สวัสดีค่ะคุณผู้อ่าน วันนี้แอดจะมานำเสนอหนังสือเล่มหนึ่งที่เรียกได้ว่า exclusive เจาะลึกกันแบบสุดๆ เกี่ยวกับเรื่องราวของโซเชียลเน็ตเวิร์กตัวหนึ่งที่จะมาเปลี่ยนการใช้ชีวิตของเราไปตลอดกาล
ไม่ต้องบอกก็คงเดากันได้ เฟซบุ๊ก นั่นเองค่ะ
ตามวิกิพีเดียอาจจะใส่ไทม์ไลน์ของแต่ละเหตุการณ์เอาไว้ แต่ขอบอกว่าจุใจไม่เท่าในหนังสือ Becoming Facebook เล่มนี้แน่ เพราะคนเขียน Mike Hoefflinger เป็นหัวหน้าฝ่ายการตลาดเก่าของเฟซบุ๊ก ทำให้เนื้อหามีชีวิตชีวาและละเอียดยิบ เหมือนได้ไปนั่งในห้องประชุมกรรมการด้วยตัวเองเลยล่ะค่ะ เริ่มตั้งแต่เฟซบุ๊กก่อนก่อตั้ง ตอนเป็นรูปเป็นร่าง วันเปิดตัว วันที่ขึ้นเป็นที่หนึ่ง อุปสรรค คู่แข่ง ความท้าทาย รวมไปถึงบทสรุปที่เราสามารถเรียนรู้ไปในตัวและนำมาปรับใช้กับธุรกิจได้อีกด้วย
อีกอย่างนะคะ นอกจากเรื่องราวของตัวเฟซบุ๊กเองแล้ว ก็ยังมีแทรกภูมิหลังและแรงจูงใจของผู้ก่อตั้งคนดัง มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก ให้ได้เสพกันอีก เรียกได้ว่าครบเครื่อง
ไปเริ่มกันเลยดีกว่าค่ะ!
มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก เกิดในปี 1984 เขาโตมาในครอบครัวชนชั้นกลางที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านด็อบส์เฟอร์รี่ รัฐนิวยอร์ก ห่างจากเมืองแมนฮัตตันออกมาทางเหนือประมาณ 20 ไมล์ มาร์คเรียนเขียนโปรแกรมจากคุณพ่อ เขาจึงเริ่มมีความคิดอยากเชื่อมผู้คนถึงกันผ่านโลกออนไลน์ตั้งแต่ยังเด็ก
ก่อนที่มาร์คจะสร้างเฟซบุ๊ก เขาได้สร้างคอร์สแมทช์ (CourseMatch) ที่ให้นักศึกษาในมหาลัยฮาร์วาร์ดโพสต์เรื่องการเรียนและเรื่องทั่วไปได้ แล้วก็ยังสร้างเฟสแมช (FaceMash) ด้วย แต่ก่อนจะปล่อยเฟสแมช มาร์คแฮคเข้าไปในฐานข้อมูลบ้านพักของฮาร์วาร์ด และนำข้อมูลรูปนักศึกษาอัพโหลดขึ้นเว็บ ซึ่งนับเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล แถมผิดกฎหมายเรื่องลิขสิทธิ์ด้วย ฮาร์วาร์ดลงโทษทัณฑ์เขาทันที จากจุดนี้เองที่ก่อให้เกิด thefacebook.com ต้นกำเนิดของ Facebook ในปัจจุบัน
การเติบโตที่ก้าวกระโดด
ความสำเร็จของเฟซบุ๊กคือการแสวงหาการเติบโตอย่างต่อเนื่อง
- เดือนกุมภาพันธ์ 2004 นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยชื่อดัง 3 แห่ง ได้แก่ โคลอมเบีย, สแตนฟอร์ด และเยล สมัครใช้ thefacebook.com ของมาร์ค ตามด้วยอีก 6 แห่งในเดือนมีนาคม และเพิ่มขึ้นอีกในเดือนเมษายน มหาวิทยาลัยที่อยู่อีกฟากของอเมริกาอย่างเวอร์จิเนียและอิลลินอยส์ก็ไม่พลาด การเชื่อมต่อกันระหว่างผู้คนในมหาวิทยาลัยพุ่งขึ้นสูงมาก จนปลายปี 2004 เฟซบุ๊กก็มีผู้ใช้งานมากถึง 1 ล้านคนจากหลากหลายมหาวิทยาลัยในอเมริกา
- เดือนกันยายน ปี 2005 เฟซบุ๊กได้ขยายอิทธิพลไปถึงโรงเรียนมัธยมปลายและมหาวิทยาลัย 20 แห่งในสหราชอาณาจักร ปลายปี 2005 จำนวนโรงเรียนมัธยมปลายที่ตบเท้าเข้าสู่เฟซบุ๊กก็เพิ่มขึ้นเป็น 25,000 แห่ง มหาวิทยาลัยในอเมริกา 2,000 แห่ง และมหาวิทยาลัยในประเทศอื่นๆ อีกมากมาย เช่น แคนาดา เม็กซิโก ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และไอร์แลนด์
- เดือนกันยายนปี 2006 เฟซบุ๊กเปิดให้ทุกคนเข้ามาใช้บริการได้
เฟซบุ๊กตัดสินใจพุ่งเป้าไปที่ “การมีส่วนร่วม” เพื่อนำมาใช้วัดอัตราการเติบโต ซึ่งจะหมายถึง “จำนวนของคนที่เห็นประโยชน์ในการใช้เฟซบุ๊กในชีวิตประจำวัน” เฟซบุ๊กทำงานได้อย่างละเอียดและแม่นยำมากขึ้นในเรื่องการติดตามผลการมีส่วนร่วมของผู้ใช้
นอกจากนี้ เฟซบุ๊กยังตกลงกับกูเกิล ให้ผู้ใช้กูเกิลสามารถค้นโปรไฟล์เฟซบุ๊กได้อย่างอิสระ ผู้ใช้สามารถนำเข้ารายชื่อผู้ติดต่อจากบริษัทผู้ให้บริการอีเมลชื่อดังอย่าง Hotmail, Yahoo, AOL และ Gmail มาที่หน้าฟีดของเฟซบุ๊กตัวเองได้ ซึ่งก็แปลว่าผู้ใช้กลุ่มนี้สามารถส่งอีเมลเชิญเพื่อนๆ ให้มาเล่นเฟซบุ๊กได้ด้วย
ต้นปี 2016 เฟซบุ๊กเป็นโซเชียลเน็ตเวิร์กติดอันดับท็อปใน 129 ประเทศทั่วโลก และมีผู้ใช้กว่า 1 พันล้านคนต่อวัน ส่วนอินสตาแกรมที่เฟซบุ๊กเป็นเจ้าของก็ติดอันดับเดียวกันใน 41 ประเทศ ที่ยังทำตลาดไม่ได้จริงจังเห็นจะมี จีน รัสเซีย ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ เพราะรัฐบาลจีนบล็อกเฟซบุ๊ก ส่วนรัสเซีย ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ก็มีเฟซบุ๊กในเวอร์ชั่นของตัวเองอยู่ก่อนแล้ว
จุดกำเนิดของ News Feed
คริส ค็อกซ์ ทำงานในเฟซบุ๊กมากกว่า 10 ปี และยังคงเข้าร่วมกิจกรรมปฐมนิเทศพนักงานใหม่อย่างสม่ำเสมอ เพื่อประกาศเป้าหมายของเฟซบุ๊ก นั่นก็คือ “ทำให้โลกเปิดกว้างและเชื่อมถึงกันมากขึ้น”
ต้นปี 2006 เฟซบุ๊กมีผู้ใช้มากกว่า 6 ล้านคน แต่พวกเขาใช้งานเฟซบุ๊กโดย “สลับไปมา” กับเว็บไซต์อื่นๆ ด้วย คริส ค็อกซ์ และทีมงานจึงค้นหาไอเดียจนมาตกลงปลงใจที่ฟีเจอร์หนึ่ง ซึ่งจะกลายมาเป็นหน้าเป็นตาของเฟซบุ๊กตราบจนทุกวันนี้ นั่นก็คือ News Feed
- เดือนกันยายนปี 2006 (ปีเดียวกับที่เปิดให้บริการทั่วโลก) เฟซบุ๊กได้เปิดตัว News Feed มันเป็นฟีเจอร์ที่จะบอกว่าเพื่อนของคุณทำอะไรอยู่ ซึ่งทำให้เกิดข้อกังขาในเรื่องความเป็นส่วนตัว อะไรก็ตามที่ถูกโพสต์บนไทม์ไลน์ของคุณ จะไปปรากฏบนหน้าฟีดคนอื่นด้วย ในตอนแรก ผู้ใช้ไม่ค่อยชอบเท่าไหร่ แต่ต่อมา News Feed ก็ได้ทวีความนิยมขึ้น ไม่ต่างจากสมาร์ทโฟนที่กลายเป็นเครื่องมือที่ผู้คนใช้ติดตามข่าวสารเป็นประจำมากที่สุด
- เดือนกุมภาพันธ์ ปี 2009 เฟซบุ๊กเปิดตัวปุ่ม “Like” ซึ่งทำให้การทำงานของ News Feed เปลี่ยนไป มันทำให้ผู้ใช้คลิก “Like” บนโพสต์ที่พวกเขาชื่นชอบ และทำให้เฟซบุ๊กวัดอัตราการมีส่วนร่วมของผู้ใช้งานได้ง่ายยิ่งขึ้น มันบอกได้ว่ามีคนไลค์เร็วหรือช้ามากแค่ไหนบนโพสต์หนึ่งๆ เฟซบุ๊กเริ่มทำแบบสำรวจออนไลน์ เพื่อหาฟีดแบคจากผู้ใช้โดยถามผู้ใช้ว่า พวกเขาอยากติดตามเรื่องอะไร หรือมีอะไรที่ไม่อยากเห็นบ้าง
- เดือนมิถุนายน ปี 2016 เฟซบุ๊กประกาศว่า สิ่งที่ครอบครัวและเพื่อนโพสต์จะปรากฏขึ้นมาให้เห็นก่อนเพจและโฆษณาทั้งหลายแหล่ เพราะ “ครอบครัวและเพื่อนสำคัญที่สุด”
1 พันล้านดอลลาร์กับอินสตาแกรม
ในปี 2012 เฟซบุ๊กมีผู้ใช้มากกว่า 900 ล้านคนทั่วโลก ทิ้ง MySpace, Twitter และ Google+ ไม่เห็นฝุ่น แต่อยู่ๆ อินสตาแกรมก็โผล่ขึ้นมา
เควิน ซิสตรอม ซีอีโอของอินสตาแกรมพบมาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก และอดัม ดีแอนเจโล (ผู้ร่วมก่อตั้งเฟซบุ๊ก) เป็นครั้งแรกที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดในปี 2004 ทั้งสองไม่สามารถโน้มน้าวให้เควินเข้ามาร่วมทำงานกับบริษัทที่เพิ่งตั้งไข่ของพวกเขาได้
ในปี 2010 เควินและเพื่อนของเขา ไมค์ ครีเกอร์ ได้สร้าง เบอร์บอน (Burbn) โซเชียลเน็ตเวิร์กที่ให้บริการด้านข้อมูลสถานที่ เบอร์บอนมีผู้ใช้งานได้ราว 1,000 คนก็เจอกับตออย่าง Foursqaure, SCVNGR และ Places เควินกับไมค์จึงพยายามเปลี่ยนให้เบอร์บอนดึงดูดผู้ใช้มากขึ้น จึงเพิ่มฟีเจอร์แบ่งปันรูปภาพบนแอพด้วย
วันที่ 6 ตุลาคม 2010 พวกเขาก็เปิดตัวอินสตาแกรมที่ให้ผู้ใช้สามารถถ่ายรูป ใส่ฟิลเตอร์ 11 แบบ แชร์รูป (แชร์บนโซเชียลเน็ตเวิร์กอื่นๆ ได้ด้วย) ค้นหา และให้คนกด “Like” คล้ายของเฟซบุ๊ก แต่ที่นี่มีแค่รูปภาพเท่านั้น
อินสตาแกรมในปัจจุบันดูไม่ต่างจากวันแรกมากนัก และนั่นคือจุดแข็ง อินสตาแกรมดึงดูดนักลงทุนรายใหญ่ รวมถึงมาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก แม้ว่าจะมีคนมาเสนอซื้อมากมาย ทั้งทวิตเตอร์และบริษัทเงินทุนรายใหญ่อย่าง เซควอญ่า แต่ก็เป็นเฟซบุ๊กที่ฉกไปได้ในราคา 1 พันล้านดอลลาร์
2 ปีครึ่งต่อมา อินสตาแกรมมีผู้ใช้งานต่อเดือนมากกว่าทวิตเตอร์ ในปี 2015 ผู้ใช้รวมทั้งหมดแตะ 400 ล้านคน มาร์คและเควินมีวิสัยทัศน์คล้ายกัน มาร์คมีส่วนช่วยให้อินสตาแกรมเติบโตอย่างทุกวันนี้ เงิน 1 พันล้านที่เฟซบุ๊กจ่ายไปนั้นคุ้มค่าทุกบาททุกสตางค์
การเข้าถึงจากทั่วโลก
ในปี 2015 ยังมีคนอีกกว่า 4 พันล้านที่ไม่มีอินเทอร์เน็ตใช้ ในแถบเอเชียใต้ มีแค่ 17% จาก 1,400 ล้านคนเท่านั้นที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ตในแอฟริกา ประชากรที่อาศัยอยู่ตอนใต้ของทะเลทรายซาฮาร่า มีแค่ 19% จาก 800 ล้านคนที่มีอินเทอร์เน็ตใช้ มีจำนวนหนึ่งมีโทรศัพท์ แต่ไม่มีแพ็คเกจโทรศัพท์จากเครือข่ายใช้ เลยเข้าถึงเว็บไซต์ไม่ได้ ส่วนอีกจำนวนหนึ่งไม่มีไฟฟ้าใช้ คนที่อยู่ในพื้นที่ชนบทและผู้หญิง (หลายพื้นที่ในโลก ผู้หญิงยังขาดการศึกษาและได้ค่าจ้างน้อยกว่าผู้ชาย) ยิ่งเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ยาก
การขาดแคลนการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตกลายเป็นวงจรอุบาทว์ จะหารายได้เพิ่มก็ไม่ได้ เพราะออนไลน์ไม่ได้ จะออนไลน์ก็ยากเข้าไปอีก เพราะไม่มีเงิน
อุปสรรคสำคัญ 3 อย่างที่ทำให้การเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตเป็นไปได้ยาก ได้แก่ ความพร้อมของระบบสาธารณูปโภค, ราคา และความเข้าใจในอินเทอร์เน็ต
1. ความพร้อมของระบบสาธารณูปโภค
กว่า 1 พันล้านคนในปัจจุบันอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่อินเทอร์เน็ตเข้าไม่ถึง ระบบสาธารณูปโภคมีค่าใช้จ่ายสูงมากจนแทบจะไม่คุ้มกับการลงทุน เฟซบุ๊กต้องประสานงานกับเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นเพื่อพัฒนาเครือข่ายการสื่อสาร
2. ราคา
ราคาที่กล่าวถึงไม่ใช่ค่าเครื่องโทรศัพท์ (สมาร์ทโฟนส่วนใหญ่ขายแค่ในราคา 50 ดอลลาร์หรืออาจจะต่ำกว่าในบางยี่ห้อ) แต่ราคาแพ็คเกจที่พ่วงกับตัวเครื่องนั้นสูงมากเมื่อเทียบกับค่าครองชีพของคนในบางพื้นที่
3. ความเข้าใจในอินเทอร์เน็ต
ในการสำรวจครั้งหนึ่ง คน 42,000 คน จาก 11 ประเทศในแถบอเมริกาใต้ เอเชียแปซิฟิก และแอฟริกาพบว่า “85% ของคนที่เข้าไม่ถึงอินเทอร์เน็ตไม่รู้ว่าอินเทอร์เน็ตคืออะไร และอีกครึ่งก็ไม่เคยได้ยินคำว่า อินเทอร์เน็ต ด้วยซ้ำไป” เพื่อแก้ปัญหานี้ เฟซบุ๊กจึงสร้างระบบ “ฟรีเบสิกส์” (Free Basics) เพื่อให้ผู้คนสามารถใช้งานอินเทอร์เน็ตได้แบบไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย
ฟรีเบสิกส์เปิดตัวที่ประเทศแซมเบีย ในเดือนกรกฎาคม ปี 2014 พอถึงเดือนเมษายน ปี 2016 ผู้ใช้งานในระบบนี้ก็เพิ่มขึ้นเป็น 25 ล้านคน ใน 37 ประเทศ
บริการฟรีเบสิกส์นี้ทำให้เกิดข้อถกเถียงเป็นวงกว้าง เฟซบุ๊กโดนกล่าวหาว่าเป็น “นักล่าอาณานิคมดิจิตอล” และทำให้เกิดความเสียหายต่อ “ความเสมอภาคทางเน็ต” (net neutrality) แล้วยังมีกระแสความคิดที่ว่า “ผู้ให้บริการโทรคมนาคมหน้าไหนก็ไม่ควรคิดราคาค่าบริการแตกต่างกัน หรือสกัดกั้นช่องทางการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตจากผู้คน”
กลุ่มผู้สนับสนุนหลายกลุ่มวิจารณ์ฟรีเบสิกส์ เพราะระบบนี้เสนอการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตฟรีๆ แบบจำกัด (ให้เข้าได้เฉพาะบางเว็บไซต์) การล่าอาณานิคมดิจิตอลเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อคนที่มีอำนาจมากกว่าเข้ามาเอาเปรียบคนที่ด้อยอำนาจกว่า ในเดือนพฤษภาคม ปี 2015 กลุ่มผู้สนับสนุนกว่า 6 กลุ่ม จาก 31 ประเทศ แสดงความกังวลในเรื่องนี้ต่อเฟซบุ๊ก
หน่วยงานกำกับโทรคมนาคมแห่งอินเดีย (TRAI) บล็อกระบบฟรีเบสิกส์ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2016 แม้ว่ามาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก จะดูมีท่าทีสนิทสนมกับนเรนทระ โมที นายกรัฐมนตรีของอินเดีย
เฟซบุ๊กยังคงทำงานร่วมกับรัฐบาลท้องถิ่นเกี่ยวกับปัญหาข้างต้น แล้วก็ยังตั้งหน้าพัฒนาเทคโนโลยีตัวใหม่ๆ ด้วย เช่น ระบบความจริงเสมือน (VR) และความจริงเติมแต่ง (AR)
ในวันที่ 25 เดือนมีนาคม ปี 2014 เฟซบุ๊กซื้อกิจการออคิวลัสวีอาร์ (Oculus VR) เป็นมูลค่า 2 พันล้านดอลลาร์ แว่นสวมหัวออคิวลัสเป็นแว่นไฮเทคที่ถูกดีไซน์มาให้นักเล่นเกมได้สัมผัสกับประสบการณ์สุดพิเศษ คุณจะรู้สึกเหมือนได้ไปนั่งเกาะขอบสนามดูแข่งบาสเก็ตบอลเอ็นบีเอ หรือดูเหล่าศาสตราจารย์สอนวิชาต่างๆ ในมหาวิทยาลัยใดก็ได้ในโลก
ความจริงเติมแต่ง (AR) จะ “ซ้อนทับภาพในโลกที่มีอยู่ของคุณ แทนที่จะแทนที่โลกทั้งโลก” เหมือนเป็นญาติของ VR ยังไงยังงั้น AR เองก็มาในรูปแว่นสวมหัว แต่เป็นเลนส์ใส
VR และ AR จะทำให้คุณได้สัมผัสประสบการณ์สามมิติ และถึงพวกมันจะยังไม่เป็นที่แพร่หลายมากนัก แต่ความนิยมน่าจะพุ่งขึ้นสูงในอนาคต
การคุกคาม ความล้มเหลว และบทเรียนที่ได้รับ
เฟซบุ๊กกลายเป็นยักษ์ใหญ่ในวงการโซเชียลมีเดียได้ก็เพราะเหล่าทีมงานหลังม่าน อย่างซีอีโอ มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก, ประธานฝ่ายปฏิบัติการ (ซีโอโอ) เชอริล แซนด์เบิร์ก, ประธานฝ่ายพัฒนาผลิตภัณฑ์ (ซีพีโอ) คริส ค็อกซ์ และประธานฝ่ายเทคโนโลยี (ซีทีโอ) ไมค์ โชพเฟอร์ คนเหล่านี้นี่แทบจะเรียกได้ว่าหาตัวตายตัวแทนไม่ได้เลย
นอกจากโอกาสที่จะขาดบุคคลสำคัญแล้ว การคุกคามของเฟซบุ๊กยังถูกรวมไปถึง ความสนใจของผู้ใช้งาน ความมีประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์ รายได้ การแทรกแซงจากรัฐบาล และอื่นๆ
คนจะใช้งานเฟซบุ๊กต่อมั้ย? หรือพวกเขาจะหันไปใช้สแนปแชทและทวิตเตอร์แทน? เฟซบุ๊กเป็นยักษ์ใหญ่บนสมาร์ทโฟน แต่ก็อาจจะเสียหลักได้ หากคนหันไปสนใจ VR และ AR มากกว่า และนั่นคือเหตุผลที่มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก ซื้อกิจการออคิวลัสวีอาร์เอาไว้
เฟซบุ๊กในตอนนี้ยังต้องพึ่ง “2 เจ้าที่” ซึ่งก็คือ ระบบปฏิบัติการไอโอเอสของแอปเปิล และระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ของกูเกิล เฟซบุ๊กจึงยังต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดและเงื่อนไขของ 2 เจ้าที่นี้ อย่างไรก็ตาม ทั้ง 3 เจ้าก็ยังต้องพึ่งพาอาศัยกันอยู่
เฟซบุ๊กยังต้องคอยระแวงการแทรกแซงจากรัฐบาลด้วย โดยเฉพาะในประเทศที่มีข้อจำกัดในการเผยแพร่เนื้อหาต่างๆ
เฟซบุ๊กเจอมาหมดแล้วทั้งความเสี่ยงและความล้มเหลว แต่ก็ยังลุกขึ้นยืนขึ้นมาได้ ไม่ว่าจะเป็นบนเว็บหรือแอพในสมาร์ทโฟน และยังมีในเรื่องการซื้อกิจการที่ทำกำไรไม่ได้ หรือการทำโฆษณาที่ไม่มีประสิทธิภาพ เมื่อศึกษาบทเรียนความสำเร็จและความล้มเหลวทั้งหมดที่ผ่านมา เฟซบุ๊กก็ได้เรียนรู้บทเรียนทั้ง 10 บทด้วยกัน ซึ่งคุณผู้อ่านสามารถนำไปปรับใช้ได้ตามสถานการณ์ ดังนี้
- แยกให้ออกว่า อะไรคืออนาคตของคุณและอะไรคือสิ่งที่คุณต้องทิ้งไว้ข้างหลัง มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก ปฏิเสธข้อเสนอซื้อกิจการจากยาฮู เพราะเขารู้ว่าอนาคตของเฟซบุ๊กมีค่ามากกว่าเงินเพียง 1 พันล้านดอลลาร์ (ปัจจุบันเฟซบุ๊กมีคนสมัครใช้งานมากกว่า 2 พันล้านไอดี และตัวบริษัทมีมูลค่าสูงถึง 5 แสนล้านดอลลาร์)
- ลดเพื่อเพิ่ม ทุกคนมีเครื่องมือพกพาอยู่ในกระเป๋าซึ่งเชื่อมต่อกับคนอื่นได้ทุกที่ทุกเวลา ดังนั้นความต้องการที่สำคัญที่สุดของผู้ใช้งานจึงไม่ใช่อยากได้มากขึ้น พวกเขาอยากได้น้อยลง แต่ในเรื่องที่สำคัญจริงๆ ต่างหาก (ที่มาที่ไปของการคิดค้น News Feed)
- หา “จังหวะโดนใจ” ให้เจอ ผลิตภัณฑ์ของคุณสร้างความประทับใจให้ผู้ใช้ตอนไหนมากที่สุด? จังหวะโดนใจของเฟซบุ๊กคือ การที่ผู้ใช้เห็นเพื่อนของตัวเองอยู่บน News Feed ดังนั้นทุกภารกิจของเฟซบุ๊กจึงพุ่งเป้าไปที่การทำให้ผู้ใช้พบจังหวะโดนใจนั้นโดยเร็วที่สุด
- ให้โอกาสกับลูกค้าทุกกลุ่ม เฟซบุ๊กขายพื้นที่โฆษณาบน News Feed โดยให้ทุกคนสามารถเข้าประมูลได้ ธุรกิจเล็กใหญ่จึงมีโอกาสเท่าๆ กัน และเกิดการแข่งขันอย่างเสรี
- ความเร็วเป็นสิ่งสำคัญ เฟซบุ๊กจัดการการทำงานของซอฟต์แวร์ ฮาร์ดแวร์ ระบบเครือข่าย อาคารสถานที่ และแม้แต่ระบบกระแสไฟฟ้าด้วยตัวเอง เพื่อที่สิ่งเหล่านั้นจะไม่เป็นปัญหาสำหรับผู้ใช้ การเข้าใช้งานจึงง่ายและรวดเร็วที่สุด “เพราะหากผู้ใช้เข้าเว็บได้ช้าแม้แต่วินาทีเดียว เขาก็อาจเปลี่ยนใจไปใช้เว็บอื่น”
- การโจมตีคือการป้องกันที่ดีที่สุด ในธุรกิจการแข่งขัน จงยื่นมือขอความช่วยเหลือจากลูกค้าของคุณ แล้วทำให้จุดแข็งของคุณเด่นขึ้นมา
- เปลี่ยนแปลงตัวเองก่อนที่จะมีใครแซงหน้า ไม่มีใครเป็นหนึ่งได้ตลอดไป เพราะฉะนั้นจงพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ
- เล่น “เกมยืดเยื้อ” แต่อย่าทิ้งตัวธุรกิจหลัก มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก เห็นจีน ญี่ปุ่น และอินเดียเป็นเกมยืดเยื้อที่จะต้องต่อสู้กันอีกยาวนาน แต่เขาหันมาไล่ตามประเทศเหล่านี้ได้ก็เพราะเฟซบุ๊กไปได้สวยในประเทศอื่นๆ อยู่แล้ว
- การให้พนักงานมีส่วนร่วมเป็นสิ่งสำคัญมาก ให้งานพนักงานแต่ละคนได้ทำงานที่ตัวเองถนัดมากที่สุด มีการเลื่อนตำแหน่งไปในแนวขวาง แทนที่จะเป็นในแนวดิ่งที่มีตำแหน่งว่างน้อย
- ใส่ใจ เฟซบุ๊กประสบความสำเร็จได้เพราะให้ความสำคัญกับเป้าหมายมากๆ ซึ่งเป้าหมายที่ว่าก็คือ “ทำให้โลกเปิดกว้างและเชื่อมโยงถึงกันมากขึ้น”
แหล่งศึกษาเพิ่มเติมหลังอ่านสรุปหนังสือ Becoming Facebook จบ
- ตามไปอ่านบทความสุดฮิตของเราจากอาทิตย์ก่อน ที่สรุปคำกล่าวสุนทรพจน์จบการศึกษาจากมาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก ผู้ก่อตั้งและซีอีโอเฟซบุ๊ก 👉 3 สิ่งที่ มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก อยากบอกกับเด็กเจน Z ในวันรับปริญญา
- ในบทความนี้พูดถึงผู้ก่อตั้งอินสตราแกรม เควิน ซิสตรอม และผู้พัฒนาแว่นสวมหัวออคิวลัสวีอาร์ ปาล์มเมอร์ ลัคกี้ ถ้าใครอยากอ่านประวัติของ 2 คนนี้แบบเจาะลึกให้ตามไปอ่านในหนังสือ ทำถูกครั้งเดียว อนาคตเปลี่ยนตลอดชีวิต ซึ่งในเล่มยังรวมซีอีโอรุ่นใหม่อีก 14 คนที่รอเล่าประวัติความสำเร็จให้คุณฟัง ตั้งแต่วันที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ จนถึงวันที่ก้าวขึ้นมาอยู่บนจุดสูงสุดในปัจจุบัน
หนังสือแนะนำเพิ่มเติม
Becoming Facebook ได้ถูกนำมาแปลเป็นภาษาไทยแล้ว โดยสำนักพิมพ์บิงโกของเรานี่เองค่ะ มีตัวอย่างให้อ่านจนหนำ ลดราคาอยู่อีกต่างหาก คลิกเลย!
Pingback: สรุป The Intelligent Investor: หนังสือลงทุนที่ดีที่สุดในโลก (นักลงทุนต้องอ่าน)
Pingback: สรุปหนังสือ Toyota Kata "วิถีโตโยต้า": หลักคิดการทำธุรกิจที่ไม่มีวันแพ้
Pingback: สรุปหนังสือ Grinding It Out: ความลับของอาณาจักรแมคโดนัลด์ จากปากผู้ก่อตั้ง
Pingback: กฎ 10 ข้อของ Sam Walton เจ้าของวอลมาร์ท ซูเปอร์มาร์เก็ตที่ใหญ่ที่สุดในโลก
Pingback: สรุปหนังสือ Sam Walton: กำเนิด Walmart เครือซูเปอร์มาร์เก็ตที่ใหญ่ที่สุดในโลก
Pingback: สรุปหนังสือ Principles บทเรียนชีวิตของเจ้าพ่อเฮดจ์ฟันด์
Pingback: 9 โมเดลธุรกิจที่มาแรงที่สุดในโลกสมัยใหม่ - สำนักพิมพ์บิงโก
Pingback: โลกหลัง Covid ที่ไม่มีอเมริกา... แล้วไทยอยู่ไหน - สำนักพิมพ์บิงโก
Pingback: AI คืออะไร ทำไมมันจะเปลี่ยนโลกยิ่งกว่าอินเทอร์เน็ตและไฟฟ้า