สรุปหนังสือ Free เปิดเผยจิกซอว์ชิ้นสำคัญ ของทุกธุรกิจในศตวรรษที่ 21

วันนี้ผมจะมาสรุปสาระสำคัญคร่าวๆ ของหนังสือ Free ให้ทุกท่านได้อ่านกันครับ เพียงใช้เวลา 5 นาทีกับบทความนี้แล้วมุมมองธุรกิจของคุณผู้อ่านจะกว้างขึ้น ถ้าเป็นไปได้ผมอยากส่งต่อหนังสือเล่มนี้ให้เจ้าหน้าที่รัฐได้อ่านกัน รบกวนคุณผู้อ่านทุกท่านช่วยแชร์บทความนี้ให้ด้วยนะครับ

เมื่อตลาดดิจิตอลถือกำเนิดขึ้น วิถีการทำธุรกิจในศตวรรษที่ 21 ก็เปลี่ยนโฉมไปในแบบที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ความเข้าใจเกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์ดั้งเดิมเริ่มกลับหัวกลับหาง จึงถึงเวลาแล้วที่เราทุกคนต้องเปิดรับกระบวนการคิดใหม่ๆ ต้องเข้าใจว่าเงินจะเข้าออกในรูปแบบไหนอย่างถ่องแท้ และ คุณจะใช้ประโยชน์จาก “ของฟรี” ได้อย่างไร?

 

หากทำให้ผลิตภัณฑ์ดูเข้าถึงยาก ผู้ผลิตก็จะทำเงินได้มากขึ้น

ในช่วงทศวรรษที่ 1930 ทุกค่ายเพลงต่างประสบปัญหาเหมือนกัน เมื่อวิทยุกลายเป็นของใช้ประดับครัวเรือนของคนหลายแสนคนทั่วอเมริกา ผู้คนเริ่มฟังเพลงฟรีผ่านคลื่นวิทยุมากกว่ายอมจ่ายเงินซื้อแผ่นเสียงและดูคอนเสิร์ต

หลายธุรกิจกังวลว่า ถ้าผลิตภัณฑ์ของตนสามารถหาบริโภคได้ฟรี ๆ ลูกค้าจะไม่จ่ายเงินเพื่อซื้อผลิตภัณฑ์ของตนอีก ค่ายเพลงเลยพยายามสร้างกำแพงให้คนเข้าถึงผลงานยากขึ้น บางค่ายไม่อนุญาตให้สถานีวิทยุนำเพลงไปออกอากาศ โดยคิดว่าวิธีนี้จะเพิ่มมูลค่าให้กับการแสดงคอนเสิร์ตของศิลปินในสังกัด

กลยุทธ์ “ควบคุม Supply เพื่อกระตุ้น Demand” นั้นฟังดูเป็นตรรกะทางธุรกิจที่เข้าท่าเลยทีเดียว

วิธีนี้ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ธุรกิจเพลงเท่านั้น อุตสาหกรรมอื่น ๆ ต่างก็ตระหนักเช่นเดียวกัน บรรดาธุรกิจเล็กใหญ่ต่างก็แห่กันเพิ่มความยากในการเข้าถึงสินค้าโดยใช้เครื่องมือที่ชื่อว่า ลิขสิทธิ์ (Copyright) นั่นเอง

การจดลิขสิทธิ์ช่วยป้องกันไม่ให้บริษัทอื่นผลิตสินค้าหน้าตาเหมือนกันออกมาในตลาด ทำให้หลีกเลี่ยงการแข่งขันได้ในระดับหนึ่ง ตอนที่บริษัท Microsoft ปล่อยซอฟต์แวร์ MS Office ออกมา ก็ไปจดลิขสิทธิ์เอาไว้ทำให้ Microsoft เป็นผู้ผูกขาดอุตสาหกรรมนี้ ผู้บริโภคที่ต้องการใช้ซอฟต์แวร์ทำเอกสารต้องจ่ายเงินตามที่ Microsoft กำหนด

“ความหายาก” กระตุ้นต่อมความอยากได้ในตัวผู้บริโภคมากขึ้น และผู้ผลิตก็สามารถหลีกเลี่ยงการแข่งขันได้ นี่คือหลักคิดในการทำธุรกิจในศตวรรษที่ 20

 

ของฟรีไม่มีในโลก

การแจกของฟรีเป็นกลยุทธ์การตลาดที่เจ้าของกิจการนิยมใช้ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน

ผมขอย้อนกลับไปในยุคคาวบอย ประมาณปี 1800 ในช่วงกลางวัน เจ้าของบาร์ในนิวออร์ลีนแทบทุกแห่งมักจะนั่งตบยุงเพราะไม่มีลูกค้า พวกเขาจึงคิดวิธีดึงดูดนักดื่มด้วยการเสนอกับแกล้มฟรีเพื่อล่อให้นักดื่มเข้าร้าน และควักกระเป๋าตังซื้อเหล้าเพิ่ม

ถ้าคุณผู้อ่านลองสังเกตของฟรีรอบตัวจะเห็นว่า สินค้าฟรีมักจะต้องใช้คู่กับสินค้าอีกอย่างหนึ่งเสมอ ซึ่งสินค้าที่ว่านั่นต้องจ่ายเงินซื้อมา เช่น เครื่องโกนหนวดของ Gillette หากคุณไม่ซื้อใบมีด ที่โกนหนวดที่คุณถืออยู่ก็ไร้ค่าทันที ราคาของสินค้าฟรีจะแอบแฝงอยู่ในสินค้าอีกตัวนึงตลอดเวลา

free
King C. Gillette (ค.ศ.1855-1932) ผู้คิดค้นที่โกนหนวดและใบมีดโกนยิลเลตต์ที่ใช้กันจนถึงทุกวันนี้

 

แม้จะขาดทุนจากการแจกฟรี บริษัทก็สามารถชักจูงให้ผู้บริโภคมาละลายทรัพย์กับสินค้าตัวอื่นได้ ค่ายมือถือยักษ์ใหญ่ในไทยทุกเจ้าต่างก็ใช้กลยุทธ์นี้เพื่อแย่งชิงลูกค้ากันอย่างบ้าระห่ำ ด้วยการแจกมือถือฟรีหรือซิมฟรี เพื่อแลกกับสัญญาพ่วงเก็บค่าใช้บริการสัญญาณมือถือและอินเตอร์เน็ตรายเดือน

เจ้าของสถานีวิทยุ นิตยสาร และหนังสือพิมพ์ ก็ใช้กลยุทธ์นี้เหมือนกัน พวกเขาจ้างพนักงานมาสร้างคอนเทนต์ให้ผู้คนได้เสพแบบฟรีๆ แล้วคุณผู้อ่านเคยสงสัยไหมครับว่า เจ้าของธุรกิจพวกนี้เอาเงินที่ไหนมาจ้างพนักงาน?

คำตอบคือ พวกบริษัทโฆษณาและผู้ผลิตสินค้าต่างๆ ครับ พวกมือที่สามเหล่านี้ออกเงินค่าใช้จ่ายเหล่านี้แทนคนฟัง คนดู และคนอ่าน เพื่อต้องการเข้าถึงกลุ่มลูกค้า พูดอีกนัยหนึ่งคือ สถานีวิทยุ นิตยสาร และหนังสือพิมพ์กำลัง “ขายคนเสพคอนเทนต์” ให้กับพวกมือที่สาม

โลกธุรกิจไม่มีของฟรีหรอกครับ ยังไงเราก็ต้องจ่ายเงินไม่ทางใดก็ทางหนึ่งอยู่ดี ไม่ว่าจะ

  1. จ่ายผ่านผลิตภัณฑ์ควบคู่ (ใบมีดโกน)
  2. จ่ายค่าบริการภายหลัง (ค่าโทรศัพท์)
  3. ให้มือที่สามจ่ายแทน (สปอนเซอร์)

 

สินค้าแจกฟรีอาจทำให้ผู้บริโภคประเมินคุณค่าสินค้าต่ำลง

เวลาผมไปเดินห้างก็มักจะเห็นพนักงานยืนแจกขนมขบเคี้ยวให้ทานฟรีอยู่บ่อยๆ ด้วยสัญชาติญาณคนรักของฟรี ผมก็หยิบขนมมาโดยไม่คิดหรอกว่าอยากกินหรือเปล่า เพราะสมองของผมแปลคำว่า “ฟรี” = ไม่มีความเสี่ยงด้านการเงินมาเกี่ยวข้อง แม้ว่าขนมจะไม่ถูกปาก ผมก็ไม่เสียประโยชน์อะไร จริงไหมครับ?

บริษัทต่างๆ เลยใช้หลักจิตวิทยานี้ในการทำการตลาด

การแจกสินค้าฟรีทำให้สินค้าได้รับความสนใจมากขึ้น แต่ก็อาจส่งผลข้างเคียง ผู้บริโภคอาจจะประเมินคุณค่าสินค้าต่ำลงเพราะผู้บริโภคไม่ได้ใช้แรง เงิน หรือเวลาในการตัดสินใจกับสินค้านั้นเลย

การที่ผู้บริโภคจ่ายเงินเพื่ออะไรบางอย่าง หมายความว่าพวกเขาต้องใช้กระบวนการตัดสินใจและชั่งน้ำหนักความคุ้มค่าแล้ว จึงควักเงินออกจากกระเป๋าตังค์ เลยไม่แปลกที่ผู้บริโภคจะใส่ใจกับสินค้าตัวนั้นมากขึ้น

free
โฆษณายางรถยนต์ Firestone ในนิตยสาร Time วันที่ 21 พฤษภาคม 1956

 

นี่คือเหตุผลที่ว่าทำไมพื้นที่โฆษณาในนิตยสารเสียเงิน ถึงแพงกว่าในนิตยสารฟรีถึง 5 เท่า ถ้าผู้อ่านเลือกที่จะจ่ายเงิน แสดงว่าผู้อ่านให้คุณค่ากับสิ่งนั้นและมีโอกาสเปิดใจกับโฆษณาในนั้นมากกว่า แต่จำนวนผู้อ่านที่ยอมควักเงินซื้อนิตยสารมีไม่เยอะหรอกนะครับ

การได้อย่างเสียอย่างนี้เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในศตวรรษที่ 20 กลยุทธ์แจกฟรีสามารถดึงดูดฃผู้บริโภคจำนวนมากได้ก็จริง แต่พวกเขาจะไม่ได้เข้ามามีส่วนร่วมอะไรเท่าไหร่ ถ้าเปลี่ยนมาเรียกเก็บเงินค่าผลิตภัณฑ์ บริษัทก็จะเข้าถึงผู้บริโภคน้อยกว่า แต่ผู้บริโภคก็จะเข้ามามีส่วนร่วมในผลิตภัณฑ์นั้นๆ มากกว่า

 

ราคาสินค้าดิจิตอลจะลดลงเหลือ 0 บาทจริงเหรอ!?

สินค้าดิจิตอลในที่นี้ไม่ได้หมายถึง กล้องดิจิตอลหรือชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ที่จับต้องได้นะครับ แต่ผมหมายถึงพวกโปรแกรมซอฟต์แวร์ ไฟล์เพลง ไฟล์ภาพหรือ E-book ที่จับต้องไม่ได้ต่างหาก

โดยทั่วไปแล้ว กว่าสินค้าจะถูกผลิตออกมา ต้องอาศัยเงินลงทุนเพื่อซื้อวัตถุดิบแล้วนำมาผ่านกระบวนการผลิตหลายขั้นตอนจนมีหน้าตาเหมือนกับที่เห็น แต่สินค้าดิจิตอลนั้นต่างออกไป เพราะสินค้าเหล่านี้คือชุดข้อมูลหลายๆ ชุดที่ประกอบกันเป็นคอนเทนต์ ขั้นตอนการผลิตก็ไม่ได้ยุ่งยากซับซ้อน แทบไม่ต้องใช้เงินเลย ทำให้ราคาของสินค้าดิจิตอลมีโอกาสที่จะเข้าใกล้ศูนย์มากขึ้นเรื่อยๆ

 

ทำไมราคาสินค้าดิจิตอลจะต่ำลงจนเข้าใกล้ศูนย์?

  1. เทคโนโลยีที่จำเป็นในการจัดเก็บไฟล์และประมวลผลข้อมูลมีประสิทธิภาพสูงขึ้นและถูกกว่าเมื่อก่อนหลายเท่า ปัจจุบันทุกคนสามารถเป็นเจ้าของสมาร์ทโฟนได้ เช่นเดียวกับการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตในปัจจุบันที่เร็วและถูกกว่าแต่ก่อนมากๆ
  2. ผลิตภัณฑ์ดิจิตอลสามารถทำซ้ำได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม ไม่ว่าคุณจะทำ 1 ชิ้นหรือ 2 ล้านชิ้น ค่าใช้จ่ายก็เท่ากัน
  3. อินเทอร์เน็ตมอบตลาดเสรีให้กับเรา ผู้ผลิตทุกเจ้าสามารถวางขายสินค้าดิจิตอลแบบไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ ใครก็ตามที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้ก็สามารถเลือกซื้อสินค้าได้ นี่เป็นกลไกที่ขับเคลื่อนให้ตลาดมีการแข่งขันสูง ทำให้ผู้ผลิตต้องควบคุมราคาให้ต่ำที่สุดเท่าที่จะทำได้ (จนใกล้เคียงกับต้นทุนขั้นต่ำในการผลิตก็คือ 0 บาทนั่นเอง)

ปัจจัยทั้ง 3 อย่างนี้จะผลักดันให้ราคาผลิตภัณฑ์ดิจิตอลลดลงเป็น 0 ในที่สุด

 

อินเทอร์เน็ตสร้างเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ที่เรียกว่า Gift Economy

ถ้าคุณผู้อ่านเคยเขียนหรืออ่านบทความในเว็บ Blog หรือในวิกิพีเดีย คุณผู้อ่านจะรู้ว่าการเขียนบทความไม่ได้เป็นเรื่องของนักข่าวเท่านั้น อินเทอร์เน็ตเป็นแพลตฟอร์มที่ช่วยให้นักเขียนมือสมัครเล่นนับล้านสามารถสร้างสรรค์และแชร์คอนเทนต์ เพื่อเชื่อมโยงกับผู้คนที่มีความชื่นชอบเหมือนกันได้

ผู้ที่คลั่งไคล้ในการทำภาพยนตร์อาจต้องผิดหวังที่ไม่มีคนที่มีความชอบแบบเดียวกันในละแวกบ้านเลย แต่เมื่อเขาได้เผยแพร่บทความให้ความรู้เชิงลึกเกี่ยวกับภาพยนตร์ในเว็บไซต์ IMDb ก็สามารถเข้าถึงคอหนังนับล้านได้ ไม่มีใครจ่ายเงินค่าเขียนบทความให้เขา แต่สิ่งที่เขาจะได้กลับไปก็คือ “ความพึงพอใจ”

โดยปกติแล้ว ผู้คนจะยอมจ่ายเงินให้กับสิ่งของที่มีคุณค่าคุ้มกับเงินที่จ่ายไป แต่ตรรกะนี้ใช้ไม่ได้กับระบบเศรษฐกิจแบบใหม่ที่มีชื่อเรียกว่า Gift Economy หรือระบบเศรษฐกิจแบบการให้

ในทุกระบบเศรษฐกิจ สิ่งของต่าง ๆ จะมีคุณค่าก็ต่อเมื่อมันมีจำนวนไม่เพียงพอและหายาก แต่ในระบบเศรษฐกิจแบบการให้ คอนเทนต์และข้อมูลมากมายมีให้เสพบนออนไลน์ แต่สิ่งที่หายากคือความสนใจต่อคอนเทนต์นั้นๆ บล็อกที่ไม่มีใครอ่านก็คือบล็อกที่ไม่มีคุณค่า ดังนั้น ในเศรษฐกิจแบบใหม่นี้ มูลค่าของผลิตภัณฑ์จะถูกกำหนดโดยความสนใจที่ชาวเน็ตมอบให้ในรูปแบบจำนวน Like, Followers, Rating และ Retweet

free
สิ่งที่มีค่ามากกว่าเงินคือความสนใจ นักสร้างสรรค์จึงอาจจะสร้างผลงานโดยไม่รับค่าตอบแทนเลยก็เป็นได้

 

การถูกละเมิดลิขสิทธิ์เป็นรสชาติของชีวิต

ผลงานของนักร้องเพลงป๊อปชาวจีนอายุ 21 ปีที่ชื่อ Xiang Xiang ถูกดาวน์โหลดมากกว่า 4 ล้านครั้ง แต่เธอไม่ได้รับเงินกลับมาเลยสักหยวนเพราะทุกการดาวน์โหลดนั้นเป็นแบบละเมิดลิขสิทธิ์

การคัดลอกและแจกจ่ายผลิตภัณฑ์ฟรีๆ โดยไม่ได้รับอนุญาตเกิดขึ้นจากตลาดในศตวรรษที่ 21 เนื่องจากผลิตภัณฑ์ดิจิตอลสามารถคัดลอกได้โดยแทบไม่ต้องใช้ต้นทุน ผู้บริโภคมักเสพเพลง วิดีโอ และซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ฟรีๆ

เพลงทั้งหมดที่ขายในประเทศจีนแบบถูกลิขสิทธิ์มีประมาณ 5% เท่านั้น ศิลปินชาวจีนเรียนรู้ที่จะยอมรับมัน เพราะสุดท้ายเพลงที่ปล่อยออกไปก็ช่วยขยายฐานแฟนคลับของศิลปิน

แม้ว่าเพลงจะหลุดออกไปฟรีๆ แต่ Xiang Xiang ก็ยังทำกำไรจากเพลงได้ เพราะสี่ล้านคนที่ละเมิดลิขสิทธิ์กลายเป็นแฟนเพลงของเธอ เธอสามารถหารายได้จากการเป็นพรีเซนเตอร์ รับงานโฆษณา และการทัวร์คอนเสิร์ต

free
คณะตลก Monty Python

 

แม้ว่าศิลปินตะวันตกยังคงต่อสู้กับการละเมิดลิขสิทธิ์อยู่บ้าง แต่บางคนก็ปรับตัวเปลี่ยนมานำเสนอผลงานของตนเองฟรีๆ เช่นกัน คณะตลก Monty Python เป็นตัวอย่างที่ดี พวกเขาเอือมกับคลิปคุณภาพต่ำที่ถูกอัพโหลดบน Youtube แบบละเมิดลิขสิทธิ์ เลยตัดสินใจทำช่องของตัวเองแล้วเผยแพร่ผลงานทั้งหมดแบบฟรีๆ

วิธีนี้ไม่เพียงไปหน่วงพวกละเมิดลิขสิทธิ์ แต่ยังเป็นประโยชน์ต่อ Monty Python ด้วย เพราะคลิปออนไลน์คุณภาพสูงกระตุ้นความต้องการผลิตภัณฑ์ของผู้ชมได้เป็นอย่างดี

3 เดือนต่อมา ยอดขายแผ่น DVD ของ Monty Python พุ่งทะยานติดอันดับ 1

การละเมิดลิขสิทธิ์ในสินค้าดิจิตอล เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่บริษัทหรือศิลปินที่หลักแหลมก็จะหาวิธีทำกำไรจากเหตุการณ์นี้จนได้นั่นแหละครับ

 

แจกผลิตภัณฑ์ฟรีเพื่อสร้างฐานผู้ใช้

คนส่วนใหญ่รู้จัก Google ในฐานะบริษัทที่มีนวัตกรรมเป็นเลิศ แต่ไม่ค่อยมีใครรู้ว่าทุกวันนี้ Google จ่ายค่าจ้างให้พนักงานหลักสิบล้าน เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ แล้วนำไปแจกฟรี แน่นอนว่า Google ไม่ได้หวังรายได้จากการขายผลิตภัณฑ์ แต่ต้องการสร้างและเก็บฐานข้อมูลผู้ใช้จำนวนมาก

เมื่อเราใช้บริการ Google Maps, Gmail, Google Chrome ฯลฯ เราก็ต้องอนุญาติให้ Google เข้าถึงข้อมูลการใช้งาน จากนั้น Google ก็จะเก็บข้อมูลไลฟ์สไตล์ ความสนใจ และพฤติกรรมออนไลน์ของเราไปพัฒนาผลิตภัณฑ์ตัวถัดไป

free
ผลิตภัณฑ์ที่ Google (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น Alphabet) ปล่อยออกมานั้น เกิดจากการวิจัยผู้บริโภคอย่างเข้มข้น ผลิตภัณฑ์หลายตัวจึงได้รับความนิยม

 

แล้ว Google ทำเงินจากไหน?

แม้ว่าผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่ของ Google เป็นของฟรี แต่ Google ก็รู้จักนำข้อมูลผู้ใช้ไปวิเคราะห์อย่างชาญฉลาดและสร้างช่องทางโฆษณาออนไลน์ที่มีประสิทธิภาพสูง จนผู้ประกอบการทุกคนบนโลกยอมจ่ายเงินให้กับบริการนี้มากถึง 2 หมื่นล้านเหรียญต่อปี

การสร้างฐานลูกค้าเพื่อที่จะออกแบบผลิตภัณฑ์ให้ดีขึ้นแล้วสร้างรายได้ภายหลัง เป็นหลักการที่บริษัทดิจิตอลทุกขนาดสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ บริษัทดิจิตอลที่ฉลาดจะสร้างโมเดลธุรกิจโดยมีของ “ฟรี” มาเกี่ยวข้องเสมอ เพราะพวกเขารู้ว่าความนิยมสำคัญพอๆ กับรายได้ ข้อมูลผู้ใช้ที่ได้รับของ “ฟรี” ช่วยให้ Google รู้ว่าควรเก็บเงินจากตรงไหน

 

สินค้าพรีเมียมมีดี

โมเดลธุรกิจของ Spotify กับ Tinder มีอะไรเหมือนกันบ้างครับ? พอจะนึกออกไหม?

เฉลยล่ะนะครับ ผลิตภัณฑ์ของทั้งคู่มี 2 เวอร์ชันคือ เวอร์ชันฟรีและเวอร์ชันพรีเมียม ถ้าคุณอยากฟังเพลงแบบไม่มีโฆษณาคั่นบน Spotify หรืออยากกดไลค์สาวๆ ได้ไม่จำกัดบน Tinder ก็ต้องเสียตังเพื่ออัพเกรดเป็นเวอร์ชันพรีเมียม

บริษัทเหล่านี้รู้ว่าการสร้างฐานลูกค้าจำนวนมากมีความสำคัญไม่น้อย พวกเขาเลยปล่อยผลิตภัณฑ์เวอร์ชันฟรีให้ทุกคนใช้ แล้วค่อยเรียกเก็บเงินจากลูกค้าที่ต้องการคุณสมบัติพิเศษเพิ่มเติมจากเวอร์ชันฟรีได้

Arduino คือตัวอย่างบริษัทผลิตฮาร์ดแวร์ที่นำโมเดลธุรกิจนี้ไปใช้ เว็บไซต์ Arduino มีพิมพ์เขียวให้ดาวน์โหลดฟรีๆ เพื่อกระตุ้นให้นักประดิษฐ์สร้างผลงานด้วยตัวเองและแบ่งปันเคล็ดลับและประสบการณ์บนกระทู้ชุมชนออนไลน์ จากนั้น Arduino ก็เสนอขายอุปกรณ์สำเร็จรูปที่คุณเองก็สร้างได้หากทำตามพิมพ์เขียว (ที่แจกให้อ่านฟรี) แต่ Arduino รู้ว่านักประดิษฐ์ส่วนใหญ่ยินดีที่จะจ่ายเงินเพื่อประหยัดเวลา

มองในมุมเจ้าของธุรกิจ การเสนอขายสินค้าทั้งเวอร์ชันฟรีและแบบพรีเมียม ทำให้สร้างกลุ่มผู้ใช้จำนวนมากและทำกำไรได้ในที่สุด
มองในมุมลูกค้า สินค้าเวอร์ชันฟรีจะช่วยให้พวกเขารู้จักกับผลิตภัณฑ์ ก่อนจะตัดสินใจซื้อเวอร์ชันอัพเกรดได้

เรียกว่าได้ทั้งสองฝ่ายล่ะครับ

 

สรุปส่งท้ายก่อนวางหนังสือ Free

แนวคิด “ของฟรี” เป็นเพียงแค่เครื่องมือทางการตลาดเท่านั้น แต่หลังจากการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตกลายเป็นปัจจัยที่ 5 และเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ “ของฟรี” จึงกลายเป็นส่วนหนึ่งของโมเดลธุรกิจในยุคนี้ไป ไม่ช้าก็เร็วทุกบริษัทจะต้องปรับโมเดลธุรกิจของตัวเอง

หากคุณผู้อ่านเป็นผู้ประกอบการ หลังจากอ่านบทความนี้จบ ผมแนะนำให้ลองคิดดูเล่นๆ ว่าผลิตภัณฑ์ของตัวเองสามารถแบ่งหรือลดทอนคุณสมบัติบางตัว แล้วปล่อยให้ผู้บริโภคใช้ฟรีได้บ้างหรือไม่ จากนั้นค่อยเรียกเก็บเงินกับรุ่นพรีเมียมที่มีคุณสมบัติพิเศษเพิ่มเติม นอกจากจะได้แฟนคลับเพิ่มแล้วยังทำกำไรได้อีก อย่าลืมนำไปใช้กันนะครับ

 

หนังสือแนะนำเพิ่มเติม

กลยุทธ์ “ของฟรี” ในบทความนี้ เป็นหนึ่งในกลยุทธ์สำหรับผู้ที่เริ่มต้นธุรกิจมาซักพักแล้ว และกำลังหาทางทำกำไรเพิ่ม แต่ถ้าคุณผู้อ่านยังไม่เคยแตะเรื่องการลงทุนมาก่อนเลยและไม่รู้จะเริ่มที่ตรงไหนดี สำนักพิมพ์บิงโกเราขอนำเสนอหนังสือ เปลี่ยนฝันกลางวัน ให้ดังเป็นพลุแตก หรือ The Idea in You ที่ไม่เพียงช่วยให้คุณผู้อ่านเริ่มย่างเข้าสู่วงการธุรกิจสตาร์ทอัพ (SMEs) ได้อย่างมั่นใจ แต่ถ้าใครไม่มีแม้แต่ “ไอเดียในการหาเงิน” หนังสือเล่มนี้ก็จะช่วยด้วย! เรียกว่านำไปต่อยอดได้ครั้งแล้วครั้งเล่า

Martin Amor และ Alex Pellew ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ ยังเป็นผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของบริษัทชื่อดังระดับโลกอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น Nike, Samsung, Nestle และอีกมากมาย พวกเขามีเคล็ดลับอะไรเก็บงำเอาไว้กันนะ?

2 thoughts on “สรุปหนังสือ Free เปิดเผยจิกซอว์ชิ้นสำคัญ ของทุกธุรกิจในศตวรรษที่ 21

  1. Pingback: สรุปหนังสือ Everything Store: Amazon ร้านขายของออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก

  2. Pingback: สรุปหนังสือ The Long Tail เปิดกรุขุมทรัพย์ด้วยกลยุทธ์การตลาดหางยาว

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราะห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก