Big Debt Crises จับสัญญาณลงเหวเศรษฐกิจ รัฐชอบทำอะไรเวลาใกล้เกิดวิกฤติ

big debt crises open

เมื่อมีคนพูดเรื่อง “ฟองสบู่แตก!” ขึ้นมา ค่อนข้างเชื่อขนมกินได้เลยว่าเขาไม่ได้กำลังเล่นสนุก แต่เขาหมายถึง “วิกฤติเศรษฐกิจ” ที่ทุกคนไม่อยากให้มันเกิด ยิ่งถ้าคำพูดนี้ออกมาจากปากของชายที่ชื่อว่า Ray Dalio ความน่าสนใจของมันก็ยิ่งทวีคูณ

Ray Dalio คือเจ้าพ่อกองทุนเฮดจ์ฟันด์ที่มีมูลค่ามหาศาล ก่อนหน้านี้ในหนังสือ Principle เขาได้เล่าถึงหลักในการใช้ชีวิต แต่ในหนังสือเรื่อง Big Debt Crises เขาจะเขียนวิเคราะห์วิกฤติเศรษฐกิจจากทั่วโลก ตามประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา แม้มนุษย์เราจะต้องเจอกับวิกฤติเศรษฐกิจมานับครั้งไม่ถ้วน เรามีตัวอย่างให้ได้เรียนรู้มากมาย แต่สุดท้ายเรายังเลือกเดินตามรอยวิกฤติเดิมๆ อยู่ดี

คำถามที่น่าสนใจตรงนี้ก็คือ ณ ปัจจุบันนี้ เราใกล้มาถึงจุดที่ฟองสบู่กำลังจะแตกแล้วหรือยัง?

 

ก้อนหนี้คือระเบิดเวลา

ก่อนอื่น ผมอยากแนะนำให้คุณปูพื้นฐานความรู้ด้านเศรษฐกิจง่ายๆ จากการดูคลิป How The Economic Machine Works ของ Ray Dalio ถึงในคลิปจะเป็นภาษาอังกฤษ แต่การตีความเป็นภาพประกอบง่ายๆ ก็ช่วยให้เราเข้าใจเนื้อหาทั้งหมดนี้ไม่ยากเกินไปครับ แต่ถ้าใครอยากรวบรัดให้เร็วอีก เราทำสรุปเนื้อหาจากคลิปนี้ไว้ให้เรียบร้อย ตามอ่านได้ที่นี่เลยครับ

ขอย้อนความกันง่ายๆ ก็คือ ระบบเศรษฐกิจเดินได้ด้วย “เงิน” 

A จ่ายเงินซื้อขนมจาก B

B จ่ายเงินซื้อหนังสือจาก C

C จ่ายเงินซื้อพริกจาก D 

พอเราเกิดการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการกันในลักษณะนี้ซ้ำๆ ในจำนวนมหาศาล นี่จึงรวมตัวกันเป็น “เศรษฐกิจ” นั่นเอง

แล้วถ้า B ไม่มีเงินมาเปิดร้านทำขนมขายล่ะ? เขาจะได้เงินจาก A ได้อย่างไร? คำตอบก็คือ B ไปกู้เงินจากธนาคารครับ

B กู้เงินธนาคารมาทำร้านขนมขาย A

C เองก็กู้เงินจากธนาคารมาพิมพ์หนังสือขาย B เช่นกัน

คราวนี้หมายความว่าทุกการแลกเปลี่ยนซื้อขายที่เกิดขึ้น มี “หนี้” หรือ Credit แฝงอยู่ในนั้น เงินที่ B หรือ C เอามาผลิตสินค้าขาย ไม่ใช่เงินของตัวเองทั้งหมด แต่ไปกู้มา ดังนั้นถึงพวกเขาจะขายของได้เงิน เขาก็ต้อง “จ่ายหนี้” คืนธนาคารในวันหนึ่งอยู่ดี

