สรุปหนังสือ Built to Last สร้างบริษัทอย่างไรให้ยืนระยะนับ 100 ปี

built to last open

ถ้าคุณเป็นคนหนึ่งที่ทำธุรกิจและอยากได้หนังสือธุรกิจดีๆ สักเล่ม เพื่อต่อยอดความคิด ผมขอแนะนำให้คุณอ่าน Built to Last ผลงานชั้นเลิศของจิม คอลลินส์ ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด เพราะแค่คุณอ่านเล่มนี้จบ คุณจะได้รู้เบื้องหลังความยิ่งใหญ่ของบริษัทชั้นนำระดับโลกมากมายที่สามารถดำเนินธุรกิจมายาวนานนับ 100 ปี!

แม้หนังสือ Built to Last จะถูกตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 1994 หนังสือเล่มนี้ก็ยังถูกยกย่องให้เป็นหนึ่งในหนังสือที่เหล่า CEO ทั่วโลกแนะนำอีกด้วย (จิม คอลลินส์ยังมีหนังสืออีกเล่มที่น่าสนใจไม่แพ้เล่มนี้ นั่นก็คือ Good to Great ซึ่งสำนักพิมพ์บิงโกได้สรุปเนื้อหาสำคัญจากหนังสือเล่มนี้ไว้ให้แล้วครับ)

ผลกำไรเป็นสิ่งที่นักธุรกิจทุกคนอยากไขว้คว้า แต่การยืนระยะอย่างมั่นคงและยั่งยืนก็เป็นเรื่องสำคัญไม่น้อยไปกว่ากันเลย อะไรคือเคล็ดลับที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จนับ 100 ปี ผมได้สรุปเนื้อหาดีๆ จาก Built to Last มาไว้ให้คุณแล้ว

 

รวมข้อคิดดีๆ จากหนังสือ Built to Last

  • เรียนรู้ปัจจัยความสำเร็จจาก 18 บริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลกในเล่มเดียว
  • ผลกำไรไม่ใช่สิ่งแรกที่ควรไขว่คว้า
  • กล้าลอง กล้าปรับ กล้าเปลี่ยน กล้าทดลอง และกล้าเผชิญหน้ากับความล้มเหลว

 

built to last 01

ตัดสินกันด้วย “วิสัยทัศน์”

จิม คอลลินส์ใช้เวลากว่า 6 ปีเพื่อศึกษาวิจัยบริษัทที่คงความยิ่งใหญ่มายาวนานกว่า 100 ปี ซึ่งมีอยู่ด้วยกัน 18 บริษัท เช่น

  • 3M (ผู้ผลิตเทปใสและกระดาษโพสต์อิท)
  • American Express (ผู้ให้บริการบัตรเครดิต)
  • Ford (ผู้ผลิตรถยนต์)
  • Walt Disney (สวนสนุกและสื่อบันเทิง)
  • Johnson & Johnson (ผู้ผลิตสินค้าอุปโภคและบริโภค)
  • Marriott (ธุรกิจโรงแรม)
  • Wallmart (ซูเปอร์มาร์เก็ตยักษ์ใหญ่)

บริษัทเหล่านี้ล้วนเป็นบริษัทชั้นแนวหน้าในอุตสาหกรรมของตัวเอง มีชื่อเสียงโด่งดัง และมีอิทธิพลต่อการดำรงชีวิตของผู้คนมาหลายยุคหลายสมัย ทุกบริษัทต่างเคยเจอวิกฤตมานับครั้งไม่ถ้วนและต้องเปลี่ยนตัว CEO มาแล้วหลายต่อหลายรุ่น แต่พวกเขาก็ยืนหยัดอยู่ในวงการได้อย่างมั่นคง หลังจากจิมศึกษาทั้ง 18 บริษัทนี้ เขาก็พบว่ากุญแจสำคัญที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จก็คือ “วิสัยทัศน์”

จิมเรียก 18 บริษัทที่เขาศึกษานี้ว่า “บริษัทแห่งวิสัยทัศน์” ซึ่งนี่คือตัวตัดสินว่าทำไมทั้ง 18 บริษัทนี้ถึงมั่นคงและทำธุรกิจมาได้ยาวนานเช่นนี้ ถึงตอนนี้คุณคงอยากรู้แล้วว่าเจ้าวิสัยทัศน์นี้มันคืออะไร มันต่างจากบริษัทอื่นๆ ตรงไหน เรามาเรียนรู้ความสำเร็จของพวกเขาไปพร้อมกันเลยครับ

 

built to last 02

ไอเดียไม่สำคัญเท่าความสม่ำเสมอของผลิตภัณฑ์

หลายคนอาจเชื่อว่าถ้าอยากประสบความสำเร็จให้ได้มากๆ สิ่งสำคัญที่สุดน่าจะหนีไม่พ้น “ไอเดีย” ยิ่งบริษัทไหนมีไอเดียแปลกใหม่แถมยังแตกต่างก็น่าจะไปได้ไกลบนเวทีธุรกิจ แต่จิมกลับพบว่าไอเดียไม่ได้สำคัญขนาดนั้น เพราะสิ่งที่สำคัญกว่าคือ “ความสม่ำเสมอของผลิตภัณฑ์”

ในตอนเริ่มตั้งบริษัท Sony ผู้ก่อตั้งไม่ได้เริ่มจากผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า พวกเขาระดมความคิดที่จะสร้างผลิตภัณฑ์หลายอย่างตั้งแต่ถั่วอบไปจนถึงอุปกรณ์สำหรับเล่นกอล์ฟ หรืออย่างตอนก่อตั้งบริษัท Hewlett-Packard (HP) บิล ฮิวเลตต์ และเดฟ แพคการ์ด ยังมีความคิดที่จะทำโถปัสสาวะอัตโนมัติขายเสียด้วยซ้ำ

นอกจากผลิตภัณฑ์จะต้องสม่ำเสมอแล้ว ตัวผู้นำของบริษัทเองก็ต้องสม่ำเสมอเช่นเดียวกัน คนที่จะก้าวมารับบทบาทนี้ในแต่ละรุ่นสู่รุ่นไม่จำเป็นจะต้องมีความเป็นผู้นำสูงหรือเก่งกาจเสมอไป แต่พวกเขามักเป็นคนที่ติดดิน สุภาพเรียบร้อย และมีเสน่ห์เสียมากกว่า

บริษัทที่มีไอเดียดีๆ หรือมีผู้นำเก่งๆ จะเปรียบเหมือนนาฬิกาแขวนผนังดีๆ ที่มองแวบเดียวคุณก็สามารถบอกเวลาได้ทันที แต่บริษัทที่มีความสม่ำเสมอทั้งตัวผลิตภัณฑ์และผู้นำนั้น จะไม่ใช่แค่นาฬิกาแขวนผนังธรรมดาๆ แต่พวกเขาเลือกที่จะ “สร้างนาฬิกา” นั้นให้ผู้คนได้ใช้มองเวลานั่นเอง

 

อุดมการณ์สำคัญกว่ากำไร

ทั้ง 18 บริษัทที่จิมศึกษาต่างมีเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่กว่าการสร้างผลกำไร ซึ่งสิ่งนั้นก็คือ “อุดมการณ์” จริงอยู่ว่าถ้าบริษัทขาดผลกำไรก็คงอยู่รอดในโลกธุรกิจไม่ได้ แต่บริษัทแห่งวิสัยทัศน์จะตัดสินใจโดยยึดถือ “อุดมการณ์” มาก่อนเสมอ แล้วการตัดสินใจนั้นจะสร้างผลกำไรตามมาเอง

ในปี 1953 CEO ของบริษัท Johnson & Johnson ได้เขียนอุดมการณ์หลักของบริษัทเอาไว้ว่า “สิ่งสำคัญอันดับแรกก็คือ ลูกค้า รองลงมาคือ พนักงานของเรา เมื่อเรารับผิดชอบทุกอย่างได้ดีแล้ว ผู้ถือหุ้นจะได้รับผลตอบแทนที่ดีกลับไปเอง”

แม้ในยามวิกฤตครั้งใหญ่เหมือนที่บริษัท Ford เจอในช่วงปี 1980 พวกเขาก็เลือกที่จะจับเข่าพูดคุยเกี่ยวกับอุดมการณ์และสิ่งที่บริษัทยึดมั่นตามแนวคิดของผู้ก่อตั้งอย่างเฮนรี่ ฟอร์ด ซึ่งความพยายามในครั้งนั้นก็ช่วยให้บริษัทผ่านวิกฤตไปได้

 

built to last 04

พร้อมปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

เมื่อทุกบริษัทมีอุดมการณ์เป็นแนวทางในการทำงาน พวกเขาจึงพยายามปรับปรุงผลิตภัณฑ์และธุรกิจของตัวเองอย่างต่อเนื่อง เช่น Boeing ผู้บุกเบิกด้านการบิน พวกเขาพัฒนาเทคโนโลยีด้านการบินมากมาย แม้ครั้งหนึ่งพวกเขาต้องเดิมพันครั้งใหญ่ในการสร้างเครื่องบินโบอิ้ง 747 ให้สำเร็จ ถึงขนาดต้องเทหมดหน้าตักเพื่อทำเป้าหมายนี้ให้เป็นจริงมาแล้วก็ตาม

ทุกบริษัทผ่านการลองผิดลองถูกมาหลายครั้ง พวกเขาต้องปรับตัวและเมื่อถึงเวลาต้องเปลี่ยนแปลง พวกเขาก็พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงนั้นได้

เจ วิลลาร์ด แมริออท ผู้ก่อตั้งบริษัท Marriott มีคติประจำใจว่า “จงสร้างสรรค์ต่อไป สร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ไปจนกระทั่งถึงวันตาย” คำกล่าวนี้แม้มันอาจฟังดูเหมือนคนที่บ้างานจนขึ้นสมอง แต่มันก็แสดงถึงความมุ่งมั่นได้อย่างชัดเจน

 

มีเอกลักษณ์ของตัวเอง

เมื่อเรานึกถึงบริษัท Walt Disney เราจะนึกถึงความบันเทิงมาเป็นอันดับแรก พวกเขามีสวนสนุก การ์ตูน และภาพยนตร์ที่ครองใจผู้คนมาแล้วหลายต่อหลายรุ่น ดังนั้นเมื่อบริษัทจะต้องรับพนักงานเข้ามาทำงาน เหล่าพนักงานใหม่จะต้องมีความสนุกอยู่ในหัวใจเสมอ

สิ่งสำคัญก็คือเอกลักษณ์ที่เป็นเหมือนเสน่ห์คอยดึงดูดใจผู้คนให้เข้ามาทำงานด้วยนี้ต้องไม่ยึดติดอยู่กับ CEO หรือผู้ก่อตั้ง เพราะถึงแม้ CEO จะเก่งกาจ ดูดี หรือมีเสน่ห์จนใครๆ ก็อยากมาทำงานด้วย แต่เมื่อใดก็ตามที่เขาออกจากตำแหน่งไป ทุกอย่างก็จะพังทลายลงทันที

 

ผลิตผู้นำที่ยอดเยี่ยมมาสานงานต่อได้เสมอ

จากการวิจัยของจิม หัวข้อหนึ่งที่น่าสนใจมากก็คือ บริษัทแห่งวิสัยทัศน์จะผลิตผู้นำที่มีคุณภาพได้อย่างต่อเนื่อง

หลายบริษัทมักจะมี CEO ที่โดดเด่นเพียงแค่คราวเดียว พอ CEO คนนั้นลงจากตำแหน่งไป ทุกอย่างก็เหมือนจะต้องเริ่มต้นใหม่เพราะการจากลาของเขาไปด้วย แต่ทั้ง 18 บริษัทที่จิมศึกษากลับมีการวางแผนเพื่อสร้างผู้นำคนใหม่มาสืบทอดตำแหน่งเพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการบริหารงานนั่นเอง

แจ็ค เวลช์ คือซีอีโอระดับตำนานของบริษัท General Electric (GE) เขาได้วางแผนหาตัวผู้สืบทอดก่อนที่เขาจะลงจากตำแหน่งล่วงหน้าถึง 7 ปีด้วยกัน! แถมบริษัท GE เองยังให้ความสำคัญกับการฝึกอบรมและการวางแผนสร้าง CEO คนใหม่ทำให้มีลูกหม้อของบริษัทหลายคนก้าวขึ้นมาดำรงตำแหน่ง CEO ได้สำเร็จ

บริษัทอื่นที่อาศัยการว่าจ้าง CEO คนนอกเข้ามาทำงานมักต้องเจอกับปัญหาการปรับตัวในยริษัทใหม่ที่ CEO คนนอกยังไม่คุ้นเคย จนบางครั้ง CEO คนใหม่อาจนำบริษัทมุ่งหน้าไปยังทิศทางที่ไม่ถูกต้องได้ ซึ่งนี่เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้การบริหารงานต้องสะดุดหรือแย่ลงนั่นเอง

built to last 05

กล้าลงทุนเพื่อทดลองสิ่งใหม่ๆ แม้มันจะล้มเหลวก็ตาม

ชาร์ลส์ ดาร์วิน เจ้าของทฤษฎีวิวัฒนาการค้บพบว่า

“สิ่งมีชีวิตที่รู้จักวิวัฒนาการเท่านั้นถึงจะมีโอกาสอยู่รอดต่อไป”

บริษัทก็เปรียบได้กับสิ่งมีชีวิต เพราะถ้าบริษัทไม่รู้จักวิวัฒนาการตัวเอง สักวันหนึ่งพวกเขาก็ต้องล้มตายและสูญพันธุ์ไปในที่สุด ดังนั้นบริษัทแห่งวิสัยทัศน์ที่จิมศึกษาจึงมีการทดลองคิดค้นสิ่งใหม่ๆ อยู่เสมอ ซึ่งบางครั้งสิ่งที่พวกเขาค้นพบก็ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก

พนักงานคนหนึ่งจากบริษัท Johnson & Johnson ชื่อ เอิร์ล ดิกสัน ได้คิดค้นสิ่งประดิษฐ์ชิ้นใหม่เพื่อใช้กับภรรยาของเขา เธอเป็นคนที่ชอบเข้าครัวทำอาหาร แต่เธอก็มักโดนมีดบาดเป็นประจำ เขาจึงใช้เทปผ่าตัดและผ้าก็อซเพื่อพันนิ้วมือของเธอ เมื่อเขานำแนวคิดนี้ไปเสนอกับบริษัท ผลปรากฏว่าไอเดียนี้โดน! ในที่สุดสิ่งประดิษฐ์เพื่อภรรยาของเอิร์ลก็กลายมาเป็นผลิตภัณฑ์ที่ชื่อว่า Band-Aid พลาสเตอร์ปิดแผลซึ่งเป็นสินค้าขายดีของบริษัทในเวลาต่อมา

แม้บางไอเดียจะล้มเหลวไม่เป็นท่า แต่บริษัทแห่งวิสัยทัศน์จะไม่มีบทลงโทษสำหรับความล้มเหลวที่เกิดขึ้น เพราะพวกเขารู้ดีว่าทุกการทดลองใหม่ๆ มันมีราคาที่จำเป็นต้องจ่ายเสมอ

 

สรุปสุดท้ายก่อนวางหนังสือ Built to Last

จิม คอลลินส์ใส่ทั้งความตั้งใจและความพยายามเพื่อเขียนหนังสือเล่มนี้ เขาเลือกศึกษาบริษัทต่างๆ มากมาย อีกทั้งยังครอบคลุมในทุกด้านทั้งบริษัทด้านอุตสาหกรรมและการบริการ หรือจะเป็นบริษัทเอกชนและมหาชนอีกด้วย ข้อมูลทุกอย่างที่อัดแน่นอยู่ในหนังสือเล่มนี้ ทำให้มันได้รับการยอมรับว่าเป็น “หนึ่งในหนังสือธุรกิจที่ทรงอิทธิพลที่สุดแห่งยุค”

ผมขอย้ำอีกครั้งว่าถ้าคุณเป็นคนหนึ่งที่ทำธุรกิจอยู่ อย่าพลาดโอกาสอ่านหนังสือดีๆ อย่าง Built to Last ไปนะครับ

 

หนังสือเล่มอื่นที่น่าสนใจไม่น้อยไปกว่า Built to Last

  • สำนักพิมพ์บิงโกขอแนะนำสรุปหนังสือเรื่อง Sam Walton: Made in America ซึ่งบอกเล่าเรื่องราวของชายผู้สร้างซูเปอร์มาร์เก็ตยักษ์ใหญ่อย่าง Walmart 1 ใน 18 บริษัทแห่งวิสัยทัศน์ที่อยู่ในหนังสือ Built to Last ด้วย
  • เปลี่ยนอารมณ์จากเรื่องราวของบริษัทในตำนานมาติดตามแนวคิดบริหารยุคใหม่ล่าสุดจากซิลิคอนวัลเลย์ ซึ่งบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Google Facebook และ Intel ต่างก็ใช้จนประสบความสำเร็จมาแล้ว ในหนังสือ “อยากสำเร็จต้องโฟกัส ด้วยแนวคิด OKR”
  • ถ้าคุณอยากได้ไอเดียธุรกิจดีๆ เราขโมยมันมาให้คุณแล้วในหนังสือ “ขโมยวิธีคิดสุดเจ๋ง จากสุดยอดโรงเรียนสอนสตาร์ทอัพ”แล้วคุณจะรู้ทันธุรกิจยุคใหม่และนำมาปรับใช้กับตัวคุณได้ทันที
  • ถ้าคุณเป็นคนหนึ่งที่ทำงานเกี่ยวกับการสร้างสินค้าและบริการ สำนักพิมพ์บิงโกขอแนะนำสรุปหนังสือเรื่อง Hooked ที่จะไขข้อข้องใจให้คุณว่า “ต้องทำอย่างไรบ้างลูกค้าถึงจะติดใจ?”

4 thoughts on “สรุปหนังสือ Built to Last สร้างบริษัทอย่างไรให้ยืนระยะนับ 100 ปี

  1. Pingback: Luckin Coffee ร้านกาแฟอายุ 2 ขวบของจีน ที่เตรียมล้มบัลลังก์ Starbucks - สำนักพิมพ์บิงโก

  2. Pingback: สรุปหนังสือ Tribes เป็นหัวหน้าเผ่าในโลกสมัยใหม่ - สำนักพิมพ์บิงโก

  3. Pingback: สรุปหนังสือ Permission Marketing ขายออนไลน์แล้วทำไมยังเจ๊ง - สำนักพิมพ์บิงโก

  4. Pingback: สรุปสาระสำคัญจาก หนังสือธุรกิจ ระดับตำนาน Good To Great - สำนักพิมพ์บิงโก

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราะห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก