดการทำธุรกิจที่โด่งดังในยุคนี้คือ The Lean Startup ซึ่งให้ความสำคัญกับการแปลความหมายของทุกตัวเลข เพื่อช่วยให้ผู้ก่อตั้งเข้าใจว่าบริษัทกำลังเดินไปถูกทาง (คุณสามารถอ่านสรุปหนังสือ The Lean Startup เพิ่มเติมได้ที่นี่ [สรุปหนังสือ The Lean Startup])
การพุ่งความสนใจไปที่ตัวเลขก็เหมือนการให้คีโม เพราะถึงคุณจะสามารถแก้ปัญหาได้ทันทีแต่มันก็เกิดผลข้างเคียงอื่นๆ ตามมาด้วยเช่นกัน
คำถามที่เกิดขึ้นตามมาก็คือ “ถ้าไม่สนใจที่ตัวเลขผลประกอบการ แล้วเราจะสนใจเรื่องไหนกัน”
ทางแก้ไม่ใช่การเป็นเชียร์ลีดเดอร์
จอร์จ เจ ฟลินน์ นายพลนาวิกโยธินที่เกษียณแล้วเคยกล่าวไว้ว่า “วิสัยทัศน์ของผมนั้นเรียบง่ายมาก ผมอยากปั้นคนรุ่นใหม่ที่เข้าใจว่า องค์กรจะประสบผลสำเร็จหรือล้มเหลวขึ้นอยู่กับความสามารถในการเป็นผู้นำไม่ใช่ความสามารถในการบริหารจัดการ”
คำกล่าวของฟลินน์ไม่ได้หมายความว่า ทักษะการบริหารจัดการนั้นไม่สำคัญ ผู้นำแค่คอยสนับสนุนพนักงานให้ทำงานเหมือนเชียร์ลีดเดอร์ก็เพียงพอแล้ว แต่ความจริงแล้ว ผู้นำที่ขาดทักษะการบริหารจัดการจะไม่ได้รับความเคารพจากพนักงานอย่างแน่นอน
กลับกันถ้าคุณมีความเป็นผู้นำสูง พนักงานก็ยังไม่เชื่อคุณทั้งหมดหรอกถ้าคุณไม่มีผลงานใดๆ ที่จับต้องได้เลย
สรุปก็คือ ผู้นำที่ดีจะมีความเป็นผู้นำสูงหรือเก่งด้านบริหารจัดการอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้ แล้วคำตอบของผู้นำที่ดีคืออะไร?
LEADERS EAT LAST ผู้นำกินคนสุดท้าย
ประโยคที่ว่า “Leaders eat last (ผู้นำกินคนสุดท้าย)” ไม่ได้เป็นเพียงสำนวนหรือคำเปรียบเปรย ในแวดวงทหารเรือ ซึ่งทหารยศสูงจะเป็นคนที่ทานข้าวคนสุดท้ายเสมอ แต่มันแสดงให้เห็นว่าผู้นำต้องรับผิดชอบกับหน้าที่ที่มากขึ้นจนต้องทานข้าวเป็นคนสุดท้าย
เจมส์ ซีเนกัล เป็นตัวอย่างของผู้นำที่เข้าใจความหมายของประโยคนี้เป็นอย่างดี
ซีเนกัลคือผู้เริ่มก่อตั้งธุรกิจ Costco บริษัทค้าปลีกจำพวกค้าส่ง (Wholesale) ขนาดใหญ่ของอเมริกา และเขาเพิ่งเกษียณไปเมื่อปี 2012 ที่ผ่านมา เขาได้รับฉายาว่า ขั้วตรงข้ามของแจ็ค เวลช์ เพราะซีเนกัลเชื่อว่า ถ้าเราปฏิบัติต่อพนักงานเหมือนอย่างครอบครัว พนักงานก็จะตอบสนองกลับมาด้วยความเชื่อใจ
แน่นอนว่าแนวคิดดังกล่าวของเขาถูกโจมตีจากนักวิเคราะห์ในตลาดหุ้นว่า
“ซีเนกัลมีเมตตาเกินไป เขาไม่กล้าปฏิเสธคำร้องขอขึ้นค่ารักษาจากพนักงานด้วยซ้ำ”
“ถ้าคุณเลือกได้ ให้เลือกเป็นลูกจ้างหรือลูกค้าของ Costco อย่าเป็นผู้ถือหุ้นของพวกเขาเลย”
แต่ถ้าเราลองนำราคาหุ้นของทั้ง GE และ Costco มาเปรียบเทียบกัน คุณจะพบว่าคำวิจารณ์ของนักวิเคราะห์อาจฟังดูโหดร้ายเกินไปหน่อย เพราะถ้าคุณลงทุนในหุ้นของ GE ในปี 1986 แล้วขายทิ้งช่วงต้นปี 2013 คุณจะได้ผลตอบแทนประมาณ 600% แต่ถ้าคุณลงทุนใน Costco คุณจะได้ผลตอบแทนมากถึง 1,200%
แม้ตัวเลขนี้อาจจะบอกอะไรไม่ได้มากเพราะมันยังมีอีกหลายปัจจัยที่ราคาหุ้นจะสูงขึ้น แต่มันก็พิสูจน์ให้เห็นว่า แนวคิดความเป็นผู้นำของซีเนกัลก็น่าสนใจเช่นกัน
ผู้นำที่ดีต้องมองระยะยาว
“ผลประโยชน์ของทีมต้องมาก่อนผลประโยชน์ส่วนตัวเสมอ”
นี่เป็นทางเดียวที่จะสร้างความสำเร็จได้ในระยะยาว สมาชิกทุกคนในทีมจะมีทัศนคติแบบนี้ได้ก็ต่อเมื่ออยู่ในสิ่งแวดล้อมหรือองค์กรที่ดี วัฒนธรรมองค์กรที่ดีจะเกิดขึ้นเมื่อพนักงานเชื่อมั่นในตัวผู้นำ และผู้นำก็เชื่อในตัวพนักงานด้วย
ถ้าคุณอยู่ในตำแหน่งผู้นำองค์กร อย่าลืมให้เวลากับพนักงานด้วยนะครับ พวกเขาจะได้รู้สึกว่า ตัวเองมีคุณค่า มีคนใส่ใจในผลงานและความคิดของเขาเสมอ
สุดท้ายนี้ก็อยู่ที่ตัวของคุณแล้วล่ะว่า คุณจะเป็นผู้นำที่ยึดเป้าหมายจากตัวเลขเป็นหลักหรือไม่? คุณเห็นลูกค้าและพนักงานเป็นตัวเลขหรือเป็นคนแบบเดียวกับคุณ? และคุณจะเลือกเป็นผู้นำแบบแจ็ค เวลช์หรือเจมส์ ซีเนกัล?
แนะนำหนังสือที่คุณน่าจะชอบ
ความเป็นผู้นำยังมีอีกหลายแง่มุมให้เราได้ศึกษากัน สนพ.บิงโกมีหนังสืออีกเล่มจากประเทศที่ได้ชื่อว่ามีสุดยอดผู้นำมากมายอย่างญี่ปุ่นมาแนะนำครับ หนังสือเล่มนั้นมีชื่อว่า เปลี่ยนคนธรรมดาให้มีหัวผู้นำใน 3 ชั่วโมง ผู้เขียนเป็นศาสตราจารย์คนเก่งจากมหาวิทยาลัยวาเซดะ ซึ่งเขาได้ปั้นผู้นำญี่ปุ่นมาแล้วมากกว่า 1,000 คน
เราหลายคนถูกสอนมาให้ “เก่งทางเดียว” แล้วเก่งด้านนั้นให้สุดทางไปเลย
วิธีคิดแบบนี้ใช้ได้ผลในสมัยก่อนที่คนเก่งมีน้อย แต่โลกเรากำลังเปลี่ยนไป สมัยนี้คนเก่งเกลื่อนจนแทบจะเดินชนกัน ต่อให้คุณทำอะไรได้ ก็จะมีอีกเป็นหมื่นคนและ AI ที่ทำได้เหมือนคุณ
หนังสือวิถีผู้ชนะฉบับคนเก่งแบบเป็ด จะสอนให้คุณเป็น “เป็ด” ที่เก่งรอบด้าน และสามารถนำทักษะที่หลากหลายมาใช้ ให้ก้าวหน้าในงาน ชีวิต และธุรกิจ
บทความอื่นที่น่าสนใจไม่แพ้ Leaders Eat Last
- บุคคลซึ่งได้ชื่อว่าเป็น “สุดยอดผู้นำ” อีกคนหนึ่งก็คือ สตีฟ จ็อบส์ ถ้าคุณสนใจอยากศึกษาประวัติของชายผู้นี้ให้มากขึ้น สนพ.บิงโกได้ทำสรุปบทเรียนชีวิตและการทำงานของเขาจากหนังสืออัตชีวประวัติเรื่อง Steve Jobs เอาไว้ให้คุณเรียบร้อยแล้ว
- ทำไมคุณเก่งแล้วแต่ไม่ก้าวหน้าเสียที? คุณอาจกำลังทำผิดพลาดแบบในหนังสือ What Got You Here Won’t Get You There ที่คนเก่งจำนวนมากติดกับดับจนรุ่นน้องแซงหน้าไปหมด … แค่คุณปรับนิสัยเพียงนิดเดียวก็จะประสบความสำเร็จกว่าเดิม 10 เท่า
- ใน Start with Why ไซมอน ซิเน็ค จะบอกคุณว่าผู้นำที่ยิ่งใหญ่สร้างแรงบันดาลใจให้ผู้คนได้อย่างไร เขานำเสนอโมเดลง่ายๆ แต่ทรงพลังสำหรับผู้นำนักสร้างแรงบันดาลใจ ซึ่งเริ่มจากหัวใจหลักคือคำถามว่า “ทำไม?” ไซมอนยกแอปเปิล มาร์ติน ลูเธอร์ คิง และพี่น้องตระกูลไรท์เป็นตัวอย่าง
- เมื่อนึกภาพผู้นำ คุณเห็นภาพผู้นำยืนตระหง่านสีหน้าขึงขัง ท่าทางมั่นใจในตัวเองเหมือนโดนัลด์ ทรัมป์ หรือเปล่า? หรือคุณห็นภาพผู้นำอีกแบบที่ยิ้มแย้มแจ่มใสให้ผู้ติดตามแบบโจ ไบเดน? ลักษณะท่าทางของประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาทั้ง 2 คนนี้ต่างกันอย่างสิ้นเชิง จนเกิดเป็นภาพผู้นำสองแบบที่น่าสนใจมาก ผู้นำ 2 สไตล์นี้ต่างกันอย่างไร? ใครดีหรือแย่กว่ากัน? แล้วคุณควรเป็นผู้นำแบบไหน?
- สิ่งสำคัญจริงๆ ที่จะทำให้คุณประสบความสำเร็จและมีความสุข คือทักษะด้านอารมณ์ หรือ “EQ” … ไม่ใช่ความฉลาดที่วัดได้จากการทำข้อสอบ IQ โดยหนังสือ Emotional Intelligence จะช่วยให้คุณรู้จัก EQ ของตัวเองและประสบความสำเร็จได้เหนือกว่าคน IQ 180 เสียอีก
Pingback: สรุปหนังสือ Start With Why ชีวิตคุณเปลี่ยนได้ ด้วยคำถามเพียงข้อเดียว
Pingback: สรุปหนังสือ Toyota Kata "วิถีโตโยต้า": หลักคิดการทำธุรกิจที่ไม่มีวันแพ้
Pingback: สรุปหนังสือ Everything Store: Amazon ร้านขายของออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก
Pingback: สรุปหนังสือ Sam Walton: กำเนิด Walmart เครือซูเปอร์มาร์เก็ตที่ใหญ่ที่สุดในโลก
Pingback: กฎ 10 ข้อของ Sam Walton เจ้าของวอลมาร์ท ซูเปอร์มาร์เก็ตที่ใหญ่ที่สุดในโลก
Pingback: สรุปหนังสือ Tribes เป็นหัวหน้าเผ่าในโลกสมัยใหม่ - สำนักพิมพ์บิงโก