หนี้ที่มีแต่พอดี ไม่มากเกินความสามารถในการหาเงิน จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ค่อยๆ ดีขึ้นได้เรื่อยๆ แต่เมื่อใดก็ตามที่คนหาเงินได้น้อยกว่าหนี้ที่มี เมื่อนั้นก็ “ตูม” ระเบิดเวลาที่เรียกว่า หนี้ ได้ทำงานแล้ว

นึกภาพตามง่ายๆ คือ B ไม่มีเงินจ่ายหนี้ เขาอยากประหยัดให้เยอะ ก็เลยไม่ซื้อหนังสือจาก C อีกต่อไป อ้าว! ทีนี้ C จะเอารายได้จากไหนล่ะ? แล้วธนาคารที่ปล่อยกู้ก็ยิ่งกระวนกระวาย ทำไงดี ถึงรอบนัดชำระหนี้แล้ว ถ้า B หนีล่ะ?

นี่คือเรื่องราวสมมุติง่ายๆ ที่จะเกิดขึ้นหลังระเบิดเวลาหนี้ทำงานครับ

 

จะกี่ยุคสมัย ฟองสบู่แตกเกิดจากคนคุมเกมเสมอ

หนังสือ Big Debt Crises เล่มนี้จะเรียกอีกหนึ่งผู้เล่นสำคัญในเศรษฐกิจว่า Policy Makers เราจะเรียกว่า รัฐหรือคนคุมเกมก็ได้ครับ คนคนนี้มีบทบาทสำคัญมากๆ ก็เพราะเขาเป็นคนกำหนดตัวเลขอัตราดอกเบี้ยและกำหนดนโยบายเศรษฐกิจต่างๆ ให้เรานั่นเอง

Ray บอกว่าถ้าอยากรับมือกับวิกฤติหนี้ไม่ให้ฟองสบู่แตก คนคุมเกมต้องมีความรู้ มีอำนาจ และทำงานเร็ว เด็ดขาด พูดเหมือนง่ายใช่มั้ยครับ…งั้นลองหลับตานึกถึงคนคุมเกมประเทศเราดูสิ…คุณมองเห็นอะไรบ้าง?

ย้อนกลับไปตอนวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 หรือวิกฤติต้มยำกุ้ง การพยายามเหนี่ยวรั้งค่าเงินบาทให้แข็งแรง ดูดี สวยสง่างามกลายเป็นความพยายามที่ฝืนกับความเป็นจริง เมื่อแบงค์ชาติ (คนคุมเกม) ทำให้ค่าเงินบิดเบี้ยวต่อไปไม่ไหว พวกเขาก็ตัดสินใจปล่อยลอยตัวค่าเงินบาท แล้วทุกอย่างก็ “ตูม”

การแก้ปัญหาก็เรื่องหนึ่ง แต่เวลาลงสนามจริง มันจะมีอีกปัจจัยหนึ่งเสริมเข้ามานั่นคือ “การเมือง” เพราะคนคุมเกมไม่อยากทำอะไรที่ได้ผลดี แต่คะแนนนิยมตกหรอกครับ

big debt crises 02

คนคุมเกมชอบทำอย่างไรถ้าไม่อยากให้ฟองสบู่แตก

อันดับแรกคือ เข้มงวดเรื่องการใช้เงิน

อันนี้นึกภาพตามง่ายครับ เช่น โครงการ…นี้ไม่จำเป็น ตัดงบ เลิกทำพับเก็บไปเลย โครงการ…นี้ดูใช้เงินเยอะเกินไปนะ ขอตัดออกสัก 20% ก็แล้วกัน ปีหน้าค่อยว่ากันใหม่

อันดับต่อมาคือ การปรับโครงสร้างหนี้

ถ้าไม่อยากให้ลูกหนี้อย่างนาย A B C D อับจนหนทาง ก็ต้องพูดคุยกัน เราคุยกันได้นะ ปรับตัวเลขดอกเบี้ย ยืดเวลาชำระ อะไรกันใหม่ก็ว่าไป

ถัดมาคือ การแจกเงิน

จริงๆ แล้วคือการพิมพ์เงินนั่นแหละครับ แค่เวลาคนคุมเกมอยากจะนำเงินมาใส่มือทุกคน เขาก็ต้องคิดหามาตรการหรือนโยบายอะไรบางอย่างขึ้นมา ใช่ว่าจะมาแจกกันดื้อๆ ให้คนต่อแถวรับเงิน ตัวอย่างเช่น โครงการคนละครึ่ง ชิมช็อปใช้ เป็นต้น

ตัวปัญหาจริงๆ ของเรื่องนี้อยู่ที่ “การแจกเงิน” ครับ ถ้าแจกอย่างฉลาดและพอดี เศรษฐกิจจะเหมือนถูกช็อตไฟฟ้ากระตุ้นเฮือกให้กลับมาหายใจได้อย่างสวยงาม แต่ถ้าล้มเหลว นั่นแปลว่าเงินจะกลายเป็นเศษกระดาษ หมดค่าในทันที

ย้อนกลับไปสมัยปี 1923 ประเทศเยอรมนีหลังแพ้สงครามโลกครั้งที่ 1 ก็เจอวิกฤติเศรษฐกิจหนักหน่วงมาก แถมยังต้องจ่ายเงินค่าแพ้สงครามอีกมหาศาลด้วย รัฐบาลเลือกจึงแก้ปัญหาด้วยการพิมพ์เงินใส่ในระบบ ผลลัพธ์ที่ได้คือ ภาวะเงินเฟ้อครั้งใหญ่ ที่แค่อยากซื้อขนมปังสักก้อนนึง คุณต้องแบกเงินเป็นกระสอบไปแลกมาเลยทีเดียว

 

ย้อนอดีต Big Debt Crises คนอเมริกันเคยเอาตัวรอดอย่างไรจาก The Great Depression 

ผมขอให้ทุกคนนึกภาพชีวิตสุดหรูหราจากภาพยนตร์เรื่อง The Great Gatsby ตามไปด้วย ลองนึกถึงภาพลีโอนาร์โด ดิแคพริโอ ที่ชูแก้วไวน์พร้อมส่งยิ้มหวานท่ามกลางฉากหลังยิงพลุสุดอลังการดูก็ได้ครับ นั่นเป็นเรื่องก่อนหน้าที่จะเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ The Great Depression ในช่วงปลายปี 1929

ภาพชีวิตสุดหรูหรานั้นพลิกกลับเป็นหลังมือ การใช้จ่ายที่เกินตัว หนี้สินที่มากล้น ประกอบกับภาวะสินค้าทางการเกษตรตกต่ำ ส่งผลให้เศรษฐกิจพังทลาย คนอเมริกันในยุคนั้นก็มีแนวคิดคล้ายๆ กับประเทศแถวๆ นี้เช่นกัน พวกเขาต้องประหยัดกันสุดฤทธิ์ กินให้หมดจานไม่มีเหลือทิ้ง เสื้อผ้าก็ใส่ๆ ไปเถอะ ใส่ไปจนขาดเลยก็ได้ ประหยัดทางไหนได้ก็เอาให้หมดทุกทาง

แฟรงกลิน ดี.โรสเวลต์ ประธานาธิบดีในสมัยนั้นยังต้องนำเสนอการกินอาหารง่ายๆ อย่างพวกมันฝรั่งบดราดซอส ส่วนสุภาพสตรีหมายเลข 1 ก็แนะนำเมนูสปาเก็ตตี้ราคาประหยัด เพื่อแสดงให้ทุกคนเห็นว่าขนาดผู้นำเองก็ยังประหยัด แล้วทุกคนก็ต้องช่วยกันฝ่าวิกฤติครั้งนี้ไปด้วยกัน

big debt crises 03
ภาพคนต่อคิวเพื่อรับอาหารแจก เป็นภาพที่ทุกคนเห็นจนชินตา

ไม่ใช่แค่อเมริกา แต่สะเทือนไปทั่วโลก

ถ้าขนาดประเทศยักษ์ใหญ่ทางเศรษฐกิจอย่างอเมริกายังระส่ำ ประเทศอื่นๆ ทั่วโลกในตอนนั้นก็ไม่รอดเช่นกัน เพราะลูกค้ารายใหญ่ของหลายประเทศก็คืออเมริกา ทีนี้พออเมริกาย่ำแย่ ต้องประหยัดมากขึ้น พวกเขาก็ลดก็สั่งซื้อสินค้าจากยุโรปและประเทศต่างๆ ลง หรือจะเรียกว่า “เจ๊งตามๆ กัน” ก็ไม่ผิดอะไร

ภาพใหญ่ยังแสดงให้เห็นว่าลำบากขนาดนี้ ภาพเล็กยิ่งแล้วใหญ่ครับ เพราะอเมริกาเองก็ต้องป้องกันสินค้าของตัวเอง พวกเขาจึงตั้งกำแพงภาษีขึ้นมา ทีนี้ประเทศอื่นๆ ก็ค้าขายด้วยยากขึ้นไปอีก

ส่วนในยุโรปนั้น ผมเล่าไปแล้วว่าเยอรมนีต้องพิมพ์เงินขึ้นมาจนเกิดภาวะเงินเฟ้อครั้งใหญ่ ขณะที่ในเองอิตาลี รัฐบาลของมุสโสลินีได้ใช้โอกาสวิกฤตินี้เข้าแทรงแซงเศรษฐกิจและจัดทำโครงการป้องกันการว่างงานจนได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น

วิกฤติ The Great Depression นั้นส่งผลต่อเนื่องยาวนานนับสิบปี แฟรงกลิน ดี.โรสเวลต์ ในฐานะประธานาธิบดีต้องงัดทุกกระบวนท่ามากระตุ้นเศรษฐกิจมากกว่า 1 ล้านโครงการ เช่น การลงทุนก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน โครงการจ้างงานสร้างอาชีพ รวมไปถึงโครงการด้านดนตรี ศิลปะ และอื่นๆ ด้วย จนอาจเรียกได้ว่านี่คือจุดกำเนิดของ “รัฐสวัสดิการ” เป็นครั้งแรกในอเมริกา

 

ประเทศไทยเป็นอย่างไรตอนเกิดวิกฤติ The Great Depression 

ค่าเงินบาทของเราตกต่ำอย่างมาก สินค้าส่งออกสำคัญไม่ว่าจะเป็นข้าวหรือไม้ป่าก็ตกต่ำเช่นกัน มีการลดรายจ่ายแผ่นดินและปลดข้าราชการออกเป็นจำนวนมาก สุดท้ายแล้วความขัดแย้งทั้งหมดก็กลายเป็นชนวนหนึ่งให้เกิดการปฏิวัติ 2475 ซึ่งประเทศไทยได้กลายเป็นประชาธิปไตยในที่สุดนั่นเอง (ปี พ.ศ.2475 ตรงกับปี ค.ศ.1932 ซึ่งเป็นปีที่วิกฤติ The Great Depression เริ่มส่งผลหนักที่สุด)

 

เรียนคอร์สลงทุน “นักลงทุนมือหนึ่งของโลก”

คอร์สลงทุน บิงโก

อยากศึกษาเรื่องการลงทุนแต่เริ่มไม่ถูก?

บิงโกมีคอร์สสอนลงทุนที่จะคุณอาจสนใจ คอร์สนี้จะสอนคุณตั้งแต่พื้นฐานจนถึงระดับสูง มือใหม่เรียนจบก็พร้อมลงทุนจริงได้เลย

คอร์สนี้ถูกออกแบบให้พิเศษกว่าคอร์สลงทุนทั่วไป เพราะมาจากหนังสือลงทุนของเซียนหุ้นระดับโลก ทั้งวอร์เรน บัฟเฟตต์, ปีเตอร์ ลินช์, เบนจามิน เกรแฮม, เรย์ ดาลิโอ และอื่นๆ จนเหมือน “นักลงทุนระดับโลกมาสอนคุณเอง” ทุกเล่มที่เราคัดมาคือหนังสือลงทุนที่ดีที่สุด ซึ่งได้รับการยอมรับจากทั่วโลกว่าเป็น “ของจริง” และจะร่นเวลาให้คุณลงทุนได้เก่งกาจอย่างรวดเร็ว

ดูรายละเอียด

 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราะห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก