ตั้งแต่หนังสือ How to Win Friends & Influence People ถูกตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 1936 มีคนควักเงินจากกระเป๋าสตางค์เพื่อซื้อหนังสือเล่มนี้ไปแล้วมากกว่า 15 ล้านคนทั่วโลก คำแนะนำที่อยู่ในหนังสือเล่มนี้ดูเหมือนเป็นเรื่องพื้นๆ แต่ผมเชื่อว่ายังใช้ได้ผลจนถึงปัจจุบัน
ผู้เขียน เดล คาร์เนกี้ ได้แทรกเกร็ดเหตุการณ์ที่น่าสนใจไว้ตลอดทั้งเล่ม ทำให้น่าอ่านและชวนติดตามอย่างยิ่ง หนังสือเล่มนี้จะทำให้คุณรู้ว่า
- ทำไมละครบุพเพสันนิวาสได้รับความนิยมได้หมู่ประชาชนมากขนาดนี้?
- ทำไมประธานาธิบดีอเมริกาเกือบจะต้องดวลดาบตัวต่อตัวกับผู้ตรวจเงินแผ่นดิน?
- หัวข้อสนทนาไหนที่ทุกคนชื่นชอบ?
สร้างความประทับใจแรกด้วยรอยยิ้ม
สิ่งที่สะท้อนความคิดของคุณมากที่สุดก็คือ การกระทำ ถ้าคุณอยากสื่อสารให้คนที่เพิ่งเจอหน้ากันรู้ว่า “ผมชื่นชอบและยินดีอย่างยิ่งที่ได้พบคุณ” แค่ยิ้มให้เขาก็พอแล้ว
คนเราต่างก็อยากให้คนอื่นยิ้มให้ ถ้ามีคนยิ้มให้คุณ คุณก็มีแนวโน้มที่จะชอบเขาโดยอัตโนมัติ ลองสังเกตรอยยิ้มของเด็กๆ ดูสิ รอยยิ้มนี้ทำให้คุณรู้สึกอบอุ่นมากขนาดไหน
นักจิตวิทยาเปิดเผยผลการวิจัยว่า การยิ้มมีความเชื่อมโยงกับอารมณ์ทางด้านบวก การยิ้มนำไปสู่อารมณ์ด้านบวกและอารมณ์ด้านบวกก็นำไปสู่การยิ้ม นั่นหมายความว่าการยิ้มไม่เพียงทำให้คนอื่นมีความสุข แต่ยังนำพาอารมณ์ด้านบวกเข้าสู่ตัวเองด้วย
ถ้าอยากให้คนมาชอบ อย่าวิจารณ์คนอื่น
การวิพากษ์วิจารณ์และชี้ถึงข้อผิดพลาดให้คนอื่นรับรู้นั้น ไม่ได้ส่งเสริมให้อีกฝ่ายเปลี่ยนพฤติกรรมและก็ไม่ได้ช่วยให้พวกเขาเรียนรู้อะไรเพิ่มเลย เพราะโดยพื้นฐานแล้วมนุษย์จะถูกปลุกเร้าด้วยอารมณ์มากกว่าเหตุผล
แม้ว่าคำวิพากษ์วิจารณ์นั้นจะได้รับการไตร่ตรองมาดีแล้ว ผลลัพธ์ที่ออกมามักจะไม่เป็นไปตามที่หวังไว้ คนที่ถูกวิจารณ์จะไม่ฟังสิ่งที่คุณพูดจริง ๆ หรอก เพราะพวกเขาจะรู้สึกเหมือนถูกโจมตี ปฏิกิริยาโต้ตอบอัตโนมัติของพวกเขาคือการป้องกันด้วยการตอบโต้ ดังนั้น แม้ว่าการวิจารณ์คนอื่นอาจช่วยให้คุณระบายความอัดอั้นในใจ แต่ในระยะยาวจะทำให้อีกฝ่ายชอบคุณน้อยลง
บุคคลที่ประสบความสำเร็จหลายคนไม่เคยวิพากษ์วิจารณ์คนอื่นในที่สาธารณะเลย
เบนจามิน แฟรงคลิน เคยบอกว่า ความลับความสำเร็จของเขาคือการ “ไม่พูดว่าร้ายคนอื่น”
อับราฮัม ลินคอล์น ได้เรียนรู้บทเรียนนี้ผ่านประสบการณ์ส่วนตัวอันแสนสาหัส เขาเคยตอกหน้าฝ่ายตรงข้ามผ่านคอลัมน์ในนิตยสารชื่อดัง จนวันหนึ่งคำวิจารณ์ของเขาเกือบกลายเป็นชนวนให้เขาต้องดวลดาบหนึ่งต่อหนึ่งกับอีกฝ่าย โชคดีที่ทั้งสองสงบศึกกันก่อน เหตุการณ์นี้ให้บทเรียนสำคัญอย่างยิ่งแก่ลินคอล์น
นับตั้งแต่นั้นมา ลินคอล์นไม่เคยวิจารณ์คนอื่นในที่สาธารณะอีกเลย ไม่กี่ปีต่อมา สงครามกลางเมืองเริ่มคุกรุ่น ลินคอล์นกล่าวกับบรรดาผู้ที่สบถต่อชาวใต้ไว้อย่างน่าจดจำว่า “อย่าไปวิพากษ์วิจารณ์พวกเขาเลย หากเราอยู่ในสถานการณ์เดียวกับพวกเขาก็คงทำแบบนั้นเหมือนกัน”
การวิพากษ์วิจารณ์ใครสักคนเป็นเรื่องง่าย แต่คุณต้องกล้าให้อภัยในความผิดพลาดหรือข้อบกพร่องของอีกฝ่ายด้วย ถ้าคุณอยากให้ผู้อื่นมาชอบคุณ ลองเอาใจเขามาใส่ใจเรา หาต้นเหตุที่ผลักดันให้พวกเขาทำพลาด สร้างกฎกับตัวเองเลยว่า อย่าวิจารณ์คนอื่นในที่สาธารณะ เพราะคำติชมนี้จะกลับมาทำร้ายคุณในที่สุด
ถ้าคุณต้องการขอความช่วยเหลือจากคนอื่น ให้กล่าวคำชื่นชมบ่อยๆ
คุณจะหาคนมาช่วยคุณได้อย่างไร? ผมแนะนำให้กระตุ้นคนที่คุณอยากให้ช่วยด้วยรางวัลง่ายๆ นั่นคือ คำชื่มชนอย่างจริงใจ
หนึ่งในแรงผลักดันที่สำคัญที่สุดต่อพฤติกรรมมนุษย์ คือความปรารถนาที่จะได้รับการชื่นชมจากผู้อื่น เราทุกคนล้วนชอบคำชมเชย อยากได้ยินว่า “งานที่คุณกำลังทำอยู่มันดีมากๆ”
หลายคนบอกไว้ว่า อารยธรรมที่เกิดขึ้นบนโลกนั้นเกิดจากความต้องการของมนุษย์ที่อยากจะได้รับคำสรรเสริญ
คำชมเชย และการยกย่องผลักดันให้นักปีนเขาคว้าเชือกและอุปกรณ์เดินทางไปเนปาลเพื่อปีนเอเวอเรสต์ ผลักดันให้ศิลปินเขียนนวนิยายชื่อก้องโลก หรือกระทั่งผลักดันให้นักธุรกิจสร้างอาณาจักรมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์
คุณต้องทำให้คนที่ยื่นมือเข้าช่วยเหลือรับรู้ว่า คุณคือคนที่พร้อมจะมอบคำชื่นชม ไม่ใช่คำวิพากษ์วิจารณ์
ผมแนะนำถ้าคุณอยากเป็นคนที่น่าช่วยเหลือ (ร่วมงานด้วย) ให้พูดวลีง่ายๆ เช่น “ขอบคุณค่ะ” หรือ “ขอโทษครับ”
ระวัง! อย่าชื่นชมแบบโอเวอร์จนกลายเป็นการยกยอปอปั้น เพราะอีกฝ่ายจะมองออกแน่ๆ และเขาจะเพิกเฉยต่อคำพูดของคุณ คำชื่นชมของคุณต้องมาจากความจริงใจและซื่อสัตย์ หรือไม่ก็ลองคิดแบบกวีผู้โด่งดังนามว่า ราฟ วอลโดเอเมอร์สัน เขาได้กล่าวไว้ว่า
ทุกคนที่ผมได้พบนั้นมีบางด้านที่เก่งกว่าผมแน่ๆ ดังนั้น คุณจะหาสิ่งที่จะชื่นชมและเรียนรู้จากพวกเขาได้เสมอ
ถ้าคุณปฏิบัติต่ออีกฝ่ายด้วยความเคารพ เขาจะรับรู้ถึงความจริงใจและคุณค่าที่คุณมอบให้อย่างง่ายดาย แล้วเขาจะชอบและสนุกที่ได้ทำงานร่วมกับคุณครับ
ถ้าคุณอยากให้คนอื่นมาสนใจ คุณก็ต้องสนใจเขาก่อน
เราทุกคนล้วนอยากให้มีผู้ฟังที่ดีมารายล้อมเวลาพูด ถ้าผู้ฟังเชียร์ให้เราเล่าเรื่องเกี่ยวกับตัวเราก็ยิ่งน่ายินดี มนุษย์ทุกคนถูกสร้างขึ้นมาให้สนใจในเรื่องของตัวเองอยู่แล้ว ด้วยเหตุนี้เราจึงรู้สึกยินดีทุกครั้งเมื่อพบปะกับใครบางคนที่สนใจเรื่องของเรา
ถ้าคุณอยากให้คนอื่นมาชอบและสนใจ จงเป็นผู้ฟังที่ดี การฟังที่ดีหมายถึงการให้ความสนใจเต็มร้อยกับผู้พูด พยายามแสดงให้คู่สนทนาเห็นว่าคุณอยากเรียนรู้ทุกสิ่งที่พวกเขาพูด อย่าขัดจังหวะหรือก่อกวนให้คู่สนทนาเสียสมาธิ
นักจิตวิทยาผู้โด่งดังนามว่า ซิกมุนด์ ฟรอยด์ ได้รับการกล่าวขวัญในด้านทักษะการฟังมากๆ ฟรอยด์เชี่ยวชาญในการทำให้คู่สนทนารู้สึกสบายใจที่ได้พูดคุยด้วยจนยอมเปิดเผยเรื่องประสบการณ์ส่วนตัวและอารมณ์ลึกๆ ให้ฟรอยด์ทราบเสมอ
ในทางกลับกัน การพูดเรื่องตัวเองมากเกินไปจะทำให้คนอื่นเริ่มไม่ชอบคุณทันที ถ้าคุณเอาแต่พูดเรื่องตัวเองก็เหมือนกับบ่งชี้โดยนัยว่า “ข้าคือศูนย์กลางของจักรวาล” คนรอบข้างก็จะเริ่มถอยหนีไปเรื่อยๆ ดังนั้น เพื่อให้เป็นที่ชื่นชอบมากขึ้น ลองพยายามเป็นผู้ฟังที่ดีและสนับสนุนให้อีกพูดเยอะๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เกี่ยวกับตัวเขาเอง
แสดงความชื่นชมคนอื่น ด้วยการพูดถึงสิ่งที่สำคัญต่อพวกเขา
ทุกคนล้วนอยากสนทนากับผู้ฟังที่ดี ยิ่งได้พูดคุยกับคนที่มีความรู้ในเรื่องที่ตนสนใจก็ยิ่งสนุก ทุกคนชอบพูดคุยเกี่ยวกับสิ่งต่างๆ ที่มีความสำคัญต่อพวกเขา เช่น อาชีพหรืองานอดิเรก จึงไม่แปลกที่คนเราจะชอบกลุ่มคนที่มีความสนใจเหมือนกัน
เมื่อใดก็ตามที่ธีโอดอร์ รูสเวลต์ จะพบปะกับใครสักคนเป็นครั้งแรก อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนนี้จะเตรียมตัวด้วยการศึกษาหัวข้อที่อีกฝ่ายสนใจ รูสเวลต์เข้าใจดีว่า การจะรู้จักใครสักคนนั้นต้องอาศัยความสามารถในการพูดคุยเกี่ยวกับสิ่งที่อีกฝ่ายให้ความสำคัญมากที่สุด
แน่นอนว่ามีหัวข้อหนึ่งที่ทุกคนใส่ใจร่วมกัน นั่นคือ “ตัวเอง” ทุกคนเชื่อว่า ”ตัวเอง” คือหัวข้อที่มีคุณค่าน่าดึงดูดที่สุดและรอให้อีกฝ่ายยืนยันความเชื่อนี้ อดีตนายกรัฐมนตรีของสหราชอาณาจักรที่ชื่อเบนจามิน ดิสราเอลี กล่าวไว้ถูกต้องว่า “ถ้าคุณคุยเรื่องของอีกฝ่ายแล้ว เขาจะฟังได้เป็นชั่วโมง ๆ ”
ครั้งหนึ่งเดล คาร์เนกี้ อยากปลุกให้พนักงานกระฉับกระเฉงมีชีวิตชีวามากขึ้นในวันที่น่าเบื่อสุดๆ คาร์เนกี้ จึงนั่งถามตัวเองว่า “พนักงานคนนี้มีจุดไหนให้ชื่มชนบ้างนะ?” (บางครั้งคำถามแบบนี้ก็ตอบยาก) คาร์เนกี้กล่าวกับพนักงานอย่างจริงใจว่า “ผมอยากมีทรงผมแบบคุณจังครับ” แค่นี้พนักงานคนนั้นก็รู้สึกมีความสำคัญขึ้นมาแล้ว
ในสถานการณ์จริง ถ้าไม่รู้ว่าจะต้องปฏิบัติตัวอย่างไรให้นึกถึงกฎทองนี้ “จงปฏิบัติต่อผู้อื่น เหมือนกับที่คุณอยากให้ผู้อื่นปฏิบัติต่อคุณ”
ทุกคนย่อมอยากให้มีคนมาชมและจดจำสิ่งต่างๆ เกี่ยวกับตัวเองได้
ถ้าคุณต้องการชนะใจผู้อื่น จงแสดงความชื่นชมอย่างเต็มใจ แสดงให้อีกฝ่ายเห็นว่าคุณสนใจในตัวเขา สนใจในสิ่งที่พวกเขาพูดและพยายามจดจำสิ่งที่พวกเขากำลังบอก
คุณควรทักทายผู้อื่นด้วยความร่าเริง ทำตัวเป็นผู้ฟังที่ดีและอย่าลืมจดจำรายละเอียดเล็กๆ อย่าง ชื่อและวันเกิด คุณอาจต้องใช้ความพยายามเล็กน้อย อาจต้องมีจดบันทึกหลังจากการพบปะบ้าง แต่สิ่งเหล่านี้จะให้ผลตอบแทนในระยะยาว
เคล็ดลับที่ง่ายที่สุดที่ช่วยสร้างเสน่ห์ให้กับตัวเองคือ จดจำและพูดชื่อของอีกฝ่ายบ่อยๆ เพราะทุกคนล้วนอยากได้ยินชื่อของตัวเอง เมื่อใดก็ตามที่คุณพบคนหน้าใหม่ โปรดจำชื่อและพยายามพูดชื่อนั้นประกอบบทสนทนา แล้วอีกฝ่ายจะเริ่มชอบคุณ
ธีโอดอร์ รูสเวลต์ ได้รับความนิยมในหมู่พนักงานเพราะเขามีนิสัยชอบทักทายทุกคนด้วยชื่อจริงของคนนั้นๆ นอกจากนี้เขายังตั้งใจฟังสิ่งที่พนักงานพูดและพยายามจดจำสิ่งที่พนักงานบอก เขาให้ความชื่นชมต่อผู้อื่นเสมอ เลยไม่แปลกที่รูสเวลต์จะเป็นหนึ่งในประธานาธิบดีที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในอเมริกา
หลีกเลี่ยงข้อโต้แย้งทุกกรณี
ลองคิดดูดีๆ นะครับว่า การโต้เถียงกับผู้อื่นให้ประโยชน์อะไรบ้าง? 9 ใน 10 ครั้ง เมื่อสงครามสิ้นสุดลงทั้งสองฝ่ายก็ยิ่งมั่นใจในท่าทีของตนมากกว่าเดิม (มากกว่าตอนเริ่มสงครามด้วยซ้ำ)
การโต้แย้งไม่มีข้อดี ไม่ว่าผลลัพธ์จะเป็นอย่างไร ฝ่ายตรงข้ามก็จะยังคงไม่เห็นด้วยกับคุณ แถมจะยังเพิ่มความขุ่นเคืองไม่พอใจต่อตัวคุณและข้อโต้แย้งของคุณ
ดังนั้นวิธีแก้วิธีเดียวก็คือ หลีกเลี่ยงการถกเถียงตั้งแต่ต้น
แต่ถ้าเลี่ยงไม่ได้ก็ลองหยุดฟัง เพราะบางทีการที่คนอื่นกล้าท้าทายมุมมองของคุณก็อาจเป็นเรื่องดีได้ ขอบคุณอีกฝ่ายสำหรับข้อมูลที่ให้มา แล้วตัวคุณก็ลองคิดตามข้อมูลใหม่นั้น ทิ้งอารมณ์หัวร้อนไปก่อน อย่ารีบปากไวโต้เถียงโดยฉับพลันเพียงเพราะอยากจะยัดเยียดความคิดของคุณให้กับเขา จะให้ดีทั้งสองฝ่ายควรควรรักษาระยะห่างพื่อให้แต่ละฝ่ายได้คิดถึงเรื่องนี้อย่างถี่ถ้วน แล้วค่อยมาจับเข่าคุยกันตอนที่อารมณ์เย็นลงแล้วเท่านั้น
อย่าเที่ยวไปบอกว่าคนนู้นคนนี้ผิด เพราะคุณจะได้แต่ความขุ่นเคืองกลับมา
เมื่อใดก็ตามที่คุณบอกใครสักคนว่า “คุณคิดผิด” หรือ “มันเห็นๆ กันอยู่ … ” เท่ากับคุณกำลังบอกเขาว่า “ผมฉลาดกว่าคุณ” นี่ถือเป็นการโจมตีความมั่นใจในตัวเองของอีกฝ่ายโดยตรง ทำให้เขาเสียความรู้สึกและคิดจะล้างแค้น
คุณต้องรู้จักถ่อมตนและเปิดใจให้กว้าง ให้อีกฝ่ายทบทวนมุมมองของตัวเองให้ละเอียดยิ่งขึ้น ด้วยการพูดประมาณว่า “ผมคิดต่างจากคุณนะ แต่ผมอาจจะคิดผิดก็ได้ ผมพลาดอยู่บ่อยครั้ง งั้นลองมาดูข้อเท็จจริงเรื่องนี้อีกครั้งกันดีกว่า… ”
ถ้าคุณเริ่มต้นการคัดค้านแบบนี้ ฝ่ายตรงข้ามจะลดดีกรีความไม่พอใจลง และอาจหันมาฟังประเด็นของคุณด้วยซ้ำ วิธีนี้ช่วยเปลี่ยนฝ่ายตรงข้ามให้กลายเป็นพันธมิตรได้อย่างรวดเร็ว ทำให้คุณเปลี่ยนความคิดของอีกฝ่ายได้ง่ายขึ้น
เบนจามิน แฟรงคลิน นำเคล็ดลับนี้ไปใช้จนเป็นนิสัย เมื่อเขาพูดคุยกับคนอื่น เขาจะตัดคำประเภท “แน่นอน” และ “อย่างไม่ต้องสงสัย” ทิ้งไปเลย เพราะเขาคิดว่าคำศัพท์เหล่านั้นทื่อเกินไปและสะท้อนความคิดที่แข็งกระด้าง แฟรงคลินเลยหันมาใช้วลีอย่าง “ผมคิดว่า” หรือ “ลองจินตนาการดูว่า”
เมื่อไหร่ก็ตามที่คุณทำผิดพลาดให้ยอมรับผิดทันที
เราทุกคนล้วนต้องเคยทำผิดพลาดกันทั้งนั้น เมื่อใดก็ตามที่ใครบางคนกำลังจะดุด่าคุณ วิธีง่ายๆ ที่จะกด mute เสียงคำรามของอีกฝ่ายคือ ยอมรับความผิดพลาดในทันที
หลังจากที่คุณทำผิดพลาดเพียงไม่กี่วินาที ในหัวของอีกฝ่ายก็วางแผนตวาดใส่คุณแล้ว ถ้าในชั่วขณะนั้นคุณออกตัวยอมรับผิดก่อน สถานการณ์จะเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือทีเดียวครับ
คาร์เนกี้เรียนรู้บทเรียนนี้จากประสบการณ์ตรง ครั้งหนึ่งเมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจจับเขาข้อหาพาสุนัขออกมาเดินเล่นโดยไม่ใส่ตะกร้อครอบที่ปากสุนัข ก่อนที่เจ้าหน้าที่ตำรวจจะอ้าปาก คาร์เนกี้ก็แสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งกับการกระทำที่ไม่เหมาะสมของตัวเองทันที เจ้าหน้าที่ตำรวจคนนั้นอาจจะเป็นคนโผงผางหรือนักเทศน์ฝีปากกล้า แต่เนื่องจากคาร์เนกี้ยอมรับผิดอย่างรวดเร็ว เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงรับคำขอโทษและปล่อยคาร์เนกี้ไปโดยไม่เรียกค่าปรับใดใด
อีกตัวอย่างที่เกี่ยวข้องกับการรับผิดคือ การวิจารณ์ตัวเองต่อสาธารณชน เหมือนที่เขาชอบพูดกันว่า “ชิงกัดตัวเองก่อนเจ็บน้อยกว่า” นั่นแหละครับ ฉะนั้นใครๆ ก็สามารถป้องกันตนเองจากดราม่าได้ แต่ต้องอาศัยความกล้าที่จะยอมรับข้อด้อยและจุดบกพร่องของตัวเองอย่างเปิดเผย
ตะล่อมให้อีกฝ่ายพูดว่า “ใช่” บ่อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
ถ้าคุณอยากโน้มน้าวให้อีกฝ่ายเปลี่ยนความคิด อย่าเปิดเผยให้เขารู้โต้งๆ ว่าคุณตั้งใจจะทำอะไร ไม่มีใครอยากเปลี่ยนความคิดหรอกครับ ดังนั้น คุณต้องรู้จักชักจูงพวกเขาทางอ้อม
ก่อนอื่นให้พยายามเอาชนะใจเขาด้วยแสดงความสุภาพอ่อนโยน ถ้าคุณวู่วามและหักดิบ ฝ่ายตรงข้ามจะเลิกฟังคุณทันที และเขาจะลุกขึ้นมาเถียงว่าความคิดของตัวเองดีกว่า
เพื่อหลีกเลี่ยงเหตุการณ์นี้ จงแสดงความสนใจร่วม ทำให้ชัดเจนว่าทั้งคุณและคู่สนทนามีเป้าหมายเดียวกัน อย่าเปิดเผยมุมมองของคุณเองก่อนที่จะมั่นใจว่าอีกฝ่ายเชื่อว่าคุณมีส่วนร่วมนะครับ
เมื่ออีกฝ่ายเห็นว่าเป้าหมายของคุณเป็นทิศทางเดียวกับตนแล้ว วิธีที่มีประสิทธิภาพที่สุดในการชักจูงให้อีกฝ่ายยอมรับความเห็นของคุณคือ ทำให้เขาเห็นด้วยกับคุณบ่อยครั้งที่สุดเท่าที่จะทำได้ แตกประเด็นถกเถียงออกเป็นคำถามย่อยๆ ที่ตอบได้แค่คำว่า “ใช่”
เหตุผลที่อยู่เบื้องหลังวิธีนี้ก็คือ หลักการของโสเครติส ซึ่งกล่าวไว้อย่างเรียบง่ายว่า
ยิ่งคุณได้ยินคำว่า ‘ใช่’ ระหว่างการสนทนามากเท่าไหร่ โอกาสที่คุณจะได้การตอบรับว่า ‘ใช่’ ในข้อเสนอสุดท้ายก็จะมากขึ้นเท่านั้น
ด้วยหลักการนี้ คุณสามารถทำให้คนอื่นเห็นด้วยกับความคิดที่พวกเขาเคยต่อต้านอย่างรุนแรงได้อย่างทรงประสิทธิภาพทีเดียวครับ
สรุปส่งท้ายก่อนวางหนังสือ How to Win Friends & Influence People
ถ้าอยากให้คนอื่นมาชอบและหันมาสนใจ อย่าลืมยิ้ม รับฟัง และกล่าวชื่มชมต่อพวกเขา ในครั้งต่อไปที่คุณพบคนใหม่ๆ จงใส่ใจในการยิ้มให้กับพวกเขาขณะที่คุณกำลังจับมือ เพราะมันช่วยสร้างความประทับใจครั้งแรก อย่าลืมเรื่องครั้งแรกเชียวครับ มันสำคัญมาก
เดล คาร์เนกี้ เป็นนักเขียนระดับตำนานที่ฝากผลงานเอาไว้มากมาย ในวัยเด็กเขายอมทำงานทุกอย่างทั้ง เช่น รับจ้างตัดหญ้า รับจ้างเก็บผลไม้ เพื่อหาเงินมาเลี้ยงปากท้อง แม้เขาจะเกิดในครอบครัวที่ค่อนข้างยากจน แต่เขาเป็นคนที่ให้ความสำคัญกับการศึกษามาก ซึ่งการศึกษานี่เองที่ช่วยยกระดับชีวิตของเขาให้กลายเป็นนักเขียนชื่อดังและนักพูดที่เก่งกาจที่สุดในยุคนั้น
นอกจากหนังสือ How to Win Friends & Influence People แล้ว เดลยังมีผลงานอื่นๆ ที่น่าสนใจอีกมากมาย ซึ่งคุณสามารถเข้าไปหาเล่มที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ของอเมซอนครับ
หนังสืออื่นที่น่าสนใจไม่แพ้ How to Win Friends & Influence People
- หลังจากอ่านหนังสือเล่มนี้จบ สนพ.บิงโกขอแนะนำให้คุณอ่าน INFLUENCE: The Psychology of Persuasion ที่เขียนโดย Robert B. Cialdini ต่อ หนังสือเล่มนี้อธิบายหลักการพื้นฐานของการโน้มน้าวผู้คน หากรู้หลักการเหล่านี้ คุณจะได้กลายเป็นผู้ที่มีทักษะในการชักจูงและสามารถป้องกันตัวเองจากความพยายามในการโน้มน้าวของผู้อื่นได้
- จิตวิทยาในการมัดใจคนนั้นเป็นเรื่องที่น่าค้นหาเหลือเกิน สนพ.บิงโกอยากแนะนำให้คุณลองอ่านหนังสือเรื่อง ทำอะไรใครก็ Like ด้วยเทคนิคมัดใจใน 90 วินาที ผลงานของนักจิตวิทยาชื่อดังจากเกาะอังกฤษ ซึ่งถูกแปลไปแล้วมากกว่า 30 ภาษาทั่วโลก
- การเข้าอกเข้าใจคนอื่นเป็นทักษะที่สอนกันได้ แม้แต่ในสแตนฟอร์ดก็มีหลักสูตรเรียน เพื่อเตรียมพร้อมให้เรารับมือกับอนาคตที่หุ่นยนต์กำลังมาแย่งงานเรา แต่เดี๋ยวก่อน แค่เข้าใจคนก็หางานทำได้แล้วหรือ? หนังสือ A Whole New Mind มีคำตอบ
- สุดท้ายนี้ สนพ.บิงโกขอแนะนำหนังสืออีกเล่มที่จะเปลี่ยนมุมมองในการใช้ชีวิตและการทำงานของคุณไปตลอดกาล หนังสือเล่มนี้มีชื่อว่า ชีวิตติดปีก ด้วยศิลปะแห่งการช่างแม่ง ผลงานของ MarK Manson ซึ่งขายไปแล้วมากกว่า 8 ล้านเล่มทั่วโลก
Pingback: สรุปหนังสือ Emotional Intelligence: รู้แค่นี้ก็ประสบความสำเร็จกว่าคน IQ 180
Pingback: สรุปหนังสือ Grinding It Out: ความลับของอาณาจักรแมคโดนัลด์ จากปากผู้ก่อตั้ง
Pingback: กฎ 10 ข้อของ Sam Walton เจ้าของวอลมาร์ท ซูเปอร์มาร์เก็ตที่ใหญ่ที่สุดในโลก
Pingback: สรุปหนังสือ A Whole New Mind: ทักษะด้านไหน "ชนะ" ในโลกอนาคต
Pingback: สรุปหนังสือ Tribes เป็นหัวหน้าเผ่าในโลกสมัยใหม่ - สำนักพิมพ์บิงโก