เราใช้สื่อดิจิตอลมากเหลือเกินในชีวิตประจำวัน ตื่นเช้ามาเราก็เปิดเฟซบุ๊ก เช็คข่าวจราจรจากทวิตเตอร์ ตามกดหัวใจให้เพื่อนๆ ในอินสตาแกรม ไลน์ทวงงานลูกค้า ประชุมทางไกลผ่านซูม เผลอๆ ตอนก่อนนอนเรายังเปิดซีรีส์ในเน็ตฟลิกซ์ดูอีกด้วย หลายคนเลยเริ่มตั้งคำถามว่า “เราเสพติดสื่อดิจิตอลพวกนี้มากไปหรือไม่?” เราจึงอยากชวนคุณมาหาคำตอบเรื่องนี้ไปพร้อมกันในหนังสือชื่อ Digital Minimalism
Digital Minimalism เป็นผลงานของ คาล นิวพอร์ท (Cal Newport) ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ ก่อนหน้านี้เขาเขียนหนังสือเรื่อง Deep Work เพื่อถ่ายทอดเทคนิคการทำงานให้มีประสิทธิภาพสูงที่สุด จนกลายเป็นหนังสือระดับ Best Seller อย่างรวดเร็วมาแล้ว
Digital Minimalism ไม่ใช่หนังสือที่ชี้ชวนให้คุณคิดว่าสื่อดิจิตอลคือปีศาจร้าย จงหักดิบเลิกใช้มันซะแล้วชีวิตจะดีขึ้น แต่หนังสือเล่มนี้จะชวนคุณมานั่งขบคิดอย่างจริงจังว่า “เราจะใช้ชีวิตอย่างมีความสุขไปพร้อมกับชีวิตติดหน้าจอได้อย่างไร?”
ตอนนี้เราอยากให้คุณปิดแอพพลิเคชั่นต่างๆ ตั้งสมาธิ แล้วมาไล่เรียงเนื้อหาดีๆ จากหนังสือเล่มนี้ไปพร้อมกันครับ
ข้อคิดดีๆ จากหนังสือ Digital Minimalism
- หนังสือเล่มนี้จะเตือนให้คุณฉุกคิดว่า “ฉันกำลังเสพติดโซเชียลมีเดียหรือสมาร์ทโฟน” อยู่หรือไม่?
- จงเลือกใช้โซเชียลมีเดียและสื่อดิจิตอลต่างๆ ด้วยความจำเป็นและประโยชน์ที่คุณได้รับ ไม่ใช่เลือกใช้เพราะมันสะดวกสบาย
เรากำลังเสพติดสื่อดิจิตอล
ทุกวันนี้มีงานวิจัยหลายชิ้นที่พูดถึง “ผลกระทบแง่ร้าย” ของสื่อดิจิตอล ไม่ว่าจะเป็นโซเชียลมีเดียต่างๆ หรือสมาร์ทโฟน แอนดรูว์ ซุลลิแวน นักเขียนชื่อดังเขียนบทความชิ้นหนึ่งลงในนิตยสาร New York เขาสารภาพว่า
“ข่าวสาร รูปภาพ และคำพูดต่างๆ ในโลกออนไลน์กำลังทำลายผมจนย่อยยับ”
ไม่แน่ว่าคุณเองก็อาจเคยคิดหรือรู้สึกเหมือนที่แอนดรูว์เป็นเช่นกัน
ด้วยเหตุนี้เอง หลายคนจึงเริ่มหันหลังให้กับสื่อดิจิตอล เราเห็นคำแนะนำให้ลด ละ เลิกการใช้สื่อเหล่านี้เต็มไปหมด หนักเข้าก็เริ่มมีการพูดกันว่า “โซเชียลมีเดียและสมาร์ทโฟนเป็นสิ่งไม่ดี” ทั้งที่จริงแล้วเทคโนโลยีพวกนี้ถูกคิดค้นขึ้นมาเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับทุกคน
ในปี 2007 สตีฟ จอบส์ เปิดตัวไอโฟนครั้งแรกด้วยแนวคิดว่า “นี่คือไอพอดที่ดีที่สุด” คุณสามารถใช้ไอโฟนเป็นโทรศัพท์และอุปกรณ์สำหรับฟังเพลงได้ในเครื่องเดียว ส่วนในปี 2004 โลกของเรารู้จักเฟซบุ๊กครั้งแรกในฐานะเครื่องมือที่ช่วยให้เราติดต่อกับเพื่อนๆ ในกลุ่มได้ง่ายขึ้น
ตอนแรกสุด ทั้ง 2 นวัตกรรมนี้ถูกคิดค้นขึ้นมาเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้ แต่เมื่อเวลาผ่านไปนักออกแบบผลิตภัณฑ์ได้เปลี่ยนวิธีคิดเสียใหม่จนเราต่างเสพติดมันอย่างถอนตัวไม่ขึ้น เราอยากรู้ว่าแต่ละโพสในเฟซบุ๊คมีคนตามกดไลค์เท่าไร? วิดีโอตัวใหม่ในอินสตาแกรมมีคนดูเยอะหรือไม่? ส่วนหนึ่งมาจากวิธีคิดอันแสนแยบยลซึ่งผู้ผลิตทั้งหลายออกแบบมาเป็นอย่างดีนั่นเอง
(เนียร์ อียาล เขียนหนังสือเกี่ยวกับกลยุทธ์การออกแบบผลิตภัณฑ์ให้คนเสพติดไว้ในหนังสือเรื่อง Hooked คุณสามารถอ่านเนื้อหาเพิ่มเติมได้ที่ลิงค์นี้ครับ)
ใช้ชีวิตแบบมินิมอลบนโลกดิจิตอล
คาล นิวพอร์ท ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ได้ตั้งคำถามตัวโตๆ กับทุกคนว่า “เราจะใช้ชีวิตอย่างมีความสุขไปพร้อมกับชีวิตติดหน้าจอได้อย่างไร?” เขาเริ่มหาคำตอบโดยทดลองกับอาสาสมัครกว่า 1,600 คน จนสรุปออกมาเป็นวิถีชีวิตแบบ “มินิมอลบนโลกดิจิตอล”
มินิมอลคือปรัชญาการใช้ชีวิตที่เชื่อว่า “จงมีและทำสิ่งต่างๆ ให้น้อยลงแล้วจะมีความสุขมากขึ้น”
ปัจจุบันนักคิดและนักเขียนหลายคนต่างพูดถึงปรัชญานี้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นมาริเอะ คนโดะ สาวชาวญี่ปุ่นซึ่งโด่งดังไปทั่วโลกในฐานะนักจัดบ้านสไตล์มินิมอล และเจมส์ วอลล์แมน นักคิดชาวอังกฤษซึ่งเขียนเรื่องการมีสิ่งของให้น้อยชิ้นแล้วออกไปใช้ชีวิตให้คุ้มค่าในหนังสือชื่อ “ชีวิตดี เมื่อมีของน้อย”
คาลเองก็นำปรัชญานี้มาปรับใช้กับโลกดิจิตอลเช่นกัน โดยเขาบอกให้ทุกคนลองคิดทบทวนดูว่าสื่อดิจิตอลทั้งหลายมีความจำเป็นกับเรามากน้อยแค่ไหน จากนั้นค่อยจัดระเบียบการใช้เสียใหม่ให้เป็นประโยชน์กับตัวเองมากที่สุด
ไทเลอร์ เป็น 1 ใน 1,600 คนที่อาสาเข้าร่วมการทดลองใช้ชีวิตแบบมินิมอลบนโลกดิจิตอล เขาชอบใช้เวลาร่วมกับเพื่อนๆมากกว่าการเล่นโซเชียลมีเดีย เขาจึงมีใช้โซเชียลมีเดียแค่ 2-3 ตัวเท่านั้น แต่เมื่อเขาตัดสินใจเข้าร่วมการทดลองนี้ เขาจึงต้องปิดบัญชีทั้งหมดทิ้งไปเป็นเวลา 1 ปี
ถ้าคุณเป็นไทเลอร์ คุณจะรู้สึกอย่างไรครับ?
เมื่อครบปี ไทเลอร์พบว่าชีวิตของเขาดีขึ้น เขามีเวลาให้ตัวเองมากขึ้น ไทเลอร์ได้ออกกำลังกาย อ่านหนังสือ ทำงานอาสาสมัคร และเริ่มหัดเล่นดนตรี เขายังมีเวลาให้ครอบครัวมากขึ้นและยังมีสมาธิกับการทำงานมากขึ้นด้วย
เราขอย้ำอีกครั้งว่าคาลไม่ได้ชักนำให้คุณหักดิบการใช้สื่อดิจิตอล ถ้าคุณเปิดเพจขายของเล่นผ่านเฟซบุ๊ก คุณก็ควรใช้เฟซบุ๊กเพื่อทำธุรกิจของคุณต่อไป หรือถ้าคุณเป็นนักข่าวบันเทิงที่ต้องตามความเคลื่อนไหวของศิลปินผ่านทวิตเตอร์ คุณก็ควรอ่านทวิตเตอร์ต่อไป คาลแค่อยากแนะนำให้คุณลองทบทวนการใช้สื่อดิจิตอลอื่นๆ ให้มากขึ้นก็เท่านั้นเอง
3 ขั้นตอนทบทวนชีวิตบนโลกดิจิตอล
ถ้าคุณเคยเลื่อนหาซีรีส์หรือภาพยนตร์ไปเรื่อยๆ ในเน็ตฟลิกซ์แล้วจบลงด้วยการปิดมันลง หรือนั่งเล่นสมาร์ทโฟนฆ่าเวลาไปเรื่อยๆ เพราะไม่รู้จะทำอะไรดี คาลมีวิธีทบทวนตัวเองง่ายๆ เพียง 3 ขั้นตอนมาแนะนำครับ
-
แยกแยะให้ออกว่าสิ่งไหนจำเป็น สิ่งไหนไม่จำเป็น
คาลแนะนำให้คุณลองทบทวนว่าอะไรเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับคุณบ้าง เกณฑ์การตัดสินคือ “ความจำเป็น” เท่านั้น ไม่เอา “ความสะดวกสบาย” มารวมด้วยเด็ดขาด
ตัวอย่างเช่น ผมชอบฟังเพลงเวลาเดินทางมาก แล้วผมก็มีไอพอดรุ่นคุณปู่เป็นคู่หูอยู่แล้ว เวลาศิลปินคนโปรดออกอัลบั้มใหม่ ผมก็มักจะซื้อผ่านไอทูนส์แล้วโหลดลงเครื่องเสมอ นั่นหมายความว่า ผมไม่จำเป็นต้องเสียเงินสมัครสปอติฟาย แอพนี้แค่ช่วยอำนวยความสะดวกให้ผมในบางเวลาเท่านั้นเอง
จากนั้นคุณก็ค่อยๆ คิดทบทวนไปทีละอย่าง เช่น เฟซบุ๊กจำเป็นกับฉันไหม? เน็ตฟลิกซ์จำเป็นกับฉันไหม? ทวิตเตอร์จำเป็นกับฉันไหม? ฯลฯ ไปเรื่อยๆ จนครบลิสต์ที่คุณต้องการ
-
เลิกใช้มัน 30 วัน
เมื่อคุณคัดกรองสิ่งต่างๆ จากขั้นตอนแรกแล้ว ขั้นตอนที่ 2 นี้คาลขอให้คุณเลิกใช้มันเป็นเวลา 30 วัน พอคุณต้องหักดิบแบบนี้ เป็นธรรมดาครับถ้าคุณจะเผลอกลับไปเปิดเน็ตฟลิกซ์ดูบ้าง คาลแนะนำให้คุณตั้งสติให้เร็ว แล้วลองกลับมาพยายามเลิกใช้มันใหม่อีกครั้ง
ช่วงเวลา 30 วันนี้จะช่วยพิสูจน์ให้คุณรู้ตัวว่า “คุณจำเป็นต้องใช้มันมากน้อยแค่ไหน” และจริงๆ แล้ว “คุณไม่ใช้มันเลยได้หรือไม่?”
-
เลือกสิ่งที่ดีกลับเข้ามาในชีวิต
หลังจากผ่านช่วง 30 วันไปแล้ว คาลแนะนำให้คุณพิจารณาให้ดีว่า “สิ่งไหนควรนำกลับมาใช้”
วิธีนี้ไม่ต่างอะไรกับการทบทวนความสัมพันธ์ในชีวิตหรอกครับ พอคุณมีเวลานั่งทบทวนตัวเองแล้ว คุณจะรู้ได้เองว่าสิ่งไหนดีสำหรับคุณ เพียงแต่ครั้งนี้คุณควรนำมันกลับมาใช้ให้เป็นประโยชน์กับตัวคุณมากที่สุด ถ้าคุณค้นพบแล้วว่าทวิตเตอร์คือสถานที่ที่คุณและเพื่อนในกลุ่มจะแลกเปลี่ยนความชอบ คลิปวิดีโอใหม่ๆ ของศิลปิน หรือข่าวสารต่างๆ คุณก็ควรใช้มันอย่างรู้ตัวว่า “ฉันรู้ดีว่ากำลังเล่นทวิตเตอร์อยู่ ฉันไม่ได้เสพติดมันเหมือนแต่ก่อนแล้ว”
สนุกกับชีวิตนอกจอให้มากขึ้น
ในช่วง 30 วันที่คุณหยุดใช้สื่อดิจิตอล คุณจะมีเวลาเหลือเฟือเหมือนกับไทเลอร์ที่เข้าร่วมการทดลองกับคาล คุณจะเอาเวลานี้ไปสนุกกับงานอดิเรกอะไรก็ได้ที่อยากทำ เช่น ออกกำลังกาย เขียนหนังสือ ฟิตกล้ามท้อง ทำงานอาสาสมัคร ฯลฯ และที่สำคัญก็คือ คุณจะมีเวลาให้คนที่คุณรักมากขึ้นด้วย
ไม่แน่ว่าช่วงนี้เองคุณอาจเจอเป้าหมายในชีวิตที่ตามหามานาน หรือไม่คุณก็อาจเจอธุรกิจในฝันจากงานอดิเรกสุดรักของคุณก็เป็นได้
นอกจากนี้ตอนที่คุณหยุดใช้สื่อดิจิตอล คุณจะหันมาสื่อสารกับคนอื่นบนโลกจริงมากขึ้น ความสัมพันธ์ของคุณจะดีขึ้นกว่าเดิม เพราะอย่างไรเสียการออกมาเจอหน้ากันและการโทรศัพท์หากันย่อมได้ผลดีกว่าการตามกดไลค์กันผ่านเฟซบุ๊กแน่นอนอยู่แล้ว
ผมขอแอบเล่าเรื่องส่วนตัวสักนิดให้คุณฟังเพิ่มเติมนะครับ
คนรุ่นผมเติบโตมาในช่วงเวลาคาบเกี่ยวของเทคโนโลยีโบราณกับสมัยใหม่ การเข้าสู่โลกอินเทอร์เน็ตในสมัยก่อนเป็นอะไรที่ยากกว่าสมัยนี้มาก ผมจึงติดการสื่อสารกันผ่านโทรศัพท์เสียมากกว่า เวลาถึงวันสำคัญๆ ตามเทศกาลหรือวันเกิดเพื่อนสนิท ผมจึงติดการโทรศัพท์ไปคุยกันมากกว่าอวยพรผ่านโซเชียลมีเดีย ผมคิดเสมอว่านอกจากการจดจำวันสำคัญเล็กๆ น้อยๆ ของกันและกันได้โดยไม่ผ่านการแจ้งเตือนใดๆ จะเป็นเรื่องน่าอบอุ่นใจแล้ว การได้พูดคุยกันยังช่วยให้เราไม่ห่างเหินกันด้วย
สรุปสุดท้ายก่อนวางหนังสือ Digital Minimalism
แม้ในเล่มจะยังมีคำแนะนำแบบฟ้าผ่าเข้ากลางใจอย่าง “อย่ากดไลค์ให้ใคร” หรือ “อย่าคอมเมนท์อะไรตามโซเชียลมีเดีย” เพราะคาลแนะนำว่าทุกคนควรหันมาพูดคุยกันต่อหน้าคงมีประโยชน์มากกว่า เรารู้ดีว่าคำแนะนำนี้มันช่างยากที่จะทำตามจริงๆ แต่โดยสรุปแล้วสิ่งที่หนังสือเล่มนี้อยากบอกคุณมากที่สุดก็คือ “ฉันจะคอยเตือนสติคุณในโลกที่แสนจะวุ่นวายด้วยเสียงแจ้งเตือนจากสมาร์ทโฟนตลอดเวลานี้เอง”
ท้ายที่สุดแล้วประโยชน์ที่ทุกคนได้จากหนังสือเล่มนี้ก็คือ “สติ” อย่างน้อยที่สุดปรัชญาการใช้ชีวิตไม่ว่าจะเป็นแบบสัตว์สังคมสุดขั้วหรือโดดเดี่ยวสุดขีด ก็ไม่ใช่คำตอบของชีวิต ชีวิตของคุณไม่มีทางสมดุลได้หรอกครับ ถ้าคุณยังไม่อยู่บนทางสายกลางที่รู้จักเลือกใช้สิ่งต่างๆ ที่มีบนโลกตามความเหมาะสมและความจำเป็นของมัน
ถ้าคุณสนใจงานเขียนของคาล นิวพอร์ท เราแนะนำให้คุณลองเข้าเว็บไซต์ส่วนตัวของเขาเพื่อตามอ่านบล็อกใหม่ๆ ที่เขาเขียนแชร์ความรู้ดีๆ ได้ที่นี่ครับ
แนะนำหนังสือน่าสนใจ
อย่าถูกหลอกด้วยหน้าปกสุดแสนน่ารัก หนังสือ 5 ทักษะการคิดฉบับญี่ปุ่นเต็มไปด้วยเนื้อหาอันเข้มข้น ซึ่งเขียนโดยโปรแกรมเมอร์ญี่ปุ่นชั้นเซียน
หนังสือเล่มนี้จะเปลี่ยน “ความคิด” ของคุณให้พัฒนาไปอีกขั้น คุณจะทำงานได้ดี มีวิธีคิดที่เป็นเหตุเป็นผล คิดนอกกรอบ และพัฒนาตัวเองได้เร็ว จนคนรอบข้างประหลาดใจ
ในวันที่ผู้คนต่างแข่งกันหาเงินเพื่อซื้อของใช้ฟู่ฟ่า กินอาหารแพงหูฉี่
ยังมีคนอีกจำนวนหนึ่งที่เลือกใช้ชีวิตเรียบง่าย เพื่อหาความสุขจากประสบการณ์มากกว่าสิ่งของ
หนังสือ ชีวิตดีเมื่อมีของน้อย จะพาคุณไปสัมผัสประสบการณ์ของเหล่าคนโคตรสุข ที่ต่างก็การันตีแล้วว่าชีวิตแบบ Minimal นั้นดีจริง ซึ่งทำได้โดยการทิ้งข้าวของที่ไม่จำเป็นไปเสีย แล้วใช้เงินและเวลาที่เหลือไปกับอะไรก็ตามที่อยากทำ
หนังสืออื่นๆ ที่คุณอาจชอบไม่แพ้ Digital Minimalism
- เมื่อคุณรู้จักใช้สื่อดิจิตอลให้เหมาะสม นอกจากคุณจะมีชีวิตที่สมดุลขึ้นแล้ว คุณยังนำแนวคิดนี้ไปปรับใช้กับการเพิ่ม Productivity เรื่องงานของคุณได้ด้วย อย่างในหนังสือเรื่อง “Productivity คิดแบบเยอรมัน ลงมือทำแบบญี่ปุ่น” ผู้เขียนบอกว่าคนเยอรมันชอบออกไปเดินเล่นมาก เวลาคิดงานไม่ออกแทนที่จะนั่งปวดหัวก็ลุกออกไปเดินเล่นซะ แถมการเดินเล่นยังเป็นวิธีพักผ่อนที่เหล่าผู้บริหารและพนักงานทุกคนชื่นชอบด้วย
- คาล นิวพอร์ทเคยแนะนำเทคนิคดีๆ ในการทำงานให้มีประสิทธิภาพสูงสุดในหนังสือ Deep Work มาแล้ว หนังสืออีกเล่มที่จะมาแนะนำเทคนิคดีๆ ที่ช่วยให้คุณรู้จักบริหารเวลาให้เก่งไม่แพ้ใครนั่นก็คือ “แค่ใช้เวลาเป็น ไม่ต้องเก่งก็ไปได้ไกลกว่า” ของเควิน ครูซ หนังสือเล่มนี้จะมาเผยความลับการบริหารเวลาของมหาเศรษฐี นักธุรกิจชื่อดัง นักกีฬาโอลิมปิก และนักเรียนเกรดเอให้คุณจนหมดเปลือก
- Getting Thing Done เป็นหนังสืออีกเล่มที่เปรียบเหมือนคัมภีร์สำหรับคนที่อยากเพิ่ม Productivity แถมดีกรีของนักเขียนยังยอดเยี่ยมมากด้วย เพราะเดวิด อัลเลน ทำงานเป็นที่ปรึกษาและโค้ชด้านการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้กับผู้บริหารชั้นนำมาแล้วนานกว่า 30 ปี ถ้าคุณสนใจสามารถอ่านสรุปเนื้อหาดีๆ จากหนังสือเล่มนี้ได้ที่นี่ครับ
Pingback: สรุปหนังสือ Indistractable เทคนิคทำงานแบบใจจดจ่อไม่มีว้าวุ่น