สรุปหนังสือ Creativity, Inc. ค้นหาแรงบันดาลใจจากทีมงาน Pixar

หนังสือ Creativity, Inc. ได้รวบรวมหลักคิดดีๆ จาก Ed Catmull ผู้ก่อตั้ง Pixar Studio ที่ออกจะแหวกแนวแต่กลับได้ผล (ดูได้จากความนิยมของการ์ตูนพิกซาร์สิคะ) ไล่ไปตั้งแต่อันตรายของสายบังคับบัญชา ความสำคัญของการรับฟัง ทีมงานมีค่ามากกว่าไอเดียพันล้าน และอื่นๆ อีกมากมาย วิธีการเล่าแบบอิงเรื่องจริงยิ่งทำให้อ่านเห็นภาพมากขึ้น ตามแอดไปขุดเคล็ดลับเหล่านี้กันเลยดีกว่าค่ะ

 

เรียนรู้ที่จะพัฒนาศักยภาพทีมให้ถึงจุดสูงสุด

วันนี้แอดจะบอกเล่าถึงสถานการณ์ที่ฝ่ายทำหนังมักเจอปัญหาซ้ำๆ เหมือนกันทุกที่ นั่นก็คือ พวกเขาอยากได้ความคิดสร้างสรรค์และวิธีแก้ไขปัญหาแบบใหม่เผื่อเหตุการณ์ไม่คาดคิดในอนาคต แต่ในขณะเดียวกันพวกเขาก็ต้องทำกำไรจากงานตรงหน้าให้ได้ พวกเขาจึงนำทีมงานไปเสี่ยงทำอะไรใหม่ๆ ไม่ได้

เอ็ด แค็ตมัล ประธานบริหารคนปัจจุบันของ Pixar and Disney Animation Studios และผู้ร่วมก่อตั้ง Pixar Studios ก็เจอปัญหานี้ไม่หยุดหย่อนเช่นเดียวกันค่ะ แต่ต่างกันตรงที่เขาไล่ตามความฝันของตัวเองได้

เขาได้สร้างภาพยนตร์อนิเมชั่นที่ไม่มีคนแสดงได้สำเร็จและนี่เองที่เป็นสิ่งทำให้ Pixar ประสบความสำเร็จได้ทุกวันนี้ แถมยังช่วยไม่ให้ Disney Animation Studios ล้มละลายอีกด้วย

ed catmull edwin catmull creativity, inc.
Ed Catmull ด้านซ้ายมือ ตอนนี้เป็นประธานบริหารทั้งที่ Pixar และ Disney

เคล็ดลับความสำเร็จของเอ็ดคืออะไร? หนังสือ Creativity, Inc. ได้รวบรวมคำตอบทั้งหมดไว้ในเล่มแล้ว รวมถึงคำแนะนำที่คุณผู้อ่านสามารถหยิบไปใช้ให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ที่มีประสิทธิภาพสูงสุด

 

สายบังคับบัญชาทำให้ทีมงานไม่กล้ารายงานผลตามความเป็นจริง

จะมีใครกล้าบอกหัวหน้าตัวเองมั้ย ว่าบริษัทในตอนนี้ยังมีข้อบกพร่อง?

…คงไม่ล่ะสิ…

ไม่ใช่แค่คุณผู้อ่านคนเดียวค่ะ คนอื่นๆ ก็กลัว หรือไม่ก็อาจรู้สึกตัวเหลือเล็กนิดเดียวเมื่อพูดคุยกับเหล่าหัวหน้า แต่หารู้ไม่ว่าความกลัวนี้เองที่อาจเป็นอุปสรรคต่อบริษัท ถ้าคนที่มีอำนาจไม่รู้ปัญหา ปัญหาก็จะไม่ถูกแก้ แล้วเราจะทำอะไรได้ล่ะ?

เหล่าหัวหน้าอาจเริ่มด้วยการสร้างระบบให้คำติชมที่ใครก็สามารถเห็นได้ โดยไม่จำกัดตำแหน่ง พนักงานจะได้ไม่เกิดความกลัวแบบในเวลาปกติ

hierachy
สายบังคับบัญชามีความร้ายกาจแอบแฝงอยู่

Pixar & “Notes Day”

Notes Day คือ วันที่ให้พนักงานทั้งบริษัทหยุดงานแล้วส่งคำติชมต่างๆ เกี่ยวกับบริษัท Pixar จัดกิจกรรมนี้ไปครั้งแรกเมื่อปี 2013

เหล่าพนักงานควรรู้ว่าความเห็นหรือคำแนะนำของพวกเขานั้นมีคุณค่า แต่โชคร้ายที่สายบังคับบัญชาทำให้พวกเขากลัวที่จะออกสิทธิ์ออกเสียง นี่คือเหตุผลที่เอ็ด แค็ตมัล ออกพบปะพนักงานของเขาแบบตัวต่อตัวเป็นประจำ เพื่อที่จะฟังความเห็นหรือปัญหาที่พนักงานคนนั้นๆ กำลังพบเจอ และบอกให้พนักงานมั่นใจว่าความเห็นของพวกเขานั้นมีค่า

 

ความกลัวที่จะล้ม ทำให้หลายคนเดินเส้นทางเดิมๆ แทนที่จะลองเสี่ยงกับหนทางใหม่ๆ

คุณผู้อ่านเคยเจอตอนที่บริษัทกำลังจะเปลี่ยนระบบคอมพิวเตอร์ไปเป็นระบบใหม่มั้ยคะ?

ใครๆ ก็ไม่อยากเปลี่ยนไปใช้ระบบใหม่ แล้วพอได้ใช้จริงๆ ก็เอาแต่โวยวายว่าระบบเก่าดีกว่ามากมายแค่ไหน ทำไมเป็นแบบนั้นล่ะ?

คนเรามักเกลียดการเปลี่ยนแปลง เพราะ

  1. พวกเขากลัวว่าสิ่งใหม่ๆ จะทำให้ตัวเองทำงานพลาด
  2. ผลจากข้อผิดพลาดที่เป็นผลจากการเปลี่ยนแปลง ทำให้พวกเขาดูแย่

ครูสอนกีต้าร์

ยกตัวอย่าง ครูสอนกีต้าร์ พวกเขาจะไม่บอกให้ลูกศิษย์เล่นเพลงใหม่แบบเป๊ะๆ เพราะยังไงลองครั้งแรกมันก็ไม่เพอร์เฟคท์อยู่แล้ว ยิ่งถ้าเหล่าลูกศิษย์รู้สึกกลัว พวกเขาก็อาจถอดใจยอมแพ้แต่แรก เพราะธรรมชาติคนเรามักกลัวความล้มเหลวเป็นธรรมดา

ครูรู้ดีว่ายังไงลูกศิษย์ก็ต้องพลาด เพราะสิ่งใหม่ๆ หมายถึงข้อผิดพลาดมากมาย เรื่องนี้ก็สำคัญในวงการธุรกิจไม่แพ้กัน

ทีมงานของเราต้องไม่กลัวผิดพลาด และกล้าที่จะทดลองสิ่งใหม่ๆ

ความกลัวต่อสิ่งใหม่ๆ อาจทำให้เราพยายามควบคุมอนาคตอีกด้วย เช่น บางบริษัทพยายามเดินไปตาม “เส้นทางที่ปลอดภัย” ทำให้เกิดแผนงานที่รัดกุม จนถึงขนาดพยายามที่จะควบคุมอนาคตที่ไม่แน่นอน แต่จริงๆ แล้ว การที่ไม่มีพื้นที่ให้หายใจเลยก็อาจหมายถึงการพลาดโอกาสดีๆ ที่เราอาจไม่คาดคิดไป

acquisition merge merging
Disney ซิ้อ Pixar ไปเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2006 (ตอนนี้ Pixar เป็นบริษัทลูกของ Disney)

 

Pixar & Disney

ยกตัวอย่าง เมื่อ Pixar และ Disney ควบรวมบริษัทกัน หัวหน้าฝ่ายบุคคลจาก Disney ก็เข้ามาหาเอ็ด และยื่นแผนงานล่วงหน้า 2 ปีเกี่ยวกับเป้าหมายและพนักงานที่ควรว่าจ้าง โดยหวังว่าจะกำจัดความไม่แน่นอนออกไปให้หมด เอ็ดรู้ทันทีว่านี่ไม่ใช่เรื่องที่ควรทำ

แม้บริษัทจะต้องการเป้าหมายเพื่อให้เดินไปในทางที่ถูกต้อง แต่การจำกัดเส้นทางที่จะไปถึงเป้าหมายนั้นไม่ใช่เรื่องดี

เอ็ดจึงปฏิเสธที่จะเซ็นอนุมัติแผนงานนั้น เพื่อให้บริษัทยังมีพื้นที่หายใจได้สะดวก

 

เหล่าหัวหน้าควรยอมรับข้อผิดพลาดของตน และรู้จักฟังลูกน้องบ้าง

คุณผู้อ่านเคยเถียงกับคนที่พูดเข้าท่ากว่าตัวเองมากๆ มั้ยคะ? เข้าท่าแต่คุณผู้อ่านก็ยังเลือกที่จะเถียงคอเป็นเอ็นต่อ? ทำไมเราถึงทำแบบนั้นล่ะ?

เพราะเราอยากจะเชื่อในข้อมูลที่ตัวเองมีไง ซึ่งนี่เองที่ทำให้เราทำเอาหูไปนาเอาไปไร่เมื่อคนอื่นยกเหตุผลที่เข้าท่ากว่ามาพูด

peter wason psychology writer
Peter Wason (1984-2003) เป็นนักจิตวิทยาและนักเขียนชาวอังกฤษ

 

เรื่องนี้ได้รับการพิสูจน์แล้วโดยนักจิตวิทยาชาวอังกฤษนามว่า Peter Wason

เราเข้าข้างสิ่งที่เราอยากเชื่อจนนำไปสู่ความผิดพลาด

 

งานปาร์ตี้บนเรือ

ยกตัวอย่าง ให้เขาชื่อ เดรก ละกันนะคะ เดรกบอกว่าอยากให้งานปาร์ตี้บริษัทครั้งต่อไปจัดบนเรือ แต่ทุกคนไม่เห็นด้วยกับความคิดนั้นของเดรก มีคน 3 คนเดินมาหาเขาแล้วบอกว่า ถ้าเกิดคนงานเมาจนตกเรือไปจะทำยังไง ส่วนคนที่ชอบความคิดเขาจริงๆ มีแค่คนเดียว และเดรกก็เลือกที่จะเชื่อคนเพียงคนเดียวนั้น แล้วเมินอีก 3 คนเสีย ซึ่งมันก็ดูไม่ร้ายแรงเท่าไหร่จนเกิดเหตุการณ์คนตกน้ำขึ้นจริงๆ นั่นแหละค่ะ

 

Pixar & Animators

หัวหน้างานต้องหัดยอมรับว่าลูกน้องก็อาจมีความคิดดีๆ กว่าตนก็เป็นได้ เช่น ระหว่างการประชุมที่ Pixar ครั้งหนึ่ง พนักงานคนหนึ่งได้เสนอแนะสิ่งที่ฝ่ายการจัดการไม่เคยคิดได้มาก่อน ดังนี้

ปกติแล้วคนทำอนิเมชั่นจะทำงานในระหว่างกระบวนการผลิต แต่บางทีก็เกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน ทำให้พวกเขาต้องปรับเปลี่ยนอนิเมชั่นที่ทำอยู่ตลอดเวลา ซึ่งเสียเวลามากๆ แต่ถ้าเลื่อนการทำอนิเมชั่นไปไว้ท้ายสุดของขั้นตอนการผลิต คนทำอนิเมชั่นก็จะมีข้อมูลที่ต้องการครบถ้วน ไม่จำเป็นต้องแก้ไขงานตรงนู้นตรงนี้อีกต่อไป แต่ละคนก็จะทำงานน้อยลงด้วย

 

พนักงานจะทำงานหนักขึ้น หากพวกเขารู้สึกว่าเป็นอีกแรงที่ช่วยให้บริษัทพัฒนา

คุณผู้อ่านจะเลือกเรียนฟิสิกส์หรือภาษาจีนโดยไม่มีเป้าหมายที่แน่นอนมั้ยคะ? บางทีเราก็นึกอยากเรียนอะไรบางอย่างเพราะเกิดสนใจ แต่หากไม่มีเป้าหมายที่แน่นอน เราก็อาจเบื่อเอาง่ายๆ บริษัทใหญ่ๆ จึงยิ่งต้องตั้งเป้าหมายให้แน่ชัด เพื่อที่จะได้ไม่หลงทางระหว่างการดำเนินงาน

เป้าหมายที่ว่านี่อาจจะไม่ต้องเจาะจงนักก็ได้ อย่าง “ความดีเลิศ” ที่จะทำให้พนักงานแต่ละคนพยายามทำหน้าที่ของตัวเองอย่างสุดความสามารถก็ใช้ได้ค่ะ

คติที่ว่า “การโหยหาความดีเลิศ” ของผู้ก่อตั้ง Pixar ก็ส่งอิทธิพลในแง่บวกต่อบริษัท พนักงานต่างตั้งหน้าทำงานเพื่อให้ได้ผลงานดีๆ เพื่อให้บริษัทเดินหน้าไปถึงความดีเลิศที่ตั้งเป้าไว้ในที่สุด

 

Pixar & Toy Story 2

ยกตัวอย่าง ในระหว่างการสร้างอนิเมชั่นเรื่อง Toy Story 2 นั้นมีปัญหาต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย แต่เพราะทีมงานมีเป้าหมายที่จะคว้า “ความดีเลิศ” มาให้ได้ร่วมกัน พวกเขาจึงเริ่มทำงานทุกวันแบบไม่มีวันหยุด จนแก้ปัญหาเหล่านั้นได้ในที่สุด

ผลที่ออกมาคือ Toy Story ทำเงินได้มากกว่า 500 ล้านดอลลาร์ทั่วโลก และยังติดชาร์ตบนบ็อกซ์ออฟฟิศยาวนาน จากกรณีนี้ ทีมงานก็จะยิ่งขยันมากขึ้นอีก เพราะพวกเขาได้ตระหนักแล้วว่าสิ่งที่พวกเขาทำเป็นอีกหนึ่งแรงที่ช่วยให้คว้าความสำเร็จนั้นมา พูดสั้นๆ คือ พวกเขาได้เห็นคุณค่าและความสำคัญของตัวเองอย่างแท้จริง

toy story
Toy Story 2 ออกฉายปี 1999 และได้เป็นผู้เข้าชิงรางวัลออสการ์ในปีเดียวกัน

คนสำคัญกว่าไอเดีย การมีทีมงานดีๆ จึงสำคัญเหนือสิ่งอื่นใด

หลายคนคิดว่า การคิดค้นไอเดียหยุดโลก เท่ากับ ความสำเร็จ

ถึงนี่จะไม่ใช่เรื่องผิดอะไร แต่ความจริงยังมีองค์ประกอบที่สำคัญมากกว่าไอเดียอยู่ นั่นก็คือ ทีมงาน

the incredibles
The Incredibles ก็ใช้ทีมงานนี้แหละปฏิบัติภารกิจจนลุล่วง!

 

การมีทีมงานที่เก่ง ย่อมสำคัญกว่าสุดยอดไอเดียอยู่แล้วค่ะ แม้ว่าเราจะมีไอเดียที่ดีเลิศแค่ไหน มีเป้าหมายที่เด่นชัดแค่ไหน หรือมีแผนที่รัดกุมเพียงใด หากทีมงานที่ทำไม่ใช่ทีมงานที่เก่งพอ ความสำเร็จก็คงไม่เกิด

ยกตัวอย่าง ทุกสิ่งที่เราใช้เงินซื้อ ตั้งแต่สมาร์ทโฟนไปยังอาหาร 5 ดาว เหล่านั้นไม่ได้มาจากไอเดียโทงๆ อย่างเดียว แต่มาจากการร่วมมือกันทำงานของเหล่าทีมงานมากฝีมือ ไม่ว่าจะเป็นเชฟหรือช่างออกแบบเทคนิค พวกเขารวมตัวกันเพื่อทำให้ผลิตภัณฑ์ออกมาสู่มือผู้บริโภคได้อย่างมีคุณภาพ

นี่คือเหตุผลที่ว่า…การรวบรวมทีมเก่งๆ ไม่ใช่การเลือกคนที่มีพรสวรรค์มากที่สุด แต่เป็นการเลือกคนที่ทำงานด้วยกันได้อย่างเข้าขาต่างหาก

อีกอย่างนะคะ ทีมที่มีคนหลากหลายก็มีแนวโน้มที่จะประสบความสำเร็จมากกว่าทีมที่มีแต่คนคิดเหมือนๆ กัน เพราะ

  1. ความแตกต่าง ช่วยให้พวกเขาเติมเต็มกันและกัน
  2. เป็นแรงบันดาลใจให้กันและกัน

 

Pixar Head & Utes

ตอนที่เอ็ดสอบเข้ามหาวิทยาลัยยูทาห์ในปี 1960 เขาเป็นส่วนหนึ่งของโปรแกรมที่อนุญาตให้นักเรียนที่มีความสนใจหลากหลาย สามารถใช้ห้องคอมพิวเตอร์ได้ ซึ่งเขาจะใช้คอมพิวเตอร์เพื่อจุดประสงค์ใดก็ได้ แล้วพอนักเรียนเก่งๆ กระตือรือร้นที่จะเรียนรู้ และมีความคิดหลากหลายมารวมตัวกัน แรงบันดาลใจและไอเดียดีๆ ก็บังเกิดเข้าจนได้

university of utah comp sci creativity, inc.
Ed Catmull จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยยูทาห์ สาขาคอมพิวเตอร์

 

หัวหน้าควรเชื่อใจลูกน้องของตัวเอง

คุณผู้อ่านเคยเจอหัวหน้าที่ไม่ยอมปล่อยโปรเจกต์งานให้ลูกน้องทำเองมั้ยคะ?

หัวหน้าที่คอยจ้ำจี้จ้ำไชและติทุกอย่างที่คุณผู้อ่านทำตลอดเวลาล่ะ?

การทำงานแบบนี้นอกจากจะน่ารำคาญแล้ว ยังทำให้พนักงานขาดความคิดสร้างสรรค์อีกด้วย ไหนจะไฟในการทำงานที่ทำท่าจะมอดม้วยของพวกเขาอีก

inside out disgust green
คุณทำหน้าแบบนี้มั้ยเวลาหัวหน้าจู้จี้? (Disgust จากอนิเมชั่นเรื่องดังของ Pixar; Inside Out)

 

วิธีที่ดีกว่าคือการให้พนักงานตัดสินใจในเรื่องที่จำเป็นได้อย่างอิสระ เพราะคนที่รู้ดีที่สุดก็คือคนที่ทำงานนั้นๆ และคนที่ทำงานนั้นๆ ก็คือเจ้าของโปรเจกต์นั่นแหละ นั่นคือเหตุผลที่พวกเขาถูกจ้างมาแต่แรกไงล่ะ!

 

Pixar & Braintrust

Pixar มีหลักการที่ชื่อว่า “Braintrust” ที่ให้พนักงานที่อยู่ Pixar มานานกับผู้เชี่ยวชาญฝ่ายผลิตหนังมารวมตัวกัน แม้ว่าพวกเขาจะเสนอความเห็นแบบไหนก็ได้ แต่ก็ไม่ได้แปลว่าความเห็นนั้นๆ จะต้องถูกนำไปใช้เสมอไป ผู้กำกับหนังจะทำหน้าที่ดูแล ฉะนั้นเขาจึงกล้าการปล่อยให้ผู้เชี่ยวชาญคอยคุมโปรเจกต์ แล้วความคิดสร้างสรรค์ต่างๆ ก็ถูกเสนอขึ้นมาอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

brainstorming
Pixar เรียกกระบวนการนี้ว่า Braintrust แต่เรารู้จักกันในชื่อ Brainstorming นั่นเอง

อย่างไรก็ตาม คนที่เราเชื่อใจก็ควรมีความสามารถมากพอที่จะทำงานคนเดียวได้ พนักงานคนนั้นควรมีความรับผิดชอบมากพอต่องานที่ได้รับมอบหมาย เมื่อเราเลือกแล้วว่าเขาคือคนที่ใช่ เราก็ต้องไว้วางใจให้เขาทำเรื่องสำคัญ และเราจะรู้ได้โดยอัตโนมัติเองค่ะว่างานจะออกมาดี ไม่ว่าปัญหาที่อาจเกิดระหว่างทางจะมีมากแค่ไหน

 

Pixar Head & Employment

แอดว่าหัวข้อนี้น่าสนใจเป็นพิเศษค่ะ เรื่องมีอยู่ว่า เอ็ดจะจ้างคนที่เขาเห็นว่าฉลาดกว่าเขาเท่านั้น เขาเชื่อว่าคนเหล่านั้นจะสร้างสรรค์ผลงานต่างๆ ได้อย่างมั่นใจโดยไม่ต้องมีใครคอยดูแล ที่จริงเขาเคยจ้างคนที่มีพรสวรรค์และฉลาดพอที่จะทำงานทั้งหมดแทนเขาได้ด้วยซ้ำ!

ในขณะที่หลายคนกลัวที่จะจ้างคนที่อาจเก่งเกินหน้าเกินตา เพราะกลัวจะถูกเปลี่ยนออกเอาง่ายๆ เอ็ดกลับไม่กลัวเลย เพราะผลที่ออกมาก็ดีเท่าๆ กัน

 

หน้าที่ของหัวหน้าไม่ใช่การหลีกเลี่ยงความเสี่ยง แต่เป็นการทำให้บริษัทกลับมาที่จุดเริ่มต้นได้อย่างมั่นคง

บางบริษัทก็เจอโชคร้ายมากกว่าบริษัทอื่น และแม้เราจะทำอะไรกับโชคร้ายที่ว่าไม่ได้มากนัก แต่เราก็สามารถฟื้นตัวขึ้นมาใหม่ได้ วิธีหนึ่งคือการใช้เทคนิคฟื้นฟูรวมเข้ากับแผนงาน ไม่ใช่พยายามป้องกันความล้มเหลวตลอดเวลา

 

Pixar & Failure

Pixar เองก็ทำโดยให้ความสำคัญกับกระบวนการทำซ้ำ เช่น พวกเขายอมรับว่าข้อผิดพลาดคือส่วนหนึ่งของกระบวนการ และพวกเขาก็จะกำจัดข้อผิดพลาดเหล่านั้นด้วยการปูพื้นกระบวนการซ้ำใหม่อีกรอบ แก่นสำคัญของวิธีการนี้ก็คือ ทีมงานทั้งทีมรับผิดชอบความล้มเหลวร่วมกัน แล้วทุกคนก็จะช่วยกันแก้ปัญหาที่เจอไปพร้อมๆ กัน

 

Pixar Head & Monster, Inc.

เอ็ดพูดถึงปัญหาที่เกิดระหว่างการถ่ายทำ Monster, Inc. อนิเมชั่นเรื่องแรกที่พวกเขาไม่ได้ใช้ผู้กำกับมากประสบการณ์อย่างเรื่องก่อนๆ แต่ทีมงานก็เดินหน้าต่อ ช่วยกันกำจัดปัญหาไปทีละขั้นจนทุกอย่างลงตัวได้ อีกอย่าง การปล่อยให้ทีมงานแก้ปัญหากันเองก็เป็นอีกวิธีการหนึ่งที่จะให้พวกเขาเรียนรู้ที่จะเอาชนะ และเรียนรู้ที่จะทำงานให้ดีขึ้นในภายภาคหน้าด้วย

Pixar ให้ความสำคัญกับกระบวนการทำซ้ำนี้มากทีเดียว

monster, inc.
Monster, Inc. ออกฉายในปี 2001 แต่ยังไต่อันดับหนังน่าดูแบบไม่เคยแผ่วเลย

 

ในการลดผลกระทบจากข้อผิดพลาดที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้เหล่านี้ Pixar จึงให้เวลากับทีมงานมากในการค้นคว้าและแก้ไขมากขึ้นในระหว่างถ่ายทำ เวลาที่มากขึ้นทำให้ค่าใช้จ่ายต่างๆ ลดน้อยลงด้วย หลักการนี้ใช้ได้จริง เพราะอย่างคำพูดที่ว่า “ไม่มีใครสมบูรณ์แบบ” และวิธีที่ดีที่สุดในการรับมือกับข้อผิดพลาด ก็คือการเรียนรู้จากมัน

 

ที่ทำงานควรเป็นเครื่องมือหนึ่งที่จะช่วยให้คนทำงานเกิดความคิดสร้างสรรค์ได้

ลองคิดสภาพเราต้องเดินอยู่ในตึกสีเทาเรียบๆ ทุกวัน มีกล่องสี่เหลี่ยมหน้าตาเหมือนๆ กันอยู่ทุกที่ ทำอะไรเดิมๆ ตลอดเวลา คุณผู้อ่านก็คงเห็นด้วยใช่มั้ยคะว่าสภาพแวดล้อมแบบนั้นมันน่าเบื่อชะมัด แต่หลายๆ บริษัทก็เลือกที่จะเมินเฉย

ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้ว…สถาปัตยกรรมและการตกแต่งภายในของบริษัทนั้น ควรสร้างแรงบันดาลใจให้คนทำงาน ไม่ใช่ทำให้พวกเขาหาวใส่

เรื่องง่ายๆ อย่างการเปลี่ยนโต๊ะสักตัวก็ช่วยได้ค่ะ!

boring office environment
ถึงจะดูสะอาดตา แต่คงไม่มีใครปฏิเสธได้ว่า ที่ทำงานแบบนี้น่านอนเป็นที่สุด

Pixar & Creativity, Inc.

ในช่วงแรกเริ่มของ Pixar การประชุมถูกจัดในห้องที่มีโต๊ะสี่เหลี่ยมผืนผ้าตั้งอยู่กลางห้อง และป้ายชื่อวางตามที่นั่งอย่างเป็นทางการและดูจะให้ความสำคัญกับสายบังคับบัญชาเหลือเกิน คนที่นั่งตรงกลางพูดอะไรก็มีคนได้ยิน ในขณะที่คนหางๆ โต๊ะดูเป็นส่วนเกิน แต่แค่เปลี่ยนโต๊ะเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัสและเอาป้ายชื่อออก ทุกคนก็รู้สึกมีอิสระที่จะออกความเห็นมากขึ้น

ที่ต้องเพิ่มเติมอีกอย่างก็คือ การออกแบบที่ทำงานควรคำนึงถึงพนักงานแต่ละคนด้วย ตอนแรกที่เอ็ดเข้ามาที่ดิสนีย์ เขารู้สึกแย่มากที่เห็นที่ทำงานอันน่าเบื่อของที่นี่

pixar disney work environment
Pixar มีหุ่นจาก Toy Story วางไว้ก่อนถึงโต๊ะทำงานด้วย!

 

 

Pixar Head & Creativity, Inc.

สำหรับเอ็ดแล้ว สภาพแวดล้อมแบบนี้มีแต่จะทำให้พนักงานรู้สึกไม่เป็นตัวเอง และยังไม่ก่อให้เกิดแรงบันดาลใจหรือความคิดสร้างสรรค์อีกด้วย ด้วยเหตุนี้ ทีมงาน Pixar จึงสามารถสร้างสรรค์พื้นที่ทำงานของตัวเองได้อย่างอิสระ พวกเขาจะตกแต่งโต๊ะทำงานของตัวเองยังไงก็ได้ตามใจ ถือเป็นอีกหนทางในการแสดงออกความเป็นตัวของตัวเอง

สุดท้าย พนักงานทุกคนไม่ควรต้องทำงานตามแบบแผนเดิมๆ ซ้ำๆ กันทุกวัน พวกเขาควรได้ทำงานในรูปแบบที่ตัวเองถนัด ยกตัวอย่าง ที่ Pixar Tool’s Department พื้นที่ที่นักพัฒนาเทคโนโลยีและวิศวกรใช้ทำงาน สองวันจากแต่ละเดือนของพวกเขาคือ “วันทำงานในแบบของตัวเอง” ที่คนในแผนกจะเลือกหยิบเครื่องมือตัวใดไปใช้แก้ปัญหาอะไรหรือทำงานส่วนไหนที่พวกเขาสนใจได้ตามชอบ

Pixar อยากให้ทีมงานมีความสุขในการทำงาน หากพวกเขามีความสุข ความคิดสร้างสรรค์ก็เกิดได้ไม่ยาก แล้วนั่นก็จะส่งผลดีให้บริษัทแหงๆ ละ

creative motivating inspirational
ที่ Pixar มีพื้นที่ให้ผ่อนคลายกันด้วย

 

สรุปส่งท้ายก่อนวางหนังสือ Creativity, Inc.

การเปลี่ยนแปลงและความไม่แน่นอนเป็นเรื่องที่ไม่ว่ายังไงเราก็ต้องเจอ ยิ่งกับบริษัทที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์เยอะๆ

วัฒนธรรมการทำงานที่สามารถสร้างแรงบันดาลใจได้ไม่ยากมาจากการ

  1. สนับสนุนทีมงานเก่งๆ
  2. รู้จักเชื่อใจลูกน้อง
  3. ปรับที่ทำงานให้เหมาะกับการจินตนาการ
  4. อย่าวางแผนงานรัดกุมจนเกินไป
  5. อย่ากลัวที่จะล้มแล้วลุก!

 

หากใครยังรู้สึกฮึกเหิมและอยากค้นหาแรงบันดาลใจเพิ่มเติม ลองหาอ่านได้ที่หนังสือขายดีของเราที่ชื่อว่า เปลี่ยนฝันกลางวัน ให้ดังเป็นพลุแตก: The Idea In You

The Incredibles 2 เป็นอนิเมชั่นดังเรื่องล่าสุดจาก Pixar และ Disney อย่าลืมไปดูกันนะคะ 🙂

 

3 thoughts on “สรุปหนังสือ Creativity, Inc. ค้นหาแรงบันดาลใจจากทีมงาน Pixar

  1. Pingback: สรุปหนังสือ Hooked ทำอย่างไรลูกค้าถึงจะติดใจสินค้าของเรา?

  2. Pingback: จากเด็กส่งยา สู่ราชาฮิพฮอพ: Jay-Z - สำนักพิมพ์บิงโก

  3. Pingback: โลกหลัง Covid ที่ไม่มีอเมริกา... แล้วไทยอยู่ไหน - สำนักพิมพ์บิงโก

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราะห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก