ปัจจุบัน พลังแห่งเทคโนโลยีช่วยให้เราเข้าถึงทุกกิจกรรมง่ายกว่าในอดีตหลายร้อยเท่า หลายคนรู้สึกว่าต้องทำทุกอย่าง ต้องมีทุกอย่าง เลยจัดตารางการใช้ชีวิตจนแน่นเอี้ยด ทุกช่วงเวลาเต็มไปด้วยกิจกรรมที่ช่วยพัฒนาชีวิตตัวเองให้ดีขึ้น แต่กลับลืมความจริงข้อนึงไปซะสนิทว่า เราทำทุกอย่างหรือมีทุกอย่างไม่ได้
แม้แต่ซุปเปอร์แมนรวมร่างกับวันเดอร์วูแมนก็เป็นที่หนึ่งในทุกเรื่องไม่ได้หรอกค่ะ เราเป็นเจ้าของรถทุกคันบนโลกไม่ได้ และเก็บเกี่ยวทุกประสบการณ์ไม่ได้ ฉะนั้นเราก็ต้องหันมาให้ความสำคัญกับสิ่งที่ “ควร” ทำและเลือกสิ่งที่นำความสุขมาให้ดีกว่า
หนังสือ Essentialism จะช่วยให้คุณผู้อ่านรู้จักแยกสิ่งสำคัญออกมา และทิ้งสิ่งไม่จำเป็นไป ส่วนสิ่งที่เหลืออยู่ก็จะนำพาคุณไปพบกับชีวิตที่แฮปปี้✌️
หลีกเลี่ยงงานที่ไม่จำเป็นด้วยหลักการ Essentialism
ชีวิตเราเต็มไปด้วยงานและความรับผิดชอบมากมายทั้งที่ไม่รู้ว่ามันสำคัญกับเรามากน้อยแค่ไหน แม้ว่าเราจะพยายามเลือกเรื่องที่ต้องทำก่อนแล้ว แต่ก็ยังมีอีกหลายเรื่องที่ดึงความสนใจเราออกไป
สิ่งที่ดึงความสนใจออกไปนี่แหละ คือกำแพงที่ปิดกั้นไม่ให้เราก้าวไปข้างหน้า แต่อย่าเพิ่งกังวลไปค่ะ ในบทความนี้แอดจะมาบอกวิธีจัดลำดับความสำคัญของงานต่างๆ ด้วยหลักการ Essentialism!
หัวใจของหลักการนี้มี 3 ประการ ได้แก่
- ทำให้น้อยลง แต่ทำให้ดีกว่าเดิม : เขี่ยสิ่งที่ไม่สำคัญหรือสำคัญน้อยออกไปจากชีวิตซะ จากนั้นก็ทำสิ่งที่เหลือให้ดีกว่าเก่า
- ลืมคำพูดที่ว่า จงเป็นทุกอย่าง ไปซะ : เลือกเฉพาะสิ่งที่เราทำได้จริงๆ เลือกหนทางเดียวที่สำคัญกับเราจริงๆ อย่าพุ่งไปทุกทิศทุกทาง หมั่นตั้งคำถามกับตัวเองว่า อะไรบ้างที่คุ้มค่ากับเวลาและแรงกาย ตัดสินใจให้เด็ดขาดค่ะ
- ลงมือทำทันที : อย่ารอจนกว่าทุกอย่างพร้อมแล้วค่อยลงมือทำ เมื่อภารกิจที่สำคัญถูกคัดกรองออกมาแล้วก็ลงมือกันเลย!
3 ข้อนี้อาจฟังดูง่าย แต่หลายคนกลับทำไม่สำเร็จ ในหัวข้อต่อๆ ไปแอดจะบอกคุณเองว่าทำไม
เลือกสิ่งดีๆ เพื่อตัวเอง
มีใครบ้างที่ชอบพูดประโยค “ฉันต้อง…” บ่อยกว่าประโยค “ฉันเลือกที่จะ…” ?
ถ้าใช่ ก็แสดงว่าคุณผู้อ่านกำลังเดินออกนอกเส้นทาง Essentialism แล้วล่ะค่ะ
หลายคนรู้สึกว่าตัวเองขาดความสามารถในการเลือก เพราะคิดว่าไม่มีสิทธิ์เลือก หรือคุ้นชินกับสถานการณ์ที่เต็มไปด้วยภาระมากมายจนไม่ยอมคิดแก้ไข
แอดจะยกตัวอย่างการทดลองเกี่ยวกับสุนัขงานหนึ่ง นักวิจัยแยกสุนัขออกเป็น 3 กลุ่ม และจะทดลองด้วยการช็อตไฟฟ้ากระแสอ่อน กลุ่มแรกมีคันโยกให้เพื่อหยุดไฟฟ้า อีกกลุ่มมีคันโยกที่ถึงโยกไปก็ไม่เกิดอะไรขึ้น และกลุ่มสุดท้ายไม่โดนช็อตเลย
ต่อมา สุนัขจากทุกกลุ่มถูกรวมไว้ในกล่องเดียวกัน แต่แบ่งเป็น 2 ฝั่ง
ฝั่งหนึ่งมีไฟฟ้าช็อตอยู่ ส่วนอีกฝั่งปลอดภัย ไม่มีกระแสไฟฟ้า สุนัขตัวที่โดนช็อตมาก่อนและมีคันโยกให้หยุดไฟฟ้ากับตัวที่ไม่โดนช็อตเลย วิ่งไปฝั่งที่ไม่มีไฟฟ้า แต่อีกกลุ่มที่มีคันโยกที่ถึงโยกก็ไม่ส่งผลอะไร นั่งอยู่ที่เดิม ไม่ไปไหน ไม่คิดหนี
สุนัขกลุ่มที่สองเรียนรู้มาจากประสบการณ์ครั้งแรกว่า ถึงออกแรงทำอะไรไปก็เปล่าประโยชน์ ทั้งที่จริงแล้ว ถ้าฮึดอีกหน่อย ลองมองหาหนทาง ก้าวไปไม่กี่ก้าวก็จะพ้นจากความทรมานแล้วแท้ๆ
ถ้าเราไม่เลือกแต่แรก คนอื่นก็จะเลือกแทนเรา ใครก็ตามที่คิดไปเองว่า พยายามยังไงก็สูญเปล่า มักจะ
- ยอมแพ้ทุกอย่าง
- กระตือรือร้นจนเกินงาม คว้าทุกโอกาสที่ขวางหน้า
ส่วนผลลัพธ์ของคนทั้ง 2 ประเภทนั้นไม่ต่าง คือ โอกาสหลุดลอยไป
ทำตัวให้ชินกับคำพูดที่ว่า “น้อยกว่า แต่ดีกว่า”
ถ้าคุณผู้อ่านสามารถย้อนเวลากลับไปได้ คุณผู้อ่านจะเลือกลงทุนในบริษัทไหนเพื่อหวังผลตอบแทนมากที่สุดคะ?
IBM? ไมโครซอฟท์? หรือว่าแอปเปิล? หลายคนคงอยากลงทุนกับบริษัทชื่อดังเหล่านี้ตั้งแต่ตอนเริ่มเข้าตลาดหุ้น แต่จริงๆ แล้วสายการบิน Southwest Airlines ต่างหากล่ะคะที่จะทำให้คุณมั่งคั่งได้อย่างแท้จริง!
สายการบิน Southwest Airlines แสดงให้เห็นแล้วว่า พวกเขาประสบความสำเร็จได้ด้วยการใช้หัวใจของหลักการ Essentialism นั่นคือ ทำให้น้อยลง แต่ทำให้ดีกว่าเดิม
สายการบินนี้ไม่เสนอทุกสิ่งอย่างให้ลูกค้า พวกเขาไม่มีที่นั่งระดับเฟิร์สคลาส ไม่มีระบบการจองที่นั่ง และไม่มีการเสิร์ฟอาหารระหว่างการเดินทาง พวกเขาโฟกัสแค่การพาลูกค้าไปให้ถึงจุดหมายเท่านั้น
พวกเขารู้ดีว่า ถ้าสายการบินให้บริการทุกอย่าง ธุรกิจนี้คงเจ๊งยับเยิน และการโฟกัสไปที่การบินอย่างเดียวก็ทำให้พวกเขาประสบความสำเร็จได้จริงเสียด้วย
อย่างไรก็ตาม เมื่อคุณได้อย่างก็ต้องยอมอย่างเสียอย่างเป็นสัจธรรมของชีวิต แต่ปรากฏว่าไม่ใช่ทุกคนที่ยอมรับเรื่องนี้ได้ ยังมีคนจำพวกที่แม้อยากทิ้งทุกสิ่งที่ไม่สำคัญไป แต่สุดท้ายกลับเผลอคิดว่าตัวเองทำได้ทุกอย่างซะอย่างนั้น
เรื่องมีอยู่ว่า เมื่อความสำเร็จของสายการบิน Southwest Airlines เป็นที่โจษจันมากขึ้น สายการบินคู่แข่งที่ชื่อ Continental ก็รีบลอกกลยุทธ์ของ Southwest มาใช้ทันที แต่แทนที่จะโฟกัสไปที่เรื่องเดียวอย่างที่ Southwest ทำ Continental กลับโลภตัดสินใจทำมันทุกอย่าง ตั้งแต่แตกแบรนด์ใหม่แกะกล่องที่ชื่อ Continental Lite ไปจนถึงการให้บริการที่นั่งชั้นประหยัดสุดๆ
แต่สุดท้าย การทำหลายๆ อย่างพร้อมกันอย่างไร้ประสิทธิภาพ ก็ทำให้ต้นทุนการบริการของ Continental Lite มีราคาสูง ผลที่ตามมาคือตัวเลขติดลบเป็นล้านเหรียญดอลลาร์
จากตัวอย่างนี้ คุณผู้อ่านคงเห็นแล้วใช่มั้ยคะว่า คนที่ละทิ้งหลักการ Essentialism และทำทุกอย่างในคราเดียว ผลสุดท้ายจะออกมาเป็นยังไง ส่วนหัวข้อถัดไป แอดจะพูดถึงประโยชน์ที่คุณผู้อ่านจะได้รับ หากนำหลักการ Essentialism ไปใช้
การมองแบบภาพรวมจะช่วยให้เราเลือกทำสิ่งที่สำคัญและจำเป็นได้ดีกว่า
การจะรู้สึกเบื่อในทุกวันนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่อย่างสมาร์ทโฟน ทำให้เราคุยกับเพื่อนแปลกหน้า หรือหาความบันเทิงในรูปแบบใด เมื่อไหร่ก็ได้ ดูเป็นเรื่องดีใช่มั้ยล่ะคะ
แต่เบื่อซะบ้างก็ไม่แย่อย่างที่หลายคนคิดหรอก เวลาว่างจะช่วยให้เราได้คิดว่ามีอะไรอีกบ้างที่ต้องทำให้เสร็จ เพราะฉะนั้นจงอย่าลืมเคลียร์ตารางงานให้ว่าง ให้ตัวเองได้หนีบ้าง หนีมาคิดกันด้วยนะคะ
การหาเวลาว่างเพื่อมาคิดเกี่ยวกับชีวิตของตัวเองว่ามีปัญหาอะไรตกค้างหรือเปล่า มีตัวเลือกอะไรหลงเหลือ มีอุปสรรคที่ต้องเผชิญอีกมั้ย เหล่านี้จะช่วยให้เรารู้ได้ว่าสิ่งสำคัญจริงๆ ในชีวิตคืออะไร
ขนาดยอดอัจฉริยะบางคนอย่าง เซอร์ไอแซค นิวตัน หรือ อัลเบิร์ต ไอส์ไตน์ ก็ยังเคยใช้เทคนิคนี้มาแล้วนะคะ! พวกเขาหนีมาคิด จนทำให้ค้นพบทฤษฎีทางวิทยาศาตร์ที่โด่งดังทุกวันนี้
ซีอีโอหลายๆ คนในยุคปัจจุบันก็ไม่ต่าง พวกเขาเคลียร์ตารางธุรกิจรัดตัวแน่นเอี๊ยดเพื่อหนีมาคิดกันนี่แหละค่ะ
อย่างไรก็ตาม การหนีก็ไม่ใช่เอาไว้แยกสิ่งสำคัญออกมาอย่างเดียว แต่มันจะช่วยให้เราโฟกัสไปที่ภาพรวมได้ด้วย
หลายคนหมกมุ่นทำอยู่แต่กับงานเล็กๆ น้อยๆ ตรงหน้าในแต่ละวัน จนลืมคิดว่าทำไปทำไม หลักการ Essentialism จึงจะบอกเราว่า อย่าลืมมองภาพรวมด้วย
การเขียนไดอารี่ก็ช่วยให้เราไม่หลุดจากการมองภาพรวมได้ แต่อย่าลืมตัวเขียนเพลิน เอาแค่พอประมาณก็พอค่ะ ถ้าเรากำหนดความยาวแล้ว มันก็จะช่วยบังคับให้เรามองเห็นแต่เรื่องที่สำคัญจริงๆ พอกลับมาอ่าน เราก็จะเห็นภาพรวมของสิ่งที่เกิดไปแล้วได้
อย่าได้ปราณีเวลาต้องคัดสิ่งไม่จำเป็นทิ้งไป
บ่อยครั้ง เรามักคิดไปเองว่างานหรือความรับผิดชอบบางอย่างสำคัญกับตัวเองไม่มากก็น้อย คล้ายๆ กับตอนเคลียตู้เสื้อผ้า คุณมักจะคิดว่า “ถ้าตัวนี้ไม่ได้ใส่ ก็ทิ้งไปดีกว่า” แต่ซักพักเราก็เปลี่ยนใจซะอย่างนั้น ด้วยการยกข้ออ้างอย่าง “ฉันคงไม่ใส่เสื้อลายหมาหอนตัวนี้อีก แต่ไม่แน่วันหน้า เพื่อนๆ รวมตัวกันออกอีเวนต์หมาหอน ฉันอาจมีโอกาสได้ใส่เสื้อตัวนี้ก็ได้นี่!” เราเลยเลือกเก็บมันไว้จนตู้แน่นไปหมด
แล้วเราจะหลีกเลี่ยงสถานการณ์เยี่ยงนี้ได้ยังไง?
แอดจะให้คุณผู้อ่านตั้งกฎกับตัวเองไว้ 2 กฎง่ายๆ เลยค่ะ ได้แก่
- กฎ 90%
- กฎเหมารวม
กฎ 90%
กฎ 90% ก็เป็นตัวช่วยได้อีกหนทางหนึ่งค่ะ
เริ่มด้วยการตั้งเกณฑ์ที่สำคัญสำหรับสิ่งที่คุณผู้อ่านกำลังตัดสินใจมากที่สุด
ยกตัวอย่าง ถ้าคุณผู้อ่านกำลังทำความสะอาดตู้เสื้อผ้า เกณฑ์ที่ว่าก็อาจเป็น “ฉันจะใส่มันอีกมั้ย?” แล้วก็ให้คะแนนจาก 1-100 ถ้าตัวไหนได้คะแนนต่ำกว่า 90 ก็ให้ตีเป็น 0 ไปให้หมด แล้วพวกมันก็ต้องลงถังขยะไปตามเกณฑ์ที่ตั้งไว้ซะเลย
กฎเหมารวม
อีกวิธีหนึ่งคือ ถ้าไม่แน่ใจว่าจะทิ้งดีมั้ย ก็ให้ปัดว่า “ทิ้ง” เหมาไปเลยค่ะ! ตั้งกฎไว้ว่าต้องผ่านเกณฑ์ 3 ข้อที่คุณผู้อ่านเลือกไว้ ไม่งั้นก็ทิ้งให้หมด แต่ถ้าผ่านก็เก็บไว้ได้ วิธีคิดแบบนี้น่าจะช่วยให้คุณผู้อ่านตัดสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ที่ไม่สำคัญออกได้ง่ายขึ้นเอง
ยกตัวอย่าง เสื้อลายหมาหอนที่ว่านี่ต้องไม่ผ่านเกณฑ์ 3 ข้อแน่ๆ ถ้าคุณผู้อ่านตั้งเกณฑ์ไว้ว่า
- “มันดูติดเทรนด์มั้ย?”
- “ฉันจะใส่มันทุกวันมั้ย?”
- “ใส่แล้ว ไม่มีใครหัวเราะเยาะใช่มั้ย?”
บอก “ไม่” กับทุกสิ่งที่ไม่จำเป็น และวางแผนจัดการสิ่งที่จำเป็นจริงๆ อย่างรัดกุม
คุณผู้อ่านทำยังไงหลังจากทำบัญชีสิ่งที่ไม่จำเป็นต่อเป้าหมายของตัวเองแล้ว? มันฟังดูง่าย ถ้าพูดถึงแค่เรื่องเสื้อที่ไม่เคยได้ใส่ แต่ถ้ามีมนุษย์คนอื่นมาเกี่ยวด้วยนี่เห็นทีจะยุ่งใช่มั้ยล่ะคะ
เรามักไม่กล้าปฏิเสธคนอื่น เพราะทั้งรู้สึกเก้อเขินและรู้สึกไม่อยากทำให้คนอื่นผิดหวัง แถมยังกลัวความสัมพันธ์ระหว่างตัวเองกับเขาจะพังทลายลงด้วย
อย่างไรก็ตาม เราก็ควรปฏิเสธซะบ้าง และตอบตกลงกับเรื่องที่เรามองว่าสำคัญจริงๆ เท่านั้น
การจะทำอย่างนั้นได้ เราต้องแยกการตัดสินใจออกจากความสัมพันธ์ระหว่างตัวเองกับเขา การปฏิเสธอาจทำให้เรารู้สึกแย่อยู่ซัก 10 นาที เพราะอาจจะกลัวว่าอีกฝ่ายผิดหวัง หรือไม่ก็กลัวว่าตัวเองจะพลาดอะไรไปหรือเปล่า หารู้ไม่ว่าการตอบตกลงอาจทำให้เรารู้สึกแย่นานกว่าก็ได้
จำไว้เสมอนะคะว่า การไม่ปฏิเสธสิ่งที่เราคิดว่าไม่สำคัญแต่แรก ก็อาจทำให้เราพลาดสิ่งที่สำคัญจริงๆ ในตอนต่อมาก็ได้
เมื่อคุ้นชินกับการปฏิเสธแล้ว เราก็จะโฟกัสไปที่สิ่งที่สำคัญจริงๆ ได้
ทำให้เป้าหมายตัวเองชัดเจนไปเลย ด้วยการตั้งเป้าหมายที่สร้างแรงบันดาลใจและทำได้จริง!
ยกตัวอย่าง เป้าหมายของเราคือการขจัดปัญหาความอดอยากให้หมดไปจากโลก ถึงมันจะสร้างแรงบันดาลใจ แต่มันดูทำได้ยากจัง นั่นเท่ากับว่าเป้าหมายของเราาดความชัดเจน
แล้วถ้าเป็นเป้าหมายต่อไปนี้ล่ะคะ
สร้างบ้าน 150 หลังที่ไม่แพงมาก รักษาสิ่งแวดล้อม และทนทานต่อสภาพอากาศ เพื่อครอบครัวผู้ประสบภัยพายุเฮอร์ริเคน
เป้าหมายแบบนี้ นอกจากจะสร้างแรงบันดาลใจแล้ว ยังเจาะจงรายละเอียดและทำได้จริงด้วย หมายความว่าเป้าหมายนี้ชัดเจนดีมาก
การจะรู้ได้ว่าเป้าหมายของคุณผู้อ่านชัดเจนหรือเปล่า ก็ให้คุณผู้อ่านลองถามกับตัวเองดูนะคะว่า “ฉันจะรู้ได้ยังไงว่าฉันบรรลุเป้าหมายตัวเองแล้ว?” ถ้าคุณผู้อ่านตอบคำถามนี้ได้อย่างง่ายดาย เป้าหมายของคุณผู้อ่านก็ชัดเจนพอแล้วล่ะค่ะ
ก้าวเดินไปข้างหน้าทีละก้าวอย่างมั่นคง
ถ้าเราทำอะไรสักอย่างสำเร็จตั้งแต่ครั้งแรก เราก็คงโชคดีมากๆ เพราะในความเป็นจริง หลายคนไม่โชคดีขนาดนั้นหรอกค่ะ ความสำเร็จมักเกิดจากการทำทีละอย่างทีละน้อยสะสมไปเรื่อยๆ ต่างหากล่ะคะ
แต่ละก้าวจะช่วยสร้างพลังขับเคลื่อนชั้นดีให้กับเรา ซึ่งนั่นเองที่เป็นแหล่งกำเนิดของความมั่นใจที่จะทำให้เราคว้าเป้าหมายใหญ่ได้ในที่สุด ยิ่งไปกว่านั้น ก้าวเล็กๆ ยังจะช่วยให้คุณไม่หลงทาง และช่วยให้เกิดข้อผิดพลาดระหว่างทางน้อยลงอีกด้วย
แม้ว่าก้าวเล็กๆ จะอาศัยความอดทนเยอะ แต่ก็อย่าลืมว่าผลที่ตามมาจะช่วยเราได้มากเช่นกัน
ยกตัวอย่าง กรณีของกรมตำรวจแห่งเมืองริชมอนด์ ประเทศแคนาดา พวกเขาพยายามป้องกันการเกิดอาชญากรรมซ้ำมาหลายปีด้วยการเริ่มมาตรการกวาดล้าง เช่น ออกกฎหมายให้รัดกุมมากขึ้น และเพิ่มบทลงโทษ แต่ผลที่ออกมากลับไม่ได้ช่วยอะไรมาก พวกตำรวจจึงตัดสินใจเปลี่ยนไปใช้วิธีใหม่
แทนที่จะคอยตามจับคนผิด ค่อยๆ เสริมสร้างมาตรการป้องกันอาชญากรรม เช่น เมื่อตำรวจเห็นเยาวชนทำสิ่งดีๆ ทิ้งขยะลงถัง พวกเขาก็จะให้รางวัลเล็กๆ น้อยๆ อย่างตั๋วหนังหรือบัตรคอนเสิร์ตฟรี และมันได้ผลด้วยล่ะค่ะ! หลังจาก 10 ปีที่บังคับใช้นโยบายนี้ การเกิดอาชญากรรมซ้ำก็ลดลงจาก 60% เหลือเพียง 8% เท่านั้น
แต่ไม่ว่าคุณจะเลือกใช้มาตรการใด ต้องอย่าลืมว่าต้องทำให้เป็นประจำวันทุกวันด้วย
การทำทุกวันจะช่วยให้คุณสร้างนิสัยได้ สิ่งยากๆ ก็จะกลายเป็นง่ายด้วยวิธีนี้นี่เองค่ะ ดังนั้น การทำอะไรก็ตามทุกวันเพื่อไปให้ถึงเป้าหมายของคุณจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก
ยกตัวอย่าง โค้ชของนักว่ายน้ำเหรียญทองโอลิมปิก ไมเคิล เฟลป์ส ได้บอกให้ไมเคิลทำสิ่งหนึ่งทุกวัน เพื่อให้เป็นส่วนนึงในการฝึกซ้อม ทุกครั้งก่อนและหลังตื่นนอน ไมเคิลต้องจินตนาการถึงภาพช้าของการว่ายน้ำที่สมบูรณ์แบบ พอถึงตอนซ้อมจริงเขาก็พยายามเลียนแบบภาพจินตนาการนั้น
เขาทำอย่างนี้ทุกวันจนถึงวันแข่งโอลิมปิก นิสัยการต้องว่ายน้ำให้ได้สมบูรณ์แบบฝังหัวเขาจนทำให้เขาชนะเหรียญทองมากมาย
สรุปส่งท้ายหนังสือ Essentialism
มีเพียงไม่กี่สิ่งเท่านั้นที่สำคัญกับเป้าหมายใหญ่และความเป็นอยู่ที่ดีของเรา ที่เหลือทิ้งไปได้เลย!
หนังสือ Essentialism ยังถูกนำไปทำเป็นอนิเมชั่นน่ารักๆ สำหรับคนที่อยากได้ความรู้และเห็นภาพประกอบเคลื่อนไหวไปพร้อมกันๆ คลิกที่นี่
หนังสือแนะนำเพิ่มเติม
การโฟกัสไปที่สิ่งสำคัญในชีวิตเป็นวิธีการหนึ่งที่จะค้นพบความสุข แต่ก็ยังมีอีกวิธีที่ได้ผลดีไม่แพ้กัน นั่นคือการ “ช่างแม่ง” จากหนังสือขายดีส่งตรงจากสหรัฐอเมริกาถึงมือคุณ ชีวิตดีขึ้นทุกด้าน ด้วยการช่างแ_ง
Sarah Knight ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้เป็นบัณฑิตจบจากฮาร์วาร์ด เธอเคยต้องตรากตรำทำงานออฟฟิศอยู่เป็นปีๆ ทั้งที่เธอไม่ได้ชอบมันเอาซะเลย แต่เธอก็ฉุกคิดขึ้นได้ว่า “จะสนไปทำไมละ? ช่างแม่งซิ!” จนก่อบังเกิดเป็นหนังสือพัฒนาชีวิตสอดแทรกมุขตลกขายดีเล่มนี้
Pingback: สรุปหนังสือ Grinding It Out: ความลับของอาณาจักรแมคโดนัลด์ จากปากผู้ก่อตั้ง
Pingback: สรุปหนังสือ Getting Things Done คัมภีร์ไบเบิ้ลสำหรับคนอยากเพิ่ม Productivity
สรุปได้ดีมากๆค่ะ
ขอบคุณครับ 🙂